Wednesday, 14 May 2025
TheStatesTimes

จัดแถลงข่าวการจัดงาน Thailand Summer Festival 2025 ภายใต้แนวคิด '7 Months 7 Wonders'

🗓️ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568
⏰ เวลา 10.00 น.
📍 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล 

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดงาน Thailand Summer Festival 2025 ภายใต้แนวคิด “7 Months 7 Wonders” โดยมีนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมแถลงข่าวฯ และมีนายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม) ผู้บริหารระดับสูงและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานฯ

⭐️ รัฐบาล โดยคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเฟสติวัล กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน  ร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่การเป็น World Class Event Hub โดยจะพลิกโฉมประเทศไทยด้วยการนำนวัตกรรมและความสร้างสรรค์มาต่อยอดวิถีประเพณี วัฒนธรรมซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น เสริมจุดแข็ง สร้างเสน่ห์ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องการเดินทางมาเยือน

✨ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งถือเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของพวกเราชาวไทย 

ในปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมบูรณาการกับ 28 หน่วยงานในการส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ โดยจัดงาน "เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์" ทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด "สงกรานต์บ้านฉัน สีสันแบบไทย สุขไกลทั่วโลก Once in a Lifetime : Experience Songkran in Thailand" เพื่อส่งเสริมประเพณีไทย นำเสนอความงดงามของวัฒนธรรมไทยและต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก มาร่วมสัมผัสประสบการณ์สงกรานต์ และร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลนี้อย่างยิ่งใหญ่ไปด้วยกัน

✨ นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานสงกรานต์ในพื้นที่ 17 จังหวัด และ 4 จุด ในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 5 เมืองอัตลักษณ์ 12 เมืองน่าเที่ยว และ 4 จุดหมายหลักในกรุงเทพมหานคร โดยมุ่งเน้นการจัดงานตามอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ด้วยบรรยากาศแบบดั้งเดิมที่เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน พร้อมมาตรการดูแลด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นเจ้าบ้านที่ดี ให้ทุกคนได้รับประสบการณ์ที่น่าประทับใจ

✨ นางสาวสุดาวรรณ กล่าวต่อว่า กระทรวงวัฒนธรรมพร้อมด้วย 28 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันกำหนด 17 มาตรการรณรงค์การจัดงานและการร่วมงานประเพณีสงกรานต์ ใน 4 มิติ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดงานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2568 ทั้งมิติวัฒนธรรม มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงวัฒนธรรม คาดหวังผลในการส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ในปีนี้ ให้คนไทยทั่วโลกภาคภูมิใจและร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ พร้อมยกระดับประเพณีสงกรานต์สู่ World Event เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา

💐 สุดท้าย นางสาวสุดาวรรณ ฝากถึงพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวว่าประเพณีสงกรานต์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่มีความหมายมากกว่าการเล่นน้ำ แต่เป็นเทศกาลแห่งความรัก ความกตัญญู และความอบอุ่นของครอบครัว ซึ่งควรค่าแก่การส่งต่อไปสู่สายตาชาวโลก "สงกรานต์ไทยคือมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดให้คนรุ่นหลัง เราต้องการให้สงกรานต์เป็นเทศกาลที่ทุกคนต้องมาเยือน อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต" 

🎶 นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ยังได้จัดทำบทเพลงสงกรานต์ 20 ภาษา สื่อสารไปทั่วโลก และขอความร่วมมือสถานทูตไทยในต่างประเทศช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ในต่างประเทศ เช่น เผยแพร่องค์ความรู้และร่วมจัดประเพณีสงกรานต์กับชุมชนไทยในต่างประเทศ ร่วมทำคลิปอวยพร ส่งความสุข ความปรารถนาดี และร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ของไทย ประเพณีสงกรานต์มีคุณค่าทั้งต่อครอบครัว ชุมชน และสังคม ช่วงเทศกาลสงกรานต์ยังเป็นช่วงวันครอบครัว ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน ของทุกปี ประกอบกับประเพณีสงกรานต์ มีคุณค่าต่อครอบครัว ทำให้เกิดความรักความผูกพันในครอบครัว เช่น สมาชิกในครอบครัวมาทำบุญร่วมกัน ลูกหลานมารดน้ำขอพรจากพ่อแม่ เพื่อเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่ จึงขอเชิญชวนชาวไทย และครอบครัวไทย ร่วมกันสืบสานประเพณีสงกรานต์ของไทยกันทั่วประเทศ

💜 กระทรวงวัฒนธรรมขอเชิญชวนทุกท่านเตรียมตัวให้พร้อมกับสงกรานต์ 2568 ซึ่งจะเป็นเทศกาลที่มอบประสบการณ์สุดประทับใจให้แก่ทั้งคนไทยและชาวโลก

📈🍲 สวธ. เดินหน้าสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย “รสชาติ...ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ 🥗🥘

🗓️ วันพุธที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
🕰️ เวลา ๑๓.๐๐ น.
📍 ณ ห้องศรีวราแกรนด์บอลรูม
ชั้น ๒ โรงแรมทาวน์ อิน ทาวน์ เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร

