ถือเป็นอีกหนึ่งงานเสวนาที่ห้ามพลาด!! กับ 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' ในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
โดยงานนี้ ได้รับเชิญผู้ร่วมเสวนาผู้ทรงเกียรติหลายท่าน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ซัง-วิวัธน์ จิโรจน์กุล ผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution หรือ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ซึ่งเป็นผู้สนใจในประวัติศาสตร์ไทยในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และมุ่งมั่นคืนความเป็นธรรมให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 โดยใช้วิธีบอกเล่าผ่านภาพยนตร์แอนิเมชัน เพื่อสื่อสารให้คนไทยรู้ว่าในหลวง ร.7 สู้เต็มที่ และพยายามจะทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองในไทยเกิดขึ้นอย่างราบรื่นที่สุด
โดยคุณ วิวัธน์ จิโรจน์กุล เคยได้ให้สัมภาษณ์ถึงจุดเริ่มต้นการทำภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้ไว้ว่า…
“แอนิเมชันเรื่องนี้ใช้เวลาสร้างนานถึง 3 ปี มีทีมงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดประมาณ 30-40 คน มีทั้งคนที่เข้ามาแล้วก็ออกไป จุดเริ่มต้นมาจากคนกลุ่มเล็ก ๆ แล้วจึงหาทีมงานเพิ่มในภายหลัง หลายคนเป็น ‘ตัวจี๊ด’ พร้อมปะทะโต้เถียงบนโลกโซเชียล แต่ตนก็ได้บอกไปว่า ‘ตีกันไป-มา’ แบบนั้นไม่ได้ประโยชน์ มาทำความจริงป้อนให้เป็นความรู้จะดีกว่า…
“ซึ่งขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำงานภาพยนตร์เรื่องนี้คือการหาหลักฐานข้อมูล แล้วถึงจะหยิบประเด็นจากหลาย ๆ มุมมอง เพื่อหาว่ามุมมองต่าง ๆ มองเรื่องนี้ที่เป็นเรื่องเดียวกันคือเรื่องอะไร เราถึงหยิบพวกนี้มาเล่า”
และแม้จะเลือกการนำเสนอกึ่ง ๆ จะเป็นนิยาย (Fiction) แต่ข้อมูลที่นำเสนอมาจากบันทึกจริงในประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าโดยบุคคลต่าง ๆ ที่อยู่ในช่วงเวลานั้นซึ่งรวมถึงของฝ่ายคณะราษฎรผู้ก่อการด้วย ทั้งนี้ เมื่อรวบรวมข้อมูลมาได้แล้วก็ต้องมาเลือกอีกว่าจากข้อมูลจำนวนมากจะนำเสนออย่างไรให้พอดีกับเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงได้โดยสอดคล้องกับเป้าหมายหลักคือให้เข้าใจบทบาทของรัชกาลที่ 7 ที่พยายามประคับประคองสถานการณ์ในยุคเปลี่ยนผ่านให้ไปรอด
เช่น รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ร่างโดยคณะราษฎรหลายคนที่ร่วมก่อการก็ไม่ได้อ่าน แต่รัชกาลที่ 7 ท่านอ่านและแนะนำให้ไปแก้ไขมาใหม่ นอกจากนั้นยังมีความขัดแย้งภายในกลุ่มคณะราษฎร ระหว่างหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกับพระยาทรงสุรเดช ซึ่งเข้าใจได้ว่าหลวงประดิษฐ์ฯ หรือนายปรีดี มีความเป็นนักวิชาการแนวคิดหัวก้าวหน้า ณ ช่วงเวลานั้น แต่ยอมรับว่ายังมีรายละเอียดอีกมากที่ไม่ได้ใส่เข้าไป
วิวัธน์ จิโรจน์กุล ยังได้กล่าวถึงประเด็นดรามาเกี่ยวกับงบประมาณในการทำภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้ด้วยว่า…
