Friday, 9 May 2025
NewsFeed

‘สหรัฐฯ’ ประกาศคว่ำบาตรน้ำมัน ‘อิหร่าน’ มุ่งเป้าสกัดโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีน

(17 เม.ย. 68) รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ โดยมุ่งเป้าไปที่การส่งออกน้ำมันของอิหร่าน ซึ่งคราวนี้รวมถึงการคว่ำบาตรโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีน หรือที่รู้จักกันในชื่อ "Teapot Refinery" เป็นครั้งแรก

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า โรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กแห่งหนึ่งของจีนได้ซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตร และนับเป็นโรงกลั่นน้ำมันจีนแห่งที่สองที่ถูกดำเนินมาตรการลงโทษจากฝั่งสหรัฐฯ

ที่ผ่านมา โรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีนมักไม่ถูกรวมอยู่ในรายชื่อเป้าหมายของการคว่ำบาตร เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับระบบการเงินของสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย ต่างจากบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของรัฐบาลจีนที่ได้หยุดซื้อน้ำมันจากอิหร่านไปก่อนหน้านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ

ที่ผ่านมา โรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีนมักไม่ถูกรวมอยู่ในรายชื่อเป้าหมายของการคว่ำบาตร เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับระบบการเงินของสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย ต่างจากบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของรัฐบาลจีนที่ได้หยุดซื้อน้ำมันจากอิหร่านไปก่อนหน้านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้คว่ำบาตร บริษัทและเรือบรรทุกน้ำมันหลายแห่ง ที่มีบทบาทในการขนส่งน้ำมันของอิหร่านไปยังจีน ผ่านเครือข่ายลับที่เรียกว่า “กองเรือเงา (Shadow Fleet)” ซึ่งถูกใช้ในการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและเลี่ยงมาตรการจากนานาชาติ

จีนในฐานะ ผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของอิหร่าน ยังคงมีบทบาทสำคัญในตลาดพลังงานโลก โดยเฉพาะโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กที่ยังคงเป็นลูกค้าหลักของอิหร่านผ่านระบบการค้าทางเลือกที่ใช้ เงินหยวน แทนดอลลาร์สหรัฐ และอาศัยเครือข่ายตัวกลางเพื่อลดการตรวจสอบจากสหรัฐฯ

สำหรับมาตรการล่าสุดนี้สะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลวอชิงตันในการปิดช่องโหว่ทางเศรษฐกิจของอิหร่าน และกดดันจีนให้ร่วมมือในประเด็นการบังคับใช้คว่ำบาตรระดับโลก

‘วินท์ สุธีรชัย‘ ชี้ สัญญารับซื้อไฟสีเขียวบางส่วนทำก่อน ’พีระพันธุ์‘ คุมพลังงาน เชื่อมั่น ปัญหาพลังงานจะถูกแก้ไขอย่างเต็มที่ตามกฎหมายให้อำนาจ

(18 เม.ย. 68) จากกรณีที่นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน จึงตั้งกระทู้ถามสดถึงแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวน 5,200 เมกะวัตต์ ที่กำลังจะเซ็นสัญญาเร็วๆ นี้ ว่าเหตุใดจึงไม่ยกเลิกโครงการเหมือนกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบสองจำนวน 3,600 เมกะวัตต์ที่ถูกเบรกโครงการไว้ เนื่องจากมองว่ามีปัญหาเรื่องความโปร่งใสและไม่คุ้มค่าเหมือน ๆ กัน  

ล่าสุดนายวินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ สตีล จำกัด (มหาชน) และกรรมการปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย กระทรวงพลังงาน ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว ว่า นั่งฟังที่ พี่ตุ๋ย (ท่าน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) ตอบกระทู้สดในสภาเรื่องเกี่ยวกับสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด เข้าใจได้ว่า: 

กฎหมายที่เกี่ยวกับประชาชน (เช่น กฎหมายอาญา) และ กฎหมายที่เกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐ (เช่น กฎหมายมหาชน) จะมีความแตกต่างกัน โดยกฎหมายที่เกี่ยวกับประชาชนจะระบุสิ่งที่ห้ามทำ เช่น ทิ้งขยะผิดกฎหมาย ดังนั้นอะไรที่ไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับประชาชน ประชาชนสามารถทำได้ แต่กฎหมายที่เกี่ยวกับหน่วยงานรัฐ หากไม่ได้ให้อำนาจไว้ หน่วยงานรัฐไม่สามารถใช้อำนาจเกินที่กฎหมายระบุไว้ได้เพราะถือว่ามีความผิด 

ดังนั้นการที่กฎหมายให้อำนาจองค์กรอิสระในการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด แต่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการกำกับพลังงานไฟฟ้าไว้เพียงน้อยนิด จึงทำให้การแก้ปัญหาพลังงานไฟฟ้าเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก (อาจจะเป็นเพราะในอดีตเคยมีแผนจะทำให้ กฟผ. กฟภ. และ กฟน. กลายเป็นเอกชนและเข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงมีการลดอำนาจการกำกับพลังงานไฟฟ้าของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลง) 

อย่างไรก็ดี พี่ตุ๋ย รู้ถึงความน่าสงสัยในการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาดที่เกิดขึ้นโดยการเซ็นสัญญาจากองค์กรอิสระซึ่งเกิดก่อนท่านจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และได้พยายามแก้ปัญหาอย่างเต็มที่เท่าที่ทำได้ตามที่กฎหมายมอบอำนาจไว้ให้: 

1. แก้ปัญหาระยะสั้น ได้ระงับการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด 2,100 เมกะวัตต์ ที่ัยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญา ผ่านการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)  

