Tuesday, 22 April 2025
ForestCity

ฟองสบู่ Forest City เมืองใหม่แห่งอนาคตในมาเลเซีย โครงการยักษ์ 3.6 แสนล้าน ที่กำลังกลายเป็นเมืองร้าง

หากนับย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2559 ชาวมาเลเซียจำนวนไม่น้อย น่าจะตื่นเต้นกับโครงการพัฒนาเมืองใหม่ ระดับเมกะโปรเจกต์ที่ชื่อว่า ‘Forest City’ ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ บริษัท เอสพลานาด แดงกา 88 ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมาเลเซีย และ ‘คันทรี การ์เดน’ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันดับต้น ๆ ของจีน ในเขตพื้นที่ของรัฐยะโฮร์ ที่เชื่อมต่อกับสิงคโปร์ ด้วยงบประมาณก่อสร้างสูงถึง 1 หมื่นล้านเหรียญ (ประมาณ 3.6 แสนล้านบาท) 

โดยโครงการนี้ ถูกนำเสนอโดยรัฐบาลจีนเป็นครั้งแรกราวๆ ปี พ.ศ. 2549 ที่หวังจะให้เป็นส่วนหนึ่งในแผน Belt and Road Initiatives มีเป้าหมายยกระดับพื้นที่ในเขตรัฐยะโฮร์ ให้กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจใหม่ ครบครันด้วย อาคารสำนักงาน, ห้างสรรพสินค้า, ที่อยู่อาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่สามารถรองรับประชากรได้ถึง 7 แสนคน 

และยังเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของ บริษัท คันทรี การ์เดน อีกด้วย หลังจากมีการนำเสนอ โครงการมานานถึง 10 ปี Forest City ก็ได้รับการอนุมัติก่อสร้างโดย อดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2578 

แต่ทว่า วันนี้ Forest City ที่ผู้สร้างโปรโมตว่าจะกลายเป็นเมืองสวรรค์ในฝันของคนมีอันจะกิน มีแววจะกลายเป็นเมืองร้าง (Ghost Town) ไปเสียแล้ว เมื่ออาคารหลายแห่งสร้างแล้วเสร็จไปกว่าครึ่ง แต่กลับมีคนที่มาอยู่จริงน้อยมาก 

วันนี้เราจึงเห็นแต่ภาพตึกสูงระฟ้า เรียงรายเต็มพื้นที่หน้าชายหาด ยาวเหยียดเป็นกิโลของ Forest City ที่ถูกทิ้งร้าง มืดมิด เงียบเหงา ไร้ผู้คน และรถรา นอกจากเสียงจิ้งหรีดเรไรดังสนั่นทั่วบริเวณ

ชาวมาเลเซียบางส่วน ที่เข้ามาจับจอง ซื้อห้องพักใน Forest City ในช่วงเปิดโครงการด้วยความหวังว่าจะได้อยู่ในย่านสังคมเมืองใหม่อนาคตไกล ต่างรู้สึกผิดหวัง และ ต้องการย้ายออกเพราะเริ่มไม่ไหวจะทนกับบรรยากาศอันแสนวังเวง ถ้าจะมีข้อดีเพียงอย่างเดียวใน Forest City ณ ขณะนี้ คือ ความเงียบสงบสำหรับคนที่ต้องการปลีกวิเวกอย่างแท้จริง

สาเหตุที่โครงการยักษ์ Forest City ผิดเป้าค่อนข้างไกล แถมมีโอกาสที่จะกลายเป็นเมืองผีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนนั้น เกิดจากหลายปัจจัย 

และสิ่งที่ประเมินพลาดที่สุดอย่างแรกคือ การเจาะกลุ่มเป้าหมายในช่วงเปิดโครงการ ที่เน้นไปยังกลุ่มลูกค้าชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีฐานะตั้งแต่ระดับกลาง - สูง เป็นหลัก ที่กำลังมองหาสินทรัพย์ลงทุนในต่างแดน แทนที่จะเป็นชาวมาเลเซียทั่วไป จึงทำให้โครงการนี้ถูกวิพากษ์ วิจารณ์จากชาวมาเลเซียจำนวนมากว่าเป็นการสร้างเมืองเพื่อผลประโยชน์ของคนจีนเป็นสำคัญมากกว่าชาวมาเลเซียเจ้าของประเทศ 

