(1 ก.ค. 68) พินิจ จารุสมบัติ วัย 70 ปีกว่า อดีตรองนายกรัฐมนตรีไทย และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ยังคงจดจำได้ว่าตอนเด็กๆ บ้านของเขามีโอ่งเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่เยอะมาก ครั้นถามคุณย่าว่าโอ่งเหล่านี้มาจากไหน คุณย่าก็บอกว่ามาจากประเทศจีน
ครอบครัวของพินิจนั้นเกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างจีนกับไทยมายาวนาน ตั้งแต่ส่งออกข้าวสารสู่ฮ่องกงจนถึงนำเข้าสินค้าอื่นๆ จากจีนสู่ไทย โดยพินิจบอกว่าครอบครัวของเขาทำการค้ากับจีนเยอะมาก โอ่งน้ำเหล่านี้ขนส่งตรงมาจากจีน หินที่ใช้ก่อสร้างบ้านบางส่วนก็มาจากจีนเช่นเดียวกัน
ปัจจุบันบ้านของพินิจยังคงมีโอ่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่ แม้โอ่งเหล่านี้ดูธรรมดาแต่สมัยนั้นถือเป็นของหายากในไทย โดยโอ่งน้ำที่บรรพบุรุษนำมาจากจีนยังคงถูกใช้งานจากคนรุ่นสู่รุ่น บางครั้งใช้เก็บน้ำในหน้าแล้ง ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้จากครอบครัวของพินิจเป็นดั่งภาพสะท้อนของการแลกเปลี่ยนฉันมิตรระหว่างจีนกับไทย
บันทึกประวัติศาสตร์จีนระบุว่าจีนและไทยติดต่อสื่อสารกันมานานตั้งแต่ก่อนเกิดการก่อตั้งประเทศไทย โดยเมื่อครั้งเจิ้งเหอออกเดินเรือในยุคราชวงศ์หมิง เขาได้ล่องเรือตามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นเหนือสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน และช่วยเหลือราชวงศ์ในอาณาจักรอยุธยาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านบางแห่ง
ช่วงก่อนพวกล่าอาณานิคมจากตะวันตกจะเข้ามา ยุคสมัยนั้นไทยทำการค้ากับจีนเป็นส่วนใหญ่ โดยจีนนำเข้าข้าวสาร เครื่องเทศ แร่ดีบุก และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากไทย ส่วนไทยนำเข้าเครื่องเคลือบ ผ้าไหม ใบชา และเครื่องเหล็กจากจีน ซึ่งผู้ค้าจะใช้วัตถุหนักๆ อย่างรูปปั้นหินเป็นอับเฉาถ่วงน้ำหนักเรือระหว่างขากลับ
ไทยได้ขุดพบรูปปั้นหินและช้างหินจำนวนมากระหว่างการซ่อมแซมถนนภายในพระบรมมหาราชวังเมื่อเดือนกรกฎาคม 2021 ซึ่งบางส่วนเป็นรูปปั้นบุคคลที่มีใบหน้าและการแต่งกายจากหลากหลายเชื้อชาติ รวมถึงสัตว์ในตำนาน โดยผลการตรวจสอบพบรูปปั้นหินบางส่วนสลักคำว่า "ผลิตในกว่างตง" อยู่ด้วย
ขณะการตรวจสอบกับเอกสารทางประวัติศาสตร์พบรูปปั้นหินเหล่านี้ปรากฏอยู่ในรูปถ่ายเก่าของวัดพระแก้วในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเป็นไปได้สูงว่ารูปปั้นหินเหล่านี้อาจถูกนำเข้าสู่ไทยในฐานะอับเฉาถ่วงน้ำหนักเรือ โดยปัจจุบันรูปปั้นหินเหล่านี้ได้รับการบูรณะฟื้นฟูและตั้งประดับภายในพระบรมมหาราชวัง กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนมิตรภาพระหว่างจีนกับไทย
สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่ารูปปั้นหินอย่างที่ค้นพบในพระบรมมหาราชวังมักถูกใช้เป็นอับเฉาถ่วงน้ำหนักเรือสินค้าเพื่อป้องกันเรือพลิกคว่ำยามผจญพายุในทะเล แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสินค้าไว้ซื้อขาย ซึ่งสะท้อนการยอมรับวัฒนธรรมจีนในยุคสมัยนั้นของไทย โดยวัดหลายแห่งในช่วงรัชกาลที่ 1-3 มีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับสามก๊ก ผู้คนในยุคสมัยนั้นชื่นชอบวัฒนธรรมจีนอย่างมาก และมีการแปลตำรับตำราภาษาจีนด้วย
ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรีไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าจีนและไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาตั้งแต่โบราณกาล ทั้งสองประเทศได้ติดต่อค้าขายโดยเรือสำเภาและแลกเปลี่ยนศิลปะวัฒนธรรมอย่างรุ่งเรืองมานานหลายยุคหลายสมัย ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้หยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม อาหาร และประชาชน คำกล่าว "จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน" ไม่ได้เป็นเพียงคำขวัญ แต่สะท้อนจิตวิญญาณแห่งความเป็นญาติสนิทที่ประชาชนสองประเทศมีต่อกัน
นอกจากนั้นอาหารจีนหลายเมนู เช่น ก๋วยเตี๋ยว ซาลาเปา และโจ๊ก ได้หยั่งรากลึกในสังคมไทย ชาวไทยจำนวนมากร่วมฉลองเทศกาลจีนดั้งเดิมอย่างตรุษจีน ขณะภาพยนตร์ไทยเรื่อง "หลานม่า" ทำรายได้และมีชื่อเสียงในจีน เนื่องจากมีองค์ประกอบและวัฒนธรรมจีนอย่างภาษาแต้จิ๋ว เพลงแต้จิ๋ว และประเพณีในเทศกาลชิงหมิง ซึ่งชาวจีนคุ้นเคยเป็นอย่างดี
ด้านป๊อปมาร์ท (Pop Mart) แบรนด์อาร์ตทอยสุดฮิตจากจีน ได้เปิดตัวดีมู่ (Dimoo) รุ่นลิมิเต็ดที่ผสมผสานองค์ประกอบทางวัฒนธรรมจีนและไทย ณ กรุงเทพมหานคร ภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยและสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับไทย
เฉินเสี่ยวอวิ๋น รองประธานป๊อปมาร์ท กล่าวว่าคนรุ่นใหม่เป็นพลังขับเคลื่อนการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและอนาคตของการสืบสานมิตรภาพ จึงหวังว่านี่จะเป็นสะพานเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่ของจีนและไทย ช่วยให้ทั้งสองฝ่ายได้สัมผัสมนต์เสน่ห์ทางวัฒนธรรมของกันและกัน
อนึ่ง วันที่ 1 ก.ค. ถือเป็นวันครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับไทย
ตั้งแต่รูปปั้นหินที่เป็นอับเฉาถ่วงน้ำหนักเรือสินค้าเดินทะเลในอดีตกาลจนถึงอาร์ตทอยจีนสุดฮิตที่ห้อยแขวนบนกระเป๋าสะพายของวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน ชาวจีนและชาวไทยต่างทำความรู้จักและสนิทสนมกันผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกันที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น
พินิจทิ้งท้ายว่ารากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายแสดงให้เห็นว่า "จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน" นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศและประชาชนจึงใกล้ชิดกัน โดยความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยจะใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นด้วยความพยายามร่วมสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกัน