Friday, 9 May 2025
NewsFeed

โควิด-19 ป่วนลีกบอลไทย งดเตะยาวทั้งเดือนมกราคม

โควิด-19 พ่นพิษไปทั่ว ไม่เว้นวงการฟุตบอลไทย ล่าสุดสมาคมฟุตบอลไทยประกาศเลื่อนโปรแกรมเตะตลอดเดือนมกราคมทั้งหมด โดยจะมีผลทั้งไทยลีก 1 ไทยลีก 2 และไทยลีก 3 ทั้งนี้โปรแกรมที่ถูกเลื่อนออกไป เบื้องต้นทางสมาคมจะย้ายให้ไปเตะในช่วงสัปดาห์ฟีฟ่าเดย์ (สัปดาห์ที่ลีกหยุด และเปิดให้ทีมชาติได้เตะอุ่นเครื่อง หรือกระชับมิตร) รวมถึงนำไปไว้ในช่วงกลางสัปดาห์แทน

ก่อนหน้านี้ ฟุตบอลลีกไทยถูกเปลี่ยนแปลงโปรแกรมการเตะใหม่ทั้งหมดมาแล้วในช่วงโควิด-19 ระบาดเมื่อช่วงต้นปีก่อน และล่าสุดนี้ ก็เพิ่งมีการเลื่อนออกไปอีก ย่อมส่งผลกระทบต่อโปรแกรมฟุตบอลทีมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไมได้

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (4 มกราคม พ.ศ. 2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 745 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 8,439 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิต 65 ราย รักษาหายเพิ่ม 15 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 4,352 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 4,022 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 745 ราย เป็น ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากอิตาลี 2 ราย ,รัสเซีย 1 ราย ,สหราชอาณาจักร 3 ราย ,อียิปต์ 1 ราย ,อินเดีย 1 ราย ,สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย ,ญี่ปุ่น 1 ราย ,ตุรกี 2 ราย ,เอธิโอเปีย 1 ราย ,สวีเดน 3 ราย

ผู้ติดเชื้อในประเทศ จำนวน 152 ราย

ผู้ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว (คัดกรองเชิงรุกในชุมชน) 577 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 172 ราย รักษาหายแล้ว 149 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 382 ราย รักษาหายแล้ว 362 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 7.65 แสน ราย รักษาหายแล้ว 6.32 แสน เสียชีวิต 22,734 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 40 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.19 แสน ราย รักษาหายแล้ว 97,218 ราย เสียชีวิต 494 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.26 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.1 แสน ราย เสียชีวิต 2,728 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.78 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.48 แสน ราย เสียชีวิต 9,257 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,697 ราย รักษาหายแล้ว 58,487 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมติดเชื้อ 1,494 ราย รักษาหายแล้ว1,339 ราย เสียชีวิต 35 ราย

กองทัพเรือ ส่งมอบโรงพยาบาลสนามพลเรือนแห่งที่ 2 สนามฝึกทร.บ้านจันทเขลม ให้แก่สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี ใช้งานรองรับผู้ป่วยโควิด-19

พล.ร.ท.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า พล.ร.ต.นพดล ฐิตวัฒนะสกุล ผู้บัญชาการกองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน เป็นผู้แทนกองทัพเรือ ส่งมอบโรงพยาบาลสนามให้แก่สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี เพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลสนามในพื้นที่จ.จันทบุรี โดยมีนายฤหัส ไชยศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และนพ.อภิรักษ์ พิศุทธิ์อาภรณ์ สาธารณสูขจังหวัดจันทบุรี เป็นผู้ร่วมรับมอบ ที่สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 16 บ้านจันทเขลม ต.จันทเขลม อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี

สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในพื้นที่จ.จันทบุรี มีผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่เนื่องด้วยโรงพยาบาลในจังหวัดเหลือจำนวนเตียงที่ใช้สำหรับรองรับผู้ป่วยติดเชื้อเพียง 31 เตียงเท่านั้น จ.จันทบุรีจึงได้ขอความอนุเคราะห์กองทัพเรือใช้สถานที่เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม

โดยผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ จะเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลจนมีอาการดีขึ้น หรือไม่มีอาการรุนแรง และจะทำการรักษาในโรงพยาบาลสนามจนกว่าจะมีผลเป็นลบหรือตรวจไม่พบเชื้อ

อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลสนามนี้มีจำนวน 6 อาคาร ประกอบด้วย อาคารควบคุม 1 อาคาร อาคารรับผู้ป่วย จำนวน 4 อาคาร และอาคารประกอบเลี้ยง 1 อาคาร สามารถรองรับผู้ป่วยได้สูงสุด 232 คน ซึ่งกองทัพเรือได้จัดเตรียมสถานที่เป็นโรงพยาบาลสนาม กรณีเกินขีดความสามารถในการรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลหลักในพื้นที่จ.ระยอง ชลบุรี และจันทบุรี จำนวน 3 แหล่ง ประกอบด้วย ค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า สนามฝึกกองทัพเรือ บ้านจันทเขลม และศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย ครึ่งปีแรกต้องใช้วิธีประคับประคองเศรษฐกิจ เนื่องจากยังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 หากมีวัคซีนออกมาสถานการณ์ดีขึ้นแน่นอน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยทิศทางเศรษฐกิจปี 2564 ว่า ในช่วงครึ่งปีแรกการบริหารเศรษฐกิจไทยคงต้องใช้วิธีประคับประคองไปก่อน โดยใช้มาตรการของรัฐที่ผลักดันออกมาก่อนหน้านี้

รวมทั้งการขับเคลื่อนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 64 ด้วยการเร่งรัดการเบิกจ่ายทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจให้ได้ตามเป้าหมาย เพราะในช่วงครึ่งปีแรกยังต้องบริหารเศรษฐกิจบนความไม่แน่นอน เนื่องจากยังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 และยังต้องรอเรื่องของวัคซีนที่จะนำมาใช้ต่อไปด้วย

ทั้งนี้ในสิ่งที่ยังกังวลในปี 2564 มีอยู่ด้วยกันหลายเรื่อง เช่น หนี้ครัวเรือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบ รวมทั้งเรื่องแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานในภาคท่องเที่ยวที่ต้องประคับประคองต่อ

ขณะเดียวกันยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศ หากไม่ได้วิกฤติมากจนถึงขั้นล็อกดาวน์ในหลาย ๆ ประเทศก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมากนัก และถ้าหลายประเทศมีวัคซีนออกมาสถานการณ์ก็ดีขึ้นแน่นอน

ส่วนสิ่งที่ต้องเริ่มทันทีหลังผ่านปีใหม่แล้ว คือ ต้องเริ่มเปิดดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย ล่าสุดมีกระบวนการที่ภาครัฐเตรียมพร้อมรองรับเอาไว้แล้ว

รวมทั้ง การดูแลสภาพคล่องของธุรกิจเอสเอ็มอีในธุรกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยต้องพยายามประคับประคองให้กลุ่มนี้ยืนระยะต่อไปให้ได้ พร้อมทั้งติดตามบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่ได้ออกไปค้ำประกันสินเชื่อให้ในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ถึงลำดับสิ่งสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ตั้งแต่ "ป้องกัน" ยัน "ทำให้สิ้นซาก" แต่เป็นเรื่องยากต้องอยู่กับมันไปอีกนาน

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ถึงลำดับสิ่งสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ข้อความว่า

โควิด 19 เมื่อมีการระบาดรอบใหม่

สิ่งที่สำคัญในการควบคุมการระบาด จะต้องเป็นไปตามลำดับ ดังนี้

1.) การป้องกัน

ทุกคนจะต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดการระบาด กระจายออกไป ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เมื่อออกนอกบ้าน ล้างมือและใช้ alcohol กำหนดระยะห่างบุคคลไม่น้อยกว่า 2 เมตร หรืออยู่บ้านดีที่สุด หลีกเลี่ยงแหล่งอโคจร

2.) การควบคุม

เป็นหน้าที่ของทุกคน รวมทั้งทางกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคอยู่ในขอบเขต ที่ควบคุมได้ มีมาตรการต่างๆเบาไปหาหนัก สร้างกฎเกณฑ์ต่างๆขึ้นมา จนกระทั่งถึงปิดเมืองเด็ดขาด แบบอู่ฮั่น

3.) การลดปริมาณโรคให้น้อยลง

จัดการตรวจวินิจฉัยแยก คัดกรอง ให้ความรู้ โดยเฉพาะในแหล่งระบาดให้เกิดโรค หรือติดต่อแพร่กระจายให้น้อยที่สุด ไม่ให้เกิดการแพร่กระจายไปจุดอื่น ๆ

4.) การกวาดล้าง

เมื่อโรคเหลือจำนวนน้อยลง จะต้องยังคงมาตรการ เพื่อให้เหลือน้อยที่สุดหรือหมดไป

5.) การทำให้โรคหมด

ด้วยกฎเกณฑ์จะต้อง ไม่พบผู้ป่วยในบริเวณนั้นอย่างน้อย 2 เท่าของระยะฟักตัว หรือ 28 วัน จึงจะสามารถกล่าวได้ว่า โรคนั้นหมดไป

