Monday, 21 April 2025
เลือกนายก

‘จาตุรนต์’ ชี้!! ไม่ควรยึดหลักเสียงส่วนใหญ่จากในสภาฯ เพราะบางเสียงไม่ได้มาจากการเลือกของ ปชช.

(19 ก.ค. 66) นายจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย กล่าวในรัฐสภาฯ ระบุว่า…

“เราไม่อาจตีความในทางที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่อาจตีความในทางที่จะเอาเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา ที่อาจจะประกอบไปด้วยผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มาหักล้างเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกในการเลือกตั้ง”

สภาฯ เคาะ!! ไม่เสนอชื่อ ‘พิธา’ ชิงนายกฯ ซ้ำ สรุปคะแนนโหวต 394 ต่อ 312 คะแนน

(19 ก.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงบรรยากาศของการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ระหว่างที่เปิดให้สมาชิกรรัฐสภาอภิปรายแสดงความเห็นก่อนลงมติในประเด็นที่เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้รัฐสภาเห็นชอบเป็นนายกฯ อีกครั้งจะทำได้ หรือขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 หรือไม่

จนกระทั่งเวลา 17.00 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานที่ประชุม ได้ยุติการอภิปรายเพื่อให้สมาชิกลงมติ ผลปรากฏว่า ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ลงมติญัตติส่งนายพิธาชิงนายกฯ ซ้ำไม่สามารถทำได้ (ขัดข้อบังคับการประชุมข้อ 41) โดยเห็นด้วย (ส่งซ้ำไม่ได้) 394 คน ไม่เห็นด้วย (ส่งซ้ำได้) 312 คน งดออกเสียง 8 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน

มติดังกล่าว ส่งผลให้นายพิธาหมดสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี และต้องจับตาการเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อไป

‘เศรษฐา’ ลั่น!! หาก 'เพื่อไทย' เป็นแกนตั้งรัฐบาลจะไม่แตะ 112 คลุมเครือจับมือ ‘ก้าวไกล’ ต่อหรือไม่ ขอคุย 8 พรรคก่อน

(20 ก.ค.66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยและแคนดิเดตนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงท่าทีของพรรคเพื่อไทย ในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้อีกว่า วันนี้จะพูดคุยกันในเรื่องนี้ ส่วนจะมีความชัดเจนในการเสนอชื่อตนเป็นนายกฯ หรือไม่นั้น ต้องรอข้อสรุปจากการประชุม

เมื่อถามว่าเสียง ส.ว.ในการโหวตนายพิธา เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ชัดเจนว่า ส.ว.ไม่เอาพรรคก้าวไกล การตั้งรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย จะยังมีพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องให้ทีมเจรจาไปเจรจาก่อน ซึ่งจะทราบทิศทาง ขณะนี้เรายังมีเอ็มโอยูของ 8 พรรคร่วม ดังนั้นต้องพูดคุยและให้เกียรติกัน

เมื่อถามว่าขณะนี้พร้อมถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในการโหวตครั้งต่อไปหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ทางพรรคมีแคนดิเดตนายกฯ 3 คน ต้องรอให้มีมติจากกรรมการบริหารพรรค(กก.บห.) ว่าจะเป็นใคร ทั้งนี้ แคนดิเดตทุกคนมีความพร้อม

เมื่อถามว่า 8 พรรคร่วมยังเหนียวแน่นหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่าวันนี้ยังเป็นแบบนั้นอยู่ โดยคณะเจรจาอาจไปพูดคุยกันเย็นนี้หรือวันที่ 21 ก.ค. เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ รวมถึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงในแง่ของแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อถามว่าการดันนายพิธา เป็นนายกฯ ของพรรคร่วม ถือว่าสิ้นสุดแล้วหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ตามที่ฟังดูในทางกฎหมาย น่าจะเป็นเช่นนั้น

เมื่อถามว่าการโหวตชื่อนายกฯ เหมือนเป็นบรรทัดฐานว่าจะเสนอชื่อหนึ่งคนได้เพียงครั้งเดียว การมีพรรคก้าวไกลอยู่จะส่งผลให้โหวตนายกฯ ไปในทิศทางใด นายเศรษฐา กล่าวว่า การเสนอชื่อนายกฯ ครั้งต่อไปต้องคิดให้ดี ต้องเจรจาให้เหมาะสม เมื่อถามว่าส่วนตัวมองว่าควรจะแพ็กกับพรรคก้าวไกลต่อหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องให้เกียรติคณะเจรจา เพราะตนไม่ได้อยู่ในคณะเจรจา

