Friday, 16 May 2025
TheStatesTimes

24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ‘คณะราษฎร’ ยึดอำนาจ เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย จากระบอบ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ สู่ ‘ประชาธิปไตย’

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นับเป็นสำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทย เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ตรงกับวันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก จุลศักราช 1294 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในพระราชวงศ์จักรี คณะราษฎรอันประกอบด้วย ข้าราชการฝ่ายทหารบก ทหารเรือ พลเรือน และราษฎร นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้นำกำลังทหารและพลเรือนมาชุมนุม ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อประกาศแถลงการณ์ของคณะราษฎรและยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ

เมื่อสามารถระดมกำลังทหารมาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าได้เป็นจำนวนมากจากหลายกองพันในกรุงเทพ ตลอดจนกุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของรัฐบาลมาไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารก็ได้มีหนังสือและส่ง น.ต. หลวงศุภชลาศัย ไปยังพระราชวังไกลกังวล กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนคร ดังมีความสำคัญว่า…

“คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกลับคืนสู่พระนคร ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน”

โดยวันรุ่งขึ้น 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร มีความตอนหนึ่งว่า…

“…คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนครเป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกัน ทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละมัยไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิดเพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวกฯ”

ต่อมาในคืนวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนครโดยรถไฟพระที่นั่งที่ทางคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารส่งไปรับ และในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ให้บุคคลสำคัญของคณะราษฎรเข้าเฝ้าและพระองค์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่คณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน

ต่อมาในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทาน พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวให้เป็นกติกาการปกครองบ้านเมืองเป็นการชั่วคราวไปก่อน

ทั้งนี้ คณะราษฎรนับเป็นกลุ่มบุคคลผู้มีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงในทางการเมืองและสังคมของประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 15 ปี กระทั่งสิ้นสุดบทบาทในปลาย พ.ศ. 2490 จากการรัฐประหาร ของคณะนายทหาร ภายใต้การนำของพลโท ผิน ชุณหะวัณ

‘รัฐบาล’ ประกาศข่าวดี ‘ผู้ประกันตน ม.33-ม.39’ อายุ 50 ขี้นไป สามารถรับบริการฉีด ‘วัคซีนไข้หวัดใหญ่’ ฟรี!! ถึง 31 ธ.ค.ปีนี้

(17 มิ.ย.67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยจำนวน 139,326 ราย อัตราป่วย 214.64 ต่อประชากรแสนคน ผู้เสียชีวิต 10 ราย ในจ.นครราชสีมา 5 ราย, นครศรีธรรมราช 2 ราย, ชัยภูมิ, สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพมหานคร จังหวัดละ 1 ราย อัตราป่วยตาย 0.007 โดยมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A 9 ราย และชนิด B 1 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปี 2566 คาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะเริ่มสูงขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย. และจะพบผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือน ส.ค.-พ.ย. ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงฤดูฝน เนื่องจากในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และกำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนที่ เป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่

นายคารม กล่าวว่า นอกจากกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มเสี่ยงแล้ว รัฐบาลโดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานเชิญชวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เข้ารับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลประจำปี 2567 ที่สถานพยาบาลตามสิทธิของผู้ประกันตนได้ฟรี ซึ่งในปี 2567 นี้ ได้ขยายการให้บริการฉีดวัคซีนออกไปถึงวันที่ 31 ธ.ค.2567 เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิของผู้ประกันตนได้อย่างทั่วถึง โดยแนะนำให้ติดต่อนัดหมายการฉีดวัคซีนกับสถานพยาบาลตามสิทธิก่อนเข้ารับบริการ สำหรับผู้มีโรคประจำตัว หรือมีประวัติการแพ้วัคซีนควรปรึกษาแพทย์ก่อนการเข้ารับบริการ หากประชาชนต้องการรับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานประกันสังคม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.sso.go.th หรือหากมีข้อสงสัยต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร พื้นที่จังหวัดสาขาทุกแห่ง หรือที่สายด่วน 1506

“แนะนำประชาชนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์การระบาดทุกปี โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยงควรรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี ในช่วงก่อนฤดูกาลระบาดเพื่อลดความรุนแรงของโรคและลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนได้ สามารถเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเพื่อความสะดวก สามารถโทรนัดหมายกับหน่วยบริการล่วงหน้า เพื่อทราบวันเวลาเข้ารับบริการที่แน่นอน พร้อมกันนี้ขอความร่วมมือประชาชนให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด เน้นการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422” นายคารม กล่าว

25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ‘ในหลวง ร.6’ เสด็จฯ เปิด ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ สถานีที่คนไทยเรียกติดปากว่า 'หัวลำโพง'

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ หรือที่คนไทยเรียกติดปากกันว่า ‘หัวลำโพง’

หากย้อนกลับไป ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ ได้เปิดเดินรถครั้งแรกในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 จากสถานีกรุงเทพ-กรุงเก่า (ปัจจุบันคือสถานีอยุธยา) โดยมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวี ทรงเป็นประธานในการเปิดเดินรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ นับเป็นการเริ่มต้นรถไฟของรัฐบาลสยามอย่างเป็นทางการ ทำให้สถานีรถไฟกรุงเทพกลายเป็นสถานีรถไฟสายหลักของประเทศไปโดยปริยาย

ทั้งนี้ ภายหลังมีการขยายทางรถไฟไปตามมณฑลต่าง ๆ มากมาย ทำให้ปริมาณรถไฟเพิ่มขึ้นจนสถานีกรุงเทพเริ่มคับแคบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้กรมรถไฟหลวงขยายสถานีรถไฟกรุงเทพให้ใหญ่โต เพื่อรองรับการเดินรถโดยสารและสินค้าที่มีมากขึ้นในปี พ.ศ. 2453

โดยสถานีกรุงเทพใหม่ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ตรงข้ามกับโรงเรียนสายปัญญา เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 โดยมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเป็นสัญญาณให้รถไฟขบวนแรกวิ่งเข้าสู่สถานีกรุงเทพ

ส่วนสาเหตุว่า ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงเรียก ‘สถานีกรุงเทพ’ เป็น ‘สถานีหัวลำโพง’ เป็นเพราะก่อนที่จะมีสถานีกรุงเทพ ยังมีทางรถไฟสายแรกที่วิ่งจากกรุงเทพไปสมุทรปราการ เรียกว่า ‘ทางรถไฟสายปากน้ำ’ ซึ่งเป็นทางรถไฟที่ได้สัมปทานโดยชาวเดนมาร์ก และเดินรถครั้งแรกในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2436 ก่อนหน้าสถานีกรุงเทพถึง 3 ปี มีสถานีต้นทางอยู่ที่ริมคลองหัวลำโพงตัดกับคลองผดุงกรุงเกษม สถานีนี้จึงมีชื่อว่า ‘สถานีหัวลำโพง’ ตามชื่อคลองที่ทางรถไฟขนานไป

หลังจากที่สถานีกรุงเทพได้รับการปรับปรุงมาอยู่ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ทั้งสองสถานีจึงห่างกันเพียงแค่ข้ามถนน ทำให้คนส่วนใหญ่เรียก ‘สถานีกรุงเทพ’ ว่า ‘สถานีรถไฟหลวงที่หัวลำโพง’ ภายหลังการเดินทางไปปากน้ำสะดวกมากขึ้นทำให้กิจการรถไฟสายปากน้ำได้รับความนิยมลดลง จึงมีการยกเลิกกิจการของรถไฟสายนี้ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา เหลือเพียงสถานีกรุงเทพ ที่คนส่วนใหญ่เรียกกันติดปากว่า สถานีหัวลำโพงมาจนถึงปัจจุบัน

'ปวิณ' ปัดรับช่อดอกไม้แสดงความยินดีจาก 'มาดามแป้ง' พร้อมเบรกถ่ายภาพคู่ ด้าน 'สารัช' รับแทน แก้เกี้ยว

(17 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงาน หลังเกิดดราม่าในวงการลูกหนังไทย ย้อนความกลับไป ก่อนหน้านี้ นายปวิณ ภิรมย์ภักดี ประธานสโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งอุปนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ในยุคการบริหารของ ‘มาดามแป้ง’ นวลพรรณ ล่ำซำ เป็นนายกสมาคม

