Wednesday, 30 April 2025
GoodsVoice

‘เอกนัฏ’ เผย ไทยนั่งประธานสภาผู้ผลิตปูนซีเมนต์แห่งอาเซียน หลังขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมใช้ “ปูนไฮดรอลิก” ลดโลกร้อน

(5 มี.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากความมุ่งมั่นของกระทรวงอุตสาหกรรมในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยเร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดให้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเป็นสินค้าควบคุม เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้ที่ประชุมสภาผู้ผลิตปูนซีเมนต์แห่งอาเซียน (ASEAN Federation of Cement Manufacturers: AFCM) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประเทศไทย โดย ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย นั่งแท่นประธานสภาผู้ผลิตปูนซีเมนต์แห่งอาเซียน เป็นวาระ 2 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2568 -2570 แสดงถึงการยอมรับจากผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในภูมิภาคอาเซียน ให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบการดำเนินงานที่มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จนสามารถผลักดันให้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก เป็นปูนที่มีประสิทธิภาพในการนำไปใช้งานที่ดีเทียบเท่ากับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และวงการก่อสร้างในอนาคต ที่มุ่งเน้นการใช้วัสดุก่อสร้างที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี พ.ศ. 2608

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. เร่งรัดดำเนินการเพื่อให้มาตรฐานปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มอก. 2594-2567 เป็นสินค้าควบคุมตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยขณะนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกต้องเป็นไปตามมาตรฐาน โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

“มาตรฐานดังกล่าวอ้างอิงจากมาตรฐาน ASTM ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเน้นควบคุมที่คุณสมบัติและประสิทธิภาพ (Performance Based) เพื่อควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้งาน โดยระบุเกณฑ์กำหนดคุณลักษณะด้านต่าง ๆ ที่ครอบคลุมการใช้งานที่แตกต่างกัน ทั้งการใช้งานทั่วไป งานที่ต้องการแรงอัดต้นสูง งานที่ทนต่อการกัดกร่อนของซัลเฟต เหมาะสำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเล หรือพื้นที่น้ำกร่อย รวมทั้งงานโครงสร้างขนาดใหญ่ โดยจากประมาณการเบื้องต้นในการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก 1 ตัน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 50 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อเทียบกับการผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ในปริมาณที่เท่ากัน ดังนั้น การนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาใช้งานทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้” ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่น ขออนุญาตผ่านระบบ e-license ของ สมอ. ที่ www.tisi.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนที่มาตรฐานจะมีผลบังคับใช้ เลขาธิการ สมอ. กล่าว

ดีพร้อมจับมือเดลต้า คิกออฟ เองเจิล ฟันด์ คอนเน็ค ปีที่ 10 ดึง 2 พันธมิตรร่วมหนุน ชู Content Marketing ขยายฐานลูกค้า สร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจ

เมื่อวันที่ (3 มี.ค.68) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ผนึกกำลัง บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท มีเดียแท็งค์ จำกัด และสมาคมการค้าอินฟลูเอนเซอร์ไทย เดินหน้าสร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้เติบโตผ่านโครงการ เองเจิล ฟันด์ คอนเน็ค ปีที่ 10 ขยายผลต่อยอดกลยุทธ์การตลาดผ่านการสร้างเนื้อหา หรือ Content Marketing ปั้นเทรนด์การเสพคอนเทนต์ด้านนวัตกรรม เพิ่มโอกาสด้านการตลาด ขยายฐานลูกค้า และผลักดันผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไปสู่ระยะเติบโต คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดได้กว่า 50 ล้านบาท พร้อมเชื่อมโยงสตาร์ทอัพไปยังแหล่งเงินทุนให้เปล่าของบริษัท เดลต้าฯ จำนวน 5 ล้านบาท ต่อไป

นายดุสิต อนันตรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ เพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ เป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญที่กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งดำเนินการ โดยการนำของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบกับนโยบายของ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นการปรับอุตสาหกรรมเข้าสู่วิถีใหม่ โดยให้ความสำคัญในการยกระดับทุกองค์ประกอบของภาคอุตสาหกรรมควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งและกระจายรายได้สู่ชุมชน ด้วย ‘หัว’ และ ‘ใจ’ โดยเฉพาะเน้นการปรับเปลี่ยนธุรกิจและอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมศักยภาพ หรือ S-curve พร้อมปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจที่เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจในอนาคต ทั้งยังสอดคล้องกับการสร้างกลไกสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ตามนโยบายของ นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินทุนไปต่อยอดแนวคิดให้เกิดขึ้นเป็นธุรกิจใหม่ หรือขับเคลื่อนธุรกิจเชิงนวัตกรรมให้มีโอกาสเติบโตในเชิงพาณิชย์

