Wednesday, 7 May 2025
NewsFeed

ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ต้อนรับคณะเจ้ากรมข่าวทหารเรือ พร้อมด้วยคณะผู้ช่วยทูตทหาร 15 ประเทศ ในโอกาสเยี่ยมชมหน่วยเพื่อสร้างการรับรู้การบริหารจัดการในการฝึกทหารกองประจำการ

เมื่อวานนี้ (29 เม.ย.68) น.อ.ทิวา อ่อนละออ ผู้บังคับการศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ (ผบ.ศฝท.ยศ.ทร.) ต้อนรับ พล.ร.ท.พิบูลย์ พีรชัยเดโช เจ้ากรมข่าวทหารเรือ และคณะผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศ/กรุงเทพฯ ที่มีถิ่นพำนักในต่างประเทศ ในการเข้าเยี่ยมชมหน่วย ณ ศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี

กรมข่าวทหารเรือ กำหนดจัดกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพเรือกับผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศฯ ประจำปีงบประมาณ 2568 (MAC-T Tour 2025) ระหว่างวันที่ 29 เม.ย.68 - 1 พ.ค.68 ในพื้นที่ภาคตะวันออก (จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง) โอกาสนี้เพื่อให้การสร้างการรับรู้ภารกิจในการฝึกทหารกองประจำการของกองทัพเรือถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเรืองที่คณะผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศฯ ให้ความสนใจ เจ้ากรมข่าวทหารเรือ จึงได้นำคณะฯ เข้าเยี่ยมชมศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ 

โดยศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เป็นหน่วยงานหลักของกองทัพเรือที่มีภารกิจดำเนินการฝึกอบรม ให้การศึกษา และปกครองบังคับบัญชาทหารกองประจำการ ปีงบประมาณละ 4 ผลัด ผลัดละ 3,000 นาย โดยมีระยะเวลาในการฝึกอบรม 8 สัปดาห์ต่อผลัด เพื่อเปลี่ยนแปลงทหารใหม่จากพลเรือนให้มีลักษณะทางทหารและฝึกอบรมความรู้ที่สำคัญประกอบด้วย วิชาทหารราบ ตามคู่มือแบบฝึกพระราชทาน โรงเรียนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (รร.ทม.รอ.), วิชาชีพทหารเรือทั่วไป เช่น การอาวุธ, การผูกเชือก, การตีกระเชียงเรือ และการฝึกป้องกันความเสียหาย เพื่อสร้างความเป็นทหาร ความเป็นชาวเรือ 

นอกจากนี้แล้วยังมีการฝึกอบรมด้านอาชีพเพิ่มเติม เช่น ศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ตลอดจนการแนะแนวการมีอาชีพจากคณะกรรมการพัฒนาอาชีพกองประจำการ กองทัพเรือ เพื่อเป็นแนวทางในการอบรมอาชีพที่ทหารใหม่สนใจก่อนปลดประจำการต่อไป

การเยี่ยมชมครั้งนี้เป็นไปตาม นโยบาย ผบ.ทร.ประจำปี งป.68 นโยบายหลัก ด้านยุทธการและการฝึก เสริมสร้างความร่วมมือและริเริ่มการสร้างกลไกการประสานงานร่วมกัน ระหว่าง กองทัพเรือและหน่วยงานความมั่นคงทางทะเล และ ภาคเอกชน/On Tuesday 29 April 2025, Capt. Tiwa Onlaor, Commanding Officer, Recruit Training Centre, Naval Education Department, greeted Vice Adm. Pibul Peerachaidecho, Director General, Naval Intelligence Department, and Defence Attaches who reside aboard in an occasion of an official visit at the New Theory Learning Centre, Recruit Training Centre, Naval Education Department, Sub District of Bangsarey, District of Sattahip, Chonburi Province.

Naval Intelligence Department hosted a relationship-enhancing activity between the Royal Thai Navy and International Defence Attaches 2025 (MAC-T Tour 2025). The activity will take place during 29 April 2025-1 May 2025 in the eastern part of Thailand (provinces of Chonburi and Rayong). The tour aims to enhance International Defence Attaches’ understanding of Royal Thai Navy Recruit Trainings. Royal Thai Navy Recruit Training Program is considered as one of the various interesting topics in International Defence Attaches’ attention. Thus, the Director General of Naval Intelligence led the International Defence Attaches in this official visit to Recruit Training Centre, Naval Education Department.

The Recruit Training Center, Naval Education Naval Department, is the main institution that is responsible for training, instructing, and administering enlisted soldiers each fiscal year. The Royal Thai Navy receives approximately 12,000 recruits yearly, through 4 intakes of 3,000 each. Recruits will go through an 8-week course which aims to transform them into sailors. The recruits training course encompasses a number of subjects  which includes basic infantry instruction as outlined by the King’s Royal Guard School, and basic naval training such as weapons, knot tying, boat safety and rescue, and damage control trainings. Moreover, the center also provides recruits with multiple apprenticeship training and guidance courses like the Agricultural Learning Center and the Navy’s Board of Apprenticeship Development, which are designed to help recruits find work after completing their national service.

The tour is in accordance with the principal policy of the Commander-in-Chief, Royal Thai Navy 2025 in an aspect of operations and trainings. The policy aims to enhance cooperation and initiate building collaboration mechanism among the Royal Thai Navy, Maritime Security Agencies, and Private Sector

‘หวังอี้’ พบ รมว.ต่างประเทศไทย ย้ำสัมพันธ์จีน-ไทยแน่นแฟ้น พร้อมหนุนเข้าร่วม BRICS ดันโครงการรถไฟ-วิจัย-ต้านอาชญากรรม

(30 เม.ย. 68) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน แสดงจุดยืนระหว่างพบปะกับนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ว่าจีนให้ความสำคัญระดับสูงกับความสัมพันธ์จีน-ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน และพร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ เพื่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

นอกจากนี้ จีนยังสนับสนุนไทยเข้าร่วมกลุ่มประเทศ BRICS โดยหวังอี้ระบุว่า จีนยินดีต้อนรับบทบาทของไทยในฐานะประเทศหุ้นส่วน และสนับสนุนการมีส่วนร่วมในความร่วมมือที่หลากหลาย

ด้าน รมว.มาริษของไทยเห็นว่า การพัฒนาของจีนคือโอกาสสำคัญของไทย และแสดงความตั้งใจเข้าร่วมกลุ่ม BRICS อย่างเต็มที่ เพื่อเสริมความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนา และปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศโลกใต้ พร้อมทั้งเห็นพ้องร่วมกับจีนในการผลักดันความร่วมมือ เช่น รถไฟจีน-ไทย การวิจัยแพนด้า การต่อต้านอาชญากรรมข้ามพรมแดน และการพัฒนา FTA จีน-อาเซียน รุ่น 3.0

หวังอี้ยังกล่าวถึงบทบาทของสหรัฐว่า เน้นผลประโยชน์ตนเองมากเกินไป ใช้ภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือกดดันประเทศอื่น พร้อมเตือนว่าการประนีประนอมกับพฤติกรรมล้ำเส้นจะยิ่งเปิดทางให้ 'คนพาล' กลั่นแกล้งมากขึ้น จึงเรียกร้องให้กลุ่ม BRICS ร่วมต้านการกีดกันทางการค้า และสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึด WTO เป็นศูนย์กลางอย่างเข้มแข็ง

‘ศิษย์เก่า มธ.’ ถาม อธิการบดี มธ. ทำอะไรอยู่ รู้หรือไม่! คนบางกลุ่มกำลังจะใช้พื้นที่ด้อยค่าประเทศ

นายสมภพ พอดี นิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศิษย์เก่าปริญญาโท คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีจะมีการจัดงานปาฐกถา เรือง ‘โจรสยาม ปะทะ เคลมโบเดีย : ปัญหาทะเลาะกันที่ไม่มีวันรู้จบ’ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 2 พ.ค. นี้ โดยระบุว่า ...