2. แก้ปัญหาระยะกลาง ทางกฤษฎีกามีความเห็นไม่ให้ระงับการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด 5,203 เมกะวัตต์ เนื่องจากในส่วนที่ไม่ใช่ชีวมวลเซ็นต์สัญญาเสร็จสิ้นไปแล้ว 83 สัญญา เหลือเพียง 19 สัญญา ที่ยังไม่ได้เซ็น ดังนั้น รมว.พลังงาน จึงต้องหาทางระงับสัญญาด้วยวิธีอื่นโดยใช้วิธีตรวจสอบหาข้อผิดกฎหมายในสัญญาซึ่งจะทำให้สัญญาทั้งหมด ทั้งที่เซ็นไปแล้วและยังไม่ได้เซ็นเป็นโมฆะไปตามกฎหมาย 

3. แก้ปัญหาระยะยาว ปัญหาหลักๆ อยู่ที่กฎหมายซึ่งเขียนในช่วงที่มีแผนจะนำ สามการไฟฟ้า(กฟผ. กฟภ. และ กฟน.) เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์กลายเป็นเอกชน ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องมีการแก้กฎหมายใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันที่ หน่วยงานต่างๆยังเป็นของรัฐไทย เพื่อให้รัฐบาลสามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจากธุรกิจของเอกชนกลายมาเป็นความมั่นคงของรัฐไทยและให้ประชาชนมีพลังงานในราคาต่ำที่สุดใช้ ไม่ใช่เพื่อให้เอกชนไม่กี่รายสร้างกำไรให้กับตนเอง 

ขอเป็นกำลังใจให้พี่ตุ๋ยในการทลายทุนผูกขาดพลังงานไฟฟ้า(ซึ่งทำให้ท่านถูกโจมตีจากทุกทิศทาง) และเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจากธุรกิจเอกชนให้กลับมาเป็นความมั่นคงของรัฐไทยและประชาชนให้ได้นะครับ 

‘อินโดนีเซีย’ ขยับหมากใหม่จับมือ ‘รัสเซีย’ เป็นพันธมิตรการค้า หวังเปิดทางลงทุนเพิ่มแรงขับเศรษฐกิจ-ลดผลกระทบมาตรการภาษีสหรัฐฯ

(18 เม.ย. 68) จากรายงานของสำนักข่าวซินหัว เมื่อวันพุธที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา อนินทยา บักรี ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย (KADIN) เปิดเผยกับสื่อท้องถิ่นว่า อินโดนีเซียกำลังเบนเป้าหมายทางเศรษฐกิจไปยังรัสเซีย ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นตลาดใหม่ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ท่ามกลางความท้าทายจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ

บักรีระบุว่า การสร้างความร่วมมือทางการค้ากับรัสเซียจะเปิดประตูสู่โอกาสการลงทุนที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากรัสเซียเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษในอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันกำลังเปิดรับการลงทุนจากนานาประเทศ

“อินโดนีเซียจะยังคงเดินหน้าค้นหาแนวทางและตลาดใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนซึ่งกันและกันกับพันธมิตรทั่วโลก” บักรีกล่าว

ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีการนำเข้าสินค้าจากรัสเซียในหลายหมวดหมู่ อาทิ น้ำมันปาล์ม เครื่องจักร ยางพารา รองเท้า กาแฟ และชา ในขณะที่รัสเซียนำเข้าปุ๋ยและอาหารทะเลหลากหลายชนิดจากอินโดนีเซีย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 เมษายน อินโดนีเซียและรัสเซียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการค้า เศรษฐกิจ และการลงทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์รัฐบาลอินโดนีเซียในการขยายตลาดการค้า และยกระดับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับประเทศคู่ค้า รวมถึงรัสเซียด้วย

การเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนถึงทิศทางใหม่ของอินโดนีเซียในการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ และลดการพึ่งพาตลาดเดิม ท่ามกลางความผันผวนของภูมิรัฐศาสตร์โลก

สมุทรปราการ-คุณแม่ณัฐรดา ทองเหม เศรษฐีใจบุญถวายเงินสร้างศาลา 'โชติธนบดี' ณ วัดบางพลีใหญ่กลาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้บริหารบริษัท โชติธนบดีทรานสปอร์ต จำกัด โดยคุณแม่ณัฐรดา ทองเหม ได้ถวายปัจจัยในการสร้างศาลาโชติธนบดี เพื่อให้ทางวัดได้ใช้ประโยชน์ทางพระพุทธศาสนา

เมื่อวันที่ (17 เม.ย.68) ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) ดร. เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง ประธานฝ่ายสงฆ์ นำคณะสงฆ์วัดบางพลีใหญ่กลาง จำนวน 16 รูป ร่วมประกอบพิธี เจริญชัยมงคลคาถาในพิธีฉลองศาลาการเปรียญหลังใหม่ โชติธนบดี 

สืบเนื่องจาก คุณแม่ณัฐรดา ทองเหม พร้อมด้วย พ.ต.อ.วัชระ เทพเสน ผกก.สภ.บางปู สมุทรปราการ และครอบครัว ในนามบริษัท โชติธนบดีทรานสปอร์ต จำกัด มีความเลื่อมใสศรัทธาจึงได้เป็นเจ้าภาพถวายปัจจัยแด่ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง เพื่อนำไปสร้างศาลาการเปรียญและเพื่อให้ทางวัดได้ใช้ประโยชน์ทางพุทธศาสนา มูลค่าในการก่อสร้างศาลาหลังนี้ กว่า 6 ล้านบาท

ซึ่งในวันนี้ทางคุณแม่ณัฐรดา ทองเหม พร้อมด้วย พ.ต.อ.วัชระ เทพเสน ผกก.สภ.บางปู สมุทรปราการ และครอบครัว โชติธนบดี ได้เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีฉลองศาลาการเปรียญหลังใหม่ พระสงฆ์ จำนวน 16 รูป เจริญชัยมงคลคาถาและเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คณะเจ้าภาพ

