Wednesday, 30 April 2025
GoodsVoice

บีโอไอ ผนึก Omoda & Jaecoo จับคู่ธุรกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย ยกระดับฐานการผลิต EV สร้างมูลค่าซื้อขายกว่า 2 พันล้านบาท

(26 ก.พ. 68) บีโอไอจับมือ โอโมดา แอนด์ เจคู ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ในเครือ Chery Automobile จากจีน จัดงาน “OMODA & JAECOO Sourcing Day” เชื่อมโยงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยเข้าสู่ซัพพลายเชนของ EV และยกระดับไทยก้าวสู่ฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก เผยยอดเจรจาธุรกิจ 50 บริษัท คาดเกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศกว่า 2,100 ล้านบาท 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 บีโอไอ ร่วมกับ โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) บริษัทในเครือของ Chery Automobile ผู้นำด้านยานยนต์พลังงานใหม่ระดับโลกจากประเทศจีน และธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ร่วมจัดงาน “OMODA & JAECOO Sourcing Day” ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เพื่อจัดหาชิ้นส่วนยานยนต์จากผู้ผลิตในประเทศ สำหรับสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หลังจากที่กลุ่ม Chery Automobile เลือกไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชนิดพวงมาลัยขวา เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง 

Chery เป็นหนึ่งในบริษัทรถยนต์พลังงานใหม่ที่มีการเติบโตของยอดขายและยอดส่งออกสูงที่สุดจากประเทศจีน มีผู้ใช้งานกว่า 14 ล้านคน ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก สำหรับแผนธุรกิจในประเทศไทย จะดำเนินการภายใต้บริษัท โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) จำกัด โดยได้ตัดสินใจใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV พวงมาลัยขวาแห่งเดียวในอาเซียน เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในประเทศไทยและเป็นฐานในการส่งออก ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมติดตั้งสายการผลิตที่โรงงานในจังหวัดระยอง โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตได้ในเดือนสิงหาคม 2568 ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV สูงสุดในเฟสแรก 50,000 คันต่อปี และมีแผนจะลงทุนผลิตแบตเตอรี่ในขั้น Pack Assembly ในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ด้วย 

โอโมดา แอนด์ เจคู มีความตั้งใจที่จะช่วยสร้างซัพพลายเชนในไทยให้มีความพร้อมรองรับการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของบริษัทอย่างครบวงจร โดยตั้งเป้าใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศร้อยละ 45-50 ภายในปีนี้ และเพิ่มเป็นร้อยละ 70 - 80 ภายใน 5 ปีข้างหน้า การจัดงาน “OMODA & JAECOO Sourcing Day” ในครั้งนี้ บริษัทได้ตั้งเป้าจัดซื้อชิ้นส่วนรถยนต์จำนวนมากจากผู้ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะใน 6 กลุ่มชิ้นส่วนสำคัญ ได้แก่ Interior, Exterior, Electrical, Chassis, New Energy และ Powertrain โดยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเข้าร่วมงาน 370 คน จาก 200 บริษัท และมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจเป็นรายบริษัทกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ จำนวน 50 บริษัท คาดว่าจะเกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนกว่า 2,100 ล้านบาท

“กิจกรรม Sourcing Day เป็นงานที่บีโอไอให้ความสำคัญ เพื่อผลักดันการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ ผ่านการเชื่อมโยงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยกับบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงซัพพลายเชนระดับโลก และเกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการผลิต การจัดการ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และอาจนำไปสู่การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจหรือการร่วมทุนกันในอนาคต การร่วมมือกับบริษัทระดับโลกอย่าง Chery Automobile (OMODA & JAECOO) ในวันนี้ จึงเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และช่วยยกระดับผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก” นายนฤตม์ กล่าว

นายฉี เจี๋ย ประธานบริษัท โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) กล่าวว่า “OMODA & JAECOO รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้จัดงาน Sourcing day ร่วมกับบีโอไอในครั้งนี้ เรามุ่งมั่นที่จะสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งผ่านการเจรจาธุรกิจในงาน Sourcing Day นี้ เนื่องจากเราเห็นว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยมีศักยภาพและนวัตกรรม ทำให้เรามองเห็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการร่วมงานกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนของไทย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ทั้งตลาดภายในประเทศและระดับสากล ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสำคัญกับงานนี้ และเราหวังว่าวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับสากล”

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บีโอไอได้จัดกิจกรรม Sourcing Day ร่วมกับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว 6 ราย ได้แก่ BYD, NETA, MG, CHANGAN, GAC AION และ Foton คาดว่าจะเกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศกว่า 48,000 ล้านบาท สำหรับปี 2568 นี้ บีโอไอมีแผนจัดกิจกรรมดังกล่าวให้กับกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนอีกหลายราย เช่น ZF AUTOMOTIVE และ PACCAR เป็นต้น

