ผลสำเร็จ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม โดยใช้ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดไร้สาย (Wireless CCTV) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1

ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยดำริของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม โดยใช้ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดไร้สาย (Wireless CCTV) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1 โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่พฤศจิกายน 2563 จนเสร็จสิ้นโครงการเมื่อมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาในพื้นรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลภายใต้ความร่วมมืออย่างดียิ่งจากภาคีภาครัฐและเอกชน จนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิด การป้องกันการก่อเหตุในพื้นที่จุดเสี่ยงอันล่อแหลมต่อการเกิดอาชญกรรม และสร้างความเชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

“จะทำอย่างไร ให้ประชาชนต้องไม่เกิดความหวาดระแวงภัยอาชญากรรม สามารถทำให้ผู้หญิงคนหนึ่ง เดินคนเดียวได้อย่างสบายใจบนถนนตอนกลางคืน” คำกล่าวของ พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่บัดนี้ กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นจริงแล้วด้วยมันสมองและสองมือของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีตนักสืบผู้เชี่ยวกรำในงานสืบสวน ที่ได้ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยมาเสริมเขี้ยวเล็บในงานสืบสวนและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม เพื่อขานรับนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

“ทำไมตำรวจต้องทำเอง ในเมื่อกล้องตามท้องถนนมีมากมาย ?” นั่นเป็นเพราะที่ผ่านมา กล้องวงจรปิดของส่วนราชการอื่นและกล้องของเอกชน ไม่ได้ถูกจัดหามาเพื่อตอบโจทก์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับตำรวจ อาทิ ความล่าช้าอันเกิดจากการต้องประสานงาน การมีจุดติดตั้งที่ไม่ได้มุ่งเน้นจุดเสี่ยงอันล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรมหรือ “เส้นทางโจร” และปัญหามุมกล้องที่ไม่สอดคล้องสัมพันธ์กัน ต่างจากกล้องในโครงการ ที่ทีมสืบสวนได้เลือกจุดติดตั้งที่มีประสิทธิภาพจากประสบการณ์ด้วยตนเอง และที่สำคัญจะไม่มีกรณี “กล้องเสีย กล้องหาย กล้องไม่ชัด” ดังที่เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งอีกต่อไป เนื่องจากตำรวจจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแล และบำรุงรักษากล้องทุกตัวด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ 

​ด้วยนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติยุคใหม่ที่ต้องเน้นการพึ่งพาตนเอง จึงเกิดแนวคิดที่ว่า อาหารฟาสฟู๊ดแบบไทย ๆ  อย่างข้าวผัดกระเพรา ก็อิ่มอร่อยได้ไม่ต่างจากสเต็กจานหรู แถมยังปรุงได้ง่าย รวดเร็ว และราคาถูก ดังนั้นกล้องวงจรปิดหรือกล้อง CCTV จึงไม่จำเป็นต้องใช้ของแบรนด์เนมราคาแพง และมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่สูงเกินความจำเป็น อีกทั้งยังมีขั้นการจัดซื้อจัดจ้างที่ยุ่งยาก ไม่ทันต่ออาชญากรรมที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังรุนแรงในปัจจุบัน

โครงการนี้จึงเปรียบเหมือนผัดกระเพราอาหารราคาถูก ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติซื้อเอง ปรุงเอง กินเอง โดยการจัดหาอุปกรณ์ระบบกล้องวงจรปิดที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับลักษณะการทำงาน คุ้มราคา และดูแลรักษาได้ง่าย ด้วยวงเงินงบประมาณของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพียง 36 ล้านบาท ในการติดตั้งกล้องวงจรปิดไร้สาย (Wireless CCTV) จำนวนถึง 9,138 ตัวใน 5,606 จุดเสี่ยงทั่วกรุงเทพมหานคร ภายในระยะเวลาเพียง 8 เดือน ภายใต้ความร่วมมืออันอบอุ่นยิ่งจากเหล่าภาคีภาครัฐและเอกชน โดยได้จัดทำ MOU กับการไฟฟ้านครหลวงในการติดตั้งกล้องบนเสาไฟฟ้าและเชื่อมต่อกระแสไฟฟ้าโดยไม่มีค่าใช้จ่าย  ในส่วนของการเชื่อมโยงกล้องวงจรปิดก็ได้รับการสนับสนุนซิมการ์ดอินเตอร์เน็ตจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือได้แก่ AIS, True, TOT และ กสท.เป็นอย่างดี

“จะเป็นโจรในกรุงเทพยุคนี้ ใจต้องกล้า” เพราะนับตั้งแต่ดำเนินโครงการนี้ ภายใต้การขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องจากผู้บังคับบัญชาในทุกระดับ ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์จนเป็นที่ประจักษ์ในระยะเวลาอันสั้น สามารถปิดคดี โดยติดตามจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษได้อย่างรวดเร็วถึง 99% ของคดีทั้งหมด นอกจากนั้นยังสามารถลดโอกาสในการติดเชื้อโควิด-19 จากการลงพื้นที่ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อีกด้วย 

ด้วยผลสำเร็จเป็นอย่างดีของโครงการดังที่กล่าวมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ต่อยอดความสำเร็จ ด้วยโครงการในระยะที่ 2 โดยจะติดตั้งกล้องวงจรปิดไร้สายเพิ่มเติมอีกกว่าหมื่นตัวเพื่อปูพรมปิดตายช่องว่างอันเป็นบ่อเกิดแห่งอาชญากรรมโดยมีแนวคิดเสริมในโครงการ “ฝากกล้องกับตำรวจ” ที่จะติดตั้งกล้องให้กับบ้านพักอาศัยของประชาชนผู้สนใจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นยังจะพัฒนากล้องวงจรปิดให้มีความฉลาดด้วยปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่จะสามารถวิเคราะห์บุคคลตามหมายจับ แผ่นป้ายทะเบียนรถ และแจ้งเตือนกรณีเกิดเหตุอาชญากรรม หรือพบวัตถุต้องสงสัยได้โดยอัตโนมัติ ผ่านระบบบริหารจัดการกล้องวงจรปิด หรือ Video Management System ที่สามารถเชื่อมโยงกล้องวงจรปิดทุกตัว ทั้งของภาครัฐและเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้จะเริ่มทดลองดำเนินโครงการในสถานีตำรวจนครบาลต้นแบบ 3 แห่ง ก่อนขยายโครงการไปสู่สถานีตำรวจอื่น ๆ จนครอบคลุมทั่วประเทศ 

ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่ขับเคลื่อนด้วยสื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีอันทันสมัย ตำรวจในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของรัฐ ที่ต้องหมุนตามให้ทัน เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและบังคับใช้กฎหมาย โครงการนี้จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อันเกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้บังคับบัญชา ความร่วมมือร่วมใจทั้งจากภาครัฐและเอกชนอย่างบูรณาการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังใจและการสนับสนุนจากพี่น้องประชาชน โดยมีสื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญทุกองค์ประกอบที่กล่าวมา เป็นประหนึ่งชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ซึ่งแตกต่างแต่ล้วนสำคัญที่มาประกอบกัน เพื่อที่จะทำให้ตำรวจไทยยุคนี้ ได้กลายเป็นตำรวจไทยยุค 4.0 อย่างแท้จริง