พร้อมกับมีรายงานก่อนหน้านี้ว่า นายปวิณ ไม่พอใจการทำงานของสมาคมในหลายเรื่อง แต่ไม่มีรายงานแน่ชัดว่าไม่พอใจเกี่ยวกับเรื่องใดบ้าง

ล่าสุดเมื่อ 16 มิ.ย. หลังเกมที่ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด เฉือนชนะเมืองทอง ยูไนเต็ด 1-0 คว้าแชมป์ฟุตบอลรีโว่ คัพ 2023-24 และเป็นแชมป์รายการนี้สมัยแรกของสโมสร ‘มาดามแป้ง’ ได้หอบช่อดอกไม้ไปร่วมแสดงความยินดีด้วย

แต่ว่าเหตุการณ์กลับไม่เป็นไปอย่างสวยงาม เมื่อนายปวิณ ปฏิเสธที่รับช่อดอกไม้จากมาดามแป้ง มีเพียงการยกมือไหว้ตามทำเนียบเท่านั้น รวมถึงไม่ให้ถ่ายรูปคู่ด้วย โดยได้เรียก สารัช อยู่เย็น กองกลางกัปตันทีมเข้ามารับดอกไม้จากมาดามแป้งแทน

‘Onitsuka Tiger-ดอยตุง’ เปิดตัวรองเท้าลายผ้าทอคอลเลกชันพิเศษ ผสมผสานงานฝีมือดั้งเดิมไทยและกลิ่นอายแฟชั่นสไตล์ญี่ปุ่น

ประสบความสำเร็จจากครั้งแรก Onitsuka Tiger (โอนิซึกะ ไทเกอร์) แบรนด์แฟชั่นสัญชาติญี่ปุ่น มีความภูมิใจที่จะนำเสนอการร่วมมือกันเป็นครั้งที่ 2 กับ โครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งถือเป็นโครงการหลักของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ได้สร้างสรรค์ รองเท้าที่เกิดจากความร่วมมือและความคิดริเริ่มในการก้าวข้ามพรมแดน ที่ได้นำลวดลายผ้าทอออริจินัลของดอยตุงมาเป็นการใช้วัสดุที่ได้รับการออกแบบใหม่และพัฒนาใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ผ้าทอในคอลเลกชันนี้จึงเป็นผ้าออริจินัลที่ทำขึ้นเป็นพิเศษสำหรับ ‘Onitsuka Tiger’ โดยเฉพาะ

สำหรับสินค้าในคอลเลกชันนี้เป็นการผสมผสานระหว่างงานฝีมือแบบดั้งเดิมของช่างฝีมือในประเทศไทย เข้ากับรองเท้ารุ่นไอคอนิก อันเป็นเอกลักษณ์ของ Onitsuka Tiger ทำให้เกิดเป็นรองเท้าที่รวมไว้ซึ่งคุณภาพอันเป็นเอกลักษณ์ทั้งแบบไทยและแบบเฉพาะของ Onitsuka Tiger โดยมีเป้าหมายคือการแสวงหาผลิตภัณฑ์ที่มีดีไซน์เหนือกาลเวลา โครงสร้างที่ทนทานและมอบความสบาย เมื่อสวมใส่ ซึ่งจะเหมาะสมกับผู้คนที่หลากหลายทั่วโลก 

รองเท้าทั้งหมดนี้ถูกสร้างขึ้นผ่านกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและวัสดุที่ยั่งยืน ความร่วมมือกันในครั้งนี้ยังสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมและการจ้างงานที่มีความหมายแก่ชาวดอยตุง รองเท้าอันเป็นเอกลักษณ์เหล่านี้เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น โดยที่มุ่งเน้นไปที่ประเด็นความยั่งยืน 

รองเท้าทุกรุ่นจะวางจำหน่ายในร้าน Onitsuka Tiger และบนอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งร้านดอยตุง ซึ่งนอกเหนือจากรองเท้าแล้วในคอลลาบอเรชันโปรเจกต์ปีนี้ยังมีเครื่องแต่งกายที่จะวางขายเฉพาะร้านดอยตุงอีกด้วย

สำหรับรองเท้าโอนิซึกะ ไทเกอร์ รุ่นไอคอนิกครั้งนี้มีด้วยกัน 4 แบบ ได้แก่ 

-MEXICO 66 Thai-Exclusive Model มีจำหน่ายเฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น 
-MEXICO 66 
-SERRANO CL
-MEXICO 66 PARATY

