Saturday, 17 May 2025
GoodsVoice

‘Gadhouse’ แบรนด์เครื่องเล่นแผ่นเสียงไทย ผู้ปลุกกระแส ‘แผ่นเสียง’ ให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณเพชร วัชรพล เตียวสุวรรณ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Gadhouse เมื่อวันที่ 2 มี.ค.67 กับการปลุกกระแสความนิยมเครื่องเล่นแผ่นเสียงให้กลับมาอีกครั้ง ท่ามกลางการสมรภูมิ Music Streaming ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดในปัจจุบัน เบื้องหลังความสำเร็จนี้เป็นอย่างไร คุณเพชร ได้เล่าให้ฟังว่า...

จุดเริ่มต้นของแบรนด์ Gadhouse เริ่มต้นจากการนำเข้าเครื่องเสียงแบรนด์ต่างๆ มาจำหน่ายในเฟซบุ๊ก โดยยังไม่ได้มีแบรนด์ของตัวเอง ในชื่อ Gadhouse ซึ่งมาจากคำว่า House of Gadget 

เมื่อถามว่า ทำไมถึงขายเครื่องเล่นแผ่นเสียงซึ่งหลายคนมองว่าตกยุคไปแล้ว และในปัจจุบันนิยมฟังผ่าน Streaming มากกว่า? คุณเพชร บอกว่า “เริ่มต้นจากความชอบและเชื่อว่าตลาดแผ่นเสียงยังไม่ตายไปจากคนที่ชอบฟังเพลงจริงๆ ซึ่งการหวนกลับมาของแผ่นเสียงก็น่าจะเป็นเพราะ Streaming ด้วย เนื่องจากปัจจุบันทุกอย่างมันรวดเร็วไปหมดแค่ปลายนิ้ว แต่ขณะเดียวกันความเร็วแบบฉาบฉวยเหล่านี้ ก็กระตุ้นคนอีกกลุ่มที่เริ่มโหยหาวิถี Slow Life อยากเสพสุนทรีย์ และแสวงหาเสน่ห์จากปกที่ให้รายละเอียดของอัลบั้ม เนื้อเพลงและศิลปิน และพวกเขากำลังมองหาร้านที่จะตอบโจทย์ และเราคือคำตอบ”

เมื่อถามถึงทิศทางอุตสาหกรรมดนตรีของโลกในปัจจุบัน? คุณเพชร เผยว่า “หลัก ๆ ตลาดถูกขับเคลื่อนจากสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่าตลาด Streaming ก็เติบโตสูงมากๆ จากตลาดเหล่านี้ รองลงมาก็จะเป็นกลุ่ม Vinyl, ซีดี และเทปคาสเซ็ต ที่เริ่มขยับตัวขนานไปกับ Streaming” 

คุณเพชร เสริมว่า “ส่วนตลาดในประเทศไทยเองก็มีทั้งที่เสพเพลงผ่าน Streaming และ Physical Media จากศิลปินที่ชื่นชอบ ในแบบที่ต้องการหาซื้อมาฟังจริงๆ และเลือกเป็นของสะสม ซึ่งสิ่งที่น่าดีใจ คือ ตลาดแผ่นเสียงไทยในปัจจุบันกำลังปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้จะไม่มีแผ่นเสียงใหม่ออกมาจำนวนมากเหมือนต่างประเทศ แต่พอค่ายเพลงใหญ่ๆ เริ่มหันกลับมาผลิตแผ่นเสียงเพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้แฟนคลับเริ่มกลับมา”

เมื่อถามในส่วนการวิธีการทำตลาดของ Gadhouse แล้ว คุณเพชร บอกว่า “ส่วนใหญ่จะเป็นการทำตลาดในต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีจำหน่ายในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, ฮ่องกง, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ แต่จะได้รับความนิยมอย่างสูงที่ประเทศญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย โดยจุดเด่นของแบรนด์ Gadhouse นั้น คือ การเจาะไปยังกลุ่มลูกค้าที่พึ่งเริ่มต้นเล่นแผ่นเสียง ด้วยฟังก์ชันที่ใช้งานง่าย มีดีไซน์สวย แต่ราคาจับต้องได้ในระดับคุณภาพสูง

