Wednesday, 23 April 2025
Hyperloop

'โซเชียล' แซะ Hyperllop อนาคตใหม่ที่ 'ธนาธร' เคยชู เร็วกว่าถูกกว่ารถไฟความเร็วสูง สุดท้ายเป็นที่จอดรถ

(11 พ.ย.65) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Samanya Akkawootwanich ได้โพสต์แชร์มุมมองในฐานะคนเรียนฟิสิกส์เกี่ยวกับโครงการ Hyperloop ของ Space X (อีลอน มัสก์) ที่กำลังถูกรื้อถอน เพื่อใช้พื้นที่ทำเป็นลานจอดรถ กระทบชิ่งไปถึงนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เคยกล่าวถึงโครงการนี้ว่าเป็นอนาคตใหม่แห่งการเดินทางที่ดีกว่ารถไฟความเร็วสูง ว่า...

ในฐานะคนเรียนฟิสิกส์

Hyperloop ตามความคิดของ Elon Musk เขาลืมคิดถึงหลักสำคัญไปอย่างหนึ่ง คือ...

แรงดึงดูดของโลก Gravity แรงเสียดทาน Friction  มีผลต่อการถ่วงความเร็ว มากกว่าอากาศมาก

หลักแรงผลักของแม่เหล็กไฟฟ้าที่ดันให้รถไฟความเร็วสูงลอยบนรางคือ หลักการที่มีประสิทธิภาพที่สุด 

‘อ.เจษฎา’ ชี้!! ไฮเปอร์ลูป ยังเดินหน้า หลายบริษัทยังพัฒนาระบบกันต่อเนื่อง แม้ ‘ไฮเปอร์ลูปวัน’ จะโบกมือลา หลังจากประสบปัญหาทางธุรกิจ

(22 ธ.ค. 66) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวกรณีบริษัทไฮเปอร์ลูปวัน ล้มเหลวทางธุรกิจ ไว้ว่า…

“น่าเสียดายว่า บริษัทไฮเปอร์ลูปวัน ล้มเหลวทางธุรกิจ… แต่โครงการวิจัยพัฒนาระบบไฮเปอร์ลูปของทีมอื่นๆ ยังดำเนินต่อไปครับ”

สำหรับท่านที่สนใจติดตามข่าวความคืบหน้าของการพัฒนาระบบ ‘ไฮเปอร์ลูป hyperloop’ ที่จะเป็นนวัตกรรมใหม่ในการใช้ยานขนส่งระบบลอยตัวด้วยแม่เหล็ก ที่วิ่งด้วยความเร็วสูงมากๆ ในท่อลดความดันให้ใกล้สุญญากาศ ซึ่งจะช่วยลดกระแสลมต้านทานทางอากาศพลศาสตร์ลง และทำให้รถมีความเร็วสูงขึ้นมาก…

วันนี้มีข่าวน่าเสียดาย ที่หนึ่งในบริษัทที่แข่งขันกันพัฒนาระบบนี้ กำลังจะปิดตัวเองลงครับ ด้วยความล้มเหลวทางธุรกิจ (แต่ทีมวิจัยอื่นๆ ทั่วโลก ก็ยังคงแข่งขันกันทำอยู่ต่อไปครับ)

บริษัทดังกล่าวคือ ‘บริษัท Hyperloop One ไฮเปอร์ลูป’ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่ในการสนับสนุนของเครือ เวอร์จิ้นกรุ๊ป (Virgin Group) ของมหาเศรษฐี ‘Richard Branson’ กำลังจะหยุดประกอบการในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ตามรายงานของสำนักข่าว  Bloomberg (ดู >> https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-12-21/hyperloop-one-to-shut-down-after-raising-millions-to-reinvent-transit) โดยรายงานข่าว ระบุว่าทางบริษัท Hyperloop One
ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Los Angeles จะปลดคนงานทั้งหมดออก และขายทรัพย์สินทั้งหมดที่มี

ระบบไฮเปอร์ลูป เป็นไอเดียที่มหาเศรษฐี ‘Elon Musk’ ซีอีโอของบริษัท Tesla และ SpaceX  ได้เคยเสนอแนวทางเอาไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013  และหลังจากนั้น บริษัท Hyperloop One ก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2014 และระดมทุนได้ถึง 450 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลงทุนไปแล้วหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