เมื่อถามว่าหากพรรคเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะทำอย่างไรไม่ให้ ม.112 เป็นปัญหา นายเศรษฐา กล่าวว่า มองว่าพรรคที่จะเสนอชื่อนายกฯ ครั้งต่อไป ต้องไม่มีเรื่องการแก้ไขหรือยกเลิก ม.112 ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว.รวมถึงพรรคอื่น ดูก็รู้ว่าเรื่องอะไรเป็นอะไร

เมื่อถามว่ามองว่าวิธีใดที่จะทำให้มาตรา 112 ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะทำให้คนเข้าใจพรรคเพื่อไทยมากที่สุดว่าเราไม่ได้หักพรรคก้าวไกล นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนพูดแทนพรรคก้าวไกลไม่ได้ แต่พรรคเพื่อไทยคงต้องพูดคุยกัน ถ้าเราจะเป็นแกนนำ เรื่องนี้ต้องหยุดลงไป ส่วนความสัมพันธ์กับพรรคก้าวไกล ตนไม่แน่ใจเหมือนกันเพราะตนไม่เกี่ยวข้องกับการเจรจา แต่คิดว่าหากมีมาตรา 112 อยู่ คงไม่ได้รับการสนับสนุนจากหลาย ๆ พรรค

เมื่อถามว่าจะมีพรรคร่วมเข้ามาเติมเสียงเพิ่มขึ้นหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า คิดว่าอาจจะล้ำหน้าไปเล็กน้อย ต้องให้เกียรติ 8 พรรคร่วมก่อน เพราะ 8 พรรคปัจจุบันก็มีเสียงเยอะ แต่ต้องมาคุยกันอีกครั้งว่าจะตกลงกันอย่างไร อย่างไรก็ตาม เสียงสว.250 เสียงถือเป็นส่วนที่สำคัญในการสนับสนุนให้เป็นนายกฯ

เมื่อถามว่าตัวนายเศรษฐาจะต่อสายพูดคุยกับ สว.ได้หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนรู้จักสว.แค่คนสองคน เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว คงเป็นเรื่องของหลักการมากกว่า ถ้าตกลงกันได้และพูดคุยกันรู้เรื่อง เชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนจากสว. คิดว่าอย่าเพิ่งข้ามขั้นดีกว่า วันนี้เรายังผูกมัดอยู่กับเอ็มโอยู และต้องให้เกียรติคณะกรรมการเจรจาว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป ถ้าเจรจาแล้วเห็นเป็นอื่นก็ต้องกลับมาคุยในพรรคกันต่อ แล้วพิจารณาว่าต่อไปเราจะไปอย่างไรกับใคร

เมื่อถามว่าคิดหรือไม่ว่าตอนนี้เกมบีบให้พรรคเพื่อไทยต้องข้ามขั้ว นายเศรษฐา กล่าวว่า ต่างคนต่างคิดอยู่แล้ว แต่สำคัญที่สุดคือคนที่มีอำนาจตัดสินใจ กก.บห. คณะเจรจาร่วมต้องเป็นคนพิจารณาให้ดี ส่วนเรามีหน้าที่ที่ต้องทำต่างกัน วันนี้ตนเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ต้องเตรียมพร้อมเรื่องเศรษฐกิจที่พรรคมอบหมายมา

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ 8 พรรคยังอยู่ด้วยกัน การจะมีการเปลี่ยนแปลงข้ามขั้ว หรือจะมีพรรคอื่นเข้ามาเสริมก็ต้องให้เกียรติกับคณะเจรจา ขอให้ใจเย็น มีอีกหลายวันก่อนถึงวันที่ 27 ก.ค. เราต้องให้เกียรติกับพรรคร่วม ซึ่งผลการโหวตเมื่อวันที่ 19 ก.ค.เป็นผลที่น่าผิดหวัง แต่ต้องยอมรับและเดินต่อไป ทั้งนี้ หาก กก.บห.มีทิศทางการจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร ก็พร้อมทำตาม