ทั้งนี้แบรนด์ Gadhouse ได้วาง Positioning เป็นแบรนด์เครื่องเสียงชั้นนำของไทยโดยมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงเป็นสินค้านำร่อง แต่ก็มองการเติบโตของวงการ Vinyl ที่น่าจะเติบโตไปได้เรื่อย ๆ ไว้บ้างแล้ว 

อย่างไรก็ตาม อีกจุดเด่นสำคัญของ Gadhouse คือการเป็นแบรนด์พัฒนาเครื่องเล่นแผ่นเสียง ที่ตอบโจทย์ Sustainability ด้วย โดยมีการผลิตเครื่องเล่นจากขยะและสิ่งเหลือใช้ เช่น กล่องนม เป็นต้น เพื่อรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมไปกับเสียงเพลง 

“ผมอยากให้ Gadhouse เป็นแบรนด์เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เติบโตสูงสุด และเป็นเครื่องเสียงของคนไทยที่ชาวต่างชาติอยากได้มากที่สุด โดยวางเป้าหมายเป็น Top ในระดับโลก ของกลุ่ม Retro Modern ภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ ส่วนแผนการจะเป็นอย่างไรก็คงต้องติดตามกันต่อไป” คุณเพชร ทิ้งท้าย

คณะกรรมการ ธพว. มีมติแต่งตั้ง ‘ประสิชฌ์ วีระศิลป์’ เป็น ‘รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ’ มีผลตั้งแต่วันนี้

(2 มี.ค.67) คณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีมติอนุมัติแต่งตั้ง นายประสิชฌ์ วีระศิลป์ รองกรรมการผู้จัดการ เป็น รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ โดยให้มีอำนาจกระทำการแทนกรรมการผู้จัดการในกิจการของธนาคาร ตามความในมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

‘ฉางอาน ออโต้’ ตั้งเป้า ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้า 3,000 คัน ในไทย พร้อมเตรียมเปิดศูนย์บริการ ให้กระจายไปทั่วประเทศ

(2 มี.ค. 67) นายเซิน ซิงหัว ตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยแผนการส่งมอบรถ Deepal S07 และ Deepal L07 ว่า

“เพื่อให้สอดรับกับกระแสความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น CHANGAN ประสบความสำเร็จในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย ด้วยการส่งมอบรถ Deepal S07 และรุ่น Deepal L07 ไปแล้วกว่า 3,000 คัน ความสำเร็จครั้งสำคัญนี้ตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์ และความมุ่งมั่นในการขยายศูนย์บริการที่ให้ความสำคัญกับลูกค้า เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงงาน Motor Expo 2023 ที่ผ่านมา CHANGAN มียอดจองมากกว่า 3,000 คัน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่แสดงถึงความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย การส่งมอบรถได้เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 จนถึงปัจจุบัน CHANGAN ยังตั้งเป้าขยายศูนย์บริการให้ครอบคลุม เริ่มจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนกระจายไปทั่วประเทศเพื่อเพิ่มการให้บริการอย่างครบวงจร และตั้งเป้าสร้างโชว์รูมทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงบริการ และอำนวยความสะดวกสบายให้กับลูกค้าในทุกพื้นที่”

