Tuesday, 22 April 2025
singapore

สำรวจเงื่อนไขการเป็นเจ้าของรถยนต์ใน ‘ประเทศสิงคโปร์’ ภายใต้ ‘ใบอนุญาต’ ที่ทำให้รถราคาเบาๆ มีมูลค่ามหาศาล

เมื่อไม่นานมานี้ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Panitxp’ ได้โพสต์คลิปเล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการซื้อขายรถยนต์ในประเทศสิงคโปร์ รวมถึงเหตุผลที่ราคารถยนต์ในประเทศนี้สูงลิ่ว ด้วยว่า…

“การที่คุณจะเป็นเจ้าของรถยนต์ที่ประเทศสิงคโปร์ได้ คุณจะต้องซื้อใบอนุญาต ซึ่งใบอนุญาตนั้น มีราคาแพงมาก เพราะฉะนั้น คนที่จะมีรถยนต์ได้ ต้องมีเงินเยอะมากๆ”

“สำหรับใบอนุญาตดังกล่าวนี้ เรียกว่า ‘Certificate of Entitlement’ หรือ ‘COE’ โดยในแต่ละปีรัฐบาลจะมีโควตาว่า ในปีนั้นจะสามารถมีรถใหม่เพิ่มได้กี่คัน ซึ่งใช้วิธีคำนวณจากรถที่ออกจากระบบในปีที่แล้ว และการเติบโตที่เฉลี่ยขึ้นประมาณ 3% ทุกปี หลังจากนั้น จะให้คนที่ต้องการซื้อรถยนต์ เข้ามาส่งราคา เพื่อทำการประมูลซื้อ หลังจากเสร็จสิ้นรอบการประมูลแล้ว จะมีการคำนวณราคาของ COE ให้ โดยทุกคนที่ได้โควตา จะจ่ายเท่ากับราคาของคนสุดท้ายที่อยู่ในโควตา”

“จากนั้นเมื่อได้ใบ Certificate นี้แล้ว คุณจะสามารถครอบครองรถได้ 10 ปี และอาจขอขยายเพิ่มได้ 5 หรือ 10 ปี หลังจากนั้น รถจะถูกบังคับขายและส่งไปยังต่างประเทศ ฉะนั้น แค่การซื้อรถ Toyota เล็กๆ สักหนึ่งคันที่นี่ อาจจะเริ่มต้นที่ 3 ล้านบาทกันเลยทีเดียว”

“ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อเป็นการควบคุมจำนวนรถยนต์ และลดปัญหาการจราจรในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่มีความหนาแน่นบนท้องถนนที่สุดในโลก”

สิงคโปร์เล็งออกกม. ให้ตร.ยึดบัญชีเหยื่อแทน ป้องกันก่อนถูกตุ๋น หากไม่เชื่อว่าเป็นมิจ

(12 พ.ย.67) รัฐบาลสิงคโปร์เตรียมใช้มาตรการใหม่เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางการเงิน หลังพบว่ามีคนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก แม้ว่ามาตรการใหม่นี้อาจกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล แต่รัฐบาลมีเป้าหมายในการป้องกันชาวสิงคโปร์ไม่ให้เสียเงินจำนวนมากแก่มิจฉาชีพ

ร่างกฎหมาย 'คุ้มครองจากการหลอกลวง' (Protection from Scams Bill) ที่เสนอเข้าสู่รัฐสภาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน อาจทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศแรกในโลกที่ให้สิทธิตำรวจในการควบคุมบัญชีธนาคารของเหยื่อที่ไม่ยอมรับว่าตนเองถูกหลอก แม้จะมีหลักฐานชัดเจน

กฎหมายใหม่นี้จะเปิดทางให้ตำรวจสามารถออกคำสั่งเพื่อจำกัดธุรกรรมทางการเงิน เช่น การโอนเงิน การใช้ ATM และการเข้าถึงวงเงินสินเชื่อ ซึ่งจะกระทบถึงการทำธุรกรรมของบุคคลในบัญชีธนาคารของตนเอง ทั้งที่ทำผ่านธนาคารโดยตรงหรือบริการชำระเงินยอดนิยมอย่าง PayNow

หากร่างกฎหมายผ่านการพิจารณา ตำรวจจะสามารถออกคำสั่ง RO เพื่อหยุดการโอนเงินได้ หากพบว่าเหยื่ออาจตกเป็นเป้าหมายของการหลอกลวง หรือเห็นว่าจำเป็นต้องปกป้องเหยื่อจากการเสียทรัพย์

รายงานเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ชาวสิงคโปร์สูญเงินให้แก่มิจฉาชีพสูงถึง 385.6 ล้านดอลลาร์ จากคดีหลอกลวงรวมกว่า 26,587 คดี ซึ่งนับเป็นสถิติใหม่ของประเทศ

สิงคโปร์ให้อำนาจตำรวจ คุมบัญชีปชช.สกัดสแกมเมอร์

(8 ม.ค. 68) สิงคโปร์สร้างความฮือฮาในวงการกฎหมายโลกด้วยการผ่านกฎหมายใหม่ที่มอบอำนาจให้ตำรวจควบคุมบัญชีธนาคารของบุคคล หากพบหลักฐานชัดเจนว่าบุคคลนั้นกำลังตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง โดยกฎหมายดังกล่าวผ่านการอนุมัติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2025 และถือว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่มีมาตรการเช่นนี้  

ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานสืบสวนอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ สามารถออกคำสั่งหยุดการทำธุรกรรมทางการเงินได้ทันที หากพบหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าผู้ถือบัญชีกำลังจะโอนเงินให้กับกลุ่มผู้หลอกลวง แม้ว่าเจ้าของบัญชีจะเต็มใจโอนเงินด้วยตัวเองก็ตาม  

สำหรับบุคคลที่ถูกสั่งจำกัดตามกฎหมายนี้ จะถูกระงับการใช้งานบัญชีธนาคาร การเข้าถึงตู้เอทีเอ็ม และวงเงินสินเชื่อ โดยยังคงอนุญาตให้ถอนเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้เพียง 30 วัน และสามารถต่ออายุได้สูงสุด 5 ครั้ง  
“เป้าหมายหลักของกฎหมายนี้คือการให้ตำรวจมีเวลามากขึ้นในการโน้มน้าวและแจ้งเตือนเหยื่อว่ากำลังถูกหลอกลวง รวมถึงขอความช่วยเหลือจากสมาชิกในครอบครัวของเหยื่อ”  

ทั้งนี้ คำสั่งควบคุมจะถูกใช้ก็ต่อเมื่อไม่มีวิธีอื่นที่สามารถป้องกันเหยื่อได้ ซุนยังยกตัวอย่างกรณีหญิงวัย 64 ปีที่สูญเสียเงิน 400,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ให้กับผู้หลอกลวงที่อ้างว่าเป็นคนรัก  

ซุนเปิดเผยว่ามาตรการป้องกันในปัจจุบันไม่สามารถจัดการปัญหาหลอกลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก 86% ของกรณีหลอกลวงมาจากการที่เหยื่อโอนเงินด้วยตัวเอง และคิดเป็น 94% ของความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายนปีที่ผ่านมา  

ยูจีน ตัน นักวิเคราะห์การเมืองและศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ กล่าวว่า  
“นี่เป็นกฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองสถานการณ์เฉพาะของสิงคโปร์ และยังไม่พบประเทศอื่นที่มีกฎหมายลักษณะเดียวกัน” 

แม้จะมีความกังวลว่ากฎหมายอาจเป็นการล่วงล้ำสิทธิส่วนบุคคล แต่เขาเชื่อว่ารัฐบาลสิงคโปร์มองว่าการหลอกลวงเป็นภัยคุกคามทางสังคมที่สร้างผลกระทบอย่างกว้างขวาง  

จามัส ลิม ส.ส.ฝ่ายค้านจากพรรคแรงงานแสดงความกังวลว่ากฎหมายนี้อาจแทรกแซงสิทธิในการทำธุรกรรมส่วนบุคคล แต่ยังคงสนับสนุนเนื่องจากเห็นถึงปัญหาการหลอกลวงที่ทวีความรุนแรงขึ้น  

ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยระบุว่าในปี 2023 สิงคโปร์สูญเสียเงินกว่า 650 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์จากกรณีหลอกลวง และคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอีก 10% ในปี 2024 พร้อมกับมูลค่าความเสียหายที่อาจเพิ่มขึ้น 40%  

ยูจีน ตัน เสริมว่า  “ปัญหาหลอกลวงกำลังอยู่ในจุดวิกฤติ หากยังไม่ถึงจุดนั้นแล้ว”  การออกกฎหมายใหม่นี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของสิงคโปร์ในการปกป้องประชาชนจากกลุ่มมิจฉาชีพ แม้จะเป็นการดำเนินการที่เข้มงวดและไม่เคยมีมาก่อนในโลก