คู่บ้าน คู่เมือง พระแก้วนพรัตน์เมืองอุบล ๖ จาก ๙ พระพุทธรูปสำคัญ ตำนานความศักดิ์สิทธิ์แห่งราชธานีอีสาน (ภาค ๒)

จากครั้งที่แล้วได้เขียนเล่าถึงพระแก้วคู่บ้าน คู่เมือง ‘อุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราชฯ’ พระที่สร้างขึ้นจากแก้ว ๙ ประการ คือ เพชร มณี มรกต บุษราคัม โกเมน นิลกาฬ มุกดา เพทาย และไพฑูรย์ 

“เพชรดี มณีแดง เขื่องใสแสงมรกต 
เหลืองใสบุษราคัม ทองแก่กำโมเมนเอก 
สีหมอกเมฆนิลกาล มุกดาหารหมอกมัว 
แดงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์” 

ซึ่งอุบลฯ มี ‘พระแก้ว’ ประดิษฐานอยู่ถึง ๖ องค์ ทั้งยังเชื่อว่าอีก ๓ องค์ก็มีอยู่เพียงแต่ยังค้นหาไม่พบ โดยตอนที่แล้วได้เล่าถึงพระแก้ว ๓ องค์สำคัญอันได้แก่...

องค์ที่ ๑ ‘พระแก้วบุษราคัม’ ประดิษฐาน ณ วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) 
องค์ที่ ๒ ‘พระแก้วไพฑูรย์’ ประดิษฐาน ณ วัดหลวง ริมแม่น้ำมูล 
องค์ที่ ๓ ‘พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง’ ประดิษฐาน ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร 

ในตอนนี้ผมจะมาเล่าถึงพระแก้วอีก ๓ องค์และข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพระแก้วทั้ง ๙ ของอุบลราชธานี เชื่อว่าเมื่อคุณได้อ่านจบแล้วคงจะได้ไปสักการะพระปฏิมาทุกองค์ให้ครบถ้วนเป็นสิริมงคลเป็นแน่แท้ 

พระแก้วโกเมน วัดมณีวนาราม 

องค์ที่ ๔ ‘พระแก้วโกเมน’ ประดิษฐาน ณ วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) ผู้สร้างวัดคือ อุปฮาดก่ำ โอรสของ ‘พระปทุมวรราชสุริยวงศ์’ (เจ้าคำผง) ซึ่งในอดีตเป็นวัดที่อยู่ห่างจากเขตเขื่อนคูเมือง จึงเรียกกันว่า วัดป่ามณีวันบ้าง วัดป่าน้อยบ้าง 

‘พระแก้วโกเมน’ ตามตำนานเล่ากันมาว่าเป็นพระแก้วที่สร้างขึ้นในยุคเดียวหรือในคราวเดียวกับพระแก้วบุษราคัม สร้างขึ้นจากแก้วสีน้ำหมอก (สีม่วง) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๔ นิ้ว สูงประมาณ ๕ นิ้ว สถิต ณ วัดป่าน้อยมาแต่แรกเริ่ม จนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยมีสงครามกับเวียงจันทน์ จึงได้นำพระแก้วโกเมนออกไปประดิษฐานไว้อย่างลับ ๆ ณ วัดแห่งหนึ่ง พร้อมทำผอบไม้จันทน์ครอบพระแก้วไว้  ภาษาอีสานเรียกว่า ‘งุม’ วัดซึ่งเป็นที่เก็บรักษาพระแก้วโกเมนในครั้งนั้น จึงถูกเรียกว่า ‘วัดกุดละงุม’ ซึ่งอยู่ที่ อ.วารินชำราบ ในปัจจุบัน 