โดยมี ดร.วีร์สุดา รุ่งเรือง นายก อบต.บางพลีใหญ่ พร้อมด้วย พ.ต.อ.กรวัฒน์ หันประดิษฐ์ อดีตรอง ผบก.ภ.จว.ชลบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางพลี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางปู เจ้าหน้าที่สำนักพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรปราการ ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติ ร่วมถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระภิกษุสงฆ์ ทั้ง 16 รูป

จากนั้น พระสงฆ์ให้ศีล กรวดน้ำ รับพร เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง โดยท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่เข้าร่วมในพิธี

‘พีระพันธ์’ เริ่มภารกิจดับไฟน้ำมันกลางพายุการเมือง เรือหลวงหลงทิศเจอคลื่นคาสิโนถาโถม สูตร ‘อุ้งอิ้ง’ x ‘เนวิน’ อาจไม่รอดฝั่ง

(18 เม.ย. 68) จากโพสต์ล่าสุดของเพจเฟซบุ๊ก ปราชญ์ สามสี ได้ตีแผ่ภาพสถานการณ์การเมืองไทยผ่านลีลาภาษาสะท้อนอารมณ์ชวนติดตาม โดยพุ่งเป้าไปที่บทบาทของ พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งได้รับมอบหมายภารกิจ ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองร้อนฉ่า

พีระพันธ์ร้อยลีลาเริ่มภารกิจดับไฟราคาน้ำมัน แต่ติดอยู่กลางรัฐบาลผสมสูตร 
'อุ้งอิ้ง x เนวิน' ที่หัวเรือใหญ่ดูจะพากันล่องทะเลการเมืองแบบไม่มี GPS — แถมมีหินโสโครกชื่อว่า 'คาสิโน' โผล่มาเป็นอุปสรรคใหญ่เบ้อเร่อ!

ลูกแรกหักหลบทันอย่างเท่ ลูกสองลูกสามนี่สิ...อุ่ย ส่วนใหญ่จม!

กรกฎาคมนี้รู้กันว่าเรือรอดหรือร่วง พีระพันธ์ที่เคยนั่งเป็น ผู้ช่วยรปภ.ใหญ่มาก่อน น่าจะเข้าใจเกมทำใจดีสู้เสือ ใส่ชูชีพแต่เนิ่น ๆ แอบประคองพวงมาลัยให้....แต่กับกัปตันคนนี้ที่พาเลี้ยวซ้ายเฉี่ยวขวาแถมมีเรือลำอื่นแอบหนีตัดหน้า ก็ไม่รู้ว่าควรจะเกาะให้แน่น หรือต้องผูกสลิงเตรียมโดด!

ที่แน่ ๆ ก๊วนเสี่ยหนู-เนวิน ทิ้งเรือไปนั่งเรือยางแล้ว แต่จะถึงฝั่งไหมไม่มีใครกล้าฟันธง โดยเฉพาะตอนนี้ที่นายเรือดูจะหรี่ตาเขียวใส่ พร้อมตั้งข้อหา 'ทรยศกลางทะเล'

หรือท้ายที่สุด...พีระพันธ์จะกลายเป็นนักว่ายน้ำดีเด่นในพายุการเมือง? หรือ ประคองเรือหลบ คาสิโนได้ .. อันนี้ก็ต้องลองลุ้นกัน

“ฉาวรักคนดัง vs ปัญหาชาติ?” ดร.อานนท์สะกิดสังคม เลิกสนใจเรื่องใต้สะดือคนอื่น หันมาสนอนาคตประเทศ

(18 เม.ย. 68) จากกรณีเรื่องฉาวสะเทือนวงการบันเทิง เมื่ออดีตแฟนของสาวรายหนึ่ง ออกมาแฉ ‘โตโน่’ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ นอกใจดาราสาว ‘ณิชา’ ณัฏฐณิชา ไปซุ่มคบหากับแฟนของตัวเองทั้งที่มีแฟนอยู่แล้วทั้งคู่ และมีการเปิดคลิปเสียงหน้ารถ และข้อความสุดสยิวย้ำถึงความสัมพันธ์ จนกลายเป็นเรื่องราวสุดฮอตในโลกโซเชียลมีเดีย ณ ขณะนี้ 

ทำให้ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 ผศ.ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Arnond Sakworawich แสดงความเห็นต่อกระแสข่าวดังกล่าวว่า

“สังคมไทยถ้าสนใจข่าวใครมีเพศสัมพันธ์กับใคร ใครนอกใจใครลดลงไปบ้างก็คงจะดี
ไม่มีประโยชน์อะไรเท่าไหร่ ล้วนเป็นเรื่องของอวัยวะเพศของพวกเขา สนใจปัญหาชาติบ้านเมือง เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก สงครามการค้า อะไรแบบนี้บ้างก็ดีนะครับ” 

โดยข้อความดังกล่าวได้รับการแชร์ต่อและมีการแสดงความเห็นอย่างหลากหลาย บางส่วนเห็นด้วยกับแนวคิดที่ชี้ให้สังคมหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะที่อีกฝ่ายยังคงให้ความสนใจต่อประเด็นดราม่าในวงการบันเทิง

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#8 'ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์' พันธมิตรสำคัญฝั่งสหรัฐฯ - เวียตนามใต้

กองกำลังผสมของกองทัพออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ANZAC) เป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐอเมริกาในการป้องกันการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าทั้งสองประเทศจะเผชิญกับกระแสต่อต้านสงครามที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศ แต่ทั้งสองประเทศยังคงให้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาและเวียตนามใต้ตลอดช่วงสงคราม ในปี 1951 ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในสนธิสัญญาความมั่นคง (ANZUS) ซึ่งเป็นข้อตกลงไตรภาคีที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศในภูมิภาคแปซิฟิก แม้ว่าจะไม่ได้มีการเรียกร้องสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการสำหรับสงครามเวียตนาม แต่ถึงกระนั้น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็ยังส่งกองกำลัง (ด้วยงบประมาณของตนเอง) เพื่อสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในการปกป้องเวียตนามใต้