30 เมษายน พ.ศ. 2568
เรียนอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผม นายสมภพ พอดี อดีตนักศึกษาปริญญาโท คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ปี พ.ศ. 2534 ขอเรียนถามท่านดังต่อไปนี้

1. ท่านทราบหรือไม่ว่าจะมีการใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยในความดูแลของท่านจัดงานปาฐกถา ที่ตั้งชื่อว่า
โจรสยาม ปะทะ เคลมโบเดีย : ปัญหาทะเลาะกันที่ไม่มีวันรู้จบ 

ในวันศุกร์ที่ ๒ พ.ค. ๒๕๖๘ เวลา ๑๓:๐๐ - ๑๖:๐๐ น. ที่ห้องอดุล วิเชียรเจริญ (ศศ. ๒๐๑) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

2. ท่านทราบหรือไม่ว่าคำว่า โจรสยาม หมายความว่าอะไร มีนัยยะของการดูถูก ดูแคลน เหยียดหยาม ด้อยค่า สยามซึ่งคือชื่อเดิมของประเทศไทยอย่างไร

3. หากท่านรับทราบแล้วทั้งข้อ 1 และ 2 ท่านยังจะอนุญาตให้มีการใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยในความรับผิดชอบของท่านจัดงานเพื่อดูถูก ดูแคลน เหยียดหยาม ด้อยค่า สยามซึ่งคือชื่อเดิมของประเทศไทย ต่อไปตามกำหนดการหรือไม่ หรือว่าจะยับยั้งการกระทำดังกล่าว

หากท่านคิดและเชื่อว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในความรับผิดชอบของท่านสมควรจัดงานดังกล่าว ผมขอให้ท่านเพิกถอนปริญญาบัตรของผมด้วย เพราะผมละอายที่จะมีความเกี่ยวข้องและเกี่ยวพันใดกับสถาบันการศึกษาที่สร้างและดำเนินการจากภาษีของประเทศไทย แต่ปล่อยให้มีคนบางกลุ่ม บางคนใช้สถานที่เพื่อดูถูก ดูแคลน เหยียดหยาม ด้อยค่า สยามซึ่งคือชื่อเดิมของประเทศไทย

จึงเรียนมาเพื่อทราบและดำเนินการตามหน้าที่และความรับผิดชอบของท่าน
ขอแสดงความนับถือ
สมภพ พอดี

‘มิน อ่อง หล่าย’ อาจวางมือ…ปิดฉากยุคกองทัพคุมประเทศ วิเคราะห์เบื้องหลัง? คาดเจอแรงกดดันหนักจากแผ่นดินไหวและเกมของมหาอำนาจ

(1 พ.ค. 68) มีข่าวสะพัดออกมาในช่วงที่เอย่าเดินทางไปมัณฑะเลย์ เพื่อพบปะกับเจ้าหน้าที่คนไทยที่เข้าไปช่วยกู้ภัยในเมียนมา ซึ่งข่าวนี้ทำให้เอย่าต้องหูผึ่ง จนต้องเขียนบทความในครั้งนี้ เพราะเป็นข่าวลือที่ว่า 'นายพล มิน อ่อง หล่าย' จะลาออกจากตำแหน่งผู้นำกองทัพเมียนมา

แต่ก่อนที่เราจะมาคุยเรื่องนี้ เอย่าขอเล่าให้ผู้อ่านชาวไทยเข้าใจบริบทในเมียนมาก่อน เพราะมีสื่อโซเชียลบางส่วนพยายามโจมตีภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหารเมียนมาว่าไม่เหลียวแลประชาชนเลย ซึ่งคนอ่านก็ด่าตามโดยไม่ไตร่ตรอง

เอาแบบนี้… มาตั้งสติแล้วคิดตามเอย่าสักนิดนะคะ

หลังเกิดแผ่นดินไหว ประเทศไทยที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าเมียนมา ได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายเท่า ยังต้องตั้งกองทุนฟื้นฟูเพื่อซ่อมแซมบ้าน ดูแลผู้ประสบภัย และจัดการอาคารที่เสียหาย แล้วถามกลับว่า รัฐบาลเมียนมาชุดนี้ ที่ถูกคว่ำบาตรจากนานาประเทศ และยังถูกบางกลุ่มในไทยใส่ร้าย สนับสนุนกลุ่มต่อต้าน ทั้งเรื่องที่พักพิง อาวุธ และแหล่งเงินทุน พวกเขาจะมีทรัพยากรพอแค่ไหน? ขนาดไทยยังแจกค่าซ่อมบ้านแค่หลักร้อยหลักพัน แล้วจะให้เมียนมาทำได้ขนาดไหน?

คนเมียนมาที่ให้ข้อมูลกับเอย่าบอกว่า เขาอยากทำแบบไทยมาก แต่ก็ทำได้เท่าที่งบประมาณมี ดังนั้น หากใครเป็นสื่อแต่ไม่เข้าใจคำว่า 'จรรยาบรรณ' แล้วอ้างคำว่า 'เสรีภาพสื่อ' เพื่อทำข่าวตามใจผู้จ่ายเงิน ก็ไม่ควรเรียกตัวเองว่าสื่อ และควรเลิกอ้างว่ารักประเทศเมียนมา เพราะหากรักจริง ต้องช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ไม่ใช่ซ้ำเติมประเทศของเขา

ว่าแล้ว… มาต่อเรื่องข่าวของเราดีกว่าค่ะ ช่วงที่ผ่านมา มีข่าวลือหนาหูว่า 'มิน อ่อง หล่าย' อยากจะลาออก โดยแหล่งข่าวของเอย่าระบุว่า ครั้งนี้เขาเสียใจจริง ๆ จนสภาพจิตใจย่ำแย่ ส่งผลต่อสุขภาพที่แย่ลง และมีข่าวว่าอาจลาออกถาวรหลังการเลือกตั้ง และจะไม่รับตำแหน่งใด ๆ อีก

จริงๆ แล้วข่าวลือเรื่องลาออกนั้นมีมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว โดยมีรายงานว่าจีนเคยกดดันให้ 'มิน อ่อง หล่าย' ลาออก เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว แลกกับการที่จีนจะช่วยคืนเมืองล่าเสี้ยวและอีก 2 เมืองที่ถูกกลุ่มชาติพันธุ์ยึดไว้ แต่สุดท้าย แทนที่จะทำตาม จู่ ๆ ผู้นำเมียนมากลับไปร่วมมือกับปูติน ผู้นำรัสเซีย ทำให้จีนต้องหันกลับมาง้อ พร้อมอาสาจัดการคืนเมืองต่าง ๆ แทนแบบที่เมียนมาไม่ต้องออกแรงเลย

แต่ข่าวลาออกรอบนี้นักวิเคราะห์คาดการณ์มาเป็นสามสาย

อันแรกคือเป็นไปได้ที่ผู้นำเมียนมาจะลาออกแล้วลงเล่นการเมืองอย่างเต็มตัว

อันที่ 2 คือลาออกแล้วมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำ SAC เดี่ยวๆเลย เพื่อควบคุมรัฐบาลที่เลือกตั้งมาอีกที

อันสุดท้ายที่มีคนพม่าจำนวนไม่มากเชื่อว่ารอบนี้อาจจะลาออกจริงเพื่อไปพักแล้ว เพราะจากสถานการณ์แผ่นดินไหวนี้ได้สร้างความบอบช้ำในจิตใจของนายพล มิน อ่อง หล่าย ไม่น้อย และนี่อาจจะเป็นเวลาที่ดีที่ลงจากตำแหน่ง

มีคนพม่าในไทยบางคนเปรียบเปรยว่า 'มิน อ่อง หล่าย' คล้ายกับ 'ลุงตู่' ที่ขณะดำรงตำแหน่งก็ถูกวิจารณ์อย่างหนัก แต่หากวันหนึ่งไม่มีเขา คนอาจกลับมาคิดถึง และนั่นอาจเป็นบทเรียนของเมียนมาก็ได้... ดั่งเสียงเรียกร้องให้ลุงตู่กลับมาในโลกโซเชียลที่ดังขึ้นทุกวัน — แต่วันนั้นไม่มีอีกแล้ว เพราะเราไม่เห็นค่าของเขาในวันที่เขายังอยู่

สิงคโปร์สั่ง Meta บล็อกด่วน โพสต์เฟซบุ๊กชาวต่างชาติ 3 ราย หวั่นแทรกแซงการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้

รัฐบาลสิงคโปร์มีคำสั่งให้ Meta บริษัทแม่ของ Facebook ปิดกั้นการเข้าถึงโพสต์ของชาวต่างชาติ 3 คน ซึ่งรวมถึงนักการเมืองมาเลเซียและชาวออสเตรเลีย โดยกล่าวหาว่าโพสต์เหล่านี้เป็นความพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งทั่วไปที่จะจัดขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้

กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกิจการเลือกตั้งของสิงคโปร์ระบุว่า โพสต์ดังกล่าวเป็นภัยต่อความสามัคคีทางเชื้อชาติและศาสนา พร้อมเน้นย้ำว่าการกระทำของชาวต่างชาติในกรณีนี้เป็นการละเมิดกฎหมายโซเชียลมีเดียฉบับใหม่ ที่ห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติเผยแพร่เนื้อหาทางการเมืองในประเทศ

ผู้ใช้งานที่ถูกสั่งบล็อกประกอบด้วยรัฐมนตรีมาเลเซียจากพรรค PAS ชาวออสเตรเลียที่เคยถือสัญชาติสิงคโปร์ และผู้นำเยาวชน PAS ซึ่งแชร์โพสต์ที่วิจารณ์นักการเมืองมุสลิมในสิงคโปร์ 

คำสั่งดังกล่าวอ้างอิงจากพระราชบัญญัติความปลอดภัยออนไลน์ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2023 ซึ่งให้อำนาจหน่วยงานควบคุมสื่อในการสั่งลบเนื้อหาที่เป็นอันตราย รวมถึงโพสต์ที่ปลุกปั่นความขัดแย้งทางชาติพันธุ์หรือศาสนา และกฎหมายอื่น ๆ ที่สิงคโปร์บังคับใช้เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลจากต่างชาติ

แม้รัฐบาลจะอ้างถึงการปกป้องเอกภาพของชาติ แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนและนักวิเคราะห์บางฝ่ายชี้ว่า การบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้อาจเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็น และสะท้อนความหวาดระแวงของรัฐบาลต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากต่างชาติในโลกออนไลน์