เมื่อเน้นไปที่ตลาดจีน โครงการนี้จึงได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่รัฐบาลจีนมีนโยบายปิดเมืองนานนับปี ทำให้ชาวจีนส่วนใหญ่เดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจของจีนที่ยังถดถอยหลังวิกฤติการระบาด จึงทำให้ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ของ Forest City ไม่เป็นไปตามเป้าหมายอย่างที่คาดการณ์ไว้

อีกทั้งปัญหาด้านการเงินของ บริษัทคันทรี การ์เดน ที่เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนหลักในโครงการนี้ จากวิกฤตฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์จีน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และ ประชาชนทั่วไปที่กำลังพิจารณาเช่า-ซื้อ ทรัพย์สินในโครงการ Forest City กับอนาคตที่คาดเดาได้ยากว่า คันทรี การ์เดน จะกลับมาฟื้นสภาพ รอดพ้นจากภาวะหนี้สินในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตนได้เมื่อไหร่ 

รวมถึงปัจจัยด้านกำลังซื้อของชาวจีนที่ไม่เหมือนเดิม จากที่ประเมินในช่วงก่อนวิกฤติ Covid-19 ทำให้ Forest City จำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธการตลาดหลายครั้ง จากการสร้างเมืองใหม่เพื่ออยู่อาศัยของกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำ ที่เน้นไปที่เศรษฐีชาวจีนเป็นหลัก ถูกเปลี่ยนมาเป็นเมืองเพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนชายทะเลระยะสั้นสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป ทั้งชาวจีน และ มาเลเซีย ซึ่งสามารถกระตุ้นยอดจองโรงแรม ที่พักในเมืองได้บ้าง แต่ก็ไม่สามารถลบล้างภาพเมืองร้างขนาดมหึหาออกไปได้

ล่าสุด เมื่อ สิงหาคม 2566 นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ก็ออกมาช่วยสนับสนุนโครงการ Forest City อีกครั้งด้วยการประกาศยกระดับพื้นที่เมืองนี้ให้กลายเป็น ‘เขตการเงินพิเศษ’ เพื่อจูงใจนักลงทุนด้านการเงิน และ แรงงานทักษะสูงเข้ามาช่วยกู้เมือง โดยมีการเสนอสิทธิพิเศษด้านวีซ่า และ ภาษีในอัตราพิเศษ และยังสนับสนุนให้มีการจัดงานอีเวนต์ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยหวังที่จะปลุกเมืองนี้ให้กลับมาเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ ให้สมกับเป้าหมายและเม็ดเงินที่ลงทุนไปแล้วมากมายมหาศาล

ดังคำกล่าวที่ว่า ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน โปรเจกต์ 20 ปี อย่าง Forest City ก็เช่นกัน ที่อาจต้องใช้เวลาต่อจากนี้อีกสักระยะ ว่าเมืองแห่งนี้ จะกลายเป็นเมืองใหม่ของมนุษย์ หรือ เป็นจะเพียงสุสานของซากตึก

'มาเลเซีย' ปิ๊งไอเดีย!! หยุดร้าง เมืองแสนล้าน 'Forest Garden'  โปรโมตเป็นทำเลทอง ดึงกองถ่ายระดับโลก 'ถ่ายหนัง-ทำสารคดี'

หลังจากที่รัฐบาลมาเลเซียต้องปวดหัวกับโครงการ Forest Garden เมืองนิรมิตมูลค่ากว่าแสนล้านดอลลาร์ ในรัฐยะโฮร์ ซึ่งหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจใหม่ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียน แต่ตอนนี้กลับมีสภาพไม่ต่างจาก Ghost Town หรือเมืองร้าง จากผลพวงพิษเศรษฐกิจหลัง Covid-19 ที่ยังไม่ฟื้นกลับคืน

จากโครงการก่อสร้างยักษ์ใหญ่ที่ร่วมทุนระหว่าง Country Garden บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน และ Esplanade 88 Danga Bay ของมาเลเซีย สร้างเมืองแห่งโลกอนาคต อันประกอบด้วยที่พักอาศัยหรู, โรงแรม, ห้างสรรพสินค้า, สนามกีฬา, สวนสนุก ฯลฯ เพื่อรองรับผู้พักอาศัยถึง 7 แสนคน

