10 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 บอมบ์เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ของ ‘กรีนพีซ’ ฝีมือผู้ก่อการร้ายชาวฝรั่งเศส
คงมีแต่ผู้ติดตามตัวจริงเท่านั้นที่จะนึกถึงเหตุโศกนาฎกรรมครั้งนี้ได้ว่ามัน เกิดขึ้นกับ "เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์" (The Rainbow Warrior) แต่คนไทยวงนอก จะจดจำได้ว่าครั้งหนึ่ง "เรือของกรีนพีซ" เคยถูกบอมบ์จนยับเยินมาแล้ว
เหตุเศร้านี้เกิดขึ้นเมื่อวันนี้ของเมื่อ 37 ปีก่อน ตรงวับวันที่ 10 กรกฎาคม 2528 เรือลำนี้ถูกสายลับก่อการร้ายชาวฝรั่งเศสวางระเบิดยับจนจมดิ่งมหาสมุทร ที่น่าเศร้าคือมีผู้สูญหายหรือเสียชีวิตอีกด้วย
แน่นอน คนไทยทั่วไปอาจคุ้นเคยแต่ว่า องค์กรกรีนพีซนั้นทำเรื่องสิ่งแวดล้อม โลกสวยในทุ่งลาเวนเดอร์และผืนมหาสมุทร หากแท้จริงแล้ว องคาพยพขององค์กรนี้ยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งกว้างขวางกว่าที่คิด
เฉกเช่นกับเรื่องราวของ “เรนโบว์ วอร์ริเออร์” อันเป็นเรือลำแรกในกองเรือ ที่ออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อภารกิจของกรีนพีซโดยเฉพาะ
เว็บไซต์ www.greenpeace.org/thailand เล่าไว้ว่า เรนโบว์ วอร์ริเออร์” ไม่เพียงแต่เป็นเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดลำหนึ่งแล้ว เรือลำนี้ยังเป็นดั่งความฝันของเหล่านักรณรงค์ที่ยังคงต่อสู้เพื่ออนาคตสีเขียวและสันติภาพ
เรนโบว์ วอร์ริเออร์ เดิมมีชื่อว่า “เซอร์ วิลเลียม ฮาร์ดีย์” เรืออวนลากสำหรับงานวิจัยด้านการประมงของกระทรวงเกษตร ประมง และ อาหารของสหราชอาณาจักร สร้างขึ้นเมื่อปี 2498 เป็นเรือเครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้าลำแรกที่สร้างขึ้นในสหราชอาณาจักรด้วย
ภายหลัง กรีนพีซต้องการนำมาใช้ จึงระดมทุนเพื่อซื้อเรือลำนี้มา แต่มันไม่ง่ายเลย เพราะหลายเดือนกรีนพีซก็ยังไม่มีเงินพอ
จนที่สุดกองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานเนเธอร์แลนด์ จึงให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อช่วยรณรงค์ปกป้องวาฬ กรีนพีซจึงได้กรรมสิทธิ์เรือลำแรกในยุโรป
ได้เรือมาอย่างสวยงามแล้ว กรีนพีซจัดแจงเปลี่ยนชื่อเรือเอาฤกษ์เอาชัย ได้ชื่อมาว่า “เรนโบว์ วอร์ริเออร์” ตามคำทำนายของนักรบอินเดียนแดง ชนเผ่าครีในอเมริกาเหนือ ที่เชื่อว่า “เมื่อโลกป่วยและกำลังดับสูญ ผู้คนจะลุกขึ้นสู้ประหนึ่งนักรบแห่งสายรุ้ง…”
วันที่ 29 เมษายน 2521 เรนโบว์วอร์ริเออร์ ได้ทำงานเที่ยวแรกในชีวิต ออกจากท่าเรือในลอนดอน มีลูกเรือ 24 คน จาก 10 ประเทศ
ดังที่เกริ่นไว้ พวกมีภารกิจสำคัญ คือการขัดขวางการล่าวาฬเพื่อการค้าที่ไอซ์แลนด์ ชาวกรีนพีซแห่งเรนโบว์วอร์ริเอร์ ราวกับนักรบที่ไร้อาวุธ แต่พวกเขาก็ท้าลุยกับปัญหาต่างๆ จนพิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นเรือที่ทรงคุณค่าในการเดินทะเลอย่างแท้จริง
3 ปีต่อมา อาสาสมัครกรีนพีซเปลี่ยนเครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้าขนาด 45 ตัน และติดตั้งเครื่องยนต์ดีทรอยท์ เข้าไปแทน จนถึงปี 2528 มีการติดตั้งใบเรือเพื่อความพร้อมสำหรับการเดินทางไปมหาสมุทรแปซิฟิก
ที่นั่นมีชาวเกาะรองเกลัป 320 คน ที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนรังสี และได้เรียกร้องความช่วยเหลือจากเรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ให้ช่วยอพยพผู้คน เพื่อไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เกาะเมจาโต
รังสีนี้ มาจากการทดลองนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษที่ 1950 หลายคนเป็นมะเร็ง ลูคิเมียและพิการแต่กำเนิด
ใครจะคาดคิดว่า ในวันที่สวยงามของเดือนกรกฎาคมปีนั้น (2528) เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ซึ่งทอดสมอไหวเอนตามลมคลื่นเบาๆ ในผืนน้ำที่เมืองโอคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อเตรียมความพร้อมออกปฏิบัติการต่อต้านการทดลองนิวเคลียร์ของรัฐบาลฝรั่งเศศที่หมู่เกาะปะการังโมรูรัว
เวลาเกือบเที่ยงคืน ขณะที่ทุกๆ คน กำลังจะเข้านอน หากแต่ยังมีลูกเรือสองสามนาย หนึ่งในนั้นคือ เฟอร์นานโด เปเรรา ช่างภาพประจำเรือชาวโปรตุเกส พวกเขานั่งคุยและดื่มเบียร์อยู่บนเรือลำนี้
อยู่ๆ ก็มีแสงสว่างวาบขึ้น ตามด้วยเสียงกระจกแตก และเสียงโครมที่ลงกระแทกผืนน้ำเข้าอย่างจัง หะแรก ทุกคนคิดว่าเรืออาจถูกเรือโยงชน แต่มารู้ว่าไม่ใช่เมื่อได้เกิดระเบิดลูกที่สอง!
ลูกเรือที่อยู่บนดาดฟ้าเรือ พากันหนีตายจ้าละหวั่น ที่กระโดดหลบในที่ปลอดภัยบนท่าเรือได้ก็ทำ ที่กระโดลงน้ำได้ก็ทำ เปลวไฟจากระเบิดทำให้เสากระโดงเรือที่เป็นเหล็กบิดงอไปต่อหน้าต่อตา