ในปี 1961 รัฐบาลออสเตรเลียเชื่อว่าการเอาชนะลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวียตนามใต้เป็นเรื่องของหลักการและการป้องกันตนเอง เนื่องจากสันนิษฐานว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หากถูกคอมมิวนิสต์เข้าครอบงำแล้วจะเป็นภัยคุกคามต่อดินแดนทางเหนือของออสเตรเลีย ดังนั้น ในปลายฤดูร้อนของปี 1962 รัฐบาลออสเตรเลียได้ส่งทีมที่ปรึกษาทางทหาร 30 นาย ไปช่วยฝึกอบรมทหารของกองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม (ARVN) สองปีต่อมา ทีมดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเป็นที่ปรึกษาทางทหาร 80 นายซึ่งฝังตัวอยู่กับกองกำลังภาคสนามของ ARVN และส่งเครื่องบินขนส่ง DHC-4 Caribou (พร้อมนักบิน) ของกองทัพอากาศออสเตรเลียอีก 6 ลำ เมื่อสหรัฐอเมริกาเพิ่มการสนับสนุนเวียดนามใต้ด้วยการส่งกองกำลังรบในปี 1965 ออสเตรเลียก็ดำเนินการตามทันที ด้วยการได้ส่งกองพันที่ 1 กรมทหารออสเตรเลีย (1RAR) และกองกำลังสนับสนุนไปประจำการภายใต้การควบคุมการปฏิบัติการของกองพลทหารอากาศที่ 173 ของกองทัพบกสหรัฐที่เบียนฮัว เมื่อสิ้นสุดปี 1965 หน่วย 1RAR ได้เพิ่ม หน่วยปืนใหญ่ หน่วยวิศวกร หน่วยลาดตระเวนทางอากาศ และหน่วยสนับสนุนด้านโลจิสติกส์

แม้ว่าทหารอเมริกันและออสเตรเลียจะมีความร่วมมือและสู้รบร่วมกันได้ดี แต่โครงสร้างการบังคับบัญชาของออสเตรเลียไม่ได้สนับสนุนยุทธวิธีของกองทัพสหรัฐฯ หรือกฎการรบของกองทัพสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ ซึ่งบางครั้งพวกเขามองว่าเป็นข้อจำกัดที่ไร้ประโยชน์โดยไม่จำเป็น พวกเขาต้องการต่อสู้ในแบบของตนเอง ดังนั้นเมื่อในปี 1966 รัฐบาลออสเตรเลียได้เพิ่มกำลังพลให้เป็นหน่วยเฉพาะกิจสองกองพันที่มีการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงในการรบ เรียกว่า หน่วยเฉพาะกิจออสเตรเลียที่ 1 (1ATF) พวกเขาจึงใช้โอกาสนี้แยกตัวออกจากกองพลทหารอากาศที่ 173 และกลายมาเป็นหน่วยบังคับบัญชาอิสระที่มีพื้นที่ปฏิบัติการของตนเองในจังหวัดฟุกตุย โดยมีฐานที่นุยดัต หน่วยสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงออสเตรเลียที่ 1 (1ALSG) ตั้งขึ้นในบริเวณใกล้เคียงที่ท่าเรือและสนามบินในเมืองวุงเต่า

วันที่ 18 สิงหาคม 1966 กองร้อยเดลต้า กองพันที่ 6 กรมทหารออสเตรเลีย ซึ่งมีกำลังพลรวมประมาณ 108 นาย ได้ออกเดินทางเพื่อค้นหาและเคลียร์กองกำลังของศัตรูออกจากบิญบา ซึ่งเป็นสวนยางพาราเก่าของฝรั่งเศสที่อยู่ไม่ไกลจากไซง่อน กองกำลังออสเตรเลียถูกกองกำลังคอมมิวนิสต์ผสมกว่า 1,500 นายจากเวียตนามเหนือและเวียตกงเข้าโจมตี ในการยิงตอบโต้กันเป็นครั้งแรกกับศัตรู กองกำลังออสเตรเลียสูญเสียทหารไปเกือบหมด ซึ่งถือเป็นการสูญเสียชีวิตมากที่สุดที่พวกเขาต้องเผชิญในเวียตนามใต้ หลังจากการปะทะครั้งแรก เมื่อกองร้อยเดลต้าตั้งแนวป้องกันได้แล้ว กองกำลังออสเตรเลียก็ต่อสู้อย่างหนักกับการโจมตีหลายครั้งในช่วงสี่ชั่วโมงถัดมาท่ามกลางพายุฝนที่ตกหนัก กองทัพออสเตรเลียได้รับการสนับสนุนด้วยปืนใหญ่ และได้รับเสบียงจากลูกเรือเฮลิคอปเตอร์ UH-1 “Huey” Iroquois ของกองทัพอากาศออสเตรเลียสองลำ และได้รับการเสริมกำลังจากกองร้อยออสเตรเลียอีกกองหนึ่งที่มาถึงในตอนค่ำด้วยรถลำเลียงพลหุ้มเกราะพร้อมปืนกลขนาด .50 ในท้ายที่สุด กองทัพเวียตนามเหนือและเวียคกงก็ยุติการปะทะ ออสเตรเลียสูญเสียทหารไป 18 นาย และบาดเจ็บ 24 นาย ระหว่างปี 1962 ถึง 1973 ทหารจาก กองทัพบก กองทัพอากาศ และกองทัพเรือของออสเตรเลียเกือบ 60,000 นายประจำการในเวียดนามใต้ ในช่วงที่มีกำลังพลสูงสุด มีทหารออสเตรเลียประจำการอยู่ในเวียตนามใต้มากกว่า 8,300 นาย ทหารออสเตรเลียบาดเจ็บมากกว่า 3,000 นาย และเสียชีวิต 521 นายในสงครามครั้งนี้