แต่ปัจจุบันกลับมาผู้อาศัยจริงเพียงแค่หลักพัน จนทำให้โครงการใหญ่กลายสภาพเป็นเมืองร้าง แม้รัฐบาลมาเลเซียจะพยายามกระตุ้นให้มีการจัดงานอีเวนต์ เรียกนักท่องเที่ยวระยะสั้น หรือ วางแผนใช้พื้นที่เป็นเขตการเงินพิเศษสำหรับนักลงทุนต่างชาติ แต่ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์เมืองผี ให้กลายเป็นเมืองมนุษย์ที่มีชีวิตชีวาได้

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด มาเลเซียเริ่มหาทางใช้ประโยชน์จากพื้นที่ Forest City ได้บ้างแล้ว เมื่อ ทีมงานสร้างซีรีส์จาก Netflix ได้เลือก Forest City เป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำรายการเรียลลิตี้  'The Mole' ซีซันล่าสุด ที่ยกกองมาถ่ายทำถึงในมาเลเซีย 

สำหรับ The Mole เป็นรายการประเภท Survivor Game แข่งขันตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เพื่อชิงเงินรางวัลหลายแสนดอลลาร์ในสัปดาห์สุดท้าย เป็นหนึ่งในรายการเรียลลิตี้ที่ประสบความสำเร็จ และจะเปลี่ยนสถานที่ถ่ายทำใหม่ทุกๆ ซีซัน แต่ซีซันล่าสุดนี้เป็นครั้งแรกที่ทางทีมงานเลือกใช้สถานที่ถ่ายทำในประเทศแถบเอเชีย

โดยได้เลือกเมืองร้าง Forest City เป็นหนึ่งใน Location สำหรับปฏิบัติภารกิจด้วย สร้างความฮือฮาให้ผู้ชมได้ไม่น้อย และนั่นก็ทำให้รัฐบาลมาเลเซียเกิดไอเดียที่จะพลิกวิกฤติ ให้เป็นโอกาส ด้วยการโปรโมต Forest City ให้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ หรือ ซีรีส์ สำหรับกองถ่ายระดับนานาชาติ โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่กว้างขวาง วิวริมชายฝั่งสวยงาม สิ่งอำนวยความสะดวกครบ แต่ยังมีผู้อาศัยเบาบาง จึงง่ายต่อการควบคุมการถ่ายทำ

นอกเหนือจากรายการเรียลลิตี้ The Mole ของ Netflix ที่เข้ามาถ่ายทำใน Forest City แล้ว ล่าสุดยังมีกองถ่ายจากเกาหลีใต้ ได้เข้ามาถ่ายรายการเรียลลิตี้ ด้านการท่องเที่ยว 'Battle Trip' นอกจากนี้ ยังมีบริษัท ProSiebenTV กองถ่ายจากเยอรมนีเข้ามาถ่ายทำสารคดีสั้นเกี่ยวกับ Forest City และ กองถ่ายจากออสเตรีย ที่ได้มาติดต่อขอถ่ายทำสารคดีเรื่อง 'Hungry: Tipping the Scales' ในเขตเมืองร้างแห่งนี้ด้วย

นับเป็นไอเดียที่ดีในการเปลี่ยนจุดอ่อน ให้เป็นจุดขาย ใช้พื้นที่รกร้างให้เกิดประโยชน์บ้าง แม้ไม่อาจคาดหวังว่ารายได้จากการเปิดให้ใช้สถานที่สำหรับถ่ายทำภาพยนตร์ว่าจะสามารถถอนทุนกว่าแสนล้านเหรียญที่ถมลงในโครงการนี้ได้ แต่ก็พอกระตุ้นเศรษฐกิจ และความคึกคักให้กับเมืองได้บ้าง 

แต่ก็ไม่แน่ว่า อนาคตอาจมีซีรีส์ที่ถ่ายทำใน Forest City แล้วเกิดประสบความสำเร็จเป็นกระแสฮิตเปรี้ยงขึ้นมา อาจทำให้มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาขอเช็คอินตามรอยบ้าง ที่จะเปลี่ยนเมืองร้างให้กลายเป็นเมืองที่ Instagrammable ก็เป็นไปได้ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top