🎀 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best
Local Food) “รสชาติ...ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ โดยมี นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ผู้แทนปลัดกระทรวงวัฒนธรรม) นายวิเชียร สุขสร้อย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม) คณะผู้บริหาร ข้าราชการจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ กว่า ๓๐๐ คน เข้าร่วมพิธี

🎙️✨ นางสาวสุดาวรรณฯ กล่าวว่า “อาหาร” เป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่สะท้อนแนวคิด (concept) วิถีชีวิต(lifestyle) ประวัติศาสตร์ (history) ภูมิปัญญา (remedy) ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ การประกอบอาหาร การปรุงรสอาหาร วิธีการรับประทาน ข้อกำหนดและข้อห้ามเกี่ยวกับอาหารที่แตกต่างกันไปตามเชื้อชาติ สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม รวมถึงการปฏิสัมพันธ์ (interaction) กับต่างประเทศ

🍛✨ นางสาวสุดาวรรณฯ กล่าวอีกว่า ปี ๒๕๖๘ นี้ เป็นปีที่ ๓ ในการขับเคลื่อนการยกระดับอาหารถิ่นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นนโยบายที่สำคัญของกระทรวงวัฒนธรรม และนอกเหนือจากการค้นหาเมนูอาหาร “รสชาติ...ที่หายไป” แล้ว ยังมุ่งพัฒนาเมนูอาหารถิ่นสู่การจัดสำรับเครื่องดื่มพื้นบ้าน (assortment of traditional cuisine and beverages) ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เกิดการอนุรักษ์และเผยแพร่องค์ความรู้และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอาหารของประเทศ ตลอดจนการนำเสนอเมนูอาหารที่สร้างสรรค์สู่สากล

📝👥 สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ ณ ห้องศรีวราแกรนด์บอลรูม ชั้น ๒ โรงแรมทาวน์ อิน ทาวน์ เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร โดยการประชุมดังกล่าว กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ร่วมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน อาทิ กรมการแพทย์แผนไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง (strengthening) ให้กับชุมชน มุ่งสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) อย่างมีส่วนร่วมทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ อันจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ (Thailand Creative Culture Agency : THACCA) ได้อย่างมีศักยภาพ

กรมการแพทย์แผนไทยฯ จับมือ 2 องค์กรด้านการวิจัยระดับประเทศ ขับเคลื่อนงานวิจัยสมุนไพรไทยการแพทย์แผนไทย สู่มาตรฐานสากล

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ลงนามความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทยและการแพทย์แผนไทยให้ได้มาตรฐานระดับสากล เน้นการพัฒนาแนวทางวิจัยทางคลินิก(Clinical Research) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมงานวิจัยในระดับนานาชาติ การวิจัยเชิงระบบและการวิจัย R2R (Routine to Research) ชู ยุทธศาสตร์ “3 สร้าง”ปูทางสู่การขยายมูลค่าตลาดเศรษฐกิจสมุนไพร 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2570 เพื่อให้การพัฒนาสมุนไพรไทย การแพทย์แผนไทย ให้ก้าวไกลระดับโลก 

นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทยและการแพทย์แผนไทยให้ได้มาตรฐานระดับสากล โดยเน้นการพัฒนาแนวทางวิจัยทางคลินิก (Clinical Research) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมงานวิจัยในระดับนานาชาติ การวิจัยเชิงระบบและการวิจัย R2R (Routine to Research) ระหว่าง 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยมี ผู้บริหารของทั้ง 2 หน่วยงานร่วมลงนาม ประกอบด้วย นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(สกสว.) และ นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในด้านต่างๆ โดยมีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานวิจัยให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของประเทศในอนาคต

ความร่วมมือครั้งนี้ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ '3 สร้าง' ของกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้แก่ 1.สร้างความร่วมมือ กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนางานวิจัยสมุนไพรไทย 2.สร้างความเชื่อมั่น ด้วยการพัฒนามาตรฐานงานวิจัยให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล 3. สร้างมาตรฐานและยกระดับ เพื่อให้สมุนไพรไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลก และเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพที่มีคุณภาพ “ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาสมุนไพรไทย ให้ก้าวไกลระดับโลก ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยยกระดับมาตรฐานการแพทย์แผนไทย แต่ยังสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ปูทางสู่การขยายมูลค่าตลาดเศรษฐกิจสมุนไพร 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2570 อันจะนำไปสู่ระบบสุขภาพที่มั่นคงและยั่งยืนในอนาคต“

ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมการวิจัยและ พัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการใช้ประโยชน์ในระบบสุขภาพ โดยคาดว่าจะเพิ่มงบประมาณ สำหรับยาสมุนไพร 1,000 ล้านบาท พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกองทุนวิจัยและกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ทั้งนี้ มีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านสมุนไพรและการแพทย์สุขภาพในเอเชีย และส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยสมุนไพรที่มีคุณภาพและปลอดภัย

