Sunday, 16 June 2024
Tesla

กระจ่าง!! Tesla ขายได้แค่ 1 คันทั้งเดือนในเกาหลีใต้ เพราะขายหมดจนไม่เหลือสต็อกรถไว้ขายในเดือนมกราคม

(8 ก.พ.67) Business Tomorrow ได้ออกบทความกรณีข่าวสะพัด Tesla ขายได้แค่ 1 คันทั้งเดือนจริงหรือไม่? โดยมีเนื้อหาดังนี้...

จากเหตุการณ์ที่ประเทศเกาหลีขายรถยนต์ EV อย่าง Tesla ได้เพียง 1 คันในเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลายคนอาจจะมองว่าเป็นข่าวร้ายและขาลงของอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ในเกาหลีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

แต่ใครจะรู้ว่าสิ่งนี้อาจเป็นสัญญาณที่ดีมากสำหรับวงการ EV และ Tesla ที่ Tesla ขายรถในเกาหลีใต้ทั้งเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้เพียงแค่ 1 คัน

📌 ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ?

เพราะหากเราเจาะเข้าไปดูรายละเอียดให้ดีแล้ว เราจะทราบว่า Tesla ในเกาหลี (หรือแม้แต่ในไทยก็ตาม) จะไม่ได้รับรถจากโรงงานจีนเลยในเดือนแรกของไตรมาส เพราะรถทั้งหมดกำลังถูกขนผ่านเรือจากจีนเข้ามาอยู่ กว่าจะได้รับรถก็คือต้องรอเป็นเดือนที่ 2 และ 3 ของไตรมาส ทำให้ยอดขาย Tesla ในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียจะออกมาในรูปแบบนี้เสมอ คือยอดขายในแต่ละไตรมาสจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามเดือน และไปสูงสุดที่เดือนที่ 3 เสมอ

📌 ทำไม Tesla ถึงต้องทำแบบนี้ ?

ทั้งนี้เพื่อ Maximize ให้ยอดจดทะเบียน หรือยอดขายของรถสูงที่สุดในไตรมาสเดียว หาก Tesla ไม่กำหนดการส่งออกจากจีนให้ดี และส่งรถออกมาในเดือนสุดท้ายของไตรมาส จะทำให้รถเหล่านั้นอยู่ระหว่างการเดินทางในช่วงการปิดงบรายไตรมาส และไม่ได้รับรู้เข้าไปในบัญชี

ทำให้ในเดือนแรกของทุกไตรมาส Tesla จะส่งรถออกไปให้ประเทศที่อยู่ไกลที่สุดก่อน ที่ใช้เวลาเดินทางมากที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าในไตรมาสนั้น ประเทศนั้นจะได้มีเวลาส่งมอบรถให้ได้มากที่สุด (หากส่งเรือไปถึงช้า เวลาขายในไตรมาสก็จะน้อย) ก่อนที่จะค่อย ๆ ส่งออกให้กับประเทศที่อยู่ใกล้ขึ้น ให้มีเวลาในการขายที่มากขึ้นไปตาม ๆ กัน 

จนเดือนสุดท้ายที่ไม่สามารถส่งรถออกทัน Tesla ก็จะขายรถเหล่านั้นในตลาด Domestic ของจีนให้มากที่สุด เพื่อเร่งยอดการส่งมอบในแต่ละไตรมาส

📌 สรุปแล้วดีกับ Tesla ?