นอกจากนี้ เซิน ซิงหัว ยังได้กล่าวถึงลูกค้าในประเทศไทยที่มอบความไว้วางใจให้กับทางแบรนด์ด้วยว่า “ต้องขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่มอบความมั่นใจ และสนับสนุนด้วยดีเสมอมา ซึ่งความไว้วางใจ และความมั่นใจในแบรนด์นี้ คือสิ่งที่ขับเคลื่อน CHANGAN ให้ก้าวไปข้างหน้า สู่ความสำเร็จในการพัฒนาตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้มีศักยภาพต่อไป ในนาม CHANGAN Thailand มีการคัดสรรทีมงานผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่อช่วยกันพัฒนาให้รถแต่ละรุ่นที่ออกจากโรงงานนั้นเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่พร้อมเปิดประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี พร้อมสมรรถนะ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคด้านการใช้งานในปัจจุบันอย่างแท้จริง” นายเซิน ซิงหัว กล่าว

'พีระพันธุ์' ให้คำมั่น!! ยืนหยัดแก้ปัญหาพลังงาน เพื่อ 'ชาติ-ประชาชน' ตามรอย 'พลโทณรงค์' ในงานสมาคมนักเรียนเก่าฟิลิปปินส์ในพระบรมราชูปถัมภ์

(2 มี.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ได้รับเชิญจากสมาคมนักเรียนเก่าฟิลิปปินส์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปบรรยายเรื่องพลังงาน ในฐานะที่คุณพ่อ 'พลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค' เคยเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ และยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเรียนเก่าฟิลิปปินส์ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นคนแรก  

โดยนายพีระพันธุ์ได้เล่าถึงเรื่องราวของ พลโทณรงค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกกิจการพลังงานของไทย รวมทั้งเป็นผู้บุกเบิกการก่อสร้าง 'โรงกลั่นน้ำมัน' แห่งแรกของประเทศไทย ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และเป็นผู้ก่อตั้งปั๊มน้ำมัน 'สามทหาร' ที่ปัจจุบันแปรสภาพเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อจำหน่ายน้ำมันที่ขุดและกลั่นได้เองจากโรงกลั่นน้ำมันที่อำเภอฝางให้ประชาชนใช้ในราคาถูก และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมสมัยใหม่ของประเทศไทย

นายพีระพันธุ์ กล่าวย้ำว่า พลังงานคือความมั่นคงของประเทศ แต่ปัจจุบันกิจการด้านพลังงานได้แปรเปลี่ยนไปเป็นเรื่องของธุรกิจ ตนในฐานะ รมว.พลังงาน จึงตั้งใจที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน ตามแนวทาง รื้อ ลด ปลด สร้าง ที่ได้เริ่มต้นดำเนินการแล้ว

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! 3 ตัวแปร ที่ทำให้ 'แบงก์ชาติ' ยังไม่ยอมลดดอกเบี้ย 'เข้าใจบทบาทตนเองผิด-เกรงใจสถาบันการเงิน-กฎหมายล้าหลัง'

(3 มี.ค.67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวถึงประเด็นที่แบงก์ชาติยังไม่ลดดอกเบี้ย ไว้ว่า...

หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมแบงก์ชาติจึงดื้อรั้นไม่ยอมลดดอกเบี้ย ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีเงินฝืด (Deflation) ติดต่อกันมา 5 เดือน และเศรษฐกิจไทยอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในไม่ช้า 

ประเด็นนี้ได้ลุกลามใหญ่โตเป็นวิวาทะทางการเมืองระดับชาติระหว่างรัฐบาล ซึ่งรับผิดชอบนโยบายการคลัง กับธนาคารแห่งประเทศไทยและลิ่วล้อที่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์แบงก์ชาติ 

วิวาทะหรือความขัดแย้งเช่นนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเลย และน่าจะมีข้อยุติได้หากเราเข้าใจธรรมชาติของธนาคารกลางและบทบาทที่ควรจะเป็น

ในโลกปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับว่าธนาคารกลางมีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคา (Price Stability) แต่บางทีรัฐบาลบางประเทศก็มอบหน้าที่รองให้ ซึ่งรวมถึง การรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของสถาบันการเงิน การสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การรักษาระดับการจ้างงาน เป็นต้น

