Wednesday, 21 May 2025
NewsFeed

‘อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย’ ฟาด IMF–ธนาคารโลก ละเมิดพันธกิจ! หนุนเงินสงครามยูเครนแทนฟื้นฟูเศรษฐกิจ

(21 พ.ค. 68) ดมีทรี เมดเวเดฟ รองประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งรัสเซีย และอดีตประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวอย่างเผ็ดร้อนบนเวที St. Petersburg International Legal Forum โดยย้ำว่าขณะนี้ 'สันติภาพ' ต่างหากคือสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่ 'การหยุดยิงชั่วคราว' กับยูเครน พร้อมตอกย้ำว่ารัสเซียพร้อมเจรจาโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของ 'ความเป็นจริงในสนามรบ' และข้อเสนอที่ฝ่ายรัสเซียได้กำหนดไว้

นอกจากกล่าวถึงยูเครน เมดเวเดฟยังออกโรงจวกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกว่า 'กำลังละเมิดพันธกิจหลัก' ด้วยการอัดฉีดงบประมาณสนับสนุนรัฐบาลยูเครนที่นำไปใช้ในการทำสงคราม มากกว่าฟื้นฟูเศรษฐกิจตามภารกิจดั้งเดิมขององค์กรเหล่านี้ “สิ่งที่พวกเขากำลังทำ ไม่ใช่การช่วยเหลือประเทศที่กำลังฟื้นฟู แต่คือการหล่อเลี้ยงสงคราม” เขากล่าว

เมดเวเดฟยังกล่าวเตือนถึงภัยคุกคามที่อาจขยายวง หากยังมีทหารจากชาติพันธมิตรหรือ 'Coalition of the willing' เข้ามาป้วนเปี้ยนในยูเครน โดยระบุว่าสถานการณ์เช่นนี้จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งกลายเป็น 'ภัยคุกคามที่ไม่มีวันจบสิ้น' พร้อมกันนี้ เขายังวิจารณ์ผู้นำยุโรปหลายคนอย่างตรงไปตรงมา อาทิ โบริส จอห์นสัน, เอ็มมานูเอล มาครง และเซอร์คีร์ สตาร์เมอร์ ว่าใช้วิกฤตยูเครนเป็นเครื่องมือทางการเมืองภายในประเทศตัวเอง มากกว่าจะจริงใจในการสร้างสันติภาพ

“นี่คือโอกาสสุดท้ายของยูเครน ที่จะรักษาอนาคตของตัวเองไว้ได้” เมดเวเดฟกล่าวปิดท้าย พร้อมทิ้งข้อเตือนใจถึงฝ่ายที่ยังเลือกใช้กำลังและแรงกดดัน แทนการหาทางออกด้วยสติและการเจรจา

ปากีสถานใช้เทคโนโลยีจีน พลิกเกมรบทางอากาศ Rafale 250 ล้าน ร่วงกลางฟ้า พ่าย J-10CE เละเทะ

(21 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘ลึกชัดกับผิงผิง’ โพสต์ข้อความระบุว่า …

หนังสือพิมพ์ International News ของปากีสถานรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ.2025ว่า กองทัพอากาศปากีสถานใช้ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศรุ่น PL-15E ในการรบทางอากาศเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 7 พฤษภาคม โดยมีระยะยิงสูงสุดถึง 98 ไมล์ทะเลหรือประมาณ 181 กิโลเมตร และในระยะยิงนี้ ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ PL-15E ได้ยิงเครื่องบินรบดาโซท์ ราฟาล (Dassault Rafale) เครื่องบินรบชั้นสุดยอดของฝรั่งเศสตก

ซึ่งหมายความว่า เครื่องบินรบ J-10CE(歼J-10CE) และขีปนาวุธอากาศสู่อากาศรุ่น PL-15E ที่ผลิตโดยจีน ได้ผนึกกำลังสร้างสถิติการโจมตีด้วยขีปนาวุธพิสัยกลางที่มีระยะยิงไกลที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์จนถึงปัจจุบัน

การสู้รบทางอากาศระหว่างปากีสถานกับอินเดียในวันที่ 7 พฤษภาคม นับเป็นเทคโนโลยีทางทหารที่ทันสมัยของจีนที่สามารถพิชิตเทคโนโลยีทางทหารที่ทันสมัยของตะวันตก

ปากีสถานใช้เครื่องบินรบ J-10CE ของจีนเป็นหลัก อินเดียใช้เครื่องบินรบระดับสุดยอดของยุโรป อาทิ เครื่องบินรบดาโซท์ ราฟาลของฝรั่งเศส

สิ่งที่น่าทึ่งคือ นี่เป็นการประลองระหว่างเครื่องบินรบอันดับที่ 6 ของจีนกับเครื่องบินรบระดับสุดยอดของยุโรป ผลคือ 0 ต่อ 6 เครื่องบินรบของจีนไม่มีความสูญเสีย ส่วนเครื่องบินรบของยุโรปถูกยิงตก 6 ลำ ในแวดวงทหารอากาศจีนเรียกขาน J-10c ว่า 'เสี่ยวลิ่ว' (小六) แปลว่าน้องชายคนที่ 6 ความหมายคือจัดอยู่อันดับ 6 ของครอบครัวเครื่องบินรบทันสมัยของจีน

J-10c ติดตั้ง 'Active phased array radar' เรดาร์ทันสมัยที่สุดของโลก และติดตั้งขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ PL-15E ฉบับส่งออก ระยะยิงไกลสุด 200 กิโลเมตร ไกลกว่าระยะยิงไกลของขีปนาวุธอากาศสู่อากาศของเครื่องบินรบดาโซท์ ราฟาลหลายสิบกิโลเมตร

J-10CE (ฉบับส่งออก) ขายราคาลำละ 40-50 ล้านเหรียญสหรัฐ

เครื่องบินรบดาโซท์ ราฟาลที่อินเดียซื้อจากฝรั่งเศสนั้น ราคาลำละประมาณ 250 ล้านเหรียญสหรัฐ ทางการปากีสถานแถลงข่าวว่า ปากีสถานใช้เครื่องบินรบ J-10CE ยิงเครื่องบินรบระดับสุดยอดของยุโรปที่อินเดียนำเข้าตก 6 ลำด้วยกัน คือ เครื่องบินรบดาโซท์ ราฟาล (Rafale)ของฝรั่งเศส 3 ลำ เครื่องบินขับไล่ Su-30MKI ของรัสเซีย 1 ลำ เครื่องบินรบ MiG-29 ของรัสเซีย 1 ลำ และโดรน Heron ของอิสราเอล 1 ลำ

ปัจจัยสำคัญที่เครื่องบินรบ J-10CE สามารถเผด็จศึกได้ก็คือ จีนสร้างระบบการสู้รบทางอากาศที่ล้ำสมัย และกำลังพิชิตรูปแบบการต่อสู้ทางอากาศของตะวันตก

เมื่อเรดาร์ขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศของปากีสถานตรวจพบเครื่องบินรบของอินเดียก็ล็อกเป้าหมายไว้ แต่ไม่ได้ยิงขีปนาวุธ เพียงแชร์ข้อมูลให้กับเครื่องบินเตือนภัยทางอากาศรุ่น ZDK-03 เมื่อ J-10CE ได้รับการแจ้งเตือนจาก ZDK-03 (ว่าได้พบเครื่องบินรบของอินเดียลำที่มีปฏิกิริยาจะยิงขีปนาวุธใส่ปากีสถาน) ก็จะยิงขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ PL-15E ที่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ 2 เครื่อง โดยจะเปิดเครื่องยนต์หนึ่งเครื่องก่อน เพื่อบินขึ้นจุดสูงของท้องฟ้า แล้วปิดเรดาร์บินอย่างเงียบๆ โดยมีดาวเทียมนำร่องเป่ยโต่วช่วยนำทาง เรดาร์ของฝ่ายอินเดียจะไม่สามารถตรวจจับได้ เมื่อ PL-15E บินใกล้ถึงเป้าหมายประมาณ 20 กิโลเมตร ก็จะเปิดเครื่องยนต์เครื่องที่สอง เพิ่มความเร็ววิ่งสู่เป้าหมายด้วยความเร็วที่เป็น 4 เท่าของความเร็วเสียง

นักขับเครื่องบินรบของอินเดียยังไม่ทันได้เห็นอะไรเลย และรู้สึกว่าทุกอย่างเป็นปกติ ก็ถูกยิงตก เพราะเมื่อเรดาร์พบขีปนาวุธ PL-15E ก็มีเวลาเหลือน้อยมากทีเดียว และมีทางเลือกเพียงหนึ่งเดียวคือ กระโดดร่มทันทีเพื่อเอาชีวิตรอด

