Monday, 21 April 2025
โจไบเดน

‘โจ ไบเดน’ ขอสู้ต่อ!! จะไม่ถอนตัวจากศึกชิงเก้าอี้ ‘ปธน.สหรัฐฯ’ หลังเผชิญแรงกดดัน ทันทีที่พ่ายแพ้การดีเบตครั้งแรกกับ ‘ทรัมป์’

(4 ก.ค.67) รายงานข่าวระบุว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน พยายามที่จะทำให้สมาชิกอาวุโสของพรรคเดโมแครตรวมถึงเจ้าหน้าที่ในการรณรงค์หาเสียงของเขาคลี่คลายความตื่นตระหนกลง หลังมีรายงานเป็นจำนวนมากที่ระบุว่าเขาควรพิจารณาถึงอนาคตในการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ หลังจากที่เขาประสบความพ่ายแพ้อย่างชัดเจนในการดีเบตครั้งแรกกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 

รายงานข่าวระบุว่า ไบเดนได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส เพียงสองคนที่ทำเนียบขาว ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าแฮร์ริสอาจกลายเป็นผู้ที่จะมาลงชิงชัยแทนไบเดน ในฐานะผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้

หลังจากนั้นไบเดนและแฮร์ริสได้หารือทางโทรศัพท์ร่วมกับทีมรณรงค์หาเสียงของพรรคเดโมแครต ซึ่งไบเดนได้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า เขาจะยังคงอยู่ในการแข่งขันต่อไป ขณะที่แฮร์ริสได้เน้นย้ำการสนับสนุนของเธอต่อไบเดนด้วยเช่นกัน

แหล่งข่าวเผยว่า ในระหว่างการหารือดังกล่าว ไบเดนยืนยันว่า “ผมคือผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต ไม่มีใครสามารถที่จะบอกให้ผมออกไป และผมจะไม่ไปไหน”

จากนั้นได้มีการเผยแพร่ประโยคดังกล่าวซ้ำอีกในอีเมลที่ถูกส่งไปให้กับทีมรณรงค์หาเสียงหลังจากนั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง โดยไบเดนระบุในอีเมลว่า “ผมขอพูดให้ชัดเจนและเข้าใจง่ายว่าผมสามารถทำได้ ผมจะลงสมัครชิงตำแหน่งต่อไป และอยู่ในการแข่งขันนี้จนกว่ามันจะจบลง”

คำถามเกี่ยวกับความสามารถในการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ของไบเดนมีขึ้นทันทีที่จบการดีเบตกับทรัมป์ จากปฏิกิริยาตอบสนองของเขาที่ดูไม่มีประสิทธิภาพ แรงกดดันต่อไบเดนยิ่งเพิ่มมากขึ้นในอีกไม่กี่วันต่อมา หลังผลโพลจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าทรัมป์มีคะแนนนำไบเดนเพิ่มขึ้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม โพลของนิวยอร์กไทม์สชี้ว่า ทรัมป์มีคะแนนมากกว่าไบเดนถึง 6 จุด ขณะที่โพลที่เผยแพร่โดยซีบีเอสนิวชี้ให้เห็นว่า ทรัมป์มีคะแนนนำไบเดน 3 จุดในรัฐที่เป็นตัวบ่งชี้สำคัญ ขณะเดียวกันทรัมป์ยังมีคะแนนนำไบเดนทั่วประเทศอีกด้วย

‘สื่อมะกัน’ เผย ‘ไบเดน’ เบลอหนัก ต้องให้เมีย ‘กระซิบบอกบท’ ขอบคุณผู้บริจาค สมาชิกเดโมแครต ไม่เอาด้วย!! เรียกร้องให้ถอนตัว หาคนใหม่ ไม่งั้นแพ้แน่

(6 ก.ค.67) จิลล์ ไบเดน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ถึงขั้นต้อง ‘กระซิบ’ ข้างหูประธานาธิบดี โจ ไบเดน เพื่อบอกชื่อผู้บริจาครายสำคัญ และเตือนให้ผู้นำสหรัฐฯ กล่าว ‘ขอบคุณ’ ตามการเปิดเผยของสื่อสหรัฐฯ

นิตยสาร Intelligencer ในนครนิวยอร์กอ้างข้อมูลจากผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งซึ่งระบุว่า ไบเดน เอาแต่ทอดสายตานิ่งและพยักหน้าระหว่างให้การต้อนรับบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนของครอบครัวไบเดน และยังเป็นผู้บริจาครายใหญ่ให้พรรคเดโมแครตที่ทำเนียบขาวเมื่อไม่นานมานี้ จนทำให้ จิลล์ ผู้เป็นภรรยาต้องเข้ามาเตือน

สื่อฉบับนี้ไม่ได้เปิดเผยชื่อผู้บริจาคคนดังกล่าว และไม่ได้ระบุชัดว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อไหร่

แหล่งข่าวผู้นี้ยืนยันว่า ไบเดน เอ่ยตามที่ภรรยาของเขากระซิบบอกแบบคำต่อคำ

‘เขาดูไม่ค่อยจะดีมาพักหนึ่งแล้ว และตอนนี้ก็ยิ่งแย่ลงไปอีก’ แหล่งข่าวบอกกับ Intelligencer

นับตั้งแต่ทำผลงานประชันวิสัยทัศน์กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ย่ำแย่เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ไบเดนเผชิญแรงกดดันจากหลายฝ่าย ให้พิจารณาถอนตัวจากศึกเลือกตั้ง แต่เจ้าตัวก็ยังคงพยายามสร้างความเชื่อมั่นกับบรรดาผู้ว่าการรัฐ สส. เจ้าหน้าที่ ผู้บริจาค รวมถึงประชาชนที่เป็นฐานเสียงเดโมแครตว่าตนเองยัง ‘ฟิต’ พอที่จะลงสู้ศึกเลือกตั้งเพื่อเป็นผู้นำสหรัฐฯ อีกสมัย

