Tuesday, 22 April 2025
Crimes

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัย !! การล่วงละเมิดทางเพศ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ได้นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีผู้เสียหายจำนวนหลายรายจากทุกวงการทั้งที่ปรากฎเป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ตามที่สื่อได้มีการนำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ ว่า

สื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทำสิ่งต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างอิสระ แต่ด้วยความอิสระนี้เอง ทำให้มีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางคนใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการคุกคามทางเพศ(Sexual Harassment) ซึ่งมีหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็น การแสดงความคิดเห็นในลักษณะคุกคามทางเพศ การส่งข้อความส่วนตัวเพื่อชักชวนไปมีเพศสัมพันธ์ หรือการส่งภาพลามกอนาจาร และในปัจจุบันปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปเพราะสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ และการคุกคามทางเพศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ก็อาจนำไปสู่ปัญหาหรืออาชญากรรมอื่น ๆ ได้ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ที่ถูกกระทำ จนอาจจะเกิดเป็นบาดแผลภายในจิตใจหรือทำให้บุคคลนั้นรู้สึกไม่ปลอดภัยอีกต่อไป

การกระทำลักษณะดังกล่าว เข้าข่ายความผิดฐานกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น ทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ และเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางล่วงละเมิดทางเพศ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากมีการนำภาพในลักษณะลามกอนาจารไปโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์ จะเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลใด ๆ ที่มีลักษณะลามกอนาจาร มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือการนำภาพบุคคลอื่นไปโพสต์ในลักษณะล่วงละเมิดทางเพศ จะเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายจะต้องมาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่ตนรับทราบการกระทำความผิด เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และขอให้เก็บภาพข้อความหรือโพสต์ที่เป็นความผิดไว้เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดีต่อไป

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอฝากแนวทางการหลีกเลี่ยงป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศบนสื่อสังคมออนไลน์ว่าอย่าไว้วางใจคนแปลกหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนโลกออนไลน์, เก็บข้อมูลส่วนตัวของตัวเองให้ดี ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์, เคารพสิทธิของผู้อื่นอยู่เสมอ มีสติทุกครั้งในการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องราวต่าง ๆ และควรใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีสติ หากพบเห็นการกระทำดังกล่าว ที่เข้าข่ายคุกคามหรือผิดกฎหมาย อย่าส่งต่อ อย่าแสดงความคิดเห็น อย่าไปยุ่งเกี่ยวไม่ว่าจะทางใด และขอเตือนไปยังผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว ให้หยุดการกระทำของท่านเสีย เนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่รับไม่ได้ในสังคม อีกทั้งยังเป็นการสร้างความหวาดระแวงให้กับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทุกคนได้รับความเดือดร้อนกันอยู่แล้ว ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำความรู้สึกของผู้อื่นเข้าไปอีก

นอกจากนี้หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิดต่าง ๆ สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ป.ป.ช. ร่วมมือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แสดงเจตนารมณ์ร่วมขับเคลื่อนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ลงสู่ “สถานีตำรวจนครบาล” 88 แห่ง

วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และพลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แสดงเจตนารมณ์ร่วมระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการขับเคลื่อนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ลงสู่ “สถานีตำรวจนครบาล” 88 แห่ง ณ ห้องพรหมนอก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ในการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561” ซึ่งเป็นการลงนามระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. โดยนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านระบบการประชุมทางไกล อาทิเช่น นางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายมนต์ชัย วสุวัต ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. พลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจโท เชษฐา โกมลวรรธนะ หัวหน้าจเรตำรวจ พลตำรวจโท ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมด้วยผู้กำกับการ รองผู้กำกับการ และเจ้าหน้าที่ของสถานีตำรวจนครบาล

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มุ่งหวังให้เกิดการส่งเสริมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับของสถานีตำรวจนครบาล เพื่อให้ปฏิบัติเกิดความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และเป็นช่องทาง ในการประสานความร่วมมือในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวกับคดีทุจริตระหว่างกัน ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เสริมสมรรถนะและพัฒนาความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้!! กรณีมีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ นำข่าวเก่าคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา มานำเสนอบิดเบือน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงกรณีมีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์​ นำข่าวเก่าคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา มานำเสนอบิดเบือน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเรียนชี้แจงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ได้มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับกรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ในลักษณะที่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ดังนี้

จากกรณีที่เกิดมีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ส่งต่อข่าวเกี่ยวกับกรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง​ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ในทุกข้อกล่าวหา ซึ่งมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีได้คัดลอกข้อความจากข่าวและตัดออกบางส่วน แล้วจึงนำกลับมาเสนอซ้ำอีกครั้ง ในลักษณะที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดว่าเป็นข่าวใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น

แต่จากการตรวจสอบพบว่า กรณีดังกล่าวเป็นข่าวเก่าที่ทางเพจ Mono29 News ได้เคยนำเสนอไปแล้ว ซึ่ง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อในกรณีดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 63 ไม่ใช่ข่าวใหม่แต่อย่างใดและจากการนำเสนอในลักษณะนี้ ทำให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์และประชาชนทั่วไปเกิดความสับสนเข้าใจผิด และทำให้ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่งทาง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะใช้สิทธิส่วนบุคคล ในการฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป

การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าจะทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลอันเป็นเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอฝากเตือนไปยังผู้กระทำความผิดว่าให้หยุดการกระทำของท่านเสีย เพราะนอกจากการกระทำของท่านจะผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมจิตใจของพี่น้องประชาชนที่ควรจะได้รับข่าวสารที่ถูกต้องและยังทำให้เกิดความสับสนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ และขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชน ให้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก่อนจะส่งต่อ รวมถึงใช้สื่อสังคมออนไลน์ในทางที่สร้างสรรค์ประโยชน์ทั้งกับตนเองและสังคม

นอกจากนี้หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิดต่างๆ สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ตำรวจเตือนหนุ่มสาว !! ระวังแก๊ง Hybrid Scam หลอกรักออนไลน์ ลวงลงทุนเงินสกุลดิจิทัลจนหมดตัว

วันที่ 26 ก.ค.2564 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากกรณี สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.) แถลงข่าวจับกุมแก๊งไฮบริด สแกม (Hybrid Scam) ได้ผู้ต้องหาเป็นชาวจีนและคนไทยหลายราย นั้น ซึ่งกรณีดังกล่าวมีเหยื่อที่เป็นหนุ่มสาวหลายราย ตกเป็นผู้เสียหายถูกหลอกให้ลงทุนกับแอปพลิเคชันแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันปลอม โดยจะเริ่มต้นจากการถูกหลอกผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือ แอปพลิเคชันหาคู่ โดยแก๊ง Hybrid Scam จะปลอมรูปกับชื่อโปรไฟล์ เป็นหนุ่มสาวเอเซียต่างชาติหน้าตาดี เข้ามาขอแอดเป็นเพื่อน จากนั้นจะพูดคุยในลักษณะชู้สาวผ่านการแชท หรือโทรศัพท์พูดคุยผ่านระบบออนไลน์ เช่น แอปพลิเคชันไลน์หรือเฟซบุ๊ก จนเหยื่อตกหลุมรักคนร้าย(ที่ไม่เคยเจอตัวจริง) จากนั้นคนร้ายจะชักชวนให้เหยื่อลงทุนแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชันปลอม อาจมีการส่งลิงก์มาให้เหยื่อสมัคร 

ในช่วงแรกคนร้ายจะหลอกให้เหยื่อตายใจได้กำไร แต่ในภายหลังเหยื่อมักจะขาดทุน หรือหากได้กำไร แล้วจะขอนำเงินออกจากระบบ ทางแอปพลิเคชัน จะอ้างว่าต้องโอนค่าธรรมเนียมหรือภาษีเข้าระบบ พอเหยื่อโอนเข้าไปแล้วก็ไม่สามารถนำเงินออกจากระบบได้เหยื่อจึงรู้ตัวว่าถูกหลอก ซึ่งมูลค่าความเสียหายมีตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลายล้านบาท สำหรับวิธีการเลือกเหยื่อ คนร้าย จะเลือกเหยื่อหนุ่มสาวที่มีฐานะดีหรือมีอาชีพการงานที่มั่นคง เข้าถึงระบบการเงินออนไลน์ได้ เพราะจะต้องเข้าไปในแอปพลิเคชันที่หลอกลวง

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ฯ กล่าวต่อไปอีกว่า แก๊ง Hybrid Scam เป็น การพัฒนารูปแบบจาก Romance Scam เดิมๆที่ส่วนใหญ่เป็นชาวผิวสี หลอกเหยื่อให้รักผ่านสื่อสังคมออนไลน์โดยปลอมโปรไฟล์เป็นชาวต่างชาติยุโรป, อเมริกัน, ตะวันออกกลาง ฯลฯ มีฐานะร่ำรวย จากนั้นคนร้ายจะอ้างว่า จะส่งทรัพย์สินมีค่ามาให้หยื่อ ต่อมาจะมีผู้ร่วมขบวนการอ้างว่าติดต่อมาจากกรมศุลกากรหรือบริษัทขนส่งฯ หลอกให้เหยื่อโอนค่าภาษีหรือค่าธรรมเนียม หรือ หลอกเหยื่อว่าได้มรดก/สัมปทานธุรกิจกับรัฐแล้วหลอกให้เหยื่อโอนค่าภาษีมรดกหรือภาษีสัมปทานมาให้คนร้าย หรือหลอกเหยื่อว่าป่วยเข้าโรงพยาบาลแต่ระบบประกันสุขภาพมีปัญหาขอให้เหยื่อโอนค่ารักษาพยาบาลมาให้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้แสดงความห่วงใย และได้มอบนโยบายในการสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนในการป้องกันตัวเองมิให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรในทุกรูปแบบ  นอกจากนั้นยังได้จัดตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (PCT) โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ขับเคลื่อนการสืบสวนปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ และอย่างต่อเนื่องด้วย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน ไม่อยากให้ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคนร้าย ดังกล่าว  จึงฝากข้อควรระวัง ดังนี้

