Wednesday, 23 April 2025
COP27

รมว.วราวุธ มอบนโยบายคณะผู้แทนไทยในการประชุม COP27 สนับสนุนการเจรจาเพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาคมโลก และคำนึงถึงผลประโยชน์ของไทยอย่างยั่งยืน

(7 พ.ย. 65) เวลา 15.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายสำหรับคณะผู้แทนไทยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) คณะผู้บริหาร ทส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 17 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผ่านระบบ Video Conference เพื่อพิจารณาการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการดำเนินงานตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) การปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (LT-LEDS) และการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (2nd Updated NDC) เพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศ ให้ประชาชนทุกระดับมีความเป็นอยู่ที่ดี

COP 27 เวทีสำคัญถกแก้วิกฤตโลกร้อน มุ่งรักษาอุณภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

โลกร้อนที่กำลังคุกคามชีวิตกับ COP 27 จะมีผลเพียงใด

"We are on a highway to climate hell with our foot on the accelerator," UN Secretary General Antonio Guterres told the summit.

เรากำลังเหยียบคันเร่งบนถนนไฮเวย์ไปสู่ภูมิอากาศที่เลวร้ายราวนรกในขณะนี้ (นายกูเตอเรสกำลังบอกว่าโลกของเรากำลังพุ่งไปสู่ปัญหาภูมิอากาศที่ร้ายแรงในขณะนี้ ถ้าไม่ร่วมมือกันแก้ไข-ผู้เขียน)

นั่นคือคำเตือนของนายอันโตนิโอ กูเตอเรส เลขาธิการสหประชาชาติที่พูดในการประชุม COP 27 ที่จัดขึ้นในอียิปต์ระหว่างวันที่ ๖ – ๑๘ พฤศจิกายนนี้

COP ย่อมาจาก Conference of the Parties เป็นการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในช่วง ๒๖ ปีที่ผ่านมาและถือเป็นเครื่องมือที่จะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศ

เรื่องภูมิอากาศโลกนี่เราคงคิดว่ายังอยู่ไกลตัว แต่ถ้าท่านลองใช้เวลาอ่านบทความนี้สักนิดจะเห็นว่าการประชุม COP ที่อียิปต์ในขณะนี้ มันกำลังใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกทีและน่าวิตกยิ่ง เพราะ ปัญหาโลกร้อนที่เพิ่มดีกรีขึ้นเรื่อย ๆ กำลังคุกคามชีวิตทุกชีวิตบนโลกนี้

COP27 opened on Sunday with a warning from the UN that our planet is "sending a distress signal".

การประชุม COP 27 ที่เปิดไปเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายนที่ผ่านมาสหประชาชาติได้ส่งคำเตือนที่น่าตกใจว่าโลกที่เราอาศัยอยู่กำลังส่งสัญญาเตือนภัยออกมาบ่อยครั้งขึ้น และประเทศต่างๆพึงจะได้ช่วยกันแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไปจนแก้ไม่ได้

ก่อนที่เราจะไปดูการประชุม COP 27 ของปีนี้หรือความพยายามของประเทศต่างๆที่จะลดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ climate change ขอพูดถึงคำ ๆนี้ ก่อนว่าส่งผลต่อ changing the weather อย่างไร