นิวซีแลนด์ เช่นเดียวกับออสเตรเลีย รัฐบาลนิวซีแลนด์เป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ในสงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงต้นปี 1963 รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ให้การสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมแก่ชาวเวียดนามใต้ด้วยการส่งทีมศัลยแพทย์พลเรือนไปให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในเมืองกวีเญิน ฤดูร้อนปี 1964 รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ส่งวิศวกรของกองทัพบก 25 นายไปช่วยเหลือในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ และในช่วงฤดูร้อนปี 1965 รัฐบาลนิวซีแลนด์จึงได้ส่งกำลังรบเข้าไปในเวียตนามใต้ อันได้แก่ กองร้อยปืนใหญ่ที่ 161 ของกองทหารปืนใหญ่นิวซีแลนด์เดินทางมาถึงเมืองเบียนฮัวในเดือนกรกฎาคม 1965 โดยเริ่มแรกเพื่อประจำการกับกองทัพออสเตรเลียภายใต้การบังคับบัญชาของกองพลทหารอากาศที่ 173 ของกองทัพบกสหรัฐฯ ต่อมาพวกเขาได้ย้ายไปอยู่กับกองกำลังพิเศษของออสเตรเลียที่เมืองนุยดัต ซึ่งพวกเขาประจำการอยู่ในกรมทหารปืนใหญ่ของออสเตรเลียจนถึงเดือนพฤษภาคม 1971

ในปี 1967 นิวซีแลนด์ได้ส่งกองร้อยปืนเล็กยาวจากกองพันที่ 1 ของกรมทหารราบของนิวซีแลนด์ไปประจำการ ซึ่งพวกเขาได้สู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองกำลังออสเตรเลียในหน่วยรบปืนใหญ่ที่ 1 นอกจากนั้นแล้ว นิวซีแลนด์ยังส่งเฮลิคอปเตอร์ UH-1 Iroquois (พร้อมนักบิน) ของกองทัพอากาศนิวซีแลนด์ไปประจำการอีกหลายลำ และในปี 1969 ก็ได้ส่งกองกำลังขนาดเล็กของหน่วยปฏิบัติการพิเศษทางอากาศพิเศษนิวซีแลนด์ไปประจำการกับกองกำลังของออสเตรเลีย ระหว่างปี 1964 ถึง 1972 บุคลากรทางทหารของนิวซีแลนด์ประมาณ 3,500 นายประจำการในเวียตนามใต้ แม้ว่าจะมีไม่เกิน 550 นายที่อยู่ในประเทศในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก็ตาม พวกเขาได้รับบาดเจ็บ 187 รายและเสียชีวิต 37 รายในช่วงเวลาดังกล่าว

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#9 'ฟิลิปปินส์' อีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญฝั่งสหรัฐฯ - เวียตนามใต้

ฟิลิปปินส์ อดีตรัฐอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา จึงเป็นพันธมิตรที่สนิทชิดเชื้ออย่างแนบแน่นกับสหรัฐฯ ตั้งแต่สงครามเกาหลี ฟิลิปปินส์ส่งกองกำลังประมาณ 7,500 นายเข้าร่วมสงครามเกาหลี เมื่อสิงหาคม 1950 เป็นกองกำลังที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 สำหรับสงครามเวียตนาม ฟิลิปปินส์ให้การสนับสนุนกำลังพลในส่วนของปฏิบัติการด้านกิจการพลเรือน การพัฒนาชุมชน การแพทย์และสาธารณสุข โดยเริ่มส่งกำลังเข้าไปในเวียตนามใต้ครั้งแรกในปี 1964 ด้วยกำลังทหาร 28 นาย รวมทั้งพยาบาลและพลเรือน 6 นาย จำนวนทหารของกองทัพฟิลิปปินส์ที่ประจำการในเวียตนามใต้เพิ่มขึ้นเป็น 182 นาย และกำลังพล 1,882 นายในช่วงปี 1966–1968 ทหารฟิลิปปินส์ประมาณ 10,450 นายถูกส่งไปเวียตนามใต้ และสนับสนุนโครงการทางการแพทย์และกิจการพลเรือนในด้านอื่น ๆ เป็นหลัก กองกำลังเหล่านี้ปฏิบัติการภายใต้ชื่อ A หรือ กลุ่มปฏิบัติการกิจการพลเรือนฟิลิปปินส์-เวียดนาม Philippine Civic Action Group - Vietnam (PHILCAG-V)

ในปี 1954 หลังจากที่เวียตนามถูกแบ่งออกเป็นเวียตนามเหนือที่เป็นคอมมิวนิสต์และเวียตนามใต้ที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ชาวเวียดนามเหนือหลายพันคนได้อพยพลงใต้ ออสการ์ อาเรลลาโน ประธานสมาคมหอการค้าเยาวชนฟิลิปปินส์ (Jaycees) สาขามะนิลา เห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรม จึงได้ขอความช่วยเหลือจาก รามอน แม็กไซไซ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในขณะนั้น ซึ่งตอบว่า “พวกเราได้รับความช่วยเหลือในยามที่เราต้องการความช่วยเหลือจากมิตรสหายผู้ใจดี แล้วเราจะปฏิเสธความช่วยเหลือเพื่อนบ้านเมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือได้อย่างไร ความทุกข์ยากของมนุษย์ไม่มีพรมแดนของชาติ ดังนั้นโปรดช่วยเหลือพวกเขาด้วยทุกวิถีทาง และหากข้าพเจ้าและรัฐบาลนี้สามารถช่วยอะไรได้ โปรดอย่าลังเลที่จะติดต่อข้าพเจ้า” ในช่วง 2 ปีต่อมา ในปฏิบัติการที่ชาวฟิลิปปินส์เรียกว่า Operation Brotherhood สมาคม Jaycees ได้ร่วมกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ส่งแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ ทันตแพทย์ และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ จำนวน 235 คน เพื่อรักษาผู้ป่วยราว 730,000 คนในสถานพยาบาลทั่วเวียตนามใต้