‘เอกนัฏ’ เดินหน้าสอยยกแก๊งลอบนำเข้า ‘ฝุ่นแดง’ ส่งทีมบุกจับ ‘หัวจงฯ’ ซ้ำ หลังพบเส้นเงินโยง ‘ซินเคอหยวน’

‘เอกนัฏ’ ส่ง ‘ทีมสุดซอย’ บุกจับ ‘หัวจงฯ’ ซ้ำ หลังเจอเส้นทางการเงินจ่ายค่า ‘ฝุ่นแดง’ โผล่ ‘ซิน เคอ หยวน’ ยอดเกิน 111.8 ล้านบาท พบโยง ‘เค เอ็ม ซี’ บริษัทนำเข้ากากอุตฯ รายใหญ่ที่เคยพบการปลอมเอกสาร ผลกรรมการสอบข้อเท็จจริงออกแล้ว ฮึ่ม! ขรก. มีเอี่ยวฟันไม่เลี้ยงแน่ ‘ฐิติภัสร์’ เผยเจ้าหน้าที่แจ้งความเอาผิด บริษัทหัวจงฯ เตรียมรับโทษจำคุก คาด ‘แก๊งศูนย์เหรียญ’ ทำเป็นขบวนการ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าชุดปฏิบัติการตรวจสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ ‘ทีมสุดซอย’ พร้อมด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) นำหมายค้นจากศาลจังหวัดสมุทรสาคร เข้าตรวจค้น บริษัท หัวจง อุตสาหกรรม จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.คลองมะเดื่อ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับการลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงจากต่างประเทศ ลักษณะเป็นขบวนการในเครือข่ายธุรกิจรีไซเคิลศูนย์เหรียญ

“ปฏิบัติการตรวจสุดซอยครั้งนี้ เป็นการขยายผลจากบริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด ที่มีการขายฝุ่นแดงไปยังบริษัท หัวจง อุตสาหกรรม จำกัด และจากการตรวจสอบในระบบคอมพิวเตอร์ พบการจ่ายเงินเกินกว่ารายการจริงมากถึง 111.8 ล้านบาท และยังพบเอกสารข้อมูลการนำเข้าฝุ่นแดงจากต่างประเทศหลายรายการ เชื่อมโยงกับ บริษัท เค เอ็ม ซี 1953 จำกัด จ.ปทุมธานี ผู้ประกอบกิจการนำเข้า-ส่งออก ซึ่งถูกดำเนินคดีข้อหาลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงก่อนหน้านี้ด้วย” นายเอกนัฏ ระบุ

นายเอกนัฏ กล่าวด้วยว่า หลังจากช่วงเดือนมีนาคม 68 ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีพบหลักฐานเอกสารประกอบการนำเข้าฝุ่นแดงของ บริษัท เค เอ็ม ซี 1953 จำกัด ถึง กรมศุลกากรนั้น เป็นเอกสารที่ออกจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแห่งหนึ่ง ขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้รายงานกลับมายังตนเรียบร้อยแล้ว และพบว่ามีข้าราชการบางรายเข้าไปมีส่วนร่วมการกระทำผิดจริง จึงได้สั่งให้สอบทางวินัยอย่างเด็ดขาดและจะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีอาญากับข้าราชการที่กระทำความผิดต่อไป

น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลที่สืบค้นได้จากคอมพิวเตอร์ฝ่ายบัญชีของบริษัท หัวจงฯ พบว่า มีรายการชำระค่าฝุ่นแดงให้กับ บริษัท ซิน เคอ หยวนฯ ซึ่งมีความผิดปกติ เพราะยอดชำระเกินไปจากมูลค่าจริงถึง 111,862,833.30 บาท เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดอายัดเอกสาร คอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์กล้องวงจรปิด โทรศัพท์มือถือ ของบริษัท หัว จงฯ  เพื่อนำไปตรวจสอบและขยายผลเครือข่าย รวมถึงเส้นทางการเงินที่อาจมีความเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายธุรกิจรีไซเคิลศูนย์เหรียญ 

นอกจากนี้ยังพบเอกสารและข้อมูลการนำเข้าฝุ่นแดงจากต่างประเทศหลายรายการเชื่อมโยงกับ บริษัท เค เอ็ม ซีฯ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ที่ก่อนหน้านี้มีการแจ้งความเอาผิด โดยทีมสุดซอยได้เข้าตรวจค้น หลังพบการกระทำผิดปลอมแปลงเอกสารราชการเพื่อลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงเข้ามาภายในประเทศกว่า 10,262 ตัน ในช่วงเดือน ส.ค. 67 ถึงช่วงต้นปี 68 เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้อายัดฝุ่นแดงจำนวน 7,000 ตัน และอายัดวัตถุอันตรายต้องสงสัยอีก 200 ตัน นำส่งกองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน กรอ. เพื่อตรวจสอบและเป็นข้อมูลในการดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีบริษัท หัวจงฯ และ นายยี่หัน หวัง ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทฯ ฐานครอบครองวัตถุอันตราย และตรวจสอบความผิดฐานลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงซึ่งถือเป็นวัตถุอันตรายเพิ่มเติมอีกด้วย

“ความเชื่อมโยงลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงจากต่างประเทศกับบริษัท เค เอ็ม ซีฯ รวมไปถึงธุรกรรมที่ผิดปกติกับบริษัท ซิน เคอ หยวนฯ ชี้ให้เห็นว่า ทำกันเป็นขบวนการในกลุ่มธุรกิจศูนย์เหรียญที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ไม่เข็ดหลาบ แม้จะอยู่ระหว่างถูกลงโทษระงับการประกอบกิจการไปแล้ว ที่สำคัญยังไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันอาจจะเกิดขึ้นจากวัตถุอันตรายที่อยู่ในความครอบครองด้วย” น.ส.ฐิติภัสร์ ระบุ

มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.)จัดประชุมเสวนา เรื่อง “สรุปบทเรียนและก้าวต่อไปของกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์และกาสิโน”

วงเสวนา สรุปบทเรียนควบคุมแอลกอฮอล์และผลักดันตั้งกาสิโน แฉภาคธุรกิจและคนขายเหล้าเอาเปรียบ ย้ำชัดกฎหมายผ่านสภาผู้แทนฯแต่ยังไม่ผ่านวุฒิสภาเจ้าหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย เผยประชาชน 8 กลุ่มต้านกาสิโน เพราะกระทบ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ยืนยันเดินหน้าคัดค้านหาพลังหนุนจากคนรุ่นใหม่ ส่วน บอร์ด สสส.ชี้ อาจส่งผลคนดื่มเหล้ามากขึ้น ภาคีต้องปรับกลยุทธ์ในการทำงานและร่วมมือกันมากขึ้น สื่อมวลชนพร้อมให้ปัญญากับสังคม            

(30 เม.ย.68) ณ ห้อง บุษบงกช บี ชั้น 2 โรงแรมรอยัลริเวอร์  เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) , เครือข่ายสื่อมวลชนขับเคลื่อนสุขภาวะเพื่อสังคมไทยยั่งยืน (สสสย.) โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  จัดประชุมเสวนา เรื่อง “สรุปบทเรียนและก้าวต่อไปของกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์และกาสิโน” โดยมี นายจิระ ห้องสำเริง สื่อมวลชนอาวุโส เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้านการสื่อสารมวลชน  กล่าวเปิดการเสวนาว่า ช่วงนี้ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของภาคีภาคประชาสังคมที่ทำงานรณรงค์และขับเคลื่อนผลักดันนโยบายและกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม การที่ฝ่ายการเมืองเร่งรัดผลักดันแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แก้ไขเนื้อหาหลายประเด็นจะทำให้ความชุกในการดื่มของประชาชนมากขึ้น ส่งผลให้ภาคีต้องปรับแนวทางในการทำงานใหม่ เช่นเดียวกับการที่รัฐบาลพยายามผลักดันเสนอกฎหมายการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโนรวมอยู่ด้วยนั้นได้เกิดปรากฎการณ์ที่ไม่ค่อยได้เห็นมากนักที่ทุกฝ่ายในสังคมได้แสดงพลังคัดค้านแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคก็แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยจนทำให้รัฐบาลต้องประกาศถอยชั่วคราว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเลิกเสนอกฎหมายฉบับนี้เพราะคนในรัฐบาลยังยืนยันว่าจะต้องอธิบายสื่อสารให้คนเข้าใจมากขึ้นก่อน ดังนั้นภาคีปัจจัยเสี่ยงทั้งแอลกอฮอล์ การพนัน จำเป็นต้องร่วมมือกับสื่อสารมวลชนในการให้ความรู้สร้างปัญญาให้กับสังคมและสะท้อนความเห็นของผู้คนทั้งประเทศให้ผู้กำหนดนโยบายได้รับรู้  

นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า  ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 สภาผู้แทนราษฎรแล้วขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา คาดว่าจะกลับเข้ามาพิจารณาในวาระ 2-3 ของ สว.ในสมัยประชุมหน้าซึ่งแนวโน้มอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในร่างที่ผ่านสภาผู้แทนฯ แล้ว เช่น กำหนดให้มีผู้แทนผู้ผลิต นำเข้า ขาย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนึ่งคนเป็นกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  แต่หากมีวาระพิจารณาที่มีส่วนได้เสียต้องออกจากที่ประชุม 