‘พีทีที สเตชั่น’ ร่วมโครงการ 'หัวจ่ายเชื้อเพลิงมาตรฐาน' พร้อมผ่านการรับรองระดับสีเงิน 105 ปั๊ม มากที่สุดในประเทศ

พีทีที สเตชั่น ทุกสถานีทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ 'หัวจ่ายเชื้อเพลิงมาตรฐาน' ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นโครงการเสริมจากมาตรการทางกฎหมาย ผ่านการรับรองระดับสีเงิน 105 สถานี ถือเป็นแบรนด์สถานีบริการที่ได้รับการรับรองระดับสีเงินจำนวนมากที่สุด และมี พีทีที สเตชั่น ที่ผ่านการรับรองหัวจ่ายมาตรฐานแล้ว 2,167 สถานี ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการและรออนุมัติ พิสูจน์ความมุ่งมั่นในการส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสูงสุดให้กับผู้บริโภค

(28 ก.พ. 68) นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า โครงการ 'หัวจ่ายเชื้อเพลิงมาตรฐาน' เป็นการประสานความร่วมมือระหว่าง กรมการค้าภายใน ร่วมกับ บริษัทผู้ค้าน้ำมันทั้ง 10 บริษัท โดยให้สถานีที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องส่งรายงานผลการทดสอบน้ำมันของตน ให้กับกรมการค้าภายใน เดือนละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน  และหลังจากนั้นให้ส่งรายงานผลการทดสอบน้ำมันให้กรมเดือนละครั้ง ทุกเดือน หากสถานีใดดำเนินการได้ถูกต้อง ครบถ้วน จะได้การยกระดับป้ายสัญลักษณ์เป็นสีเงิน (Silver) และหากปฏิบัติตามเงื่อนไขถูกต้องจนครบ 2 ปี จะได้รับการยกระดับป้ายสัญลักษณ์เป็นสีทอง (Gold) ตามลำดับ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่ใช้บริการจากสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศว่าจะได้ปริมาณถูกต้องครบถ้วนอย่างแน่นอน ปัจจุบันนี้มีสถานีที่สมัครและเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 6,793 สถานี และได้รับการอนุมัติเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 5,788 สถานี และมีสถานีที่ได้รับป้ายสีเงินแล้วทั้งสิ้น 211 สถานี   

หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า การเข้าร่วม 'โครงการหัวจ่ายเชื้อเพลิงมาตรฐาน' ของกรมการค้าภายใน สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานและความตั้งใจของ OR ที่ให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานการให้บริการของ พีทีที สเตชั่น มาอย่างต่อเนื่องให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น และเป็นตัวอย่างที่สำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความมุ่งมั่นของ OR ในการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุด และตอกย้ำความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่าจะได้รับปริมาณน้ำมันเป็นไปตามมาตรฐานทุกหัวจ่ายตามที่กรมการค้าภายในกำหนด โดยปัจจุบัน สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ทุกแห่งทั่วประเทศจำนวน 2,340 สถานี ได้สมัครเข้าร่วมโครงการครบถ้วนทั้งหมด 100% แล้ว โดยมีสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ที่ได้รับการอนุมัติให้ผ่านการรับรองแล้ว 2,167 สถานี ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการและรออนุมัติ และยังมีสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ที่ได้รับการรับรองระดับสีเงิน ซึ่งเป็นสถานีบริการที่รักษามาตรฐานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน จำนวน 105 แห่ง จากจำนวนสถานีบริการทุกแบรนด์ที่ได้รับการรับรองระดับเงินทั้งหมดทั่วประเทศ จำนวน 211 แห่ง ซึ่งถือเป็นแบรนด์สถานีบริการน้ำมันที่ได้รับมาตรฐานในระดับนี้จำนวนมากที่สุดในประเทศ และอยู่ระหว่างการมุ่งสู่การรับรองระดับสูงสุดคือระดับสีทองที่ต้องรักษามาตรฐานต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี อีกด้วย 

ทั้งนี้ OR มีหน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการของสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ทั่วประเทศ (Mobile Unit) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้รับทั้งสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐานสูงสุด และที่ผ่านมา OR ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยตรวจสอบหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น และนำส่งรายงานการตรวจสอบให้กองชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นประจำทุกเดือน และหากพบว่ามีค่าที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดจะปิดการจำหน่ายหัวจ่ายนั้น ๆ ทันที และประสานงานแจ้งเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ และให้คำรับรองมาตรวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ก่อนที่จะเปิดจำหน่ายอีกครั้ง

ILINK เผยผลประกอบการปี 67 มีกำไร 744 ลบ. เพิ่มขึ้น 4.43% ตั้งเป้าปี 68 รายได้รวม 7,120 ลบ. เน้นเติบโตแบบคุณภาพทุกกลุ่มธุรกิจ