บริษัทนี้เป็นหนึ่งในอีกหลายบริษัทและองค์กรของรัฐบาลทั่วโลก ที่พยายามพัฒนาระบบขนส่งคนและสินค้า ที่อาศัยยานขนส่งซึ่งอยู่ในท่อลดความดันจนใกล้สุญญากาศ และจะทำความเร็วได้ถึง700 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ในปลายปี ค.ศ. 2020 บริษัท Hyperloop One ประสบความสำเร็จในการวิ่งทดสอบครั้งแรกพร้อมกับมีผู้โดยสารอยู่ในรางทดสอบด้วย และทำความเร็วได้ที่ 172 กม/ชม. แต่หลังจากนั้น สาธารณชนเริ่มเห็นปัญหาทางธุรกิจของบริษัท เมื่อบริษัทได้ลดจำนวนคนงานลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 และประกาศเปลี่ยนเป้าหมายจากการขนส่งคน ไปเน้นที่ขนส่งสินค้าแทน และในปลายปี 2022 ก็มีข่าวว่าชื่อ ‘Virgin’ ได้ถูกนำออกจากชื่อของบริษัท

จริงๆ แล้ว มีการเปลี่ยนแปลงวุ่นวายเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งแล้ว กับบริษัท Hyperloop One เช่น การฟ้องร้องกันเองระหว่างเหล่าผู้ก่อตั้งบริษัท จนบริษัทมาอยู่ในมือของ Richard Branson ในปี ค.ศ. 2017 และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Virgin Hyperloop One’

และเมื่อ Richard Branson ไปวิพากษ์วิจารณ์ประเทศซาอุดีอาราเบีย จากกรณีการฆาตกรรม ‘นาย Jamal Khashoggi’ ในปี ค.ศ. 2018 ทางราชวงศ์ของซาอุดีอาราเบียก็ได้แสดงความไม่พอใจโดยออกมายื้อโครงการเอาไว้ และทำให้ Richard Branson ต้องออกจากตำแหน่งประธานบริษัทไป 

ผลที่ตามมาคือ ในช่วงต้นปี ค.ศ.2022 บริษัท DP World ที่เป็นบริษัทบริหารจัดการท่าเรือดูไบ ได้เข้ามาควบคุมดูแลบริษัท Virgin Hyperloop One นี้แทน และเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาโครงการไฮเปอร์ลูป จากที่จะใช้ขนส่งคน มาเป็นขนส่งสินค้าแทน พร้อมกับลดจำนวนสตาฟลงครึ่งหนึ่งและเอาชื่อ Virgin ออกจากชื่อบริษัท 

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า บริษัท DP World จะรวบรวมเอาทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท Hyperloop One ไปดูแลเอง ขณะที่ทรัพย์สินที่เหลือที่เป็นวัสดุสิ่งของที่เหลือ ซึ่งรวมถึง ‘รางทดสอบ’ ที่เมือง Las Vegas และเครื่องจักรอื่นๆ ก็จะถูกขายทิ้งไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความฝันของบริษัท Hyperloop One จะจบลงพร้อมกับความล้มเหลวทางธุรกิจ แต่ก็ยังมีอีกหลายบริษัทที่กำลังพัฒนาระบบไฮเปอร์ลูป เพื่อพิสูจน์ถึงความเป็นไปได้ของแนวคิดนี้

ดังเช่นที่ผมเคยโพสต์เรื่อง ‘ความคืบหน้าล่าสุด ของระบบ hyperloop ไฮเปอร์ลูป ของประเทศจีน ไว้แล้ว โดยทวีตของ China Science ได้ระบุว่า ประเทศจีนกำลังเข้าใกล้สู่ความสำเร็จในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนแบบล้ำยุค ที่ประกอบไปด้วยรถไฟฟ้าแบบลอยตัวด้วยแม่เหล็ก (หรือแม็กเลฟ) ที่มีความเร็วสูงถึง 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยวิ่งอยู่ในอุโมงค์ความดันต่ำใกล้สุญญากาศ ล่าสุดได้สร้างท่ออุโมงค์ทดสอบ ขนาดเท่าของจริง (full scale) ที่มีความยาวถึง 2 กิโลเมตรสำเร็จแล้ว ที่มณฑลซานซี (Shanxi) และถือว่ามีขนาดยาวที่สุดตั้งแต่ที่เคยมีการสร้างกันมาทั่วโลก (ดู ภาพและข้อมูลจาก >> https://twitter.com/ChinaScience/status/1727552557793620192)

นอกจากนี้ อีกบริษัทหนึ่งที่ค่อนข้างมีความคืบหน้าไปมาก คือ ‘บริษัท TransPod’ ของประเทศแคนาดา ตั้งอยู่ที่เมือง Toronto ซึ่งเมื่อต้นปี 2023 บริษัท TransPod ได้กลายเป็นบริษัทไฮเปอร์ลูปรายแรกของโลก ที่ยืนยันถึงการก่อสร้างอินฟราสตรักเจอร์ของโครงการขนส่งมวลชนทั้งหมด ด้วยงบประมาณรวมกว่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งในนั้นมีการยืนยันที่จะใช้เงินกว่า 550 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการสร้างระบบไฮเปอร์ลูประหว่างเมือง Edmonton และเมือง Calgary และจะทำให้การเดินทางระหว่างสองเมืองนี้ ใช้เวลาเพียง 45 นาทีเท่านั้น