ไบเดน และทีมหาเสียงพยายามหาเหตุผลต่างๆ นานามาอธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ดีเบตแพ้ ทรัมป์ ในคืนนั้น ทั้งอ้างว่า ไบเดน ป่วย เตรียมตัวมาไม่ดีพอ รวมถึงมีอาการ ‘เจ็ทแล็ก’

ระหว่างประชุมร่วมกับผู้ว่าการรัฐสายเดโมแครตคนสำคัญ ๆ เมื่อวันพุธ (3 ก.ค.) ไบเดน วัย 81 ปี กล่าวว่าเขาจำเป็นต้อง ‘นอน’ พักผ่อนให้มากขึ้น และจะไม่ทำกิจกรรมหลัง 20.00 น.อีกต่อไป ตามรายงานของ CNN และหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส

อย่างไรก็ตาม สัญญาณความชราที่ปรากฏเด่นชัดขึ้นก็ทำให้ผู้บริจาคสนับสนุน พรรคเดโมแครตหลายคนเริ่มไม่เอาด้วย และเรียกร้องให้ ไบเดน ถอนตัวเสีย หนึ่งในนั้นคือ แอบิเกล ดิสนีย์ ผู้กำกับภาพยนตร์และเศรษฐินีใจบุญทายาทตระกูลดิสนีย์ ที่ประกาศผ่าน CNBC เมื่อวันพฤหัสบดี (4) ว่า เธอจะเลิกบริจาคเงินสนับสนุนพรรคเดโมแครต ‘จนกว่าพวกเขาจะหาผู้สมัครประธานาธิบดีคนอื่นมาแทนที่ ไบเดน’

‘ถ้า ไบเดน ไม่ถอนตัว พรรคเดโมแครตจะแพ้แน่นอน ดิฉันมั่นใจ’ เธอกล่าว

รีด เฮสติงส์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Netflix และหนึ่งในผู้บริจาคสนับสนุนพรรคเดโมแครตรายใหญ่ ก็เรียกร้องให้ ไบเดน เสียสละตัวเองออกจากการแข่งขัน เพื่อเปิดทางให้ผู้สมัครรายอื่นที่อาจจะสามารถเอาชนะ ทรัมป์ ได้

‘ไบเดน จำเป็นต้องก้าวออกมา เพื่อเปิดโอกาสให้แกนนำพรรคเดโมแครตสักคนหนึ่งในการเอาชนะทรัมป์ และช่วยให้พวกเรายังคงปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองต่อไปได้’ เฮสติงส์ กล่าวผ่านอีเมลที่ส่งถึงนิวยอร์กไทม์ส

ล่าสุด ผู้นำสหรัฐฯ ยังคงประกาศอย่างแข็งขันเมื่อวานนี้ ว่าจะไม่ถอนตัวจากศึกเลือกตั้ง และอ้างว่าตนเองคือผู้สมัครเดโมแครตที่มีภาษีดีที่สุดในการสกัดกั้น ทรัมป์ ไม่ให้กลับมาครองทำเนียบขาวอีกครั้งหลังวันที่ 5 พ.ย.

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เขาได้ไปตรวจคัดกรองภาวะสมองเสื่อม (cognitive test) บ้างหรือไม่? ไบเดน ตอบว่าไม่ได้ทำ ‘และไม่มีใครบอกว่าผมจำเป็นต้องทำ’ 

ลือสะพัด!! 'ไบเดน' เป็นพาร์กินสัน ต้องเรียกหมอเฉพาะมาตรวจถี่ ด้านทำเนียบขาวยัน แค่ตรวจร่างกายตามปกติ ผู้นำวัย 81 ยังฟิตปั๋ง

กระแสความหวั่นวิตกเกี่ยวกับสภาพร่างกายของ โจ ไบเดน วัย 81 ปี ประธานาธิบดีในตำแหน่งที่มีอายุมากที่สุดในสหรัฐฯ และยังประกาศว่าพร้อมรับตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 2 ยังคงมีออกมาอย่างต่อเนื่อง 

ล่าสุด สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า โจ ไบเดน อาจมีอาการป่วยบางอย่างที่ไม่อาจเปิดเผยได้ และพบข้อมูลว่า ทำเนียบขาวได้เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพาร์กินสันเข้าทำเนียบ อย่างน้อย 8 ครั้ง ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว จนถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 

ข้อมูลนี้เปิดเผยโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่ได้ตรวจสอบบันทึกผู้มาเยือนทำเนียบขาว และพบชื่อของ ดร.เควิน แคนนาร์ด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาและความผิดปกติของการเคลื่อนไหวจากศูนย์การแพทย์ทหารแห่งชาติวอลเตอร์ รีด ที่เข้าทำเนียบขาวถึง 8 ครั้ง ในช่วงเดือนสิงหาคม 2023 - มีนาคม 2024 ซึ่ง ดร.เควิน ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการรักษาโรคพาร์กินสันระยะเริ่มต้นที่ศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ 

นอกจากนี้ แหล่งข่าวยังยืนยันด้วยว่า มีการนัดหารือกันระหว่าง ดร.เควิน แคนนาร์ด และ ดร.เควิน โอ'คอร์เนอร์ แพทย์ประจำตัวของโจ ไบเดน ในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาในทำเนียบขาวด้วย โดยไม่มีการอธิบายสาเหตุที่ทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพาร์กินสันต้องมาเยือนทำเนียบขาวถึง 8 รอบในช่วงเวลาไม่ถึง 1 ปี ส่งผลให้ข่าวลือเรื่องสภาพร่างกายที่ถดถอยของไบเดนโหมกระพือรุนแรงยิ่งขึ้น