ประเทศที่พัฒนาแล้วยึดถือเป็นหลักการว่าธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคา ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยึดหลัก Inflation Targeting ซึ่งมีความเป็นอิสระในเชิงเครื่องมือ (Instrumental Independence) แต่ต้องอยู่ในกรอบอัตราเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาล หากเงินเฟ้อจริงเบี่ยงเบนไปจากกรอบนี้ ต้องถือว่าความเป็นอิสระนั้นจบลง

ส่วนบทบาทอื่น โดยเฉพาะการกำกับดูแลและพัฒนาสถาบันการเงินนั้น หลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และญี่ปุ่น มีหน่วยงานเฉพาะรับผิดชอบ และอยู่นอกบทบาทหลักตามกฎหมายของธนาคารกลาง 

ดังนั้นความเป็นอิสระของธนาคารกลาง จึงจำกัดอยู่ที่การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ดังกล่าวได้ช่วยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ (Conflict of Interest) และป้องกันความขัดแย้งกับนโยบายการคลังได้เป็นอย่างดี

ฉะนั้น จึงสามารถตอบคำถามว่าทำไมแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ยได้ด้วยเหตุผล 3 ประการ...

ประการแรก แบงก์ชาติกลัวหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นจนเป็นฟองสบู่ ในหลายประเทศการแก้ไขปัญหาหนี้ไม่ใช่เป็นหน้าที่ธนาคารกลาง แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน

ประการที่สอง การที่แบงก์ชาติทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน ทำให้เกิดความสนิทสนมในฐานะผู้กำกับและผู้ถูกกำกับ ความสนิทสนมดังกล่าวนานเข้าจะนำไปสู่ความเกรงใจเจ้าของและผู้บริหารของสถาบันการเงินนั้น ๆ แน่นอนการลดดอกเบี้ยนโยบายย่อมนำไปสู่การลดดอกเบี้ยแบงก์ ซึ่งจะทำให้แบงก์มีกำไรลดลง

ประการสุดท้าย กฏหมายธนาคารแห่งประเทศไทย แก้ไขครั้งสุดท้ายกว่า 20 ปีมาแล้วภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงได้มีการนำเป้าหมายทางการเงินหลายอย่างมากระจุกรวมไว้ในบทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติ ดังนั้น การใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่มีอยู่จำกัดไปรับใช้เป้าหมายหลาย ๆ เป้าหมาย ย่อมทำให้งานหลักของธนาคารกลางขาดประสิทธิภาพ และนำมาซึ่งความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ดังกล่าว

ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างรีบด่วน โดยลดบทบาทของแบงก์ชาติ และให้มุ่งเน้นในเรื่องนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาเพียงเรื่องเดียว จนกว่าจะแก้กฎหมายเสร็จในระหว่างนี้ก็ขอให้แบงก์ชาติและลิ่วล้อยุติการเรียกร้องความเป็นอิสระ และหยุดการโยนความผิดของตนไปให้ผู้อื่น รวมทั้งหยุดวิวาทะที่บั่นทอนความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย

'รมว.ปุ้ย' เดินหน้า 'Green Win' วินสองล้อพลังงานสะอาดพิฆาตฝุ่นพิษ นำร่อง กทม. ก่อนขยายผลต่อทั่วประเทศ ด้าน ก.อุตฯ หนุนเต็มที่

(3 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือในโครงการ Green Win เพื่อลดปัญหามลพิษ PM 2.5 ระหว่างสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย โดยนายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมฯ กับ บริษัท สตรอมไทยแลนด์ จำกัด และ บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ โดยมีนายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายเอกภัทร วังสุวรรณ, นายบรรจง สุกรีฑา, นายใบน้อย สุวรรณชาตรี, นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย ณ ห้อง อก.1 ชั้น 2 และ ห้องโถง ชั้น 1 และอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า นับเป็นความก้าวหน้าที่ทุกคนได้ร่วมมองไปข้างหน้าเพื่อหาทางออกและร่วมกันแก้ไขปัญหา PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ และนี่คือโอกาสที่ผู้พัฒนาเทคโนโลยีต้องร่วมกันพัฒนาในทิศทางพลังงานสะอาด เนื่องจากการใช้รถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่สำคัญ โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงการขนส่งและการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ และเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดสู่การใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และค่าซ่อมบำรุง ซึ่งเป็นจุดแข็งสำหรับทางเลือกของผู้ประกอบอาชีพจักรยานยนต์รับจ้างไม่เฉพาะใน กทม.เท่านั้น แต่ยังสามารถขยายผลไปได้ทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมสนับสนุนในทุกด้าน 

“การทำให้อากาศบริสุทธิ์ ไม่ใช่ภาระของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความร่วมมือของประชาชน ผู้ประกอบการ และรัฐบาล ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งเสริมเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้มีการขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2564 ตั้งเป้าผลิตและการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ การส่งเสริมการลงทุนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (มาตรฐาน EV3 และ EV3.5) การกำหนดมาตรฐานการใช้งานและความปลอดภัย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งมั่นอย่างเต็มที่เพื่อเป็นหนึ่งในผู้นำของการพัฒนาสู่การเปลี่ยนผ่านในภูมิภาคนี้ ด้วยการเดินหน้าสู่ยุคพลังงานสะอาดเพื่อส่งต่ออากาศบริสุทธิ์ให้กับลูกหลานต่อไป” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว  

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่เล็งเห็นความสำคัญและร่วมกันสนับสนุน 'โครงการ Green Win' (วินเขียว กทม.) เพื่อลดปัญหามลพิษ PM 2.5 ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหา PM 2.5 และสร้างโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้โครงการสำเร็จและเป็นประโยชน์แก่ประเทศต่อไป

เมื่อรัฐเล็งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในวันที่เอกชนกำลังรัน ‘เศรษฐกิจไทย’ สะท้อน!! ภาพนโยบายครั้งใหญ่ กระตุ้น ศก.ไทยได้จริงหรือ?

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แถลงข่าวรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเงินเดือนมกราคม 2567 โดยเศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน แต่โดยรวมการขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นหลังจากที่หดตัวในเดือนก่อน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง แต่หลายอุตสาหกรรมยังถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้าง

ด้านการลงทุนภาคเอกชนทยอยปรับดีขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาคบริการยังขยายตัวได้ตามรายรับในภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก โดยเฉพาะหมวดอาหารสดจากราคาผักและผลไม้ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น หมวดพลังงานลดลงจากผลของฐานสูงปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสำเร็จรูปจากผลของฐานสูงในปีก่อน 

ด้านตลาดแรงงานปรับแย่ลง การจ้างงานในภาคการผลิตโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังคงลดลง และเริ่มเห็นการลดลงของการจ้างงานในภาคบริการบางสาขา 

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามดุลการค้าเป็นสำคัญ แม้ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนกลับมาเกินดุล

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ หากพิจารณาภาพรวมแล้ว สภาพเศรษฐกิจไทย ยังถือว่าอยู่ในระดับทรงตัว ส่วนใหญ่ที่ขยายตัวได้เล็กน้อย เกิดจากภาคเอกชน ที่มีการลงทุนสอดรับกับภาคการท่องเที่ยว ที่ประเทศไทย ยังถือว่าเป็นจุดหมายปลายทางของชาวต่างชาติ ที่ต้องการเข้ามาพักผ่อน โดยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวระยะยาวเพิ่มขึ้น