นายดุสิต กล่าวต่อว่า ดีพร้อมเดินหน้าติดปีกสตาร์ทอัพไทย ผ่านโครงการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนและตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Angel Fund Connect ปีที่ 10 พร้อมเปิดกิจกรรมบ่มเพาะทักษะทางธุรกิจ และการตลาดอย่างเข้มข้น (Marketing camp) จำนวน 5 วันเต็ม รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายกับผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ (Content creator) ปั้นเทรนด์การเสพคอนเทนต์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมการค้าอินฟลูเอนเซอร์ไทย ร่วมค้นหาและคัดเลือกผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์  เข้าร่วมโครงการ และมีบทบาทสำคัญในการสร้างกระแส สร้างการรับรู้ และกระจายข้อมูลให้กับผู้คนทั่วโลก ซึ่งเป็นการส่งเสริมสตาร์ทอัพให้สามารถเข้าถึงช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ขยายฐานลูกค้า และผลักดันไปสู่ระยะเติบโตมากขึ้น นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรภาคอุตสาหกรรม  เพื่อร่วมการทดลองใช้นวัตกรรม หรือ โซลูชั่นส์ในตลาดจริง (Proof of Concept: PoC) ถือเป็นมิติใหม่ของการพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการและง่ายต่อการขยายผลในเชิงธุรกิจ และเป็นก้าวสำคัญที่ดีพร้อม มุ่งส่งเสริมในปีนี้ ก่อนเข้าสู่การนำเสนอโมเดลธุรกิจต่อแหล่งทุนในกิจกรรม Pitching Day ยิ่งไปกว่านั้น ได้มีความร่วมมือกับ บริษัท มีเดียแท็งค์ (Shark Tank Thailand) เพื่อส่งต่อสตาร์ทอัพเข้าร่วมรายการให้สามารถสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงไปสู่นักลงทุนรายอื่น ๆ ได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

นายวิคเตอร์ เจิ้ง ประธานกรรมการบริหารบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเดลต้าฯ ร่วมกับดีพร้อมในการดำเนินธุรกิจเชิง CSR โดยการคืนกลับสู่สังคมในรูปแบบการสนับสนุนทุนเพื่อพัฒนาต่อยอดให้กับสตาร์ทอัพไทยผ่านโครงการ Angel Fund นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการในปี 2559 ได้มีการเสริมศักยภาพให้กับสตาร์ทอัพกว่า 200 ราย เป็นเงินทุนมากกว่า 33.16 ล้านบาท และช่วยสร้างงาน 927 ตำแหน่ง ซึ่งโครงการดังกล่าวมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการนำนวัตกรรมต่าง ๆ เข้าสู่ตลาดเชิงพานิชย์ ได้อย่างชัดเจน สำหรับปีนี้ ทางบริษัทฯ ทุ่มเงินจำนวน 5 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการสนับสนุนเงินให้เปล่าแก่สตาร์อัพที่มีธุรกิจและผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรม จำนวน 4 ล้านบาท และสนับสนุนผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ จำนวน 1 ล้านบาท ให้สามารถต่อยอดการเริ่มต้นธุรกิจได้ และในฐานะผู้ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนกับสตาร์ทอัพ คิดว่าโจทย์ใหญ่ของสตาร์ทอัพไทยในปีนี้ คือ การเร่งคิดค้นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี เพื่อแก้ไขปัญหาของโลกในบริบทต่าง ๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง หรือ Climate change ซึ่งมีผลกระทบต่อพวกเราทุกคนหรือจากสถานการณ์ปัจจุบันที่พวกเราต้องการสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของพวกเราดีขึ้น โครงการฯ กําลังเติบโตขึ้น โดยในปีนี้ได้มีพันธมิตรใหม่อย่างสมาคมการค้าอินฟลูเอนเซอร์ไทย และ Shark tank มาเสริมความแข็งแกร่ง จึงอยากจะกระตุ้นให้สตาร์ทอัพทุกคนใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้ เพื่อเรียนรู้จาก

ธุรกิจชั้นนำในประเทศไทยและสร้างความมั่นใจ โดยการเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ และตระหนักว่าชีวิต คือการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้า ซึ่งหวังว่าทุกคนจะสนุกกับความท้าทายในเหล่านี้ พร้อมกับนำความคิดไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจไปสู่อีกระดับต่อไป วิคเตอร์ เจิ้ง กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ประกอบที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2430 6873 ต่อ 1625 หรือติดตามความเคลื่อนไหวและข่าวสารต่าง ๆ ได้ที่ www.diprom.go.th และ www.facebook.com/dipromindustry

‘กอบศักดิ์’ ชี้ส่งครามการค้า ‘ยุคทรัมป์ 2.0’ เริ่มพ่นพิษ แปรเปลี่ยนมิตรเป็นศัตรู – เศรษฐกิจในประเทศตัวเองส่อพัง

(5 มี.ค. 68) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ผลงาน Trump 2.0 !!!  จากความปั่นป่วนวุ่นวายที่ President Trump สร้างในช่วงที่ผ่านมา