คารีน ฌอง-ปิแอร์ โฆษกทำเนียบขาวได้ออกมากล่าวยืนยันในห้องประชุมสื่อมวลชนเมื่อวันจันทร์ (8 กรกฎาคม 2024) ที่ผ่านมาว่า ประธานาธิบดีไม่ได้เข้ารับการตรวจหาอาการพาร์กินสัน หรือกำลังได้รับยารักษาอาการดังกล่าวทั้งสิ้น 

แต่เมื่อนักข่าวได้จี้ถามถึงประวัติการตรวจสุขภาพร่างกายประจำปีของ โจ ไบเดน ซึ่งนอกเหนือจากการตรวจสุขภาพทั่วไป ยังพบว่าไบเดน ได้นัดพบกับผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยามาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยด้านโฆษกทำเนียบขาวยอมรับว่า เป็นเรื่องจริง ว่าทุกครั้งที่มีโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปี ต้องเข้าพบแพทย์ด้านประสาทวิทยาด้วย แต่ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ประวัติด้านสุขภาพของไบเดน ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล และมีเหตุผลด้านความมั่นคงด้วย จึงไม่สามารถเปิดเผยได้ และขอร้องสื่อมวลชน อย่าโยงการมาเยือนทำเนียบขาวของ ดร.เควิน แคนนาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพาร์กินสัน กับประวัติการตรวจร่างกายของประธานาธิบดี เนื่องจากในแต่ละปีก็มีบุคลากรจากศูนย์การแพทย์ทหารเข้า-ออก ทำเนียบขาวนับพันคนในแต่ละปี ที่ไม่ได้เกี่ยวกับภารกิจด้านการแพทย์ 

ด้าน ดร.เควิน โอ'คอร์เนอร์ แพทย์ประจำตัวผู้นำสหรัฐฯ ออกจดหมายยืนยันว่า โจ ไบเดน ไม่ได้พบนักประสาทวิทยาเป็นกรณีพิเศษที่นอกเหนือจากโปรแกรมตรวจร่างกายประจำปี และจากรายงานสุขภาพล่าสุดของไบเดน ของ ดร.โอ'คอนเนอร์ ระบุว่าประธานาธิบดีได้รับการตรวจคัดกรองอาการทางระบบประสาทหลายอย่าง รวมถึงโรคพาร์กินสันด้วย ซึ่งมีผลออกมาเป็นลบ ที่ยืนยันได้ว่า โจ ไบเดน มีสุขภาพร่างกายที่พร้อมสำหรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปิดข่าวจากเจ้ากรมข่าวลือ โจ ไบเดน ก็ได้ไปออกรายการ 'Morning Joe' ของสถานี MSNBC เมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อยืนยันว่าเขาจะไม่ไปไหนทั้งนั้น และมั่นใจว่า ตัวเขานั้นเป็นผู้เข้าแข่งขันที่ดีที่สุดของพรรคในการต่อสู้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้ง 2024 ที่จะถึงนี้ 

แม้เจ้าตัวจะยอมรับว่า ผลงานบนเวทีดีเบตล่าสุดที่ผ่านมา อาจไม่เข้าตาผู้บริหารระดับสูงภายในพรรค หรือ นายทุนผู้บริจาครายใหญ่ แต่ โจ ไบเดน ก็ยังประกาศกร้าวว่า "ผมไม่สนใจสิ่งที่พวกเศรษฐีคิดหรอกนะครับ ถึงเงินสนับสนุนจะสำคัญ แต่มันไม่ใช่เหตุผลที่ผมตัดสินใจลงแข่งขันในครั้งนี้"

ก็ถือเป็นคำยืนยันจากปู่ไบเดนว่า จะสู้ต่อ เพื่ออยู่ต่อ แม้จะมีแรงกดดันภายในพรรคให้ปู่ถอนตัวเพราะกลัวสังขารไปต่อไม่ไหวก็ตาม 

'ไบเดน' ออกอาการเบลอ สับสนระหว่าง ‘มิตร-ศัตรู’ เรียก ‘เซเลนสกีแห่งยูเครน’ สลับเป็น ‘ปธน.ปูตินแห่งรัสเซีย’

เมื่อวานนี้ (11 ก.ค. 67) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ออกอาการเบลออีกครั้ง คราวนี้พูดผิดระหว่างแนะนำตัวประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ต่อเวทีประชุมซัมมิตนาโต โดยเรียกเป็นประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย คู่อริของเซเลนสกีแทน ความผิดพลาดซึ่งเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าการแถลงข่าวครั้งสำคัญ ที่อาจเป็นตัวตัดสินชะตากรรมการเสนอตัวชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ อีกสมัยของเขาเลยทีเดียว

ผู้นำวัย 81 ปีของสหรัฐฯ รีบแก้คำผิดด้วยตนเอง ส่วน เซเลนสกี พูดติดตลกว่าเขาดีกว่าปูติน 

อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดของไบเดนในครั้งนี้ได้โหมกระพือความกังวลหนักหน่วงยิ่งขึ้นเกี่ยวกับอายุอานามของเขาและความเฉียบแหลมทางปัญญา ตามหลังผลงานหายนะในศึกประชันวิสัยทัศน์กับโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน

"ตอนนี้ผมขอส่งมอบเวทีนี้ให้แก่ประธานาธิบดียูเครน ผู้ซึ่งมีความกล้าหาญและความมุ่งมั่น คุณสุภาพสตรีและคุณสุภาพบุรุษ ขอต้อนรับ ประธานาธิบดีปูติน" เขากล่าวระหว่างแถลงต่อที่ประชุมซัมมิตนาโตในวอชิงตัน