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ความร่วมมือนี้ จะเสริมศักยภาพการวิจัยและนวัตกรรมด้านสมุนไพรไทยและการแพทย์แผนไทย เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพอย่างยั่งยืนโดยเน้นการวิจัยทางคลินิกและพัฒนาเทคโนโลยีที่นำไปใช้ได้จริง รวมถึงสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้มาตรฐาน สวรส. พร้อมสนับสนุนกรอบการวิจัยและแนวทางที่ชัดเจน โดยจะตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรและการแพทย์แผนไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับประเทศและสากล เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและระบบสุขภาพของประเทศ

ด้านนายแพทย์สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกดำเนินการจัดทำ “Guideline for Herbal Medicine Research” เพื่อพัฒนากรอบการวิจัยทางคลินิกสำหรับสมุนไพรไทยและการแพทย์แผนไทย โดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างมาตรฐานการวิจัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ยังสนับสนุนการวิจัยและทดลองทางคลินิกเพื่อยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัยของสมุนไพรไทย            

พร้อมพัฒนามาตรฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ทั้งนี้ สถาบันฯ ยังมุ่งส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพคุณภาพสูง เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาที่มีมาตรฐานสร้างความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพร และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาด้วยแนวทางสุขภาพแบบองค์รวม

‘จอร์จ เยโอ’ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ เคยกล่าวในที่งานประชุมหัวข้อ China in Europe’s Future and Europe in China’s

‘จอร์จ เยโอ’ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ เคยกล่าวในที่งานประชุมหัวข้อ China in Europe’s Future and Europe in China’s เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ปี 2023 ไว้ว่า ..

“รู้กันว่า พวกอเมริกัน ไม่ชอบคนจีนและชาวมุสลิม แต่ไม่รู้ทำไม พวกเขากลับรักชาวจีนมุสลิม เสียอย่างนั้น”

'ประชาธิปัตย์' จัด 'เดโมแครต ฟอรัมครั้งที่ 4' 'วาระน้ำเพื่อประชาชน' มุ่งยกระดับคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านทั่วประเทศ ตั้งเป้าหมาย “น้ำประปาสะอาดทั่วไทย ทุกประปาต้องดื่มได้” 

พรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดสัมมนา เดโมแครต ฟอรั่ม ครั้งที่ 4 “วาระน้ำเพื่อประชาชน : ก้าวใหม่ประปาหมู่บ้าน” ขึ้นที่ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การดำริของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งงานดังกล่าวได้รับเกียรติจากนายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาเป็นประธาน 

ตลอดจนมีตัวแทนจากหน่วยภาครัฐหลายหน่วยงาน อาทิ กรมอนามัย กรมทรัพยากรน้ำบาดาลกรมทรัพยากรน้ำ กรมป่าไม้ตลอดจน สส. อดีตรัฐมนตรี อดีต สส. เช่น นายนริศ ขำนุรักษ์ อดีตรมช.มหาดไทย นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีต สส. นายเมฆินทร์ เอี่ยมสอาด กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ นายปรพล อดิเรกสารและไพศาล จันทวารา ที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายกุลเดช พัวพัฒนกุล อดีตประธานบอร์ดการยางแห่งประเทศ นายสุรศักดิ์ วงศ์วนิช คณะรมช.สธ. นายบุญมี สรรพคุณ โครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุเมฆ ปัณฑรานุวงศ์ ประธานมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีตวุฒิสมาชิกจังหวัดอุทัยธานี นายอารยะ โรจนวณิชชากร อดีตคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขนายสาธุ อนุโมทามิ และ นายราม คุรุวาณิชย์ รองประธานสถาบันเอฟเคไอไอ. รวมทั้งผู้นำท้องถิ่น และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานอย่างคึกคัก โดยมีวิทยากรจากภาคส่วนต่างๆเช่น นายรัชชผดุง  ดำรงพิงคสกุล  รักษาการผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัยนายเกรียงศักดิ์  ภิระไร  ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำบาดาล นายพลกฤต ปุญญอมรศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมิตรภาพ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี นายชาตี ปานทอง  รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหอมศีล จังหวัดฉะเชิงเทรา นางลัดดาวัลย์  มีสุวรรณ์ รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหีบ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายปรีชา สเลม เลขานุการ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการโดย นางสาวพลอยทะเล ลักษมีแสงจันทร์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่พิธีกร

นายธนิตพล ไชยนันทน์ ผู้อำนวยการพรรคฯ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาว่า งานวันนี้จัดขึ้นเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สำหรับนำไปสู่การจัดทำนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์และจัดทำโครงการน้ำเพื่อประชาชนตลอดทั้งประปาหมู่บ้านเพื่อประชาชนให้ประสบผลสำเร็จ 

นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานและกล่าวว่าปาฐกถาพิเศษว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประปาหมู่บ้านกว่า 69,000 แห่ง แต่จากการตรวจสอบของกรมอนามัยในจำนวนกว่า 10,000 แห่ง พบว่ามีเพียง 420 แห่ง หรือ 4% เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ประชาชนถึง 96% กำลังใช้น้ำที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่สะอาด ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน นี่คือสิ่งที่เราต้องแก้ไขโดยด่วน

ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยการเข้าถึงน้ำสะอาดต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 73% โดยไทยติดอันดับรั้งท้ายที่มีเพียง 4% ที่ใช้น้ำสะอาด การสัมมนาครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญในการระดมความคิดจากตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปเป็นข้อสรุปสำหรับพัฒนานโยบายพรรคฯ เพื่อให้ทุกประปาหมู่บ้านต้องสามารถดื่มได้ เพราะการแก้ไขปัญหาน้ำสะอาดเป็นรากฐานสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์มุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการใช้น้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า 

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานจัดงานเดโมแครต ฟอรัม (Democrat Forum) กล่าวว่า งานดังกล่าว ดร.เฉลิมชัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการเปลี่ยนแปลงให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นที่พึ่งของประชาชนและเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความก้าวหน้าและยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมุ่งหวังที่จะนำประเทศไปสู่อนาคตที่ดีกว่าของทุกคนจึงมีแนวทางเปิดพรรคกว้างสร้างวิสัยทัศน์เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนแบบไร้รอยต่อมุ่งวาระประชาชนที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศและจัดทำนโยบายที่ตอบโจทย์วันนี้และอนาคตโดยให้กลไกพรรคทุกระดับร่วมขับเคลื่อนโดยที่ผ่านมาพรรคฯ ได้มีการจัด เดโมแครต ฟอรัม มาแล้ว 3 ครั้ง ได้แก่

“เศรษฐกิจคาร์บอน :วิกฤติในโอกาส สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นนโยบายของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่กำกับดูแลกระทรวง ทส. และนายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค ที่กำกับดูแลกรมอนามัยโดยเล็งเห็นความสำคัญของน้ำประปาหมู่บ้าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ประชาชนใช้มาก หากสามารถยกระดับคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านได้ จะทำให้สุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนกว่า 6 หมื่นหมู่บ้านดีขึ้น 

ดังนั้นการนำเสนอแนวทางนโยบายจากการเสวนาครั้งนี้ มีเป้าหมายสุดท้ายคือทุกประปาต้องดื่มได้  โดยเริ่มจากเป้าหมายแรกคือทุกประปาต้องสะอาด และน้ำประปาต้องเข้าถึงทุกครัวเรือน ทั้งนี้พรรคฯ.จะยกร่าง พ.ร.บ. น้ำสะอาดเป็นฉบับแรกของประเทศเช่นเดียวที่เสนอร่างพรบ.อากาศสะอาดต่อสภาผู้แทนราษฎรไปก่อนหน้านี้

ทางด้านนายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรค และที่ปรึกษา รมว. ทส. ได้กล่าวว่า ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่าน้ำประปาจะต้องดื่มได้ในทุกน้ำประปา จากแนวคิดของตัวแทนจากกรมอนามัย ที่ต้องการเห็นการบริหารจัดการน้ำประปาในประเทศด้วยการสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่กรมอนามัย กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ ตลอดจนกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น และองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศ ขณะที่ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากตัวแทนจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งทำให้เห็นงานของกรมที่มีสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้ง 12 เขต เพื่อให้บริการน้ำใต้ดินที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศสามารถติดต่อประสานงานเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนได้

สำหรับปีงบ 2568 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ทส. มีแผนงานโครงการพัฒนาน้ำบาดาล เพื่ออุปโภคบริโภค เพิ่มเติมอีก 143 แห่ง สามารถเพิ่มน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ถึง 14.716 ล้าน ลบ.เมตรต่อปี ประชาชนจะได้ประโยชน์ 27,600 ครัวเรือน มีโครงการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น โดยมีโครงการก่อสร้างระบบอีก 300 แห่ง นอกจากนั้นยังมีการเตรียมความพร้อมเครื่องจักร ที่พร้อมใช้งานสำหรับการขุดเจาะน้ำบาดาล ชุดปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลเคลื่อนที่ ชุดซ่อมแซมประปา ชุดจ่ายน้ำอีกจำนวนมาก รวมทั้งโครงการเสริมศักยภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการประเมินคุณภาพน้ำให้กับ อปท. ทั่วประเทศ 520 แห่ง 

“ทรัพยากรน้ำ ถึงแม้จะมีมากแค่ไหน ก็มีจำกัด จึงต้องใช้อย่างรู้คุณค่า ไม่ว่าจะดึงขึ้นมาใช้เพื่ออุปโภค บริโภค หรือเพื่อการเกษตรก็ตาม จึงอยากให้ช่วยกันตระหนัก” นายอภิชาต กล่าว 

สำหรับ นายสมบัติ ยะสินธุ์ รองหัวหน้าพรรค ในฐานะ กมธ. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้กล่าวถึงเรื่องการกระจายอำนาจ ที่พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญ ถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นต่อการบริหารจัดการน้ำประปาเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน นอกจากต้องใช้บุคลากรที่มีความเหมาะสมแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจ และมีองค์ความรู้ ในการบริหารจัดการระบบประปาหมู่บ้านและงบประมาณอีกด้วยจึงต้องมีการเสริมความรึและทักษะเพิ่มเติม

