‘ก้าวไกล' สวน 'วราวุธ' ใช้เวที COP27 ฟอกเขียวเอื้อทุนใหญ่ ไม่จริงใจแก้ไขปัญหาภูมิอากาศโลก

(18 พ.ย. 65) นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนสิ่งแวดล้อม พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นภายหลัง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศกลางที่ประชุมระดับสูงของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP27 ว่า ประเทศไทยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยมีหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางสำคัญ ส่งเสริมในเรื่องของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy (BCG  Economy) สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเชิงพาณิชย์ก่อนปี 2040 รวมถึงการกำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เป็น 55% ของพื้นที่ประเทศเพื่อเพิ่มแหล่งเก็บก๊าซเรือนกระจกในปี 2037 โดยมีการจัดทำแนวทาง กลไกการบริหารการจัดการคาร์บอนเครดิตเพื่อถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศไทยภายใต้ข้อตกลงปารีส

"สิ่งที่ท่านรัฐมนตรีวราวุธ ประกาศต่อเวที COP27 เป็นวาทกรรมฟังแล้วชวนเคลิ้ม แต่สวยแต่เปลือกทั้งสิ้น เพราะข้างในไม่เคยมีประชาชนอยู่ในสมการ เป็นเพียงการฟอกเขียวที่มีผลประโยชน์ของนายทุนซ่อนอยู่เป็นเนื้อในทั้งสิ้น และท้ายที่สุดจะไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใดต่อสภาพภูมิอากาศโลกหรือมลพิษทางอากาศของไทยเลย"

ทั้งนี้ นิติพล ชี้ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตทางภูมิอากาศในหลายมิติ รวมถึงมลพิษทางอากาศจากการเผาพื้นที่เกษตรในภูมิภาคแม่น้ำโขงตอนบน โดยมีฝุ่นพิษลอยข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีว่าเป็นผลมาจากการปล่อยให้กลุ่มทุนใหญ่ทางการเกษตรต่าง ๆของไทยทำธุรกิจได้อย่างไร้ความรับผิดชอบ โดยไม่มีการผลักดันทางกฎหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือคนไทยทางภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ต้องป่วยเป็นมะเร็งปอดมากที่สุด จากการสูดฝุ่นพิษ P.M.2.5 จากการเผาไหม้

"ในด้านแหล่งกำเนิดมลพิษ ในฐานะรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมท่านไม่คิดหาทางควบคุมแก้ไข ตรงนี้มีผลต่อสภาพภูมิอากาศโลกมาก แต่ท่านไม่พูดถึงเลย พอมาในด้านการดูดซับก็พยายามอ้างการเพิ่มพื้นที่ป่าและประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต แต่เอาเข้าจริงแนวทางของท่าน ประชาชนแทบไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ เป็นเพียงการระบายสีเขียวบนแผนที่เพื่อเตรียมเอาไปประเคนให้นายทุน แต่ที่ชั่วร้ายกว่านั้น คือจะได้ใช้เป็นข้ออ้างในการเอาคนออกจากป่าโดยเฉพาะผู้คนที่มีวิถีดั้งเดิม ทั้งที่พวกเขามีบทบาทมากในการดูแลผืนป่าให้ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง แทนที่ท่านจะหาวิธีพิทักษ์สิทธิ์ แต่ท่านกลับไม่รีบทำให้มีแผนที่ one map เพื่อพิสูจน์สิทธิการอยู่มาก่อนให้ประชาชน ใช้ความคลุมเครือทางกฎหมายเพื่อเป็นอาวุธขับไล่คนออกจากพื้นที่ที่ระบายสีไว้เตรียมมอบให้นายทุนหากินกับคาร์บอนเครดิต 

"สิ่งเหล่านี้จึงไม่ใช่เพื่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเพื่อประชาชนอย่างแน่นอน คำว่าเศรษฐกิจคู่สิ่งแวดล้อมของรัฐบาลนี้ล้วนแล้วแต่เป็นขนมหวานสีสวยแต่เคลือบยาพิษ ไม่จริงใจ เป็นประโยชน์มากกับนายทุน แต่ไม่เป็นประโยชน์ใด ๆ กับประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรตรงนั้นทั้งสิ้น" นิติพล ระบุ