Monday, 21 April 2025
Digitalwallet

‘สรรเพชญ’ ซัด ‘รัฐบาล’ กู้เงินสูงสุด เป็นประวัติการณ์  หวั่น!! ก่อหนี้ก้อนใหญ่ในอนาคต สวนทางนโยบาย ที่เคยหาเสียงไว้

(16 มิ.ย.67) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่กำลังจะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในวันที่ 19 – 21 มิถุนายน 2567 นี้ โดยนายสรรเพชญ กล่าวว่า แม้ว่าเอกสารร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ซึ่งมีจำนวนกว่า 10,000 หน้า จะส่งมาให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ศึกษาทำความเข้าใจในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ เพราะบรรดาเอกสารต่าง ๆ พึ่งมาถึงรัฐสภาและให้สมาชิกฯ ไปรับเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาซึ่งจะทำให้ทุกคนมีเวลาในการพิจารณาค่อนข้างน้อย แต่ตนมีความเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับต้น ๆ เพราะเกี่ยวเนื่องกับประชาชนโดยตรง อีกทั้งการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจของรัฐบาลในการทำหน้าที่ตามที่ได้แถลงนโยบายไว้ในรัฐสภา 

จากการที่ตนได้ศึกษาดูเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 แล้ว เห็นว่างบประมาณดังกล่าวไม่ค่อยแตกต่างอะไรกับงบประมาณในปีที่ผ่าน ๆ มามากนัก ทั้งที่รัฐบาลชุดนี้มีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณแทบจะ 100% สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับการจัดสรรงบประมาณในปี 2568 ที่มีการตั้งวงเงินกว่า 3.7 ล้านล้านบาท คือเรื่องของการกู้ขาดดุลที่มีการกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณถึง 865,700 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์และเกือบเต็มเพดานกรอบวงเงินที่รัฐบาลสามารถกู้ได้ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และเมื่อพิจารณาที่ประมาณการสถานะการคลังระยะปานกลางรัฐบาลมีการประมาณการว่าในปี 2568 จะมีรายรับประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท และปี 2569 จะมีรายรับประมาณ 3 ล้านล้านบาท สิ่งที่น่ากังวลคือรัฐบาลจะมีรายได้ตามเป้าจริงหรือไม่ เพราะในปีที่ผ่าน ๆ มามักจะมีรายได้ไม่ตามเป้าแล้วจะทำให้รัฐบาลต้องกู้เพื่อชดเชยเงินคงคลังสูงขึ้นไปอีก ยิ่งกู้มากรัฐบาลก็เสี่ยงต่อการกู้ชนเพดานอันจะเกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งจากการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้มีความจริงใจและไม่กล้าที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ยังทำงบประมาณแบบเดิม ๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซึ่งสวนทางกับนโยบายที่จะให้คนไทยมีกิน มีใช้ ที่โฆษณาตอนหาเสียง 

ในงบประมาณปี 2568 นี้สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนคือรัฐบาลมีการตั้งค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวนกว่า 152,700 ล้านบาทในงบกลาง เพื่อทำนโยบาย Digital Wallet ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ซึ่งตนไม่ได้ติดใจอะไรหากรัฐบาลต้องการที่จะทำนโยบายนี้ เพราะเป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ถนัดในการทำนโยบายโปรยเงินแบบ Helicopter Money ซึ่งแทนที่รัฐบาลจะหาเงินใหม่จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้าในประเทศเพื่อทำนโยบาย แต่รัฐบาลกลับใช้วิธีการแบบทางลัดโดยการกู้เงินเพื่อทำนโยบายดังกล่าว เสมือนเป็นการสูบเลือดของประชาชนดังที่ ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม เคยกล่าวไว้ว่า สิ่งที่รัฐบาลทำนั้นอธิบายง่ายๆ มันก็คือ หมอบอกว่าคนไข้ว่าต้องการเลือดใหม่ แต่แทนที่จะหาเลือดใหม่มาอัดฉีดให้กับคนไข้ แต่สิ่งที่หมอทำคือ ‘สูบเลือดออกจากคนไข้ แล้วนำมาฉีดคืนให้กับคนไข้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง’ 

นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องให้ความกระจ่างกับประชาชนคือ เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินโครงการดิจิทัล วอลเล็ทสามารถซื้อโทรศัพท์ได้หรือไม่ เพราะถ้าหากซื้อได้ก็อาจเป็นการเอื้อนายทุนค่ายมือถือรายใหญ่ที่ขายเครื่องพร้อมแพคเกจให้กับประชาชนโดยใช้เงินจากโครงการของรัฐบาล  

“งบประมาณปี 2568 นี้ สิ่งที่รัฐบาลแสดงความสามารถให้เห็นได้ชัดเจนคือความสามารถในการกู้เงินและไปล้วงเงินจากที่อื่น ๆ มาได้ดีกว่าการหาเงินใหม่ ๆ เข้ามาในระบบ ซึ่งจนวันนี้แล้วรัฐบาลยังตอบไม่ได้ว่าจะหาเงินจากที่ไหนมาใช้คืนหรือชดเชยคืนเงินที่เอามาทำนโยบาย Digital Wallet นี้เลย” นายสรรเพชญกล่าวในตอนท้าย

'อ.พงษ์ภาณุ' มอง!! รัฐคลอด Digital Wallet ในจังหวะ ศก.ตกต่ำ ถูกช่วง!! ห่วง!! อาจเกิดภาระการคลังเพิ่มเติม แต่ก็ต้องยอมในยามแบงก์ชาตินิ่งเฉย

(28 ก.ค. 67) ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในมุมมองของ 'ความชัดเจนจากภาครัฐในโครงการ Digital Wallet' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ในที่สุดข่าวดีที่คนไทยรอคอยก็มาถึง ขณะนี้มาตรการ Digital Wallet มีความชัดเจนมากที่สุด ทั้งในเรื่องของหลักเกณฑ์ ขนาดวงเงิน คุณสมบัติของผู้ได้รับสิทธิและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ กำหนดการลงทะเบียน ตลอดจนแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการ

แม้ว่าเม็ดเงินจริงจะยังไม่ออกมาจนกระทั่งเดือนธันวาคม แต่ผลจากการประกาศความชัดเจนก็ได้ก่อเกิด Announcement Effect ขึ้นมาแล้ว ประชาชนผู้บริโภคเริ่มมีความคาดหวังจากกำลังซื้อที่จะมีมากขึ้น ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการเริ่มเตรียมแผนเพิ่มกำลังการผลิตและแผนโปรโมชันต่าง ๆ นักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ/การลงทุนที่กำลังจะฟื้นตัวขึ้น แม้ว่าหน่วยงานสำคัญอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน แถมยังออกมาแย้งและค้านอยู่เนือง ๆ เข้าทำนองมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ

ในแง่จังหวะเวลา (Timing) Digital Wallet ออกมาในช่วงที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำที่สุด แม้ว่าจะมีสัญญาณดีจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่เริ่มขยายตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ยังดีอยู่ แต่อุปสงค์ในประเทศกลับหดตัวจากนโยบายการเงินที่ไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนคลายแต่อย่างใด

ในแง่เป้าหมาย (Target) Digital Wallet มุ่งส่งเสริมการบริโภคและการผลิตสินค้าภายในประเทศอย่างชัดเจน มีการกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเงิน และมีการควบคุมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและ Blockchain ซึ่งป้องกันการรั่วไหล (Leakage) ออกจากการหมุนเวียนในประเทศ ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐครั้งนี้มีพลังทวีคูณ (Multiplier) มากกว่าการใช้จ่ายทั่วไปของรัฐ

ในแง่ความโปร่งใส (Transparency) ต้องถือว่าการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ถูกควบคุมด้วยเทคโนโลยี Blockchain ข้อมูล/สถิติการใช้จ่ายเงินแผ่นดินสามารถติดตามตรวจสอบได้แบบ realtime และ online ไม่เพียงแต่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน แต่ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบการใช้จ่ายของรัฐบาลได้ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่

