Tuesday, 22 April 2025
เสรี_ศุภราทิตย์

‘อ.เสรี’ เผย!! เดือนธ.ค. ไม่หนาว แถมอุณหภูมิสูงขึ้นเกือบ 2 องศา เตือน!! แม่ค้าอย่าตุนเสื้อกันหนาวเยอะ ส่วนเม.ย. 67 ร้อนแล้งสุดๆ

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 66 รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศของไทยในช่วงปลายปีว่าจะไม่หนาว และปีหน้าจะร้อนแล้งที่สุด โดยให้คำอธิบายว่า…

“#ปลายปีจะไม่หนาวแต่ปีหน้าร้อนแล้งสุดสุด

>>ปลายฝน ฝนก็ตกโดยเฉพาะภาคใต้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ สำหรับน้ำท่วมรอการระบายเป็นเรื่องปกติครับ การคาดการณ์ปริมาณฝนในปีไม่ปกติ (เช่น ปีเอญนิญโญ) มีความคลาดเคลื่อนสูง เช่นปีนี้ การพยากรณ์รายฤดูกาล แบบจำลองโดยส่วนใหญ่ชี้ไปในทิศฝนน้อย แต่ในข้อเท็จจริงปริมาณฝนเดือนกันยายน และเดือนตุลาคม มีมากกว่าปกติประมาณ 30% และ 19% ตามลำดับโดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคอีสาน (อย่างไรก็ตามปริมาณฝนสะสมยังคงน้อยกว่าปกติน่ะครับ ยกเว้นภาคอีสาน) ดังนั้นการพยากรณ์ฝนปีนี้จึงพึ่งได้เฉพาะการคาดการณ์ล่วงหน้าเพียง 1 เดือนเท่านั้น เกษตรกร และชาวนาจึงต้องติดตามสถานการณ์ทุกเดือนน่ะครับ

>>แม้ว่าเดือนกันยายน และตุลาคมจะเกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วมในบางพื้นที่เช่นภาคเหนือตอนบน และภาคอีสาน แต่เมื่อวิเคราะห์จากดรรชนีฝน SPEI พบว่าช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมา หลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคตะวันออก ยังคงมีสถานฝนแล้ง ยกเว้นบริเวณชายขอบฝั่งตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือริมแม่น้ำโขง

>>และเมื่อวิเคราะห์การกระจายของอุณหภูมิช่วงเดือนธันวาคม และเดือนเมษายนตั้งแต่ปี 2563-2567 พบว่าในเดือนธันวาคมจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทุกปี (ความหนาวเย็น) ยกเว้นปี 2566 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงขึ้นเกือบ 2oC นั่นหมายความว่าปีนี้เราจะไม่หนาว ในขณะเดียวกันอุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนเมษายนปี 2567 ก็จะสูงกว่าปกติ 1.5oC เราก็จะร้อนสุด ๆ เหมือนกัน จากปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (โลกร้อน) และสภาพอากาศแปรปรวน (เอ็นนิญโญ) ดังนั้นปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้าเสื้อหนาวอาจจะขายไม่ค่อยดีน่ะครับ พ่อค้า แม่ค้า อย่าสั่งมาตุนเยอะน่ะครับ

>>ในขณะที่เริ่มเข้าสู่ฤดูการทำนาปรัง ฝนก็ตกได้น้ำ ราคาข้าวดีจูงใจให้ชาวนาทำนากันในหลายพื้นที่ ปริมาณน้ำต้นทุน (เฉพาะในลุ่มเจ้าพระยา) ประมาณ 62% (11,000 ล้านลูกบาศ์กเมตร) น้อยกว่าปี 2565 (78%, 14,000 ล้านลูกบาศ์กเมตร) โดยปีที่แล้วมีการจัดสรรน้ำกว่า 5,800 ล้านลูกบาศ์กเมตรทำนาปรังกว่า 7 ล้านไร่ ในลุ่มเจ้าพระยา แต่ปีนี้ ดูจากข้อมูลกระทรวงเกษตรฯ จะมีการจัดสรรน้ำให้ชาวนาเพียง 2,300 ล้านลูกบาศ์กเมตร ซึ่งจะมีพื้นที่ทำนาได้เพียงไม่เกิน 2 ล้านไร่ จาก 8 ล้านไร่ อะไรจะเกิดขึ้น ? พื้นที่นอกเขตชลประทานกว่า 80% โดยเฉพาะในภาคอีสาน ถ้าไม่มีน้ำต้นทุนของตัวเอง (บ่อ สระ ฝายขนาดเล็ก ระบบสูบน้ำเข้าแปลงนา) ประกอบกับอากาศร้อน และแล้งจัดปีหน้า อัตราการระเหยจะเพิ่มขึ้นกว่า 10% ปัญหาเรื่องไฟป่าในภาคเหนือ ฝุ่น PM2.5 และ คลื่นความร้อนในเมืองจะตามมา

