Monday, 21 April 2025
MALAYSIA

รมว.ต่างประเทศมาเลย์ยัน ทักษิณ เหมาะสมนั่งที่ปรึกษาประธานอาเซียน เชื่อทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธ์สองมหาอำนาจได้

นายโมฮัมหมัด ฮะซัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวในการแถลงข่าวเกี่ยวกับการเตรียมดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของมาเลเซียในปี 2025 โดยในตอนหนึ่งของการแถลง หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกผู้สื่อข่าวถามถึงเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม จะแต่งตั้งให้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของประธานอาเซียนในปีหน้า

โดยนายฮะซัน กล่าวถึงเหตุผลที่นายกฯมาเลย์เลือกนายทักษิณว่า “อดีตนายกฯทักษิณ เป็นผู้ทรงอิทธิพลในไทย ได้รับการยอมรับจากสหรัฐ และมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน นั่นทำให้เขาเหมาะสมในการทำหน้าที่สะพานเชื่อมอาเซียน ระหว่างสองมหาอำนาจ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น"

อย่างไรก็ดี การแต่งตั้งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยให้เป็น 'ที่ปรึกษาส่วนตัว' ของนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ในช่วงที่มาเลเซียจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2025 นั่นได้สร้างข้อวิจารณ์มากมายจากทั้งฝ่ายค้านของมาเลเซีย ตลอดจนบรรดานักวิชาการของมาเลเซีย

โดยนายอาห์หมัด ฟัดห์ลี ชารี หัวหน้าฝ่ายข้อมูลของพรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่าเป็นการกระทำที่ 'ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน' และตั้งคำถามว่า การแต่งตั้งครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่ออาเซียนหรือเป็นการเสริมภาพลักษณ์ของนายอันวาร์ในระดับสากลกันแน่

เช่นเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรี นายมหาธีร์ โมฮัมหมัด ก็แสดงความสงสัยเกี่ยวกับการเลือกทักษิณ โดยกล่าวว่า “ผมไม่รู้ทำไมเขาถึงเลือกทักษิณ เรามีคนให้เลือกมากมาย และทักษิณมีปัญหาทางกฎหมายของตัวเอง แต่ก็เป็นสิทธิ์ของนายอันวาร์ในการเลือก”

ขณะที่นักวิชาการบางรายกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวนี้อาจเป็นข้อเสีย หากถูกมองว่าเป็นการขาดความมั่นใจในรัฐบาลของตัวเองในการบริหารจุดยืนของอาเซียนระหว่างสองขั้วมหาอำนาจทั้งจีนและสหรัฐฯ แต่นักวิชาการบางคนมองว่า การแต่งตั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้มีความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยแนะนำรัฐบาลมาเลเซียในเรื่องสำคัญต่าง ๆ ที่อาเซียนจะเผชิญในอนาคต

มาเลเซียฟื้นภารกิจค้นหาเที่ยวบิน MH370 ตั้งเงินรางวัล 70 ล้านดอลลาร์ หากพบเบาะแส

(20 ธ.ค.67) รัฐบาลมาเลเซียแถลงว่าจะรื้อฟื้นภารกิจค้นหาเที่ยวบิน  MH370 ที่หายไป หลังจากหายไปมากกว่า 10 ปี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปริศนาใหญ่ที่สุดในวงการการบินโลก 

เที่ยวบิน MH370 ซึ่งเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 777 บรรทุกผู้โดยสาร 227 คนและลูกเรือ 12 คน ได้หายไปในระหว่างการเดินทางจากกัวลาลัมเปอร์ไปปักกิ่ง เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2014

ในคำแถลงของรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของมาเลเซีย แอนโทนี โล๊ค ได้กล่าวว่า ข้อเสนอในการค้นหาเที่ยวบิน MH 370 บนพื้นที่ใหม่ในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ ตกเป็นของบริษัท Ocean Infinity ซึ่งเคยดำเนินการค้นหาครั้งล่าสุดจนสิ้นสุดในปี 2018 หากบริษัทนี้สามารถค้นพบเบาะแสสำคัญที่นำไปสู่การไขปริศนาจะได้รับเงินรางวัล 70 ล้านดอลลาร์ (ราว 2,400 ล้านบาท) 

ในแถลงการณ์ว่า รัฐบาลมาเลเซียมี 'ความรับผิดชอบและภาระหน้าที่' ต่อผู้คนที่สูญเสียคนที่รักเมื่อเครื่องบินหลุดจากเรดาร์ในมหาสมุทรเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2557 เขากล่าวเสริมว่ารัฐบาลของเขาหวังที่จะ 'ให้ความกระจ่าง' แก่ครอบครัวที่ตั้งคำถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

จากการสืบสวนของมาเลเซียในตอนแรกไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ว่าเครื่องบินถูกบังคับออกนอกเส้นทางโดยเจตนา กระทั่งพบหลักฐานเป็นชิ้นส่วนที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นของเที่ยวบินดังกล่าวลอยขึ้นฝั่งแอฟริกาและเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรอินเดีย ทำให้รัฐบาลเปลี่ยนมามุ่งค้นหาบริเวณพื้นที่มหาสมุทรอินเดียแทน