เปิดศึก Trade Wars กับทุกประเทศ แบบไม่เลือกหน้า ทั้งกับ อดีตมิตรประเทศ เช่น แคนาดา เม็กซิโก ที่กำลังจะกลายเป็น อดีตมิตรประเทศ เช่น สหภาพยุโรปที่ยังเป็นมิตรประเทศ เช่น ญี่ปุ่น กับ คู่แข่ง เช่น จีน โดยประกาศขึ้นภาษีนำเข้า Tariffs ใน 3 ระดับ ระดับประเทศ ในทุกสินค้า ระดับอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเหล็กกล้า อลูมินัม และต่อไป ยานยนต์ ยา ชิป ไม้ ฯลฯ ระดับบริษัท ที่เริ่มจากการห้ามการส่งออก Technology และในอนาคตจะมุ่งเป้าไปยังบางบริษัท เพื่อตอบโต้จีนที่ประกาศไม่ให้ขาย Critical Minerals ให้กับบริษัทสหรัฐอีก 15 บริษัท และกำหนดชื่ออีก 10 บริษัทไม่ให้ลงทุน หรือค้าขายกับจีน 

ทั้งหมดนี้ ทำให้นักลงทุนกังวลใจ ไม่แน่ใจกับอนาคตของบริษัทต่างๆ ในสหรัฐ ว่าจะโดนตอบโต้มากน้อยแค่ไหน ทั้งจากสินค้าธรรมดาเช่น ไวน์ สุรา ที่แคนาดาไม่ให้วางขายสัญญากับ Starlink ที่ถูกฉีกโดยแคนาดาในยุโรป เช่นที่ สวีเดน เดนมาร์ค ที่คนกำลังรณรงค์ไม่ให้ซื้อสินค้าสหรัฐ บริษัท Haltbakk Bunkers ของนอร์เวย์ที่ประกาศไม่เติมน้ำมันให้กับเรือรบของสหรัฐและอื่นๆ ที่จะมีเพิ่มขึ้น ขยายเป็นวงกว้าง 

ยิ่ง President Trump ประกาศเพิ่มความเข้มข้น เอาจริงเรื่อง Trade War เร่งขึ้น Tariffs เป็นลำดับ จีน 10% เป็น 20% สั่งให้ดำเนินการเก็บจริง กรณีแคนาดาและเม็กซิโก และเตรียมเก็บ Reciprocal Tariffs เพิ่มในเดือนเมษายน สร้างความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจการค้าโลกอย่างไม่เป็นมาก่อนรวมถึงผลกระทบต่อเงินเฟ้อ เศรษฐกิจสหรัฐ

ทั้งหมดนี้ ได้ทำให้ดัชนีหลักทรัพย์สำคัญของสหรัฐที่เคยดีใจว่า Mr. Donald J Trump กำลังเป็นประธานาธิบดีอีกรอบ ขึ้นไปทำ New High หลังรู้ผลเลือกตั้งเมื่อ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมาล่าสุด เมื่อเทียบกับวันเลือกตั้ง

S&P500 ได้เริ่มติดลบ -4.61 จุด หรือ -0.08% Nasdaq ติดลบ -154.01 จุด หรือ -0.84% Dow Jones ยังบวกอยู่นิดๆ +299.11 จุด หรือ +0.71% แต่อีกไม่นาน ก็คงติดลบเช่นกัน ยิ่งถ้าเทียบกับวันที่ 20 มกราคมที่เข้ามา ทุกดัชนีติดลบหมดแล้วเรียบร้อย !!! S&P500 -3.64% Nasdaq -6.85% Dow Jones -2.22%!!! 

จึงกล่าวได้ว่า จากที่เคยแอบมีความหวัง กลายเป็นเริ่มกังวลใจมาก จากการแผลงฤทธิ์ ในช่วงที่ผ่านมา 

ยิ่งท่านประธานาธิบดีบอกว่า Just Getting Started ในอนาคตเมื่อ สงครามการค้าเข้าสู่การต่อสู้เต็มรูปแบบ เปิดศึกครบทุกด้าน และได้รับการตอบโต้ในมิติต่างๆ ความกังวลใจก็คงหนักหน่วงกว่านี้ ผลกระทบก็คงจะรุนแรงกว่านี้

ผลตอบแทนของการลงทุนของเรา จะไม่ขึ้นกับเศรษฐกิจ ธุรกิจอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ขึ้นกับสิ่งที่ท่านจะประกาศ ที่จะเขียนใน Social Media และที่จะเลือกทำ และทำให้แรงขึ้น หากอีกข้างไม่สยบยอม

ทั้งหมดนี้ จะเป็น Uncertainty เป็นความไม่แน่นอนอย่างยิ่งให้กับโลกการเงิน ที่เบอร์ 1 ของโลก ที่ปกติจะพยายามรักษาความสงบของโลก ได้กลายร่างมาเป็นผู้ทุบระบบเสียเอง    

บอกว่า ที่ทำเช่นนี้ เพราะกำลังถูกเอาเปรียบจากระบบปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่เป็นระบบที่เขาสร้างขึ้นมา ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ขอเป็นกำลังใจอย่างยิ่งให้กับทุกคน ในยุคโลกปั่นป่วนครับ  

อธิบดีกรมประมงชื่นชม 'มหาสมุทรซีฟู้ด' เชื่อมเกษตรกร - ผู้บริโภค ช่วยยกระดับปลากะพง 3 น้ำ นำสินค้า GI จากสงขลาขึ้นห้างดัง