Climate change หรือการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเกิดจากการกระทำของมนุษย์ส่วนใหญ่ โดยมาจากการเผาไหม้ถ่านหิน, การใช้น้ำมันและก๊าซ เพื่อเป็นพลังงานที่มนุษย์ใช้เพื่อการดำรงชีวิตและทำธุรกิจต่างๆ การเผาไหม้พลังงานเหล่านี้ทำให้โลกร้อนขึ้นทุกปีเพราะมนุษย์เพิ่มการใช้พลังงานนี้ขึ้นทุกปี เมื่อโลกร้อนขึ้นได้ส่งผลต่อสภาพอากาศของโลก ๔ อย่างคือ ๑. อุณหภูมิโลกสูงขึ้น คลื่นความร้อนแผ่กระจายนานขึ้น ๒. แผ่นดินแห้งแล้งนานขึ้น ๓. ไฟป่าเกิดบ่อยขึ้น และ ๔. ฝนตกหนักมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้คงไม่ต้องอธิบายเพราะเราคงรู้ดีว่ามีผลต่อชีวิตอย่างไร ตัวอย่างเช่นอินเดียและปากีสถานเผชิญกับคลื่นความร้อนติดต่อกันมาห้าปีแล้ว  ปีที่แล้วในแคนาดาเมืองๆหนึ่งเกิดไฟไหม้เมื่ออุณหภูมิสูงถึง ๔๙.๖ องศาเซลเซียส เกิดไฟป่าอย่างรุนแรงในฝรั่งเศส สเปน และกรีซเป็นต้น ไฟป่าในสหรัฐกินพื้นที่กว้างขึ้นกว่าเดิม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำคนหนึ่งของสหรัฐบอกว่า ถ้าเกิดความแห้งแล้งอย่างรุนแรงในที่หนึ่งและในอีกที่หนึ่งของโลกจะเกิดฝนตกอย่างรุนแรง

องค์กรระหว่างประเทศคือ Intergovernmental Panel on Climate change (IPCC) คาดว่าประชากรราว ๒๐ ล้านคนในอัฟริกาตะวันออกจะเผชิญกับความอดอยากจากปัญหาความแห้งแล้ง

สภาพอากาศที่รุนแรงที่เกิดขึ้นเหล่านี้คือที่มาของการประชุม COP ที่สหประชาชาติพยายามขอความร่วมมือจากประเทศต่างๆ แต่ก็ยังไม่ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยนักตัวอย่างง่าย ๆ บีบีซีภาษาอังกฤษรายงานว่าก่อนการประชุมใหญ่สหประชาชาติขอให้ประเทศที่จะเข้าประชุม (๒๐๐ ประเทศ) เสนอแผนการภูมิอากาศที่ประเทศนั้น ๆ มุ่งมั่นว่าจะพยายามทำแต่ปรากฏว่ามีเพียง ๒๕ ประเทศเท่านั้นที่เสนอมา 

ทีนี้มาดูกันว่าที่ประชุม COP 27 ที่อียิปต์เขาจะมีประเด็นสำคัญอะไรกันบ้าง มีอยู่ ๓ เรื่องสำคัญคือ ๑. ลดพฤติกรรมทั้งหลายที่จะทำให้เกิดมลพิษลง ๒. ให้ความช่วยเหลือต่อประเทศต่างๆในการเตรียมการหรือรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และ ๓.ให้ความมั่นใจในความช่วยเหลือทางเทคนิคและให้เงินกับประเทศที่กำลังพัฒนาในสองประเด็นแรกที่กล่าวถึง

พร้อมกันนี้จะยังนำประเด็นจากการประชุม COP 26 เมื่อปีที่แล้วที่ยังทำไม่สำเร็จมาหารือกันอีก เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินต่อประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเช่นน้ำท่วม น้ำแล้งให้ฟื้นคืนตัว แต่มิใช่จะให้เงินเฉพาะการป้องกันเท่านั้นหากแต่จะพยายามให้ประเทศเหล่านั้นลดการใช้ถ่านหินลงด้วย (เพราะเป็นเชื้อเพลิงราคาถูก แต่ก่อให้เกิดมลพิษสูง)

ความสำคัญของการประชุม COP 27 ปีนี้ไม่ได้จำกัดวงแต่เพียงสิ่งที่กล่าวมาเท่านั้น แต่หัวใจที่รัฐบาลทุกประเทศและประชากรโลกต้องทำคือ พยายามที่จะไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นถึง ๑.๕ องศาเซลเซียสให้ได้  IPCC ชี้ว่าหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมาอุณหภูมิโลกได้เพิ่มขึ้นไปแล้ว ๑.๑ องศาและถ้าหาก อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นในระดับ ๑.๗-๑.๘ องศาเซลเซียส IPCC คาดว่าประชากรโลกราวครึ่งหนึ่งจะผจญกับระดับความร้อนและความชื้นที่มีผลต่อชีวิตได้เลยและด้วยความตระหนักถึงอันตรายของความร้อนนี้จึงมีการลงนามในข้อตกลงปารีส  the Paris Agreement ในปี ค.ศ. ๒๐๑๕ โดยประเทศต่าง ๆ ถึง ๑๙๔ ประเทศให้คำมั่นสัญญาว่าจะพยายามช่วยกันจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น ๑.๕ องศา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บอกว่าจะต้องทำให้ได้ภายในปี ๗๘ ปีข้างหน้า (ค.ศ. ๒๑๐๐)