นี่เป็นการสู้รบทางอากาศที่สายตาของเราไม่อาจจับจ้องได้หรือระยะไกล ที่ต่างจากหนังฮอลลีวู้ด ที่เครื่องบินรบต้องสู้รบกันอย่างดุเดือดในระยะประชิด น่าดู แต่ล้าสมัยแล้ว

อาวุธยุโรปกรณ์ทันสมัยของปากีสถานดังเหล่าล้วนผลิตโดยจีน ปากีสถานนำเข้าจากจีน และเรียนรู้ประสบการณ์จากการซ้อมรบร่วมกับจีน

แล้วการสู้รบทางอากาศดังกล่าวถือเป็นชัยชนะของอาวุธเอเชียต่ออาวุธของยุโรปและตะวันตกครั้งแรกหลังสงครามฝิ่นเป็นต้นมา

หลังการสู้รบทางอากาศครั้งนี้ ราคาหุ้นของบริษัทผู้ผลิต J-10CE ที่เมืองเฉิงตูพุ่งสูงขึ้นกว่า 60% ภายใน 1 สัปดาห์

แม่ทัพภาคที่ 2 ย้ำกองทัพไทยคุมเข้มชายแดน – ปกป้องอธิปไตยเต็มที่ กรณีทหารเขมรรุกเนิน 745

(19 พ.ค. 68) จากกรณีที่มีรายงานข่าวว่า ทหารกัมพูชาได้รุกล้ำเข้าพื้นที่เนิน 745 ช่องบก อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี โดยมีลักษณะการสร้างฐานที่มั่น ขุดคูเลท และเสริมกำลังพร้อมอาวุธครบมือ ทหารพรานกองกำลังสุรนารีได้เข้าตรวจสอบและพูดคุยกับฝ่ายกัมพูชา กระทั่งได้ข้อสรุปว่าทหารกัมพูชาจะยุติการขุดคูเลทและถอนกำลังออกจากพื้นที่ที่ยังไม่มีการปักปันเขตแดน พร้อมตกลงจะนัดพบในห้วงเวลาโดยไม่มีอาวุธ และมีการลาดตระเวนร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีรายงานว่าทหารกัมพูชาบางส่วนยังคงอยู่ในพื้นที่ล้ำแดนบริเวณอื่นของช่องบกระยะห่างประมาณ 150 เมตร ซึ่งทหารไทยได้เจรจาเรียกร้องให้ถอยหลายครั้งแต่ยังไม่ได้รับความร่วมมือ ขณะที่ฝ่ายไทยยังคงตรึงกำลังอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมสถานการณ์

พลโท บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาว่า ขณะนี้ยังมีบางจุดที่เกิดความไม่เข้าใจกันซึ่งเป็นผลจากการใช้แผนที่คนละฉบับ แต่โดยรวมถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ควบคุมได้ โดยยืนยันว่าฝ่ายไทยยังคงลาดตระเวนตามปกติ และมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีเป็นหลัก

ทั้งนี้ หลังการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) ระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมของทั้งสองประเทศ ได้มีข้อตกลงร่วมกันในหลักการ “ใครอยู่ตรงไหน ให้อยู่ตรงนั้น” หากจะมีการเคลื่อนไหวต้องแจ้งล่วงหน้าและพูดคุยกันก่อน พร้อมรอผลการดำเนินงานจากคณะอนุกรรมการปักปันเขตแดน

แม่ทัพภาคที่ 2 ย้ำว่า กองทัพภาคที่ 2 ในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะดูแลผลประโยชน์ของชาติ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างดีที่สุด พร้อมส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกองกำลังทั้งสองประเทศ ไม่ให้เกิดเหตุบานปลาย

ปัจจุบันจุดที่มีความเสี่ยงและยังไม่มีการปักปันอย่างชัดเจน ได้มีการถอนกำลังของทั้งสองฝ่ายเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ ส่วนจุดที่มีการประจำการตามปกติจะยังคงอยู่เช่นเดิม โดยยืนยันว่าการแก้ปัญหาทั้งหมดจะยึดแนวทางสันติและการเจรจาเป็นหลัก

เด​วิท​ โชคชัย​ มุกดาหาร​ รายงาน​ 092-5259777​

เชียงใหม่-AWC ขับเคลื่อนตามนโยบายจังหวดเชียงใหม่และ ททท. ร่วมสร้างเมืองท่องเที่ยวยั่งยืน  

พร้อมเปิด Plaii Ballroom ห้องบอลรูมอิมเมอร์ซีฟแห่งแรกของโลก  สร้างศูนย์กลาง Innovative MICE ภาคเหนือ เชื่อมโยงท่องเที่ยวด้วยโครงการ Chiang Mai Tram รถแทรมไฟฟ้าแรกของประเทศ ณ แลนด์มาร์กแห่งใหม่ “Lannatique” 
    
เมื่อวันที่ (19 พ.ค.68) บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทยที่มุ่งเน้นตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร ได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร พร้อมด้วยผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นางสาวเอิบลาบ ศรีภิรมย์ ร่วมเปิด “Plaii Ballroom” ห้องบอลรูมระบบอิมเมอร์ซีฟแห่งแรกของโลกภายในโรงแรม ที่เชื่อมกับพื้นที่ใหม่เพื่อการประชุมของโรงแรมเชียงใหม่ แมริออท โฮเทล มาพร้อมห้องประชุมหลากหลายขนาด สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เพื่อรองรับกลุ่ม Innovation & Leisure MICE 

โดย AWC ได้ประกาศร่วมสนับสนุนนโยบายการท่องเที่ยวยั่งยืนของจังหวัดเชียงใหม่ และ ททท. สู่การเป็น Innovative and Sustainable Tourism ผ่านการพัฒนาโครงการ“Chiang Mai Tram by Lannatique” รถแทรมไฟฟ้าล้อยางนำเที่ยว เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมชื่อดังของเชียงใหม่ สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่นตามจุดจอดตลอดเส้นทาง ร่วมส่งต่อรายได้สุทธิของบริการรถแทรมไฟฟ้าล้อยางกลับคืนสู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมเดินหน้าพลิกโฉมย่านช้างคลานสู่ศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมระดับโลกในโครงการ “Lannatique” แลนด์มาร์กศิลปวัฒนธรรมแห่งใหม่ที่ผสานอัตลักษณ์ล้านนาและเครือข่ายนานาชาติเข้ากับศิลปะร่วมสมัยภายใต้แนวคิด “The Heart of Lanna Art Movement” ร่วมส่งเสริมคุณค่าท้องถิ่นไทยสู่เวทีโลก และขับเคลื่อนเชียงใหม่สู่การเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก โดยเตรียมเปิดให้บริการเฟสแรกในปลายปี 2568 นี้ 

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จํากัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า “AWC มุ่งมั่นเดินหน้าตามนโยบายของจังหวัดเชียงใหม่และ ททท. ร่วมสร้างการท่องเที่ยวยั่งยืนของเมืองเชียงใหม่ ด้วยรูปแบบ Innovative and Sustainable Tourism และ โมเดล ‘AWC’s Lifestyle Destination’ ที่โครงการ ‘Lannatique’ เชื่อมต่อ Innovative MICE Facility ของโรงแรมในกลุ่ม AWC คือโรงแรมเชียงใหม่ แมริออท โฮเทล ด้วยการเปิดห้องอิมเมอร์ซีฟบอลรูมแห่งแรกของโลก ‘Plaii Ballroom’  ต่อเนื่องห้องประชุมรูปแบบหลากหลาย รวมถึงอาคารประชุมขนาดใหญ่ของอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง โฮเทล และ Lifestyle MICE ของโรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ พร้อมรองรับทุกการจัดกิจกรรมระดับเวิร์ดคลาส ต่อเนื่องถึงโครงการ ‘Lannatique’ และโครงการ ‘Chiang Mai Tram by Lannatique’ เพื่อเสริมการท่องเที่ยวผ่านการร่วมรวมพลังกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน และเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเชียงใหม่สู่จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยั่งยืนเชิงสร้างสรรค์และการอนุรักษ์ระดับโลก”