ในปี 1964 เพื่อตอบสนองต่อการรณรงค์ 'More Flags' ของ ลินดอน บี. จอห์นสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ดิออสดาโด มาคาปากัล ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้ของบประมาณสนับสนุนจากรัฐสภาฟิลิปปินส์เพื่อส่งกำลังรบไปยังเวียตนามใต้ แต่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาฟิลิปปินส์กลับอนุมัติงบประมาณสำหรับความช่วยเหลือด้านพลเรือนแทน ในเดือนสิงหาคม 1964 ฟิลิปปินส์ได้ส่ง แพทย์ พยาบาล ช่างเทคนิค และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้านกิจการพลเรือน 16 นายจากกองทัพฟิลิปปินส์เข้าไปช่วยเหลือ "ในความพยายามให้คำแนะนำที่มุ่งเน้นไปที่สงครามจิตวิทยาและกิจการพลเรือนในกองพลที่ 3" ตามประวัติของกองบัญชาการความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ เวียดนาม (MACV) ซึ่งเรียกหน่วยนี้ว่า PHILCON (กองกำลังฟิลิปปินส์)

ในปี 1966 รัฐบาลเวียตนามใต้ได้ร้องขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากฟิลิปปินส์ รวมถึงกองกำลังติดอาวุธ ฟิลิปปินส์จึงส่งกองกำลังใหม่ไปยังเวียตนามใต้เพื่อแทนที่ PHILCON คือ กลุ่มปฏิบัติการกิจการพลเรือนฟิลิปปินส์-เวียดนาม (PHILCAG-V) ประกอบด้วย กองพันวิศวกรก่อสร้าง ทีมปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข กองพันรักษาความปลอดภัย หน่วยสนับสนุนและกองบังคับการ พวกเขาได้ตั้งฐานทัพที่เมืองเตยนิญห์ 45 ไมล์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของไซง่อน ในช่วงฤดูร้อนของปี 1966 ในช่วง 40 เดือนถัดมา PHILCAG-V ได้ปฏิบัติภารกิจเพื่อพลเรือนที่มีความหลากหลาย โดยส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างสาธารณูปโภค การพัฒนาชนบท และการบรรเทาทุกข์ด้านอาหารและการแพทย์ แม้ว่า PHILCAG-V จะมีทหารฟิลิปปินส์ 2,068 นายในช่วงที่มีบทบาทสูงสุด แต่ PHILCAG-V เน้นภารกิจด้านมนุษยธรรม ไม่ใช่การรบ ด้วยคติประจำของ PHILCAG-V ว่า “สร้าง ไม่ใช่ทำลาย นำความสุข ไม่ใช่ความเศร้าโศก สร้างความปรารถนาดี ไม่ใช่ความเกลียดชัง”

PHILCAG-V เป็นหน่วยปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการดำเนินการเพื่อสังคม จนเป็นที่ชื่นชมของชาวเวียตนามใต้ สมาชิกหลายคนของ PHILCAG-V รุ่นแรกจำได้ว่า ชาวเวียตนามใต้มีชื่อเล่นพิเศษสำหรับทหารฟิลิปปินส์ว่า “ทุกที่ที่พวกเขาไป พวกเขาถูกเรียกว่า ‘Philuatan’ ซึ่งหมายความว่า ‘ชาวฟิลิปปินส์คือหมายเลขหนึ่ง’” เห็นได้ชัดว่าชาวเวียตนามใต้มากมายจดจำทหารฟิลิปปินส์ด้วยมิตรภาพ นอกจากนั้นแล้วรัฐบาลฟิลิปปินส์ยังให้การสนับสนุนต่อความพยายามในการทำสงครามเวียตนามของสหรัฐฯ ด้วยการให้กองกำลังสหรัฐฯ ปฏิบัติการจากฐานทัพเรือที่อ่าวซูบิกในซัมบาเลส สำหรับกองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ และจากฐานทัพอากาศคลาร์กในแองเจลิสซิตี้ในลูซอนของฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 1965 จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามในปี 1975 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังรองรับคนงานในท้องถิ่นประมาณ 80,000 คนในธุรกิจระดับตติยภูมิที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีตั้งแต่ธุรกิจทำรองเท้าไปจนถึงการค้าประเวณี มีทหารฟิลิปปินส์ 9 นายเสียชีวิตในเวียตนามใต้ กองกำลังฟิลิปปินส์ถอนตัวออกจากเวียตนามใต้ในวันที่ 12 ธันวาคม 1969 โดยมีการส่งกำลังทหารฟิลิปปินส์ไปยังหมู่เกาะสแปรตลีย์ในเวลาเดียวกัน

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#10 พันธมิตรฝั่งสหรัฐฯ และเวียตนามใต้ : 'ไทย' (1)

ไทยมีบทบาทในภูมิภาคอินโดจีนมายาวนาน เริ่มจาก “เวียตนาม” ตั้งแต่สมัย “องเชียงสือ (เจ้าอนัมก๊ก ตามพงศาวดารไทย)” มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ที่กรุงเทพฯ ต่อมาสามารถกู้คืนอำนาจ รวมแผ่นดินเวียดนามได้สำเร็จ เฉลิมพระนาม “จักรพรรดิซาล็อง” ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เหงวียน ราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนาม และสามารถโค่นล้มราชวงศ์เต็ยเซินอย่างสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2345 ด้วยความช่วยเหลือจากสยามหลายครั้ง เป็นที่มาของการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวายรัชกาลที่ 1 ถึง 6 ครั้งตลอดรัชกาล โดยไทย (“ราชอาณาจักรสยาม” ในสมัยนั้น) ต้องเสียดินแดน “สิบสองจุไทย (สิบสองเจ้าไท)” ให้กับฝรั่งเศสซึ่งส่งกำลังเข้ามายึดเอาดื้อ ๆ ในปี 1888