ทำให้หากเราเห็นว่า Tesla ในเกาหลีขายได้เพียง 1 คันในเดือนมกราคม นั้นหมายความว่า Tesla ได้ขายรถในเกาหลีออกไปเกือบทุกคันจนหมดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาแล้ว ! ทำให้ไม่เหลือสต็อกรถไว้ขายในเดือนมกราคม

ด้วยสิ่งเหล่านี้ทำให้สามารถสรุปสั้น ๆ ได้ว่า จริง ๆ แล้วนี่เป็นข่าวที่ดีมากสำหรับ Tesla และวงการรถ EV ในเกาหลีเลยทีเดียว

‘กลุ่มหัวรุนแรง’ วางเพลิงเสาไฟฟ้าข้างโรงงาน Tesla ในเยอรมัน อ้าง!! ต้องการโค่น ‘อีลอน มัสก์’ พร้อมตราหน้า ‘นักเทคโนโลยีฟาสซิสต์’ 

‘อีลอน มัสก์’ ฉุนขาด เมื่อโรงงานผลิตรถยนต์ Tesla ในแคว้นบรันเดินบวร์ค ของเยอรมัน กลายเป็นเป้าหมายในการโจมตีของกลุ่มคนหัวรุนแรงฝ่ายซ้ายจัด ที่ชื่อว่า ‘Vulkangruppe’ หรือ กลุ่มภูเขาไฟ ได้ลอบวางเพลิงเสาไฟฟ้าข้างโรงงาน ส่งผลให้ไฟฟ้าดับทั้งเมือง โรงงานรถยนต์ต้องหยุดชะงัก และ หมู่บ้านในบริเวณใกล้เคียงไม่มีไฟฟ้าใช้ 

เมื่อวันอังคาร (5 มี.ค. 67) ที่ผ่านมา เกิดเพลิงไหม้เสาไฟที่จ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าโรงงาน Tesla กระทบต่อระบบไฟฟ้าในโรงงานทั้งหมด จนต้องหยุดการผลิตชั่วคราว คาดว่าอาจต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะกลับมาเดินสายการผลิตรถยนต์ได้อีกครั้ง 

ต่อมาไม่นาน เว็บไซต์ ‘kontrapolis.info’ ของเยอรมัน ได้โพสต์จดหมายของกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายซ้ายในเยอรมัน ที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มภูเขาไฟ (Vulkangruppe) ออกมาแสดงตนว่าเป็นผู้ก่อเหตุลอบวางเพลิงดังกล่าว ด้วยการตัดกระแสไฟเข้าโรงงาน Tesla เพื่อสร้างความปั่นป่วนจนต้องปิดโรงงาน

โดยทางกลุ่มได้ประกาศเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า ต้องการทำลายโรงงานยักษ์ใหญ่ระดับ Gigafactory ของ Tesla และโค่นล้ม อีลอน มัสก์ ที่ทางกลุ่มกล่าวหาว่าเขาเป็น ‘นักเทคโนโลยีฟาสซิสต์’ ที่เสวยสุขบนทรัพยากรธรรมชาติ และแรงงานผู้คน ซึ่งการทำลายอีลอน มัสก์ จะถือเป็นก้าวสำคัญของการปลดปล่อยระบอบปิตาธิปไตย (ระบอบที่ชายเป็นใหญ่) พร้อมลงชื่อท้ายจดหมายว่า ‘Agua De Pau’ ภูเขาไฟในประเทศโปรตุเกส

กลุ่มภูเขาไฟ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มหัวรุนแรงซ้ายจัดกลุ่มหนึ่งในเยอรมัน ที่เคยก่อเหตุลอบวางเพลิงในกรุงเบอร์ลินมาตั้งแต่ปี 2554 ภายใต้ชื่อ ‘Vulkangruppen’ โดยมักเล็งเป้าหมายไปที่ท่อสายเคเบิลบนทางรถไฟ, เสาสัญญาณวิทยุ, สายสัญญาณข้อมูลสื่อสาร หรือ รถยนต์ขององค์กรต่าง ๆ หลังก่อเหตุมักส่งจดหมายออกมาแสดงตนเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์พร้อมลงท้ายจดหมายด้วยชื่อภูเขาไฟที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาไฟของไอซ์แลนด์ เช่น ‘Grimsvotn’, ‘Katla’ และ ‘Ok’ เป็นต้น 