ไบเดน หันหลังออกจากโพเดียม ก่อนย้อนกลับไปและเปล่งเสียงออกมาว่า "ประธานาธิบดีปูติน! เขากำลังเอาชนะประธานาธิบดีปูติน นั่นคือประธานาธิบดีเซเลนสกี" กระตุ้นให้ เซเลนสกี ดาวตลกทางทีวี ที่กลายมาเป็นผู้นำยามศึกสงครามของยูเครน รับมือกับการรุกรานของรัสเซีย ตอบกลับว่า "ผมดีกว่าเขา"

พวกรีพับลิกันคู่แข่งของไบเดน รุดแพร่กระจายคลิปดังกล่าวภายในเวลาไม่กี่นาที

การพูดผิดในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่ดีเท่าไหร่สำหรับไบเดน เนื่องจากหลังจากนี้เขามีกำหนดแถลงข่าวในวันพฤหัสบดี (11 ก.ค.) ในรูปแบบที่โฆษกทำเนียบขาว คารีน ฌอง ปิแอร์ เรียกว่าเป็นการแถลงแบบ ‘บิ๊กบอย’ หรือที่แปลว่า คนที่โตแล้ว ซึ่งถือเป็นการแถลงข่าวครั้งสำคัญของเขาครั้งแรกนับตั้งแต่ศึกดีเบต

การแถลงข่าวนี้จะเป็นการดวลไมค์แบบไม่เตรียมบทระหว่างไบเดนกับสื่อมวลชน ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดสำหรับผู้นำสูงสุดวัย 81 ปี ที่กำลังเผชิญกับข้อเคลือบแคลงด้านความพร้อมในทางร่างกายและความเฉียบแหลมของไหวพริบ ในการลงสนามการเมืองในศึกเลือกตั้งผู้นำสูงสุดในเดือนพฤศจิกายนนี้ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องดังระงมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากพรรคเดโมแครตของเขาเองให้เขาถอนตัว

ทั้งนี้ การแถลงข่าวดังกล่าวมีกำหนดเริ่มขึ้นตอนเวลา 18.30 น.(ตรงกับเมืองไทย 05.30 น.) แต่คาดหมายว่าอาจล่าช้าราว 1 ชั่วโมง

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่มีสมาชิกพรรคเดโมแครตเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เรียกร้องให้ ไบเดน ถอนตัวจากการเป็นตัวแทนพรรคลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี 2024

มีสมาชิกเดโมแครตในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ 14 คน ที่เรียกร้องอย่างเปิดเผยให้ชายที่เอาชนะ ทรัมป์ เมื่อ 4 ปีก่อน ถอนตัวออกมา เช่นเดียวกับวุฒิสมาชิกจากเดโมแครต 1 ราย

ผลโพลหนึ่งที่เผยแพร่ในวันพฤหัสบดี (11 ก.ค.) พบว่ามีชาวเดโมแครตมากกว่าครึ่ง บอกว่า ไบเดน ควรยุติการเสนอตัวชิงเก้าประธานาธิบดีสมัย 2 และ 2 ใน 3 ของชาวสหรัฐฯ เชื่อว่าเขาควรถอนตัวจากการชิงชัย

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส รายงานอ้างแหล่งข่าวซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม ระบุว่าบรรดาผู้ช่วยเก่าแก่ของประธานาธิบดีบางส่วนกำลังหารือกันในการหาทางโน้มน้าวให้ไบเดนถอนตัวออกมา อย่างไรก็ตามทำเนียบขาวรุดออกมาตอบโต้ในเวลาต่อมา ระบุรายงานข่าวนี้เป็นเท็จโดยสิ้นเชิง

ไบเดน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นคนช่างพูด กลับกลายเป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่แถลงข่าวน้อยกว่าประธานาธิบดีคนก่อน ๆ และครั้งหลัง ๆ มักเป็นการแถลงข่าวร่วมกับพวกผู้นำต่างชาติเท่านั้น แถมแต่ละครั้งยังจำกัดให้ถามได้เพียงแค่ 2 คำถาม

เมื่อประกอบกับการที่ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน มันจึงนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำเนียบขาวกำลังปกป้องผลกระทบทางอายุที่กำลังเกิดขึ้นกับประธานาธิบดีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ รายนี้

ไบเดน ยืนยันว่าเขายังคงมุ่งมั่นในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือนพฤศจิกายน และด้วยที่เขาคว้าชัยในศึกหยั่งเสียงของพรรคเดโมแครต ดังนั้นจึงไม่มีทางที่จะบีบให้เขาถอนตัว

'โพลมะกัน' ชี้!! 'แฮร์ริส' ยังเป็นรอง 'ทรัมป์' อยู่หลายขุม เพราะถูกมองเป็นเพียงภาพเงาสะท้อนไบเดน-ไร้บารมี

ข่าวใหญ่ที่สุดของวันนี้ หนีไม่พ้นการยอมสละตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครต ในการชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ 2024 ของ 'โจ ไบเดน' และขอส่งไม้ต่อให้กับ 'กมลา แฮร์ริส' รองประธานาธิบดีคู่หูของเขา ขึ้นไปแข่งขันกับ 'โดนัลด์ ทรัมป์' แทน  

ถึงจะเป็นข่าวดังทั่วโลก แต่ไม่ได้สร้างความประหลาดใจเท่าใดนัก หากได้ติดตามข่าวการเดินสายหาเสียง และปฏิบัติภารกิจในฐานะผู้นำสหรัฐฯ ของไบเดน ในปีที่ผ่านมาก็สามารถจับสัญญาณถึงความร่วงโรยสังขารของผู้นำวัย 81 ปีได้ และจากผลงานการดีเบตระหว่างเขา และ โดนัลด์ ทรัมป์ ล่าสุดที่ผ่านมา เป็นการตอกตะปูย้ำอย่างชัดเจนเป็นประจักษ์ว่า ไบเดนควรถอยให้คนรุ่นใหม่จะดีกว่า