1.ไม่ควรรับแอดเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่รู้จัก โดยเฉพาะบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นชาวต่างชาติ ที่ใช้ภาพหนุ่มสาวหน้าตาดี หากจำเป็นหรือต้องการจะรับจริง ๆ ก็ขอให้ตรวจสอบข้อมูลในบัญชีให้ดี อาจตรวจสอบได้โดยขอนัดเจอตัวจริง หรือร้องขอให้เปิดกล้องวิดีโอคอล ให้เห็นหน้าเพื่อให้มั่นใจว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับรูปในโปรไฟล์จริง ๆ (หน้าตรงปก) ซึ่งส่วนใหญ่ คนร้ายจะไม่ยอมวิดีโอคอล โดยอ้างเหตุขัดข้องต่าง ๆ

2.หากมีการชักชวนลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล โดยเฉพาะจากเพื่อนหรือพัฒนาจากเพื่อนเป็นคนรักในสื่อสังคมออนไลน์ ที่เราไม่เคยเจอตัวจริง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ และควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของการลงทุนตามที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นจริงหรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือมายังพี่น้องประชาชน หากพบเห็นการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว กรุณาแจ้งเบาะแสไปยังสายด่วน 191 และสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ผลสำเร็จ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม โดยใช้ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดไร้สาย (Wireless CCTV) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1

ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยดำริของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม โดยใช้ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดไร้สาย (Wireless CCTV) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1 โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่พฤศจิกายน 2563 จนเสร็จสิ้นโครงการเมื่อมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาในพื้นรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลภายใต้ความร่วมมืออย่างดียิ่งจากภาคีภาครัฐและเอกชน จนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิด การป้องกันการก่อเหตุในพื้นที่จุดเสี่ยงอันล่อแหลมต่อการเกิดอาชญกรรม และสร้างความเชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

“จะทำอย่างไร ให้ประชาชนต้องไม่เกิดความหวาดระแวงภัยอาชญากรรม สามารถทำให้ผู้หญิงคนหนึ่ง เดินคนเดียวได้อย่างสบายใจบนถนนตอนกลางคืน” คำกล่าวของ พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่บัดนี้ กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นจริงแล้วด้วยมันสมองและสองมือของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีตนักสืบผู้เชี่ยวกรำในงานสืบสวน ที่ได้ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยมาเสริมเขี้ยวเล็บในงานสืบสวนและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม เพื่อขานรับนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

“ทำไมตำรวจต้องทำเอง ในเมื่อกล้องตามท้องถนนมีมากมาย ?” นั่นเป็นเพราะที่ผ่านมา กล้องวงจรปิดของส่วนราชการอื่นและกล้องของเอกชน ไม่ได้ถูกจัดหามาเพื่อตอบโจทก์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับตำรวจ อาทิ ความล่าช้าอันเกิดจากการต้องประสานงาน การมีจุดติดตั้งที่ไม่ได้มุ่งเน้นจุดเสี่ยงอันล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรมหรือ “เส้นทางโจร” และปัญหามุมกล้องที่ไม่สอดคล้องสัมพันธ์กัน ต่างจากกล้องในโครงการ ที่ทีมสืบสวนได้เลือกจุดติดตั้งที่มีประสิทธิภาพจากประสบการณ์ด้วยตนเอง และที่สำคัญจะไม่มีกรณี “กล้องเสีย กล้องหาย กล้องไม่ชัด” ดังที่เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งอีกต่อไป เนื่องจากตำรวจจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแล และบำรุงรักษากล้องทุกตัวด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ 

​ด้วยนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติยุคใหม่ที่ต้องเน้นการพึ่งพาตนเอง จึงเกิดแนวคิดที่ว่า อาหารฟาสฟู๊ดแบบไทย ๆ  อย่างข้าวผัดกระเพรา ก็อิ่มอร่อยได้ไม่ต่างจากสเต็กจานหรู แถมยังปรุงได้ง่าย รวดเร็ว และราคาถูก ดังนั้นกล้องวงจรปิดหรือกล้อง CCTV จึงไม่จำเป็นต้องใช้ของแบรนด์เนมราคาแพง และมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่สูงเกินความจำเป็น อีกทั้งยังมีขั้นการจัดซื้อจัดจ้างที่ยุ่งยาก ไม่ทันต่ออาชญากรรมที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังรุนแรงในปัจจุบัน

โครงการนี้จึงเปรียบเหมือนผัดกระเพราอาหารราคาถูก ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติซื้อเอง ปรุงเอง กินเอง โดยการจัดหาอุปกรณ์ระบบกล้องวงจรปิดที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับลักษณะการทำงาน คุ้มราคา และดูแลรักษาได้ง่าย ด้วยวงเงินงบประมาณของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพียง 36 ล้านบาท ในการติดตั้งกล้องวงจรปิดไร้สาย (Wireless CCTV) จำนวนถึง 9,138 ตัวใน 5,606 จุดเสี่ยงทั่วกรุงเทพมหานคร ภายในระยะเวลาเพียง 8 เดือน ภายใต้ความร่วมมืออันอบอุ่นยิ่งจากเหล่าภาคีภาครัฐและเอกชน โดยได้จัดทำ MOU กับการไฟฟ้านครหลวงในการติดตั้งกล้องบนเสาไฟฟ้าและเชื่อมต่อกระแสไฟฟ้าโดยไม่มีค่าใช้จ่าย  ในส่วนของการเชื่อมโยงกล้องวงจรปิดก็ได้รับการสนับสนุนซิมการ์ดอินเตอร์เน็ตจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือได้แก่ AIS, True, TOT และ กสท.เป็นอย่างดี