ยกระดับศักยภาพกลุ่มนักเดินทาง Innovative & Leisure MICE ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน พร้อมรองรับการจัดกิจกรรมระดับโลก AWC ยกระดับศักยภาพการรองรับกลุ่มนักเดินทาง MICE ด้วยการเปิด “Plaii Ballroom” ห้องบอลรูมระบบอิมเมอร์ซีฟแห่งแรกของโลกภายในโรงแรมที่โรงแรมเชียงใหม่ แมริออท โฮเทล โดดเด่นด้วยจอ LED จากพื้นถึงเพดานครอบคลุมผนังทั้ง 4 ด้าน รองรับการจัดงานแบบ Innovative ทุกรูปแบบได้อย่างยืดหยุ่น รวมถึงพื้นที่ใหม่เพื่อการประชุมที่มาพร้อมห้องประชุมหลากหลายขนาด สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน อาทิ ห้อง “Suthep Hall” ขนาดใหญ่รองรับผู้ร่วมงานกว่า 800 คน รวมถึงห้องคาราโอเกะ และกอล์ฟซิมมูเลเตอร์ เสริมศักยภาพโรงแรมเชียงใหม่ แมริออท โฮเทล ในการดึงดูดกลุ่มนักเดินทาง Innovative & Leisure MICE ระดับโลกเข้าสู่เชียงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเชื่อมต่อกับโครงการ “Lannatique” แลนด์มาร์กศิลปวัฒนธรรมแห่งใหม่ของ AWC ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งของเชียงใหม่ในฐานะจุดหมายปลายทางการประชุมสัมมนาระดับโลก

“Lannatique” พลิกโฉมย่านช้างคลานสู่แลนด์มาร์กศิลปวัฒนธรรมระดับโลกใจกลางเชียงใหม่ สัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งล้านนา สู่จุดหมายปลายทางแห่งคุณค่าและความสุขที่ยั่งยืน

AWC มุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงการ “Lannatique” ให้เป็นไลฟ์สไตล์แลนด์มาร์กระดับโลกด้านการท่องเที่ยวเชิงศิลปะแห่งใหม่บนย่านช้างคลาน ที่หลอมรวมวิถีชีวิตท้องถิ่นล้านนาและวัฒนธรรมร่วมสมัยเอาไว้ในพื้นที่เดียวกันภายใต้แนวคิด “The Heart of Lanna Art Movement” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของอารยธรรมล้านนาอันทรงคุณค่ายาวนานกว่า 700 ปี ออกมาในรูปแบบ “หมู่บ้านศิลปะร่วมสมัย” เชื่อมโยงมรดกทางวัฒนธรรมเข้ากับการสร้างสรรค์ในโลกปัจจุบันอย่างกลมกลืนผสานกับไลฟ์สไตล์ด้านสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ชุมชนคุณภาพระดับโลก ด้วยมูลค่าการลงทุนเพิ่มกว่า 8,500 ล้านบาท นับเป็นมูลค่าโครงการ “Lannatique” ทั้งหมดรวม 11,950 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 3 พื้นที่สำคัญ ได้แก่ 

•    Lannatique Kalare ครอบคลุมพื้นที่ศูนย์การค้ากว่า 17,500 ตารางเมตร ถ่ายทอดเสน่ห์แห่งศิลปวัฒนธรรมล้านนาและศิลปะสมัยใหม่ผ่าน 3 หมู่บ้านศิลป์

 ได้แก่ Thai Craftsmanship Village หมู่บ้านศิลปะไทยและหัตถกรรมทรงคุณค่า Cultural Village หมู่บ้านวัฒนธรรมหลากหลายของชาติพันธุ์ และ Creative Art Village หมู่บ้านสร้างสรรค์ศิลปะแบบใหม่ และพื้นที่ Experiential Shop

โดยจะเปิดให้บริการเฟสแรกในปี 2568 พร้อมปูรากฐานสู่การพัฒนาโรงแรมระดับโลกขนาด 55,000 ตารางเมตร ที่จะผสานกับ Attraction ระดับโลกขนาดใหญ่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก 

•    Lannatique Bazaar ครอบคลุมพื้นที่ศูนย์การค้ากว่า 22,500 ตารางเมตร ภายใต้แนวคิด Contemporary Art กับพื้นที่ศิลปะร่วมสมัย รวมถึงโครงการโรงแรมที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 25,000 ตารางเมตร 

•    Lannatique Market ครอบคลุมพื้นที่ศูนย์การค้ากว่า 87,000 ตารางเมตร ที่อยู่ระหว่างการศึกษาภายใต้คอนเซ็ปต์ในการสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากชุมชนเพื่อช่วยเหลือสังคมอย่างยั่งยืน

จับมือพันธมิตรชั้นนำ ร่วมมอบประสบการณ์ศิลปะร่วมสมัยในโครงการ Lannatique Kalare AWC เดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงการ Lannatique Kalare ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรระดับแนวหน้าของไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านศิลปะ การแสดง และอาหาร เพื่อเติมเต็มประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างครบวงจร โดยเปิดพื้นที่ให้ศิลปิน ผู้ประกอบการ และชุมชนท้องถิ่นที่มีวิสัยทัศน์เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนและสร้างสรรค์ประสบการณ์พิเศษ เริ่มด้วยพันธมิตรชั้นนำที่จะส่งต่อคุณค่าของไทยสู่นักเดินทางจากทั่วโลก 
•    6ixcret Show โดยกันตภณ เนียมมณี นักออกแบบการแสดง เจ้าของผลงานสร้างสรรค์ในเชียงใหม่ และระดับประเทศ ร่วมกับทีมผู้บริหารและทีมงานผู้มีประสบการณ์จากเวทีการแข่งขันระดับนานาชาติ ซึ่งจะเข้าร่วมพัฒนาภายในโครงการ Lannatique Kalare เพื่อเปิดโรงละครภายใต้แบรนด์ STARGANZA LIVE นำเสนอการแสดง Cabaret Show ร่วมสมัยที่หลอมรวมศิลปะ แฟชั่น วัฒนธรรมล้านนาท้องถิ่น ถ่ายทอดออกมาในมิติที่ใหม่แบบอิมเมอร์ซีล้ำสมัย กล้าท้าทายและทรงพลัง พร้อมยกระดับการแสดงศิลปะในเชียงใหม่สู่มาตรฐานระดับสากล บนพื้นที่รวมมากกว่า 500 ตารางเมตร
•    ร้านเอกฉันท์ โดยเชฟเอก เอกพล พิชวงค์ ผู้สร้างสรรค์อาหารไทยท้องถิ่นชื่อดังจากมิชลินไกด์ในเชียงใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับวัตถุดิบจากแหล่งออร์แกนิกท้องถิ่นและรสชาติที่สะท้อนเอกลักษณ์ของภูมิภาค เตรียมเปิดโมเดลใหม่ในโครงการ Lannatique Kalare ที่จะนำเสนออาหารไทยที่เปี่ยมด้วยอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมผ่านวัตถุดิบพื้นถิ่นคุณภาพดี ถ่ายทอดรสชาติและเรื่องราวจากทุกภูมิภาคของประเทศในมิติใหม่ที่ยังคงความดั้งเดิมไว้อย่างกลมกลืน บนพื้นที่รวมมากกว่า 500 ตารางเมตร

“Chiang Mai Tram by Lannatique” เชื่อมเส้นทางวัฒนธรรมทั่วเมืองเชียงใหม่ผ่านโครงข่ายรถแทรมไฟฟ้าล้อยางนำเที่ยวแห่งแรกของภาคเหนือ“Chiang Mai Tram by Lannatique” รถแทรมไฟฟ้าล้อยางนำเที่ยวแห่งแรกของประเทศที่ได้รับการพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด Innovative and Sustainable Tourism เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และชุมชนท้องถิ่น รวมถึงร้านอาหาร คาเฟ่ ชื่อดัง รวมกว่า 40 แห่งตลอดสาย อาทิ ประตูท่าแพ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ตลาดวโรรส คลองแม่ข่า โครงการ “Lannatique” พันธุ์ทิพย์ ไลฟ์สไตล์ ฮับ เชียงใหม่ และโรงแรมในเครือ AWC เป็นต้น 

“Chiang Mai Tram by Lannatique” จะช่วยลดการปล่อยมลภาวะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการใช้พลังงานไฟฟ้า พร้อมมอบความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยผู้ใช้บริการสามารถจอดรถส่วนตัวไว้บริเวณรอบนอก หรือในโครงการเครือ AWC แล้วเดินทางเข้าสู่เมืองด้วยรถแทรมไฟฟ้าล้อยางเพื่อลดการใช้พลังงานและการจราจรที่หนาแน่นในเขตเมือง โดยรายได้สุทธิจากโครงการ “Chiang Mai Tram by Lannatique” จะร่วมสนับสนุนกิจกรรมเพื่อชุมชนยั่งยืนให้จังหวัดเชียงใหม่ต่อไป 