ILINK เผยผลประกอบการปี 2567 มีกำไร 744 ลบ. กวาดรายได้รวม 6,772 ลบ. มั่นใจปี 2568 ขับเคลื่อนทุกกลุ่มธุรกิจ ด้วยปัจจัยเชิงกลยุทธ์ เน้นเติบโตแบบมีคุณภาพ 'Quality Growth'

เมื่อวันที่ (28 ก.พ.68) นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น หรือ ILINK เปิดเผยถึงผลประกาศผลประกอบการประจำปี 2567 ว่า บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 744 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้รวมทั้งปี 6,772 ล้านบาท แม้รายได้รวมจะลดลงเล็กน้อย 2.77% แต่กำไรสุทธิยังคงเติบโตได้ดี สะท้อนถึงการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและกลยุทธ์ 'Quality Growth' หรือการเติบโตอย่างมีคุณภาพ 

สำหรับปี 2568 ILINK ตั้งเป้ารายได้รวม 7,120 ล้านบาท และกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 9% ของรายได้ โดยจะมุ่งเน้นการเติบโตใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ, ธุรกิจวิศวกรรมโครงการ, และธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตในปี 2568 ที่จะส่งผลให้เติบโตจาก Technology  Advancement และ  Hyper Scale  Data Center Investment อีกทั้งนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุน Green Energy & Solar Roof Policy และ Recovery of Tourists

โดยธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ ทำรายได้รวม 3,108 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9% กำไรสุทธิ 362 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.66% ตั้งเป้ารายได้ปี 2568 ที่ 3,420 ล้านบาท

ธุรกิจวิศวกรรมโครงการ ทำรายได้รวม 953 ล้านบาท ลดลง 28.28% กำไรสุทธิ 58 ล้านบาท ลดลง 45.48% คาดว่าจะมีงานโครงการใหม่ในปี 2568 มูลค่า 2,271.71 ล้านบาท

ธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์: ทำรายได้รวม 2,711 ล้านบาท ลดลง 1.6% กำไรสุทธิ 324 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.55%

ILINK มั่นใจว่าจะสามารถรักษาการเติบโต และทำกำไรอย่างต่อเนื่องในปี 2568 โดยเน้น "การเติบโตอย่างมีคุณภาพ 'Quality Growth' " และคาดว่าจะมีการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูง New High อีกด้วย

‘เอกนัฏ’ ปิดเกมเร็ว ‘มหากาพย์ วิน โพรเสส’ หลังเรื้อรังกว่า 15 ปี เร่งขนย้ายสารพิษอลูมิเนียมดรอสเสร็จใน 46 วัน เซฟงบประมาณอื้อ

‘เอกนัฏ’ ชม ขรก. - เอกชน ร่วมใจขนย้ายอลูมิเนียมดรอส ‘วิน โพรเสส’ จบภารกิจใน 46 วัน ปิดจ็อบมหากาพย์เรื้อรังกว่า 15 ปี พร้อมวางแนวป้องกันรัดกุม ตัดตอนน้ำปนเปื้อนสารเคมีช่วงหน้าฝน ลั่นเดินหน้าสุดซอยเคลียร์ทุกพื้นที่-ปัญหา

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังจากลงพื้นที่ตรวจสอบความเรียบร้อยของการขนย้ายตะกรันอลูมิเนียม หรืออลูมิเนียมดรอส ที่ตรวจพบลักลอบกักเก็บสะสมในพื้นที่โรงงานของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ว่าภายหลังจากที่ตนเข้ารับตำแหน่งได้เร่งสะสางปัญหา บริษัท วิน โพรเสส จำกัด อย่างต่อเนื่อง จนเห็นผลภายในระยะเวลา 5 เดือน ล่าสุดได้ทำการขนย้ายอลูมิเนียมดรอสที่เป็นกากของเสียอันตรายออกจากพื้นที่จนแล้วเสร็จ แม้เดิมทีจะติดปัญหาในส่วนตัวเลขค่าใช้จ่ายการบำบัดกำจัด รวมค่าขนส่ง ซึ่งสูงถึงประมาณ 1 หมื่นบาทต่อตัน หรือต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดอย่างน้อย 70 ล้านบาท จึงได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมแถลงต่อศาลจังหวัดระยอง ขอเบิกเงินที่ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด วางไว้ต่อศาล จำนวน 4.94 ล้านบาท มาใช้ในการบำบัดกำจัดอลูมิเนียมดรอสราว 7,000 ตัน เป็นลำดับแรก อีกทั้งยังได้ผนึกกำลังภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ผ่านกิจกรรม ‘อุตสาหกรรมรวมใจ’ ทำการขนย้ายอลูมิเนียมดรอสไปบำบัดกำจัด ด้วยงบประมาณเพียง 4 ล้านบาทเท่านั้น

