'อ.พงษ์ภาณุ' มอง!! รัฐคลอด Digital Wallet ในจังหวะ ศก.ตกต่ำ ถูกช่วง!! ห่วง!! อาจเกิดภาระการคลังเพิ่มเติม แต่ก็ต้องยอมในยามแบงก์ชาตินิ่งเฉย
(28 ก.ค. 67) ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในมุมมองของ 'ความชัดเจนจากภาครัฐในโครงการ Digital Wallet' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...
ในที่สุดข่าวดีที่คนไทยรอคอยก็มาถึง ขณะนี้มาตรการ Digital Wallet มีความชัดเจนมากที่สุด ทั้งในเรื่องของหลักเกณฑ์ ขนาดวงเงิน คุณสมบัติของผู้ได้รับสิทธิและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ กำหนดการลงทะเบียน ตลอดจนแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการ
แม้ว่าเม็ดเงินจริงจะยังไม่ออกมาจนกระทั่งเดือนธันวาคม แต่ผลจากการประกาศความชัดเจนก็ได้ก่อเกิด Announcement Effect ขึ้นมาแล้ว ประชาชนผู้บริโภคเริ่มมีความคาดหวังจากกำลังซื้อที่จะมีมากขึ้น ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการเริ่มเตรียมแผนเพิ่มกำลังการผลิตและแผนโปรโมชันต่าง ๆ นักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ/การลงทุนที่กำลังจะฟื้นตัวขึ้น แม้ว่าหน่วยงานสำคัญอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน แถมยังออกมาแย้งและค้านอยู่เนือง ๆ เข้าทำนองมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ
ในแง่จังหวะเวลา (Timing) Digital Wallet ออกมาในช่วงที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำที่สุด แม้ว่าจะมีสัญญาณดีจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่เริ่มขยายตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ยังดีอยู่ แต่อุปสงค์ในประเทศกลับหดตัวจากนโยบายการเงินที่ไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนคลายแต่อย่างใด
ในแง่เป้าหมาย (Target) Digital Wallet มุ่งส่งเสริมการบริโภคและการผลิตสินค้าภายในประเทศอย่างชัดเจน มีการกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเงิน และมีการควบคุมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและ Blockchain ซึ่งป้องกันการรั่วไหล (Leakage) ออกจากการหมุนเวียนในประเทศ ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐครั้งนี้มีพลังทวีคูณ (Multiplier) มากกว่าการใช้จ่ายทั่วไปของรัฐ
ในแง่ความโปร่งใส (Transparency) ต้องถือว่าการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ถูกควบคุมด้วยเทคโนโลยี Blockchain ข้อมูล/สถิติการใช้จ่ายเงินแผ่นดินสามารถติดตามตรวจสอบได้แบบ realtime และ online ไม่เพียงแต่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน แต่ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบการใช้จ่ายของรัฐบาลได้ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่
สุดท้าย ความห่วงใยเกี่ยวกับความคุ้มค่าและภาระทางการคลัง ก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นอีกต่อไป ต้องยอมรับว่า การใช้จ่ายที่มี Impact ตรงต่อการผลิต/การจ้างงานสูงสุดคือ การลงทุนภาครัฐ แต่เมื่อคำนึงถึงความเร่งด่วนแล้ว คงไม่มีอะไรที่ทำได้เร็วกว่าการแจกเงินตรงถึงประชาชน แล้วให้ประชาชนเป็นผู้ใช้จ่ายเองตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด นอกจากนี้ Application ที่สร้างขึ้นมาเพื่อโครงการนี้ ก็น่าจะถือเป็นนวัตกรรม ซึ่งสามารถนำไปใช้กับโครงการอื่นๆของรัฐในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ในด้านภาระการคลัง ก็ต้องยอมรับว่ามาตรการนี้ก่อเกิดภาระการคลังเพิ่มเติมอยู่บ้าง รัฐบาลเองก็ยอมรับว่าหนี้สาธารณะจะกระเถิบสูงขึ้นบ้าง จาก 62% ของ GDP ในปัจจุบัน เป็นใกล้ ๆ 70% เมื่อจบโครงการ แต่ก็เป็นภาระที่คนไทยต้องยอมรับ ในภาวะที่ธนาคารกลางและนโยบายการเงินไม่ทำหน้าที่ของตนเองที่ควรจะทำ