ตามที่บริษัท TransPod แถลงไว้ เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปของพวกเขาถูกออกแบบมาให้มีความเร็วสูงถึง 1,000 กม/ชม. และเคลมว่าระบบขนส่งมวลชนในท่อของพวกเขานั้น จะมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการต่ำกว่ารถไฟความเร็วสูง และสามารถรองรับการขนส่งได้เท่าเทียมหรือยิ่งกว่ารถไฟความเร็วสูงด้วย (ดู >> https://dailyhive.com/calgary/transpod-tube-edmonton-calgary-five-stops)

#ความเห็นทิ้งท้าย ก็เข้าใจนะครับว่าหลายคนมองเรื่อง ‘ไฮเปอร์ลูป’ เป็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องความเกลียดชังหมั่นไส้ธนาธรและอนาคตใหม่ (ผมก็ไม่คิดว่าเราจะสร้างไฮเปอร์ลูปในประเทศไทยเราได้หรอก… เอาแค่รถไฟความเร็วสูง ให้สำเร็จกันก่อนเถอะ) แต่ผมไม่สนใจประเด็นพวกนี้นะ ผมสนใจในประเด็นความท้าทายเชิงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ที่จะพัฒนาสิ่งที่ดูเหมือนความฝันเหล่านี้ ให้มันสำเร็จ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ปีนี้ปีหน้า หรือสิบปียี่สิบปีหน้า แต่สักวันหนึ่ง ผมว่าไฮเปอร์ลูปน่าจะทำได้จริง และจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมของลูกหลานเราในอนาคตครับ

'ยุโรป' ทดสอบ 'ไฮเปอร์ลูป' สำเร็จเป็นครั้งแรก ที่ความเร็ว 30 กม./ชม. คาด!! พัฒนาสู่ 100 กม./ชม. ในสิ้นปีนี้ และ 700 กม./ชม.ในปี 2030

(10 ก.ย. 67) สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า ความฝันที่จะเดินทางภาคพื้นดินระหว่างเมืองต่าง ๆ ของยุโรปด้วยความเร็วมากกว่า 700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขยับเข้าใกล้ไปอีกก้าว หลังจากการทดสอบยาน ณ ศูนย์ไฮเปอร์ลูปยุโรป ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ (9 ก.ย.) เป็นการทดสอบต่อหน้าแขกผู้มีเกียรติ 300 คน ในนั้นรวมถึงเจ้าชายคอนสแตนติน แห่งเนเธอร์แลนด์ ที่ทอดพระเนตรผ่านจอยักษ์

แคปซูลลอยได้ ลายสีเทาอ่อนและเทาเข้ม ลอยอยู่ภายในอุโมงค์สีขาวความยาว 420 เมตร ตามคำสั่งของศูนย์ควบคุมภารกิจ ก่อนพุ่งออกไปด้วยแรงขับเคลื่อนพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม การทดสอบครั้งนี้ไม่มีมนุษย์อยู่ในแคปซูลแต่อย่างใด

ณ เวลานี้ แคปซูลทำความเร็วได้ค่อนข้างต่ำ แค่ราว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ฝ่ายปฏิบัติการหวังว่ามันจะสามารถทำความเร็วแตะระดับ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในสิ้นปี ในขณะที่พวกเขาพยายามเร่งมือหาทางเปิดตัวระบบขนส่งล้ำสมัยนี้ภายในปี 2030

"เราจะพร้อมสำหรับขนส่งผู้โดยสารภายในยาน ราวปี 2030" โรเอล ฟาน เดอ ปาส ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าของ Hardt Hyperloop บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

ฟาน เดอ ปาส เชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่เทคโนโลยีนี้จะเป็นตัวปฏิวัติการเดินทางในยุโรป สามารถเดินทางจากอัมสเตอร์ดัมไปยังเบอร์ลิน เพียง 90 นาที หรือไปมิลาน ใน 2 ชั่วโมง

อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งสเปซเอ็กซ์และเทสลา นำพาไฮเปอร์ลูปเข้าสู่วัฒนธรรมประชานิยม ด้วยเอกสารฉบับหนึ่งในปี 2013 เสนอ ‘การขนส่งชนิดที่ 5’ เชื่อมซานฟรานซิสโกกับลอสแองเจลิส แต่ความพยายามเปิดตัวเทคโนโลยีนี้หลายต่อหลายครั้งประสบความล้มเหลว 