โดย โจ ไบเดน ประกาศสนับสนุน กมลา แฮร์ริส ให้ขึ้นมาทำหน้าที่ตัวแทนพรรคเดโมแครตแทนที่เขาอย่างสุดกำลัง เพื่อหวังที่จะดึงคะแนนเสียงทั้งกลุ่มสตรี กลุ่มคนผิวสี กลุ่มชาวเอเชีย หรือแม้แต่กลุ่มผู้สนับสนุนไบเดนเดิม ด้วยการชูประเด็นที่จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการเลือกประธานาธิบดีหญิงคนแรก และ ประธานาธิบดีผิวสีคนที่ 2 ให้กับสหรัฐฯ

แม้จะได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีในตำแหน่งคนปัจจุบัน แต่ กมลา แฮร์ริส ก็ยังไม่ถือว่าเป็นตัวแทนพรรคอย่างเป็นทางการ จนกว่าจะมีการลงมติโดยผู้แทนในการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครตในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้เสียก่อน ที่ไม่รู้ว่าจะพลิกโผหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ในวันนี้คือ โพลมาแล้ว 

โดยสำนักโพล Decision Desk HQ (DDHQ) ร่วมกับสำนักข่าวสายการเมือง The Hill ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศ ว่าระหว่าง กมลา แฮร์ริส และ โดนัลด์ ทรัมป์ ใครนำ? ใครตาม? อย่างไร?

จากผลโพลจาก DDHQ ชี้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ยังนำ กมลา แฮร์ริส ในสัดส่วน 47% ต่อ 45%  ซึ่งแทบไม่ต่างจากผลโพลล่าสุดระหว่างทรัมป์ และ ไบเดน เลย ที่ทรัมป์ ยังนำ ไบเดน ด้วยคะแนน 46% ต่อ 43.5%

นี่เป็นคะแนนสูงสุดที่ กมลา แฮร์ริส ทำได้ในเวลานี้ ที่ยังไม่ประกาศว่าใครจะมาเป็นคู่หูของเธอในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ แต่จากผลสำรวจล่าสุดพบว่า ถ้า โรเบิร์ต เคนเนดี จูเนียร์ กระโดดเข้าร่วมการแข่งขันอีกคนในฐานะผู้สมัครอิสระ จะยิ่งฉุดคะแนนของ กมลา แฮริส และทรัมป์ มีโอกาสนำผู้สมัครของเดโมแครตสูงถึง 6% เลยทีเดียว 

ส่วนโพลด้านคะแนนความนิยมส่วนตัวของกมลา แฮร์ริส ก็ดูยังน่าเป็นห่วง 

จากโพลสำรวจกว่า 102 สำนักพบว่าแฮร์ริสมีคะแนนความนิยมอยู่ที่  37.7% แต่คะแนนความไม่นิยมในตัวเธอกลับสูงกว่าเกือบเท่าตัวที่ 55.5% 

สก็อต แทรนเตอร์ ผู้อำนวยการสำนักโพล DDHQ กล่าวว่า ความนิยมในตัวแฮร์ริสนั้นเป็นเพียงภาพเงาสะท้อนตัวตนของไบเดน ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเธอเท่าไหร่ เพราะ โจ ไบเดน ออกจากสนามแข่งด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก และ กมลา แฮร์ริส ก็ยังไม่มีบารมีเทียบเท่าไบเดน ซึ่งสิ่งที่ผู้ลงคะแนนเสียงอยากจะเห็นคือ เธอมีอะไรสดใหม่มานำเสนอให้กับชาวอเมริกันบ้าง

แต่ก็มีผลสำรวจของบางสำนักที่สนับสนุน กมลา แฮร์ริส ด้วยเช่นกัน อาทิ โพลของ Economist/YouGov ที่ชี้ว่า 8 ใน 10 ของชาวเดโมแครตสนับสนุน แฮร์ริส และมีโอกาสที่จะเอาชนะทรัมป์ได้ ในขณะที่โพลจากสำนักข่าว CBS และ CNN เผยว่า ทั้งไบเดน และ แฮริส ล้วนมีคะแนนตามหลังทรัมป์ แต่ แฮร์ริส มีส่วนต่างของคะแนนที่ตามหลังทรัมป์น้อยกว่าไบเดน และยังมีโอกาสได้เงินสนับสนุนหาเสียงมากกว่าผู้สมัครคนอื่น ๆ ของพรรค 

แต่เมื่อมองมาที่ฟากฝั่งของพรรครีพับลิกัน ต่างมองว่าโดนัลด์ ทรัมป์ ยังมีภาษีเหนือกว่า กมลา แฮร์ริส อยู่มาก และสามารถเอาชนะได้ง่ายกว่าแข่งกับไบเดนเสียอีก  

จุดเสียเปรียบของแฮร์ริส คือ เธอต้องแข่งกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่ใช่คนเดิมเมื่อ 4 หรือ 8 ปีก่อน แต่เป็นนักการเมืองที่ผ่านสนามรบมาอย่างหนักหน่วงทั้งนิติสงคราม และ การลอบสังหารอย่างจริงจังมาแล้ว

นอกจากนี้ เธอยังต้องต่อสู้กับค่านิยมการเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ และสีผิว ที่ยังฝังรากลึกในสังคมอเมริกัน ในขณะที่เธอมีเวลาเหลือเพียง 4 เดือนสำหรับแคมเปญหาเสียงที่ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ทั้งหมด 