6.) การทำให้สูญพันธุ์

คงเป็นการยากมากแล้วที่จะทำให้โรค covid-19 สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้

จากสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นการยากมากที่จะทำให้โรคหมดภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว และยังมีความเชื่อว่า เราจะต้องอยู่กลับ covid-19 ไปอีกนาน

ขณะนี้สิ่งที่ต้องการที่สุดอยู่ในมาตรการการป้องกันและการควบคุมไม่ให้จำนวนโรคหรือผู้ป่วยมากไปกว่านี้ ถ้าเราไม่สามารถทำได้ในอนาคตอันใกล้เราอยากเห็นจำนวนผู้ป่วยเป็นหลักเลข 4 ตัวต่อวัน

ยอดผู้ป่วยที่เราเห็นอยู่ทุกวันขณะนี้ จะสะท้อนความเป็นจริงเมื่อ 1 อาทิตย์ที่ผ่านมา การติดโรคกว่าจะมีอาการและได้รับการตรวจวินิจฉัยยืนยันจะใช้เวลากว่า 1 อาทิตย์ การติดโรคนะวันนี้ อาจจะมากกว่านี้อีกหลายเท่า ถ้าเราไม่ช่วยกัน

ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ‘เนวิน ชิดชอบ’ มอบหน้ากากอนามัยกว่า 6 หมื่นชิ้น ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้สำหรับแจกประชาชน หากพบใครไม่ใส่หน้ากากอนามัยออกจากบ้าน ต้องบำเพ็ญประโยชน์ก่อนแจกฟรี

เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มอบหน้ากากอนามัย จำนวน 68,000 ชิ้น ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งด่านตรวจ มอบให้กับประชาชาชนที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย ออกมาในที่สาธารณะ

โดยมีเงื่อนไขว่า บุคคลที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ จะต้องถูกทำโทษทางสังคม โดยต้องบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อสังคม 30 นาที (เช่น เก็บขยะ ทำความสะอาดสถานที่สาธารณะ) แล้วจึงจะแจกหน้ากาก ฟรี

นายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ให้ ขยายเวลานั่งทานอาหารในร้านได้จนถึง 21.00 น. ขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพิ่มอีก 45 วัน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผยว่า ให้ยกเลิกคำสั่งกรุงเทพมหานครที่จะให้ร้านอาหารห้ามให้นั่งรับประทานอาหารจากเวลา 19.00 น.- 06.00 น.เป็นเวลา 21.00 น.- 06.00 น. ยืนยันยังไม่มีการประกาศล็อคดาวน์จังหวัดใด โดยให้แต่ละพื้นที่เป็นผู้กำหนดตามสถานการณ์เอง

นอกจากนี้ ที่ประชุมมศบค.ยังมีมติขยายการต่อเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะหมดอายุในวันที่ 15 มค.นี้ออกไปอีก 45 วัน

อินเดียผลิตวัคซีน Covid-19 ในชื่อว่า "Covaxin" ถือเป็นวัคซีนตัวแรกที่ผลิตได้เองในประเทศ ทดสอบแล้วปลอดภัย ตั้งเป้าผลิตอย่างน้อย 300 ล้านโดสในปีนี้

อินเดียอนุมัติวัคซีน Covid-19 จาก 2 บริษัท ให้สามารถฉีดในประเทศได้แล้ว สำหรับประชาชนกลุ่มแรก ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เป็นกรณีฉุกเฉินแล้ว ซึ่งวัคซีนเจ้าแรก เป็นของ AstraZeneca ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ส่วนของบริษัทที่สองเป็นวัคซีนของอินเดียเองที่พัฒนาโดยบริษัท Bharat Biotech จากไฮเดอราบัด ที่ชื่อว่า "Covaxin"

วัคซีนทั้ง 2 บริษัทได้ผ่านการพิจารณาจากองค์การยาของรัฐบาลแล้วว่าสามารถฉีดให้กับชาวอินเดียได้อย่างปลอดภัย และต้องฉีด 2 เข็มเหมือนกัน

นับเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของทีมพัฒนาวัคซีนที่สามารถเข็นวัคซีน Covid-19 ออกมาได้ทัน ไล่เลี่ยกับวัคซีนของชาติตะวันตก ซึ่ง Covaxin เป็นวัคซีน Covid-19 ตัวแรกที่ผลิตได้เองในประเทศ นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาวอินเดีย

เส้นทางสู่ความสำเร็จของ Covaxin ของอินเดีย เริ่มทดลองกับมนุษย์ครั้งแรกในวันที่ 30 มิถุนายน ปีที่แล้ว และจบการทดสอบเฟส 2 ช่วงเดือนตุลาคม ที่รายงานว่าประสบความสำเร็จด้วยดี และเดินหน้าสู่การทดสอบเฟสสุดท้าย