กลุ่มภูเขาไฟ ไม่มีแกนนำชัดเจน มีอุดมการณ์ทางการเมืองใกล้เคียงกับระบอบอนาธิปไตย (ระบอบที่ปฏิเสธการมีอยู่ของรัฐบาล และ ลำดับชั้นทางสังคม) ซึ่งถือเป็นแนวคิดสุดขั้วที่สุดในอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายซ้าย 

ต่อมาทางกลุ่มพยายามเข้ามามีอิทธิพลในการเคลื่อนไหวเรื่องปัญหาสภาพอากาศโลก และถูกนำมาเป็นข้ออ้างหนึ่งในการโจมตีโรงงาน Tesla ในวันนี้ที่ Tesla ถูกโยงว่าเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ทุนนิยมสีเขียว’ 

ด้านอีลอน มัสก์ ได้โพสต์ข้อความลงใน X ถึงกลุ่มภูเขาไฟว่า เป็นผู้ก่อการร้ายเชิงนิเวศที่โง่ที่สุดในโลก รักษ์โลกแบบใด ถึงมาโจมตีโรงงานที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แทนที่จะไปโจมตีโรงงานที่ผลิตรถยนต์พลังงานฟอสซิล แล้วจะบอกว่าเป็นนักขับเคลื่อนเพื่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร 

อีลอน มัสก์ เปิดโรงงาน Tesla ในเยอรมันเมื่อปี 2565 ซึ่งเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และยังเป็นการท้าทายผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันที่เป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกอีกด้วย

แต่ Tesla ก็กำลังมีประเด็นกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในเยอรมัน เมื่อ อีลอน มัสก์ วางโครงการที่จะขยายโรงงานในเยอรมันเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ Tesla ให้ได้ถึง 1 ล้านคันต่อปี เพื่อรองรับตลาดที่กำลังขยายตัวอย่างมากในยุโรป ซึ่งจำเป็นต้องถางพื้นที่ป่าเพิ่มอีกอย่างน้อย 420 เอเคอร์ จึงเกิดกระแสต่อต้านของกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และชาวบ้านในพื้นที่ ที่มาปักหลักตั้งแคมป์เพื่อขัดขวางการถางป่าเพื่อขยายโรงงาน Tesla มาแล้ว

‘Tesla’ ประกาศเรียกคืน ‘Cybertruck’ หลังพบปัญหาที่อาจทำให้ 'คันเร่งค้าง'

Tesla ประกาศเรียกคืน Cybertruck ที่ผลิตออกมาทั้งหมด 3,878 คัน หลังพบปัญหาคันเร่งค้าง

(23 เม.ย.67) BusinessTomorrow รายงานว่า Tesla ได้ประกาศเรียกคืนรถผ่าน National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางถนนในสหรัฐ ระบุปัญหาแป้นเหยียบคันเร่ง (pad on the accelerator pedal) อาจไปติดกับตัวรถด้านในที่อยู่เหนือคันเร่ง และอาจทำให้คันเร่งค้างได้

ทั้งนี้ Tesla ระบุว่า ได้รับแจ้งปัญหาจากลูกค้าครั้งแรกในวันที่ 31 มีนาคม และครั้งที่สองในวันที่ 3 เมษายน หลังการสอบสวนของวิศวกรก็พบว่ามีปัญหาจริง ๆ จึงตัดสินใจประกาศให้เจ้าของรถนำรถเข้าไปแก้ไขโดยไม่มีค่าใช้จ่าย (ซึ่งเจ้าของรถมีสิทธิจะไปหรือไม่ก็ได้ เป็นไปตามความสมัครใจ)

‘Tesla’ กำไรไตรมาสแรกดิ่งฮวบ 55% ท่ามกลางสงครามรถยนต์อีวีที่เข้มข้น

(24 เม.ย.67) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เทสลา บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าผลกำไรในไตรมาสแรกของปี 2024 ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้มข้น แต่หุ้นของเทสลากลับเพิ่มขึ้น หลังนายอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลาได้ประกาศว่าจะเร่งแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาถูกลง

เทสลาได้เปิดเผยว่า เทสลามีผลกำไรในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 40,570 ล้านบาท จากรายได้ของเทสลา 21,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 785,362 ล้านบาท ถือว่ามีผลกำไรลดลง 55% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หุ้นของเทสลากลับเพิ่มขึ้นมากกว่า 11% ในการซื้อขายหลังตลาดปิด หลังเทสลาให้คำมั่นว่าจะเร่งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่มีราคาถูกลง โดยการประกาศดังกล่าวมีขึ้นขณะที่บรรดานักลงทุนต้องการให้มัสก์ออกมาแสดงความชัดเจนเกี่ยวกับกลยุทธ์ของบริษัทมากขึ้น ขณะที่ยอดขายรถยนต์เทสลากำลังลดลง และข่าวการปลดพนักงานเทสลาทั่วโลกราว 14,000 คนเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายของเทสลากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี รวมถึงการเรียกคืนรถยนต์ Cybertruck รุ่นใหม่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเร่งเครื่องยนต์

ถึงแม้ว่าเทสลาจะกำลังใช้มาตรการรัดเข็มขัด แต่เทสลายังให้รายละเอียดว่าพวกเขาเตรียมที่จะเร่งการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งรวมถึงรถยนต์ที่มีราคาถูกลง โดยมัสก์เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์รุ่นใหม่จะเริ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2024 หรือต้นปี 2025 เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2025 ซึ่งรายงานดังกล่าวได้สร้างความพอใจให้แก่นักลงทุนบางส่วนอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม มัสก์ไม่ได้ชี้แจงถึงแผนการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่เพิ่มเติมแต่อย่างใด แต่บอกว่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในช่วงเดือนสิงหาคมนี้

สหรัฐฯ หมายตาลงทุนฐานผลิต EV ในไทย หวังใช้ทานกระแส ‘รถยนต์ EV’ สัญชาติจีน

รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจสกัดการไหลบ่าของรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน เข้าตลาดสหรัฐฯ ด้วยกำแพงภาษีนำเข้าสูงถึง 100% ในระยะอันใกล้นี้ เพื่อปกป้องผู้ประกอบการรถยนต์ในประเทศ โดยเฉพาะ Tesla ที่ยอดขายตกหนักจากการแย่งชิงตลาดของรถยนต์แบรนด์จีนด้วยกลยุทธ์การตัดราคาสู้ จนยอดจองรถยนต์รุ่นใหม่ของ Tesla ชะลอตัวลงอย่างมากทั้งในตลาดสหรัฐฯ และยุโรป 

ซึ่งล่าสุด Tesla เพิ่งประกาศเลิกจ้างพนักงานทั่วโลกลงอีก 10% และชะลอการลงทุนในแผนกพัฒนาการชาร์จประจุไฟ  และดูเหมือนสถานการณ์ก็ยังไม่ฟื้นตัวนัก ส่งผลให้หุ้นของ Tesla ตกลงไปแล้วถึง 30% ช่วงเวลาแค่ 4 เดือนของปีนี้ (2567) 

หากปล่อยไว้เช่นนี้ ธุรกิจของผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับรถยนต์ราคาประหยัดของจีน รัฐบาลสหรัฐฯ จึงตัดสินใจสกัดการเข้าตลาดของ สินค้าพลังงานหมุนเวียน และรถยนต์ไฟฟ้าของจีน ด้วยการขึ้นกำแพงภาษีถึง 100% โดยเฉพาะรถยนต์ EV ในรุ่นที่ราคาต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์ (3.68 แสนบาท) ที่ตอนนี้มีให้เห็นล้นตลาดสหรัฐฯ 