คุณค่าในทุกมิติ ด้วยการรวมพลังเพื่อความยั่งยืน
AWC มุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งตามนโยบายความยั่งยืนของเมืองเชียงใหม่ เพื่อสร้างคุณค่าองค์รวมในทุกมิติ และสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน ผ่านการลงทุนและพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ตอบโจทย์แผนการพัฒนาเมือง และขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตของคนเชียงใหม่ให้เติบโตไปด้วยกัน สู่การเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยั่งยืนแห่งความภาคภูมิใจของทั้งคนเชียงใหม่และประเทศไทยบนเวทีโลก
 

ทัพเรือภาคที่ 1 น้อมรำลึกในพระกรุณาคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ “วันอาภากร องค์บิดาของทหารเรือไทย” วันที่ 19 พฤษภาคม 2568

🔹 พิธีวางพวงมาลา:
พล.ร.ท.อาภา ชพานนท์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1/ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ไทยอาสาป้องกันชาติในทะเล เขตทัพเรือภาคที่ 1 ร่วมพิธีวางพวงมาลา ณ พระอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ พระอนุสาวรีย์ฯ หน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดยมี พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธี

🔹 พิธีสักการะ ณ กองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 1:
พล.ร.ต.รังสรรค์ บัวเผือก รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 และกำลังพลทัพเรือภาคที่ 1 ร่วมประกอบพิธีสักการะ เพื่อน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ องค์บิดาของทหารเรือไทย

🔹 พิธีสักการะ ณ ศาลพระตำหนัก:
น.อ.กฤษดา จิระไตรพร รองเสนาธิการทัพเรือภาคที่ 1 เป็นผู้แทนทัพเรือภาคที่ 1 ประกอบพิธีสักการะ รวมถึงยิงสลุตถวาย ณ ศาลพระตำหนักพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเลกองทัพเรือเกาะช้าง โดยมีคณะฝ่ายอำนวยการในทัพเรือภาคที่ 1 หัวหน้าศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเลกองทัพเรือเกาะช้าง ผู้บังคับการเรือในหมวดเรือลาดตระเวนชายแดน ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมพิธี

✨ สำหรับวันที่ 19 พฤษภาคม “วันอาภากร”
เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ “องค์บิดาของทหารเรือไทย” ซึ่งพระองค์เป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทยอย่างกว้างขวาง พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อปวงชนชาวไทยนั้น ปรากฏทั้งในด้านกิจการทหารเรือที่พระองค์ท่านทรงวางรากฐานไว้ และการแพทย์แผนโบราณ ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาช่วยเหลือรักษาผู้ตกทุกข์ได้ยากไม่เลือกชั้นวรรณะ จนเป็นที่เลื่องลือนับถือกันโดยทั่วไปในพระนามว่า “หมอพร” หรือ ที่ทหารเรือเรียกท่านว่า “เสด็จเตี่ย”

สมนึก เชื้อสนุก  รายงาน

 "สมาพันธ์ SME ไทย - สมาคมสำนักงานบัญชี ค้านแนวคิดเก็บ VATรายย่อยไม่ถึง 1.8 ล้าน/ปี"

(19 พ.ค. 68) จากกรณีที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เสนอแนวคิดให้กรมสรรพากรจัดเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แบบเหมาจ่ายในอัตรา 1% กับผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อขยายฐานภาษี คาดเก็บรายได้เพิ่มกว่า 4,000ล้านบาท/ปี ล่าสุด กลุ่มภาคธุรกิจรายเล็กไม่เห็นด้วย

ประธานสมาพันธ์ SME เตือน “ยังไม่ถึงเวลา เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น”

ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์ SME ไทย แสดงจุดยืนคัดค้าน ชี้ว่า เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงเปราะบาง หนี้ครัวเรือน-หนี้ภาคธุรกิจยังสูง SMEรายย่อยยังเข้าไม่ถึงแหล่งทุน การเพิ่มภาระภาษีจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
“การจะลดเกณฑ์ VATลง เท่ากับเปิดแนวรบใหม่ให้คนตัวเล็กต้องสู้โดยไม่มีอาวุธ”  
“รีดเลือดจากปู” สมาคมสำนักงานบัญชีชี้ภาระเกินแบก

คุณอัญชลี มณีท่าโพธิ์ นายกสมาคมสำนักงานบัญชีไทย กล่าวว่า การเก็บ VAT แบบเหมาจ่าย1% โดยไม่คำนึงถึงต้นทุน เป็นภาระหนักสำหรับธุรกิจรายย่อยที่ยังไม่ฟื้นตัว “ผู้ประกอบการรายเล็ก กำลังประสบปัญหาหนัก แต่ถ้าต้องมารับภาระ VAT เหมาจ่าย1%  เพื่อนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล เป็นการรีดเลือดจากปูเพิ่มภาระความทุกข์ให้กับพวกเค้าอีก ...ขอถามว่า ถูกต้องแล้วหรือไม่

ข้อเสนอจากสมาพันธ์ SMEไทย
เพื่อสร้างสมดุลในการจัดเก็บรายได้ภาษี พร้อมเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ สมาพันธ์ SMEไทย เสนอแนวทางดังนี้ :
    - ทบทวนแนวคิดจัดเก็บ Micro VAT อย่างรอบด้าน
    - เร่งโครงการเมกะโปรเจกต์ กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
    - ปิดช่องโหว่ “ทุนแฝง-นอมินีต่างชาติ” ด้วยกฎหมายที่เข้มงวด
    -     ดึงนักลงทุนต่างชาติที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมสร้างระบบกฎหมายที่เป็นธรรม
    -     จัดตั้งกองทุนสนับสนุนSME วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อเสริมธุรกิจรายเล็ก

ต้องการรายได้เพิ่ม รัฐควรเน้นโครงสร้าง ไม่ใช่ภาระคนตัวเล็ก
สมาพันธ์ SMEไทยและสมาคมสำนักงานบัญชีไทยย้ำว่า การขยายฐานภาษีควรพิจารณาในเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่ผลักภาระไปยังผู้ประกอบการรายเล็กที่ยังไม่พร้อมเดินหน้า
..........
Cr: สื่อสารองค์กร
สมาพันธ์SMEไทย

ศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชื่นชมตำรวจจราจรไหวพริบดี "จับ 2 หนุ่มขนยาบ้าซุกหลังเก๋ง 1.88 แสนเม็ด"

วันนี้ (19 พ.ค. 68) พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการศึกษา ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน เสริมสร้างภาพลักษณ์ตำรวจจราจร ศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ได้รับรายงานกรณีเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2568 เวลาประมาณ 03.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการ 1 กองกำกับการ 1 (สายตรวจ) กองบังคับการตำรวจจราจร ขณะตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ เพื่อลดและป้องกันการเกิดอุบุัติเหตุทางถนน บริเวณหน้าปั๊มน้ำมันชถนนสุวินทวงศ์ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ได้เรียกตรวจรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต ทะเบียนจังหวัดราชบุรี ภายในรถพบชายสองคน ลักษณะท่าทางมีพิรุธ จึงได้ขอตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชน พบว่าทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ทางภาคใต้ ซึ่งมีความขัดแย้งกับป้ายทะเบียนรถที่ขับขี่ ประกอบกับไม่สามาถตอบคำถามเกี่ยวกับรถยนต์ที่ขับขี่มาได้ ชุดปฏิบัติการจึงทำการตรวจค้น พบยาบ้า จำนวน 188,000 เม็ด ซุกซ่อนอยู่บริเวณในกระโปรงท้ายรถ

จากการสอบสวนในเบื้องต้น ผู้ต้องหาทั้งสอง ยอมรับว่ายาเสพติดดังกล่าวเป็นของตนเอง โดยได้ร่วมกันเดินทางไปรับมาจากพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีผู้นำยาเสพติดมาทิ้งไว้ริมถนน และตนจะนำไปส่งต่อยังจุดนัดหมายในพื้นที่เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร จากนั้นจึงได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ส่งพนักงานสอบสวน สน.สุวินทวงศ์ เพื่อขยายผล และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

พล.ต.ท.นิธิธรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กล่าวชื่นชมไปยังยังเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยใช้ไหวพริบในการสังเกตพฤติกรรมต้องสงสัย จนนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดได้ ซึ่งหากยาเสพติดดังกล่าวหลุดรอดแล้วถูกนำไปจำหน่ายในพื้นที่ จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเยาวชน ที่เป็นลูกหลาน เป็นอนาคตของชาติ อีกทั้งยาเสพติดทุกชนิด เป็นภัยต่อความมั่นคงต่อการพัฒนาประเทศ และส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน จึงขอชื่นชมการปฏิบัติงาน และให้ตำรวจจราจรทุกนายถือเป็นแบบอย่าง ขอให้หมั่นทบทวนฝึกฝนยุทธวิธีในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความปลอดภัย

หากประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน พบเหตุต้องสงสัย หรือ สอบถามข้อมูลเส้นทางเพิ่มเติม  แจ้งอุบัติเหตุจราจรและ ขอความช่วยเหลือด้านการจราจร สามารถติดต่อสายด่วนกองบังคับการตำรวจจราจร 1197 , ตำรวจทางหลวง 1193 และสายด่วน 191 ตำรวจทั่วประเทศได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ตำรวจพัทยาเจ๋ง “ผบช.ภ.2” ชมปิดจ๊อบไว รวบ 2 อดีตช่าง คิดสั้นเป็นโจร ตระเวนลักทรัพย์พูลวิลล่า 12 วัน ก่อ 5 คดี สุดท้ายหนีไม่รอด

(19 พ.ค. 68) ผบช.ภ.2 ชื่นชม “ตำรวจพัทยา” ปิดจ๊อบไว สร้างความเชื่อมั่น สืบพัทยาปิดฉาก 2 โจรแสบอดีตช่างตกแต่งต่อเติม ตระเวนย่องเบา 12 วัน ก่อ 5 คดี ลักทรัพย์บ้านพูลวิลล่านักท่องเที่ยวกลางดึก รวบได้คาบ้านเช่า ยึดของกลางอื้อกว่า 100 รายการ สารภาพหาเงินใช้หนี้ เสพยา สุดท้ายไม่รอด

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 พล.ต.ท.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 เปิดเผยว่า ชื่นชมตำรวจ สภ.พัทยา ที่ปิดจ๊อบคดีคนร้ายตระเวนลักทรัพย์นักท่องเที่ยวในบ้านพักแบบพูลวิลล่าได้อย่างรวดเร็ว สืบสวนเกาะติดจนจับกุมคนร้ายได้พร้อมของกลาง สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว 

พล.ต.ท.ยิ่งยศ เผยว่า เมื่อเวลา 01.06 น. วันนี้ (19 พฤษภาคม 2568) พ.ต.อ.เอนก สระทองอยู่ ผกก.สภ.เมืองพัทยา พ.ต.ท.อรุษ สภานนท์ รอง ผกก.สส.สภ.เมืองพัทยา พร้อมกำลังชุดสืบสวน เข้าจับกุม นายอธิป หรือ “อาร์ม” อายุ 31 ปี และนายกุน อายุ 22 ปี สัญชาติกัมพูชา ที่บ้านเช่าไม่มีเลขที่ ซอยเขามะกอก ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี พร้อมของกลางนับร้อยรายการ ทั้งเงินสด ของแบรนด์เนม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ โดยการจับกุมครั้งนี้เนื่องนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เข้าแจ้งความว่าถูกลักทรัพย์ขณะเข้าพักบ้านพักแบบพูลวิลล่าในพื้นที่พัทยา โดยเกิดเหตุต่อเนื่อง 5 ครั้งในบ้านพัก 5 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 5 -17 พฤษภาคม 2568 ฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองพัทยา จึงเร่งสืบสวน ตรวจสอบกล้องวงจรปิด จนพบชายต้องสงสัย 2 คน ขี่รถจักรยานยนต์วนเวียนในพื้นที่ก่อนเกิดเหตุซ้ำ ๆ ตามแกะรอยจนจับกุมได้พร้อมของกลางจำนวนมาก

ผบช.ภ.2 เผยด้วยว่า จากการสอบสวน ผู้ต้องหาทั้งสองรับสารภาพว่าก่อเหตุจริง รับว่าเคยทำงานเป็นช่างต่อเติมบ้านพักพูลวิลล่าหลายแห่งจึงรู้ทางเข้าออก ซอกมุมลับ และจุดอ่อนของบ้านแต่ละหลังอย่างดี ก่อนเฝ้าดูบ้านที่มีนักท่องเที่ยวเข้าพัก รอจังหวะที่เหยื่อดื่มหนักจนเมาหลับ ก็ย่องเข้ากวาดทรัพย์สินหลบหนี ของกลางที่ยึดมาได้ ประกอบด้วยนาฬิกาแบรนด์หรู กระเป๋าแบรนด์เนมโทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่นเกม บัตรต่าง ๆ รวมถึงเงินสดทั้งสกุลบาทและต่างประเทศ กว่า 100 รายการ โดยผู้ต้องหาอ้างว่าทรัพย์สินที่ลักมาแบ่งกันนำไปขายใช้หนี้ และซื้อยาเสพติดบางส่วนแล้ว จึงแจ้งข้อหา “ร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้น” พร้อมนำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนของกลางจะเปิดให้ผู้เสียหายนำหลักฐานมาติดต่อขอรับคืนต่อไป

“ขอชื่นชมในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกนาย โดยเฉพาะทีมสืบสวน ที่ใช้ทั้งความสามารถ ความมุ่งมั่น และความอดทน แกะรอยคนร้ายจนสามารถจับกุมตัวได้ครบทีมพร้อมของกลาง ถือเป็นผลงานที่สมบูรณ์แบบ สร้างความมั่นใจให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริงนี่คือภาพของตำรวจมืออาชีพ ที่ไม่ยอมปล่อยให้คนร้ายลอยนวล ทุกคดีต้องมีคำตอบ ความปลอดภัยของประชาชนต้องมาก่อน เพราะ “ทุกความปลอดภัยของประชาชน คือความสำเร็จของตำรวจ” การป้องกันเหตุได้ เมื่อเกิดเหตุจับกุมคนร้ายได้ เป็นความภาคภูมิใจของตำรวจ ขอให้รักษามาตรฐานแห่งความเป็นตำรวจไทย โดยเฉพาะพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก หน้าที่ของตำรวจต้องสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ” ผบช.ภ.2  

พล.ต.ท.ยิ่งยศ ฝากเตือนผู้ประกอบการบ้านพักพูลวิลล่า และนักท่องเที่ยวทุกคน ว่า ให้เพิ่มความระมัดระวัง ตรวจสอบระบบล็อก ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อเป็นการป้องกันเบื้องต้น และช่วยเหลือการสืบสวนในภายหลัง  และหากมีเหตุด่วนเหตุร้ายให้โทรแจ้งตำรวจที่เบอร์ 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตำรวจภูธรภาค 2 พร้อมเข้าไปดูแล 

‘วลาดิมีร์ เมดินสกี’ หนึ่งในขุนพลข้างกาย ‘ปูติน’ นักประวัติศาสตร์ผู้กำหนดอัตลักษณ์แห่งรัสเซีย

เมื่อกล่าวถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หนึ่งในชื่อที่ปรากฏอย่างเด่นชัดบนโต๊ะเจรจาคือ วลาดิมีร์ เมดินสกี นักการเมือง นักประวัติศาสตร์และที่ปรึกษาประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายรัสเซียในหลายเวทีสำคัญ รวมถึงการเจรจา ณ กรุงอิสตันบูล

วลาดิมีร์ โรสตีสลาวิช เมดินสกี (Владимир Ростиславович Мединский) เกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1970 ที่เมืองสเมล่า (Smela) ในเขตสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน (ปัจจุบันอยู่ในยูเครนกลาง) ครอบครัวของเขาย้ายมาอยู่ในกรุงมอสโกตั้งแต่ยังเด็ก โดยมีพื้นฐานชีวิตในกลุ่มชนชั้นกลางสายเทคนิค (technical intelligentsia) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างยิ่งในยุคโซเวียต เส้นทางวิชาการของเมดินสกีเริ่มต้นอย่างจริงจังที่ Moscow State Institute of International Relations (MGIMO) สถาบันซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “โรงเรียนเตรียมผู้นำของรัสเซีย” หรือ “Harvard แห่งมอสโก” ที่ผลิตบุคลากรสำหรับการทูตและนโยบายระหว่างประเทศของสหภาพโซเวียตและต่อมาในยุครัสเซียหลังโซเวียต เมดินสกีศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

แต่ในช่วงเวลานั้นเองเขาเริ่มให้ความสนใจพิเศษกับมิติของ “อัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์” และบทบาทของการรับรู้ทางจิตวิทยาในระดับมหภาค (mass psychology) หลังจบการศึกษาในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ในช่วงรัสเซียเผชิญภาวะสลายตัวทางอุดมการณ์หลังการล่มสลายของโซเวียต เมดินสกีกลับมาใช้เวลาในโลกวิชาการโดยเขียนวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิตในหัวข้อที่สะท้อนตัวตนทางอุดมการณ์อย่างชัดเจน ในหัวข้อ “คุณลักษณะของภาพลักษณ์ของรัสเซียในต่างประเทศ: กลยุทธ์ของรัฐในการจัดการการรับรู้ทางประวัติศาสตร์” งานวิทยานิพนธ์ของเขามุ่งไปที่การวิเคราะห์ภาพลักษณ์ของรัสเซียในตะวันตกและเสนอว่า รัสเซียจำเป็นต้องสร้างกลไกเชิงรัฐเพื่อ “ควบคุมการรับรู้” ทั้งในและนอกประเทศ 