'สิงคโปร์-มาเลเซีย' ผุดแผนปั้น 'ยะโฮร์' ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ หวังเป็นศูนย์กลางการค้า-เทคโนโลยี แบบ 'เซินเจิ้น'

(8 ม.ค.68) สิงคโปร์และมาเลเซียประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญ ด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ที่มีขนาดใหญ่ถึง 3,500 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าสิงคโปร์ถึง 4 เท่า และใหญ่กว่าเซินเจิ้น 2 เท่า โดยตั้งเป้าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทะลุ 9 แสนล้านบาทต่อปี พร้อมทั้งสร้างงานนับแสนตำแหน่ง  

เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่นี้มีเป้าหมายดึงดูดโครงการลงทุนกว่า 50 โครงการในช่วง 5 ปีแรก และเพิ่มเป็น 100 โครงการภายใน 10 ปีแรก ทั้งนี้ การร่วมมือดังกล่าวคาดว่าจะช่วยสร้างอาชีพนับแสนตำแหน่ง พร้อมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9 แสนล้านบาทต่อปี ภายในปี 2030  

พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่นี้จะตั้งอยู่บริเวณพรมแดนรัฐยะโฮร์ของมาเลเซีย เชื่อมต่อกับสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้สัญจรผ่านพรมแดนกว่า 3 แสนรายต่อวัน ทำเลดังกล่าวถูกมองว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน  

ความร่วมมือดังกล่าวถูกพูดถึงมาหลายปี โดยแผนเดิมคือการลงนามข้อตกลงตั้งแต่ปี 2024 แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ของสิงคโปร์ ติดโควิดในช่วงนั้น จึงเลื่อนมาเริ่มต้นในเดือนมกราคม ปี 2025  

นี่ไม่ใช่ความร่วมมือครั้งแรกระหว่างสองประเทศ ก่อนหน้านี้ สิงคโปร์และมาเลเซียเคยพยายามพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงมูลค่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่โครงการดังกล่าวต้องชะลอไปเนื่องจากปัญหาทางการเงินและการจัดการ  

แม้จะมีความคืบหน้า แต่ยังคงมีประเด็นที่ต้องแก้ไข เช่น การจัดการเรื่องภาษีที่แตกต่างกัน (ภาษีเงินได้นิติบุคคลของสิงคโปร์อยู่ที่ 17% ขณะที่มาเลเซียอยู่ที่ 24%) รวมถึงปัญหาด้านระบบอนุญาตข้ามพรมแดน การนำยานยนต์เข้าสู่พื้นที่ และความแตกต่างในขั้นตอนดิจิทัล เช่น สิงคโปร์มีระบบ QR-code สำหรับข้ามแดนที่พัฒนาไปไกลกว่ามาเลเซีย  

ถึงแม้จะมีอุปสรรค แต่ทั้งสองประเทศยังคงเดินหน้าพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ โดยคาดว่าแรงจูงใจด้านภาษีและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ช่วยผลักดันให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จในอนาคต

ส่องโมเดล 'เต็นท์น้ำเงิน' ตำรวจสิงคโปร์ เคารพสิทธิผู้ตาย - รักษาจุดเกิดเหตุ

เมื่อไม่นานมานี้ที่สิงคโปร์มีข่าวนักปั่นจักรยานวัย 61 ประสบเหตุชนกับรถบัสในย่านจูรง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเจ้าหน้าที่ตำรวจสิงคโปร์มีการรักษาสภาพจุดเกิดเหตุด้วยกางเต็นท์น้ำเงิน เพื่อปกปิดศพไม่ให้สาธารณชนเห็น

การจัดการจุดเกิดเหตุในแต่ละประเทศมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน สำหรับที่สิงคโปร์มีระบบการจัดการแบบเฉพาะตัวเมื่อเกิดอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยฉุกเฉินในสิงคโปร์จะใช้เต็นท์สีน้ำเงินคลุมร่างผู้เสียชีวิตทันทีที่ถึงที่เกิดเหตุ

มาตรการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความเคารพต่อผู้เสียชีวิต, ปกป้องความเป็นส่วนตัวของครอบครัวผู้เสียชีวิต และลดผลกระทบทางจิตใจต่อผู้ที่อยู่ในพื้นที่นั้น

ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจสิงคโปร์ยังระบุว่า การใช้เต็นท์ยังช่วยรักษาความสมบูรณ์ของสถานที่เกิดเหตุสำหรับการสืบสวน เช่น ป้องกันหลักฐานจากการถูกทำลายหรือปนเปื้อนจากสภาพแวดล้อม โดยเต็นท์จะถูกตั้งไว้จนกว่าการเก็บข้อมูลจากที่เกิดเหตุจะเสร็จสมบูรณ์

การดำเนินการเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการที่มีประสิทธิภาพของสิงคโปร์ พร้อมทั้งแสดงความเคารพต่อความรู้สึกของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ตามระเบียบของตำรวจสิงคโปร์ระบุว่า เต็นท์ที่ใช้ในการปฏิบัติการของตำรวจออกแบบมาเพื่อการใช้งานในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การสืบสวนเหตุการณ์อาชญากรรม อุบัติเหตุ หรือภารกิจเฉพาะ โดยสามารถให้ความเป็นส่วนตัวได้ เต็นท์บางรุ่นมีหลังคาที่โปร่งแสงและข้างเต็นท์ที่ป้องกันความเป็นส่วนตัว รวมถึงผ้าคลุมสีดำ

เหตุที่ต้องใช้สีน้ำเงินเนื่องจาก เป็นสีสัญลักษณ์ประจำของตำรวจสิงคโปร์ ซึ่งสีนี้ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 1969  การใช้ 'เต็นท์สีน้ำเงิน' เริ่มต้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 หรือประมาณปี 2000 เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงกระบวนการสอบสวนและการจัดการสถานที่เกิดเหตุให้มีความเป็นระเบียบและเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น

การตั้งเต็นท์สีน้ำเงินนอกจากยังช่วยป้องกันไม่ให้พื้นที่เกิดแล้ว ยังป้องกันการถูกแทรกแซงจากประชาชนและสื่อมวลชน ลดการรบกวนจากผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง และช่วยให้การสอบสวนของเจ้าหน้าที่ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและรักษาความลับของการสอบสวนด้วย นับว่าเป็นโมเดลที่ดีที่หากตำรวจไทยจะนำมาประยุกต์ใช้ก็น่าสนใจไม่น้อย

สิงคโปร์เปิดทดลองให้คนโดยสาร เริ่มวิ่ง 2 เส้นทางกลางปี 2026

(28 ม.ค. 68) สำนักงานการขนส่งทางบกของสิงคโปร์ประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมร่วมส่งข้อเสนอสำหรับโครงการนำร่องเพื่อทดสอบรถโดยสารประจำทางอัตโนมัติ โดยมีเป้าหมายเริ่มทดลองให้บริการรถเมล์อัตโนมัติ ระยะ 3 ปี บนเส้นทางที่กำหนด 2 เส้นทาง ซึ่งจะเริ่มช่วงกลางปี 2026

โครงการข้างต้นจะเริ่มต้นด้วยรถเมล์จำนวน 6 คัน แต่ละคันมีที่นั่งอย่างน้อย 16 ที่นั่ง และเลือกใช้งานเส้นทางที่มีระยะสั้นและสัญจรง่าย โครงการนำร่องนี้มีเป้าหมายประเมินความเป็นไปได้ทางเทคนิค และศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการดำเนินงานของยานยนต์ประเภทนี้ทั้งในระดับให้บริการเป็นรายคันและระดับกองยานยนต์

ในระยะแรกจะมีพนักงานขับรถประจำอยู่บนรถเมล์อัตโนมัติเพื่อดูแลการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัย อาทิ การรับและส่งผู้โดยสารอย่างปลอดภัยตามจุดจอดที่กำหนด โดยผู้โดยสารจะต้องนั่งอยู่กับที่และคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง และอาจมีเจ้าหน้าที่บริการลูกค้าประจำอยู่ด้วยเพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือ

เมื่อยานยนต์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติและมีการควบคุมจากระยะไกลที่น่าเชื่อถือได้แล้ว เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยจากระยะไกลจะมาดำเนินงานแทนพนักงานขับรถ ขณะที่สำนักงานฯ จะติดตามการทำงานของรถโดยสารแบบเรียลไทม์ตลอดช่วงการทดลองเพื่อประเมินประสิทธิภาพและความสอดคล้องกับข้อกำหนดต่างๆ

สำนักงานฯ จะปิดรับข้อเสนอภายในไตรมาสที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน) ของปี 2025 ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จอาจมีการจัดซื้อรถเมล์อัตโนมัติเพิ่มสูงสุด 14 คัน และเพิ่มเส้นทางทดลองอีก 2 เส้นทาง โดยคาดว่าจะมีการมอบสัญญาโครงการนำร่องภายในสิ้นปี 2025


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top