Wednesday, 3 July 2024
NARIT

‘NARIT’ ชวนชม ‘ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์’ คืนวันแม่ 12 ส.ค.นี้ แนะพื้นที่!! ‘อยู่ห่างตัวเมือง-มืดสนิท’ สามารถนอนชมด้วยตาเปล่าได้

(11 ส.ค.66) เพจเฟซบุ๊ก ‘NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ’ แจ้งว่า วันที่ 12 สิงหาคม นี้ ลุ้นชม ‘ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์’ คืนวันแม่

คืนวันที่ 12 สิงหาคม 2566 เวลาประมาณ 23:00 น. จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 13 สิงหาคม 2566 จะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseids Meteor Shower) หรือที่มักเรียกกันว่า ‘ฝนดาวตกวันแม่’ ศูนย์กลางการกระจายอยู่ในกลุ่มดาวเพอร์เซอุส บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับปีนี้คาดว่าจะมีอัตราการตกเฉลี่ยประมาณ 60 - 100 ดวงต่อชั่วโมง โดยเวลาประมาณ 23:00 - 03:00 น. ของคืนวันที่ 12 สิงหาคม 2566 เป็นเวลาที่เหมาะสมต่อการสังเกตการณ์เนื่องจากไม่มีแสงจันทร์รบกวน 

แนะนำสถานที่ชมให้อยู่ในที่ห่างจากเมืองหรือบริเวณที่มืดสนิท สำหรับวิธีการสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด คือ นอนชมด้วยตาเปล่า ตามทิศทางการกระจายตัวของฝนดาวตก หากฟ้าใสไร้ฝน สามารถชมความสวยงามของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ได้ทั่วประเทศ

‘ดาวหางนิชิมูระ’ เตรียมเฉียดโลก 12 ก.ย.นี้ หลังถูกค้นพบเดือนก่อน สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากพลาดชมต้องรออีกไป 400 ปี!!

วันที่ 8 กันยายน เพจเฟซบุ๊ก ‘NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ’ โพสต์ข้อความชวนชม ‘ดาวหางนิชิมูระ’ ที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กำลังจะโคจรเข้าใกล้โลกในเดือนกันยายนนี้ โดยระบุว่า…

ลุ้นชม ‘ดาวหางนิชิมูระ’ เดือนกันยายน นี้

โดยระบุว่าดาวหาง C/2023 P1 (Nishimura) ที่ถูกค้นพบเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ กำลังจะโคจรเฉียดโลกในวันที่ 12 กันยายนนี้ และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 17 กันยายน ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีความสว่างมากที่สุด และยังมีมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากเพียงพอ อาจสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าในช่วงหัวค่ำของวันดังกล่าว

‘ดาวหางนิชิมูระ’ ค้นพบครั้งแรกโดย ‘ฮิเดโอะ นิชิมูระ (Hideo Nishimura)’ นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ.2023 โดยเขาใช้กล้องโทรทรรศน์ถ่ายภาพท้องฟ้าในช่วงรุ่งเช้า แล้วพบว่ามีวัตถุท้องฟ้าบางอย่างที่ไม่สามารถระบุได้บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) ติดมาในภาพ และเมื่อกลับไปตรวจสอบภาพถ่ายในวันก่อนหน้า ก็พบวัตถุเดียวกันนี้ แต่มีการเปลี่ยนตำแหน่งเปลี่ยนไปเล็กน้อย จึงคาดว่าน่าจะเป็นดาวหางดวงใหม่ที่ไม่เคยมีใครค้นพบ

ฮิเดโอะ นิชิมูระ ได้ส่งข้อมูลไปยัง ‘Minor Planet Center’ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะช่วยตรวจสอบและยืนยันการค้นพบวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะอย่างเป็นทางการ และได้รับการยืนยันในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.2023 จึงกำหนดชื่อดาวหางดวงนี้อย่างเป็นทางการว่า “C/2023 P1 (Nishimura)” จัดเป็นดาวหางคาบยาวที่มีแหล่งที่มาจากเมฆออร์ต (Oort Cloud) มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 437 ปี โดยขณะนี้กำลังโคจรเข้าใกล้โลกและดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ และจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ.2023