แต่ว่าสถานการณ์ของ Tesla ซับซ้อนกว่านั้น เนื่องจาก Tesla มีฐานการผลิตใหญ่อยู่ในประเทศจีนด้วย ที่ผลิตรถยนต์ป้อนทั้งตลาดจีน และต่างประเทศ ที่ทำให้ Tesla ถูกกดดันหนักทั้ง 2 ด้าน จากมาตราการกำแพงภาษีของสหรัฐฯ จะส่งผลถึงต้นทุนราคาชิ้นส่วนอุปกรณ์ของ Tesla ที่ผลิตในจีน และการต้องปรับตัวแข่งขันอย่างดุเดือดกับผู้ผลิตรถยนต์จากจีนด้วย 

ดังนั้น Tesla จำเป็นต้องมองหาตลาดใหม่ในเอเชีย นอกเหนือจากจีน ที่มีศักยภาพการเติบโตไม่แพ้กัน ที่ตอนนี้มีอยู่ 2 แห่งที่เข้าตาอีลอน มัสก์ ประเทศแรกคือ อินเดีย ที่อยู่ในความสนใจของ Tesla มานานแล้ว ส่วนอีกประเทศหนึ่งก็คือ ไทย ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ ที่กระแสเครื่องยนต์สะอาดกำลังมาแรงมาก

ทางการไทยเคยมีการพูดคุยกับ Tesla มาได้ 2-3 ปี แล้วในช่วงที่ อีลอน มัสก์ กำลังมองหาทำเลที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่ระดับ Gigafactory ในเอเชีย ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่อยู่ในใจของอีลอน มัสก์ และเคยวางแผนที่จะมาสำรวจทำเลถึงในประเทศไทยแต่ต้องยกเลิกการเดินทางไปก่อน 

แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ภูมิภาคอาเซียนถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากสำหรับ Tesla ทั้งในแง่ฐานลูกค้า ที่จะช่วยให้ Tesla พึ่งพาตลาดยุโรป และ อเมริกา น้อยลง และยังเหมาะที่จะเป็นฐานการผลิตทางเลือกใหม่ นอกเหนือจากจีน ได้เป็นอย่างดี

ซึ่งไทยเป็นที่รู้จักในฉายา ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ มานานหลายปี จากแรงงานที่ทักษะเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ และความสามารถในการดึงดูดบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ข้ามชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ ที่จะช่วยให้ Tesla สามารถลดการพึ่งพาแหล่งผลิตในจีนได้ และยังมีความพร้อมในการรองรับความต้องการในตลาดเอเชีย และ ทวีปอื่น ๆ ได้ด้วย

เคร็ก เออร์วิน นักวิเคราะห์การวิจัยอาวุโสของ Roth Capital ซึ่งดูแล Tesla กล่าวว่า “มีความเป็นไปได้ที่ไทยจะสามารถผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ด้วยต้นทุนที่ต่ำได้เหมือนอย่างจีน แถมยังสามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง โดยปราศจากการควบคุมจากรัฐบาลปักกิ่ง นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังมีงบประมาณอุดหนุน และสิ่งจูงใจทางภาษีเพื่อสนับสนุนการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้และดึงดูดผู้ผลิตจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทยได้ง่ายขึ้น”

นอกจากนี้ เซท โกลด์สตีน นักยุทธศาสตร์ด้านหุ้นของ Morningstar ซึ่งดูแล Tesla ยังกล่าวถึงข้อดีของไทยอีกว่า “การส่งออกรถยนต์จากประเทศไทยไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพยุโรปมีผลกระทบทางการเมืองน้อยกว่าจีน และถึงแม้ว่ารถยนต์ที่ผลิตในไทย ไม่เข้าข่ายที่จะได้รับเงินสนับสนุนจาก Inflation Reduction Act กฎหมายที่ช่วยเหลือด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯ แต่โอกาสที่รถยนต์จากไทยจะเจอกำแพงภาษีสูงลิ่วแบบที่จีนต้องเจอมีน้อยมาก ๆ”

