‘NARIT’ ชี้!! ดวงอาทิตย์อาจเข้าสู่ ‘Solar Maximum’ กลางปีนี้ ‘ดาวเทียมนอกโลก-นักบินอวกาศ’ ต้องระวัง ส่วนนักล่าแสงเหนือได้เฮ

(28 ก.พ. 67) เพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ระบุว่า ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ผ่านแผ่นกรองแสงเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2024 เวลา 10:56 น. ตามเวลาประเทศไทย แสดงให้เห็นจุดบนดวงอาทิตย์ (sunspot) ขนาดใหญ่บริเวณซีกเหนือของดาว รวมถึงจุดขนาดเล็กอีก 6-7 จุด ซึ่งมีแนวโน้มที่จะพบจุดมากขึ้นเรื่อย ๆ เตรียมเข้าสู่ช่วง ‘Solar Maximum’ ตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป

ดวงอาทิตย์มีการปลดปล่อยพลังงานที่แตกต่างกันในแต่ละช่วง บางช่วงมีการปลดปล่อยพลังงานมาก และบางช่วงมีการปลดปล่อยพลังงานที่น้อย เกิดเป็นวัฏจักรที่มีคาบประมาณ 11-12 ปี เรียกว่า ‘วัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle)’ กล่าวคือ เป็นวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ ส่งผลให้แต่ละช่วงดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานแตกต่างกัน โดยช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานมากที่สุด เรียกว่า ‘Solar Maximum’ จะเป็น ช่วงที่มี sunspot บนพื้นผิวมากที่สุด และในทางตรงกันข้ามช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานน้อย (เงียบสงบ) และแทบจะไม่มี sunspot บนพื้นผิวเลย เรียกว่า ‘Solar Minimum’

ขณะนี้ ดวงอาทิตย์กำลังอยู่ในช่วงที่มี sunspot เพิ่มมากขึ้น และจากข้อมูลเชิงสถิติโดย National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA [1] คาดการณ์ไว้ว่า ดวงอาทิตย์จะเข้าสู่ช่วง Solar Maximum ในช่วงกลางปีนี้ ดวงอาทิตย์จะมี sunspot เพิ่มมากขึ้น เกิดพายุสุริยะบ่อยและรุนแรงมากขึ้น ซึ่งช่วงพีคของ Solar Maximum ในรอบนี้คาดว่าจะกินเวลาไปจนถึงปลายปี 2025 หลังจากนั้นจำนวน sunspot จะค่อย ๆ ลดลง แล้วไปน้อยลงที่สุดในช่วงปี 2033

ทั้งนี้ แม้จะเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานออกมามากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ส่งผลอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์โลกแต่อย่างใด เนื่องจากสนามแม่เหล็กและชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นของโลก จะสามารถป้องกันอนุภาคและรังสีพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์เอาไว้ได้ แต่สำหรับดาวเทียมที่โคจรอยู่นอกโลก อาจเกิดความเสียหายต่อระบบวงจรไฟฟ้าได้ รวมถึงนักบินอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจอยู่นอกโลก ก็อาจได้รับปริมาณรังสีและอนุภาคพลังงานสูงเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในช่วง Solar Maximum นี้ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการออกตามล่า ‘แสงออโรรา (Aurora)’ เนื่องจากเมื่ออนุภาคที่มีประจุจากดวงอาทิตย์เดินทางมาถึงโลก สนามแม่เหล็กโลกจะเบี่ยงทิศทางของอนุภาคเหล่านี้ให้พุ่งไปยังบริเวณขั้วทั้ง 2 ด้านของสนามแม่เหล็กโลก จากนั้นอนุภาคจะปะทะเข้ากับแก๊สในชั้นบรรยากาศโลก แล้วเกิดการปลดปล่อยแสงสว่างออกมาเป็นสีสันต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของแก๊ส โดยบริเวณขั้วของสนามแม่เหล็กโลกจะอยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ทำให้แสงสว่างที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้ พบได้เฉพาะพื้นที่ใกล้ขั้วโลกเท่านั้น เป็นที่มาของแสงออโรรา หรือ ‘แสงเหนือ-แสงใต้’ ดังนั้น การที่ดวงอาทิตย์อยู่ในช่วง Solar Maximum ก็จะมีอนุภาคจากดวงอาทิตย์มาปะทะกับโลกในอัตราที่สูงขึ้น ในช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่มีโอกาสเกิดแสงออโรรามากกว่าช่วงอื่นนั่นเอง