แต่ในส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันกับปีก่อน จากทั้งรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่ยังหดตัวสูงตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และจากรายจ่ายประจำที่หดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษาที่ต่ำกว่าปีก่อนสำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว ตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและพลังงาน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สภาพเศรษฐกิจไทย ยังคงต้องพึ่งภาคเอกชนเป็นหลัก เนื่องจากมาตรการภาครัฐเอง ยังคงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่ ไม่ว่าจะข่าวคราวโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 10,000 บาท ที่มีการแถลงข่าวจาก ฝั่งรัฐบาล ถึงการ 'เลื่อน' จากที่จะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ จะดำเนินการในเดือนเมษายน และ เลื่อนอีกครั้งว่าน่าดำเนินการในเดือนพฤษภาคม รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ แทบจะไม่มี 

อาจจะเห็นภาพในการช่วยเหลือประชาชนที่ค่อนข้างชัดเจนเพียงบางกระทรวง ในส่วนมาตรการลดค่าใช้จ่าย โดยควบคุมราคาพลังงาน, ทั้งไฟฟ้า, น้ำมัน, ลดค่าครองชีพ ให้มีเงินเหลือเพื่อส่งเสริมการอุปโภค บริโภค ของประชาชนส่งผลให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 

เมื่อกำลังสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย เกิดจากภาคเอกชนเป็นหลัก กลับมีข่าวการเตรียมปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ออกมา ว่ารัฐบาลจะประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งแน่นอนว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ย่อมจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของกลุ่มแรงงานได้มากขึ้น แต่ก็ต้องพิจารณาให้รอบด้าน ว่าพื้นที่ใดสามารถดำเนินการได้ พื้นที่ใดที่น่าจะได้รับผลกระทบ เพราะกลไกสำคัญคือ ผู้ประกอบการ SME ขนาดเล็ก ที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวหลังเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งใช้แรงงานคนเป็นหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ ก็จะมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ประกอบกับต้นทุนทางการเงินในด้านดอกเบี้ยของผู้ประกอบการก็ยังคงอยู่ในระดับสูง 

ถ้าไม่เป็นเพราะเหตุ ‘การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่ส่อเค้าว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ จึงต้องนำนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้มาลดกระแส แรงกระเพื่อมจากประชาชนต่อรัฐบาล ก็คงดี และหวังว่าคงเกิดจากคณะกรรมการค่าจ้าง ได้พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ จากเหตุที่เศรษฐกิจประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวได้จริง ๆ 

'รัดเกล้า' เผย!! รัฐปั้น 'ฮาลาลไทย' สู่ ASEAN Halal Hub ภายในปี 2571  ตั้งเป้า!! 5 ปี 'จีดีพีอุตฯ แตะ 55,000 ลบ.-จ้างงานเพิ่ม 1 แสนคนต่อปี'

‘รัดเกล้า’ ย้ำรัฐบาลลุยส่งเสริม ฮาลาลไทย สู่ ASEAN Halal Hub ภายในปี 2571 ตั้งเป้า ภายใน 5 ปี จ้างงานเพิ่ม 1 แสนคนต่อปี จัดงาน Kick off การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย มีนาคม 2567 นี้

(4 มี.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ด้วยเป้าหมายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค หรือ ASEAN Halal Hub ภายในปี 2571 นั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้วางแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล  เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เพื่อสร้างการรับรู้และการยอมรับในผลิตภัณฑ์ฮาลาลของประเทศไทยผ่านการเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลให้ยังคงมีอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นเพื่อเป็น กลไกขับเคลื่อนซอฟพาวเวอร์ของไทยไปในตัว ควบคู่กับการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพ กระจายรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู้การลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็ง และความมั่นคงให้กับประเทศอย่างยั่งยืน

กระทรวงอุตสาหกรรมยังเตรียมลดข้อจำกัดและแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรครวมทั้งบูรณาการทำงานหน่วยงานต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ฮาลาล โดยผลิตภัณฑ์และบริการ อาหารฮาลาล เป้าหมายในระยะแรกที่ถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนาอิสลามประกอบด้วยอาหารฮาลาลเช่นเนื้อสัตว์อาหารทะเลอาหารแปรรูปอาหารพร้อมรับประทานอาหารฮาร้านโดยธรรมชาติอาหารมุสลิมรุ่นใหม่เช่น Snack bar / แฟชั่นฮาลาล เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและเครื่องหนัง / ยาสมุนไพรและเครื่องสำอางฮาลาล / โกโก้ฮาลาล สินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง / บริการและท่องเที่ยวฮาลาล

