‘ดร.เสรี’ ชี้ ‘ไทย’ สิ้นสุดความร้อนแรงแล้ว  เตรียมรับฝน ตั้งแต่วันนี้!! อุณหภูมิลดลงทุกพื้นที่

(6 พ.ค.67) รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC และผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ออกมาไขคำตอบ ผ่านโพสต์บนเพจ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เรื่อง ‘Climate promise 2025 สัญญาสภาพภูมิอากาศ 2568’ อาจจะทำให้คนไทยเจ็บตัวบ้างไม่มากก็น้อย ทางออกของโลก และหนึ่งเดียวของไทยคืออะไร ?

ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 67 เราจะสิ้นสุดความร้อนแรงทั่วประเทศแล้ว โดยสัปดาห์นี้ พื้นที่ที่มีโอกาส 50-80% ยังคงมีอุณหภูมิสูง > 40°C จะเป็นพื้นที่ในภาคกลาง ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐมชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง นครสววรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร และสุโขทัย ส่วนพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี จ. นครราชสีมา บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และสระแก้ว แต่ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม อุณหภูมิจะลดลงตามลำดับ (ยังคงร้อนอยู่นะครับ) ในบางพื้นที่เริ่มมีฝนตกประมาณ 10-20 mm ต่อวันให้ได้รับความชุ่มชื้นบ้างโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พอผ่อนคลายความร้อนได้มากน่ะครับ

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้รับเชิญไปพูด แลกเปลี่ยนเรียนรู้หลายเวทีเช่น สถานทูตเนเธอร์แลนด์ (Amphibious transformation by design) การไฟฟ้านครหลวง (โลกเดือด) สำนักข่าวกรอง (การจัดการภัยพิบัติจาก Climate change) เพื่อชี้ให้ทุกหน่วยได้ตระหนักว่า เรากำลังเผชิญกับวิกฤติสภาพอากาศรุนแรงทั่วโลก คนไทยทั่วทุกภูมิภาคเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นอกเหนือจากผลกระทบต่อสุขภาพ ผลผลิตภาคเกษตรเสียหายรุนแรง โดย GDP ภาคการเกษตรสาขาพืช -6.4% (ทุเรียนสุกเร็วไม่หวานเสียหาย 30-40% มะพร้าวไม่ติดลูกเสียหาย 90% องุ่นให้ผล และน้ำน้อยเสียหาย 70% เป็นต้น) โลกจะไปอย่างไรต่อ ? คนไทยจะอยู่กันอย่างไร ? ภาคธุรกิจจะปรับตัวอย่างไร ? ภาครัฐจะมียุทธศาสตร์อะไร ?

ล่าสุด UNDP ได้ออกแคมเปญ ‘Climate promise 2025 สัญญาสภาพภูมิอากาศ 2568’ Dr. Cassie Flynn ผู้อำนวยการด้าน Climate change, UNDP ได้กล่าวเมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมาว่า โลกยังมีความหวัง โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง (Ambition, Acceleration และ Inclusivity) ผมฟังดูแล้วรู้สึกเหนื่อย และเป็นกังวลในฐานะคณะทำงาน IPCC ว่าเราจะเดินไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร ? ในขณะที่ประเทศร่ำรวย 10 % มีส่วนสำคัญในการปล่อย GHG 60 % แต่ประเทศกำลังพัฒนากว่า 60% มีสัดส่วนการปลดปล่อยไม่ถึง 10%

ภายใต้แรงกดดันของสังคมโลก สงครามการค้า (Below 1.5°C by 2025) ภาครัฐ ภาคเอกชน และคนไทยต้องเจ็บตัวกันไม่มากก็น้อยน่ะครับ กลุ่มเปราะบางจะเปราะบางมากขึ้น ค่าครองชีพจะเพิ่มขึ้น จากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น จากราคาอาหาร และวัตถุดิบต่างๆ ในขณะที่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องปรับแผนยุทธศาสตร์ สร้างความได้เปรียบบนฐานทรัพยากรที่มีอยู่ เปลี่ยนวิกฤติทั่วโลกให้เป็นโอกาส “ครัวของโลก” เปลี่ยนผ่านประเทศด้วยนวัตกรรมการปรับตัวภาคเกษตรกรรม