ครั้นเมื่อสงครามสงบจึงได้อัญเชิญ ‘พระแก้วโกเมน’ กลับมาประดิษฐาน ณ วัดมณีวนารามอีกครั้ง แต่ก็ยังรักษาความลับไว้ เนื่องจากพระแก้วโกเมนถือว่าเป็นสำคัญของเมืองอุบล จึงได้รักษาไว้อย่างห่วงแหน เจ้าอาวาสของวัดมณีวนาราม ทุกรูปจึงเก็บรักษาองค์พระไว้ในตู้นิรภัย มิได้นำมาญาติโยมทั่วไปได้สักการะกัน จนกระทั่งมาถึงยุคเมื่อสิ้น หลวงปู่พระธรรมเสนานี (กิ่ง มหับผโล) ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ คณะกรรมการวัดจึงได้ขออนุญาตอัญเชิญพระแก้วโกเมนลงมาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการะและได้สรงน้ำในวันวิสาขบูชาของทุกปี 

พระแก้วนิลกาฬ วัดเลียบ

องค์ที่ ๕ ‘พระแก้วนิลกาฬ’ ประดิษฐาน ณ วัดเลียบ อำเภอเมืองอุบลราชธานี ‘วัดเลียบ’ มีที่มาของชื่อวัดจากสถานที่การสร้างวัดที่สร้างเลียบคันคูเมือง เคยถูกปล่อยให้เป็นวัดร้างจนพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) ได้มาบุกเบิกบูรณะวัดขึ้นใหม่ นับเป็นวัดต้นธารแห่งการปฏิบัติธรรมสายวิปัสสนากรรมฐาน

‘พระแก้วนิลกาฬ’ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยทำจาก ‘แซฟไฟร์สีน้ำเงินเข้ม’ ถูกค้นพบอยู่ในกล่องไม้สักโบราณบนฝาเพดานกุฎิสุขสวัสดิ์มงคล กุฎิหลังเก่าของวัด โดย พระครูอุบลคณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเลียบ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ หรือประมาณ ๒๐ กว่าปีมานี้เอง ซึ่งท่านได้พบพระพุทธรูป ๓ องค์ ได้แก่ พระพุทธรูปบุเงิน ๒ องค์ และพระแก้วนิลกาฬ ๑ องค์  โดยในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้อัญเชิญพระแก้วนิลกาฬออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำในทุกสงกรานต์ 

พระแก้วมรกต วัดเลียบ

องค์ที่ ๖ ‘พระแก้วมรกต’ ประดิษฐาน ณ วัดเลียบ อำเภอเมืองอุบลราชธานี พระแก้วองค์นี้มีพุทธลักษณะคล้ายพระแก้วโกเมน วัดป่าน้อย แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัดนัก โดยพระครูอุบลคณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเลียบ บอกว่ามีโยมมาถวายไว้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕

จากที่ได้เล่าและนำเสนอมายังเป็นข้อมูลคร่าว ๆ ที่ยังไม่ได้เจาะลึกนัก ทั้งนี้พระแก้วบางองค์อาจจะมีที่มาที่ชัดเจน แต่บางองค์แม้จะเก่าแก่แต่ก็ยังมีแค่ตำนานรองรับ ส่วนพระแก้วองค์อื่น ๆ ในอุบลฯ และในอดีตเป็นอำเภอหนึ่งของอุบลราชธานีมีองค์พระที่น่าสนใจดังนี้ 

พระแก้วมณีแดง วัดมหาวนาราม 

‘พระแก้วมณีแดง’ ประดิษฐาน ณ วัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่) อำเภอเมืองอุบลราชธานี พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ได้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเนื่องจากดำริให้เป็นวัดที่เหมาะแก่การปฏิบัติสมณธรรมโดยเริ่มแรกจัดสร้างขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ ในปีพ.ศ. ๒๓๒๒ แต่ยังมิแล้วเสร็จเป็นวัด พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ก็ได้อนิจกรรมลงเสียก่อน พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าพรหม) จึงได้มาดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๕๐ โดยมีพระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ซึ่งท่านเป็นผู้สร้างพระพุทธรูป ‘พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง’

‘พระแก้วมณีแดง’ ปกติจะประดิษฐานภายในกุฏิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ ป.ธ. ๙) แต่ในทุกสงกรานต์ได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวบริเวณข้างพระวิหารพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง โดยเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล

สำหรับพระแก้วเก่าแก่ที่ประดิษฐานอยู่ในจังหวัดบ้านใกล้เรือนเคียงของอุบลราชธานี คือจังหวัดยโสธร ถ้าเราจะไม่นำมาเล่าก็คงจะกระไรอยู่ อย่ากระนั้นเลยผมจึงขอยกเรื่องราวสั้น ๆ ของ ‘พระพุทธบุษยรัตน์’ หรือ ‘พระแก้วหยดน้ำค้าง’ มาเพิ่มเติมด้วยดังนี้ 