เมื่อถามว่ามีการพูดถึงสูตรผลักให้พรรคก้าวไกล ไปเป็นฝ่ายค้าน วันนี้มองว่ายังต้องจับมือกับพรรคก้าวไกลไปจนกว่าจะสุดทางไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าสุดคืออะไร สุดทางคือพรรคก้าวไกลไม่สามารถส่งนายกฯได้ ถือว่าสุดทางแล้วหรือยัง อันนี้ต้องฝากไปยังคณะเจรจาของ 8 พรรคว่า นี้คือสุดทางหรือยัง ถ้าสุดทางแล้วต้องมาพิจารณาว่าพรรคที่มีคะแนนอันดับสอง จะได้รับการมอบหมายหรือไม่ จะตกลงกันได้หรือไม่ อยากให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี เพราะถึงอย่างไรเรายังร่วมอุดมการณ์กันอยู่ดี

เมื่อถามว่าหากโหวตอย่างไรก็ไม่ได้ เพราะยังมีพรรคก้าวไกลอยู่ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องผลักพรรคก้าวไกลออก นายเศรษฐากล่าวว่า ตนว่าทุกคนรู้อยู่ อย่าให้ตนตอบดีกว่า เมื่อถามย้ำว่าจะทำตามแนวทางของกก.บห.ยอมเป็นนายกฯ โดยที่ไม่มีพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า อย่าไปถึงจุดนั้น จุดแรกคือ 8 พรรค ต้องตกลงกันให้ได้ก่อนว่าขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร

หากมีมติออกมาว่าพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ก็ต้องประชุม กก.บห.ก่อน แล้วเลือกแคนดิเดตนายกฯ ต้องว่าไปตามขั้นตอน ยังมีเวลาอีกหลายวัน

เมื่อถามว่าในการหากเสนอชื่อนายเศรษฐา มั่นใจหรือไม่ว่าเสียง 8 พรรคจะเหมือนเดิม นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนไม่ก้าวล่วง หากบอกว่าเขาโหวตให้แล้วเขากลับไม่โหวตให้ ดังนั้น ขอไม่ตอบดีกว่า เพราะต้องให้เกียรติพรรคร่วม

'วิษณุ' แจงชัด!! อีก 10 เดือน สว.หมดอายุ  แค่อยู่รักษาการ ไม่สามารถเลือก นายกฯ ได้

(25 ก.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถาม ถ้า สว. หมดอายุไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องมีการคัดสรรอย่างไร ว่า ในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าในระหว่างที่มีการคัดสรร สว.ชุดใหม่ สว. ชุดเก่าจะต้องรักษาการต่อไป แต่ไม่สามารถมีส่วนในการเลือกนายกฯ ได้ในช่วงรักษาการนี้ เพราะการเลือกนายกฯ เขาล็อกเอาไว้ 5 ปี พอครบ 5 ปีวันที่ 11 พ.ค.67 ก็หมดไป สว. ก็หมดไปด้วย สว. ที่อยู่เขาให้อยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่อื่น ไม่ใช่หน้าที่ตามมาตรา 272 ไม่ใช่การเลือกนายกฯ

ส่วนการคัดสรร สว. ใหม่ จะใช้เวลาเท่าไหร่นั้น ตนไม่ทราบ เพราะต้องมีกฎหมายลูกในการคัดสรร สว. โดยคัดสรรเป็นอาชีพ ไม่ได้คัดสรรเป็นจังหวัด เรื่องนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นคนจัดการ หาก สว. ชุดนี้ใกล้หมดวาระ กกต. จะคิดวางไทม์ไลน์ต่อไป

เมื่อถามว่ามีโอกาสที่จะแก้ไขการคัดสรร สว. ให้มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สว. ก็มาจากการเลือกตั้ง เพียงแต่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เป็นการเลือกจากสาขาอาชีพเป็นกลุ่ม ๆ แล้วมาคัดสรร แต่หากจะแก้ไขใหม่จากนี้ก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ใหญ่สุด ๆ ถึงขนาดอาจจะต้องทำประชามติ