นายเอกนัฏ เปิดเผยด้วยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เริ่มปล่อยรถขนย้ายคันแรกออกจาก บริษัท วิน โพรเสส จำกัด เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 โดยกำชับให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมคุมเข้มการขนย้ายอย่างระมัดระวัง รัดกุม เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดในทุกขั้นตอน พร้อมเร่งรัดเดินรถขนย้ายเต็มกำลัง กระทั่งสามารถขนย้ายอลูมิเนียมดรอสทั้งหมดแล้วเสร็จ 100% ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม-1 มีนาคม 2568 รวมระยะเวลาเพียง 46 วัน ด้วยรถขนย้าย 225 เที่ยว จำนวนกว่า 5,400 ตัน เร็วกว่ากำหนดเดิมที่คาดการณ์ไว้ 60 วัน

‘กรณี วิน โพรเสส ถือเป็นปัญหาที่สะสมมานานกว่า 15 ปี จนเรามาเร่งสะสาง และเห็นผลใน 5 เดือนที่เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งก็ต้องชื่นชมและขอบคุณข้าราชการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมแรงร่วมใจจนสามารถขนย้ายกากของเสียอันตราย บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ก่อนจะเข้าสู่ฤดูฝนในปีนี้ ที่สำคัญยังใช้งบประมาณในการขนย้ายและบำบัดกำจัดสุดคุ้มเพียง 3.09 ล้านบาท สามารถลดการใช้งบประมาณของภาครัฐลงได้กว่า 67 ล้านบาท’ นายเอกนัฏ กล่าว

รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยด้วยว่า นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมมาตรการรับมือช่วงฤดูฝน โดยบูรณาการความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลบางบุตร กำหนดแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชุมชนบ้านหนองพะวา ในการบล็อกน้ำฝนเพื่อเบี่ยงเบนทางน้ำไม่ให้ไหลหลากผ่านพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนสารเคมี รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ซีลคันดินบ่อที่กักเก็บน้ำเสียปนเปื้อน ป้องกันไม่ให้ของเหลวซึมรั่วไหลออกมา ตลอดจนสำรวจและแก้ไขจุดรั่วไหลที่ตรวจพบ ด้วยการนำหินมาเสริมความแข็งแรงแนวคันดิน และนำดินมากลบทับอุดจุดที่รั่วเพื่อเสริมแนวป้องกันการรั่วซึม พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

“ผมจะไม่หยุดแค่พื้นที่นี้ จะเดินหน้าเคลียร์ทุกพื้นที่ ทุกปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยจะนำทีมเฉพาะกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม ‘ตรวจสุดซอย’ เฝ้าระวังการประกอบการที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หากตรวจพบจะสั่งการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดอย่างเด็ดขาด เพื่อปั้นภาคอุตสาหกรรมตามนโยบาย ‘สู้ เซฟ สร้าง ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย’ MIND ใช้หัวและใจปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน” นายเอกนัฏ ระบุ

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งหาวิธีจัดการและผู้รับบำบัดกำจัดที่มีศักยภาพในการดำเนินการกับกากของเสียที่เหลือทั้งหมดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อลดการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนให้น้อยที่สุด โดยจะใช้บทเรียนการทำงานจากโมเดลการจัดการกากของเสียตกค้างในพื้นที่กรณี บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี รวมถึงโกดัง อำเภอภาชี และบริษัท เอกอุทัย จำกัด ตำบลสามบัณฑิต อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาเป็นต้นแบบการจัดการกากของเสียที่ตกค้างอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเร่งบำบัดกำจัดกากของเสียที่เหลือในพื้นที่บริษัทฯ ให้เร็วที่สุด ขณะนี้อยู่ระหว่างรองบกลาง ปี 2568 จำนวน 40 ล้านบาท ที่จะใช้บำบัดของเสียเคมีวัตถุและเศษซากของเสียที่ถูกไฟไหม้ ประมาณ 4,000 ตัน โดยเฉพาะสารเคมีที่บรรจุอยู่ในถัง IBC และถุงบิ๊กแบ็กที่อยู่นอกอาคารปริมาณ 2,600 ตัน รวมถึงวัตถุอันตรายในบ่อซีเมนต์อีกกว่า 1,400 ตัน ส่วนในปี 2569 อยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบ EEC วงเงินงบประมาณ 459 ล้านบาท สำหรับบำบัดของเสียที่เหลือทั้งหมดอีกกว่า 24,300 ตัน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ หากประชาชนพบปัญหาอุตสาหกรรม โรงงานเถื่อน โรงงานที่ทำให้เดือดร้อน สามารถแจ้งเรื่องได้ที่แอปพลิเคชันไลน์ ‘แจ้งอุต’ ภายใต้ Traffy Fondue (https://landing.traffy.in.th/?key=gmyeYDBV) เปิดรับเรื่องทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