พระพุทธบุษยรัตน์ วัดมหาธาตุ ยโสธร

‘พระพุทธบุษยรัตน์’ หรือ ‘พระแก้วหยดน้ำค้าง’ วัดมหาธาตุ จังหวัดยโสธร เป็นเป็นพระพุทธรูปโปร่งแสงปางสมาธิ เป็นศิลปะสมัยเชียงแสน ทำจากหินเขี้ยวหนุมาน ขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๙ นิ้ว สูง ๒ นิ้ว ประวัติความเป็นมาของพระแก้วองค์นี้ มี ๒ เรื่อง คือ เรื่องที่ ๑ เล่ากันว่าว่าเป็นสมบัติของ ‘เจ้าพระวิชัยราชขัตติยวงศา’ เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ได้รับมรดกจากบรรพบุรุษ นำมาประดิษฐานที่ยโสธร ตั้งแต่สมัยเป็นหมู่บ้านสิงห์ท่า เมืองยศสุนทร เพื่อเป็นพระพุทธรูปคู่กับ ‘พระแก้วบุษราคัม’ แห่งเมืองอุบลราชธานี ส่วนเรื่องที่ ๒ เล่าว่า สมัยรัชกาลที่ ๓ ไทยมีสงครามกับเวียงจันทน์ มีพระยาราชสุภาวดี (ภายหลังเลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์)) เป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปปราบ 

ในครั้งนั้นได้ตั้งกองทัพที่เมืองยโสธร และได้ความช่วยเหลือจากพระสุนทรราชวงศา (ฝ่าย) ร่วมรบจนมีชัยชนะ รัชกาลที่ ๓ จึงทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระแก้วหยดน้ำค้างองค์นี้พร้อมกับเจ้านางเมืองเวียงจันทน์ และปืนใหญ่ เพื่อเป็นรางวัล 

เดิมยโสธร ถูกรวมเข้าอยู่ในสังกัดมณฑลลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ (มณฑลลาวกาว) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๓ และกลายเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ จอมพลถนอม กิตติขจร ได้สั่งการตามประกาศของคณะปฏิวัติ ให้แยกอำเภอยโสธร อำเภอกุดชุม อำเภอเลิงนกทา อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย และอำเภอป่าติ้ว ออกจากจังหวัดอุบลราชธานี แล้วรวมกันตั้งเป็นจังหวัดยโสธร

ในท้ายสุดนี้แม้ว่าพระแก้วบางองค์จะยังมีประวัติไม่ชัดเจนตามที่ผมได้เล่าไปแล้ว แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตจะมีความชัดเจนขึ้น และน่าจะมีพระแก้วศักดิ์สิทธิ์อีกหลายองค์ได้บังเกิดขึ้นอีกเป็นแน่ ตราบเท่าที่ศาสนาพุทธยังคงอยู่คู่บ้านเมืองเรา และตราบเท่าที่เมืองราชธานีแห่งอีสานอย่าง ‘อุบลราชธานี’ ยังคงเป็นดอกบัวใหญ่สวยสง่าคู่บ้านเมืองของเราสืบไป

‘SME D Bank’ ผนึก ‘ส.อ.ท.’ เปิดกล่องของขวัญเพื่อ SME ปี 2567 ช่วยเสริมสภาพคล่องผ่านสินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจกว่า 2 หมื่น ลบ.

(17 มิ.ย. 67) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเติบโตยั่งยืน ร่วมทัพมอบบริการ ‘เติมทุนคู่พัฒนา’ ในงาน ‘เปิดกล่องของขวัญเพื่อ SME ปี 2567’ จัดโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกของ ส.อ.ท. และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งทุน อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ที่เตรียมไว้รองรับ วงเงินรวมมากว่า  20,000 ล้านบาท ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 15 ปี และปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน ช่วยเสริมสภาพคล่อง ยกระดับธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน จัดครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง พฤศจิกายน 2567 