อธิบดีกรมประมงชื่นชม 'มหาสมุทรซีฟู้ด' ช่วยเกษตรกรยกระดับปลากะพง 3 น้ำทะเลสาบสงขลา ขึ้นห้างสยามพารากอน

(5 มี.ค. 68) อธิบดีกรมประมง ลงพื้นที่เยี่ยมชมร้าน 'มหาสมุทรซีฟู้ด' ณ Gour Market Siam Paragon ชั้น G (โซนซีฟู้ด) ซึ่งเป็นร้านจำหน่าย ปลากะพง 3 น้ำ จากกระชังของเกษตรกรในทะเลสาบสงขลา ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่ง คุณภาพสูงที่ได้รับมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) 'เป็นกลุ่มแรกและกลุ่มเดียวในประเทศไทย' เสริมเทคนิค ‘อิเคะจิเมะ’ เพิ่มมูลค่าผลผลิตยกระดับความสดอร่อยของเนื้อปลา โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลากะพงของเกษตรกรในพื้นที่ ยกระดับมาตรฐานการผลิต และสร้างโอกาสทางการตลาดให้เกษตรกรได้เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง

โดย 'ปลากะพง 3 น้ำ' เป็นปลาที่มีจุดเด่นในเรื่องคุณภาพการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน ผ่านการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งกระบวนการเพาะเลี้ยง การจัดการน้ำ และอาหาร ทำให้ได้ปลาที่มีเนื้อสัมผัสแน่น รสชาติดี และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าปลาทั่วไป ปัจจุบัน ปลากะพง 3 น้ำ จากทะเลสาบสงขลา ถือเป็นรายแรกของไทยที่ใช้ระบบการเลี้ยงที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และกำลังอยู่ในขั้นตอนยกระดับให้เป็นปลาพรีเมียม เพื่อรองรับตลาดที่ต้องการสินค้าคุณภาพสูง

ซึ่งปลากะพง 3 น้ำ จากทะเลสาบสงขลามีคุณค่าทางโภชนาการสูง จากการศึกษาคุณค่าทางโภชนาการพบว่า ปลากะพง 3 น้ำ มีสารอาหารที่สำคัญ อุดมไปด้วยโปรตีน กรดไขมันโอเมก้า-3 และวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย  และสามารถรับประทานแบบดิบได้อย่างปลอดภัย ทำให้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการอาหารทะเลที่มีคุณภาพสูง อร่อย และปลอดภัย

การขยายตลาดสู่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำและเตรียม ร้าน 'มหาสมุทรซีฟู้ด' กำลังขยายตลาดไปยังห้างสรรพสินค้าชั้นนำอย่าง 'ท็อปส์' และซูเปอร์มาร์เก็ตระดับพรีเมียมทั่วประเทศ

กฟผ ผุดแคมเปญ 'เปลี่ยนฤดูร้อน เป็นฤดูรัก(ษ์)' มอบส่วนลดค่าล้างแอร์ 15,000 สิทธิ์ทั่วประเทศ เริ่ม 15 มี.ค. นี้

กฟผ. ชวนลดค่าไฟฟ้าและลดโลกร้อน จับมือห้างสรรพสินค้าและร้านค้าออนไลน์ มอบส่วนลดค่าล้างเครื่องปรับอากาศ 200 บาท แก่ผู้ใช้เครื่องปรับอากาศติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 จำนวน 15,000 สิทธิ์ เริ่มลงทะเบียน 15 มีนาคม - 15 มิถุนายน 2568 ณ จุดขายห้างสรรพสินค้าและร้านค้าออนไลน์รวม 12 แห่ง

(5 มี.ค. 68) นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการล้างเครื่องปรับอากาศเบอร์ 5 ภายใต้แคมเปญ 'เปลี่ยนฤดูร้อน เป็นฤดูรัก(ษ์)' กับผู้แทนจากห้างสรรพสินค้าและร้านค้าออนไลน์ชั้นนำ มอบส่วนลดค่าล้างเครื่องปรับอากาศ 200 บาท จากค่าบริการล้างเครื่องปรับอากาศขนาดไม่เกิน 24,000 บีทียู สำหรับประชาชนที่ใช้เครื่องปรับอากาศติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 จำนวน 15,000 สิทธิ์ ณ ห้อง Press Conference อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า ภาวะโลกร้อนและอากาศร้อนส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนักขึ้น โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศซึ่งใช้พลังงานสูงติดอันดับต้น ๆ ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กฟผ. จึงร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าและผู้จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง จัดแคมเปญ 'เปลี่ยนฤดูร้อน เป็นฤดูรัก(ษ์)' โดยเริ่มต้นจากการรณรงค์ใช้เครื่องปรับอากาศติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ตามด้วยการบำรุงรักษาให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ทั้งยังยืดอายุการใช้งานตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการล้างเครื่องปรับอากาศทุก 6 เดือน จะช่วยประหยัดไฟฟ้าได้กว่า 23 หน่วย/เครื่อง/เดือน ซึ่งตลอดโครงการนี้จะช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ 2.14 ล้านหน่วย คิดเป็นค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ประมาณ 9 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1,119 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/1 รอบการล้าง หรือ 6 เดือน