#ต้องดูดาวหางนิชิมูระตอนไหน?
ในช่วงรุ่งเช้าทางทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ของวันที่ 8 กันยายน 2023 ดาวหางจะมีตำแหน่งปรากฏอยู่บริเวณกลุ่มดาวสิงโต (Leo) บริเวณใกล้กับดาวเรกูลัส (Regulus) ซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นมุมประมาณ 20 องศา ทำให้มีระยะเวลาสังเกตการณ์ประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้น และจากข้อมูลล่าสุดชี้ว่า ขณะนี้ดาวหางมีค่าความสว่างปรากฏ 5.2 สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าในพื้นที่ที่ไร้มลภาวะทางแสง

ในช่วงวันถัดมาหลังจากนี้ แม้ดาวหางจะโคจรเข้ามาใกล้โลกและดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกันดาวหางก็จะมีตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ทำให้ยิ่งมีเวลาในการสังเกตการณ์น้อยลงเรื่อยๆ และในวันที่ 12 กันยายน 2023 จะเป็นวันที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด ด้วยระยะห่าง 125 ล้านกิโลเมตร แต่ก็เป็นช่วงที่ดาวหางมีตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มาก ทำให้ยากต่อการสังเกตการณ์

หลังจากวันที่ 15 กันยายน 2023 ดาวหางจะเปลี่ยนมาปรากฏทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ และมีมุมปรากฏบนท้องฟ้าห่างออกจากดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มเคลื่อนตำแหน่งออกจากกลุ่มดาวสิงโต (Leo) จนกระทั่งในวันที่ 17 กันยายน 2023 จะเป็นวันที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดด้วยระยะห่าง 34 ล้านกิโลเมตร (ใกล้กว่าวงโคจรของดาวพุธประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์) และจะยิ่งมีความสว่างมากขึ้น โดยเว็บไซต์ Comet Observation database (COBS) คาดการณ์ว่า ดาวหางอาจมีค่าความสว่างปรากฏได้มากถึง 3.0 ซึ่งเป็นค่าความสว่างปรากฏที่สามารถสังเกตเห็นด้วยตาเปล่าได้ไม่ยากนัก

ในวันที่ 17 กันยายนนี้ จะสามารถสังเกตการณ์ดาวหางได้ในกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) ทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตก ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นมุมประมาณ 10 องศา มีเวลาสังเกตการณ์เกือบ 1 ชั่วโมงก่อนที่จะตกลับขอบฟ้าตามดวงอาทิตย์ไป ซึ่งหลังจากนี้ดาวหางจะค่อยๆ โคจรออกห่างจากดวงอาทิตย์ และมีความสว่างลดลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้อีก และจะโคจรกลับเข้ามาเฉียดโลกและดวงอาทิตย์อีกครั้งในอีกกว่า 400 ปีข้างหน้า

‘NARIT’ โชว์ภาพ ‘ดาวศุกร์’ ช่วงเช้าก่อนรุ่งสาง สว่างที่สุดเป็นครั้งที่ 2 และครั้งสุดท้ายในรอบปีนี้

(18 ก.ย.66) เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า…

ดาวศุกร์ หรือ ดาวประกายพรึก รุ่งเช้าวันนี้ครับ สวยงามและสว่างมาก 18 กันยายน 2566 ช่วงเช้าก่อนรุ่งสาง ดาวศุกร์ ปรากฏสว่างที่สุดครั้งที่ 2 และเป็นครั้งสุดท้ายในรอบปีนี้ ทางใต้ฟ้าดี #ทีมสงขลา เก็บภาพมาให้ชมกันครับ สว่างสวยงามมากกก ในขณะที่หลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องเลย ที่ไหนมองเห็นบ้างครับมาแชร์กันได้

ดาวศุกร์สว่างที่สุด (The Greatest Brilliancy) เป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม อาจมีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 (ดวงจันทร์เต็มดวง มีค่าอันดับความสว่างปรากฏ -12) หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ สำหรับในช่วงวันอื่น ๆ แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งที่อยู่ห่างจากโลก และขนาดปรากฏที่ลดลง ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย

หากดาวศุกร์ปรากฏบนฟ้าในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า คนไทยจะเรียกว่า ‘ดาวประจำเมือง’ แต่หากดาวศุกร์ปรากฏในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นคนไทยจะเรียกว่า ‘ดาวประกายพรึก’

ปรากฏการณ์ดาวศุกร์สว่างที่สุดครั้งถัดไป จะเกิดขึ้นในช่วงค่ำวันที่ 10 มกราคม 2568 ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า

‘NARIT’ ชี้!! ดวงอาทิตย์อาจเข้าสู่ ‘Solar Maximum’ กลางปีนี้ ‘ดาวเทียมนอกโลก-นักบินอวกาศ’ ต้องระวัง ส่วนนักล่าแสงเหนือได้เฮ