ไฮไลต์จาก SME D Bank ‘ด้านการเงิน’ ได้แก่ สินเชื่อ ‘Smile Biz ธุรกิจยิ้มได้’ ผ่อนปรนเงื่อนไขสุดพิเศษ ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำธุรกิจ 1 ปีก็กู้ได้ ดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 6.50% ต่อปี 

นอกจากนั้น ยังมีสินเชื่อ ‘SME Refinance’ อัตราดอกเบี้ยคงที่ ปีแรกเพียง 2.99% ต่อปี ช่วยลดต้นทุนการเงิน ผ่อนหนักเป็นเบา, สินเชื่อ ‘BCG Loan’ ยกระดับธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.75% ต่อปี, สินเชื่อ ‘เสริมสภาพคล่องผู้รับเหมา’ สนับสนุนเข้าถึงงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี พร้อมรับแคมเปญพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่เคยใช้สินเชื่อของ SME D Bank มาก่อน เมื่อยื่นกู้สินเชื่อและใช้วงเงิน ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป รับ Cash Back ค่าวิเคราะห์โครงการ มูลค่าสูงสุด 5,000 บาท

ขณะเดียวกัน ยังมอบบริการ ‘ด้านการพัฒนา’ เสริมแกร่งธุรกิจครบวงจร ผ่านแพลตฟอร์ม ‘DX by SME D Bank’ (dx.smebank.co.th) ซึ่งบูรณาการการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษากว่า 50 แห่ง มาไว้ในจุดเดียว ให้บริการฟรี มีฟีเจอร์สำคัญ เช่น Business Health Check ระบบตรวจประเมินสุขภาพธุรกิจ, E-Learning รวบรวมหลักสูตรความรู้สำคัญ ช่วยเพิ่มศักยภาพการประกอบธุรกิจ เรียนรู้ได้ด้วยตัวเองตลอด 24 ชม., SME D Coach ที่ปรึกษาและให้คำแนะนำธุรกิจจากโค้ชมืออาชีพ, SME D Activity ระบบจองเข้าร่วมกิจกรรมเติมความรู้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี, SME D Market ขยายตลาดด้วย E-marketplace และจับคู่ธุรกิจ อีกทั้ง ยังมี SME D Privilege สิทธิประโยชน์พิเศษอื่น ๆ ให้อีกมากมาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357

'2 สื่อยักษ์' ตีข่าว ปรากฏการณ์ 'หลานม่า' ไวรัลแรงจนเกิดกระแสชาเลนจ์ในหลายประเทศ

(17 มิ.ย. 67) จากเพจ 'Thailand Box office and Entertainment' เผยว่า เว็บไซต์ข่าว BBC ของอังกฤษ และ South China Morning Post ของฮ่องกง รายงานปรากฏการณ์ของหลานม่า ที่สั่นสะเทือนไปทั้งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการขึ้นแท่นอันดับ 1 หนังทำเงิน 

พร้อมกับมีมุมมองว่า #หลานม่า ประสบความสำเร็จพร้อมกับกระแสไวรัลใน Tiktok ในหลายประเทศ ที่หลายคนแข่งกันทำชาเลนจ์ ดูหนังเรื่องนี้ยังไงไม่ให้เสียน้ำตา รวมถึงไวรัลแจกกระดาษซับน้ำตา และ รีแอคของคนดูหลังดูหนังจบที่ตาบวมกันเป็นแถว 

ถือเป็นการตอกย้ำว่า เนื้อหาของหนังเข้าถึงคนดูในอาเซียนและเอเชียเป็นวงกว้างไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

‘ตำรวจ’ พบ 3 เรือน้ำมันเถื่อน แถวพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ตรวจสอบ!! ‘น้ำมัน-ลูกเรือ' หายบางส่วน เร่งนำเข้าฝั่ง

เมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.67) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) เปิดเผยว่า ยืนยันว่าพบเรือน้ำมันทั้ง 3 ลำ พร้อมลูกเรือบางส่วนเรียบร้อยแล้ว ตำรวจน้ำกำลังนำเรือเข้าฝั่งที่อำเภอเมืองจังหวัดสงขลา โดยรายละเอียดได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.พฤทธิพงศ์ นุชนารถ ผบก.รน. เป็นผู้แถลงข่าวที่กองกับการ 7 กองบังคับการตำรวจน้ำ จ.สงขลา เวลา 12.00 น. ในวันนี้ (17 มิ.ย.67)