“จะเป็นโจรในกรุงเทพยุคนี้ ใจต้องกล้า” เพราะนับตั้งแต่ดำเนินโครงการนี้ ภายใต้การขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องจากผู้บังคับบัญชาในทุกระดับ ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์จนเป็นที่ประจักษ์ในระยะเวลาอันสั้น สามารถปิดคดี โดยติดตามจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษได้อย่างรวดเร็วถึง 99% ของคดีทั้งหมด นอกจากนั้นยังสามารถลดโอกาสในการติดเชื้อโควิด-19 จากการลงพื้นที่ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อีกด้วย 

ด้วยผลสำเร็จเป็นอย่างดีของโครงการดังที่กล่าวมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ต่อยอดความสำเร็จ ด้วยโครงการในระยะที่ 2 โดยจะติดตั้งกล้องวงจรปิดไร้สายเพิ่มเติมอีกกว่าหมื่นตัวเพื่อปูพรมปิดตายช่องว่างอันเป็นบ่อเกิดแห่งอาชญากรรมโดยมีแนวคิดเสริมในโครงการ “ฝากกล้องกับตำรวจ” ที่จะติดตั้งกล้องให้กับบ้านพักอาศัยของประชาชนผู้สนใจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นยังจะพัฒนากล้องวงจรปิดให้มีความฉลาดด้วยปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่จะสามารถวิเคราะห์บุคคลตามหมายจับ แผ่นป้ายทะเบียนรถ และแจ้งเตือนกรณีเกิดเหตุอาชญากรรม หรือพบวัตถุต้องสงสัยได้โดยอัตโนมัติ ผ่านระบบบริหารจัดการกล้องวงจรปิด หรือ Video Management System ที่สามารถเชื่อมโยงกล้องวงจรปิดทุกตัว ทั้งของภาครัฐและเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้จะเริ่มทดลองดำเนินโครงการในสถานีตำรวจนครบาลต้นแบบ 3 แห่ง ก่อนขยายโครงการไปสู่สถานีตำรวจอื่น ๆ จนครอบคลุมทั่วประเทศ 

ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่ขับเคลื่อนด้วยสื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีอันทันสมัย ตำรวจในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของรัฐ ที่ต้องหมุนตามให้ทัน เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและบังคับใช้กฎหมาย โครงการนี้จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อันเกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้บังคับบัญชา ความร่วมมือร่วมใจทั้งจากภาครัฐและเอกชนอย่างบูรณาการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังใจและการสนับสนุนจากพี่น้องประชาชน โดยมีสื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญทุกองค์ประกอบที่กล่าวมา เป็นประหนึ่งชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ซึ่งแตกต่างแต่ล้วนสำคัญที่มาประกอบกัน เพื่อที่จะทำให้ตำรวจไทยยุคนี้ ได้กลายเป็นตำรวจไทยยุค 4.0 อย่างแท้จริง

 

รองโฆษก ตร. เตือนกรณีการแชร์ข้อมูลข่าวปลอม ในหัวข้อ 'น้ำมันเหลือง – น้ำมันเขียว ใช้ทาจมูกหรือทาผ้าปิดจมูกช่วยป้องกันไวรัส' เป็นข่าวปลอม (Fake News) !!

วันที่ 27 ก.ค. 2564 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนกรณีการแชร์ข้อมูลข่าวปลอมในหัวข้อ น้ำมันเหลือง-น้ำมันเขียว ใช้ทาจมูกหรือทาผ้าปิดจมูกช่วยป้องกันไวรัส โดยทางรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีนโยบายในการสร้างการรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนหรือข่าวปลอม (Fake News) จากผู้ไม่หวังดีที่โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ได้ตรวจพบข่าวปลอมเพิ่มเติมอีก 1 กรณี คือกรณี น้ำมันเหลือง-น้ำมันเขียว ใช้ทาจมูกหรือทาผ้าปิดจมูกช่วยป้องกันไวรัสนั้น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทยได้ตรวจสอบข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลเท็จ เนื่องจากไม่ได้มีข้อมูลวิชาการรับรอง อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุบริเวณทางเดินหายใจได้อีกด้วย

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่งต่อ หรือแชร์ข้อมูล จนกว่าจะตรวจสอบความถูกต้องให้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกในสังคม รวมถึงเพื่อความปลอดภัยของสุขภาพด้วย เพราะในปัจจุบันนี้มีข่าวปลอมในลักษณะนี้เกิดขึ้นทุกวัน การกระทำของผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป

นอกจากนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ,เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

รองโฆษก ตร. เตือนกรณีการแชร์ข้อมูลข่าวปลอม ในหัวข้อ ‘ใส่หน้ากากอนามัย ที่ไม่ระบุ VFE ทำให้ป้องกันไวรัสไม่ได้’ เป็นข่าวปลอม (Fake News) !!