สสว. ประกาศนิยาม ‘เอสเอ็มอีสตรี’ มุ่งให้การส่งเสริม สอดคล้องกับสากล

(2 มี.ค. 68) นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ตามที่ สสว. ได้ขับเคลื่อนและผลักดันการกำหนดนิยามผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสตรี ของประเทศมาตั้งแต่ปลายปี 2565 เป็นต้นมา ขณะนี้ประสบความสำเร็จโดยราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศฯ เรื่องการกำหนดนิยามวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสตรี ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ทุกภาคส่วนนำไปเป็นแนวทางในการกำหนดหลักเกณฑ์ขอบข่ายการส่งเสริมสนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ รวมถึงจัดทำสิทธิประโยชน์เพื่อการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME สตรี และช่วยให้หน่วยงานภาครัฐมีข้อมูลเชิงสถิติที่สามารถจัดทำตัวชี้วัดได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางขององค์การสหประชาชาติ ที่กำหนดให้ความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equality) เป็น 1 ใน 17 เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก “Sustainable Development Goals : SDGs” 

“ประเทศไทยมิได้มีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะเรื่องการดำเนินธุรกิจ อาจจะมีประเด็นเล็กน้อย เช่น ความน่าเชื่อถือในการตัดสินใจ ความไว้วางใจในการจัดลำดับความสำคัญระหว่างงานกับครอบครัว ฯลฯ ซึ่งผู้ประกอบการสตรีไทยก็พิสูจน์ความสามารถจนก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมาก แต่เพื่อให้ตอบรับกับการที่องค์กรระหว่างประเทศให้ความสำคัญและรณรงค์เรื่องบทบาทของผู้ประกอบการสตรีมาอย่างต่อเนื่อง สสว. จึงได้เริ่มจัดทำนิยามผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสตรีตั้งแต่ปลายปี 2565 โดยศึกษาข้อมูลต้นแบบจากนานาประเทศ ประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรระดับนานาชาติ พร้อมทั้งนำเสนอนิยามผู้ประกอบการเอสเอ๋มอีสตรี และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหาร สสว. และคณะกรรมการส่งเสริมเอสเอ็มอีก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 142 ตอนพิเศษ 52 ง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสตรีต่อไป” รักษาการ ผอ.สสว. กล่าว

สำหรับนิยามผู้ประกอบการสตรีเอสเอ็มอีประกอบด้วย 1. กิจการเจ้าของคนเดียว หมายถึง กิจการที่ผู้หญิงสัญชาติไทยเป็นเจ้าของธุรกิจ 2. ห้างหุ้นส่วนสามัญ หมายถึง กิจการที่ผู้หญิงสัญชาติไทยมีสัดส่วนการลงทุนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 3. ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล/ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ (ก) กิจการที่ผู้หญิงสัญชาติไทยมีสัดส่วนการลงทุนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 หรือ (ข) กิจการที่ผู้หญิงสัญชาติไทยมีสัดส่วนการลงทุนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และมีผู้หญิงสัญชาติไทยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการที่มีอำนาจลงนาม 4. บริษัทจำกัด แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ (ก) กิจการที่ผู้หญิงสัญชาติไทยเป็นผู้ถือหุ้นรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 หรือ (ข) กิจการที่ผู้หญิงสัญชาติไทยเป็นผู้ถือหุ้นรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และมีผู้หญิงสัญชาติไทยอย่างน้อยหนึ่งคนเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม 5. วิสาหกิจชุมชน หมายถึง มีสมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นผู้หญิงสัญชาติไทย และผู้หญิงสัญชาติไทยเป็นประธานหรือมีผู้หญิงสัญชาติไทยเป็นผู้มีอำนาจทำการแทน 

ทั้งนี้ ภายหลังที่นิยามผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสตรี ประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว สสว. จะทำการเผยแพร่นิยามดังกล่าวเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดทิศทางและแนวทางการส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสตรี ให้สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ นอกจากนี้จะต่อยอดการดำเนินงาน โดยจะประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่มีภารกิจในการจัดเก็บข้อมูลโดยเฉพาะด้านการดำเนินธุรกิจ เพื่อร่วมกันจัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสตรีของประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อประโยชน์ในการกำหนดทิศทาง นโยบาย และมาตรการส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการเสตรี ใอสเอ็มอีให้ได้รับประโยชน์และความช่วยเหลือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศ รวมถึงเชื่อมโยงกับองค์กรระดับนานาชาติในการนำสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มาเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SME สตรีของประเทศไทย ต่อไป  

กระแสข้าวเหนียวมะม่วง มาแรง!! ปี 67 ยอดส่งออกพุ่ง 4,716 ล้าน เพิ่มขึ้นเกือบ 46 % เกาหลีใต้ นำเข้าอันดับ 1 ชู!! ซอฟต์พาวเวอร์ ข้าวเหนียวมะม่วงไทย คู่มาตรการลดภาษี

(2 มี.ค. 68) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงตัวเลขการส่งออกมะม่วงสดของไทย ปี 2567 มูลค่ารวม 4,716 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.68%

โดยตลาดส่งออก 5 อันดับแรก คือ เกาหลีใต้ 2,931 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 132.7%, มาเลเซีย 1,191 ล้านบาท ลดลง 12.8%, ญี่ปุ่น 139 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.8%, เวียดนาม 131 ล้านบาท ลดลง 15.7% และ 5.สปป.ลาว 38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.3%

