Thursday, 24 April 2025
โรคอ้วน

สถิติชวนอึ้ง!! ‘กรมอนามัย’ ห่วงเด็กไทย ‘อ้วน’ ติด 1 ใน 3 ของอาเซียน ชี้ ควรกินอาหารเพื่อสุขภาพ-ออกกำลังกายควบคู่

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลพบเด็กไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนติด 1 ใน 3 ของอาเซียน ซึ่งเด็กไทยอายุ 0-5 ขวบมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 9.13 เด็กวัยเรียน 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.4 และเด็กวัยรุ่น 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนร้อยละ 13.2 ซึ่งสหพันธ์โรคอ้วน (World Obesity Federation) คาดการณ์ภายในปี 2573 ประชากรอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนสูงขึ้นอีกเกือบร้อยละ 50 พร้อมแนะกินอาหารชูสุขภาพ ถูกหลักโภชนาการ และเสริมการออกกำลังกายป้องกันภาวะอ้วน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นวันโรคอ้วนโลก (World Obesity Day) กรมอนามัยขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กไทยปลอดภัย จากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มหวานมันเค็มเกิน ลดเสี่ยงโรคอ้วน เนื่องจากการเฝ้าระวังภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในเด็กของกระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center) ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า เด็กอายุ 0-5 ขวบ ภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 9.13 เด็กวัยเรียน 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.4 และเด็กวัยรุ่น 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.2 รวมทั้งจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (อาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง) ในเด็กพบว่าเด็กประมาณ 1 ใน 3 คน ดื่มนมรสหวานทุกวัน กินขนมกรุบกรอบทุกวัน และดื่มน้ำอัดลมทุกวัน เด็กประมาณ 1 ใน 5 คน ดื่มน้ำหวาน น้ำผลไม้ทุกวัน การสำรวจพฤติกรรมการเลือกซื้อของเด็กไทย ปี 2563 พบว่า เด็กส่วนใหญ่ยังซื้ออาหารตามความชอบ ร้อยละ 27.7 และมีเพียงร้อยละ 8.1 เท่านั้น ที่คำนึงถึงคุณค่าทางอาหาร

นพ.สุวรรณชัยกล่าวต่อไปว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดพฤติกรรมการกินและออกกำลังกายจากอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน อาหารทอดมัน อาหารจานด่วน ขนมขบเคี้ยว เบเกอรี่ และขนมหวานต่างๆ รวมทั้ง เด็กยังมีภาวะในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารน้อย ประกอบกับกลยุทธ์การตลาด ลด แลก แจก แถม ชิงโชค ชิงรางวัล ทำให้การกินอาหารและเครื่องดื่มหวาน มัน เค็มกลายเป็นเรื่องปกติ อาจส่งผลไปยังสุขภาพในอนาคตของเด็กไทย ทั้งนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียน คือ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุดจึงควรสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเด็กในการเลือกซื้ออาหาร และส่งเสริมโภชนาการที่ดี จากการเลือกอาหารที่ดีมีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ ลดการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง และเสริมอาหารที่ถูกหลักโภชนาการให้ครบ 5 หมู่กินอาหารกลุ่มข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่ดีให้กับเด็ก ขนมหวาน ไม่ควรเกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ปลาหรือผลิตภัณฑ์จากปลาอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เนื้อสัตว์ เช่น ไก่ หมู เนื้อ หรือผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ไข่ 2-3 ฟองต่อคน ต่อสัปดาห์ ตับ เลือด ปลาเล็กปลาน้อย อย่างละ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ถั่วเมล็ดแห้ง เผือกมันอย่างละ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และเน้นผักและผลไม้ นอกจากนี้ ปริมาณอาหารที่เด็กได้รับในแต่ละมื้อควรเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับอายุ ให้ได้รับสารอาหารที่พอดีไม่มากหรือน้อยเกินไป”

‘องค์การอนามัยโลก’ หวั่น!! ปี 2035 กว่าพันล้านคนจะป่วยเป็น 'โรคอ้วน' แนะ!! 'เพิ่มภาษีน้ำตาล-หนุนอาหารสุขภาพ' ก่อนต้องเจียดเงินมหาศาลแก้

(2 มี.ค.67) Business Tomorrow รายงานเอกสารเผยแพร่จาก Lancet จากศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย Imperial College ในลอนดอนกล่าวว่า โรคอ้วนกำลังเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การมีน้ำหนักที่พอดีกำลังลดลงไปในทั่วโลก นาย Francesco Branca หัวหน้าแผนกสารอารหารแห่ง WHO กล่าวว่า โรคอ้วนอาจเคยเป็นปัญหาของประเทศที่ร่ำรวย แต่ตอนนี้ได้แผ่กระจายเป็นปัญหาระดับโลกเสียแล้ว

จากการเก็บข้อมูลจาก 190 ประเทศทั่วโลกของปี 2022 โรคอ้วนในผู้ใหญ่กำลังเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ในขณะที่เพิ่มขึ้นสี่เท่าในกลุ่มเด็กอายุ 5-19 ปีจากปี 1990 ไป 2022 ผลวิเคราะห์พบว่าเด็กหญิง เด็กชาย และผู้ใหญ่กำลังมีจำนวนผู้มีร่างกายสมส่วนลดลงไป เด็กหญิง 1 ใน 5 เด็กชายลดไป 1 ใน 3 และลดไปครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ กระนั้น ก็ยังมีคนหลักร้อยล้านคนที่ยังไม่มีอาหารเพียงพอในการกิน

ประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำกำลังประสบปัญหาคนเป็นโรคอ้วนพุ่งขึ้นสองเท่ามากขึ้นโดยเฉพาะฝั่งแคริบเบียนและตะวันออกกลาง ในแถบยุโรปบางประเทศก็เพิ่มมากขึ้น ยกเว้นสเปน ที่เริ่มมีตัวเลขโรคอ้วนที่ลดลงหรือคงที่

>> ตัวเลขสถิติที่น่าสนใจ...
- ประเทศตองกาและประเทศอเมริกันซามัวครองแชมป์ร่วมเพศชาย 81% ของประชากรชาย เป็นโรคอ้วน
- ประเทศนาอูรูและประเทศอเมริกันซามัวครองแชมป์ร่วมฝั่งหญิงที่ 70% เป็นโรคอ้วน
- สหรัฐฯ ครองอันดับ 10 ฝั่งชาย และ 36 ฝั่งหญิง

>> อ้วนครึ่งโลกในปี 2035...
ประชากรที่อายุมากกว่า 5 ปี 774 ล้านคน มีเกณฑ์ที่จะเป็นโรคอ้วนในอนาคต หรือก็คือพบได้ 1 ใน 8 คน ทาง WHO ก็มีการออกมาเรียกร้องให้เพิ่มมาตรการอย่างการเพิ่มภาษีน้ำตาลและสนับสนุนให้โรงเรียนเปลี่ยนมื้ออาหารให้เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งนี้ สหพันธ์โรคอ้วนยังเผยอีกว่า โลกของเราจะมีคนเป็นโรคอ้วนครึ่งโลกภายในปี 2035 และส่งผลให้ต้องใช้เงินแก้ปัญหานี้กว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

องค์กรแพทย์แห่งทั่วโลกหนุนวัดรอบเอว แทนเกณฑ์ BMI ประเมินความเสี่ยงโรคอ้วน

(16 ม.ค.68) กลุ่มองค์กรการแพทย์ 76 แห่งทั่วโลกประกาศสนับสนุนแนวทางใหม่ในการวินิจฉัยโรคอ้วน โดยไม่จำกัดเพียงการใช้ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ซึ่งคำนวณจากน้ำหนักและส่วนสูงเท่านั้น แต่เพิ่มการพิจารณาปัจจัยอื่น เช่น รอบเอว เพื่อให้การประเมินแม่นยำและครอบคลุมมากขึ้น  

ทีมนักวิจัย 56 คนเสนอการแบ่งโรคอ้วนออกเป็น 2 ระยะ ตามการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร The Lancet Diabetes and Endocrinology เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ได้แก่  

1. โรคอ้วนทางคลินิก (Clinical Obesity) ซึ่งมักมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หายใจลำบาก การทำงานของหัวใจผิดปกติ หรือปัญหาที่กระทบชีวิตประจำวัน  
2. ระยะเสี่ยงโรคอ้วน (Pre-clinical Obesity) ที่แม้จะมีไขมันเกินแต่ยังไม่มีอาการแสดงชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้มีโอกาสสูงที่จะพัฒนาเป็นโรคอ้วนทางคลินิกหรือโรคเรื้อรังอื่น เช่น เบาหวาน จึงจำเป็นต้องได้รับการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด  

ศ.นพ.ฟรานเชสโก รูบิโน จากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานกล่าวว่า "โรคอ้วนมีหลากหลายระดับ และต้องการการดูแลที่เหมาะสมตามความเสี่ยงที่แตกต่างกัน"  

รายงานจากรอยเตอร์ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคอ้วนมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าเกณฑ์ใหม่นี้จะทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่คาดว่าจะช่วยยุติข้อถกเถียงในวงการแพทย์เกี่ยวกับสถานะของโรคอ้วน  

แนวทางดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระดับโลก อาทิ สมาคมโรคหัวใจอเมริกัน สมาคมเบาหวานจีน และสหพันธ์โรคอ้วนโลก โดยคณะทำงานนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 2562  

แม้การพัฒนายากลุ่ม GLP-1 โดยบริษัทอิไล ลิลลี่ และโนโว นอร์ดิสค์ จะส่งผลต่อการรักษาโรคอ้วนอย่างมีนัยสำคัญ แต่ ศ.นพ.รูบิโนย้ำว่า เกณฑ์ใหม่ไม่ได้มุ่งเน้นที่การใช้ยาโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม หากระบบสาธารณสุขทั่วโลกนำเกณฑ์นี้ไปใช้ จะช่วยให้แพทย์สามารถตัดสินใจจ่ายยาตามความเสี่ยงของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

เกณฑ์วินิจฉัยใหม่ยังอาจส่งผลต่อบริษัทประกันสุขภาพ โดยอาจอนุมัติคุ้มครองค่ายารักษาโรคอ้วนทางคลินิกโดยไม่ต้องรอให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เบาหวาน  

“เราเชื่อว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ทั้งในด้านการดูแลรักษาและการเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อโรคอ้วน” ศ.นพ.รูบิโนกล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top