ซึ่งจุดนี้ในกฎหมายเดิมไม่มี  ส่วนคณะกรรมการควบคุมฯ จังหวัดและกทม.มีการเพิ่มผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนและเพิ่มนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นรองประธานคณะกรรมการจังหวัดด้วย นอกจากนี้มีการผ่อนปรนให้ขายและดื่มได้ในสถานที่ราชการได้ กรณีจัดกิจกรรมพิเศษโดยต้องขออนุญาตเป็นครั้งคราว มีการยกเลิกประกาศคณะปฎิวัติ ฉบันที่ 253 เรื่องกำหนดเวลาขายสองช่วงเวลา คือ 11.00-14.00  และ 17.00-24.00 น. แม้จะยกเลิกประกาศฉบับนี้ไปแล้วแต่ประกาศสำนักนายกฯที่กำหนดเวลาขายไว้สองช่วงเวลาเช่นกันยังคงอยู่ เรื่องนี้เป็นการเข้าใจผิดคิดว่ายกเลิกแล้ว ส่วนการห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีและคนเมา มีการตรวจบัตร  ตรวจอาการคนเมา  และเพิ่มความรับผิดของผู้ขายหากรู้ว่าเป็นเด็กหรือคนเมาแล้วยังขายให้จนไปเกิดความเสียหายต่อชีวิตร่างกายทรัพย์สินผู้อื่นผู้ขายต้องรับผิดทางแพ่งด้วย เพิ่มโทษปรับที่หนักขึ้นจาก 20,000 เป็น 100,000 บาทอีกด้วย  

ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์กล่าวอีกว่า มีการเพิ่มเติมให้ขายโดยเครื่องขายอัตโนมัติได้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดเช่น ตรวจอายุผู้ซื้อ ช่วงเวลา สถานที่ตั้ง และดูอาการเมาของผู้ซื้อด้วย ส่วนในเรื่องการโฆษณาโดยหลักการบุคคลทั่วไปสามารถแสดงผลิตภัณฑ์ได้หากไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ทางการค้า การโฆษณาทำได้แค่ให้ความรู้ข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น ไม่ใช่โฆษณาอะไรก็ได้ เรื่องนี้ต้องไปออกกฎหมายลูกอีกว่าจะคุมเข้มแค่ไหน ส่วนเรื่องตราเสมือนที่เคยใช้กันเพื่อหลบเลี่ยงกฏหมาย เช่นน้ำดื่ม โซดา มีการห้ามการโฆษณาที่ทำให้เข้าใจหรือสื่อไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องโฆษณาแบบตรงไปตรงมาเท่านั้น เพิ่มอำนาจตักเตือนให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในความผิดครั้งแรกที่ไม่ร้ายแรง มีการปรับเป็นพินัย กรณีความผิดเล็กน้อย รวมถึงการเพิ่มอำนาจให้ปิดสถานที่ ระงับการเผยแพร่สื่อโฆษณา พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขายหากพบความผิดตามกฎหมายนี้ ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาพบว่า มีธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้านเหล้าผับบาร์ ฉวยโอกาสทำผิดกฎหมาย ซี่งเราได้รวบรวมข้อมูลเตรียมไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงขอย้ำว่ากฎหมายฉบับเดิมยังบังคับใช้อยู่ เจ้าหน้าที่รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้จริงจัง หลังจากนี้ ภายในระยะเวลา 1 ปี หากฎหมายบังคับใช้แล้ว จะต้องไปจัดทำกฎหมายระดับรองอีกจำนวน 38 ฉบับ

นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน (มรพ.) กล่าวความคืบหน้าการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ที่มีกาสิโนรวมอยู่ด้วยว่าสิ่งที่ทั้งรัฐบาลและประชาชนต่างต้องเรียนรู้และตระหนักในช่วงเหตุการณ์ที่ผ่านมาคือคนที่ออกมาค้านจำนวนไม่น้อยเป็นพลังเงียบที่มีอยู่จริง และจะแสดงพลังเมื่อถึงเวลาอันสมควร สรุปได้ว่ามีประมาณ 8 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มคปท. ศปปส. กองทัพธรรม ซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ต้องการขับไล่รัฐบาล 2. เครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดยมูลนิธิรณรงค์หยุดพนันและ 100 องค์กร ซึ่งมีมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะรวมอยู่ด้วย มีจุดยืนคือให้มีมาตรการและกลไกที่ชัดเจนในการควบคุม แก้ปัญหาปัญหาและลดผลกระทบทางสังคม   3.กลุ่มแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข เช่น ชมรมแพทย์อาวุโสและบุคลากรทางการแพทย์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ กลุ่มแพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ  

4. คณาจารย์และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย เช่น 99 นักวิชาการที่เคยคัดค้านเรื่องนี้เมื่อปีที่แล้ว 5.องค์กรด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเช่นสภาการศึกษาคาทอลิคแห่งประเทศไทย  สภาคริสตจักรในประเทศไทย พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนใต้ กับเครือข่ายสภาวัฒนธรรมทั่วประเทศ 6. ภาคธุรกิจ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวบางจังหวัด 7.เครือข่ายแรงงาน   สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย และ 8.กลุ่มด้านนิติบัญญัติ อดีตสมาชิกวุฒิสภา 189 คน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 102 คน ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 2550 ที่สำคัญหลายพรรคการเมืองแสดงจุดยืนชัดเจน เช่น พรรคไทยสร้างไทย พลังประชารัฐ ประชาชาติ ส่วนพรรคประชาชน ภูมิใจไทยยังไม่แสดงท่าทีชัดเจน ที่น่าสนใจคือวุฒิสภาจำนวนมากเริ่มมีท่าทีคัดค้านมากขึ้น

เลขาธิการมรพ.กล่าวต่อว่าเหตุผลผู้ที่คัดค้านเพราะเห็นผลกระทบ 3 ด้านคือด้านสังคม เช่น ปัญหาอาชญากรรม ธุรกิจสีเทา และความปลอดภัยในสังคม ผลกระทบทางสุขภาพจากการเสพติดพนัน ความเครียด ผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ด้านเศรษฐกิจเห็นว่าไม่มีความไม่จำเป็นต้องมีกาสิโนเพราะประเทศไทยมีสิ่งดีๆอยู่มากมาย ความไม่คุ้มค่าของการลงทุน เป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจขยายวงกว้างมากขึ้น ด้านการเมือง เช่นไม่ได้อยู่ในนโยบายที่หาเสียงในช่วงเลือกตั้ง ร่างกฎหมายขาดความรัดกุม ความไม่เชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมายและการทุจริตคอรัปชั่น ที่ผ่านมาภาคประชาชนพยายามสื่อสารให้ข้อมูลมาตลอดทั้งบทเรียนจากต่างประเทศ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการมีกาสิโน  

อย่างไรก็ตามพบว่าข้อมูลข่าวสารยังคงกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลางประชาชนในต่างจังหวัดยังรับรู้เรื่องนี้มากนัก คนที่ออกมาคัดค้านก็เป็นคนรุ่นเก่าเป็นหลักส่วนเยาวชนคนรุ่นใหม่ยังออกมาไม่มากนัก สิ่งที่จะทำต่อไปของภาคประชาชนคือ เรียกร้องให้ทำประชามติ ขณะนี้มีรายชื่อสนับสนุนแล้วประมาณ 55,000 รายชื่อ การเปิดพื้นที่สานเสวนารับฟังความเห็นคนรุ่นใหม่ การสานพลังทุกกลุ่มที่ออกมาคัดค้านในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการศึกษาช่องทางในการฟ้องร้องตามกฎหมาย หากรัฐบาลดึงดันที่จะเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้ต่อ

ด้านสื่อมวลชนที่เข้าร่วมการเสวนา เห็นด้วยว่า จะต้องเผยแพร่ข้อมูลความคืบหน้าของทั้งสองประเด็นให้สังคมส่วนใหญ่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสื่อสารและหาเสียงสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ ให้แสดงบทบาทและมีส่วนร่วมในการคัดค้านและสะท้อนความคิดเห็นไปสู่รัฐบาลได้มากขึ้น ส่วนนายอภิวัชร เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ได้สรุปว่า ทาง มสส. และ สสสย. พร้อมที่จะมีบทบาทในการสนับสนุนการทำงานของภาคีแอลกอฮอล์ และการพนันในการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#20 'ทำไมสหรัฐฯ จึงไม่ชนะในสงครามอินโดจีน'

สงครามอินโดจีนที่สหรัฐฯ เข้ามามีส่วนร่วมคงต้องใช้คำว่า “ไม่ชนะ” แทนคำว่า “พ่ายแพ้” เพราะอันที่จริงแล้วศักยภาพของกองทัพอเมริกันและพันธมิตรสามารถเอาชนะสงครามอินโดจีนได้ หากเป็นการรบตามแบบ และไม่คำนึงถึงปัญหาอุปสรรคอันเกิดจากข้อจำกัดต่าง ๆ ตลอดจนการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศของสหรัฐฯ เอง รวมทั้งการไม่สามารถเอาชนะทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และจิตวิทยาภายในเวียตนามทั้งเหนือและใต้อีกด้วย สงครามเวียตนามของสหรัฐฯ ผ่านการบริหารประเทศโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถึง 5 คน ได้แก่ Truman, Eisenhower, Kennedy, Johnson และ Nixon