ทั้งนี้ในช่วงท้ายของการเสวนา ได้มีการเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นจากผู้ร่วมเสวนาแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางโดยแสดงความชื่นชมและขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านและสุขภาพของประชาชนอย่างเอาจริงเอาจัง

รอง ผบ.ตร.เร่งรัดขับเคลื่อนการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าและแก๊สหัวเราะ อย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ

(28 ก.พ. 68) เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าและแก๊สหัวเราะ ครั้งที่ 1/2568 ณ ห้องประชุม ศปก.ตร. ชั้น 20 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีผู้แทน บช.น., ภ.1 - 9, บช.ก., บช.สอท., บช.ทท. และ สตม. เข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าและแก๊สหัวเราะ ซึ่งปัจจุบันได้ปรากฏสถานการณ์การแพร่ระบาดทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา พื้นที่ใกล้โรงเรียนหรือสถานศึกษา รวมถึงสถานบริการ สถานประกอบการ และพื้นที่สาธารณะในหลายพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเอง หรือผู้อื่น สร้างความเดือนร้อน รำคาญ  แก่ประชาชนใกล้เคียง โดยมุ่งหวังให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินการดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. ได้นำนโยบายรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติ โดยได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข รอง ผบ.ตร. ขับเคลื่อนการปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับสถิติการจับกุมการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีการจับกุมความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 457 คดี , คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 จำนวน 213 คดี ,  พ.ร.บ.ศุลกากร จำนวน 2,245 คดี และประกาศกระทรวงพาณิชย์ 30 คดี ส่วนในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 (ห้วงวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึง 27 กุมภาพันธ์ 2568) มีการจับกุมความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 125 คดี , คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 จำนวน 57 คดี , พ.ร.บ.ศุลกากร จำนวน 923 คดี และประกาศกระทรวงพาณิชย์ 22 คดี

พล.ต.อ.ประจวบฯ กำชับให้ทุกหน่วยตรวจสอบ กวดขันในเขตพื้นที่ มิให้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าและแก๊สหัวเราะ ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่าย ครอบครอง หรือเป็นแหล่งซุกซ่อน หากพบการกระทำความผิด ให้สืบสวนขยายผลให้ได้ข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน นำไปสู่การดำเนินคดีตามความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทุกกรณี , x-ray พื้นที่รับผิดชอบ หาเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบนำเข้าทางชายแดน ท่าเรือ การนำเข้าสินค้าโดยไม่ผ่านพิธีทางศุลกากร การซุกซ่อนสินค้าผิดกฎหมายในโกดังสินค้า แหล่งซุกซ่อน การให้บริการของบริษัทขนส่งต่าง ๆ การลักลอบลำเลียงสินค้าผิดกฎหมายกระจายไปในภูมิภาคต่างๆ พื้นที่กลุ่มเสี่ยงและเฝ้าระวัง โดยเฉพาะ โรงเรียน สถานศึกษา สถานบริการ สถานประกอบการ และให้เตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดปฏิบัติการ (operation) เพื่อกวาดล้างจับกุมผู้ค้ารายใหญ่ ในห้วงเดือนมีนาคม 2568 ดำเนินมาตรการยึดทรัพย์สิน และกระบวนการลงโทษทางการเงิน โดยประสานศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปปง.ตร.) อย่างใกล้ชิด , จัดชุดปฏิบัติการถ่ายทอดความรู้ แสวงหาความร่วมมือ สร้างการมีส่วนร่วมให้แก่ชุมชน ผู้ปกครอง เด็กและเยาวชน ในโรงเรียน สถานศึกษา ผู้ประกอบการ ในสถานบริการ ให้ตระหนักถึงอันตราย ผลกระทบต่อสุขภาพ อัตราโทษ ตลอดจนประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวให้ทราบถึงการผิดกฎหมายของบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่ออุดช่องว่าง ลดโอกาส ตัดวงจรการกระทำความผิด และห้ามข้าราชการตำรวจเข้าไปข้องเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือเป็นผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเสียเอง หากพบว่าหน่วยใดเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ปล่อยปละละเลย หรือเรียกรับผลประโยชน์ใดๆ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะพิจารณาและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเด็ดขาด

ทรัมป์ใช้ AI สร้างภาพ 'กาซาในฝัน' เมืองตากอากาศหรูภายใต้อิทธิพลอเมริกา

(28 ก.พ. 68) ทีมงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สร้างภาพอนาคตของฉนวนกาซา ตามแนวคิดของทรัมป์ที่ต้องการเปลี่ยนพื้นที่ขัดแย้งแห่งนี้ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุดหรูริมทะเล  

ในวิดีโอ 'กาซาในฝัน' ฉนวนกาซาปรากฏเป็นเมืองตากอากาศที่เต็มไปด้วยรีสอร์ตหรู ตึกระฟ้า และชายหาดสวยงาม พร้อมด้วยรูปปั้นขนาดใหญ่ของทรัมป์ตั้งตระหง่านอยู่กลางเมือง ภาพยังแสดงให้เห็นอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของทรัมป์ โปรยธนบัตรไปทั่ว เพื่อสื่อถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของฉนวนกาซาในอนาคต  

หนึ่งในภาพที่อาจสร้างความไม่พอใจให้กับชาวปาเลสไตน์ คือภาพของทรัมป์นอนอาบแดดข้างนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองผู้นำ  

อย่างไรก็ตาม ชาวปาเลสไตน์ที่ได้รับชมคลิปต่างแสดงความคิดเห็นว่า ฉนวนกาซาสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้โดยไม่จำเป็นต้องขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านเกิดของตน ตามที่ทรัมป์เคยเสนอให้พวกเขาย้ายไปอยู่ในอียิปต์หรือจอร์แดน พวกเขายังมองว่า แม้ฉนวนกาซาในฝันของทรัมป์จะดูหรูหราและทันสมัยคล้ายกับนครดูไบ แต่การพัฒนาเช่นนี้ควรเกิดขึ้นโดยที่ประชากรเจ้าของพื้นที่ยังคงมีสิทธิ์อาศัยอยู่ในดินแดนของตนเอง

ไทยไร้ทางเลือก!! กรณีส่ง 40 อุยกูร์ กลับมาตุภูมิซินเจียง ชี้ ต้องไม่ลืม!!! เหตุระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ 17 ส.ค. 58

ความขัดแย้งที่ซินเจียง หรือ ความขัดแย้งระหว่างชาวอุยกูร์ กับ รัฐบาลจีน (Xinjiang conflict หรือ Uyghur–Chinese conflict) เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเขตปกครองตนเองซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มาจากชาวอุยกูร์ ชนกลุ่มน้อยเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในภูมิภาคที่ต้องการปกครองตนเอง ชาวอุยกูร์ (Uighurs Uygurs หรือ Uigurs) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เติร์กที่มีต้นกำเนิดจากและมีส่วนเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรมกับภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียตะวันออก ชาวอุยกูร์ได้รับการยอมรับว่าเป็นชนพื้นเมือง ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยถือเป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในจำนวน 55 กลุ่มของจีน แต่ชาวอุยกูร์ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลจีนว่า เป็นชนกลุ่มน้อยในภูมิภาคของประเทศในกรณีของความหลากหลายทางวัฒนธรรมเท่านั้น 

เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เป็นเขตปกครองตนเองของจีนทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เป็นเขตปกครองใหญ่ที่สุดของจีน เป็นเขตการปกครองชนชาติที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก กินพื้นที่กว่า 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร และเป็นเขตการปกครองที่มีประชากรมากที่สุดติดอันดับหนึ่งในสิบ ซินเจียงมีพรมแดนติดต่อกับ ประเทศรัสเซีย มองโกเลีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย นอกจากนี้ยังมีพรมแดนติดต่อกับทิเบต มีน้ำมันสำรองอุดมสมบูรณ์ และเป็นภูมิภาคที่ผลิตแก๊สธรรมชาติใหญ่ที่สุดของจีน มีประชากรราว 24,870,000 คน ประกอบด้วย ชาวอุยกูร์ 45.84% ชาวฮั่น 40.48% ชาวคาซัค 6.50% ชาวหุย 4.51% และชาติพันธุ์อื่น ๆ อีก 2.67% เมืองสำคัญคือ อุรุมชี มีประชากรมากกว่า 2.3 ล้านคนประมาณ 75% เป็นชาวฮั่น 12.8% เป็นชาวอุยกูร์และ 10% มาจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ

ชาวอุยกูร์ส่วนส่วนหนึ่งหลบหนีออกมาเคลื่อนไหวนอกสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยชาวอุยกูร์ส่วนใหญ่ที่หลบหนีออกมาจะมุ่งหน้าไปยังตุรกีด้วยมีความคล้ายทางชาติพันธุ์ ภาษา และศาสนา โดยสหรัฐฯทั้งรัฐบาลและรัฐสภาต่างก็มีบทบาทในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของชาวอุยกูร์ โดยในเดือนธันวาคม 2019 สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีมติ 407 ต่อ 1 เสียงในการผ่านร่างกฎหมายที่กำหนดให้รัฐบาลของทรัมป์ต้องประณามและดำเนินมาตรการตอบโต้การจีนที่ใช้มาตรการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ (กฎหมาย ‘อุยกูร์ 2019’) โดยต้องเรียกร้องให้จีนปิดค่ายกักกันขนาดใหญ่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ รวมทั้งคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ของจีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว โดยพุ่งเป้าไปที่ นายเฉิน ฉวนกั๋ว เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำซินเจียงผ่าน กฎหมายดังกล่าวประณามจีนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีการปราบปรามชาวอุยกูร์ในซินเจียง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ และเชื่อว่ามีชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมชนกลุ่มน้อยนับล้านคนถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายปรับเปลี่ยนทัศนคติ ต่อมา 23 พฤษภาคม 2020 กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เรื่องการเพิ่มชื่อบริษัทและสถาบันของจีนรวม 33 แห่ง เข้าสู่บัญชีดำการเป็นหน่วยงานที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในจีน โดยเฉพาะชาวอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ 9 แห่ง และอีก 24 แห่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับ "การผลิตอาวุธทำลายล้าง" และกิจกรรมทางทหาร