“ลาว” เป็นดินแดนในปกครองของไทยมายาวนานเช่นกันก่อนที่จะถูกฝรั่งเศสใช้อำนาจและสารพัดเล่ห์กลสร้างเหตุเพื่อยึดเอาดินแดนเหล่านี้ไป ได้แก่ ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในปี 1893 ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในปี 1904 เช่นเดียวกันกับ “กัมพูชา” ซึ่งได้แก่ ดินแดนกัมพูชาตะวันออกเฉียงใต้ในปี 1867 เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณในปี 1907 กระทั่งเกิด “กรณีพิพาทอินโดจีน” หรือ “สงครามฝรั่งเศส-ไทย”  เหนือดินแดนบางส่วนของอินโดจีนฝรั่งเศส ทำให้ฝรั่งเศสต้องยกดินแดนจากกัมพูชาและลาวคืนให้ไทย ได้แก่ จังหวัดพระตะบองและจังหวัดไพลิน (จัดตั้งใหม่เป็นจังหวัดพระตะบอง) จังหวัดเสียมราฐ จังหวัดบันทายมีชัย และจังหวัดอุดรมีชัย (จัดตั้งใหม่เป็นจังหวัดพิบูลสงคราม) จังหวัดพระวิหาร ผนวกเข้ากับแขวงจำปาศักดิ์ของลาวที่อยู่ตรงข้ามปากเซ เพื่อสร้างจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ แขวงไชยบุรี รวมแขวงหลวงพระบางบางส่วน ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดลานช้าง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศมหาอำนาจและฝรั่งเศสซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม โดยต้องทำความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส “ความตกลงวอชิงตัน” ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 1946 มีผลให้ไทยต้องคืนดินแดน อินโดจีน ที่ได้มาทั้งหมดให้กับฝรั่งเศส ดังนั้นไทยจึงเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในภูมิภาคนี้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ไทยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสหรัฐอเมริกาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ขบวนการเสรีไทย และได้กลายเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง โดยเป็นหนึ่งประเทศซึ่งเป็นแนวร่วมสำคัญของสหรัฐฯ ในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนสต์ การส่งกองกำลังไปร่วมรบกับสหประชาชาติภายใต้การนำของสหรัฐฯ ในสงครามเกาหลี

สำหรับสงครามอินโดจีนที่สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทนั้น สืบเนื่องจากภัยคุกคามของไทยในขณะนั้นประสบกับการรุกรานของลัทธิคอมมิวนิสต์เพิ่มมากยิ่งขึ้น ในช่วงต้นเดือนกันยายน 1958 กองทัพบกไทยได้เริ่มทำการฝึกให้กับกองทัพลาวที่ค่ายเอราวัณ ต่อมาเดือนเมษายน 1959 ค่ายฝึกทหารลาวแห่งแรกในประเทศไทยได้เปิดตัวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มีชื่อรหัสว่า "โครงการเอกราช (Unity)" กองทัพบกไทยยังได้จัดตั้งกองบัญชาการ 333 (HQ 333) เพื่อควบคุมการปฏิบัติการลับที่เกี่ยวข้องกับลาว โดยสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (CIA) ได้จัดตั้งหน่วยประสานงานร่วมเพื่อประสานงานกิจกรรมกับ HQ 333 มีการจัดส่งนักบินไทยและเจ้าหน้าที่เทคนิคไปทำการบินให้กับกองทัพอากาศลาว เดือนธันวาคมปี 1960 มีการส่งตำรวจพลร่ม (Police Aerial Reinforcement Unit : PARU) ชุดแรกเข้าไปในลาวเพื่อร่วมในปฏิบัติการด้านสงครามพิเศษ การทำสงครามแบบกองโจร และการฝึกทหารลาวม้ง การปฏิบัติการจิตวิทยา จัดตั้งกองกำลัง และการร่วมปฏิบัติการรบ

หลังจากลงนามสงบศึกที่เจนีวา แต่สงครามในลาวไม่ได้หยุดลง และกลับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น CIA และ HQ 333 จึงจำเป็นต้องขยายขอบเขตการรบในลาว จึงมีการจัดระบบเตรียมการและจัดส่งกำลังพลทหารรับจ้างไทย (ทหารเสือพราน) เข้าไปในลาว เริ่มจากทหารปืนใหญ่ของกองทัพไทยเข้าร่วมการรบในแนวใกล้ทุ่งไหหินในปี 1964 เพื่อต่อสู้กับกองกำลังของประเทดลาว (ลาวแดง) ในโปรแกรมการฝึกพิเศษของสหรัฐฯ ต่อมาในปี 1969 หน่วยปืนใหญ่อีกหน่วยหนึ่งได้ทารรบป้องกันเมืองสุยเพื่อต่อต้านกองกำลังคอมมิวนิสต์ (ลาวแดงและเวียตนามเหนือ) และกลายเป็นหน่วยรบแรกของไทยที่สู้รบในลาว จากนั้นก็มีหน่วยอื่น ๆ ตามมา ในปี 1970 ฝ่ายอเมริกันได้โน้มน้าวฝ่ายไทยให้ใช้กำลังอาสาสมัครติดอาวุธในลาว (ทหารรับจ้างไทย (ทหารเสือพราน)) และต่อมาอาสาสมัครที่ได้รับการฝึกและใช้งานเหล่านี้ก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายอเมริกัน กองกำลังที่ได้รับการฝึกใหม่ได้รับการจัดเป็นกองพัน กองพันละ 495 นาย ภายใต้สัญญาจ้าง 1 ปี จากนั้นก็สามารถขยายต่อไปได้ กองพันเริ่มต้นด้วยเลข "6" ซึ่งเป็นความแตกต่างในการกำหนดหน่วยของไทยจากหน่วยลาว กองพันแรกเริ่มจาก 601, 602 การเตรียมการของสองกองพันดังกล่าวสิ้นสุดลงในต้นเดือนธันวาคม 1970 และในกลางเดือนธันวาคม กองพันเหล่านี้ก็ถูกส่งเข้าสู่สนามรบแล้ว CIA ซึ่งเคยชินกับความไร้ประสิทธิภาพของทหารลาวรู้สึกประหลาดใจอย่างยินดีกับผลลัพธ์ของการโจมตีของไทย