วันที่ 27 ก.ค. 2564 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนกรณีการแชร์ข้อมูลข่าวปลอมในหัวข้อ ใส่หน้ากากอนามัย ที่ไม่ระบุ VFE ทำให้ป้องกันไวรัสไม่ได้ โดยทางรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีนโยบายในการสร้างการรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนหรือข่าวปลอม (Fake News) จากผู้ไม่หวังดีที่โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ได้ตรวจพบข่าวปลอมเพิ่มเติมอีก 1 กรณี คือใส่หน้ากากอนามัย ที่ไม่ระบุ VFE ทำให้ป้องกันไวรัสไม่ได้ นั้น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ได้ตรวจสอบข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ เนื่องจาก คำว่า VFE ที่พบในบรรจุภัณฑ์ของหน้ากาก หมายถึง ค่าประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสของหน้ากาก ซึ่งหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ อย. อนุญาตจะมีคุณสมบัติในการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสที่มาพร้อมละอองฝอยของน้ำลายได้ แม้จะไม่ได้ระบุข้อมูลประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสในรูปแบบ VFE

ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่งต่อ หรือแชร์ข้อมูล จนกว่าจะตรวจสอบความถูกต้องให้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกในสังคม รวมถึงเพื่อความปลอดภัยของสุขภาพด้วย เพราะในปัจจุบันนี้มีข่าวปลอมในลักษณะนี้เกิดขึ้นทุกวัน การกระทำของผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป

นอกจากนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ,เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สตูล แถลงข่าวจับยาไอซ์ มูลค่าประมาณ 6,000,000 บาท

(28 ก.ค.2564)​ นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล,​ พ.ต.อ.สมชาย ศรีศรยุทธ์ รอง ผบก.ตชด.ภาค 4,​ พ.ต.ท.ธีรศักดิ์ ศรีราชยา ผบ.ร้อย ตชด.436,​ ร.ต.อ.พรเทพ หมื่นแกล้ว รอง ผบ.ร้อย ตชด.436 สนธิกำลังกับตำรวจน้ำสตูล,​ ชุดสืบสวน สภ.เมืองสตูล,กอ.รมน.จังหวัดสตูล,​ ชุด ชปข.ร้อย ตชด.436, ตร.น้ำ สตูล,​ ชุดสืบสวน สภ.เมืองสตูล,​ ตำรวจตม.สตูล​ เข้าจับกุมผู้กระทำความผิด พรบ. ยาเสพติด

หลังจากได้รับแจ้งจากสายข่าวว่ามีชายอายุประมาณ 30​ ถึง​ 35 ปี รูปร่างท้วมผิวดำแดงสูงประมาณ 160 -165 ซม. ซึ่งขับเรือปั่นไฟ ชื่อก.นิยมสิน19 ออกเรือหาปลาบริเวณร่องน้ำระหว่างเกาะตะรุเตากับเกาะราวี น่าจะมียาเสพติดยา​ (ไอซ์) ซุกซ่อนอยู่​ จึงขอให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโดยด่วนๆ

เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและได้รับคำสั่งให้เดินทางเข้าตรวจสอบเรือดังกล่าว​ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประชุมวางแผนที่กองร้อยตชด 436 ในการเข้าทำการตรวจค้นจับกุมและได้ประสานกับตำรวจน้ำจังหวัดสตูล​ เพื่อขอสนับสนุนเรือตรวจการณ์ 521 ของทางตำรวจน้ำเพื่อเข้าทำการตรวจสอบในวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้เจอเรือปั่นไฟชื่อ​ ก.นิยมสิน19 ลอยลำอยู่บริเวณร่องน้ำเกาะแกวใหญ่หมู่ 2 ตำบลตันหยงโป อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

จึงได้นำเรือเข้าเทียบเพื่อขอทำการตรวจสอบพบชายวัยรุ่น 1 คนนั่งอยู่บริเวณท้ายเรือดังกล่าว ลักษณะตรงตามที่สายรับแจ้งไว้เมื่อชายดังกล่าวเห็นเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้แสดงอาการมีพิรุธ ลุกลี้ลุกลน​ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้สอบถามชื่อของชายวัยรุ่นคนดังกล่าวทราบชื่อนายจเร หรือตี๋ แห่ชู อยู่บ้านเลขที่ 167 หมู่ 1 ตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูลเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงขอทำการตรวจค้นตัวและเรือผลการตรวจสอบพบกระสอบยาเสพติด​ (ยาไอซ์) จำนวน 3 กระสอบซุกซ่อนอยู่ในห้องเครื่องบริเวณหัวเรือปั่นไฟ ชื่อ​ ก.นิยมสิน19 ทั้งหมดจำนวน 29 ก้อนและบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกจำนวน 2 ถุงน้ำหนักรวมประมาณ 30 กิโลกรัมมูลค่ายาไอซ์ประมาณ 6,000,000 บาท​ ตรวจพร้อมทั้งยึดเรือจำนวน 1 ลำ ราคาประมาณ  4,000,000  บาท