ดังนั้น แฮร์ริส 2024 ไม่ใช่งานง่ายจริง ๆ 

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

'มาร์ก' แฉ!! 'รัฐบาลไบเดน' สั่งปิดกั้นข้อมูลโควิดช่วงปี 2021 บนเฟซบุ๊ก เพื่อช่วยรักษาคะแนนให้พวกเขาชนะการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ออกมาแฉว่า 'รัฐบาลไบเดน กดดันให้ Facebook/Meta ปิดข้อมูลข่าวสารหลายอย่างมาก เพื่อช่วยรักษาคะแนนให้ชนะการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน และตัวเขาเองเสียใจมากที่ไม่ได้ออกมาบอกความจริงให้เร็วกว่านี้

(28 ส.ค.67) Business Tomorrow เปิดเผยว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta ผู้เป็นเบื้องหลังของแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook และ Instagram ได้ออกมาแสดงความเสียใจเมื่อคืนก่อน (26)

เขาอ้างว่า ตนไม่เคยเปิดเผยถึงแรงกดดันจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิดที่ผ่านมา โดยในจดหมายถึงคณะกรรมการตุลาการของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันจันทร์ (26) ซักเคอร์เบิร์ก เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลไบเดนได้ 'กดดัน' ให้ Meta เซ็นเซอร์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับไวรัสระบาดในปี 2021

ซักเคอร์เบิร์ก ยอมรับว่า แรงกดดันนี้เป็นสิ่งที่ผิด และเขารู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างหนักแน่นเพื่อต่อต้านแรงกดดันจากรัฐบาลในขณะนั้น 

"ผมเชื่อว่าแรงกดดันจากรัฐบาลเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และผมเสียใจที่เราไม่ได้ออกมาต่อต้านอย่างแข็งขันมากกว่านี้" 

มาร์กกล่าวในจดหมายถึง จิม จอร์แดน ประธานคณะกรรมการตุลาการจากรัฐโอไฮโอ

นอกจากนี้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ยังเน้นย้ำว่า Meta ไม่ควรยอมเปลี่ยนแปลงมาตรฐานเนื้อหาของตนเพียงเพราะแรงกดดันจากรัฐบาลในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง และบริษัทพร้อมที่จะต่อสู้กลับหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก

ในจดหมายฉบับเดียวกัน ซักเคอร์เบิร์กยังกล่าวถึงกรณีที่ Meta ตัดสินใจปรับลดการเผยแพร่เนื้อหาของ New York Post ที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาทุจริตของครอบครัวประธานาธิบดีไบเดนก่อนการเลือกตั้งปี 2020 โดยเขายอมรับว่าบริษัท 'ไม่ควร' ลดระดับเนื้อหาดังกล่าวในขณะที่รอการตรวจสอบข้อเท็จจริง และ Meta ได้ปรับปรุงนโยบายใหม่ โดยไม่ลดระดับเนื้อหาในสหรัฐฯ ระหว่างรอการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกต่อไป

อีกประเด็นที่น่าสนใจในจดหมายนี้คือ ซักเคอร์เบิร์กประกาศว่า เขาไม่มีแผนที่จะบริจาคเงินสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานการเลือกตั้งในท้องถิ่นเหมือนที่เคยทำในช่วงการเลือกตั้งปี 2020 การบริจาคที่เขาตั้งใจให้เป็นกลางนี้กลับถูกวิจารณ์ว่าไม่เป็นธรรมและถูกตั้งชื่อเล่นว่า 'Zuckerbucks' โดยกลุ่มพรรครีพับลิกัน

เรื่องราวนี้ไม่เพียงแค่สะท้อนถึงความซับซ้อนในการจัดการเนื้อหาบนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ แต่ยังเปิดเผยถึงความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ในยุคของข้อมูลข่าวสารในวันนี้ 

‘โจ ไบเดน’ อาจหนุนอิสราเอล ถล่มคลังน้ำมันอิหร่าน ชี้!! หากเกิดขึ้นจริง ส่อเกิดวิกฤตพลังงานรอบใหม่

(4 ต.ค.67) ตลาดน้ำมันต้องสะเทือน เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงความเห็นเรื่อง อิสราเอลกับอิหร่าน ที่ทั้งสองฝ่ายยืนยันพร้อมเล่นงานกันทุกขณะ

สหรัฐหารือความเป็นไปได้อิสราเอลโจมตีคลังน้ำมันอิหร่าน

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงาน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาในประเด็นที่ว่า สหรัฐจะสนับสนุนอิสราเอลโจมตีคลังน้ำมันอิหร่านหรือไม่ โดยไบเดนตอบว่า กำลังหารือกันอยู่  

ความเห็นของไบเดนส่งผลให้ราคาน้ำมัน และความตึงเครียดในตะวันออกกลางพุ่งขึ้น ผู้ค้ากังวลเรื่องอุปทานปั่นป่วน แต่ไบเดน กล่าวว่า “วันนี้ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น”  

อิสราเอลโวมีหลายออปชันเล่นงานอิหร่าน
ก่อนหน้านั้นในวันพุธ (2 ต.ค.67) ประธานาธิบดีไบเดน กล่าวว่า เขาจะไม่สนับสนุนอิสราเอลโจมตีโรงงานนิวเคลียร์อิหร่าน ล่าสุดนายแดนนี ดานอน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ กล่าวในวันพฤหัสบดี ว่า อิสราเอล “มีทางเลือกมากมาย” ในการเอาคืน และจะแสดงความแข็งแกร่งให้รัฐบาลเตหะรานเห็น “เร็ว ๆ นี้” 

ขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐรายหนึ่งเผย รัฐบาลวอชิงตันไม่เชื่อว่า อิสราเอลตัดสินใจแล้วว่าจะตอบโต้อิหร่านอย่างไร