(28 ก.พ. 67) เพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ระบุว่า ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ผ่านแผ่นกรองแสงเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2024 เวลา 10:56 น. ตามเวลาประเทศไทย แสดงให้เห็นจุดบนดวงอาทิตย์ (sunspot) ขนาดใหญ่บริเวณซีกเหนือของดาว รวมถึงจุดขนาดเล็กอีก 6-7 จุด ซึ่งมีแนวโน้มที่จะพบจุดมากขึ้นเรื่อย ๆ เตรียมเข้าสู่ช่วง ‘Solar Maximum’ ตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป

ดวงอาทิตย์มีการปลดปล่อยพลังงานที่แตกต่างกันในแต่ละช่วง บางช่วงมีการปลดปล่อยพลังงานมาก และบางช่วงมีการปลดปล่อยพลังงานที่น้อย เกิดเป็นวัฏจักรที่มีคาบประมาณ 11-12 ปี เรียกว่า ‘วัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle)’ กล่าวคือ เป็นวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ ส่งผลให้แต่ละช่วงดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานแตกต่างกัน โดยช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานมากที่สุด เรียกว่า ‘Solar Maximum’ จะเป็น ช่วงที่มี sunspot บนพื้นผิวมากที่สุด และในทางตรงกันข้ามช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานน้อย (เงียบสงบ) และแทบจะไม่มี sunspot บนพื้นผิวเลย เรียกว่า ‘Solar Minimum’

ขณะนี้ ดวงอาทิตย์กำลังอยู่ในช่วงที่มี sunspot เพิ่มมากขึ้น และจากข้อมูลเชิงสถิติโดย National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA [1] คาดการณ์ไว้ว่า ดวงอาทิตย์จะเข้าสู่ช่วง Solar Maximum ในช่วงกลางปีนี้ ดวงอาทิตย์จะมี sunspot เพิ่มมากขึ้น เกิดพายุสุริยะบ่อยและรุนแรงมากขึ้น ซึ่งช่วงพีคของ Solar Maximum ในรอบนี้คาดว่าจะกินเวลาไปจนถึงปลายปี 2025 หลังจากนั้นจำนวน sunspot จะค่อย ๆ ลดลง แล้วไปน้อยลงที่สุดในช่วงปี 2033

ทั้งนี้ แม้จะเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานออกมามากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ส่งผลอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์โลกแต่อย่างใด เนื่องจากสนามแม่เหล็กและชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นของโลก จะสามารถป้องกันอนุภาคและรังสีพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์เอาไว้ได้ แต่สำหรับดาวเทียมที่โคจรอยู่นอกโลก อาจเกิดความเสียหายต่อระบบวงจรไฟฟ้าได้ รวมถึงนักบินอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจอยู่นอกโลก ก็อาจได้รับปริมาณรังสีและอนุภาคพลังงานสูงเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในช่วง Solar Maximum นี้ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการออกตามล่า ‘แสงออโรรา (Aurora)’ เนื่องจากเมื่ออนุภาคที่มีประจุจากดวงอาทิตย์เดินทางมาถึงโลก สนามแม่เหล็กโลกจะเบี่ยงทิศทางของอนุภาคเหล่านี้ให้พุ่งไปยังบริเวณขั้วทั้ง 2 ด้านของสนามแม่เหล็กโลก จากนั้นอนุภาคจะปะทะเข้ากับแก๊สในชั้นบรรยากาศโลก แล้วเกิดการปลดปล่อยแสงสว่างออกมาเป็นสีสันต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของแก๊ส โดยบริเวณขั้วของสนามแม่เหล็กโลกจะอยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ทำให้แสงสว่างที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้ พบได้เฉพาะพื้นที่ใกล้ขั้วโลกเท่านั้น เป็นที่มาของแสงออโรรา หรือ ‘แสงเหนือ-แสงใต้’ ดังนั้น การที่ดวงอาทิตย์อยู่ในช่วง Solar Maximum ก็จะมีอนุภาคจากดวงอาทิตย์มาปะทะกับโลกในอัตราที่สูงขึ้น ในช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่มีโอกาสเกิดแสงออโรรามากกว่าช่วงอื่นนั่นเอง

NARIT เผย!! 'แสงวาบ-ลูกไฟ' คาดเป็น 'ดาวตกชนิดระเบิด' ชี้!! หากพบลูกไฟ 2 ครั้งในพื้นที่เดียวกันช่วงนี้ ไม่ถือว่าผิดปกติ