ทั้งนี้ บทบัญญัติของการคัดสรร สว.ใหม่เขียนไว้อยู่หลายมาตรา ถ้าจะแก้ก็ต้องรื้อ แต่ตนคิดว่าไม่มีใครคิดทำอย่างนั้น นอกจากว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับอยู่แล้ว อย่างนี้ก็แล้วไป

‘ประเสริฐ’ ลั่น!! ‘พท.’ พร้อมโหวตนายกฯ เสมอ ส่วนประชุม 8 พรรคร่วมยังไม่มีกำหนด

(26 ก.ค. 66) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเลื่อนประชุม 8 พรรคร่วมว่า เราแจ้งไปว่าภารกิจที่ได้รับมอบหมายจาก 8 พรรคยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ประกอบกับที่รับทราบมาว่า ประธานรัฐสภาฯ จะเลื่อนประชุมวิป 3 ฝ่ายเพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเลื่อนการประชุม 8 พรรคออกไปก่อน ส่วนจะประชุมเมื่อไหร่นั้นขณะนี้ยังไม่ได้นัดหมาย

เมื่อถามว่า คาดว่าจะได้โหวตนายกรัฐมนตรีวันไหน นายประเสริฐ กล่าวว่า ต้องรอประธานรัฐสภานัดหมายมา หากมีการนัดหมายมาเมื่อไหร่เราก็พร้อม

เมื่อถามว่า การประชุม สส. ของพรรควันนี้ จะมีการเคาะชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเลยหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารตกลงกันแล้ว และมีมติให้หัวหน้าพรรคพิจารณาตัดสินใจได้เลย

เมื่อถามถึง กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจะกลับประเทศไทยวันที่ 10 สิงหาคมนี้ นายประเสริฐ กล่าวว่า ตนก็เพิ่งทราบจากการเปิดเผยของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับสื่อ

'ปู จิตกร' ยกกฎหมาย ตอกกลับ 'อ.นันทนา ม.เกริก' หลังให้ความเข้าใจที่ผิดแก่สังคม ปมการเลือกนายกฯ

ไม่นานมานี้ ปู-จิตกร บุษบา พิธีกรและคอลัมนิสต์ชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า...

เรียน นักการเมืองทั้งหลาย ที่ไปเข้าหลักสูตรของอาจารย์ท่านนี้ที่ ม.เกริก เพื่อจะได้ความรู้หรือได้คำนำหน้าชื่อว่า ดร. ก็ไม่ทราบนั้น

สิ่งที่อาจารย์ท่านนี้กล่าว นับเป็นการให้ ‘ความเข้าใจที่ผิด’ แก่สังคมอย่างมหันต์ จนควรจะลังเลว่า ควร ‘รับการศึกษา’ จากคนผู้นี้หรือไม่

1. คำว่า ‘ประชาชนเขาเลือกมาแล้ว’ ประชาชนเลือก ส.ส. หรือ ‘สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’ ครับ ไม่ได้เลือกนายกฯ การเลือกตั้งทั่วไปนั้น เป็นการให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือก ส.ส.

2. ตรวจสอบได้จากประกาศ ‘ยุบสภา’ ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 17 มีนาคม 2566 ความว่า

พระราชกฤษฎีกา ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2566 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ด้วยนายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลฯ ว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 และบัดนี้ได้ปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีที่สี่ อันเป็นปีสุดท้ายของอายุสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

สมควรยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นการคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชนโดยเร็ว เพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 103 และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้...

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566”

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไป

มาตรา 4 ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่คณะกรรมการ การเลือกตั้งประกาศกำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ ใช้บังคับ

มาตรา 5 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้ง รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

>> การเลือกตั้งที่จะต้องจัดให้มีขึ้นตามประกาศนี้ ชัดเจนว่า เป็น "การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร"

3. หากดูจากบัตรเลือกตั้ง บนสุดของบัตรก็เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ‘บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’ ซึ่งปี 2566 นี้ มีบัตร 2 ใบ คือ แบบ ‘แบ่งเขตเลือกตั้ง’ (บัตรสีม่วง) กับแบบ ‘บัญชีรายชื่อ’ (บัตรสีเขียว) จึงเป็นอีกหลักฐานยืนยันเขา คะแนนของประชาชนนั้น เป็นคะแนนเลือก ‘สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’