“ตอนแรกไม่รู้นะว่างบประมาณในการสร้างภาพยนตร์มันต้องใช้เท่าไรต่อเรื่องหนึ่ง แล้วเป็นเรื่องพีเรียด (Period - เนื้อเรื่องแนวย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์) ต้องย้อนอดีต หาสถานที่ พร็อพ ขนาดวาด (รูป) แต่เมื่อริเริ่มโปรเจกต์แล้ว ก็เริ่มวางแผนการสร้าง ซึ่งจากการศึกษาก็พบว่า หากเป็นภาพยนตร์ที่ใช้นักแสดง ทุนสร้างอาจอยู่ที่ประมาณ 15-20 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย อีกทั้งทุนประมาณนี้คงจะเป็นเพียงภาพยนตร์ที่ถ่ายทำด้วยฉากเขียว (Green Screen) แล้วใส่กราฟิกเป็นฉากหลังเข้าไป ผลงานที่ออกมาก็อาจไม่น่าดู หรือหากจะทำแอนิเมชันแบบ 3 มิติ เท่าที่ไปสอบถามราคามา พบว่าต้องใช้งบประมาณสูงถึง 100 ล้านบาท จึงมาสรุปที่การทำเป็นแอนิเมชัน 2 มิติ แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มทำในทันที เพราะสอบถามราคาแล้วต้องใช้งบประมาณ 30 ล้านบาทซึ่งเวลานั้นยังมีทุนไม่พอ…
“ดังนั้นเพื่อที่จะให้แอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาให้ได้ จึงใช้วิธีสร้างทีมนักวาดขึ้นมา สามารถทำรูปแบบเฟรมต่อเฟรม ออกแบบตัวละครและฉากทั้งหมด แล้วจึงนำเค้าโครงที่ร่างไว้นี้ไปให้สตูดิโอทำ ซึ่งพบว่าลดต้นทุนลงได้มาก แต่เมื่อเห็นผลงานแล้วก็ยังไม่ถูกใจ ท้ายที่สุดทีมงานจึงเลือกที่จะลงมือทำกันเองทั้งหมด โดยไปหาคนที่ชำนาญเรื่อง In Between หรือการเชื่อมต่อภาพแต่ละเฟรมให้ดูเหมือนตัวละครขยับเขยื้อนได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแอนิเมชันมีความยาว 2 ชั่วโมง ต้องใช้รายละเอียดมากในขณะที่มีทีมงานน้อย…
“ใช้แรงงานเยอะแต่มีคนน้อย ดังนั้นจะเห็นว่าบางเฟรมเราก็จะใช้ซ้ำ ๆ บางเฟรมเราก็จะใช้ 3D มาผสม เพราะ 3D เราสามารถทำแล้ว Render ทีเดียว มันก็จะเป็นภาพขยับต่อเนื่อง ในฉากที่ทหารเยอะ ๆ เน้นใช้ 3D เข้ามาช่วย มันจะเป็นสื่อผสมหลาย ๆ อย่าง ใช้ Motion Graphic บ้าง ใช้ 3D ใช้ 2D ความรู้สึกผมเหมือนเป็นเชฟที่เห็นของเหลือในตู้เย็น สุดท้ายปรุงอย่างไรก็ได้ ออกมาให้มันเล่าเรื่อง 2 ชั่วโมงนี้จบอย่างที่เราต้องการ พอมันจบเสร็จปุ๊บ ก็รู้สึกโล่ง ตอนนั้นคือโล่ง เหมือนยกภูเขาออกจากอก มันเสร็จแล้ว แค่นั้นผมพอใจแล้ว หลังจากนั้นผมไม่สนใจแล้วคนดูจะรู้สึกอย่างไร…
“แอนิเมชันเรื่องหนึ่งใช้ทุนสร้างเป็นหลักสิบล้านบาท เป็นทุนของผมแล้ว 5 ล้านบาท แม้จะเป็นหนี้ก็ตาม เพื่อทำโปรเจกต์แอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution ผมต้องไปหยิบยืมเงินจากญาติสนิทมิตรสหายมาเพื่อทำให้สำเร็จ และในวันที่ผลงานแล้วเสร็จก็ถือว่าสำเร็จแล้ว เพราะได้ทำในสิ่งที่ต้องการมาตลอด…สำหรับผมวันนี้ถือว่าถึงตายก็ไม่เสียชาติเกิดแล้ว จะเป็นหนี้หรือล้มละลายก็ไม่เป็นไร เพราะต่อให้ล้มละลายต้องปิดบริษัท ผมก็ยังไม่ตาย ไปทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ได้ ผมเพียงอยากให้ผลงานนี้ทำเสร็จสมบูรณ์”
“อย่างที่ผมบอก ไม่ว่าจะแลกด้วยอะไรผมต้องทำให้มันเสร็จ ดังนั้น ผมต้องบอกเลยว่าผมแลกไปเยอะมาก ดังนั้นการที่มากล่าวหาว่าผมได้รับงบประมาณจากกองทัพ หรือมีเงินจากส่วนไหน ๆ มาช่วยซัปพอร์ตโปรเจกต์นี้ ผมถือว่าดูถูกผมมากเลย ดังนั้นผมก็เลยมองว่าวิธีการทำแบบนี้ผมอาจจำเป็นต้องใช้กฎหมาย แต่ถ้าเกิดคุณมาด่าว่าบิดเบือน หรือด่าว่าแอนิเมชันห่วย-กาก ผมไม่กังวลอะไร ไม่ว่าอะไร คุณวิจารณ์ได้ แต่ถ้าเกิดคุณมาด้อยค่าความตั้งใจมุ่งมั่นของทีมงาน หรือเครดิตของคนที่ตั้งใจทุ่มเทเพื่องานนี้ ผมแค่ไม่ยอมเรื่องนี้เรื่องเดียว” วิวัธน์ กล่าว