สาเหตุเกาหลีใต้ นำเข้าอันดับที่ 1 เป็นผลจากมาตรการรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ขยายโควตานำเข้าผลไม้เขตร้อน ลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรชั่วคราว เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคและลดปัญหาขาดแคลนสินค้าในประเทศ โดยปรับอัตราภาษีมะม่วงและมังคุด 0% จากเดิม 30% ทุเรียน 5% จากเดิม 45% ส่งผลให้มะม่วงไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้น

ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจลดภาษีผลไม้ลงอีก จะช่วยสนับสนุนการส่งออกมะม่วงและผลไม้ของไทย ซึ่งปัจจุบันเกาหลีใต้นำเข้า 6 ชนิด คือ มะม่วง มังคุด ทุเรียน กล้วย มะพร้าว และสับปะรด เติบโตได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ กระแสข้าวเหนียวมะม่วงในสื่อโซเชียลมีเดีย และพฤติกรรมผู้บริโภคเกาหลีใต้ที่นิยมรับประทานผลไม้สดหลังอาหารหรือเป็นอาหารว่างด้วย

รัฐบาลไทยมุ่งมั่นส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรรมไทยให้เติบโตไปพร้อมกับตลาดโลก โดยการรักษามาตรฐานคุณภาพและผลักดันผลไม้ไทยให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย และเสริมความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

‘เนวิน’ เผย ปิดฉาก ThaiGP ปีหน้า 2026 ปีสุดท้าย หลังรัฐบาลไม่ต่อสัญญา MotoGP ทั้งที่ลงทุนไม่เกินปีละ 500 ล้าน

(3 มี.ค. 68) ไม่ไปต่อ! ‘เนวิน’ เผย ปิดฉาก ThaiGP ปีหน้า 2026 ปีสุดท้าย หลังรัฐบาลไม่ต่อสัญญา MotoGP โอดเสียดายมาก รัฐบาลลงทุนปีละไม่เกิน 500 ล้าน แต่สร้างเงินทุนหมุนเวียนส่งเสริมธุรกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจ มากกว่า 5,000 ล้าน

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 68 เพจ ‘ลุงเนวิน’ ของนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต โพสต์ข้อความว่า

ขอบคุณแฟน Thai GP 
สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย

ขอบคุณฅนบุรีรัมย์ ทุกคน ที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน moto GP สนามแรกของการแข่งขัน moto GP 2025 และเป็นเจ้าบ้านที่ดี ให้การต้อนรับ ดูแลนักท่องเที่ยว และแฟนmoto GP ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลก ที่เดินทางมาเยือนบุรีรัมย์ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา 

แฟน moto GP จำนวน 224,634 คนที่เข้ามาชมและเชียร์นักแข่งในดวงใจ ตลอด 3 วันที่ผ่านมา (28 ก.พ.- 2 มี.ค.) เป็นปรากฎการณ์ใหม่ของสนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต และเป็นสถิติใหม่ของmotoGP สนามแรก สร้างเม็ดเงินหมุนเวียน มากกว่า 5,043 ล้านบาท ทั้งภายในจังหวัดบุรีรัมย์ และ จังหวัดอื่นๆ ที่มีนักท่องเที่ยว และแฟนๆ moto GP เดินทางไปท่องเที่ยวทั้งก่อนและหลังการแข่งขันเสร็จสิ้น 

moto GP เป็นการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ที่ดีที่สุดในโลก เป็นรายการกีฬาที่มีผู้ชมมากที่สุดรายการหนึ่งของโลก เกือบ 1,000 ล้านคน จากการถ่ายทอดสดไปมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต ประเทศไทย ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 22 สนามแข่งขันของโลก และ ปีนี้ ได้รับเกียรติให้เป็นสนามแรก เปิดการแข่งขัน moto GP2025 เป็นที่จับตาดูของแฟนๆ มากที่สุด เพราะเป็นสนามเปิดตัวนักแข่ง และรถแข่งของแต่ละทีม ด้วย

ประเทศไทย จัดการแข่งขัน moto GP มา 7 ปีติดต่อกัน โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นผู้จัดการแข่งขัน ในนามของรัฐบาล ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของเจ้าของลิขสิทธิ์จัดการแข่งขันที่ ต้องการทำงานร่วมกับรัฐบาล เพื่อความมั่นใจว่าสามารถจัดการแข่งขันได้เรียบร้อย และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา หรือ sport tourism ในขณะที่สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต เป็นผู้ให้การสนับสนุน ให้ใช้สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต เป็นสนามแข่งขัน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทุกปี และพร้อมให้การสนับสนุนตลอดไป หากรัฐบาลยังจัดการแข่งขัน อยู่

รายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมการแข่งขัน และรายได้จากผู้สนับสนุนการแข่งขัน หรือ สปอนเซอร์ เป็นของรัฐบาล ทั้งหมด บริษัทบุรีรัมย์ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จำกัด ในฐานะเจ้าของสนามช้างฯ ไม่มีรายได้ทางตรง จากการจัดการแข่งขัน และต้องเสียรายได้จากการส่งมอบสนามให้รัฐบาลใช้เตรียมการจัดการแข่งขันและแข่งขัน เป็นเวลา 1 เดือน (คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท) 

บริษัทฯ ได้รับรายได้ทางอ้อม และมีความพึงพอใจแล้ว คือ เงินหมุนเวียน และเงินสะพัดในจังหวัดบุรีรัมย์ ประชาชนคนบุรีรัมย์ ทำธุรกิจการค้า ร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก มีรายได้ และที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้นักท่องเที่ยว และแฟนกีฬามอเตอร์สปอร์ตทั่วโลก รู้จักบุรีรัมย์ ซึ่งมีมูลค่าสูงสุด จากการได้รับเลือกให้เป็นสนามแข่งขัน moto GP เป็นรายได้ที่คุ้มค่า และเป็นประโยชน์ในระยะยาว 

อย่างไรก็ตาม ผม เพิ่งได้รับทราบอย่างเป็นทางการจากการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นข่าวเดียวกันกับที่แฟนmoto GP ได้ยินมาก่อนหน้านี้ คือ รัฐบาล จะลงทุนจัดการแข่งขัน moto GP ปี 2026 เป็นปีสุดท้าย และจะไม่ต่อสัญญาจัดการแข่งขัน moto GP อีกแล้ว ซึ่งต้องยอมรับการพิจารณาตัดสินใจของรัฐบาล 

แม้ว่าจะรู้สึกเสียดายอย่างมาก เพราะการจัดการแข่งขัน moto GP รัฐบาลลงทุน ปีละไม่เกิน 500 ล้านบาท และมีภาคเอกชน เข้ามาร่วมสนับสนุนอีกไม่น้อยกว่าปีละ 300 ล้านบาท แต่สร้างเงินทุนหมุนเวียนส่งเสริมธุรกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจ มากกว่า 5,000 ล้านบาท 

แต่เมื่อรัฐบาล ตัดสินใจแล้ว สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ในฐานะผู้สนับสนุนรายหนึ่ง ก็ต้องยอมรับ และขอแจ้งให้แฟน moto GP ชาวไทย ได้ทราบว่า ปีหน้า จะเป็นปีสุดท้ายของ Thai GP หากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ รัฐบาล ไม่ทบทวนการตัดสินใจ และยังคงยืนยันที่จะไม่ต่อสัญญาจัดการแข่งขัน moto GP ในประเทศไทย ขอขอบคุณทุกคนที่มาร่วมกันสร้าง Thai GP ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ปีหน้า พบกันใหม่ ที่ ช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต บุรีรัมย์ 
มาเชียร์ และ มาลา moto GP ด้วยกัน

เนวิน ชิดชอบ
ประธานสนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต

‘เอกนัฏ’ จ่อถกกรมโยธาฯ แก้ปัญหาผังเมือง รองรับการลงทุน หวังภาคอุตสาหกรรมช่วยดัน GDP ประเทศเพิ่มขึ้นอีก 1%

(3 มี.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในระหว่างการประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา

โดยเป้าหมายหลักของการประชุม ได้แก่ การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในปีนี้ ตั้งไว้เพิ่ม GDP ขึ้น 1% ให้ได้ภายในปี 2568 ขณะเดียวกันมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยเป้าหมายหลักคือลดขั้นตอนการอนุมัติโครงการ เร่งกระบวนการลงทุน และพัฒนาพื้นที่รองรับการลงทุนในอนาคตกว่า 50,000 ไร่

“ผมกำหนดเป้าหมาย KPIs เพิ่ม GDP ขึ้น 1% ภายในปี 2568 มุ่งเน้นลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมใหม่ และอุตสาหกรรม สีเขียว การให้ความรู้ (knowledge) แก่บุคลากรให้มีทักษะรองรับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” นายเอกนัฏ กล่าว

นายเอกนัฏ กล่าวอีกว่า เตรียมร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม และขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบ แก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายและขยะพลาสติก ซึ่งหากประชาชนพบปัญหาเกี่ยวกับโรงงานเถื่อน หรือโรงงานที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน สามารถแจ้งเรื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ 'แจ้งอุต' 

ทั้งนี้ เมื่อได้รับแจ้งกระทรวงฯ จะส่งทีมเฉพาะกิจ 'ตรวจสุดซอย'ลงพื้นที่ตรวจสอบการประกอบกิจการที่ฝ่าฝืนกฎหมายทันทีและจะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดกับผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการกับธุรกิจสีเทาและส่งเสริมผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎหมาย 