4. ผลการเลือกตั้ง (ที่เกิดจากคะแนนการเลือกของประชาชน) พรรคก้าวไกลได้ สส. มากที่สุด

5. รัฐธรรมนูญมาตรา 159 บัญญัติว่า "ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ บุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ตามมาตรา 88"

>> ชัดเจนนะครับว่า ประชาชนเลือก ส.ส. // ส.ส. เลือกนายกฯ

คำที่นางนันทนา นันทวโรภาส กล่าวว่า "ประชาชนเขาเลือกมาแล้ว" จึงยุติที่การเลือก สส. ครับ จากนั้นเป็นหน้าที่ของ สส. ที่จะเลือกนายกรัฐมนตรี !!

6. ด้วยเหตุของการมี "บทเฉพาะกาล" อยู่ในมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งผ่านการลงประชามติของประชาชนชาวไทยแล้ว กำหนดว่า การเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการ "แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี" ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่ให้ความเห็นชอบบุคคลใดให้เป็นนายกฯ "ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา"

จึงแปลว่า...
>> นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการ ‘เลือกตั้ง’ แต่มาจากการ ‘แต่งตั้ง’ โดยความเห็นชอบของสมาชิกมากกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วมรัฐสภา
>> สว. จึงมีหน้าที่ต้อง ‘ให้ความเห็นชอบ’ ว่าใครควรเป็นนายกฯ ด้วยศักดิ์และสิทธิ เท่าเทียมกับ สส. ไม่ได้สำคัญมากหรือน้อยไปกว่า สส. แต่ ๑ สิทธิ ๑ เสียงเท่ากัน และจะเกี่ยงงอนมิได้ เพราะเป็น ‘ฉันทามติ’ ที่เรียกว่า ‘ประชามติ’ ของประชาชนแล้ว
>> เพียงแต่ สว.ทำได้แค่ ‘ระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้’ เท่านั้น จากนั้นก็เป็นการเห็นชอบของสมาชิกสภาผผู้แทนราษฎร หรือ สส. เท่านั้น

7. นางนันทนา นันทวโรภาส ในฐานะ ‘ผู้จัดการศึกษา’ จึงควรตระหนักว่า การสื่อสารสู่สังคม ไม่ควรบิดเบือนข้อเท็จจริง ที่จะเป็นความรู้ เป็นสติปัญญา ในการมองปัญหา ทำความเข้าใจ ต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ และหากไม่แน่ใจในความรู้ หรือความแม่นยำต่อข้อกฎหมายของตนเอง ก็ไม่ควร ‘ให้ความเห็น’ แก่สาธารณะ

8. การที่ สว. ทำหน้าที่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ในกรณีนี้ คือ ไม่เห็นชอบให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับที่ สส. อีกจำนวนมาก ก็ ‘ไม่เห็นชอบ’ จึงไม่ใช่การ ‘ไปตรวจสอบเสียงของประชาชน’ อย่างที่นางนันทนากล่าวอ้างแต่อย่างใด เป็นความคิดเห็นที่ ‘เกินเลย’ ไปจากหลักการและข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน ดังนั้น การลากความไปถึงมะรง มะเร็ง ทั้งหลาย จึงเป็น ‘ความเลอะเทอะ’ ที่เป็นผลจากความไม่รู้ หรือผิดหลงต่อ ‘หลักการ’ และข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ หรืออาจเจือด้วยความรักชอบส่วนตัวเข้าไปด้วยก็เป็นได้ 

9. สว. จึงมิได้เข้าไป ‘ขัดขวางไม่ให้เสียงที่ประชาชนเลือกได้เป็นนายกฯ’ อย่างที่นางนันทนากล่าว เป็นเพียงการ ‘ทำหน้าที่’ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งรัฐธรรมนูญให้ทำได้ทั้งเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียง จะเห็นได้ว่า สว. ส่วนมากเลือกที่จะลงมติว่า ‘งดออกเสียง’ เพื่อแสดงเจตนาว่ามิได้จงใจ ‘ขัดขวาง’ เพียงแต่มิอาจเห็นชอบด้วยความกังวลเรื่อง ม.112 อันเป็นท่าทีของนายพิธา และพรรคก้าวไกล ที่ก็เป็นความกังวลของคนส่วนใหญ่ในสังคม (ที่ไม่ได้เลือกพรรคก้าวไกล) ด้วย