และต่อให้ไม่เข้าตลาดสหรัฐฯ ก็ยังมีตลาดในอาเซียนที่มีประชากรมากกว่า 650 ล้านคนรองรับอยู่ และยังเป็นตลาดที่กำลังเติบโต ซึ่งไทยก็เป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ที่มีค่ายรถยนต์ต่างชาติยักษ์ใหญ่ทั้ง โตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน ฟอร์ด จีเอ็ม และเมอร์เซเดส-เบนซ์ ต่างก็มาตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคอยู่ที่ไทย 

เป้าหมายของไทย คือ การเป็นมหาอำนาจด้านการผลิตระดับโลก ด้วยข้อเสนอด้านภาษีที่จูงใจ และยังตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนจากการผลิตรถยนต์เครื่องสันดาปในประเทศ เป็นรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ถึง 30% ภายในปี 2573 ซึ่งเทียบเท่ากับรถยนต์ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ 675,000 คัน ทำให้ไทยกลายเป็นตลาดรถยนต์ EV ที่สำคัญมากทั้งจากมุมมองของผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำอย่าง ฮอนด้า และ โตโยต้า ก็วางแผนที่จะลงทุนกว่า 4.1 พันล้านเหรียญในการผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทยแล้ว

ยังไม่นับเรื่องการค้นพบแหล่งแร่ลิเธียมเกือบ 15 ล้านตันในประเทศ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ที่จะทำให้ไทยมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในเอเชียมากขึ้นไปอีก 

เซท โกลด์สตีน ยังเสริมว่า “หากประเทศไทยกลายเป็นตลาดที่สามารถผลิตรถยนต์ EV และ รวมถึงส่วนประกอบได้ในราคาถูกและยังสามารถส่งออกได้อย่างอิสระ ก็ไม่แปลกใจที่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ รวมทั้ง Tesla จะพิจารณาการสร้างฐานผลิตใหม่ในประเทศไทย ที่เป็นทางเลือกที่ดีนอกเหนือจากจีน”

และยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของรถยนต์ค่ายอื่น ๆ ต่อยุทธศาสตร์การบุกตลาดอย่างหนักของรถยนต์ EV จากจีนได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทยในการรักษาตำแหน่ง ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ ไว้ให้ได้ เพราะกำลังถูกท้าทายจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม และ อินโดนิเซีย ที่ต้องการแย่งบัลลังก์เจ้าแห่งการผลิตรถยนต์จากไทยด้วยเช่นกัน 

ผู้ขับขี่ ‘เทสลา’ หวิดตาย!! หลัง ‘โหมดขับขี่อัตโนมัติ’ ไม่ยอมเบรก พุ่งตรงเข้าหาขบวนรถไฟที่อยู่เบื้องหน้า ก่อนเจ้าตัวบิดหักหลบทัน

(27 พ.ค. 67) ผู้ขับขี่รายหนึ่งซึ่งขับรถ ‘เทสลา’ พุ่งตรงเข้าหาขบวนรถไฟคันหนึ่งที่อยู่เบื้องหน้า ก่อนหักหลบทันหวุดหวิด กล่าวโทษโหมดขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตามรายงานของเอ็นบีซี ซึ่งเขาแชร์หลักฐานพิสูจน์คำกล่าวอ้างนี้บนสื่อสังคมออนไลน์ แม้อีกด้านหนึ่งยอมรับว่าตนเองต้องมีส่วนรับผิดชอบเช่นกัน

โดย เครก โดตี แสดงความสงสัยว่าทำไมระบบช่วยขับขี่ของเทสลาถึงไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองใด ๆ เลยระหว่างที่เกิดเหตุ "มีผมคนเดียวที่อยู่ในรถ รถของผมเพียงคันเดียวที่ประสบอุบัติเหตุ ดังนั้น ใช่แล้ว มันเป็นความผิดของผม มันต้องเป็นแบบนั้น อย่างไรก็ตามผมรู้สึกว่ารถไม่รู้ว่ามีรถไฟอยู่ข้างหน้า"