'วราวุธ' ขึ้นกล่าวถ้อยแถลง บนเวที COP27 ตอกย้ำประชาคมโลก 'ไทยพูดจริง ทำจริง' โชว์ความก้าวหน้าการรับมือด้านสภาพภูมิอากาศ

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ณ Sharm El Sheikh International Convention Center สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม COP27 ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงแสดงวิสัยทัศน์และความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ต่อที่ประชุมระดับสูงของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP27) โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) พร้อมด้วย นายพุทธพร อิ้วตกส้าน เอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เข้าร่วม

นายวราวุธ ได้กล่าวบนเวที COP27 ว่า “ประเทศไทยได้ทำตามคำมั่นที่ให้ไว้ในการประชุม COP26 ด้วยการจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ฉบับปรับปรุง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 รวมทั้ง เพิ่มเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ลดก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 หากได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทย ยังได้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแนวทางสำคัญในการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับประชาชน ตลอดจนส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างจริงจัง และในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปีนี้ เชื่อว่า เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว จะเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญของการประชุมผู้นำ APEC เพื่อช่วยบูรณาการความร่วมมือไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดการของเสีย”

‘ก้าวไกล' สวน 'วราวุธ' ใช้เวที COP27 ฟอกเขียวเอื้อทุนใหญ่ ไม่จริงใจแก้ไขปัญหาภูมิอากาศโลก

(18 พ.ย. 65) นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนสิ่งแวดล้อม พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นภายหลัง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศกลางที่ประชุมระดับสูงของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP27 ว่า ประเทศไทยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยมีหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางสำคัญ ส่งเสริมในเรื่องของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy (BCG  Economy) สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเชิงพาณิชย์ก่อนปี 2040 รวมถึงการกำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เป็น 55% ของพื้นที่ประเทศเพื่อเพิ่มแหล่งเก็บก๊าซเรือนกระจกในปี 2037 โดยมีการจัดทำแนวทาง กลไกการบริหารการจัดการคาร์บอนเครดิตเพื่อถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศไทยภายใต้ข้อตกลงปารีส

"สิ่งที่ท่านรัฐมนตรีวราวุธ ประกาศต่อเวที COP27 เป็นวาทกรรมฟังแล้วชวนเคลิ้ม แต่สวยแต่เปลือกทั้งสิ้น เพราะข้างในไม่เคยมีประชาชนอยู่ในสมการ เป็นเพียงการฟอกเขียวที่มีผลประโยชน์ของนายทุนซ่อนอยู่เป็นเนื้อในทั้งสิ้น และท้ายที่สุดจะไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใดต่อสภาพภูมิอากาศโลกหรือมลพิษทางอากาศของไทยเลย"

ทั้งนี้ นิติพล ชี้ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตทางภูมิอากาศในหลายมิติ รวมถึงมลพิษทางอากาศจากการเผาพื้นที่เกษตรในภูมิภาคแม่น้ำโขงตอนบน โดยมีฝุ่นพิษลอยข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีว่าเป็นผลมาจากการปล่อยให้กลุ่มทุนใหญ่ทางการเกษตรต่าง ๆของไทยทำธุรกิจได้อย่างไร้ความรับผิดชอบ โดยไม่มีการผลักดันทางกฎหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือคนไทยทางภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ต้องป่วยเป็นมะเร็งปอดมากที่สุด จากการสูดฝุ่นพิษ P.M.2.5 จากการเผาไหม้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top