นอกจากนี้ วิวัธน์ จิโรจน์กุล ยังได้เผยถึงกระแสและผลตอบรับหลังเผยแพร่ภาพยนตร์แอนิเมชันแล้วว่า… “ตั้งเป้าไว้ว่ามียอดรับชมประมาณหลักหมื่นวิวก็สูงแล้ว และแม้จะไม่ได้ตั้งเป้าว่าอยากได้ยอดวิวเท่านั้นเท่านี้ แต่ทุกครั้งที่ยอดวิวขึ้น คนที่สนับสนุนแอนิเมชันเรื่องนี้ก็ดีใจและตื่นเต้นไปกับทีมผู้สร้างด้วย ผมก็จะคอยรายงานยอดเป็นระยะ ๆ โดยมีหนึ่งในทีมงานมาช่วยวาดรูปประกอบทุก ๆ ครั้งที่ยอดเพิ่มครบ 1 แสนวิว…”
“สำหรับผมยอดวิวไม่สำคัญเท่าการที่มีคนเข้ามาดูแล้วรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น” วิวัธน์ กล่าว
ส่วนประเด็นที่มีคนถามเข้ามามากมายว่า ทำไมไม่นำภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เหมือนภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ วิวัธน์ จิโรจน์กุล ได้ตอบประเด็นนี้ไว้ว่า…
“ประเด็นแรกเวลาทำหนังเสร็จ ถ้าเกิดจะเอาไปฉายตามโปรแกรมทั่วไปปกติ จะต้องผ่านกองเซ็นเซอร์ก่อน จัดเรตหนัง อนุญาตเรียบร้อยแล้วถึงจะฉายโรงได้ แต่ผมก็ประเมินแล้ว ผมเข้ากองเซ็นเซอร์ผมโดนหั่นเหี้ยนแน่เลย ประเด็นที่ผมกังวลที่สุดคือเราอาจจะโดนตัดฉากรัชกาลที่ 7 ออก กลัวว่าจะกระทบ เพราะผมบอกว่าเรื่องนี้ การเล่าเรื่อง 2475 ถ้าเราไม่เล่าในมุมของสถาบัน เรื่องนี้ไม่มีทางเล่าจบ ดังนั้นผมเลยคิดว่าผมแค่ฉายปฐมทัศน์แล้วผมฉายออนไลน์ให้ดูฟรี มันไม่จำเป็นต้องผ่านกองเซ็นเซอร์ เราสามารถทำได้…
“เหมือนเราทำสารคดี (Documentary) สักอันหนึ่ง แต่เป็นการเล่าในรูปแบบแอนิเมชัน และเปิดฉายให้ดูฟรีเพื่อให้ความรู้ ผมเลยมองแค่มุมนั้น ผมไม่ได้คิดว่าจะต้องเปิดฉาย ‘หาเงิน’ อะไร เราเชิญพวกพี่ ๆ ไปดู (รอบปฐมทัศน์ในโรงภาพยนตร์) คนที่เป็น Royalist คนที่รักสถาบันเข้าไปดู ผมอยากทดสอบด้วยว่าเราเล่าในมุมนี้รับไหวไหม? รับได้ไหมที่นำในหลวงรัชกาลที่ 7 มาเป็นคาแร็กเตอร์”
วิวัธน์ จิโรจน์กุล ได้ยืนยันทิ้งท้ายไว้ว่า “ความตั้งใจของการสร้างแอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution ไม่ใช่เพื่อทำร้ายหรือทำลายใคร แต่เพื่อทำประวัติศาสตร์ให้ชัดเจนและเป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นธรรมต่อทุกคน”
สำหรับงานเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' จะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ เวลา 10.00 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
พร้อมรับชม '2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ Dawn of Revolution' ในเวลา 13.30 - 16.40 ณ สถานที่เดียวกัน
📌 สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนสำรองที่นั่งเข้าร่วมกิจกรรมฟังเสวนาและชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ได้ที่: https://docs.google.com/forms/d/1utXQT68NCUZks5YYcILGBQ91B76zILkSoQ7srQ2ymoc/viewform?ts=66a737cb&edit_requested=true