>>แม้ว่าการพยากรณ์ฝนรายฤดูกาลอาจจะมีความคลาดเคลื่อน แต่ก็มีความจำเป็นต่อชาวนาในการเตรียมปัจจัยการผลิต เพราะต้นทุนการทำนาจะสูงหากไม่มีการวางแผน ข้อมูลล่าสุดจากแบบจำลองหลายชุดบ่งชี้ปริมาณฝนต้นฝนปี 2567 อาจจะน้อยกว่าปกติ ส่งนัยถึงการเข้าสู่ฤดูฝนที่ล่าช้าออกไป ปริมาณน้ำต้นทุนที่ต้องเตรียมไว้สำหรับช่วงต้นฤดูฝน ? พื้นที่นอกเขตชลประทานกว่า 80% จะต้องเตรียมการรับมือด้วยครับ และที่สำคัญเกษตรกร และชาวนาต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดน่ะครับ เพราะสภาพอากาศ คือชีวิตความเป็นอยู่ของทุกท่าน

Forecast Research Advisor, Climate Change and Disaster Futuretales LAB, MQDC”

‘ดร.เสรี’ ชี้!! ปีนี้มีสิทธิร้อนเพิ่ม ผลพวงที่ส่งต่อมาจากปี 2023

(11 ม.ค. 67) รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า #โลกร้อนสุด 2023 อะไรจะเกิดขึ้นตามมาในปี 2024 นอกเหนือการควบคุม

ปี 2023 เป็นปีที่นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่าจะเป็นปีที่ร้อนที่สุด แต่อุณหภูมิเฉลี่ยกลับเพิ่มขึ้นกว่า 1.48oC เมื่อ 100 ปีที่แล้ว และสูงกว่าปี 2016 ที่เคยเป็นสถิติสูงสุด ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งมาจากปรากฏการณ์ El Nino ที่กำลังเกิดขึ้น และคาดการณ์ว่าจะแตะระดับสูงสุด ในเดือนมกราคมปีนี้ ดังนั้นการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงสภาพอากาศสุดขั้วต่างๆจึงเกิดตามมาโดยไม่สามารถควบคุมได้ ดังตัวอย่างการเกิดคลื่นความร้อน และไฟป่าในแคนาดา US และยุโรป น้ำท่วมใหญ่ในแอฟริกาตะวันออก รวมทั้งน้ำท่วมรุนแรงในภาคใต้ประเทศไทย

จากข้อมูลอุณหภูมิเฉลี่ยรายวันในปี 2023 ยังบ่งชี้ว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน อุณหภูมิเฉลี่ยรายวันทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (173 วันที่อุณหภูมิสูงเกิน 1.5 oC) ตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีการใช้พลังงานฟอสซิล ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงยังคงไม่มั่นใจว่าเหตุการณ์ความรุนแรงจากสภาพอากาศสุดขั้วใด จะเกิดขึ้นบ้าง และจะเกิดขึ้นเมื่อไรในอนาคต แม้แต่การคาดการณ์ปริมาณฝนยังมีความคลาดเคลื่อนสูง และไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าในระยะยาวเป็นรายเดือน รายฤดูกาล เป็นต้น เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลก็ยังสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เหมือนกัน

ดังนั้นด้วยโมเมนตัม และการถ่ายทอดพลังงานความร้อนต่อเนื่องจากปี 2023 ทำให้ปี 2024 จึงเป็นปีที่มีความเสี่ยงสูงที่จะร้อนกว่าปี 2023 การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิดังกล่าวบ่งชี้การเกิดขีดจำกัด 1.5oC ตามข้อตกลงปารีสซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยในรอบ 20-30 ปี และอาจจะแตะ 3oC จากการประเมินรายงาน NDC (National Determined Contribution) ของแต่ละประเทศที่ส่งมาในปัจจุบัน ดังนั้นเหตุการณ์ความรุนแรงจากสภาพอากาศสุดขั้วจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และต้องเฝ้าระวังกันต่อไป 