อิหร่านลั่นพร้อมรับมือทุกรูปแบบ ในวันเดียวกันนั้นประธานาธิบดีมาซุด เปเซชคิยัน ของอิหร่าน กล่าวในกรุงโดฮาของกาตาร์ว่า รัฐบาลเตหะรานพร้อมรับมือ 

“การโจมตีทางทหาร, การก่อการร้าย หรืออะไรก็ตามที่ข้ามเส้นตายของเราจะเจอการตอบโต้อย่างสาสมจากกองกำลังติดอาวุธของเรา”

เมื่อไบเดนพลาด ทรัมป์อาจพลิกกระดาน ใช้การทูตฟื้นสัมพันธ์ ลดแซงชั่นเนปิดอว์

เป็นที่ทราบกันมาพอสมควรถึงการที่ชาติตะวันตกให้การช่วยเหลือกองกำลังป้องกันตนเอง (PDF)​ และกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายที่ต่อสู้กับกองทัพเมียนมาที่ผ่านมา ซึ่งในอดีตมีการส่งทั้งกำลังบำรุงและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ซึ่งส่วนใหญ่มาจากฝั่งไทย

และสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งคือการทะลักของผู้อพยพไปยังประเทศรอบข้างเมียนมาไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดียและไทย แต่ทว่าจีนกับอินเดียก็ใช้นโยบายผลักดันคนที่แห่หนีออกมาให้กลับประเทศซึ่งต่างจากไทยที่อ้าแขนรับแถมจะทำให้อยู่แบบถูกกฎหมายเสียด้วย

เอาเป็นว่าเอย่าขอไม่บ่นเรื่องนี้แต่มาเข้าเรื่องระหว่างอเมริกากับเมียนมาดีกว่า ในสมัยประธานาธิบดี โจ ไบเดน อเมริกาและชาติตะวันตกแสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนชนกลุ่มน้อยทั้งทางตรงหรือทางอ้อมก็ดี เราจะเห็นได้จากคลิปที่หลุดออกมาตามสื่อโซเชียลจนบางทีก็ต้องขอบคุณคนเหล่านั้นที่ถ่ายภาพเบื้องหลังให้ชมกัน แต่การสนับสนุนทั้งกลุ่มต่อต้านรัฐบาลก็ดี ชนกลุ่มน้อยก็ดีเป็นการผลักดันให้กองทัพเมียนมาหันหน้าหาจีนและรัสเซียมากขึ้น ยิ่งจีนและอินเดียเป็นพันธมิตรแนบแน่นกับรัสเซียด้วยแล้วทำให้เส้นทางตะวันตกจากจีนสู่อินเดียหากสงครามในเมียนมาสงบลงดินแดนฝั่งนี้แทบจะเป็นของกลุ่มโลกใหม่ทั้งแถบ

ซึ่งคิดว่านี่เป็นเกมส์ที่ไบเดนก้าวพลาดมาก แต่ทรัมป์ก็น่าจะมองเห็น หากทรัมป์ยังให้การสนับสนุนสงครามต่อไป ไม่เพียงแต่เมียนมาจะยิ่งตอบโต้อย่างแข็งกร้าวกับสหรัฐมากขึ้น และถ้าวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์สงครามโลกจริงละก็ ประเทศอย่างเมียนมาจะเป็นตัวสำคัญในการสนับสนุนด้านอาหารแก่ประเทศที่เป็นพันธมิตรเขา

เอย่ามองว่าทรัมป์น่าจะใช้วิธีทางการทูตเข้าหากองทัพเมียนมา ลดหรือเลิกการแซงชั่นอันจะส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางการทูตของ 2 ประเทศดีขึ้นด้วยเช่นกัน

เรื่องเหล่านี้อาจจะลุกลามไปถึงการเลิกสนับสนุนกลุ่มต่อต้านหรือพลิกขั้วขายกลุ่มต่อต้านให้รัฐบาลเมียนมานั้นไหมก็ไม่อาจจะทราบได้คงต้องดูต่อไป แต่ที่สำคัญคือจะเหลือทางไหนที่จะให้สหรัฐเดินเพื่อรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้มากกว่า

งานนี้ดูว่าจะมีความเป็นไปได้โดยเฉพาะการที่ทรัมป์แสดงออกในการไม่แยแสคนต่างด้าวในประเทศตนเองพร้อมไล่ออกจากสหรัฐนี่ก็เป็นการแสดงออกว่าจากนี้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาคงไม่ได้อยู่สุขสบายเหมือนในอดีตอีกต่อไปแน่นอน

เลือกตั้ง ‘ประธานาธิบดี’ ทำสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป เมื่ออเมริกาเปลี่ยนมือ กระทบ!! นโยบาย ‘เมียนมา’ ที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ อาจเดินหน้า สานสัมพันธ์

เมื่อไม่นานมานี้ ยูเครนได้ทำการโจมตีที่มั่นทางการทหารในรัสเซียตามที่อเมริกาส่งสัญญาณใช้อาวุธที่ทางนาโต้มอบให้จู่โจมรัสเซีย ในขณะที่ประธานาธิบดีปูตินได้เคยประกาศกร้าวแล้วว่าใครทำแบบนี้จะถือว่าเป็นศัตรูกับรัสเซียและรัสเซียจะตอบโต้กลับอย่างไม่ปรานี

นี่เป็นคำสั่งท้าย ๆ ของประธานาธิบดี โจ ไบเดนก่อนที่เขาจะหมดวาระในวันที่ 20 มกราคม 2568 นี้  ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่าการที่โจเลือกที่จะสั่งให้ยูเครนทำแบบนี้ก็เพราะต้องการสร้างความยากลำบากให้แก่โดนัลด์ ทรัมป์

แต่ยูเครนไม่ใช่สงครามเดียวที่อเมริกาชักใยอยู่เบื้องหลัง เพราะยังมีสมรภูมิอื่นที่ยังเดือดอยู่เช่นกัน แต่ 1 ในสมรภูมิเหล่านั้นคือสมรภูมิในเมียนมา

