'ดร.เสรี' เตือน!! สถานการณ์น้ำท่วมสุ่มเสี่ยง ต้องบอกความจริงกับปชช. ย้ำ!! การบอกต้องไม่ใช่เพียงคำว่า "เอาอยู่" หรือ “ไม่ท่วมเหมือนปี 2554"
(26 ส.ค. 67) ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC ผู้เชี่ยวชาญ IPCC โพสตฺเฟซบุ๊กเรื่อง ‘60วันอันตราย การจัดการภาวะวิกฤติและสื่อสารความเสี่ยงควรทำอย่างไร?’ ระบุว่า…
ความเสียหาย ความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่สำหรับประเทศไทยในอดีตมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 10,000-1,000,000 ล้านบาท (น้ำท่วมใหญ่ 2554) โดยเฉพาะการเสียชีวิตของประชาชนซึ่งประเมินมูลค่าไม่ได้ การบริหารวิกฤติจึงมีความสำคัญสูงสุด ประกอบกับการสื่อสารความเสี่ยงในภาวะวิกฤติต้องมีความเข้าใจ และสามารถถ่ายทอดให้ประชาชนที่กำลังวิตก กังวล และห่วงใยต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้น หลายหน่วยงานที่ออกมาให้ข้อมูลต้องชัดเจน ไม่ยืดเยื้อ ไม่เทคนิคมาก ทำให้เข้าใจยากจนขาดความน่าสนใจ ดังนั้น 60 วันจากนี้ต่อไป จึงเป็นสถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่ไม่เพียงการบอกความจริงกับประชาชน แต่ต้องไม่ใช่เพียงคำว่า “เอาอยู่” หรือไม่ท่วมเหมือนปี 2554
สถานการณ์น้ำที่กำลังท่วมพื้นที่ภาคเหนือ และที่อื่น ๆ เริ่มสับสน วุ่นวาย เช่น กรณีคันกั้นน้ำแตกหลายจุด มีผู้เสียชีวิต น้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ คล้าย ๆ กับเหตุการณ์ที่ยังจำติดตาน้ำท่วมใหญ่ 2554 ประชาชนจึงต้องขนขวาย แสวงหาความจริงในโลก Social ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยง ความโกลาหล ความตระหนก ข้อมูลปราศจากข้อเท็จจริง รัฐบาลจึงต้องบริหารวิกฤตินี้ให้ได้ และที่สำคัญต้องเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา
ทีมผู้เชี่ยวชาญน้ำจากหลายองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชนจึงได้รวมตัวกันเพื่อกอบกู้วิกฤต และจะพยายามให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ดังรูปที่แนบมาเป็นการประเมินเบื้องต้นสถานการณ์ที่เป็นไปได้สำหรับภาคกลาง และสถานการณ์เลวร้ายที่สุดจากพายุจร ประชาชนที่อยู่ในเขตสีส้มให้ติดตามข้อมูลด้วยนะครับใน 60 วันอันตรายนี้