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ.รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กนอ. ปรับปรุงกระบวนการอนุมัติจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม จากเดิม 9 ขั้นตอนเหลือเพียง 8 ขั้นตอน เพื่อลดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในการดำเนินโครงการ รวมทั้งให้เร่งการอนุมัติโครงการโดยอนุญาตให้ประกาศพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้ ก่อนรายงาน EIA จะเห็นชอบ 

ปัจจุบันมีพื้นที่อุตสาหกรรมพร้อมขาย 23,662.45 ไร่ และมีพื้นที่เสนอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 4,959 ไร่ รวมถึงโครงการที่คาดว่าจะจัดตั้งหรือขยายในอนาคตอีก 27 โครงการ ในพื้นที่ EEC 71,243 ไร่  

โดยที่ผ่านมาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีการขยายธุรกิจและการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดย กนอ. ได้เร่งรัดกระบวนการขออนุญาตเรื่องการประกาศเขตเพื่อให้สามารถขายสินค้าได้เร็วขึ้น 

อย่างไรก็ตาม กนอ. พร้อมเป็นกลไกขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม โดยจะประสานความร่วมมือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกในการดำเนินโครงการต่างๆ ให้กับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างการเติบโต GDP ของภาคอุตสาหกรรมอย่างน้อย 1% ในปี 2568

กมธ.อุตสาหกรรม หนุน ‘เอกนัฏ’ เอาผิดทุนเทา - เร่งขจัดกากพิษ พร้อมเชื่อมั่นทิศทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยเดินมาถูกทาง

(4 มี.ค. 68) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขต 4 และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงกรณีมหากาพย์วินโพรเสส ที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ลงพื้นที่ไปดูการขนย้ายสารพิษอะลูมิเนียมดรอสว่า 

ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่กระทบต่อพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก และการที่นายเอกนัฏ ได้ลงพื้นที่ไปติดตามปัญหาดังกล่าวด้วยตนเองก็เป็นสิ่งที่ดีที่สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เอาจริงเอาจังและใส่ใจในความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ หลังจากหน่วยงานในท้องถิ่นไม่ได้สามารถดำเนินการจัดการปัญหาดังกล่าว เพราะติดขัดทั้งในเรื่องงบประมาณ บุคลากร และขั้นตอนต่าง ๆ

ทั้งนี้สิ่งที่ตนอยากขอให้นายเอกนัฏ ดำเนินการต่อ คือ ในเรื่องของมาตรการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดทั้งในส่วนของกากพิษและกลุ่มทุนเทาที่ลักลอบทำธุรกิจผิดกฎหมาย ซึ่งในส่วนของการปราบปราม นายเอกนัฏได้มีการตั้งทีมสุดซอยขึ้นมาดำเนินการตรวจเข้มโรงงานที่ทำผิดกฎหมายแล้ว จะเห็นได้จากข่าวที่มีการจับกุมโรงงานอุตสาหกรรมที่กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง ส่วนในด้านมาตรการการป้องกัน ทราบว่าขณะนี้นายเอกนัฏ กำลังร่างพระราชบัญญัติจัดการกากอุตสาหกรรม ทั้งนี้ตนขอให้เร่งผ่านกฎหมายได้อย่างราบรื่นโดยเร็ว

“มั่นใจว่าทิศทางการทำงานของนายเอกนัฏ เดินมาถูกทางแล้ว จึงขอเป็นกำลังใจให้ และขอให้มุ่งมั่นเดินหน้าปราบปรามผู้กระทำผิดต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มทุนเทาที่ลักลอบทำธุรกิจผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องกากพิษอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันจัดเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพี่น้องคนไทยอย่างมาก และขอย้ำว่าที่ผ่านมานายเอกนัฏ มีผลงานที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม ทำงานไว และการที่ลงมาจัดการปัญหา ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ก็เป็นข้อดีที่ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ถูกแก้ไขได้เป็นอย่างดี” นายอัครเดช กล่าว

ปตท. มอบน้ำแข็งแห้ง 350,000 กก. แก่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อหนุนปฏิบัติการบินลดฝุ่น PM 2.5 ด้วยการทำฝนหลวงทั่วประเทศ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ - บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ปตท.) มอบน้ำแข็งแห้ง ให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 350,000 กิโลกรัม สนับสนุนปฏิบัติการบินลดฝุ่นและทำฝนหลวงทั่วประเทศ ปี 2568 ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก จังหวัดระยอง 

น้ำแข็งแห้งดังกล่าว เกิดจากการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติมาใช้ โดยมี นายสรไนย เลิศอักษร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แยกก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นผู้มอบ และ นายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับมอบ 

ทั้งนี้ ปตท. ได้สนับสนุนน้ำแข็งแห้งเพื่อทำฝนหลวงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน มากกว่า 14,275,000 กิโลกรัม เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาภัยแล้งของภาคเกษตรกรรม การขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชน รวมถึงช่วยบรรเทาสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม และประเทศต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top