เป็นที่แน่ชัดเสียยิ่งกว่าชัดจากการที่อเมริกาเข้ามาแทรกแซงโดยให้การสนับสนุนทั้งเงินทุน อาวุธรวมถึงการฝึกทางยุทธวิธีให้แก่กองกำลังชาติพันธุ์ที่อยู่บริเวณชายแดนไทยและใช้ไทยเป็นที่มั่นในการนำเงินเข้ามาผ่านตัวแทนนายหน้ากลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในไทย รวมถึงผ่านองค์กร NGO ต่างๆ รวมทั้งองค์กรที่มีการโฆษณาเปิดเผยว่าฝึกกองกำลังชาติพันธุ์ไว้ต่อต้านกองทัพรัฐบาลกลางของเมียนมาอย่าง Free Burma Ranger เป็นต้น นี่ยังไม่นับรวมพวกท่านทูตหัวทองที่ผลัดกันมาเยี่ยมเยียนเมืองชายแดนไทยติดเมียนมากันอย่างมิได้ขาดสายจนคนย่านนั้นเขารู้กันไปทั่ว

ประเด็นคือโจ ไบเดนจะปั่นให้ฝั่งเมียนมาลุกเป็นไฟอีกไหม เพราะดูจากนโยบายที่ทรัมป์ออกมาน่าจะส่งผลดีต่อเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผ่านมาเม็ดเงินที่อเมริกาในยุคของโจ ไบเดน หยอดเข้ามาให้ทำสงครามก็ไม่สามารถพิชิตกองทัพเมียนมาได้อย่างเด็ดขาด จนบางทีไบเดนอาจจะไม่รู้ว่า กองกำลังชาติพันธุ์ในพม่าทำสงครามเป็นธุรกิจเช่นเดียวกัน

หากสถานการณ์ในเมียนมาสงบไปจนถึงวันที่ทรัมป์รับตำแหน่งมีความเป็นไปได้ว่าทรัมป์จะพยายามกลับมารักษาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเมียนมาเพื่อเป็นการสกัดกั้นการขยายอำนาจของจีนมาสู่อ่าวเบงกอลมากกว่าเลือกที่จะสนับสนุนสงครามตัวแทนที่เห็นผลอยู่แล้วว่าไม่มีผลดีต่อสหรัฐเลยไม่ว่าด้านใด

เช่นเดียวกันหากปราศจากการอัดฉีดจากอเมริกาอำนาจของพรรคการเมืองในไทยบางพรรคที่ใช้ทุนจากตะวันตก หรือเหล่านายหน้าต่างด้าวที่เคยเป็นนายหน้าตัวกลางไซฟ่อนเงินก็อาจจะตกที่นั่งลำบากเช่นเดียวกัน

ยิ่งคนไทยตื่นรู้จักภัยคุกคามจากคนต่างด้าวกลุ่มนี้แล้วด้วย เราก็จะได้เห็นการแฉออกมาเพิ่มขึ้น แต่สุดท้ายก็ขึ้นกับฝ่ายการเมืองและกองทัพที่จะรักษาเสถียรภาพคนไทยอย่างไร

คองเกรสสหรัฐฯ เปิดงบช่วยยูเครน ใช้เงินภาษีคนอเมริกันไปแล้วเกือบ 5 ล้านดอลลาร์

(24 ธ.ค. 67) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตลอดทั้งปี 2024 รัฐบาลสหรัฐมีการใช้เงินภาษีของชาวอเมริกันไปแล้วเกือบ 4.8 ล้านดอลลาร์ (ราว 163 ล้านบาท) ซึ่งภายหลังการเปิดเผยดังกล่าว สมาชิกวุฒิสภาสังกัดพรรครีพับลิกันจากรัฐเคนทักกี นาย แรนด์ พอล กล่าววิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการใช้งบประมาณของรัฐบาลไบเดนที่ไร้เหตุผลที่สุดของปี 2024 

รายงานยังระบุว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุความขัดแย้งในยูเครน รัฐบาลวอชิงตันได้ใช้เงินภาษีของชาวอเมริกันในการให้การสนับสนุนรัฐบาลเคียฟและช่วยเหลือทหารยูเครนไปแล้วเกือบ 174 พันล้านดอลลาร์ โดยนายพอล กล่าวว่า "บางคนในกระทรวงการต่างประเทศยังคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่จะใช้เงินภาษีชาวอเมริกันอีก  4.8 ล้านดอลลาร์เพื่อกิจการในยูเครน 

นายพอล ยังเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ กลับไปใช้วิธีการทางการทูตที่จริงจัง แทนที่จะพึ่งพากลยุทธ์ผ่านการทหาร พร้อมเน้นย้ำว่า ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันจำนวนมากที่กำลังดิ้นรนเพื่อให้พอเพียงในการดำรงชีวิตกำลังเป็นผู้จ่ายเงินในการใช้จ่ายนี้

พอลกล่าวว่า มันเป็นเรื่องที่ “น่าฉงน” ที่เห็นรัฐบาลสหรัฐฯ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนในช่วงเวลาที่ชาวอเมริกันจำนวนมากกำลัง “ประสบปัญหาทางการเงิน”

รายงานที่มีความยาว 41 หน้าครอบคลุมถึงการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งสว.พอลเรียกว่า "เป็นการใช้จ่ายที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล"

ก่อนหน้านี้ ในการสัมภาษณ์กับ NBC News ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ได้รับเลือก โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวว่า ภายใต้การบริหารของเขา รัฐบาลเคียฟไม่น่าจะได้รับความช่วยเหลือในระดับเดียวกับที่พวกเขาได้รับในสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top