สุดท้าย ความห่วงใยเกี่ยวกับความคุ้มค่าและภาระทางการคลัง ก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นอีกต่อไป ต้องยอมรับว่า การใช้จ่ายที่มี Impact ตรงต่อการผลิต/การจ้างงานสูงสุดคือ การลงทุนภาครัฐ แต่เมื่อคำนึงถึงความเร่งด่วนแล้ว คงไม่มีอะไรที่ทำได้เร็วกว่าการแจกเงินตรงถึงประชาชน แล้วให้ประชาชนเป็นผู้ใช้จ่ายเองตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด นอกจากนี้ Application ที่สร้างขึ้นมาเพื่อโครงการนี้ ก็น่าจะถือเป็นนวัตกรรม ซึ่งสามารถนำไปใช้กับโครงการอื่นๆของรัฐในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ในด้านภาระการคลัง ก็ต้องยอมรับว่ามาตรการนี้ก่อเกิดภาระการคลังเพิ่มเติมอยู่บ้าง รัฐบาลเองก็ยอมรับว่าหนี้สาธารณะจะกระเถิบสูงขึ้นบ้าง จาก 62% ของ GDP ในปัจจุบัน เป็นใกล้ ๆ 70% เมื่อจบโครงการ แต่ก็เป็นภาระที่คนไทยต้องยอมรับ ในภาวะที่ธนาคารกลางและนโยบายการเงินไม่ทำหน้าที่ของตนเองที่ควรจะทำ

‘ปชช.’ แห่ลงทะเบียน 'ทางรัฐ' รับสิทธิเงินดิจิทัล จนขึ้นเทรนด์ X หลายรายโอด!! แอปฯ ‘ค้าง-เด้งออก’ หลังเปิดให้กรอกมา 1 ชม.

(1 ส.ค. 67) วันนี้เป็นวันแรกของการเปิดให้ลงทะเบียนยืนยันรับสิทธิโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ ซึ่งประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก โดยแฮชแท็ก #แอปทางรัฐขึ้นอันดับ 1 เทรนด์แอปพลิเคชัน X รวมถึง #ดิจิทัลวอลเล็ต ก็อยู่อันดับต้น ๆ เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี หลังจากเปิดลงทะเบียนมาประมาณ 1 ชั่วโมง เริ่มมีหลายรายบ่นว่า แอปทางรัฐมีอาการค้าง หรือบางรายก็ล็อกอินเข้าระบบแล้วก็เด้งออก รวมถึงบางรายก็ได้รับข้อความ แจ้งขออภัย เนื่องจากมีผู้ใช้งานจำนวนมาก แต่บางคนก็สามารถลงทะเบียนได้

ด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลมีการให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระทรวงดีอีเอส และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ตั้งวอร์รูม รองรับการแก้ไขปัญหาการลงทะเบียนที่อาจไม่คาดหมายที่จะเกิดขึ้น และหากประชาชนมีข้อสงสัย หรือติดปัญหาใด สามารถติดต่อ Call Center ได้ที่หมายเลข 1111

‘ผู้พัฒนาแอปฯ ทางรัฐ’ ชี้!! แอปฯ ปลอดภัย-รักษาข้อมูลส่วนบุคคล ยืนยัน!! ใช้มาตรฐานระดับโลก-ตรวจเฝ้าระบบตลอด 24 ชั่วโมง

(5 ส.ค. 67) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA แจ้งว่า แอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ เป็นแอปพลิเคชันของภาครัฐที่พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชนที่มีการเชื่อมข้อมูล และบริการจากส่วนราชการต่าง ๆ มาไว้ในที่เดียวกัน เพื่อให้ประชาชนในทุกช่วงวัยสามารถใช้บริการออนไลน์ของภาครัฐได้ในแอปฯ เดียวอย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย โปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมถึงเป็นช่องทางในการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet

ดังนั้น การที่ประชาชนจะเข้าใช้งานแอปฯ ทางรัฐ จำเป็นต้องมีการพิสูจน์ว่าผู้ที่กำลังจะเข้าใช้งานแอปฯ ทางรัฐ เป็นประชาชนตัวจริงหรือไม่ โดยการให้ประชาชนผู้นั้นถ่ายภาพใบหน้า และภาพบัตรประจำตัวประชาชนของตนเอง เพื่อเอาไปเปรียบเทียบกับภาพใบหน้าและข้อมูลบัตรประชาชนของประชาชนผู้นั้นที่มีอยู่ในระบบของภาครัฐว่าตรงกันหรือไม่ หรือที่เรียกว่าการทำ KYC (Know Your Customer) เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นเข้าถึงข้อมูลของประชาชนผู้นั้น หรือสวมสิทธิ์ ซึ่งเป็นมาตรการการป้องกันและรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือแบบเดียวกับที่ธนาคารในประเทศไทยใช้ (IAL 2.3) ตามประกาศของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ในปัจจุบัน แอปฯ ทางรัฐเป็นเพียงช่องทางในการเชื่อมโยงข้อมูลและบริการจากหน่วยงานต้นทางโดยไม่ได้เก็บข้อมูลประชาชนจากหน่วยงานต้นทางมาไว้ที่แอปฯ ทางรัฐแต่อย่างใด และข้อมูลส่วนบุคคลที่แสดงในแอปฯ ทางรัฐสามารถเข้าถึงได้เฉพาะเจ้าของข้อมูล และผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลเท่านั้น