ผู้ถูกจับกุมให้การรับสารภาพว่ายาดังกล่าวเป็นของตนจริงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ผู้ถูกจับกุมได้ออกเรือปั่นไฟไปทางทิศใต้ของเกาะหลีเป๊ะเพื่อหาปลาและเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 เวลาประมาณ 9.00 น ได้สังเกตเห็นกระสอบสีขาวจำนวน 5 กระสอบลอยตามกระแสน้ำำ​ จากนั้นจึงเดินเรือไปเพื่อเก็บกระสอบดังกล่าวและได้เปิดดูภายในพบยาเสพติด​ (ยาไอซ์)  ซุกซ่อนอยู่ภายในกระสอบ​ จากนั้นได้นำกระสอบดังกล่าวมาเก็บไว้ภายในห้องเครื่องบริเวณหัวเรือเพื่อนำมาไว้เสพ จนมาถูกเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม ผู้ถูกจับกุมให้การยอมรับตลอดข้อกล่าวหา 

ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 25564 เจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำร่วมกับหน่วยต่างๆ​ ได้ตรวจยึดยาไอซ์จำนวน 391 กิโลกรัม เฮโรอีน ประมาณ 390 กิโลกรัม ซึ่งยาไอซ์มีบรรจุหีบห่อ สีแดง สีเขียวอ่อนและสีเขียว มีตัวอักษรภาษาจีนบรรจุอยู่ในตะกร้าผลไม้คลองกุ้ง ตำบลตำมะลังอำเภอเมืองจังหวัดสตูล

จากการสอบถามผู้ถูกจับกุมเบื้องต้นลักษณะห่อยาไอซ์ที่จับกุมมีลักษณะเป็นถุงชาสีเขียวมีตัวอักษรภาษาจีน​ ซึ่งเหมือนกับยาไอซ์ที่มีการตรวจยึดที่ตำมะลัง เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนจะได้สืบสวนเพื่อติดตามผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องต่อไป

นิตยา แสงมณี // ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

 

รวบเครือข่ายชาวจีน Hybrid scam หลอกเงินคนร่วมชาติ ชักชวนลงทุนในเงินสกุลดิจิตอล เสียหายกว่า 5.1 ล้านบาท

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่ง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. มอบหมายให้ สตม. โดย พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม.ระดมกวาดล้างคนต่างด้าว ที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ขบวนการขนคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ตลอดจนการขนแรงงานต่างด้าวเข้า-ออกพื้นที่จังหวัด ที่มีคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และรวมถึงการที่คนต่างชาติเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการกระทำความผิด

ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.สมพงษ์  ชิงดวง ผบช.สตม., พล.ต.ต.อาชยน  ไกรทอง รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.พันธนะ  นุชนารถ ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.สถิตย์ พรมอุทัย รอง ผบก.สส.สตม.,พ.ต.อ.ณภัทรพงศ สุภาพร ผกก.ปอพ.บก.สส.สตม.,พ.ต.อ.ชย พานะกิจ ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.สตม.,พ.ต.อ.กรกฎ โปชยะวณิช ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา,ว่าที่ พ.ต.ต.สิทธิมณ  สร้อยภู่ระย้า สว.กก.4 บก.สส.สตม.ช่วยราชการ กก.ปอพ.บก.สส.สตม.,ร.ต.อ.อดิศร บุญชุ่ม รอง สว.กก.ปอพ.บก.สส.สตม และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.ปอพ.บก.สส.สตม. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ศปชก.สตม. ได้ร่วมกันจับกุม

1.นายเติ้ง อายุ 32 ปี สัญชาติจีน

ตามหมายจับศาลจังหวัดนครราชสีมา ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นและนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยผิดกฏหมายฯ”

2.นายต้ง อายุ 36 ปี สัญชาติจีน

ตามหมายจับศาลจังหวัดนครราชสีมา ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นและนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยผิดกฏหมายฯ”

สืบเนื่องจาก กองบังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฏหมาย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้รับการร้องเรียนจากผู้เสียหายสัญชาติจีนว่าได้ถูกคนร้ายที่รู้จักกันผ่านแอพพลิเคชั่น  FACEBOOK ใช้ชื่อว่า “ZHONG” (จง) ได้เข้ามาพูดคุยเพื่อตีสนิท โดยอ้างว่าเป็นคนจีนที่เข้ามาทำธุรกิจที่ประเทศไทย ต่อมาได้อ้างว่าปัจจุบันได้ทำการลงทุนในตลาดสกุลเงินดิจิตอล

โดยได้ทำการส่งข้อมูลให้ผู้เสียหายดูว่าสามารถได้รับผลประโยชน์จริง ต่อมาคนร้ายได้ทำการชักชวนให้ผู้เสียหายลงทุน ซึ่งได้ส่ง URL ชื่อ https://www.cqnyys.com/app และให้ผู้เสียหายทำการสมัครและทำการโอนเงินเพื่อลงทุน โดยในช่วงแรกเมื่อผู้เสียหายลงทุนก็พบว่ามีเงินที่เพิ่มขึ้นในระบบจริง และเมื่อผู้เสียหายต้องการที่จะถอนเงินออกจากระบบ ก็ถูกคนร้ายอ้างว่าจะต้องมีการโอนเงินค่าประกัน