ในระยะยาว เราตั้งเป้าว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 หรือ 55,000 ล้านบาทภายใน 5 ปีในขณะเดียวกันแรงงานในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจำนวน 100,000 คนต่อปีต่อเนื่องจนถึงปี 2571 และในแผนระยะสั้นนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนที่จะจัดงานเปิดตัว Kick off การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย วางแผนไว้ว่าจะจัดในช่วงเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งจะมีการเชิญหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เอกอัครราชทูตหรือผู้แทนทางการทูตของประเทศเป้าหมายที่มีศักยภาพเข้าร่วมงานด้วย  ขอให้ประชาชนให้กำลังใจคนทำงานและจับตาดูงานที่สำคัญงานนี้

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ยกท่องเที่ยวไทย ‘ยุคเศรษฐา’ มาถูกทาง เปิดทางเอกชนโชว์ฟอร์ม ส่วนภาครัฐช่วยเป็นแรงหนุน

(4 มี.ค. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวถึงประเด็น การเติบโตที่นำโดยการท่องเที่ยว (Tourism-led Growth) ระบุว่า...

ต้องยอมรับว่า Ignite Thailand จุดพลัง รวมใจ ไทยเป็นหนึ่ง ที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงไปเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นวิสัยทัศน์ที่ชาญฉลาดเละเป็นไปได้ แต่ก็มีความท้าทายสูงในด้านการดำเนินการ (Implementation) ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หากเปรียบเทียบกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลที่แล้ว ต้องถือว่า Ignite Thailand มีความทันสมัยและเหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าภาคการท่องเที่ยวมีความสำคัญและมีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆ รวมทั้ง Medical Hub, Aviation Hub และ Financial Hub เป็นต้น การบริหารจัดการการดำเนินการเพื่อมุ่งไปสู่วิสัยทัศน์นี้จึงหนีไม่พ้นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งมี ททท. เป็นหน่วยงานหลัก แต่ความท้าทายน่าจะอยู่ที่การสร้างความเชื่อมโยงไปสู่ความเป็นศูนย์กลางในสาขาทั้ง 8 สาขา ซึ่งจำเป็นต้องทลายกำแพงที่กีดขวางการทำงานแบบบูรณาการข้ามหน่วยงานของระบบราชการไทย

วันนี้การท่องเที่ยวของไทยได้พัฒนาก้าวหน้ามาอย่างมากจนอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดจากความเก่งกาจของภาครัฐแต่อย่างใด แต่ส่วนใหญ่มาจากความสามารถของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม, ภัตตาคาร, ห้างสรรพสินค้า ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวที่มีการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ 

การยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้เป็นหนึ่งของโลกตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องจัดโครงสร้างการบริหารจัดการภาคการท่องเที่ยวใหม่ โดยสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP ลดบทบาทภาครัฐให้เหลือเพียงการวางนโยบายและการกำกับดูแลรวม ทั้งการให้การสนับสนุน/อุดหนุนทางการเงินเท่าที่จำเป็น และที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงการเข้ามาเป็นผู้เล่นแข่งกับธุรกิจเอกชน บทบาทในการลงทุนและการบริหารจัดการต้องเป็นของภาคเอกชนเท่านั้น

สิ่งสำคัญที่นายกรัฐมนตรีเน้นและอาจเป็นบทบาทสำคัญของรัฐบาล คือ การปลดล็อกข้อจำกัดในด้านกฏระเบียบข้อบังคับ และการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งปัจจุบันต้องถือเป็นข้อด้อยที่บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