ด้าน พล.ต.ต.พฤทธิพงศ์ เปิดเผยว่า ตำรวจน้ำ ได้ประสานกับประเทศเพื่อนบ้าน จนล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา พบเรือน้ำมันเถื่อนทั้ง 3 ลำแล้ว ที่บริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจำเพาะสามประเทศ คือ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าน้ำมันบางส่วนหายไปอยู่ไม่เต็มจำนวน และลูกเรือจากจำนวน 16 คน ตอนนี้เหลือเพียง 8 คนเท่านั้น และที่บริเวณตัวเรือพบว่ามีความพยายามที่จะอำพรางเปลี่ยนแปลงสีของเรือน้ำมันของกลางอีกด้วย

จากการสืบสวนเบื้องต้นเชื่อว่า เรือทั้งสามลำดังกล่าวเข้าเทียบท่าที่ประเทศกัมพูชามาก่อนหน้านี้แล้ว และมีลูกเรือบางส่วนลงจากเรือไป พร้อมทั้งน้ำมันบางส่วนก็หายไปด้วย อย่างไรก็ตามจากการที่ทางการประสานกับประเทศเพื่อนบ้านที่ได้ทำการออกตรวจลาดตระเวนทางทะเล ทำให้เรือทั้ง 3 ลำ หลบหนีออกจากท่าเรือในกัมพูชา แล้วออกสู่น่านน้ำเพื่อที่จะหลบหนี แต่ทั้งนี้จากการประสานกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถค้นพบหรือทั้ง 3 ลำที่บริเวณดังกล่าว และจะนำเข้าฝั่งภายในวันนี้ (17 มิ.ย. 67) โดยเรือหนึ่งใน 3 ลำไม่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองจึงต้องทำการลากเข้าฝั่ง พร้อมกับอีกสองลำที่เหลือ ซึ่งสามารถขับได้ตามปกติ

'รมว.ปุ้ย' ย้ำ!! ท่าที FTA ไทย - EU  ต้องปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

(17 มิ.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในการเจรจาต่อรองด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ให้ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในการประชุมภายใต้การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement - FTA) ไทย - สภาพยุโรป (EU) รอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 17-20 มิถุนายน 2567 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ซึ่งก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรอบที่ 2 ที่กรุงเทพมหานคร มาแล้ว

สำหรับการประชุมรอบที่ 3 ที่จะเกิดขึ้น ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม สมอ. จะเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมในการเจรจาจัดทำอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า โดยมีประเด็นหารือสำคัญที่ EU นำเสนอ เช่น การยอมรับผลการตรวจสอบและรับรอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกและนำเข้า การตรวจติดตามสินค้าในตลาด มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรองในสาขายานยนต์  ซึ่งประเทศไทยเห็นว่าเป็นประเด็นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนหลายภาคส่วน การเจรจาจึงต้องมีความรอบคอบเพื่อให้มีพันธกรณีที่เหมาะสม เป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมไทย และคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค

ด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่ สมอ. เป็นผู้แทนประเทศไทย มีหน้าที่รับผิดชอบในการเจรจาอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐาน การประกาศใช้มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรองระหว่างไทยกับ EU ที่มีสมาชิก 27 ประเทศ เพื่อให้เกิดความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้าที่เกิดจากการใช้มาตรการด้านเทคนิคมากีดกันทางการค้าระหว่างไทย และ EU ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเจรจาในประเด็นคงค้างจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา โดยท่าทีของไทยจะเจรจาบนพื้นฐานของความตกลง WTO และจะพิจารณาให้มีพันธกรณีเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม โดยหน่วยงานของไทยสามารถปฏิบัติได้ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย 

สำหรับประเด็นที่จะหารือเพิ่มเติมกับ EU คือ การกำหนดมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และการตรวจสอบรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วน โดยตระหนักถึงความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และความพร้อมของผู้ประกอบการไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณี ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของ สมอ. ในการเจรจาเพื่อ ลดอุปสรรคที่เกิดจากการใช้มาตรการด้านเทคนิคมากีดกันทางการค้า และช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ได้รับความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top