ประชาชนที่สนใจ สามารถยื่นเอกสารโดยใช้บัตรประชาชนและบิลค่าไฟฟ้าเดือนใดเดือนหนึ่งของปี 2568 ณ ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั้ง 12 แห่ง ได้แก่ โฮมโปร เมกาโฮม เพาเวอร์บาย ไทวัสดุ บีเอ็นบีโฮม ดูโฮม โกลบอลเฮ้าส์ เดอะมอลล์ เอ็มโพเรียม สยามพารากอน ฮาร์ดแวร์เฮาส์ และร้านค้าออนไลน์นอคนอค ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม - 15 มิถุนายน 2568 หรือจนกว่าสิทธิ์จะครบ โดยจะต้องเป็นเครื่องปรับอากาศติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ขนาดไม่เกิน 24,000 บีทียู (จำกัด 1 คน/สิทธิ์/1 ครัวเรือน) ติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ กฟผ. www.egat.co.th และหน่วยงานพันธมิตรทั้ง 12 แห่ง

บีโอไอ จับมือสมาคม PCB ไต้หวัน ดึงลงทุนครั้งใหญ่ เผย 3 ปี คลื่นลงทุน PCB เข้าไทยกว่า 2 แสนล้านบาท

(6 มี.ค. 68) สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไต้หวัน (TPCA) นำสมาชิกกว่า 60 ราย เดินทางเยือนไทย พร้อมจับมือบีโอไอ และสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย (THPCA) ร่วมจัดสัมมนาใหญ่ 'TPCA Thailand PCB Forum 2025' เตรียมพร้อมรองรับคลื่นลงทุนอุตสาหกรรม PCB ครั้งใหญ่ รับกระแส AI บูม เผย 3 ปี เงินลงทุนเข้าไทยกว่า 2 แสนล้านบาท เร่งสร้างเครือข่ายภาครัฐ - เอกชน เตรียมบุคลากรรองรับอุตสาหกรรม ยกระดับไทยฐานผลิต PCB ชั้นนำของโลก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ท่ามกลางกระแสการลงทุนในประเทศไทยของกลุ่มอุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไต้หวัน (Taiwan Printed Circuit Association: TPCA) ได้จัดทัพนำสมาชิกซึ่งเป็นผู้ผลิต PCB ชั้นนำ 

พร้อมทั้งกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดซัพพลายเชนกว่า 60 ราย เดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อศึกษาลู่ทางการลงทุน โดยได้ร่วมกับบีโอไอ และสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย (Thailand Printed Circuit Association: THPCA) จัดงาน 'TPCA Thailand PCB Forum 2025' ที่โรงแรมอวานี สุขุมวิท กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลการลงทุน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรม PCB ในประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมทั้งความร่วมมือในการเตรียมพร้อมด้านสาธารณูปโภคและบุคลากรทักษะสูง โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้นกว่า 200 ราย

แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด และเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานในการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า โทรคมนาคม อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ คอมพิวเตอร์ ระบบดิจิทัล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2565 - 2567) มีผู้ผลิต PCB และ PCBA

รวมทั้งผู้ผลิตวัตถุดิบสำคัญ เช่น Copper Clad Laminate และ Prepreg ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอจำนวนกว่า 130 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 202,000 ล้านบาท ส่งผลให้ประเทศไทยขึ้นมาเป็นผู้ผลิต PCB อันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน และติดอันดับ Top 5 ของโลก โดยมีผู้ผลิตรายใหญ่จากไต้หวันที่ได้รับการส่งเสริม เช่น ZDT, Unimicron, Compeq, WUS, Gold Circuit, Unitech, Dynamic เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้จะผลิต PCB ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้ง High-Density Interconnect PCB, Flexible PCB และ Multilayer PCB ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ AI และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงต่าง ๆ โดยผู้ผลิต PCB ส่วนใหญ่ตั้งโรงงานอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา และสมุทรปราการ และโรงงานส่วนใหญ่จะเริ่มเดินสายการผลิตในปีนี้

“ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของโลก ผู้ผลิตจำนวนมากตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิต PCB ทั้งจากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น 

เพราะมองเห็นจุดแข็งของไทยที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน นิคมอุตสาหกรรม ระบบไฟฟ้าที่เสถียร ศักยภาพด้านพลังงานสะอาด ซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง บุคลากรที่มีคุณภาพ รวมถึงมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ส่งผลให้ไทยเป็นจุดหมายสำคัญของการลงทุนผลิตและส่งออก PCB ไปยังตลาดโลก” นายนฤตม์ กล่าว

‘ปิยสวัสดิ์’ โวลั่น การบินไทย มีกำไรจากการดำเนินงานดีที่สุดในโลกในไตรมาส 4 ปี 2024

(6 มี.ค. 68) ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “การบินไทย มีกำไรจากการดำเนินงานดีที่สุดในโลกในไตรมาส 4 ปี 2024 ในกลุ่มสายการบินที่มีการรายงานข้อมูลผลประกอบการ”