ข้อจำกัดทางกฎหมายของไทยมีอยู่มากมาย เพียงไม่กี่เดือนของรัฐบาลนี้ ได้มีการขยายเวลาเปิดสถานบริการ ปรับเปลี่ยนเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การยกเว้นวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวบางประเทศ ที่ต้องชมเชยก็คือ การลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะไวน์และสุรานำเข้า ซึ่งจะช่วยให้เครื่องดื่มมีราคาลดลง สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาหาร แต่ก็พึงต้องดูแลให้เครื่องดื่มนำเข้าเหล่านี้เสียภาษีอย่างครบถ้วน

ประการสำคัญที่สุด ประเทศไทยจะไม่สามารถเป็น Hub ในด้านต่างๆ ได้เลย หากภาคอุตสาหกรรมและบริการของไทยยังไม่เปิดเสรี แม้จะมีการเปิดเสรีทางการค้าไปมากแล้ว แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังมีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนย้ายบริการ ทุน และแรงงานข้ามพรมแดนอยู่มาก แรงงานมีฝีมือยังไม่สามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์, วิศวกร, นักกฎหมาย การจะเป็น Hub ได้อย่างเต็มปากจำเป็นต้องมีบุคลากรมืออาชีพที่เป็นที่สุดของโลกด้วย

'รมว.ปุ้ย' ย้ำ!! รัฐหนุนเต็มที่ ลงทุนผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในไทย ต่อเนื่องภารกิจ ดันไทยฮับผลิตแบตฯ อีวีแห่งอาเซียน

(4 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังให้คณะผู้บริหารระดับสูงจากบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เข้าพบ เพื่อรับทราบแนวทางการส่งเสริม สนับสนุน ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแนวทางพิจารณาการลงทุนสร้างโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทย รวมทั้งการสร้างซัพพลายเชนเพื่อให้ไทยเป็นฮับการผลิตแบตเตอรี่ของภูมิภาคอาเซียน โดยระบุว่า...

รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้เปิดการส่งเสริมการลงทุนในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ 17 ชิ้น โดยเฉพาะแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ที่จะได้รับสิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมามีนักลงทุนไทย, ญี่ปุ่น, จีน และยุโรป เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ขณะเดียวกันยังมีมาตรการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ สำหรับผู้ประกอบการเข้าร่วมมาตรการ EV3 อีกด้วย 

ส่วนการสร้าง Supply Chain ของแบตเตอรี่ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เป็นพี่เลี้ยงส่งเสริมด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องตลอดซัพพลายเชน มีการพิจารณามาตรการส่งเสริมและจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งมาตรการที่เกิดขึ้นเป็นการเอื้อต่อการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายส่งเสริมกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการหารือทราบว่าบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กำลังวางแผนหาพาร์ตเนอร์และแหล่งผลิตในประเทศไทย โดยเป้าหมายคือพัฒนาบริษัทในพื้นที่และสนับสนุนรัฐบาลไทยในการรักษามาตรฐาน ขณะเดียวกันได้เปิดตัวสายการผลิตและในอนาคตก็พร้อมที่จะเปิดการอบรมนักศึกษาไทยให้เรียนรู้จากเทคโนโลยีดังกล่าวด้วย ดังนั้น จึงอยากให้มั่นใจว่านโยบายรัฐบาลให้การสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ซึ่งล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของมาตรการสนับสนุนผู้นำเข้า ผู้ทดสอบ และการรีไซเคิล

“วันนี้ ประเทศไทยเรามีความน่าสนใจในหลายเรื่อง ทั้งบริษัทต่าง ๆ ที่มาตั้งฐานการผลิตรถยนต์อีวีในประเทศไทยมากขึ้น และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เรายังได้ออกมาตรการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการรีไซเคิลแบตเตอรี่ เพื่อให้เกิดการดูแลทั้งระบบของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

สำหรับการหารือร่วมกันระหว่างบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด มีคณะผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วมด้วย อาทิ นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ ชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top