นับจากนั้นเมดินสกีได้ผลิตงานเขียนทางประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์จำนวนมาก โดยมีเป้าหมายไม่ใช่แค่การศึกษาอดีตแต่คือการ “จัดระเบียบอดีตเพื่อควบคุมอนาคต” แนวทางที่สะท้อนโลกทัศน์แบบรัฐนิยมอนุรักษนิยมอย่างชัดเจน ตัวอย่างผลงานของเขา เช่น “Война. Мифы СССР. 1939–1945” (สงคราม: ตำนานแห่งโซเวียต) มีสาระสำคัญเกี่ยวกับความพยายามลบล้างการตีความตะวันตกเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และ“О правде истории” (ว่าด้วยความจริงของประวัติศาสตร์) ที่เสนอว่าประวัติศาสตร์ไม่ควรถูกทิ้งให้เป็นพื้นที่เสรีทางปัญญาแต่ควรถูกควบคุมโดยรัฐเพื่อรักษาอำนาจและความสามัคคี เมดินสกีมีลักษณะเฉพาะที่หาได้ยากในหมู่นักวิชากา คือความสามารถในการแปลงทฤษฎีเชิงวิเคราะห์ให้กลายเป็นนโยบายสาธารณะที่จับต้องได้ เขาไม่ได้เขียนงานเพื่อโต้วาทีกับนักวิชาการตะวันตกเพียงอย่างเดียวแต่เพื่อ “แปลงอดีตให้กลายเป็นเครื่องมือของรัฐ” ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งใน “นักประวัติศาสตร์เชิงรัฐ” (state-aligned historian) ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของรัสเซียร่วมสมัย

วลาดิมีร์ เมดินสกี เป็นนักคิดที่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ชาติอย่างลึกซึ้งโดยมีความเชื่อชัดเจนว่า “ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ข้อเท็จจริงนิ่งเฉยแต่สามารถถูกเล่าใหม่เพื่อประโยชน์ของรัฐ” ความเชื่อนี้นำไปสู่การสร้างงานเขียนเชิง “ประวัติศาสตร์ปกป้องตนเอง” (Defensive History) ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความชอบธรรมและปกป้องภาพลักษณ์ของรัสเซียบนเวทีระหว่างประเทศ เมดินสกีไม่ปฏิเสธว่าประวัติศาสตร์ควรเป็นเครื่องมือของรัฐในการรักษาอำนาจและความมั่นคง เขายืนยันว่าวิธีเล่าอดีตของชาติต้องสนับสนุนเป้าหมายในปัจจุบันไม่ใช่บ่อนทำลายศรัทธาหรือเปิดทางให้แนวคิดเสรีนิยมแบบตะวันตกเข้ามาแทรกแซง 

จากฐานคิดเชิงอุดมการณ์นี้เมดินสกีเดินหน้าสู่วงการเมืองอย่างมั่นคงด้วยตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมแห่งรัสเซีย (2012–2020) ซึ่งแม้จะดูเหมือนตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ไม่สูงมาก แต่สำหรับเขานี่คือสนามรบอันแท้จริงของสงครามอัตลักษณ์ชาติ เมดินสกีเปลี่ยนกระทรวงวัฒนธรรมให้กลายเป็นแนวหน้าในการต่อสู้เชิงวาทกรรมและอุดมการณ์ ตลอดช่วงดำรงตำแหน่งเขาใช้กระทรวงเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันแนวคิด Russian cultural exceptionalism หรือความเชื่อว่ารัสเซียมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สูงส่งกว่าตะวันตก จึงต้องได้รับการปกป้อง ฟื้นฟูและเผยแพร่อย่างเข้มข้น วาทกรรมนี้ไม่เพียงสะท้อนผ่านวรรณกรรมและภาพยนตร์เท่านั้น แต่แทรกซึมเข้าไปในระบบการศึกษา พิพิธภัณฑ์ กิจกรรมรัฐพิธีและกองทุนสนับสนุนงานศิลปะ โดยมีเงื่อนไขว่าเนื้อหาต้อง “ไม่บ่อนทำลายศีลธรรมชาติหรือเกียรติภูมิของรัสเซีย” ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่เมดินสกีเรียกว่า “วัฒนธรรมคือสมรภูมิ” เขาส่งเสริมภาพยนตร์รักชาติ เช่น 28 Panfilov Guardsmen และสารคดีเชิงโฆษณาชวนเชื่อที่พยายามสร้างภาพของรัสเซียในอดีตที่กล้าหาญและศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงการรื้อฟื้น “วันแห่งความทรงจำประจำชาติ” เพื่อเน้นย้ำบทบาทอันศักดิ์สิทธิ์ของรัสเซียในชัยชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางความชอบธรรมเชิงประวัติศาสตร์ในยุคปูติน

ภายใต้การนำของเมดินสกีรัฐบาลรัสเซียเดินหน้าโครงการสร้าง “ความทรงจำของชาติ” (national memory construction) ในทุกมิติของสังคมเพื่อปลูกฝังแนวคิดชาตินิยมแบบอนุรักษ์นิยมอย่างเข้มแข็ง หลังพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี เขาไม่ได้ลดบทบาทลงกลับกลายเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีด้านนโยบายประวัติศาสตร์และอุดมการณ์ของรัฐซึ่งเปรียบเสมือน “เสนาบดีเงา” ของวลาดิมีร์ ปูติน ในการกำหนดกรอบวาทกรรมรัฐ เมดินสกีเป็นหนึ่งในแกนนำทีมใกล้ชิดเครมลินที่วางกรอบวาทกรรมความสัมพันธ์รัสเซีย–ยูเครน และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังบทความสำคัญของปูติน ปี ค.ศ. 2021 เรื่อง On the Historical Unity of Russians and Ukrainians ที่ยืนยันว่ายูเครนไม่มีตัวตนทางประวัติศาสตร์เป็นรัฐแยกต่างหาก กรอบคิดนี้กลายเป็นพื้นฐานอุดมการณ์รองรับการรุกรานทางทหาร

บทบาทของเมดินสกียิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะเจรจารัสเซีย ในการประชุมอิสตันบูลปี ค.ศ. 2022 แม้ไม่ใช่ทหารหรือเจ้าหน้าที่ข่าวกรองแต่การส่งนักประวัติศาสตร์ในฐานะตัวแทนเจรจาส่งสัญญาณชัดเจนว่าสงครามครั้งนี้ไม่ใช่แค่สนามรบทางกายภาพหากแต่ยังเป็นสงครามแห่งความหมายและความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์ เมดินสกีทำหน้าที่เสมือน “นักบวชแห่งชาติ” ที่ประกาศว่ารัสเซียมีสิทธิเหนือยูเครน ไม่ใช่ด้วยพละกำลังแต่ด้วยประวัติศาสตร์ที่ถูกเล่าใหม่ บทบาทนี้สะท้อนชัดว่าเมดินสกีไม่ใช่แค่นักวิชาการอีกต่อไป แต่คือนักอุดมการณ์ของรัฐที่เป็น “สะพานเชื่อม” ระหว่างโลกปัญญาชนและอำนาจรัฐ เขาไม่ได้เพียงวิเคราะห์รัฐหากแต่กำหนดบทบาทและทิศทางของรัฐผ่านการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ที่หล่อหลอมโลกทัศน์ทางการเมืองยุครัสเซียปูตินให้มีรากฐานบนประวัติศาสตร์ร่วม อัตลักษณ์รัสเซียแท้และความชอบธรรมแบบจักรวรรดิอย่างแนบแน่น