นอกจากนี้ แอปฯ ทางรัฐมีมาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบและข้อมูลต่าง ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ และพัฒนาระบบที่มีการเข้ารหัสข้อมูลและใช้เทคโนโลยีการยืนยันตัวตนที่ทันสมัยโดยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ร่วมกับทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาระบบที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก โดยเน้นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลและระบบเป็นหลัก มีการตรวจสอบและทดสอบระบบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทดสอบเจาะระบบและแก้ไขช่องโหว่ต่าง ๆ ทั้งก่อนให้บริการและระหว่างการให้บริการเพื่อป้องกันการแฮกและการเข้าถึงข้อมูลและบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีการใช้เทคโนโลยีป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ในระดับสูง (State-of-the-Art Cybersecurity Protection)

ตลอดจนการบริหารจัดการและจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลภายใต้แนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กำหนด และเป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 รวมถึงตามมาตรฐานที่ DGA ได้รับการรับรอง เช่น ISO 27001 (Security Management) เป็นต้น

นอกจากนี้แอปฯ ทางรัฐยังให้บริการอยู่ในระบบที่มีความน่าเชื่อถือ มีเสถียรภาพ อีกทั้งยังมีการตั้ง war room เฝ้าระวังระบบและภัยคุกคามทางไซเบอร์ด้วยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญของ DGA ร่วมกับ สกมช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตลอด 24 ชั่วโมง

โดยสามารถพิสูจน์ได้จากวันแรกที่เปิดรับลงทะเบียนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet ซึ่งมีผู้ไม่ประสงค์ดีพยายามโจมตีระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างหนัก ตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่เปิดรับลงทะเบียน โดยเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนกดเข้าใช้งานแอปฯ ทางรัฐเป็นจำนวนมหาศาลเช่นเดียวกัน แต่แอปฯ ทางรัฐก็ยังสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถรองรับการลงทะเบียนฯ ได้ถึง 18.8 ล้านคนภายใน 24 ชั่วโมงโดยระบบไม่ล่มและไม่มีปัญหาเรื่องข้อมูลรั่วไหล

สำหรับประเด็นข้อสงสัยที่ว่า แอปทางรัฐเป็นระบบเปิดที่เชื่อมต่อไปถึงบัญชีธนาคารของทุกคนหรือไม่นั้น ในปัจจุบัน แอปทางรัฐ ยังไม่มีการเชื่อมกับบัญชีธนาคารและไม่มีการเก็บข้อมูลบัญชีธนาคารของประชาชนแต่อย่างใด

ทั้งนี้แอปฯ ทางรัฐ อนุญาตให้หน่วยงานของรัฐเชื่อมโยงข้อมูลและบริการของตนเข้าสู่แอปพลิเคชันทางรัฐเท่านั้น ภายใต้วิธีการเชื่อมต่อที่มีการควบคุมกำกับดูแล และมีความมั่นคงปลอดภัยสูง โดยไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไป หรือภาคเอกชน หรือธนาคารเชื่อมโยงข้อมูลบัญชีและระบบบริการกับแอปฯ ทางรัฐแต่อย่างใด ซึ่งแอปฯ ของธนาคาร และผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet ต้องเชื่อมโยงและรับส่งข้อมูลกับแพลตฟอร์มการชําระเงินกลาง (Payment Platform) ของภาครัฐเพื่อรองรับการชำระเงินซึ่งเป็นคนละระบบกับแอปฯ ทางรัฐ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top