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หน่วย OSS (ต้นกำเนิดของ CIA ในปัจจุบัน) ได้ขบวนการเวียตมินห์ (ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นกองทัพประชาชนเวียตนาม) ซึ่งโฮจินมินห์เป็นผู้ก่อตั้งเป็นพันธมิตรในการสู้รบกับญี่ปุ่น ด้วยการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อให้เวียตมินห์ช่วยเหลือนักบินอเมริกันที่ถูกยิงตกและหาข่าวให้กับ OSS หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงในปี 1945 ความผิดพลาดของสหรัฐฯ ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1946 เมื่อประธานาธิบดี Truman ได้ปฏิเสธคำขอความช่วยเหลือของโฮจิมินห์ในการขับไล่ฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคม โดยเลือกที่จะสนับสนุนฝรั่งเศสแทน ทั้ง ๆ ที่ตัวโฮจิมินห์เองรู้สึกขอบคุณและชื่นชมสหรัฐฯ ที่ช่วยขบวนการเวียตมินห์จนสามารถขับไล่ญี่ปุ่นจากการยึดครองเวียตนามต่อจากฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมเดิม อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สหรัฐฯไม่สามารถเอาชนะทั้ง “จิตใจและแนวคิด” ของชาวเวียตนามได้ ซ้ำร้ายผลจากสงครามเย็นทำให้สังคมอเมริกันโดยรวมถูกกระแสต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าครอบงำ จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับเวียตนามเหนือไม่เป็นไปด้วยดีตาม แล้วก็เข้าสู่สงครามในที่สุด

ประธานาธิบดี Harry S. Truman จึงเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ทำให้สหรัฐฯ เข้าไปเกี่ยวข้องกับเวียตนาม ในปี 1945 เขาได้รับคำเตือนจากเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศด้านกิจการเอเชีย ภายหลังจากการเข้ารับตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดี Franklin Delano Roosevelt (ผู้ซึ่งต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมหรือการล่าอาณานิคม) ซึ่งเสียชีวิตในตำแหน่ง ว่า การกลับมาปกครองเวียตนามของฝรั่งเศสจะนำไปสู่ "การนองเลือดและความไม่สงบ" แต่ประธานาธิบดี Truman กลับยอมรับต่อการกลับเข้าปกครองอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศสอีกครั้ง ด้วยหวังว่า เรื่องดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการเกื้อหนุนเศรษฐกิจและเพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับฝรั่งเศส (ซึ่งพ่ายแพ้ต่อเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างหมดรูป) อีกครั้งหนึ่ง ไม่ช้าฝรั่งเศสก็กลับมาปกครองเวียตนามพร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์จากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และเปิดฉากสู้รบกับกองทัพประชาชนเวียตนามหรือเวียตมินห์ของของโฮจิมินห์ในทันที โดยแรก ๆ นั้น สหรัฐอเมริกายังคงดำรงความเป็นกลางอย่างเป็นทางการ หลีกเลี่ยงการติดต่อใด ๆ กับโฮจิมินห์ อย่างไรก็ตามต่อมาในปี 1947 ประธานาธิบดี Truman ยืนยันว่านโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ คือการช่วยเหลือประเทศที่ยืนหยัดต่อการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ สงครามเกาหลีในปี 1950 รวมถึงความช่วยเหลือจากจีนและสหภาพโซเวียตต่อเวียตหมินห์ทำให้ประธานาธิบดี Truman กลับมาพิจารณาและให้จัดเวียตนามเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการทำสงครามเย็น ด้วยความกลัวว่า ที่สุดเวียตนามจะกลายเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ เขาได้ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์พร้อมกับที่ปรึกษาทางทหารจำนวน 35 นาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดความช่วยเหลือมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ มอบให้แก่ฝรั่งเศส และยิ่งถลำลึกมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปลายสมัยที่สองของประธานาธิบดี Truman สหรัฐฯ ได้ทุ่มงบมากกว่าหนึ่งในสามของค่าใช้จ่ายในการทำสงครามในเวียตนามให้กับฝรั่งเศส และในที่สุดได้เพิ่มจำนวนเงินงบประมาณเป็นประมาณ 80% ของค่าใช้จ่ายในการทำสงคราม

ประธานาธิบดี Dwight D. Eisenhower เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 2 ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเวียตนาม ในปี 1954 ฝรั่งเศสประสบความพ่ายแพ้ชนิดหมดรูปที่เดียนเบียนฟู ทำให้ความพยามในการครอบครองอาณานิคมของพวกเขาสิ้นสุดลง เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บางคนได้เสนอให้ทำการโจมตีทางอากาศ รวมถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อรักษาสถานภาพของฝรั่งเศส แต่ประธานาธิบดี Eisenhower ปฏิเสธ เพราะสงครามเกาหลีพึ่งจะสงบลงได้ไม่นานนัก ประธานาธิบดี Eisenhower ได้เขียนไว้ในบันทึกของเขา ว่า “ผมเชื่อมั่นว่าจะไม่มีชัยชนะทางทหารเกิดขึ้นเหมือนอดีตอีกแล้ว” แต่ด้วยเขาเป็นผู้ที่เชื่อใน "ทฤษฎีโดมิโน" ซึ่งมีแนวคิดที่ว่า หากประเทศใดประเทศหนึ่งพ่ายแพ้ต่อลัทธิคอมมิวนิสต์แล้ว จะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามมา จึงปฏิเสธที่ปล่อยเวียตนามโดยสิ้นเชิง ที่สุดเวียตนามถูกแบ่งเป็นสองประเทศโดยมีโฮจินมินห์เป็นผู้นำเวียตนามเหนือ และ Ngo Dinh Diem ผู้ซึ่งเป็นพวกนิยมชาติตะวันตกได้รับการสนับสนุนให้เป็นประธานาธิบดีของเวียตนามใต้ แต่เขาเป็นชาวเวียตนามเชื้อสายจีนจากตระกูลที่มั่งคั่ง ซ้ำยังเป็นแคทอลิก ในขณะที่ชาวเวียตนามใต้ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธและมีฐานะยากจน การเลือกตั้งซึ่งควรจะเกิดขึ้นเพื่อรวมเวียตนามเหนือและใต้เข้าด้วยกัน แต่ถูกประธานาธิบดี Diem หยุดไว้ด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ด้วยเกรงว่า โฮจินมินห์จะชนะการเลือกตั้งและมีความชอบธรรมที่จะรวมเวียตนามเหนือและใต้เข้าด้วยกัน

แม้ว่า ประธานาธิบดี Diem จะถูกขุดคุ้ยตรวจสอบและประจักษ์ชัดว่า เป็นพวกเผด็จการและทุจริตโกงกิน แต่ประธานาธิบดี Eisenhower ก็เรียกเขาว่า "รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด" และ "ตัวอย่างของผู้คนที่เกลียดชังทรราชและรักเสรีภาพ" ที่สำคัญกว่านั้นเขายังได้จัดหาเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ ประธานาธิบดี Diem โดยมอบเงินช่วยเหลือจำนวนมากในระหว่างปี 1955 ถึง 1960 และเพิ่มจำนวนที่ปรึกษาทางทหารเพิ่มเป็น 1,000 นาย เมื่อประธานาธิบดี Eisenhower หมดวาระการดำรงตำแหน่ง การสู้รบอย่างเปิดเผยระหว่างกองกำลังทหารของประธานาธิบดี Diem กับเวียตกง ในเวียตนามใต้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเวียตนามเหนือก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 3 ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเวียตนามคือ ประธานาธิบดี John F. Kennedy หลังจากไปเยือนเวียตนามในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 1951 เขาได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อสาธารณชนที่สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือแก่ฝรั่งเศสในเวียตนาม โดยเขากล่าวว่า การกระทำนั้น “เป็นการท้าทายความเป็นชาตินิยมโดยรู้ล่วงหน้าว่าจะล้มเหลวอยู่แล้ว” และอีก 3 ปีต่อมาเขาได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า “ผมเชื่อในความเชื่อที่ว่า ไม่มีความช่วยเหลือทางทหารของอเมริกันจำนวนมาก…จะสามารถพิชิตศัตรูได้ทุกที่ในเวลาเดียวกัน” ท่าทีของเขาเปลี่ยนไปเมื่อเขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1960 ด้วยความกังวลว่า จะถูกตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี Kennedy ได้จัดหาเครื่องบินขับไล่ไอพ่น เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินลำเลียง เรือลาดตระเวนลำน้ำ และอาวุธยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ให้กับเวียตนามใต้ นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ใช้ Napalm และ สารพิษ เช่น ฝนเหลือง (Agent Orange) และเพิ่มที่ปรึกษาทางทหารเป็น 16,000 คน บางนายมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการรบอย่างลับ ๆ ต่อมาประธานาธิบดี Diem ผู้ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนถูกรัฐประหารและสังหารในปี 1963 เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ประธานาธิบดี Kennedy จะถูกลอบสังหาร โดยก่อนหน้าที่เขาจะเสียชีวิตไม่นาน เขาเคยบอกกับคณะทำงานของเขาว่า เขาอาจจะถอนกำลังและการสนับสนุนออกจากเวียตนามภายหลังจากการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่า เขาจะทำเช่นนั้นจริงหรือไม่

ประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 4 ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเวียตนาม หลังการลอบสังหารของประธานาธิบดี Kennedy การมีส่วนร่วมในสงครามเวียตนามของสหรัฐฯ ยังค่อนข้างจำกัด แต่สิ่งนั้นได้เปลี่ยนไปในเดือนสิงหาคม 1964 “เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ย” ทำให้รัฐสภาอเมริกันมอบอำนาจในการทำสงครามอย่างไม่จำกัดให้กับประธานาธิบดี Johnson ผู้ซึ่งพึ่งเข้าดำรงตำแหน่ง เพราะตระหนักว่า รัฐบาลและกองทัพเวียตนามใต้กำลังจะล่มสลาย ประธานาธิบดี Johnson ได้ส่งกำลังรบสหรัฐเข้าสู่สนามรบในเวียตนามเป็นครั้งแรกในต้นปี 1965 และให้มีการทิ้งระเบิดขนานใหญ่ในชื่อรหัสว่า Operation Rolling Thunder ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวดำเนินต่อเนื่องมาอีกหลายปี ในไม่ช้าร่างรัฐบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสงครามเวียตนามใต้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย พร้อมกับการต่อต้านร่างกฎหมายเหล่านั้น ในปี 1967 มีทหารอเมริกันราว 500,000 นายในเวียตนามใต้ และในปีเดียวกันนั้นมีก็การประท้วงต่อต้านสงครามครั้งใหญ่ในเมืองต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ต่างยืนยันกับประธานาธิบดี Johnson ว่า ชัยชนะกำลังใกล้เข้ามา แต่ต่อมาเมื่อเอกสารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ถูกเปิดเผยในภายหลังกลายเป็นว่า ความคิดเห็นเหล่านี้ทำให้เข้าใจผิดอย่างมากมาย ในความเป็นจริงแล้วการสู้รบในเวียตนามใต้นั้นได้กลายเป็นหลุมใหญ่และลึกไปเสียแล้ว สงครามเวียตนามกลายเป็นเป้าโจมตีอย่างหนัก และประธานาธิบดี Johnson ก็กลายเป็นพวกกระหายสงคราม ในที่สุดประธานาธิบดี Johnson ก็ตัดสินใจที่จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 1968

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 5 คนสุดท้ายที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเวียตนามคือ ประธานาธิบดี Richard Nixon ในการรณรงค์ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี Nixon สัญญาว่า จะยุติสงครามเวียตนาม อย่างไรก็ตามภายหลังปรากฏว่า มีพยายามขัดขวางการเจรจาสันติภาพเพื่อทำให้คะแนนเสียงของเขาดีขึ้น ในฐานะประธานาธิบดี ประธานาธิบดี Nixon ค่อยๆ ทยอยถอนทหารอเมริกันออกจากเวียตนาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “Vietnamization” แต่เขาก็เพิ่มความขัดแย้งในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การอนุมัติการโจมตีทางอากาศอย่างลับ ๆ ในกัมพูชาในปี 1969 ต่อมาส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้าไปยังกัมพูชาในปี 1970 และอนุมัติการบุกลาวในปี 1971 ทั้งหมดล้วนแต่เป็นความพยายามที่ไร้ประโยชน์อย่างยิ่งในการทำลายเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธปัจจัยกองกำลังเวียตกง นอกจากนั้นแล้วประธานาธิบดี Nixon ยังสั่งให้มีการโจมตีทางอากาศที่รุนแรงที่สุดในสงคราม ซึ่งส่งผลเวียตนามเหนือถูกทิ้งระเบิดถึง 36,000 ตัน ในช่วงปลายปี 1972 ในเดือนมกราคมปี 1973 เมื่อกรณีอื้อฉาว Watergate ถูกเปิดเผย ประธานาธิบดี Nixon จึงยุติบทบาทการมีส่วนร่วมโดยตรงของสหรัฐฯ ในเวียตนาม โดยกล่าวว่า ปฏิบัติการ "สันติภาพอย่างมีเกียรติ" ประสบความสำเร็จ แม้จะปรากฏว่า การสู้รบในเวียตนามยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปี 1975 กระทั่งกองกำลังทหารเวียตนามเหนือและกองกำลังเวียตกงสามารถยึดกรุงไซ่ง่อนได้เมื่อ 30 เมษายน 1975 เมืองหลวงของเวียตนามใต้ และรวมประเทศเข้าด้วยกันภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนาม

สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในอินโดจีนด้วยเหตุผลคือ การป้องกันการแผ่อำนาจของลัทธิคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต และสหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ โดยยอมละเลยอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยของตนด้วยการสนับสนุนให้กองทัพที่เป็นพวกเป็นฝ่ายที่สนับสนุนและยอมทำตามสหรัฐฯ ทำการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้ง นี้คือ อีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ พ่ายแพ้ในภูมิภาคนี้ด้วยผู้นำทางทหารเหล่านั้นเมื่อยึดอำนาจสำเร็จแล้วแทนที่จะพัฒนาชาติบ้านเมือง กลับกลายเป็นเผด็จการทรราชทำการทุจริตโกงกินคอร์รัปชันกันอย่างมากมายมหาศาล เมื่อนายทหารใหญ่ ๆ กลายเป็นเผด็จการทรราชทุจริตโกงกินแล้ว คุณภาพของกองทัพก็ลดลงทั้งวินัย ขวัญกำลังใจ และความสามารถในการรบ อุดมการณ์รักชาติกลายเป็นอุดมกินแสวงหาผลประโยชน์เงินทองในหมู่ทหารทุกระดับชั้น เมื่อมีความสุขสบาย ความรักตัวกลัวตายจึงเกิด อีกทั้งความช่วยเหลือที่ได้รับจากสหรัฐฯ นั้นมากมายมหาศาล ในขณะที่กองกำลังคอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ยังคงยึดถืออุดมการณ์รักชาติ เพื่อชาติ อยู่เช่นเดิม

เมื่อเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอินโดจีนถูกเผยแพร่ตีแผ่ในสื่อต่าง ๆ ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะโทรทัศน์ ชาวอเมริกันได้เห็นปฏิบัติการรบ ทำให้ส่วนหนึ่งเกิดความไม่พอใจจึงการเกิดการประท้วงต่อต้านสงครามอยู่ตามมหาวิทยาลัยและตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ เด็กหนุ่มอเมริกันซึ่งแต่เดิมสหรัฐฯ ใช้ระบบการเกณฑ์ทหารต่างก็หวาดกลัวจึงพากันต่อต้านและอพยพหลบหนีออกจากประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเกณฑ์ไปรบในเวียตนาม ความเบื่อหน่ายต่อสงครามซึ่งสหรัฐฯ เข้าร่วมตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองต่อเนื่องมา ทั้งอเมริกันชนไม่เห็นประโยชน์ในการทำสงครามเวียตนาม ทั้งสูญเสียชีวิตทหารอเมริกันเกือบหกหมื่นนาย รัฐบาลสหรัฐฯ จึงยอมเจรจาสงบศึกและทยอยถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกจากเวียตนามในปี 1973 แต่ยังคงให้การสนับสนุนรัฐบาลเวียตนามใต้ด้วยการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมหาศาล โดยหวังว่า กองทัพเวียตนามใต้จะนำประชาชนจับอาวุธต่อสู้กับกองทัพเวียตนามเหนือและกองกำลังเวียตกง ด้วยความผิดพลาดจากการทำให้กองทัพเวียตนามใต้เสพติดการทุจริตคอร์รัปชันโกงกิน ใช้อำนาจในการรังแกประชาชนจนขาดความยกย่อง นับถือ และเชื่อมั่น จึงไม่มีใครร่วมที่จะต่อสู้เลย ซ้ำร้ายทหารเวียตนามใต้เองเมื่อขาดวินัย ขวัญกำลังใจต่ำมาก ๆ จึงพากันถอดเครื่องแบบหนีทัพ ที่สุดแล้วอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายมหาศาลเหล่านั้นก็ตกอยู่มือของกองทัพเวียตนามเหนือ (กองทัพเวียดนามในปัจจุบัน) แม้จะสูญเสียไปในการรบกับจีนในสงครามจีนสั่งสอนเวียตนาม สงครามในกัมพูชา รบกับกองทัพไทย ไปเป็นจำนวนมากแล้ว แต่ก็ยังคงมีเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมากและบางส่วนยังไม่เคยได้นำออกมาใช้งานเลย