10. ยังน่าแปลกใจว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่แล้ว พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. มากกว่าพรรคพลังประชารัฐ แต่ผู้มีรายชื่อว่าที่นายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ก็มิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (แถมพรรคเพื่อไทยก็มิได้เสนอชื่อคนในบัญชีของตัวเองด้วย กลับไปเสนอชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมิใช่พรรคที่ได้จำนวน ส.ส. มากเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ด้วยซ้ำไป) ครั้งนั้น นางนันทนาก็มิได้ออกมากล่าวความเห็นเช่นนี้เลยสักแอะ จึงเป็นเหตุให้น่าสงสัยว่า นางนันทนายึดมั่นในหลักการที่ตนเองกล่าวครั้งนี้แค่ไหน

สังคมต้องแยกแยะระหว่าง ‘ถูกต้อง’ กับ ‘ถูกใจ’ ให้ออก

อย่าเอาความ ‘ไม่ถูกใจ’ มาลากพาไปสู่ความ ‘ไม่ถูกต้อง’ โดยไม่เคารพกติกาที่ตรากันไว้ และผ่านการลงมติเห็นชอบโดยประชาชน หากรับกติกาดังกล่าวมิได้ ก็มิควรลงแข่งขันภายใต้กติกานั้น รอให้พ้น 5 ปี กติกาก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ตามที่เคยชิน เคยปฏิบัติกันมาก่อน

จึงขอเรียนไปยัง สส. และผู้คนในแวดวงการเมืองทั้งหลาย ที่ไปลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรที่นางนันทนากำกับ อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกริก พึงทบทวน

‘นพดล’ มั่นใจ!! ชง ‘เศรษฐา’ นั่งนายกฯ ราบรื่น ยัน!! ไม่มีปัญหาผิดจริยธรรมใดๆ ให้ต้องกังวล

(9 ส.ค. 66) ที่รัฐสภา นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดต นายกฯ ให้ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบต่อไป เนื่องจาก ไม่มีประเด็นผิดจริยธรรมใด ๆ การออกมากล่าวหาว่ามีการสมรู้ร่วมคิดเลี่ยงภาษีล้วนไม่เป็นความจริง เนื่องจาก

1.เดือนธันวาคม 2561 ผู้ขาย 12 คนได้กรรมสิทธิ์มาจากบริษัทคนละวัน (ขาเข้า) ซึ่งประกาศกรมสรรพากรปี 43 ระบุถ้ามีการขายให้เสียภาษีตามรายได้ของแต่ละคนแยกจากกัน

2.การได้กรรมสิทธิ์แยกกันเป็นการวางแผนภาษีของผู้ขาย ที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2561 เสร็จสิ้นก่อนโอนขายให้แสนสิริในเดือนสิงหาคม 2562 ซึ่งแสนสิริไม่ได้เกี่ยวข้องหรือสมรู้ร่วมคิดในการใดที่ไม่ชอบมาพากล

3.การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของผู้ขายให้แสนสิริ (ผู้ซื้อ) ในเดือนสิงหาคม 2562 (ขาออก) ผู้ขายจะโอนให้แสนสิริวันเดียวกันหรือโอนคนละวันแยกกันก็ไม่ทำให้ภาระภาษีเเตกต่างกัน ยังคงต้องเสียภาษีตามเงินค่าที่ดินของแต่ละคนที่ได้รับมา ในทำนองเงินของใคร คนนั้นก็เสียภาษี ไม่เกี่ยวกับแสนสิริใด ๆ ทั้งสิ้น