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน และได้ยื่นคำร้องเพื่ออนุมัติการใช้วัคซีนแล้วตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม พร้อมยืนยันว่าวัคซีนมีความปลอดภัย พร้อมฉีดให้กับชาวโลก และตั้งเป้าผลิตให้ได้อย่างน้อย 300 ล้านโดสในปีนี้

ทันทีที่มีการอนุมัติวัคซีน ทั้ง AstraZeneca และ Covaxin นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ได้ออกมากล่าวชื่นชมผลงานวัคซีนของอินเดีย พร้อมแสดงความมั่นใจว่า นี่จะเป็นก้าวสำคัญที่จะพาอินเดียรอดพ้นจากวิกฤติ Covid-19 ให้ได้ โดยวัคซีนล็อตแรกที่จะฉีดให้กับชาวอินเดียกลุ่มแรกมีจำนวน 300 ล้านโดส ที่จะเริ่มทยอยฉีดได้ครบภายในสิงหาคมปีนี้

อินเดีย เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 หนักเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ แต่ด้วยประชากรที่มีจำนวนมากถึง 1.3 พันล้านคน ที่เป็นโจทย์ที่ท้าทายมากในการควบคุม Covid-19 ในประเทศนี้ การพึ่งพาวัคซีนจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียวอาจไม่ทันการ

แต่หากอินเดียสามารถผลิตวัคซีนได้เอง ที่มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากวัคซีนของต่างประเทศ ก็จะช่วยให้อินเดียสร้างความด้านสาธารณะสุขด้วยลำแข้งตนเอง ทำให้อินเดียสามารถหลุดพ้นวิกฤติ Covid-19 ได้เร็วกว่าชาติอื่นก็เป็นได้


แหล่งข้อมูล

https://indianexpress.com/.../explained-oxford-sii.../

https://www.aljazeera.com/.../india-approves-astrazeneca...

https://www.moneycontrol.com/.../covid-19-vaccine-tracker...

ที่มา: หรรสาระ By Jeans Aroonrat

‘พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา’ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค ‘เหรียญทอง แน่นหนา’ เสนอแนวคิดใช้โรงพยาบาลทหารในพื้นที่สีแดง เป็น 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' แยกจากโรงพยาบาลทั่วไป

ผมมีความเห็นส่วนตัวว่าจะต้องมี 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' ประจำพื้นที่สีแดงเพื่อรับการส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 จาก รพ.หรือสถานพยาบาลทั่วไปในพื้นที่สีแดง ทั้งนี้เพื่อให้ รพ.หรือสถานพยาบาลทั่วไป ยังคงขีดความสามารถในการรักษาผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ตามปกติ อย่าปล่อยให้ทุก รพ.ในพื้นที่สีแดงทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยทั้งโควิดและไม่โควิดครับ

เพราะจะทำให้ทุก รพ.บริหารทรัพยากรทั้งบุคคล อุปกรณ์ และสถานที่อย่างยากลำบาก สิ้นเปลืองทรัพยากรในขณะที่ขีดความสามารถทางการแพทย์กลับพร่องลง

ทั้งนี้ 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' ในพื้นที่สีแดง ไม่จำเป็นต้องมีหลายแห่ง มีเพียงแค่ 1 แห่งก็พอ แต่ขอให้มีขีดความสามารถทางการแพทย์ในระดับทุติยภูมิที่ครบทุกสาขาหลัก(Major specialty) คือ สูตินรีเวช-ศัลยกรรม-อายุรกรรม-กุมารเวชกรรม โดย 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19'

ในพื้นที่สีแดงจะแปรสภาพมาจาก รพ.ทั่วไปในพื้นที่สีแดงตามแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยคณะแพทย์ประจำจังหวัดพื้นที่สีแดงเห็นสมควร 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' ประจำพื้นที่สีแดงจะไม่รักษาผู้ป่วยที่ไม่ติดเชื้อโควิด-19 นะครับ การแยกให้ชัดเจนเช่นนี้จะทำให้สามารถบริหารทรัพยากรทั้งบุคคล อุปกรณ์ และสถานที่อย่างมีประสิทธิภาพ ง่ายต่อการปฏิบัติ ในขณะที่ขีดความสามารถทางการแพทย์จะยังคงมีประสิทธิผล

ทั้งนี้ 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' ประจำพื้นที่สีแดงจะต้องสมทบด้วย รพ.สนาม เพื่อเป็นหอผู้ป่วยสามัญรวมที่มีจำนวนเตียงมาก ๆ เพื่อการหมุนเตียง แบ่งเบาผู้ป่วยติดเชื้อที่อาการดีขึ้นแล้วออกจาก 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' แต่ยังกลับบ้านไม่ได้เพื่อการกักกันจนกว่าจะปลอดเชื้อ และเพื่อให้ 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' สามารถดูแลรักษาผู้ติดเชื้อที่มีอาการที่ต้องได้รับการ.รักษาอย่างใกล้ชิดไม่เป็นภาระงานจนเกินควร ...

