Tuesday, 22 April 2025
เสรีศุภราทิตย์

‘ดร.เสรี’ เฉลย!! 8 เม.ย.นี้ ‘ร้อนสุด’ ก่อนเล่นสงกรานต์ พร้อมชี้เป้า ‘สุโขทัย’ จะเป็นจังหวัดที่ร้อนที่สุดในประเทศ

(3 เม.ย.67) ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และรองประธานฯ ที่มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เผยผ่านเฟซบุ๊กว่า ระหว่างวันที่ 2-9 เมษายนนี้ อุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ในหลายพื้นที่ และคาดว่า วันที่ 8 เมษายนนี้ จะเป็นวันที่ร้อนที่สุดก่อนสงกรานต์ปีนี้ อุณหภูมิช่วงสงกรานต์จะลดลงมาเล็กน้อย และอาจจะเพิ่มขึ้นหลังสงกรานต์ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป จะเห็นว่าพื้นที่จังหวัดที่มีอุณหภูมิสูงสุดในปัจจุบัน คือ จ.สุโขทัย และจะเป็นจังหวัดที่มีอุณหภูมิสูงสุดในอนาคตด้วย (ร้อนสุดขีดทั้งจังหวัด 49.01 องศาเซลเซียส อีก 60 ปีข้างหน้า) จากข้อมูลกรมอุตุฯ ในอดีต จ.สุโขทัย เคยมีอุณหภูมิสูงที่สุด (44.5 องศาเซลเซียส) เป็นลำดับที่ 3 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 และเป็นลำดับที่ 6 (44 องศาเซลเซียส) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2559

สำหรับจังหวัดที่จะมีอุณหภูมิสูงสุดในอนาคตรองลงมาตามลำดับในภาคกลาง คือ จ.พิจิตร (48.74 องศาเซลเซียส) จ.ชัยนาท (48.48 องศาเซลเซียส) จ.นครสวรรค์ (48.08 องศาเซลเซียส)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จ.มหาสารคาม (47.85 องศาเซลเซียส) จ.ขอนแก่น (47.58 องศาเซลเซียส) จ.ร้อยเอ็ด (47.56 องศาเซลเซียส) จ.นครราชสีมา (46.19 องศาเซลเซียส)

และในภาคเหนือ คือ จ.ลำปาง (47.19 องศาเซลเซียส) จ.ลำพูน (47.13 องศาเซลเซียส)

ส่วนพื้นที่ กรุงเทพมหานคร จะมีอุณหภูมิสูงสุดประมาณ 44.90 องศาเซลเซียส ผลกระทบที่จะตามมาคือภัยคุกคามที่ไม่สามารถย้อนเวลากลับได้ คลื่นความร้อน-ภัยแล้ง-ฝนตกหนัก-น้ำท่วม-น้ำทะเลหนุนสูง ทุกภาคส่วนธุรกิจ สังคมเมือง และชนบทจะได้รับผลกระทบมากน้อย ในช่วงเวลาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมโดยไม่ประมาท 

'ดร.เสรี' เตือน!! สถานการณ์น้ำท่วมสุ่มเสี่ยง ต้องบอกความจริงกับปชช. ย้ำ!! การบอกต้องไม่ใช่เพียงคำว่า "เอาอยู่" หรือ “ไม่ท่วมเหมือนปี 2554"

(26 ส.ค. 67) ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC ผู้เชี่ยวชาญ IPCC โพสตฺเฟซบุ๊กเรื่อง ‘60วันอันตราย การจัดการภาวะวิกฤติและสื่อสารความเสี่ยงควรทำอย่างไร?’ ระบุว่า…