“นักศึกษากฎหมายปี 1 ดูก็รู้ว่ามันเป็นการวางแผนภาษีของผู้ขาย ที่เกิดขึ้นก่อนจะขายให้บริษัทแสนสิริ และไม่เกี่ยวข้องใดๆกับผู้ซื้อคือแสนสิริหรือนายเศรษฐาเลย ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายชัดเจนว่านายเศรษฐาไม่ผิดกฎหมายหรือฝ่าฝืนจริยธรรมใด ๆ เลย การพยายายามวาดภาพทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องการเมือง ล้ำเส้นไปมาก ทำให้นายเศรษฐา เสียชื่อเสียง ทั้ง ๆ ที่เขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายตั้งแต่ต้น ในช่วงเวลาที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อให้รัฐสภาเห็นชอบ มันไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่ท้าทายหลักนิติธรรม และมโนสำนึกของผู้กล่าวหา ขอให้หยุดสร้างมาตรฐานจริยธรรมเทียม ตนเชื่อว่าสมาชิกรัฐสภามีความรู้แยกแยะได้ว่าข้อกล่าวหามีมูลหรือไม่” นายนพดล กล่าว

เมื่อถามว่ากรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน ส่งทนายฟ้องกลับนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อดีตนักการเมืองนั้น นายนพดล กล่าวว่า เป็นการปกป้องสิทธิ์ของตัวเอง แสดงให้เห็นว่ายังสู้ ไม่ได้เป็นการปิดปากนายชูวิทย์แต่อย่างใด

เผยไต๋!! หงายไพ่ 'มีเรา-ไม่เอาลุง' แต่เอางูเห่า ฟาก สว.ปักธง!! คงค้านแคนดิเดต 'เศรษฐา'

"...การแก้ที่จะแก้วิกฤตครั้งนี้ได้ ต้องสลายขั้วการเมือง ดึงความร่วมมือจากทุกพรรคทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกคน เพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยและนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำ เพื่อนำรัฐธรรมนูญออกจากวิกฤต เพื่อนำประชาชนให้พ้นทุกข์ เพื่อสร้างความสามัคคี สมานฉันท์ โดยถือเป็นวาระประเทศ ที่สำคัญอย่างสูงสุด..."

ครับ...นั่นเป็นหนึ่งในย่อหน้าสำคัญของการแถลงข่าวการจัดรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยเมื่อบ่ายวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีพรรคประชาชาติและอีก 5 พรรคเล็ก (พรรคชาติพัฒนากล้า, พรรคเพื่อไทรวมพลัง, พรรคพลังสังคมใหม่, พรรคเสรีรวมไทย และ พรรคท้องที่ไทย) มารวมแถลงข่าวด้วย...และวันที่ 10 ส.ค.ก็จะเป็นคิวของพรรคชาติไทยพัฒนา มาร่วมแถลง

หมอชลน่าน ศรีแก้ว และภูมิธรรม เวชยชัย สองแม่ทัพใหญ่ของเพื่อไทยยืนยันว่า ขณะนี้เมื่อรวมเสียงพรรคและกลุ่มต่าง ๆ ที่จะสลายขั้วมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเกิน 250 เสียงแล้ว...โดยแคนดิเดตนายกรัฐมนตรียังจะเป็น 'เศรษฐา ทวีสิน' เหมือนเดิม

'เล็ก เลียบด่วน' ดูภาษากายของ 'หมอชลน่าน' และ 'อ้วน ภูมิธรรม' แล้ว รอบนี้ดูจะมีความมั่นอกมั่นใจในการชูคำขวัญกับการเดินหน้าว่า...นี่คือการสลายขั้ว ในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความพิเศษท่ามกลาง 3 วิกฤต...คือวิกฤตเศรษฐกิจ, วิกฤตรัฐธรรมนูญ และวิกฤตความขัดแย้งแบ่งสี แบ่งขั้ว...

จริง ๆ แล้ว แค่เพื่อไทยไปทาบทามเจรจาพรรครวมไทยสร้างชาติที่ 'ลุงตู่' วางมือไปแล้วสักพรรค แล้วซุ่มเจรจากับมุ้งใหญ่ในประชาธิปัตย์ หรือพลังประชารัฐ คณิตศาสตร์การเมืองก็จบ แถมได้เสียง สว.สายลุงตู่หนุนพรึ่บ...จบข่าว!!

แต่กลับไม่ทำ...ทำไม?

'เล็ก เลียบด่วน' ตรวจสอบข่าวข้างเคียงแล้วพบว่า งานนี้ สส.พรรคเพื่อไทยจำนวนมากยังติดใจคำว่า 'พรรคลุง' อ้างว่าชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วย รอบหน้าหาเสียงลำบาก

แต่ในความจริง 'สมการ' การเมือง หากเพื่อไทยไม่ได้เอาเสียงจากพรรคลุงมาร่วม การจัดตั้งรัฐบาลก็เดินหน้าไม่ได้ ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงเดินหน้าดีลลับ...ดึงซุ้มใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติไปร่วมรัฐบาลเพื่อไทย...