ทั้งนี้ แม้การค้นหายังไร้เบาะแสสำคัญ แต่ที่ผ่านมาบรรดาญาติของผู้สูญหายได้เรียกร้องให้มีการชดเชยจากมาเลเซียแอร์ไลน์ โบอิ้ง ผู้ผลิตเครื่องยนต์ Rolls-Royce และกลุ่มประกัน Allianz ซึ่งเป็นบริษัทผู้เอาประกันของเครื่องบินดังกล่าว แต่ก็ยังไร้ความคืบหน้าในการจ่ายค่าเสียหายชดเชยเช่นกัน

'สิงคโปร์-มาเลเซีย' ผุดแผนปั้น 'ยะโฮร์' ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ หวังเป็นศูนย์กลางการค้า-เทคโนโลยี แบบ 'เซินเจิ้น'

(8 ม.ค.68) สิงคโปร์และมาเลเซียประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญ ด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ที่มีขนาดใหญ่ถึง 3,500 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าสิงคโปร์ถึง 4 เท่า และใหญ่กว่าเซินเจิ้น 2 เท่า โดยตั้งเป้าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทะลุ 9 แสนล้านบาทต่อปี พร้อมทั้งสร้างงานนับแสนตำแหน่ง  

เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่นี้มีเป้าหมายดึงดูดโครงการลงทุนกว่า 50 โครงการในช่วง 5 ปีแรก และเพิ่มเป็น 100 โครงการภายใน 10 ปีแรก ทั้งนี้ การร่วมมือดังกล่าวคาดว่าจะช่วยสร้างอาชีพนับแสนตำแหน่ง พร้อมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9 แสนล้านบาทต่อปี ภายในปี 2030  

พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่นี้จะตั้งอยู่บริเวณพรมแดนรัฐยะโฮร์ของมาเลเซีย เชื่อมต่อกับสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้สัญจรผ่านพรมแดนกว่า 3 แสนรายต่อวัน ทำเลดังกล่าวถูกมองว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน  

ความร่วมมือดังกล่าวถูกพูดถึงมาหลายปี โดยแผนเดิมคือการลงนามข้อตกลงตั้งแต่ปี 2024 แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ของสิงคโปร์ ติดโควิดในช่วงนั้น จึงเลื่อนมาเริ่มต้นในเดือนมกราคม ปี 2025  

นี่ไม่ใช่ความร่วมมือครั้งแรกระหว่างสองประเทศ ก่อนหน้านี้ สิงคโปร์และมาเลเซียเคยพยายามพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงมูลค่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่โครงการดังกล่าวต้องชะลอไปเนื่องจากปัญหาทางการเงินและการจัดการ  

แม้จะมีความคืบหน้า แต่ยังคงมีประเด็นที่ต้องแก้ไข เช่น การจัดการเรื่องภาษีที่แตกต่างกัน (ภาษีเงินได้นิติบุคคลของสิงคโปร์อยู่ที่ 17% ขณะที่มาเลเซียอยู่ที่ 24%) รวมถึงปัญหาด้านระบบอนุญาตข้ามพรมแดน การนำยานยนต์เข้าสู่พื้นที่ และความแตกต่างในขั้นตอนดิจิทัล เช่น สิงคโปร์มีระบบ QR-code สำหรับข้ามแดนที่พัฒนาไปไกลกว่ามาเลเซีย  

ถึงแม้จะมีอุปสรรค แต่ทั้งสองประเทศยังคงเดินหน้าพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ โดยคาดว่าแรงจูงใจด้านภาษีและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ช่วยผลักดันให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จในอนาคต

มาเลเซียเบรกเมียนมา สร้างสันติภาพในประเทศก่อนเปิดหีบ

(20 ม.ค. 68) ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาดำเนินการเจรจาสันติภาพและยุติการใช้กำลังในทันที พร้อมเตือนว่าแผนการจัดการเลือกตั้งท่ามกลางสถานการณ์สงครามกลางเมืองที่ทวีความรุนแรง ไม่ควรถูกจัดให้เป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ

นายโมฮัมหมัด ฮาซัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย และประธานอาเซียนหมุนเวียนในปีนี้ กล่าวระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เกาะลังกาวี มาเลเซีย ว่า อาเซียนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งในเมียนมายุติการต่อสู้ และเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงพื้นที่โดยปราศจากอุปสรรค

"มาเลเซียต้องการทราบว่าเมียนมาคิดอย่างไร และเราได้แจ้งชัดเจนว่า การจัดการเลือกตั้งไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือการหยุดยิง" นายโมฮัมหมัดกล่าว

นอกจากนี้ มาเลเซียได้แต่งตั้งนายโอธมัน ฮาชิม อดีตนักการทูต เป็นผู้แทนพิเศษด้านวิกฤตการณ์ในเมียนมา โดยนายโอธมันจะเดินทางไปยังเมียนมาในเร็ว ๆ นี้ เพื่อผลักดันให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามแผนสันติภาพ 5 ข้อของอาเซียน ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ

ทั้งนี้ สหประชาชาติรายงานว่า ความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมาอยู่ในระดับวิกฤต โดยประชาชนเกือบ 20 ล้านคน หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด กำลังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top