‘ดร.เสรี’ ชี้ ‘ไทย’ สิ้นสุดความร้อนแรงแล้ว  เตรียมรับฝน ตั้งแต่วันนี้!! อุณหภูมิลดลงทุกพื้นที่

(6 พ.ค.67) รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC และผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ออกมาไขคำตอบ ผ่านโพสต์บนเพจ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เรื่อง ‘Climate promise 2025 สัญญาสภาพภูมิอากาศ 2568’ อาจจะทำให้คนไทยเจ็บตัวบ้างไม่มากก็น้อย ทางออกของโลก และหนึ่งเดียวของไทยคืออะไร ?

ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 67 เราจะสิ้นสุดความร้อนแรงทั่วประเทศแล้ว โดยสัปดาห์นี้ พื้นที่ที่มีโอกาส 50-80% ยังคงมีอุณหภูมิสูง > 40°C จะเป็นพื้นที่ในภาคกลาง ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐมชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง นครสววรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร และสุโขทัย ส่วนพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี จ. นครราชสีมา บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และสระแก้ว แต่ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม อุณหภูมิจะลดลงตามลำดับ (ยังคงร้อนอยู่นะครับ) ในบางพื้นที่เริ่มมีฝนตกประมาณ 10-20 mm ต่อวันให้ได้รับความชุ่มชื้นบ้างโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พอผ่อนคลายความร้อนได้มากน่ะครับ

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้รับเชิญไปพูด แลกเปลี่ยนเรียนรู้หลายเวทีเช่น สถานทูตเนเธอร์แลนด์ (Amphibious transformation by design) การไฟฟ้านครหลวง (โลกเดือด) สำนักข่าวกรอง (การจัดการภัยพิบัติจาก Climate change) เพื่อชี้ให้ทุกหน่วยได้ตระหนักว่า เรากำลังเผชิญกับวิกฤติสภาพอากาศรุนแรงทั่วโลก คนไทยทั่วทุกภูมิภาคเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นอกเหนือจากผลกระทบต่อสุขภาพ ผลผลิตภาคเกษตรเสียหายรุนแรง โดย GDP ภาคการเกษตรสาขาพืช -6.4% (ทุเรียนสุกเร็วไม่หวานเสียหาย 30-40% มะพร้าวไม่ติดลูกเสียหาย 90% องุ่นให้ผล และน้ำน้อยเสียหาย 70% เป็นต้น) โลกจะไปอย่างไรต่อ ? คนไทยจะอยู่กันอย่างไร ? ภาคธุรกิจจะปรับตัวอย่างไร ? ภาครัฐจะมียุทธศาสตร์อะไร ?

ล่าสุด UNDP ได้ออกแคมเปญ ‘Climate promise 2025 สัญญาสภาพภูมิอากาศ 2568’ Dr. Cassie Flynn ผู้อำนวยการด้าน Climate change, UNDP ได้กล่าวเมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมาว่า โลกยังมีความหวัง โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง (Ambition, Acceleration และ Inclusivity) ผมฟังดูแล้วรู้สึกเหนื่อย และเป็นกังวลในฐานะคณะทำงาน IPCC ว่าเราจะเดินไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร ? ในขณะที่ประเทศร่ำรวย 10 % มีส่วนสำคัญในการปล่อย GHG 60 % แต่ประเทศกำลังพัฒนากว่า 60% มีสัดส่วนการปลดปล่อยไม่ถึง 10%

ภายใต้แรงกดดันของสังคมโลก สงครามการค้า (Below 1.5°C by 2025) ภาครัฐ ภาคเอกชน และคนไทยต้องเจ็บตัวกันไม่มากก็น้อยน่ะครับ กลุ่มเปราะบางจะเปราะบางมากขึ้น ค่าครองชีพจะเพิ่มขึ้น จากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น จากราคาอาหาร และวัตถุดิบต่างๆ ในขณะที่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องปรับแผนยุทธศาสตร์ สร้างความได้เปรียบบนฐานทรัพยากรที่มีอยู่ เปลี่ยนวิกฤติทั่วโลกให้เป็นโอกาส “ครัวของโลก” เปลี่ยนผ่านประเทศด้วยนวัตกรรมการปรับตัวภาคเกษตรกรรม 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top