ความเสียหาย ความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่สำหรับประเทศไทยในอดีตมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 10,000-1,000,000 ล้านบาท (น้ำท่วมใหญ่ 2554) โดยเฉพาะการเสียชีวิตของประชาชนซึ่งประเมินมูลค่าไม่ได้ การบริหารวิกฤติจึงมีความสำคัญสูงสุด ประกอบกับการสื่อสารความเสี่ยงในภาวะวิกฤติต้องมีความเข้าใจ และสามารถถ่ายทอดให้ประชาชนที่กำลังวิตก กังวล และห่วงใยต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้น หลายหน่วยงานที่ออกมาให้ข้อมูลต้องชัดเจน ไม่ยืดเยื้อ ไม่เทคนิคมาก ทำให้เข้าใจยากจนขาดความน่าสนใจ ดังนั้น 60 วันจากนี้ต่อไป จึงเป็นสถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่ไม่เพียงการบอกความจริงกับประชาชน แต่ต้องไม่ใช่เพียงคำว่า “เอาอยู่” หรือไม่ท่วมเหมือนปี 2554

สถานการณ์น้ำที่กำลังท่วมพื้นที่ภาคเหนือ และที่อื่น ๆ เริ่มสับสน วุ่นวาย เช่น กรณีคันกั้นน้ำแตกหลายจุด มีผู้เสียชีวิต น้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ คล้าย ๆ กับเหตุการณ์ที่ยังจำติดตาน้ำท่วมใหญ่ 2554  ประชาชนจึงต้องขนขวาย แสวงหาความจริงในโลก Social ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยง ความโกลาหล ความตระหนก ข้อมูลปราศจากข้อเท็จจริง รัฐบาลจึงต้องบริหารวิกฤตินี้ให้ได้ และที่สำคัญต้องเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา

ทีมผู้เชี่ยวชาญน้ำจากหลายองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชนจึงได้รวมตัวกันเพื่อกอบกู้วิกฤต และจะพยายามให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ดังรูปที่แนบมาเป็นการประเมินเบื้องต้นสถานการณ์ที่เป็นไปได้สำหรับภาคกลาง และสถานการณ์เลวร้ายที่สุดจากพายุจร ประชาชนที่อยู่ในเขตสีส้มให้ติดตามข้อมูลด้วยนะครับใน 60 วันอันตรายนี้

‘ดร.เสรี’ ฟันธงชี้!! หลังปีใหม่นี้ มีหนาวต่อแน่ กทม. อาจจะลงไปถึง!! 15℃ วันที่ 6 มกรา นี้

(5 ม.ค. 68)  รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการ ‘ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต’ โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ระบุว่า …

#สวัสดีหลังปีใหม่สภาพอากาศหนาวเย็นช่วงแรก 5-6-7 มกราคมนี้

มาแล้วครับหนาวจริงหนาวจังหนาวแรกปีใหม่ระหว่าง 5-7 มกราคม โดยจะหนาวสุดในวันที่ 6 มกราคมนี้ครับ อุณหภูมิจะลดลงไปอีก 2-3℃ อุณหภูมิต่ำสุด กทม. และปริมณฑลอาจจะลงไปถึง 15℃ส่วนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 12℃ความหนาวเย็นจะอยู่กับเราจนถึงประมาณวันที่ 20 มกราคม จะเริ่มอุ่นขึ้น

ส่วนเรื่องของฝนก็ยังคงไม่มีอะไรน่ากังวลน่ะครับช่วงนี้ แม้ว่ามีโหราจารย์หลายสำนัก ฟันธงปีนี้จะเป็นปีดุ น้ำท่วมหนัก แต่การคาดการณ์ทางวิทยาศาตร์บ่งชี้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกปี 2568 จะต่ำกว่าปีที่แล้ว แต่ยังคงเป็นปีที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 1.41℃ (ปีที่แล้ว > 1.5℃) จากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ดังนั้นสภาวะโลกร้อน และ Climate Change ยังคงส่งผลกระทบกับโลกต่อไป ประกอบกับเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว เช่นกรณี Rain bomb ไม่สามารถคาดการณ์ระยะยาวได้ จึงควรตระหนัก และตั้งอยู่ในความไม่ประมาทครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top