ซึ่ง โดตี ได้แชร์ภาพติดหน้ารถของเหตุการณ์เฉียดตายครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม บนกระดานสนทนาหนึ่งของเทสลา และเวลานี้คำกล่าวอ้างของเขาได้รับการยืนยันผ่านระบบรายงานอุบัติเหตุอัตโนมัติของเทสลา ซึ่งยืนยันว่ารถยนต์คันดังกล่าวอยู่ในโหมดขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบ ระหว่างเกิดเหตุ และไม่ได้ชะลอความเร็วลง นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่ามือทั้ง 2 ข้างของ โดตี ยังคงวางอยู่บนพวงมาลัย อันเป็นข้อบังคับปลอดภัยไว้ก่อนสำหรับโหมดขับขี่ดังกล่าว

โดยในวิดีโอพบเห็นรถยนต์กำลังแล่นเข้าหาไม้กั้นรางรถไฟ ท่ามกลางสภาพอากาศที่เป็นหมอกหนา และแม้การเคลื่อนตัวของรถไฟจะสามารถมองเห็นได้ชัด แต่รถยนต์ของเทสลากลับไม่ชะลอความเร็วลง และยังคงแล่นด้วยความเร็ว 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ช่วงวินาทีท้าย ๆ โดตี ตัดสินใจเข้าควบคุมรถเอง เหยียบเบรกเต็มแรงและหักเลี้ยวจนรถหลุดออกนอกถนนพุ่งชนเสาอย่างจัง รอดพ้นจากการถูกรถไฟชนอย่างฉิวเฉียด "ผมอยากบอกว่า มันไม่มีทางเลยที่ระบบจะมองไม่เห็นรถไฟ มันไม่มีทางเลยที่ระบบจะมองไม่เห็นไฟกะพริบ ใช่ มันมีหมอก แต่คุณยังสามารถมองเห็นแสงไฟ"

แม้ชื่อเรียกที่ก่อประเด็นถกเถียงจะบ่งชี้ไปในทางอื่น แต่ความเป็นจริงคือโหมดขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบของเทสลา และระบบลูกพี่ลูกน้องที่มีความล้ำสมัยน้อยกว่าอย่าง ‘ออโตไพล็อต’ ไม่ใช่ระบบขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบ มันเป็นเพียงระบบช่วยขับขี่รูปแบบหนึ่ง ที่คนขับจำเป็นต้องพร้อมเข้าควบคุมพวงมาลัยทันทีที่ได้รับสัญญาณแจ้งเตือน

เรื่องราวนี้เป็นอีกหนึ่งประเด็นปัญหาทางเทคนิคที่กำลังกัดเซาะชื่อเสียงของเทสลาและอีลอน มัสก์ ซีอีโอของบริษัท ที่รับปากซ้ำ ๆ ว่าระบบขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้มีขึ้นในขณะที่เทสลากำลังเจอปัญหาหนัก ด้วยคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวหาว่าผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งนี้กำลังชี้นำสาธารณะในทางที่ผิด

นอกจากนี้ ทางกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ก็กำลังสืบสวนเทสลาเช่นกัน ในคำกล่าวอ้างชี้นำแบบผิด ๆ เกี่ยวกับระบบช่วยขับขี่ ขณะเดียวกันที่ผ่านมา ทางสำนักงานความปลอดภัยด้านการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติสหรัฐฯ ได้ทำการสืบสวนรอบแล้วรอบเล่าเกี่ยวกับอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบขับขี่อัตโนมัติและระบบออโตไพล็อต

ในเหตุการณ์ล่าสุด ทางโฆษกของสำนักงานความปลอดภัยด้านการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ทางหน่วยงานได้รับทราบเรื่องเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว และอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมจากบริษัทผู้ผลิต