ตั้งแต่มีนาคม พ.ศ.2557 มีชาวอุยกูร์ประมาณ 300 กว่าคนได้หลบหนีเข้ามาในบ้านเรา ซึ่งรัฐบาลจีนได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยส่งบุคคลเหล่านี้กลับไปยังประเทศจีน เนื่องจากอาจมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายในประเทศจีน โดยรัฐบาลไทยได้ขอให้ฝ่ายจีนดำเนินการส่งหลักฐานการกระทำผิด และมีการพิสูจน์สัญชาติให้แก่ฝ่ายไทยพิจารณาก่อนที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไป รัฐบาลไทยได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมควบคู่กับหลักสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย อีกทั้งรัฐบาลไทยได้พิจารณาอย่างรอบคอบจากหลักฐานของทุกฝ่าย สรุปว่า สามารถแยก'ชาวอุยกูร์'ดังกล่าว ได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจำนวน 172 คน ซึ่งกลุ่มนี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการกระทำผิดกฎหมาย และบุคคลดังกล่าวได้แสดงความประสงค์ที่จะเดินทางไปตุรกีและรัฐบาลตุรกีพร้อมที่จะรับ 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยได้รับหลักฐานการกระทำผิดและการพิสูจน์สัญชาติ 'ชาวอุยกูร์' จำนวน 109 คนจากรัฐบาลจีน และยังมีอีกประมาณ 60 คนที่ยังอยู่ในความดูแลของไทย กระทรวงการต่างประเทศของไทย ระบุว่า จากข้อเท็จจริงข้างต้น รัฐบาลไทยจึงได้ดำเนินการต่อเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2558 และตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์ จำนวน 172 คน ให้กับรัฐบาลตุรกี ซึ่งได้รับบุคคลเหล่านี้ไปตั้งถิ่นฐานในตุรกีเรียบร้อยแล้ว และในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2558 รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์จำนวน 109 คน ตามที่รัฐบาลจีนได้ส่งหลักฐานการกระทำผิดและได้รับการพิสูจน์สัญชาติให้กับฝ่ายไทยแล้ว โดยยังมีชาวอุยกูร์ ประมาณ 60 คน(ยอดในขณะนั้น) อยู่ในความดูแลของรัฐบาลไทยซึ่งยังไม่มีหลักฐานเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายรัฐบาลไทย โดยจะพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป 

จากเหตุระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 20 คน บาดเจ็บอีก 130 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวชาวอุยกูร์สองคนส่งฟ้องศาลคือ นายบิลาล โมฮำเหม็ด หรือ อาเด็ม คาราดัก เป็นจำเลยที่ 1 และนายเมียไรลี ยูซุฟู เป็นจำเลยที่ 2 ในข้อหาเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ และคนไทยอีกคนหนึ่งในคดีนี้คือ น.ส.วรรณา สวนสัน ถูกแยกฟ้องอีกต่างหาก โดยผู้ต้องหาทั้งหมดอยู่ระหว่างดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมของไทย ดังนั้นกรณีของชาวอุยกูร์ในประเทศไทยจึงต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นและเคร่งครัด ด้วยมีชาวอุยกูร์เคยก่อเหตุร้ายแรงในบ้านเรามาแล้ว ถือเป็นบทเรียนที่รัฐบาลต้องเตรียมการป้องกันและหาข่าวด้านความมั่นคงที่เกี่ยวเนื่องต่อไปอย่างต่อเนื่อง คนไทยเองต้องอย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม เพราะจะนำมาซึ่งความเสียหายร้ายแรง และหากเป็นเพราะเจตนาไม่ชอบหรือหวังผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องจะถูกดำเนินคดีด้วยแม้ไม่ใช่ตัวการก็ในฐานะผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ของไทยด้วย 

ดังนั้นการส่งชาวอุยกูร์ที่ตกค้างอยู่กลับสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงชอบธรรมแล้ว ดังนั้น UNHCR และกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ โปรดอย่าได้ดัดจริตออกมาโวยวายในเรื่องนี้ เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมาทำไม UNHCR จึงไม่ประสานจัดการส่งคนเหล่านี้ไปประเทศที่สาม (แต่สามารถประสานให้ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามมาตรา 112 หนีออกนอกประเทศไปเป็นผู้ลี้ภัยได้) เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ตอนนี้เองก็ใช้เครื่องบินลำเลียงทหารขนผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองออกนอกประเทศเป็นว่าเล่น จะกล่าวหาประณามใคร ควรทบทวนมองดูตัวเองให้ดีก่อน เพราะการกระทำกับคำพูดสุดที่ย้อนแย้งกันเสียเหลือเกิน

1 มีนาคม พ.ศ. 2433 รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศพระบรมราชโองการ ให้สร้างทางรถไฟสายแรกในราชอาณาจักรไทย

รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศพระบรมราชโองการ ให้สร้างทางรถไฟสายแรกในราชอาณาจักรไทย จากกรุงเทพฯ ถึงเมืองนครราชสีมา หลังจากที่ทำการสำรวจพื้นที่ เพื่อทำการสร้างทางรถไฟ เมื่อปี พ.ศ.2430 ดังมีพระราชดำริบางตอนว่า “การสร้างหนทางรถไฟเดินไปมาในระหว่างหัวเมืองไกล เป็นเหตุให้ความเจริญแก่บ้านเมืองได้ เป็นอย่างสำคัญอันหนึ่ง เพราะทางรถไฟอาจจะชักย่นหนทางหัวเมืองซึ่งตั้งอยู่ไกลไปมาถึงกันยากให้กลับเป็นหัวเมืองใกล้ไปมาถึงกันได้โดยสะดวก....”

