องค์กรแพทย์แห่งทั่วโลกหนุนวัดรอบเอว แทนเกณฑ์ BMI ประเมินความเสี่ยงโรคอ้วน

(16 ม.ค.68) กลุ่มองค์กรการแพทย์ 76 แห่งทั่วโลกประกาศสนับสนุนแนวทางใหม่ในการวินิจฉัยโรคอ้วน โดยไม่จำกัดเพียงการใช้ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ซึ่งคำนวณจากน้ำหนักและส่วนสูงเท่านั้น แต่เพิ่มการพิจารณาปัจจัยอื่น เช่น รอบเอว เพื่อให้การประเมินแม่นยำและครอบคลุมมากขึ้น  

ทีมนักวิจัย 56 คนเสนอการแบ่งโรคอ้วนออกเป็น 2 ระยะ ตามการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร The Lancet Diabetes and Endocrinology เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ได้แก่  

1. โรคอ้วนทางคลินิก (Clinical Obesity) ซึ่งมักมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หายใจลำบาก การทำงานของหัวใจผิดปกติ หรือปัญหาที่กระทบชีวิตประจำวัน  
2. ระยะเสี่ยงโรคอ้วน (Pre-clinical Obesity) ที่แม้จะมีไขมันเกินแต่ยังไม่มีอาการแสดงชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้มีโอกาสสูงที่จะพัฒนาเป็นโรคอ้วนทางคลินิกหรือโรคเรื้อรังอื่น เช่น เบาหวาน จึงจำเป็นต้องได้รับการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด  

ศ.นพ.ฟรานเชสโก รูบิโน จากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานกล่าวว่า "โรคอ้วนมีหลากหลายระดับ และต้องการการดูแลที่เหมาะสมตามความเสี่ยงที่แตกต่างกัน"  

รายงานจากรอยเตอร์ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคอ้วนมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าเกณฑ์ใหม่นี้จะทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่คาดว่าจะช่วยยุติข้อถกเถียงในวงการแพทย์เกี่ยวกับสถานะของโรคอ้วน  

แนวทางดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระดับโลก อาทิ สมาคมโรคหัวใจอเมริกัน สมาคมเบาหวานจีน และสหพันธ์โรคอ้วนโลก โดยคณะทำงานนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 2562  

แม้การพัฒนายากลุ่ม GLP-1 โดยบริษัทอิไล ลิลลี่ และโนโว นอร์ดิสค์ จะส่งผลต่อการรักษาโรคอ้วนอย่างมีนัยสำคัญ แต่ ศ.นพ.รูบิโนย้ำว่า เกณฑ์ใหม่ไม่ได้มุ่งเน้นที่การใช้ยาโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม หากระบบสาธารณสุขทั่วโลกนำเกณฑ์นี้ไปใช้ จะช่วยให้แพทย์สามารถตัดสินใจจ่ายยาตามความเสี่ยงของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

เกณฑ์วินิจฉัยใหม่ยังอาจส่งผลต่อบริษัทประกันสุขภาพ โดยอาจอนุมัติคุ้มครองค่ายารักษาโรคอ้วนทางคลินิกโดยไม่ต้องรอให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เบาหวาน  

“เราเชื่อว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ทั้งในด้านการดูแลรักษาและการเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อโรคอ้วน” ศ.นพ.รูบิโนกล่าวทิ้งท้าย