'สิงคโปร์-มาเลเซีย' ผุดแผนปั้น 'ยะโฮร์' ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ หวังเป็นศูนย์กลางการค้า-เทคโนโลยี แบบ 'เซินเจิ้น'
(8 ม.ค.68) สิงคโปร์และมาเลเซียประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญ ด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ที่มีขนาดใหญ่ถึง 3,500 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าสิงคโปร์ถึง 4 เท่า และใหญ่กว่าเซินเจิ้น 2 เท่า โดยตั้งเป้าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทะลุ 9 แสนล้านบาทต่อปี พร้อมทั้งสร้างงานนับแสนตำแหน่ง
เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่นี้มีเป้าหมายดึงดูดโครงการลงทุนกว่า 50 โครงการในช่วง 5 ปีแรก และเพิ่มเป็น 100 โครงการภายใน 10 ปีแรก ทั้งนี้ การร่วมมือดังกล่าวคาดว่าจะช่วยสร้างอาชีพนับแสนตำแหน่ง พร้อมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9 แสนล้านบาทต่อปี ภายในปี 2030
พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่นี้จะตั้งอยู่บริเวณพรมแดนรัฐยะโฮร์ของมาเลเซีย เชื่อมต่อกับสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้สัญจรผ่านพรมแดนกว่า 3 แสนรายต่อวัน ทำเลดังกล่าวถูกมองว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน
ความร่วมมือดังกล่าวถูกพูดถึงมาหลายปี โดยแผนเดิมคือการลงนามข้อตกลงตั้งแต่ปี 2024 แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ของสิงคโปร์ ติดโควิดในช่วงนั้น จึงเลื่อนมาเริ่มต้นในเดือนมกราคม ปี 2025
นี่ไม่ใช่ความร่วมมือครั้งแรกระหว่างสองประเทศ ก่อนหน้านี้ สิงคโปร์และมาเลเซียเคยพยายามพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงมูลค่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่โครงการดังกล่าวต้องชะลอไปเนื่องจากปัญหาทางการเงินและการจัดการ
แม้จะมีความคืบหน้า แต่ยังคงมีประเด็นที่ต้องแก้ไข เช่น การจัดการเรื่องภาษีที่แตกต่างกัน (ภาษีเงินได้นิติบุคคลของสิงคโปร์อยู่ที่ 17% ขณะที่มาเลเซียอยู่ที่ 24%) รวมถึงปัญหาด้านระบบอนุญาตข้ามพรมแดน การนำยานยนต์เข้าสู่พื้นที่ และความแตกต่างในขั้นตอนดิจิทัล เช่น สิงคโปร์มีระบบ QR-code สำหรับข้ามแดนที่พัฒนาไปไกลกว่ามาเลเซีย
ถึงแม้จะมีอุปสรรค แต่ทั้งสองประเทศยังคงเดินหน้าพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ โดยคาดว่าแรงจูงใจด้านภาษีและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ช่วยผลักดันให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จในอนาคต