โดย ริชาร์ด แบรนสัน มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ และพวกนักวิจารณ์ต่างพากันพูดว่า คำว่า "hype (เกินจริง)" เป็นคำที่ตรงประเด็นที่สุดของชื่อ ‘ไฮเปอร์ลูป (hyperloop)’

ฟาน เดอ ปาส กล่าวว่า "ไม่ได้จะบอกว่ามันกำลังเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่เรามีภายในยุโรป แต่มันจะเป็นการบูรณาการทวีปแห่งนี้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง"

ก้าวย่างถัดจากนี้จะเป็นการทดสอบภายใต้สภาพแวดล้อมสุญญากาศโดยสมบูรณ์ อากาศเกือบทั้งหมดจะถูกดูดออกจากท่อเพื่อลดแรงต้านของอากาศ และค่อย ๆ เพิ่มความเร็วอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ศูนย์ไฮเปอร์ลูปยุโรป (European Hyperloop Centre) เป็นโรงงานเพียงแห่งเดียวของโลก ที่มีฟีเจอร์ ‘เปลี่ยนเลน’ หรืออุโมงค์สาขาที่แยกออกมาจากเส้นทางหลัก เปิดทางให้นักวิทยาศาสตร์ทดสอบการเปลี่ยนเส้นทางด้วยความเร็ว ซึ่งสำคัญมากสำหรับการสร้างเครือข่ายอุโมงค์ไฮเปอร์ลูป

Hardt Hyperloop หวังเริ่มทำการทดสอบการเปลี่ยนเลนด้วยแคปซูลอย่างเร็วที่สุด และท้ายที่สุดแล้วก็จะสร้างศูนย์อีกแห่งที่มีขนาดใหญ่กว่า เพื่อที่สามารถทดสอบแคปซูล ไปให้ถึงระดับความเร็งสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ฟาน เดอ ปาส ระบุว่าเป้าหมายในท้ายที่สุดของไฮเปอร์ลูป คือทดแทนเที่ยวบินยุโรประยะใกล้และการขับรถระยะไกลข้ามทวีป ซึ่งบางทีค่าตั๋วอาจพอ ๆ กับเครื่องบินสายการบินต้นทุนต่ำ

ความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายไฮเปอร์ลูปที่ชุมชนอาจเป็นการช่วยรักษาสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืนเช่นกัน โดยระบบไฮเปอร์ลูปใช้พลังงานเพียงแค่ 1 ใน 10 ของธุรกิจการบิน และ 1 ใน 3 ของการขนส่งทางราง และปราศจากเสียงรบกวนโดยสิ้นเชิง เนื่องจากมันเดินทางอยู่ในอุโมงค์ปิด

เครือข่ายอุโมงค์สามารถนำไปวางตามถนนมอเตอร์เวย์สายต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และศูนย์ไฮเปอร์ลูปยุโรป เคยทดลองมาแล้ว ในการสร้างความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ด้วยการทาสีอุโมงค์ช่วงหนึ่ง ทำให้มันดูเหมือนกับป่า

หนึ่งในความกังวลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาบ่อยครั้งก็คือประสบการณ์ของผู้โดยสาร การกรีดร้องขณะที่พุ่งผ่านอุโมงค์แคบ ๆ ด้วยความเร็วเสียง ดังนั้นแนวคิดนี้คงไม่ใช่การเดินทางที่สะดวกสบายสำหรับทุกคน

อย่างไรก็ตาม ทาง ฟาน เดอ ปาส ให้สัญญาว่าการเดินทางด้วยไฮเปอร์ลูปจะเป็นไปอย่างราบรื่นและสะดวกสบาย เขาชี้แจงว่าไฮเปอร์ลูป ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะบรรทุกผู้โดยสารได้ราว 50 คนหรือมากกว่านั้น จะมีระดับการสั่นสะเทือนและสะดวกสบายพอ ๆ กับรถไฟสมัยใหม่

ก่อนหน้านี้ ‘จีน’ ได้ทำการทดสอบไฮเปอร์ลูปในโรงงาน ที่สามารถพุ่งด้วยความเร็วสูงสุด 700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ ฟาน เดอ ปาส ยินดีต่อการแข่งขันในระดับนานาชาติ "เราต้องการการแข่งขันที่ดี และเรากำลังเดินหน้าในภารกิจเดียวกัน เราอยากทำให้การเดินทางในระยะไกลเช่นนี้ ก่อมลพิษเป็นศูนย์" เขาบอกกับเอเอฟพี "เราจับตามองในสิ่งที่คู่แข่งกำลังทำอยู่ และพวกเขาก็มองมาที่เราเช่นกัน และเมื่อรวมกันแล้ว พวกเขากำลังสร้างอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ ขึ้นมา"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top