'ยุโรป' ทดสอบ 'ไฮเปอร์ลูป' สำเร็จเป็นครั้งแรก ที่ความเร็ว 30 กม./ชม. คาด!! พัฒนาสู่ 100 กม./ชม. ในสิ้นปีนี้ และ 700 กม./ชม.ในปี 2030

(10 ก.ย. 67) สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า ความฝันที่จะเดินทางภาคพื้นดินระหว่างเมืองต่าง ๆ ของยุโรปด้วยความเร็วมากกว่า 700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขยับเข้าใกล้ไปอีกก้าว หลังจากการทดสอบยาน ณ ศูนย์ไฮเปอร์ลูปยุโรป ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ (9 ก.ย.) เป็นการทดสอบต่อหน้าแขกผู้มีเกียรติ 300 คน ในนั้นรวมถึงเจ้าชายคอนสแตนติน แห่งเนเธอร์แลนด์ ที่ทอดพระเนตรผ่านจอยักษ์

แคปซูลลอยได้ ลายสีเทาอ่อนและเทาเข้ม ลอยอยู่ภายในอุโมงค์สีขาวความยาว 420 เมตร ตามคำสั่งของศูนย์ควบคุมภารกิจ ก่อนพุ่งออกไปด้วยแรงขับเคลื่อนพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม การทดสอบครั้งนี้ไม่มีมนุษย์อยู่ในแคปซูลแต่อย่างใด

ณ เวลานี้ แคปซูลทำความเร็วได้ค่อนข้างต่ำ แค่ราว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ฝ่ายปฏิบัติการหวังว่ามันจะสามารถทำความเร็วแตะระดับ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในสิ้นปี ในขณะที่พวกเขาพยายามเร่งมือหาทางเปิดตัวระบบขนส่งล้ำสมัยนี้ภายในปี 2030

"เราจะพร้อมสำหรับขนส่งผู้โดยสารภายในยาน ราวปี 2030" โรเอล ฟาน เดอ ปาส ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าของ Hardt Hyperloop บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

ฟาน เดอ ปาส เชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่เทคโนโลยีนี้จะเป็นตัวปฏิวัติการเดินทางในยุโรป สามารถเดินทางจากอัมสเตอร์ดัมไปยังเบอร์ลิน เพียง 90 นาที หรือไปมิลาน ใน 2 ชั่วโมง

อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งสเปซเอ็กซ์และเทสลา นำพาไฮเปอร์ลูปเข้าสู่วัฒนธรรมประชานิยม ด้วยเอกสารฉบับหนึ่งในปี 2013 เสนอ ‘การขนส่งชนิดที่ 5’ เชื่อมซานฟรานซิสโกกับลอสแองเจลิส แต่ความพยายามเปิดตัวเทคโนโลยีนี้หลายต่อหลายครั้งประสบความล้มเหลว 

โดย ริชาร์ด แบรนสัน มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ และพวกนักวิจารณ์ต่างพากันพูดว่า คำว่า "hype (เกินจริง)" เป็นคำที่ตรงประเด็นที่สุดของชื่อ ‘ไฮเปอร์ลูป (hyperloop)’

ฟาน เดอ ปาส กล่าวว่า "ไม่ได้จะบอกว่ามันกำลังเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่เรามีภายในยุโรป แต่มันจะเป็นการบูรณาการทวีปแห่งนี้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง"

ก้าวย่างถัดจากนี้จะเป็นการทดสอบภายใต้สภาพแวดล้อมสุญญากาศโดยสมบูรณ์ อากาศเกือบทั้งหมดจะถูกดูดออกจากท่อเพื่อลดแรงต้านของอากาศ และค่อย ๆ เพิ่มความเร็วอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ศูนย์ไฮเปอร์ลูปยุโรป (European Hyperloop Centre) เป็นโรงงานเพียงแห่งเดียวของโลก ที่มีฟีเจอร์ ‘เปลี่ยนเลน’ หรืออุโมงค์สาขาที่แยกออกมาจากเส้นทางหลัก เปิดทางให้นักวิทยาศาสตร์ทดสอบการเปลี่ยนเส้นทางด้วยความเร็ว ซึ่งสำคัญมากสำหรับการสร้างเครือข่ายอุโมงค์ไฮเปอร์ลูป

Hardt Hyperloop หวังเริ่มทำการทดสอบการเปลี่ยนเลนด้วยแคปซูลอย่างเร็วที่สุด และท้ายที่สุดแล้วก็จะสร้างศูนย์อีกแห่งที่มีขนาดใหญ่กว่า เพื่อที่สามารถทดสอบแคปซูล ไปให้ถึงระดับความเร็งสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ฟาน เดอ ปาส ระบุว่าเป้าหมายในท้ายที่สุดของไฮเปอร์ลูป คือทดแทนเที่ยวบินยุโรประยะใกล้และการขับรถระยะไกลข้ามทวีป ซึ่งบางทีค่าตั๋วอาจพอ ๆ กับเครื่องบินสายการบินต้นทุนต่ำ

ความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายไฮเปอร์ลูปที่ชุมชนอาจเป็นการช่วยรักษาสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืนเช่นกัน โดยระบบไฮเปอร์ลูปใช้พลังงานเพียงแค่ 1 ใน 10 ของธุรกิจการบิน และ 1 ใน 3 ของการขนส่งทางราง และปราศจากเสียงรบกวนโดยสิ้นเชิง เนื่องจากมันเดินทางอยู่ในอุโมงค์ปิด

เครือข่ายอุโมงค์สามารถนำไปวางตามถนนมอเตอร์เวย์สายต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และศูนย์ไฮเปอร์ลูปยุโรป เคยทดลองมาแล้ว ในการสร้างความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ด้วยการทาสีอุโมงค์ช่วงหนึ่ง ทำให้มันดูเหมือนกับป่า

หนึ่งในความกังวลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาบ่อยครั้งก็คือประสบการณ์ของผู้โดยสาร การกรีดร้องขณะที่พุ่งผ่านอุโมงค์แคบ ๆ ด้วยความเร็วเสียง ดังนั้นแนวคิดนี้คงไม่ใช่การเดินทางที่สะดวกสบายสำหรับทุกคน

อย่างไรก็ตาม ทาง ฟาน เดอ ปาส ให้สัญญาว่าการเดินทางด้วยไฮเปอร์ลูปจะเป็นไปอย่างราบรื่นและสะดวกสบาย เขาชี้แจงว่าไฮเปอร์ลูป ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะบรรทุกผู้โดยสารได้ราว 50 คนหรือมากกว่านั้น จะมีระดับการสั่นสะเทือนและสะดวกสบายพอ ๆ กับรถไฟสมัยใหม่

ก่อนหน้านี้ ‘จีน’ ได้ทำการทดสอบไฮเปอร์ลูปในโรงงาน ที่สามารถพุ่งด้วยความเร็วสูงสุด 700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ ฟาน เดอ ปาส ยินดีต่อการแข่งขันในระดับนานาชาติ "เราต้องการการแข่งขันที่ดี และเรากำลังเดินหน้าในภารกิจเดียวกัน เราอยากทำให้การเดินทางในระยะไกลเช่นนี้ ก่อมลพิษเป็นศูนย์" เขาบอกกับเอเอฟพี "เราจับตามองในสิ่งที่คู่แข่งกำลังทำอยู่ และพวกเขาก็มองมาที่เราเช่นกัน และเมื่อรวมกันแล้ว พวกเขากำลังสร้างอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ ขึ้นมา"


ที่มา : เอเอฟพี / MGROnline