ในการรับประกัน user จากนั้นเมื่อผู้เสียหายโอนแล้วพบว่าสามารถถอนเงินออกมาได้จากพอร์ทจริง จึงลงทุนเพิ่มไปในพอร์ทตามคำชักชวนของคนร้าย รวมมูลค่า กว่า 5.1 ล้านบาท จากนั้นเมื่อผู้เสียหายได้โอนเงินแล้วปรากฏว่าเว็บไซต์ดังกล่าวได้ปิดไป จึงเชื่อว่าได้ถูกหลอกลวงและเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีตามกฏหมาย

ต่อมาทาง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ศปชก.สตม. และ กก.ปอพ.บก.สส.สตม. ได้ทำการสืบสวนจนทราบว่าคนร้ายในคดีนี้เป็นผู้ใด จึงได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานและทำการออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 2 คน คือนายเติ้ง สัญชาติจีน และนายต๋ง  สัญชาติจีน ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นและนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ” ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการสืบสวนจนทราบว่า นายเติ้ง ได้พักอาศัยอยู่บริเวณเขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร จึงได้ทำการขอหมายค้นและเข้าทำการตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดนครราชสีมา และสืบทราบว่า นายต๋ง  พักอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี จึงได้ทำการเฝ้าติดตามและทำการจับกุมได้ในที่สุด โดยจากการสืบสวนขยายผลผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ให้การว่าได้รับการสั่งการมาจาก นายเจิ้ง ที่อยู่ที่ประเทศลาว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนจะได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อทำการออกหมายจับและติดตามผู้ต้องหาต่อไป ซึ่งทั้งนี้จากการติดตามจับกุมของเจ้าหน้าที่ ทำให้สามารถติดตามเงินมาคืนผู้เสียหายได้จำนวน 1.7 ล้านบาท

สตม.จึงขอเรียนให้ท่านทราบว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิดต่าง ๆ รวมทั้งการดำเนินการตรวจสอบชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหรือ ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติ หากประชาชนท่านใดพบเบาะแสในการกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เลขที่ 507 ซ.สวนพลู แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120 หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 1178 หรือที่ www.immigration.go.th จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

สืบ ตม.1 รวบสาวใหญ่ เอี่ยวเครือข่าย ROMANCE SCAM ฉ้อโกงทรัพย์กว่าล้านบาท

ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเรื่องการควบคุมกำกับดูแลชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักอาศัยหรือเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์  แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. มอบหมายให้ สตม.ดำเนินการตรวจสอบชาวต่างชาติที่มีหมายจับตำรวจสากล หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หรือเป็นลักษณะการกระทำผิดเข้าข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดย พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม., พล.ต.ต.อาชยน  ไกรทอง รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ปิติ นิธินนทเศรษฐ์ ผบก.ตม.1,พ.ต.อ.ศุภณัฎฐ์ เจริญเรืองสกุล,พ.ต.อ.ภัทรภณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, พ.ต.อ.ยศเอก รักษาสุวรรณ รอง ผบก.ตม.1, พ.ต.อ.กีรติศักดิ์ ก้องเกียรติศิริ ผกก.สส.บก.ตม.1 ร่วมแถลงข่าวการจับกุมคดีที่น่าสนใจ ดังนี้

กองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง1  นำโดย พ.ต.อ.กีรติศักดิ์  ก้องเกียรติศิริ ผกก.สส.บก.ตม.1, พ.ต.ท.พลสิทธิ์ สุทธิอาจ รอง ผกก.สส.บก.ตม.1 พ.ต.ท.ทรงพันธุ์ กุลดิลก, พ.ต.ท.ปัฐน์ แสนอินอำนาจ สว.กก.สส.บก.ตม.1 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.บก.ตม.1 ได้ร่วมกันจับกุมเครือข่าย Romance Scam ในไทย

พฤติการณ์กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 ได้รับแจ้งข้อมูลจากนางน้อย ผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวง ว่าได้มีผู้ใช้บัญชีแอพพลิเคชั่น LINKEDIN นามว่า WANG มาขอเพิ่มเป็นเพื่อน จากนั้นได้ส่งข้อความบอกว่าตนเป็นลูกครึ่ง แคนาดา - จีน ปัจจุบันเป็นวิศวกรแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมอยู่ที่ตุรกี ต้องการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย และขอไอดีไลน์เพื่อปรึกษา โดย นาย WANG ได้พูดคุยตีสนิทถามข้อมูลส่วนตัว และบอกว่าหลังจากหมดสัญญาทำงานที่ตุรกีแล้วตนจะรีบเดินทางมาพบนางน้อยที่ประเทศไทย เมื่อพูดคุยกันได้ระยะหนึ่ง นาย WANG ได้บอกว่ามีปัญหาเรื่องงานเกี่ยวกับการสั่งซื้อเครื่องจักรจากญี่ปุ่นเข้ามาตุรกี