ในยุคที่โลกาภิวัตน์และกระแสเสรีนิยมแบบตะวันตกทะลักเข้ามาทั่วทุกมุมโลก รัสเซียภายใต้การนำของเมดินสกีตระหนักดีว่าการต่อสู้เพื่อ “อธิปไตยทางวัฒนธรรม” คือสนามรบที่สำคัญไม่แพ้การเผชิญหน้าทางทหารและการเมือง อธิปไตยทางวัฒนธรรมในความหมายของเมดินสกีไม่ได้หมายถึงเพียงการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมเท่านั้นแต่หมายถึงการควบคุมและกำหนดขอบเขตของ “ความจริง” และ “ความหมาย” ที่ประชาชนรัสเซียจะรับรู้และเชื่อถือ เมดินสกีและทีมงานรัฐบาลมองว่ากระแสวัฒนธรรมเสรีนิยมตะวันตก — ทั้งในรูปแบบแนวคิดประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เสรีภาพของสื่อ และค่านิยมเรื่องเพศ สิทธิชนกลุ่มน้อย — เป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อความมั่นคงของรัฐและเอกลักษณ์ของชาติ รัฐบาลรัสเซียจึงประกาศ “สงครามทางวัฒนธรรม” อย่างเปิดเผย เพื่อปกป้อง “จิตวิญญาณรัสเซีย” จากการถูกกลืนกลายและล้มละลายโดยวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์และลัทธิเสรีนิยมตะวันตก ยุทธศาสตร์ของเมดินสกีจึงมุ่งเน้นการผลักดันวาทกรรมที่ว่ารัสเซียเป็น “อารยธรรมที่แตกต่าง” และ “สูงส่งกว่าตะวันตก” โดยย้ำว่ารัสเซียต้องเป็นผู้กำหนดนิยามของตนเอง ไม่ใช่ยอมเป็น “ลูกไล่” หรือ “ผู้รับวัฒนธรรม” จากโลกตะวันตก 

กระบวนการนี้ไม่ใช่เพียงแค่การส่งเสริมงานศิลปะหรือวรรณกรรมรักชาติเท่านั้นแต่คือการสร้าง “เกราะทางความคิด” ให้กับสังคมรัสเซีย ผ่านการควบคุมสื่อ การตั้งกฎเกณฑ์เข้มงวดต่อสื่อสังคมออนไลน์และการรณรงค์ส่งเสริมค่านิยมแบบอนุรักษ์นิยมอย่างเข้มข้น การต่อต้านค่านิยมตะวันตกในแง่นี้ยังสะท้อนในนโยบายทางการศึกษาที่บังคับให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องปลูกฝังหลักสูตรที่สนับสนุนอุดมการณ์รัฐโดยเฉพาะการเน้นย้ำบทบาทของประวัติศาสตร์รัสเซียในฐานะ “ผู้พิทักษ์ศีลธรรมโลก” และการแสดงออกถึงความเป็น “อารยธรรมออร์โธดอกซ์” ที่แตกต่างจากโลกเสรีนิยมตะวันตกอย่างสิ้นเชิง ยุทธศาสตร์ “อธิปไตยทางวัฒนธรรม” นี้มีความหมายในเชิงลึกเพราะมันกำหนดความชอบธรรมของอำนาจรัฐในยุคปูตินและวางรากฐานให้เกิดความเป็นเอกภาพทางสังคมที่มีอุดมการณ์เป็นศูนย์กลาง 

ความพยายามของเมดินสกีในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมให้เป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ทำให้รัสเซียสามารถใช้ “วัฒนธรรม” เป็นดาบสองคมทั้งปกป้องความมั่นคงภายในและขยายอิทธิพลเชิงนิ่มนวล (soft power) ไปยังโลกภายนอก ด้วยเหตุนี้ “อธิปไตยทางวัฒนธรรม” จึงไม่ใช่เพียงแค่นโยบายทางวัฒนธรรมธรรมดาแต่คือหัวใจของสงครามความหมายและการประกาศอิสรภาพทางอุดมการณ์ของรัสเซียในโลกที่สื่อสารข้ามพรมแดนอย่างเสรี การควบคุมวัฒนธรรมจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดของรัฐในการต้านทานกระแสโลกาภิวัตน์และรักษาอำนาจอธิปไตยของชาติเอาไว้ได้อย่างยั่งยืน

ในยุทธศาสตร์วาทกรรมของรัสเซียยุคปูติน เมดินสกีคือผู้วางกรอบและขับเคลื่อนแนวคิด “รัสเซียผู้ยิ่งใหญ่” (Great Russia) ให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองและอุดมการณ์สำคัญที่หล่อหลอมความชอบธรรมของรัฐในการดำเนินนโยบายทั้งในและนอกประเทศโดยเฉพาะในบริบทของสงครามกับยูเครน “รัสเซียผู้ยิ่งใหญ่” ไม่ใช่แค่คำขวัญหรือความภาคภูมิใจทางชาติพันธุ์หากแต่เป็นวาทกรรมที่ยืนยันสถานะ “จักรวรรดิที่กลับมาผงาด” (resurgent empire) ที่มีภารกิจและชะตากรรมพิเศษในการรวมดินแดนและผู้คนที่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์เดียวกันกลับคืนสู่ร่มเงาอำนาจมอสโก วาทกรรมนี้ทำหน้าที่สร้างภาพของรัสเซียในฐานะมหาอำนาจที่ “มีสิทธิและหน้าที่” ในการปกป้องและเรียกคืนดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียต ไม่ว่าจะเป็นดินแดนในยูเครน เบลารุส หรือประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เมดินสกีและกลุ่มอุดมการณ์ของเครมลินได้ยกย่องบทบาทประวัติศาสตร์ของรัสเซียในฐานะ “ผู้พิทักษ์ความสงบเรียบร้อยและอารยธรรม” 

ซึ่งถูกคุกคามโดย “ลัทธิชาตินิยมยูเครน” และ “อิทธิพลลัทธิเสรีนิยมตะวันตก” ที่พยายามทำลายเอกลักษณ์และความมั่นคงของชาติรัสเซีย วาทกรรมนี้สร้างความชอบธรรมเชิงประวัติศาสตร์และจริยธรรมให้กับการ “แทรกแซง” และ “ปกป้อง” ประชากรรัสเซียในดินแดนยูเครนผ่าน “ภารกิจศักดิ์สิทธิ์” ที่เกินกว่าการรุกรานทางทหารธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบทความ “On the Historical Unity of Russians and Ukrainians” ที่เขียนโดยประธานาธิบดีปูตินในปี ค.ศ. 2021 เมดินสกีมีบทบาทสำคัญในการวางกรอบวาทกรรมที่ปฏิเสธความเป็นตัวตนของรัฐยูเครนอย่างแท้จริงและนิยามว่า “ยูเครนและรัสเซียเป็นส่วนหนึ่งของชาติพันธุ์เดียวกัน” ซึ่งเป็นพื้นฐานความคิดที่เครมลินใช้สนับสนุนความชอบธรรมในการผนวกและควบคุมยูเครน การใช้วาทกรรม “รัสเซียผู้ยิ่งใหญ่” ในการรุกรานยูเครนจึงเป็นการเล่นเกมทางการเมืองที่ใช้

ประวัติศาสตร์เป็นอาวุธ เมดินสกีและฝ่ายอุดมการณ์พยายามสร้างภาพว่า รัสเซียไม่ใช่ผู้รุกรานแต่เป็นผู้คืนความยิ่งใหญ่และปกป้องชาติพันธุ์ของตนเองจากการล่าอาณานิคมแบบใหม่ของโลกตะวันตก ซึ่งนำไปสู่การตีความสงครามเป็น “สงครามศักดิ์สิทธิ์” ที่มีเป้าหมายทางอุดมการณ์และประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้งกว่าความขัดแย้งทางดินแดนทั่วไป อย่างไรก็ตามวาทกรรมนี้ไม่ได้หยุดเพียงแค่การชี้แจงความชอบธรรมแต่ยังเป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนและกองกำลังทหารเพื่อกระตุ้นให้เห็นว่าการปกป้องและขยายอิทธิพลของรัสเซียในยูเครนคือภารกิจแห่งความรุ่งโรจน์และเกียรติภูมิของชาติ การทำสงครามจึงถูกนำเสนอในรูปแบบของ “หน้าที่ศักดิ์สิทธิ์” ที่เหนือกว่าการเมืองหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบโลกีย์ ในที่สุดวาทกรรม “รัสเซียผู้ยิ่งใหญ่” ภายใต้การขับเคลื่อนของเมดินสกีได้กลายเป็นฟันเฟืองหลักในเครื่องจักรสงครามของรัสเซีย เป็นทั้งโล่ป้องกันและดาบที่กรีดกรายเพื่อรักษาอำนาจของเครมลินและขยายอิทธิพลในเวทีโลก โดยเฉพาะในบริบทของความขัดแย้งกับโลกเสรีนิยมตะวันตกที่พยายามจำกัดบทบาทของรัสเซียในภูมิภาคยุโรป-ยูเรเชีย