บทบาทและจำนวนทหารรับจ้างไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง CIA ต้องการทหารให้ได้มากที่สุด จึงเริ่มรับสมัครชายไทยที่ไม่มีประสบการณ์ทางการทหารเข้าค่ายฝึก เป็นผลให้ในเดือนมิถุนายน 1971จำนวนหน่วยทหารรับจ้างไทยที่ไปทำสงครามในลาวเท่ากับ 14,028 นาย และสิ้นเดือนกันยายน 1971 มากถึง 21,413 นาย เมื่อทหารลาวและทหารลาวม้งลดจำนวนลง สัดส่วนของทหารไทยก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อสิ้นสุดปี 1972 ทหารไทยได้กลายมาเป็นกำลังรบหลักของลาวภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลวางเปา ทหารรับจ้างไทยถือเป็นกองกำลังที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการต่อสู้กับลาวแดงและเวียตนามเหนือในลาว ทหารม้งซึ่งบางครั้งสามารถทำลายกองกำลังคอมมิวนิสต์บางส่วนด้วยการสนับสนุนทางอากาศจากอเมริกันด้อยกว่าทหารรับจ้างไทยอย่างเห็นได้ชัดในทุกๆ ด้าน อย่างไรก็ตาม การรบในปี 1971 กองกำลังคอมมิวนิสต์ได้สร้างความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ให้กับกองกำลังทหารรับจ้างไทย เป็นครั้งแรกที่เครื่องบิน MiG ของเวียดนามได้เปิดฉากโจมตีในลาวเพื่อสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นดินของเวียตนามเหนือและลาวแดง  เนื่องจากคุ้นเคยกับการสนับสนุนทางอากาศจากสหรัฐฯ ทั้งกองกำลังของลาวและไทยจึงไม่สามารถรักษาที่มั่นเอาไว้ได้ เมื่อฝ่ายศัตรูสามารถครองอากาศ และกองกำลังทหารรับจ้างไทยถูกบังคับให้หลบหนีจากสนามรบ ก่อนที่จะมีการสงบศึกในเดือนกุมภาพันธ์ 1973 ทหารรับจ้างไทยเกือบครึ่งหนึ่งหลบหนีกลับไทย ทหารรับจ้างไทยที่เหลือประมาณ 10,000 นายก็ถูกส่งตัวกลับไทยและแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา ไม่มีข้อมูลยืนยันถึงตัวเลขของทหารรับจ้างไทยที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในสงครามครั้งนี้ ซึ่งน่าจะถึงหลักพัน สงครามในลาวถือว่าเป็น “สงครามลับ” สำหรับสหรัฐฯ ซึ่งในวันที่ 15 พฤษภาคม 1997 สหรัฐฯ พึ่งจะยอมรับอย่างเป็นทางการว่าตนมีส่วนร่วมในสงครามลับดังกล่าว

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

‘อันวาร์’ โพสต์ภาพคุย ‘ทักษิณ’ ที่กรุงเทพฯ ถกแนวทางสร้างสันติภาพเมียนมา ย้ำอาเซียนต้องเดินหน้าต่อ

ดาโต๊ะ เสรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานหมุนเวียนของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เผยผ่านเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา เขาได้เดินทางมายังกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการกับกลุ่มที่ปรึกษาของประธานอาเซียน ซึ่งรวมถึงการพบปะกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย

ในโพสต์ดังกล่าว อันวาร์ได้เผยแพร่ภาพขณะหารือกับ ดร.ทักษิณ พร้อมระบุว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค โดยเฉพาะวิกฤตในประเทศเมียนมา ซึ่งยังคงเป็นประเด็นเร่งด่วนด้านมนุษยธรรมและสันติภาพ

“การอภิปรายเหล่านี้เปิดโอกาสให้เราหารือถึงหนทางสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในเมียนมา รวมถึงการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างมีประสิทธิภาพแก่พลเมืองของตน” นายกรัฐมนตรีมาเลเซียระบุ

นอกจากนี้ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 18 เมษายน อันวาร์ยังได้ประชุมทางไกลเป็นเวลา 40 นาที กับอูมาน วิน ไข ตาน ตัวแทนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา (NUG) เพื่อหารือถึงความต้องการด้านมนุษยธรรมที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมืองและการทหารอย่างต่อเนื่อง

นายอันวาร์กล่าวว่า การเจรจากับทั้ง NUG และสภาบริหารแห่งชาติเมียนมา (SAC) ได้รับการตอบรับโดยไม่มีการคัดค้าน ถือเป็นพัฒนาการเชิงบวกในความพยายามสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างทุกฝ่าย

“ความพยายามในการสร้างความเชื่อมั่นยังคงเป็นหัวใจสำคัญ กระบวนการนี้ต้องดำเนินต่อไปภายใต้กรอบของอาเซียน เราจะเจรจาต่อรองกับทุกฝ่ายเพื่อสันติภาพ ความปรองดอง และความเป็นอยู่ที่ดีของชาวเมียนมา” อันวาร์ระบุ

ทั้งนี้ การพบปะกับ ดร.ทักษิณ ถือเป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญของผู้นำมาเลเซีย ในการใช้บทบาทผู้นำอาเซียนเพื่อผลักดันทางออกจากวิกฤตเมียนมา โดยมีแนวโน้มว่าการเจรจาเชิงสร้างสรรค์ในลักษณะนี้จะเดินหน้าต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของวาระประธานอาเซียนปี 2568


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top