กล่าวคือติดตามเครื่องจักรที่สั่งไม่ได้และงานจะไม่สำเร็จถ้าไม่มีเครื่องจักรจะต้องติดคุกและเสียค่าปรับจำนวนมาก นาย WANG บอกว่าไม่สามารถโอนเงินได้ จึงได้ขอร้องให้นางน้อย ส่งอีเมล์ไปยังบริษัทขนส่งชื่อ X Shipping Service เพื่อติดตามพัสดุหมายเลข XXXYYYZZZ จากนั้นนาย WANG ติดต่อกลับมา และขอร้องให้นางน้อยทำการโอนเงินค่าภาษีศุลกากร “การนำเข้าเครื่องจักร” ดังกล่าวแทนตนไปก่อน โดยให้โอนผ่านเว็บไซต์ที่ นาย WANG ส่งลิงค์มา นางน้อยสงสัยว่าลิงค์ดังกล่าวไม่ปลอดภัย จึงได้สอบถามบริษัทขนส่งฯ ว่าสามารถโอนเงินช่องทางอื่นได้หรือไม่ โดยบริษัทขนส่งฯ ได้ตอบอีเมล์กลับมาว่ามีบัญชีธนาคารในประเทศไทย เลขที่บัญชี xxxxx ซึ่งเป็นบัญชีของนางบี โดยนางน้อยหลงเชื่อในคำพูด และได้ทำการโอนเงินไปยังบัญชีดังกล่าว ภายหลังจากที่นางน้อยโอนเงินไปแล้ว ไม่สามารถติดต่อนาย WANG ได้ จึงเชื่อว่าตนเองถูกหลอกลวง

จากนั้น เจ้าหน้าที่ กก.สส.บก.ตม.1 ได้รับทราบข้อมูลและพบข้อสงสัยในพฤติกรรมของ นาย WANG และความถูกต้องของเว็บไซต์บริษัทขนส่งฯ จึงได้นำชื่อและภาพถ่ายของ นาย WANG เข้าตรวจสอบระบบจัดเก็บข้อมูล Biometrics (ลายพิมพ์นิ้วมือและภาพถ่ายใบหน้า) ผลการตรวจสอบไม่พบข้อมูลของบุคคลดังกล่าว และได้ทำการตรวจสอบเว็บไซต์ที่นาย WANG ให้ใช้โอนเงิน และ บริษัทขนส่งฯ ที่นาย WANG ส่งให้นางน้อย เพื่อหาความเชื่อมโยงกัน ผลการตรวจสอบพบว่าเว็บไซต์บริษัทขนส่งฯ นั้นถูกสร้างขึ้นมาเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.63 ซึ่งไม่ตรงกับข้อมูลที่นาย WANG ได้บอกกับนางน้อย ว่าได้ใช้บริการบริษัทขนส่งฯ มานานแล้ว ส่วนเว็บไซต์ที่นาย WANG ให้ใช้ในการโอนเงินเพิ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.63 ซึ่งมีระยะเวลาไล่เลี่ยกันกับเว็บไซต์ของบริษัทขนส่งฯ และผู้จดทะเบียนเว็บไซต์ทั้งสองเว็บไซต์เป็นบุคคลเดียวกัน นอกจากนี้เวลาการโต้ตอบการสนทนาของ นาย WANG กับบริษัทขนส่งฯ ต่อนางน้อย มักจะมีเวลาสอดคล้องใกล้เคียงกันตลอด และเจ้าหน้าที่ฯ ยังได้ตรวจสอบบัญชีบัญชีธนาคาร เลขที่บัญชี xxxxx บัญชีนางบี พบว่ามีเงิน เข้า-ออก ซึ่งรวมมูลค่ากว่าล้านบาท

โดยทุกครั้งเมื่อมีการถอนเงิน จะเป็นการใช้บัตรกดเงินสดผ่านตู้กดเงินสดในประเทศมาเลเซีย เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้ตรวจสอบชื่อของนางบี เจ้าของบัญชีดังกล่าว ในระบบสารสนเทศข้อมูลอาชญากรรมฯ Crime จนทราบข้อมูลจึงได้เดินทางไปพบนางบี เจ้าหน้าที่ฯ สอบถามข้อมูล โดยนางบีบอกว่าตนได้ทำการเปิดบัญชีธนาคาร เลขที่บัญชี xxxxx และได้ส่งบัตรกดเงินสด ATM ไปให้ผู้รับชื่อ MR.ANTHONIO ที่อยู่ประเทศมาเลเซีย โดยตนรู้จักกันทางแอพพลิเคชั่น SKOUT และได้พูดคุยกันมาระยะหนึ่งแล้ว โดย MR.ANTHONIO อ้างว่าบัญชีตนเองไม่สามารถรับโอนเงินจากประเทศไทยได้ จึงขอให้นางบีส่งบัตรกดเงินสดมาให้ตนเองเพื่อใช้กดเงิน เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้แจ้งหาข้อกล่าวหาฐาน ร่วมกัน ฉ้อโกงทรัพย์ ในเบื้องต้นนางบีให้การปฏิเสธว่าไม่ได้รู้เห็นกับเหตุการหลอกลวงดังกล่าว เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้นำตัวนางบีไป สน.ทองหล่อ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย และได้ประสานฝ่ายตำรวจสากลเพื่อประสานไปยังกรมตำรวจ ประเทศมาเลเซียเพื่อดำเนินการกับ MR.ANTHONIO ต่อไป

สตม. จึงขอเรียนให้ท่านทราบว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิดต่าง ๆ รวมทั้งการดำเนินการตรวจสอบชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหรือ ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติ หากประชาชนท่านใดพบเบาะแสในการกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เลขที่ 507 ซ.สวนพลู แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120 หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 1178 หรือที่ www.immigration.go.th จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top