ดังนั้นการที่วลาดิมีร์ เมดินสกีนักประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นนักอุดมการณ์รัฐและนักเจรจาผู้ทรงอิทธิพลถูกส่งมายังเวทีอิสตันบูลในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาของรัสเซียในช่วงปี ค.ศ. 2025 เพื่อเป็นตัวแทนในการเจรจาสงครามยูเครนที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยความตึงเครียด นี่ไม่ใช่แค่การเจรจาทางการเมืองธรรมดา แต่นี่คือสนามรบของ “สงครามความหมาย” ที่เมดินสกีใช้ประวัติศาสตร์และวาทกรรมเป็นอาวุธในการขับเคลื่อนผลประโยชน์รัฐ บทบาทของเมดินสกีในอิสตันบูลสะท้อนความเชื่อมั่นอย่างลึกซึ้งของเครมลินว่า “สงครามไม่ได้จบลงที่สนามรบ” แต่เป็นการต่อสู้เพื่อชิงความชอบธรรมและอำนาจทางความคิด เมดินสกีไม่ได้ถูกส่งมาเป็นนักการทูตหรือทหาร แต่เป็น “นักบวชแห่งประวัติศาสตร์” ที่จะประกาศว่า รัสเซียมี “สิทธิ์เหนือยูเครน” ไม่ใช่เพียงด้วยกำลังอาวุธ 

แต่ด้วยความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์ที่ขับเคลื่อนโดยวาทกรรมของเขาเอง ในเวทีอิสตันบูลเมดินสกีพยายามวางกรอบการเจรจาให้สอดคล้องกับแนวคิดของรัฐรัสเซียผ่านการย้ำเตือนเรื่อง “รากเหง้าทางประวัติศาสตร์ร่วม” และ “ภัยคุกคามจากตะวันตก” ซึ่งใช้เป็นข้ออ้างสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของเครมลินและกดดันฝ่ายตรงข้ามให้ยอมรับเงื่อนไขที่รุนแรงและไม่เป็นธรรม เมดินสกียังใช้ประสบการณ์ด้านวาทกรรมเพื่อ “บรรจุหีบ” การเจรจาในรูปแบบที่ทำให้รัสเซียดูเหมือนเป็นฝ่ายที่มีเหตุผล และพร้อมเปิดทางสู่สันติภาพแต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธข้อเรียกร้องหลักของยูเครนอย่างเด็ดขาด เป็นการเล่นเกมเจรจาที่เน้นการสร้าง “ข้อเท็จจริงเชิงวาทกรรม” ก่อนที่จะยอมความในบางจุดเพื่อรักษาภาพลักษณ์และอำนาจ นอกจากนี้ เมดินสกียังเป็นตัวแทนของรัฐที่ใช้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็น “อาวุธทางอุดมการณ์” ในการเจรจา เพื่อสกัดกั้นแรงกดดันจากชาติตะวันตกและป้องกันไม่ให้เงื่อนไขการเจรจานำไปสู่การลดทอนอำนาจหรือสถานะของรัสเซียในภูมิภาค ดังนั้นบทบาทของเมดินสกีในอิสตันบูลจึงเป็นการผสมผสานระหว่าง “นักประวัติศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่” กับ “นักการทูตสงครามความหมาย” ที่มีภารกิจสำคัญในการรักษา “ความชอบธรรม” ของรัสเซียบนเวทีโลกผ่านการเจรจาในสนามการทูต โดยไม่ลดละเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐปูติน

บทสรุป วลาดิมีร์ เมดินสกีคือภาพสะท้อนชัดเจนของการเปลี่ยนผ่านจากนักวิชาการที่ใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือในการสร้างอัตลักษณ์ชาติไปสู่ตัวแทนรัฐผู้ขับเคลื่อนวาทกรรมทางการเมืองและสงครามความหมายในระดับสูงสุดของเครมลิน เขาไม่ได้เป็นเพียงผู้บันทึกอดีตแต่กลายเป็นผู้แต่ง “บทประวัติศาสตร์” ให้กับรัฐรัสเซียยุคปูตินด้วยความเชื่อที่หนักแน่นว่าประวัติศาสตร์ต้องถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องและเสริมสร้างอำนาจรัฐไม่ใช่แค่สะท้อนความจริงที่เป็นกลาง ในฐานะรัฐมนตรีวัฒนธรรมเมดินสกีเปลี่ยนกระทรวงที่ดูเหมือนไม่สำคัญให้กลายเป็นแนวหน้าของสงครามอุดมการณ์และวัฒนธรรมที่ซึ่งเขาผลักดันแนวคิด “Russian cultural exceptionalism” เพื่อปิดกั้นและต่อต้านค่านิยมเสรีนิยมตะวันตก สร้างรากฐานทางวัฒนธรรมสำหรับนโยบายภูมิรัฐศาสตร์และความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์ของรัสเซีย เมื่อเข้าสู่บทบาทสำคัญในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาที่อิสตันบูล ในปีค.ศ. 2025 เมดินสกีไม่ได้มาเพียงเพื่อเจรจาสงครามเท่านั้นแต่เป็นตัวแทนของ “สงครามความหมาย” ที่รัสเซียใช้ประวัติศาสตร์และวาทกรรมปกป้องอธิปไตยและอำนาจในภูมิภาค ด้วยบทบาทนี้เขากลายเป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกของปัญญาชนและอำนาจรัฐ ประสานความคิดและนโยบายให้ไปในทิศทางเดียวกันอย่างแนบเนียนและมีประสิทธิภาพ โดยรวมแล้วเมดินสกีไม่ใช่แค่รัฐมนตรีวัฒนธรรมหรือนักประวัติศาสตร์ทั่วไปแต่คือเครื่องจักรอุดมการณ์ของรัฐรัสเซียที่ผสมผสานความรู้เชิงวิชาการเข้ากับอำนาจทางการเมืองและการทูตเพื่อรักษาและขยายอิทธิพลของรัสเซียในศตวรรษที่ 21 ผ่านสงครามทั้งที่มองเห็นและที่อยู่ในเงามืดของวาทกรรม

คณะจัดทำหนังสือ "เมื่อรบต้องชนะ" ประชุมหารือรวบรวมข้อมูลเรื่องราวเหตุการณ์สู้รบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ในอดีต

(19 พ.ค. 68) พล.ร.ท.สนธยา น้อยฉายา อดีต ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน เป็นประธานการประชุม คณะจัดทำหนังสือชื่อเรื่อง "เมื่อรบต้องชนะ"  ได้มีการพบปะประชุมหารือเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลเรื่องราวเหตุการณ์ การสู้รบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เมื่อสมัยอดีด ณ ห้องประชุมครัว coffee wars ริมถนน 331 ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมหารือ จำนวน 10 คน ได้แก่ พล.ร.ท.สนธยา  น้อยฉายา ประธานการประชุมฯ น.อ.พิชัย รอดกวี น.ท.เกรียงไกร แสงอุทัย  น.ต.สำเริง บ้านพวน น.ต.สุวัช แสงสว่าง น.ต.ชาลี กัลปะ ร.ท.อยู่  ปานเกษม ร.ท.สุระชัย ขันคำ ร.ท.กฤษณ์ แผลงเดช และ ร.ต.ปัญญา

โดยการประชุม เป็นแบบพบปะ เสวนาแบบเป็นกันเอง ผลัดเปลี่ยนกันเล่าประสพการณ์จริง เสนอแนะ เพื่อพิจารณานำข้อมูลให้ฝ่ายเรียบเรียงทำเป็นหนังสือ โดย ร.ท.กฤษ แผลงเดช ผู้จดบันทึก ใช้เวลาพบปะหารือ ประมาณ 7 ชม. ตั้งแต่เวลา 11.30 - 18.00 

หนังสือ "เมื่อรบต้องชนะ" จะเป็นเรื่องราวบอกเล่าถึงสถานการณ์จริงเกี่ยวกับการสู้รบ ในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา โดยได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์สู้รบที่สำคัญๆ ในหลายพื้นที่ เช่น เหตุการบ้านโขดทราย เหตุการณ์บ้านชำราก เป็นต้น

โดยมี ร.ท.กฤษ แผลงเดช อดีดผู้เคยอยู่ในเหตุการณ์จริง เป็นผู้ริเริ่มการประสานงานรวบรวมข้อมูล เพื่อจัดทำหนังสือดังกล่าว ซึ่งปัจจุบัน สามารถรวบรวมข้อมูลได้ ประมาณ 70% แล้ว

โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำ เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้และรับทราบสถานการณ์และเหตุการณ์จริง รวมทั้งรวบรวมรายชื่อ วีรกรรมเกี่ยวกับการสู้รบในอดีต

ซึ่งบทวิเคราะห์ หนังสือดังกล่าว น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับบุคคลไทยโดยทั่วไป รวมทั้งเยาวชนรุ่นหลัง ไม่มากก็น้อย 

นิราช ทิพย์ศรี รายงาน 0909535645


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top