โดยส่วนตัวผมเห็นว่า รพ.ทหาร มีความเหมาะสมที่สุดที่จะเป็น 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' อย่างไรก็ตามต้องสุดแล้วแต่การพิจารณาของคณะแพทย์ประจำจังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงจะพิจารณานะครับ

ในกรณีที่พื้นที่สีแดงเป็นจังหวัดติดต่อกันหลายจังหวัดก็สามารถใช้ 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 ประจำกลุ่มจังหวัดสีแดงที่ติดต่อกันร่วมกัน เพื่อการรวมศูนย์ก็สามารถทำได้...สำหรับเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น เช่น กรุงเทพมหานคร โดยส่วนตัวของผมแล้วเห็นว่า 'รพ.ทหารผ่านศีก' มีความเหมาะสมที่สุดที่จะเป็น 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเพิ่มเติมทรัพยากรกำลังพล เครื่องมือ...นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ เป็นเพียงแบบจำลองเท่านั้น

สถานการณ์ระบาดระลอกใหม่นี้เปรียบเสมือนการรบประชิดที่ข้าศึกอยู่ในเมืองแล้ว ดังนั้น รพ.และสถานพยาบาลทุกแห่งโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ล้วนเผชิญหน้าข้าศึกที่จะพรั่งพรูดาหน้าคุกคามต่อเนื่องตลอดเวลา

สถานการณ์เช่นนี้เป็นสถานการณ์ตั้งรับเพื่อประคับประคอง ลดอัตราการสูญเสียชีวิตให้มากที่สุด รอวัคซีน จากนั้นจึงรุกโต้ตอบด้วยการระดมฉีดวัคซีนจำนวนมาก (Mass immunization) แก่ประชาชนให้ได้มากกว่า 70%ของประชากรในพื้นที่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันมวลชนหรือให้เกิด Herd Immunization ในการโต้ตอบโควิด-19 ครับ...สถานการณ์นี้ต้องตั้งรับประคับประคองเพื่อรอตีโต้ตอบครับ...ขอเป็นกำลังใจทุกท่าน สู้ไปด้วยกัน อย่าขวัญตกจิตฝ่อนะครับ


ที่มา Facebook : เหรียญทอง แน่นหนา

อุ่นใจใบขับขี่หมดอายุ ไม่โดนจับ รมว.คมนาคม ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ สั่งกรมการขนส่งทางบก ผสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผ่อนผันกรณีใบขับขี่หมดอายุ ระหว่างที่มีการงดให้บริการต่ออายุ เพื่อสกัด โควิด-19 ถึง 31 มี.ค. 64

จากกรณีที่กรมขนส่งทางบก ประกาศ งดการให้บริการด้านใบอนุญาตขับรถ งดการอบรมสำหรับการขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถ บัตรประจำตัวคนขับรถ และใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถทุกชนิด ตั้งแต่ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2564 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ให้นโยบายกับกรมการขนส่งทางบก ให้แจ้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอผ่อนผันการใช้กฎ ระเบียบข้อบังคับ คำสั่ง จากการที่ใบอนุญาติขับรถหมดอายุ เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก จึงได้ทำหนังสือถึง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า กรมการขนส่งทางบกขอเรียนว่า การงดให้บริการด้านใบขับขี่ เป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไป อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค อย่างรวดเร็วและก่อให้เกิดผลเสียหาย อย่างร้ายแรงต่อสาธารณชน

จึงเป็นเหตุจำเป็นอันไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้ที่มีความประสงค์ขอต่อใบอนุญาตขับรถในช่วงที่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน และไม่ใช่ความผิดของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขับรถที่สิ้นสุดอายุ หรือครบอายุระหว่างการงดการให้บริการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ดังนั้น เพื่อเป็นการให้สิทธิ์กับผู้รับผลกระทบในสถานการณ์ดังกล่าว จึงใคร่ขอ ความกรุณาท่าน ได้โปรดมีข้อสั่งการ ให้ผ่อนผันการใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งใดให้กับผู้ได้รับ ใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถ ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก จนถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2564


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top