การที่สหรัฐฯ ไม่สามารถเอาชนะในสงครามครั้งนั้นได้ ด้วยเพราะการบริหารที่ผิดพลาดทั้งการทหารและการเมือง เมื่อบริหารร่วมกันในการทำสงครามเวียตนามแล้วยิ่งผิดพลาดจนไปกันใหญ่ แม้จนปัจจุบันกองทัพสหรัฐฯ จะยังคงเป็นกองทัพอันดับหนึ่งของโลกก็ตาม หากแต่พิจารณาถึงสงครามที่สงครามต่าง ๆ ในระยะหลังที่กองทัพสหรัฐฯ เข้าไปมีบทบาทนั้น กองทัพสหรัฐฯ จะถูกมองในบทบาทของผู้รุกรานมากกว่าบทบาทของผู้ช่วยเหลือหรือผู้ปลดปล่อย ภาพปรากฏจึงกลายเป็นศัตรูมากกว่ามิตร เปรียบเหมือนกับกองทัพสหรัฐฯ นั้นใช้พระเดช (อำนาจ) มากกว่าพระคุณ (ไมตรีจิต-มิตรภาพ-จริงใจ-ช่วยเหลือ-ห่วงใย-ใส่ใจ) ความสำเร็จในการทำสงครามในมุมมองของผู้เขียนคือ การบริหารพระเดชและพระคุณให้เกิดความเหมาะสมสมดุล ไม่ใช้อย่างใดอย่างหนึ่งมากหรือน้อยจนเกินไป แต่ใช้ทั้งสองอย่างให้เหมาะสม ตามแต่บริบทของพื้นที่และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานั้น ๆ “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” (เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป) คือ สัจธรรมที่มนุษยชาติต้องประสบพบเจอ ไม่เว้นแม้แต่ สหรัฐอเมริกา ประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ยี่สิบ ซึ่งเราท่านน่าจะมีโอกาสได้เห็นความเป็นไปที่เกิดขึ้นในเวลาต่อไป

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

‘ทรัมป์’ เผย ‘ปูติน’ พร้อมยุติสงครามกับยูเครน แต่โยนความผิดให้ ‘ไบเดน’ ทำสถานการณ์เลวร้ายตั้งแต่เริ่มต้น

(30 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แสดงความเต็มใจที่จะยุติความขัดแย้งในยูเครน ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ABC News ในวาระดำรงตำแหน่งครบ 100 วัน

ทรัมป์กล่าวว่า ปูตินอาจกำลังส่งสัญญาณบางอย่างเพื่อโน้มน้าวให้ยุติสงคราม และย้ำว่า “เขาเต็มใจที่จะยุติการสู้รบ” พร้อมกันนี้ยังวิพากษ์วิจารณ์อดีตประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ว่าเป็นผู้ทำให้สงครามปะทุ โดยเชื่อว่าหากตนชนะเลือกตั้งในปี 2020 ปูตินอาจยึดยูเครนได้ทั้งหมด

ผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ยังตำหนิคำพูดของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ว่าเป็นการ 'ปลุกระดม' โดยเฉพาะการปฏิเสธที่จะยอมรับไครเมียเป็นของรัสเซีย ซึ่งเขามองว่าเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาสันติภาพและทำให้สงครามยืดเยื้อ

ทั้งนี้ในช่วงเมื่อต้นสัปดาห์ ทรัมป์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับเกล็น เบ็ค (Glenn Lee Beck) นักวิจารณ์การเมือง อนุรักษ์นิยมชาวอเมริกัน โดยกล่าวว่าเซเลนสกีเรียกร้องมากขึ้น ทั้งที่ไม่มีอำนาจต่อรอง พร้อมระบุว่าปูติน “จัดการได้ง่ายกว่าเซเลนสกี” และเปิดกว้างต่อการบรรลุข้อตกลงเพื่อยุติสงครามในภูมิภาคนี้

ถอดรหัส 'การส่งออกก๊าซระหว่างรัสเซียและอิหร่าน' การสร้างพันธมิตรทางพลังงานและผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์

ในระยะหลังความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและอิหร่านในด้านพลังงานมีการพัฒนาและขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในแง่ของการค้าพลังงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์โลก การตกลงของรัสเซียที่จะเริ่มการส่งก๊าซไปยังอิหร่านในปีนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสใหม่ในความร่วมมือทางพลังงานระหว่างสองประเทศนี้ ข้อตกลงดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียและอิหร่าน แต่ยังส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อทิศทางการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางและมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงสมดุลอำนาจในระดับโลกได้

อิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศที่มีทรัพยากรพลังงานสำคัญ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติในขณะที่รัสเซียก็เป็นผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ของโลก การที่ทั้งสองประเทศสามารถทำข้อตกลงในเรื่องการส่งก๊าซจะทำให้ทั้งสองฝ่ายมีอำนาจในการควบคุมตลาดพลังงานในภูมิภาคและสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับทั้งสองประเทศ ขณะเดียวกันการร่วมมือด้านพลังงานนี้ยังช่วยเสริมสร้างบทบาทของทั้งสองประเทศในฐานะ "ผู้เล่นสำคัญ" ในการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีความขัดแย้งและการแทรกแซงจากประเทศภายนอกรวมถึงสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตก

จากมุมมองของรัสเซียการส่งก๊าซไปยังอิหร่านไม่เพียงแต่เป็นการเสริมสร้างพันธมิตรทางพลังงานที่สามารถช่วยให้รัสเซียมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวแต่ยังเป็นการแสดงออกถึงอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ซึ่งการมีอำนาจในตลาดพลังงานเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ ขณะเดียวกันอิหร่านก็จะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มการจัดหาก๊าซในตลาดภายในประเทศและเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้ากับหนึ่งในประเทศที่มีอิทธิพลที่สุดในโลก อย่างไรก็ตามข้อตกลงนี้ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อเศรษฐกิจและการเมืองภายในสองประเทศเท่านั้นแต่ยังสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในระบบภูมิรัฐศาสตร์โลกโดยเฉพาะในแง่ของการยกระดับความตึงเครียดกับชาติตะวันตกและการสร้างแนวทางใหม่ในการคัดค้านการแทรกแซงจากมหาอำนาจต่างๆ การขยายตัวของความสัมพันธ์พลังงานระหว่างรัสเซียและอิหร่านจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่เพียงแต่ในแง่ของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแต่ยังมีผลต่อการปรับเปลี่ยนทิศทาง ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ในด้านเศรษฐกิจรัสเซียได้เผชิญกับผลกระทบจากการคว่ำบาตรที่เข้มข้นจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในด้านการส่งออกพลังงาน ทำให้ต้องหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนการสูญเสียตลาดยุโรปที่มีมูลค่าสูง ขณะเดียวกันการขยายตลาดไปยังเอเชียกลางและตะวันออกกลางช่วยให้รัสเซียสามารถรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดพลังงานโลก อิหร่านเองก็มีสถานการณ์คล้ายกัน เนื่องจากการคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรทำให้การส่งออกก๊าซและน้ำมันของประเทศถูกจำกัด การมีพันธมิตรในรัสเซียจึงเป็นโอกาสที่อิหร่านสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการคว่ำบาตรและเพิ่มการเข้าถึงตลาดพลังงานใหม่ๆ ทั้งในแง่ของการส่งออกและการบริโภคในประเทศ การตกลงเพื่อส่งก๊าซระหว่างทั้งสองประเทศจึงมีความสำคัญในฐานะการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและเศรษฐกิจของทั้งรัสเซียและอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่การกดดันทางเศรษฐกิจจากประเทศตะวันตกยังคงมีอยู่

ผลประโยชน์ที่ทั้งสองชาติจะได้รับจากการส่งออกก๊าซ
รัสเซีย: การส่งก๊าซไปยังอิหร่านถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญในการขยายตลาดไปยังภูมิภาคที่มีความต้องการพลังงานสูงในช่วงนี้ การมีตลาดพลังงานใหม่ในอิหร่านและพื้นที่ตะวันออกกลางจะทำให้รัสเซียสามารถกระจายการพึ่งพาตลาดยุโรปได้มากขึ้น นอกจากนี้การเป็นผู้ส่งออกก๊าซหลักไปยังอิหร่านจะช่วยเพิ่มบทบาทของรัสเซียในฐานะผู้นำทางพลังงานของโลกในระดับภูมิภาคและทั่วโลก

อิหร่าน: สำหรับอิหร่านการรับก๊าซจากรัสเซียจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในด้านพลังงานภายในประเทศ ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาการผลิตพลังงานภายในที่ลดลงจากการคว่ำบาตรต่างๆ การมีรัสเซียเป็นพันธมิตรทางพลังงานจะช่วยให้การจัดหาก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูกและสะดวกสบายยิ่งขึ้นซึ่งจะมีผลดีต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพลังงานภายในประเทศและยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในทางภูมิรัฐศาสตร์ความร่วมมือทางพลังงานนี้ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างรัสเซียและอิหร่าน โดยทำให้ทั้งสองประเทศสามารถรับมือกับการแทรกแซงจากต่างชาติได้ดีขึ้นทั้งในระดับเศรษฐกิจและการเมือง ส่งผลให้พวกเขามีอิทธิพลมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ

การตอบสนองของโลกตะวันตกต่อการขยายอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาค
ข้อตกลงระหว่างรัสเซียและอิหร่านในเรื่องการส่งออกก๊าซธรรมชาติได้สร้างความวิตกกังวลในหมู่ประเทศตะวันตกที่อาจมองว่าการร่วมมือทางพลังงานระหว่างสองประเทศนี้อาจเสริมสร้างอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในบริบทที่รัสเซียและอิหร่านมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในหลาย ๆ ด้าน เช่น ความมั่นคงทางทหารและภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสองประเทศต่างมีความมุ่งมั่นที่จะท้าทายอิทธิพลของสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกในตะวันออกกลางและพื้นที่อื่น ๆ การที่รัสเซียสามารถส่งออกก๊าซให้กับอิหร่านได้มากขึ้น น่าจะเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างกัน ซึ่งสามารถมีผลต่ออำนาจการต่อรองในหลาย ๆ สนาม

การขยายความสัมพันธ์ทางพลังงานระหว่างรัสเซียและอิหร่านคงจะไม่ได้ผ่านไปอย่างราบรื่น เนื่องจากโลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ และประเทศในยุโรปมีท่าทีต่อต้านการพัฒนาเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการส่งออกพลังงานในปริมาณมาก สิ่งนี้สามารถเสริมสร้างสถานะของอิหร่านในฐานะผู้ผลิตพลังงานสำคัญในภูมิภาคและลดผลกระทบของการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯ และ EU ได้ใช้กับอิหร่านมาก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรในยุโรปอาจตอบสนองด้วยการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น เช่น การจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีพลังงาน หรือการห้ามการลงทุนในโครงสร้างพลังงานของอิหร่าน นอกจากนี้อาจมีการใช้มาตรการทางการทูตเพื่อกดดันรัสเซียและอิหร่านให้ลดความร่วมมือในภาคพลังงานรวมถึงการขยายการคว่ำบาตรจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติหรือ G7 เพื่อลดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ

การร่วมมือระหว่างรัสเซียและอิหร่านในด้านพลังงานสร้างความท้าทายทางการทูตที่ซับซ้อนสำหรับโลกตะวันตก โดยเฉพาะในกรณีที่สหรัฐฯ และพันธมิตรไม่สามารถหาทางออกที่สามารถหยุดยั้งการเติบโตของความสัมพันธ์นี้ได้ ความพยายามที่จะจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรพลังงานและการส่งออกของอิหร่านอาจทำให้เกิดปัญหาทางการทูตในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น การขยายบทบาทของรัสเซียในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เช่น ในซีเรีย หรือลงลึกไปในการช่วยเหลือด้านพลังงานที่อาจสนับสนุนโครงการทางทหารของอิหร่านที่มีความเสี่ยงสูง

ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสองขั้วอำนาจนี้ สหรัฐฯ และพันธมิตรอาจมีการปรับกลยุทธ์ทางการทูตเพื่อเผชิญหน้ากับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางพลังงานของรัสเซียและอิหร่าน โดยการเจรจากับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเพื่อเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรือการสนับสนุนการดำเนินการทางการทูตที่มีลักษณะเชิงรุกมากขึ้น การขยายมาตรการคว่ำบาตรและเพิ่มแรงกดดันต่อทั้งรัสเซียและอิหร่านอาจกลายเป็นเครื่องมือหลักในการปกป้องผลประโยชน์ของโลกตะวันตกและสกัดกั้นการเติบโตของอิทธิพลรัสเซียในตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่น ๆ การพัฒนาความสัมพันธ์ทางพลังงานนี้ยังอาจเป็นการทดสอบการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงประเทศในเอเชียกลางที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างสมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์ในบริเวณนี้ ท่ามกลางความกังวลที่มีต่อการขยายอิทธิพลของรัสเซียและอิหร่านในเชิงพลังงานและการเมือง

ผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง
การตกลงระหว่างรัสเซียและอิหร่านในการส่งออกก๊าซธรรมชาติอาจเสริมสร้างอำนาจของรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับประเทศในภูมิภาคมีความเข้มแข็งขึ้น รัสเซียได้เข้ามามีบทบาทในหลายพื้นที่สำคัญของตะวันออกกลาง อาทิเช่น ซีเรีย โดยที่การสนับสนุนของรัสเซียต่อรัฐบาลของบาชาร์ อัล-อัสซาดยังคงมีบทบาทสำคัญในการคงอำนาจของรัฐบาลในดามัสกัสและการป้องกันไม่ให้กลุ่มอำนาจตะวันตกขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้การที่รัสเซียสามารถส่งออกก๊าซไปยังอิหร่านได้มากขึ้นยิ่งทำให้รัสเซียกลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักทางเศรษฐกิจในภูมิภาคซึ่งสามารถขยายอิทธิพลในระดับภูมิรัฐศาสตร์โดยการใช้พลังงานเป็นเครื่องมือในการต่อรองและการสร้างพันธมิตรกับประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง การมีส่วนร่วมของรัสเซียในการดำเนินการทางพลังงานของอิหร่านและการส่งออกก๊าซยังช่วยเสริมความสามารถของรัสเซียในการเข้าถึงตลาดพลังงานที่สำคัญของโลกซึ่งจะทำให้รัสเซียสามารถใช้พลังงานเป็นเครื่องมือในการปรับกลยุทธ์ทางการทูตและภูมิรัฐศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในขณะที่การขยายความร่วมมือทางพลังงานกับรัสเซียจะมีผลกระทบสำคัญต่อทิศทางการดำเนินนโยบายพลังงานของอิหร่านโดยเฉพาะในด้านการส่งออกก๊าซและน้ำมันที่สำคัญ อิหร่านที่เคยต้องพึ่งพาความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคและตะวันตกในการค้าขายพลังงานอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพึ่งพารัสเซียมากขึ้นในการพัฒนาและส่งออกก๊าซธรรมชาติ การร่วมมือในโครงการพลังงานกับรัสเซียจะช่วยให้การส่งออกพลังงานของอิหร่านเติบโตขึ้นขณะเดียวกันก็ช่วยลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่โลกตะวันตกได้ใช้กับอิหร่านก่อนหน้านี้ นอกจากนี้อิหร่านยังสามารถใช้ความสัมพันธ์ทางพลังงานกับรัสเซียเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในประเทศซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน เช่น การขุดเจาะและขนส่งก๊าซรวมถึงการสร้างงานในภาคพลังงานภายในประเทศโดยเฉพาะในช่วงที่อิหร่านมีความพยายามในการหลีกเลี่ยงการพึ่งพิงจากประเทศตะวันตก

การขยายความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและอิหร่านในด้านพลังงานไม่เพียงแต่จะมีผลกระทบต่อรัสเซียและอิหร่านเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบต่อลักษณะของความสัมพันธ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางในหลาย ๆ ด้าน ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ หรือชาติในยุโรปอาจรู้สึกกังวลเกี่ยวกับการขยายอำนาจของรัสเซียและอิหร่าน การเพิ่มขึ้นของอิทธิพลรัสเซียในภูมิภาคอาจทำให้ประเทศเหล่านี้มองว่าการร่วมมือระหว่างรัสเซียและอิหร่านเป็นการท้าทายอำนาจของตะวันตกในตะวันออกกลาง สำหรับประเทศที่เคยพึ่งพาพลังงานจากอิหร่านหรือรัสเซีย เช่น ประเทศในแถบอ่าวเปอร์เซีย ประเทศเหล่านี้อาจต้องปรับตัวในด้านการพัฒนาพลังงานและการตลาดใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงการขยายตัวของความสัมพันธ์ทางพลังงานระหว่างรัสเซียและอิหร่านที่อาจทำให้การแข่งขันในตลาดพลังงานเพิ่มสูงขึ้น การเพิ่มความร่วมมือในด้านพลังงานระหว่างสองประเทศนี้ยังอาจทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาคที่มีอยู่แล้วระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น ซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน ทวีความรุนแรงขึ้นและอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางการลงทุนในโครงสร้างพลังงานของประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง

บทสรุป ข้อตกลงการส่งก๊าซระหว่างรัสเซียและอิหร่านในปีนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่มีผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะในด้านพลังงานและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงแค่เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศแต่ยังเพิ่มความแข็งแกร่งในการเจรจาทางการทูตของทั้งรัสเซียและอิหร่านในเวทีโลก นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างอำนาจของรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกกลางและสามารถปรับสมดุลพลังงานในตลาดโลกได้ การส่งออกก๊าซไปยังอิหร่านไม่เพียงแค่ช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานของทั้งสองประเทศ แต่ยังเสริมสร้างอำนาจและอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีการแข่งขันสูง ข้อตกลงนี้ยังสามารถเป็นเครื่องมือในการลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรของตะวันตกและช่วยให้รัสเซียและอิหร่านมีความสามารถในการต่อรองทางเศรษฐกิจและการทูต ในอนาคต ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและอิหร่านคาดว่าจะยังคงแข็งแกร่งขึ้นโดยเฉพาะในด้านพลังงานและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การส่งออกก๊าซจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างอิทธิพลของทั้งสองประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันก็จะส่งผลให้เกิดการปรับตัวของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเพื่อรักษาความสมดุลและผลประโยชน์ทางพลังงานของตนเอง ความร่วมมือนี้อาจมีผลต่อทิศทางภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคในระยะยาวและกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดอนาคตของการเมืองโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top