(7 มี.ค.67) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. (NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผยว่า ช่วงหัวค่ำ 6 มีนาคม 2567 มีผู้พบเห็นแสงสว่างวาบเป็นทางยาว เหนือท้องฟ้าหลายพื้นที่ในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ของไทย แสงดังกล่าวปรากฏขึ้นประมาณสองครั้ง เวลาประมาณ 19:13 น. มีลักษณะหัวเป็นสีฟ้า หางเป็นสีเขียว จากนั้นแตกออกเป็น 2-3 ส่วน และเวลาประมาณ 20:21 น. ปรากฏขึ้นอีกหนึ่งครั้ง มีสีส้ม มองเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน คาดว่าเป็น 'ดาวตกชนิดระเบิด'

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า สำหรับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำวันที่ 6 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา มีผู้พบเห็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้าคล้ายดาวตก 2 ครั้ง ติดต่อกัน ครั้งแรกเวลาประมาณ 19:13 น. ปรากฏเป็นทางยาวพาดผ่านท้องฟ้าจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ส่วนหัวมีสีฟ้า ส่วนหางมีสีเขียว ขณะเดียวกันได้แตกออกเป็น 2-3 ส่วน ส่วนหัวมีสีส้ม หางสีเขียว จากนั้นอีกประมาณ 1 ชั่วโมงถัดมา ปรากฏขึ้นอีกครั้งเวลาประมาณ 20:21 น. มีสีส้ม พบเห็นแต่ละครั้งนานประมาณ 10 วินาที

เหตุการณ์ครั้งนี้พบเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในหลายจังหวัดกระจายอยู่เกือบทุกภูมิภาคของไทย อาทิ ราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ อยุธยา ฉะเชิงเทรา กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ ศรีสะเกษ ชุมพร บุรีรัมย์ ชลบุรี สมุทรสาคร นครปฐม นครนายก ระยอง ชัยภูมิ เชียงใหม่ เป็นต้น

จากข้อมูลดังกล่าวคาดว่าอาจเป็นดาวตกชนิดระเบิด ซึ่งเกิดจากวัตถุท้องฟ้าขนาดเล็ก เช่นดาวเคราะห์น้อย หรือเศษชิ้นส่วนที่กระเด็นจากการพุ่งชนบนดวงจันทร์หรือดาวอังคาร เป็นต้น เมื่อเศษชิ้นส่วนดังกล่าวเคลื่อนที่เข้ามายังชั้นบรรยากาศโลก เสียดสีกับอนุภาคในชั้นบรรยากาศ เกิดความร้อนสูงจนลุกไหม้จึงมองเห็นเป็นแสงสว่างวาบพาดผ่านท้องฟ้า ที่เราเรียกว่า ดาวตก 

กรณีที่เศษชิ้นส่วนมีขนาดใหญ่ ความร้อนและแสงสว่างที่เกิดขึ้นก็จะมากขึ้นตามไปด้วย หากมีความสว่างเทียบเท่ากับความสว่างของดวงจันทร์เต็มดวง หรือเกิดการระเบิดขึ้นกลางอากาศ นักดาราศาสตร์จะเรียกว่า ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide)

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดาวตกในครั้งนี้ยังปรากฏสีที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งสีเขียว สีฟ้า สีส้ม โดยมีปัจจัยที่ส่งผลต่อสีของดาวตก ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยได้แก่ องค์ประกอบทางเคมี โมเลกุลของอากาศโดยรอบ ขณะพุ่งเข้าชนกับชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่าง ๆ เราจึงมองเห็นสีของดาวตกปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน

ในแต่ละวันจะมีวัตถุขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกเป็นจำนวนมาก เราสามารถพบเห็นได้เป็นลักษณะคล้ายดาวตก และยังมีอุกกาบาตตกลงมาถึงพื้นโลกประมาณ 44-48.5 ตันต่อวัน แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ห่างไกลผู้คน จึงไม่สามารถพบเห็นได้ ดาวตกนั้นจึงเป็นเรื่องปกติ และสามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ในช่วง 2 วัน มีลูกไฟโผล่มารัวๆ มีอะไรที่ต้องกลัวหรือไม่นั้น? ด้าน สมาคมดาราศาสตร์ ได้เผยว่า จากสถิติ ดาวตกที่สว่างระดับลูกไฟมีคืนละกว่าร้อยดวงทั่วโลก ดังนั้น การที่พบลูกไฟสองครั้งในพื้นที่เดียวกันภายในเวลา 2 วัน ยังไม่ถือว่าผิดปกติ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top