‘สไปร์ท SPD’ ขอโทษ ปมขับเทสลาลงหาด สร้างความเดือดร้อน รับ!! ประมาทเอง สัญญาจะนำเป็นบทเรียนให้คิดรอบคอบกว่าเดิม

(29 พ.ค.67) จากกรณี ‘สไปร์ท SPD’ พร้อมทีมงาน ได้ขับรถเทสลาลงไปชายหาดปากน้ำหลังสวน อ.หลังสวน จ.ชุมพร เพื่อทำคอนเทนต์ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย

ก่อนที่ต่อมา เวลา 21.00 น. วันที่ 28 พ.ค. ‘สไปร์ท SPD’ ที่ขณะนี้อยู่เกาหลี ได้ส่งทีมงานของช่องยูทูบ ‘SpriteDer SPD’ 4 คน เข้าพบ ผกก.สภ.ปากน้ำหลังสวน เพื่อชี้แจงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและถูกปรับคนละ 5,000 บาท ฐานกระทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน รำคาญในที่สาธารณะ

ล่าสุดวันนี้ สไปร์ท ได้โพสต์ขอโทษ โดยระบุว่า “สวัสดีครับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นความผิดของผมเองครับที่ขับรถลง บริเวณชายหาด และสร้างความเดือดร้อนให้คนในพื้นที่ ผมกราบขอโทษชาวปากน้ำหลังสวน และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดครับ

ขอชี้แจงว่าในวันที่เกิดเหตุ ผมได้ให้ทีมงานสอบถามคนในพื้นที่บริเวณดังกล่าวแล้ว และได้รับแจ้งว่าสามารถขับรถลงไปถ่ายรูปได้ แต่ด้วยความประมาทของผม ที่ขับออกไปไกลเกินกว่าจุดที่เขาบอก ทำให้รถไปติดหล่มเหมือนในภาพที่ทุกคนเห็นกัน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมขอน้อมรับผิดทุกประการ และจะนำเอาบทเรียนนี้กลับมาคิดให้รอบคอบมากกว่าเดิมในอนาคต เพื่อแก้ไขปรับปรุง และไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในทำนองนี้อีกในภายภาคหน้า

ส่วนความผิดทางกฎหมายตอนนี้ ทางทีมของผมได้จ่ายค่าปรับไปส่วนนึงแล้ว เหลือค่าปรับของผมที่ตอนนี้ติดภารกิจถ่ายงานที่ต่างประเทศ ที่ได้มีการวางแผนล่วงหน้ามานานแล้ว จึงให้ทนายดำเนินเรื่องค่าปรับให้ในระหว่างที่ผมทำภารกิจอยู่ โดยผมไม่ได้หนีหายไปแต่อย่างใดครับ

ผมขอโทษทุกคนสำหรับเหตุการณ์ทั้งหมดอีกครั้งนึงครับ และขอขอบคุณชาวหลังสวนทุกคน ที่มาช่วยเหลือในเหตุการณ์ดังกล่าวครับ”

ส่วนประเด็นที่คนตั้งขอสังเกตถึงป้ายทะเบียน รถเทสลาคันดังกล่าวของ สไปร์ท SPD หมายเลขทะเบียน 3 ขจ 1496 กรุงเทพมหานคร ว่าทำไมถึงเป็นป้ายแดง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทางบริษัท Tesla ประเทศไทย เคยออกมาบอกว่า

“รถยนต์จาก Tesla ประเทศไทย จะไม่มีคำว่า ‘รถป้ายแดง’ อย่างแน่นอน เพราะรถทุกคันที่ส่งถึงมือลูกค้า จะทําการจดทะเบียนเป็นป้ายขาวไว้เรียบร้อยหมดแล้ว หมายเลขทะเบียนจะเป็นแบบสุ่ม จากทางกรมขนส่งทางบกเท่านั้น” เรื่องนี้ สไปร์ท ยังไม่ได้ชี้แจงแต่อย่างไร


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top