ทั้งนี้ การบินไทย เปิดเผยผลประกอบการปี 2567 ที่ผ่านมา มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการพิเศษ) อยู่ที่ 187,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.7% จากปี 2566 จากอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ที่สูงถึง 84.3% และการขยายเครือข่ายเส้นทางบิน

ขณะที่ กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักต้นทุนทางการเงิน (EBIT) อยู่ที่ 41,515 ล้านบาท เติบโตขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้ EBIT Margin แตะระดับ 22.1% ซึ่งสูงกว่าประมาณการที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการ

อย่างไรก็ตาม การบินไทยมีผลขาดทุนทางบัญชี 26,901 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุน จำนวน 45,271 ล้านบาท ที่เสร็จสิ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 โดยรายการนี้ถือเป็นผลขาดทุนทางบัญชีเพียงครั้งเดียวและไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดหรือการดำเนินงานของบริษัท
 

‘เอกนัฏ’ สั่ง 'ทีมสุดซอย' ฟัน!! 3 บริษัทจ้างขนกากอุตฯ หลังพบ ลักลอบทิ้งในไร่มันเมืองชลบุรี เกือบพันตัน

(6 มี.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ส่งทีมตรวจการสุดซอยกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยนางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบและดำเนินคดีกลุ่มบริษัทและโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) ที่กระทำความผิดในข้อหาลักลอบทิ้งกากโดยผิดกฎหมายในพื้นที่ จ.ชลบุรี จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งจากการติดตามและขยายผลรถบรรทุกขนกากอุตสาหกรรมของบริษัท ฮิ้ว ทรานสปอร์ต จำกัด จ.ชลบุรี โดยก่อนหน้านี้ถูกจับกุมดำเนินคดีกรณีขนกากอุตสาหกรรมหลายชนิดจากหลายโรงงานนำไปทิ้งในไร่มันสำปะหลัง ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา พร้อมยึดอายัดรถบรรทุกไว้ที่สถานีตำรวจภูธรบ้านบึง ก่อนขยายผลไปยังโรงงานต้นกำเนิดกากอุตสาหกรรม เพราะเชื่อว่าทำเป็นขบวนการ กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งกวาดล้างดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด

ด้านนางสาวฐิติภัสร์ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) สถานีตำรวจภูธรบ้านบึง จ.ชลบุรี อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ติดตามขยายผลจนสืบทราบถึงบริษัทและโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) 3 แห่ง ที่เป็นผู้ว่าจ้างบริษัทขนส่งให้นำกากอุตสาหกรรมไปทิ้งในไร่มันสำปะหลัง จึงได้เข้าตรวจสอบบริษัททั้ง 3 แห่ง คือ 1) บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 2 อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยว่าจ้าง บริษัท ฮิ้ว ทรานสปอร์ต จำกัด ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม จำนวน 72 ครั้ง รวมประมาณ 720 ตัน นำไปทิ้งในไร่มันสำปะหลังใน ต.หนองไผ่แก้ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี จึงได้ดำเนินคดีในข้อหาลักลอบทิ้งกากโดยผิดกฎหมาย และทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สั่งให้ปรับปรุงและห้ามขนกากอุตสาหกรรมออกจากโรงงานจนกว่าจะได้รับอนุญาต 

2) บริษัท แฮนด์ดีแจ็ค อีควิปเมนท์ จำกัด ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยได้ว่าจ้าง บริษัท ฮิ้ว ทรานสปอร์ต จำกัด ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม จำนวน 18 ครั้ง รวมประมาณ 105 ตัน นำไปทิ้งที่ไร่มันสำปะหลังใน ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี จึงได้ดำเนินคดีในข้อหาลักลอบทิ้งกากโดยผิดกฎหมาย และทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม สั่งให้หยุดกิจการโรงงานชั่วคราว นอกจากนี้ยังได้ตรวจพบว่าไม่มีการทำระบบบำบัดน้ำเสีย จึงสั่งให้แก้ไขให้ถูกต้อง 

3) บริษัท เทคโนโลยีพลังงานสิ่งแวดล้อม จำกัด ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ได้ว่าจ้าง บริษัท ฮิ้ว ทรานสปอร์ต จำกัด ทิ้งกากอุตสาหกรรม จำนวน 16 ครั้ง รวมประมาณ 150 ตัน ทิ้งในไร่มันสำปะหลังใน ต.หนองอิรุณ เช่นกัน จึงได้ดำเนินคดีในข้อหาลักลอบทิ้งกากโดยผิดกฎหมาย และทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา สั่งให้ปรับปรุงและห้ามขนย้ายกากอุตสาหกรรมออกจากโรงงานจนกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด

“การขยายผลและเข้าตรวจสอบครั้งนี้มีการว่าจ้างบริษัท ฮิ้ว ทรานสปอร์ต จำกัด ให้นำกากอุตสาหกรรมไปทิ้งโดยผิดกฎหมาย จำนวนรวมกว่า 975 ตัน โดยรัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ได้กำชับและสั่งการเร่งด่วนเพื่อขยายผลบริษัทและโรงงานที่ว่าจ้างบริษัท ฮิ้ว ทรานสปอร์ต จำกัด ขนกากอุตสาหกรรมไปทิ้งในลักษณะเดียวกัน ให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดต่อไป หากประชาชนพบเห็นปัญหาหรือเหตุต้องสงสัยเกี่ยวกับการประกอบการอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้องหรือสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่าน 'แจ้งอุต' https://landing.traffy.in.th?key=wTmGfkav หรือไลน์ไอดี 'traffyfondue' เพื่อกระทรวงฯ จะเร่งส่งทีมสุดซอยลงพื้นที่จัดการกับปัญหาให้ประชาชนในทันที” นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (16) : จะแก้ปัญหา ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ได้อย่างไร? สุดท้ายอาจต้องพึ่งแผน PDP ฉบับใหม่ พร้อมบังคับใช้อย่างจริงจัง

หนึ่งในสาเหตุของปัญหา ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ที่ประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ค่อยรู้ก็คือ ระบบการควบคุมต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่เรียกว่า ‘Merit Order’ โดยเมื่อมีความต้องการไฟฟ้า ระบบการผลิตไฟฟ้าจะเริ่มต้นผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำที่สุดเป็นลำดับแรก และหากความต้องการไฟฟ้าลดลง จะลดการเดินเครื่องในโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตสูงก่อน แล้วจึงดำเนินการลดการเดินเครื่องไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำสุดเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งไม่สามารถทำได้จริง ทั้ง ๆ ที่ระบบนี้น่าจะช่วยแก้ไขปัญหา ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ได้ แต่ความเป็นจริงแล้วกลับมิได้เป็นเช่นนั้นเลย ด้วยเพราะเงื่อนไข Must Take และ Must Run จากเหตุผลดังนี้

การรับซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. จากผู้ประกอบการเอกชนนั้น จะเป็นไปตามนโยบายที่ภาครัฐกำหนด และการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าก็เป็นไปตาม พรบ. ประกอบกิจการพลังงานปี 2550 โดยยึดหลักความเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ โดย กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) เป็นไปตามนโยบายที่ภาครัฐกำหนด เพื่อส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้า เพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงาน และช่วยลดภาระการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งภาครัฐเป็นผู้คัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าฯ ที่มีราคาต่ำสุดในช่วงเวลานั้น ๆ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ตามลำดับ ซึ่ง กฟผ. เป็นเพียงผู้รับซื้อไฟฟ้าตามราคาที่รัฐกำหนด และดำเนินการตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าฯ ซึ่งมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้เท่านั้น

แม้ว่า ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า กฟผ. จะเป็นผู้ควบคุมการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทั้งหมด แต่เงื่อนไขการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้า กฟผ. ต้องปฏิบัติตาม พรบ. ประกอบกิจการพลังงานปี 2550 เพื่อให้เกิดการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ แต่ต้องยึดหลักเกณฑ์การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามลำดับคือ เริ่มจากการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทจำเป็นต้องเดินเครื่องเพื่อรักษาความมั่นคง (Must Run) เป็นลำดับแรก เพราะหากไม่เดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทนี้แล้ว ระบบไฟฟ้าจะเกิดความมั่นคงลดลงอาจทำให้ไฟฟ้าดับได้ เช่น โรงไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีการซ่อมบำรุงสายส่งไฟฟ้า ลำดับถัดมาคือ สั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทจำเป็นต้องรับซื้อขั้นต่ำตามสัญญา (Must Take) ทั้งด้านไฟฟ้าและสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ โรงไฟฟ้า SPP เพราะหากไม่เดินเครื่องโรงไฟฟ้าเหล่านี้อาจนำไปสู่การจ่ายเงินค่าซื้อไฟฟ้าหรือก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำโดยไม่ได้รับพลังงานไฟฟ้า 

จากนั้นจึงสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดตามลำดับ (Merit Order) ได้แก่ โรงไฟฟ้า กฟผ. และโรงไฟฟ้า IPP เพื่อให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำที่สุด จากหลักเกณฑ์ดังกล่าว กฟผ. จึงต้องสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภท Must Run เป็นลำดับแรก โดยลำดับถัดมาคือ สั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภท Must Take แล้วจึงสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตาม Merit Order ท้ายสุด ด้วยเงื่อนไขนี้ทำให้ กฟผ. ไม่สามารถเลือกซื้อไฟฟ้าจากเอกชนที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำสุดเป็นลำดับแรกได้ รวมถึงไม่สามารถเลือกสั่งเดินเครื่องจักรเฉพาะโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เองได้ด้วยเช่นกัน

การรับซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. จากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซฯ หรือถ่านหิน จำเป็นต้องมีค่าความพร้อมจ่ายหรือค่า AP (Availability Payment) เนื่องจากต้องเตรียมโรงไฟฟ้าให้พร้อมจ่ายไฟฟ้าและผลิตไฟฟ้าตามการสั่งการของศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า ซึ่งการกำหนดค่า AP เป็นแนวปฏิบัติในทางสากลสำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว โดยสะท้อนต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เอกชนผู้ลงทุนได้จ่ายไปก่อน ในขณะที่ กฟผ. จะจ่ายเป็นรายเดือนตามความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเท่านั้น แต่หากไม่สามารถเตรียมโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อมจ่ายตามที่กำหนด ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั้ง IPP หรือ SPP ก็จะถูกปรับตามสัญญา ดังตัวอย่างที่อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายและเห็นภาพได้ชัดเจน คือ การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเปรียบเสมือนกับการทำสัญญาเช่ารถยนต์มาใช้งาน ซึ่งผู้เช่าจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ 2 ส่วน คือ (1)ค่าเช่ารถที่ต้องจ่ายทุกเดือน ไม่ว่าจะมีการใช้รถหรือไม่ก็ตาม เช่นเดียวกับค่า AP ของโรงไฟฟ้า ส่วนค่าน้ำมันจะจ่ายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะทางการใช้งาน เปรียบได้กับค่าพลังงานไฟฟ้า หรือค่า EP (Energy Payment) เป็นค่าเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าเอกชนจะได้รับก็ต่อเมื่อศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าสั่งการให้โรงไฟฟ้าเดินเครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น

ส่วนการวางแผนกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศจำเป็นต้องมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และพร้อมที่จะจ่ายไฟฟ้าหากเกิดกรณีต่าง ๆ อาทิ โรงไฟฟ้าหรือระบบส่งขัดข้อง การขัดข้องด้านการส่งเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าล่วงหน้าโดยอิงกับข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การคาดการอัตราความเจริญทางเศรษฐกิจ แต่ในช่วงเวลาเกือบ 3 ปีของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ตามแผน PDP (2018 Rev.1) จึงทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศสูงกว่ากรณีปกติ โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศเพื่อพิจารณาแนวทางในการบริหารกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองให้อยู่ในระดับเหมาะสม ตลอดจนเสนอแนะแนวทางบริหารจัดการให้สามารถรองรับการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่เป็นภาระต่อประชาชนต่อไป ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหา ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ จึงต้องมีการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงแผน PDP (2018 Rev.1) ให้มีความถูกต้องและเหมาะสมกับบริบทการใช้ไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบัน ซึ่งความเป็นจริงต้องดำเนินการทุก 5 ปี แต่ผ่านมาหลายปีแล้วยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เลย อาทิ การสั่งเดินเครื่องจักรโรงไฟฟ้าตาม Merit Order ก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงพิจารณาสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภท Must Run หรือ Must Take ตามความเหมาะสม ซึ่งรองพีร์ พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีดำริให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เตรียมดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแผนฯ ดังกล่าวให้มีความถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบันโดยเร็ว ด้วยการสรุปบทเรียนจากผลกระทบในด้านต่าง ๆ อย่างครอบคลุมในทุก ๆ มิติที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่ผ่านมา เพื่อให้แผน PDP ฉบับที่จะได้รับการปรับปรุงแก้ไขใหม่สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติและพี่น้องประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าต่อไป

‘เคทีซี’ ยืนหนึ่ง!! ในทำเนียบ The Sustainability Yearbook 2025 อย่างต่อเนื่อง สะท้อน!! ถึงความสำเร็จ ในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยธรรมาภิบาล

(8 มี.ค. 68) เคทีซีได้รับเลือกจาก S&P Global ให้เข้าทำเนียบ Sustainability Yearbook 2025 อย่างต่อเนื่อง ในกลุ่มอุตสาหกรรม Diversified Financial Services and Capital Markets และยังคงเป็นสมาชิกรายเดียวในประเทศไทยท่ามกลาง 780 บริษัททั่วโลก ที่มีคะแนนประเมินความยั่งยืนอยู่ในอันดับ 15% แรกของกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน 

นางรจนา อุษยาพร ผู้บริหารสูงสุด สายงานการเงิน 'เคทีซี' หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า “การที่เคทีซีได้รับคัดเลือกให้อยู่ในทำเนียบ Sustainability Yearbook 2025 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แสดงถึงความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจ โปร่งใส และสอดคล้องกับกรอบการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล ภายใต้กลยุทธ์ 'Better Products and Services', 'Better Quality of Life' และ 'Better Climate' เพื่อส่งมอบคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคการเงิน อีกทั้งร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่เติบโตอย่างยั่งยืน โดยปีนี้มีบริษัทมากกว่า 7,690 แห่ง จาก 62 อุตสาหกรรมทั่วโลก ที่เข้าร่วมการประเมินความยั่งยืนขององค์กร (Corporate Sustainability Assessment: CSA) และได้ถูกคัดเลือกให้เข้าทำเนียบนี้ โดย S&P Global ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่รายชื่อและข้อมูลขององค์กรที่มีการบริหารจัดการความเสี่ยงและความยั่งยืน เพื่อให้นักลงทุนทั่วโลกสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top