ย้อนกลับไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากการทรงทอดพระเนตรการสร้างทางรถไฟในชวาและทรงประทับรถไฟในอินเดีย พระองค์ทรงเห็นว่ารถไฟจะทำให้ราชอาณาจักรสยามมีความเจริญยิ่งขึ้น และจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับราชอาณาจักรได้ ซึ่งในขณะนั้นราชอาณาจักรสยามกำลังถูกกดดันจากชาติตะวันตกในการล่าอาณานิคม ดังนั้นการสร้างทางรถไฟจึงได้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2433 โดยมีประกาศพระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟสยามตั้งแต่กรุงเทพมหานครถึงนครราชสีมา ดังมีข้อความแสดงพระราชดำริบางตอนว่า

"การสร้างหนทางรถไฟเดินไปมาในระหว่างหัวเมืองไกล เป็นเหตุให้ความเจริญแก่บ้านเมืองได้เป็นอย่างสำคัญอันหนึ่ง เพราะทางรถไฟอาจจะชักย่นหนทางหัวเมืองซึ่งตั้งอยู่ไกลไปมาถึงกันยากให้กลับเป็นหัวเมืองใกล้ไปมาถึงกันได้โดยสะดวกเร็วพลัน การย้ายขนสินค้าไปทางเป็นการลำบาก ก็สามารถจะย้ายขนไปมาถึงกันได้โดยง่าย เป็นการเปิดโอกาสให้อาณาประชาราษฎร์ มีทางตั้งการทำมาหากินกว้างขวางออกไปและทำทรัพย์สมบัติกรุงสยามให้มากมียิ่งขึ้นด้วย ทั้งเป็นคุณประโยชน์ในการบังคับบัญชา ตรวจตราราชการบำรุงรักษาพระราชอาณาเขตให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขได้โดยสะดวก"

ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในสังกัดกระทรวงโยธาธิการ จากนั้นในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ไปทรงขุดดินถมทางรถไฟหลวงสายแรก

สำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาได้แล้วเสร็จบางส่วน ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระอัครราชเทวี ไปทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรกในราชอาณาจักร พระองค์ทรงตอกหมุดตรึงรางรถไฟกับไม้หมอนและเสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกิจการของกรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้เป็นกรมรถไฟหลวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบูรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง และได้เปลี่ยนขนาดทางกว้างรางรถไฟให้เป็นทางกว้าง 1 เมตรทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีการสร้างสะพานพระราม 6 เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสะพานแรกในประเทศไทยเพื่อเชื่อมทางรถไฟสายเหนือกับสายใต้เข้าด้วยกัน

จากนั้นรัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มีผลใช้บังคับวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 กรมรถไฟจึงได้เปลี่ยนเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย และมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคมตามพระราชบัญญัตินี้

การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินกิจการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทยได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างสูง จึงได้จัดสร้างอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวงและทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2534 ณ บริเวณที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรกในราชอาณาจักร และถือเอาวันที่ 26 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสถาปนากิจการรถไฟอีกด้วย

2 มีนาคม พ.ศ. 2477 รัชกาลที่ 7 ทรงประกาศสละราชสมบัติ ในขณะประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

วันนี้เมื่อ 91 ปีก่อน ... 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 คืออีกหนึ่งวันสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่อยากให้คนไทยทุก ๆ คนจดจำ สำนึก และตระหนักซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระมหากษัตริย์ไทย เพราะนี่คือวันที่รัชกาลที่ 7 ทรงประกาศสละราชสมบัติ โดยขณะนั้นพระองค์ได้ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

หลังจากเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 จากคณะราษฎรส่งผลให้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีไปประทับที่ประเทศอังกฤษ และแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

หลังจากนั้นไม่นาน พระองค์ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 โดยในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ ปรากฏข้อความที่ใช้อ้างอิงกันเสมอในเวลาต่อมา ดังนี้

"... ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร ... บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทาง ที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ..."

อนึ่ง พระองค์ทรงกลับไปใช้พระนามและพระราชอิสริยยศเดิม ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา รวมระยะเวลาในการครองราชย์ได้ 9 ปี ขณะมีพระชนมายุได้ 41 พรรษา โดยไม่ทรงตั้งรัชทายาทเพื่อพระราชทานวโรกาสให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คัดเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เอง คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญเสด็จ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุ 9 พรรษา ซึ่งพระองค์เป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top