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าปฏิบัติดีลลับดึงงูเห่าจากสองพรรคหรือสามพรรครวมทั้งประชาธิปัตย์ด้วยนั้น สุ่มเสี่ยงเป็นยิ่งนัก...

ประการแรก - แน่ใจไหมว่าพรรคภูมิใจไทยจะเออออห่อหมกหรือไม่กับสูตรดึงงูเห่า

ประการที่สอง - ปัญหากรณีงูเห่าก็ไม่แน่ใจว่า สว.จะเห็นด้วยหรือไม่...รวมทั้งกรณีที่เพื่อไทยน้อมใจน้อมกายไปขอคะแนนจากพรรคก้าวไกล ทำให้เกิดความระแวงว่าในอนาคตสองพรรคนี้จะหันมาจูบปากคืนดี ก่อกรรมทำเข็ญให้กับบ้านเมืองหรือไม่...ขณะที่มีกระแสข่าวอื้ออึงว่ามีการใช้ยุทธปัจจัยกันหลายกิโลขีดเพื่อขอความเห็นใจจาก สว.

ประการที่สาม - แม้ฝั่ง สว.จะเบาใจเรื่องไม่แตะต้องสถาบัน ไม่แตะต้องมาตรา 112 แล้วก็ตาม...แต่กรณีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ยังชื่อ เศรษฐา ทวีสิน นั้น สว.จำนวนไม่น้อยยังติดใจในปัญหาจริยธรรม-ธรรมาภิบาล เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) นั้นบัญญัติชัดเจนว่าต้องมีคุณสมบัติ… ‘มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์’...สว.บางส่วนยังติดใจเรื่องการเสียภาษีและสะพานข้ามคลองอันอื้อฉาวของบริษัทแสนสิริ...และรอขออภิปรายซักถาม..!!

คาดหมายกันว่าคะแนนของ เศรษฐา ทวีสิน จะสูงกว่า 324 คะแนนของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.อยู่หลายขุม แต่ซาวเสียง สว. ณ วันนี้ดูแล้ว ส่วนใหญ่บอกว่ายังไม่ผ่าน 375 เสียง และนั่นเองที่เป็นเหตุให้พรรคเพื่อไทยอยากได้เสียงจากก้าวไกลซักจำนวนหนึ่ง...แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าเป็นจริงแค่ได้ยินชื่อ สส.พรรคก้าวไกล ชื่ออักษร ก.ไก่ 4 คนใน 10 ชื่อแรกสมาชิกรัฐสภา...ก็คงทำให้ สว.ชักมือกลับกันหลายคน...

ก็ติดตามกันต่อไปครับ...อีกหลายวัน วันที่ 16 ส.ค. ต้องลุ้นศาลรัฐธรรมนูญกันก่อนว่าศาลจะรับไม่รับเรื่องจากผู้ตรวจไว้พิจารณาหรือไม่...

มีเวลาเหลือเฟือที่จะลากลู่ถูกังกันไปเพื่อสลายขั้ว...ลากกันไปจนขั้วสลาย...ดีไม่ดีสูตรพรรคอันดับ 2 อาจสลาย ไปสู่พรรคอันดับ 3...

อย่ามองข้ามความปลอดภัย!!

‘เดชอิศม์’ นำทีม 16 สส.ปชป. แจงหลังแหกมติพรรคโหวตนายกฯ ชี้!! ไม่อยากเอาความแค้นในอดีตมากำหนดอนาคตประเทศชาติ

(24 ส.ค. 66) นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมเพื่อน สส.กลุ่ม 16 (ยกมือเลือกเศรษฐา ทวีสิน สวนมติพรรค) ร่วมกันแถลงข่าวถึงการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ต้องขอโทษสื่อมวลชนที่ติดต่อขอสัมภาษณ์ แต่ติดต่อไม่ได้ เนื่องจากติดภารกิจสำคัญ

นายเดชอิศม์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เริ่มไม่มีเอกภาพมาตั้งแต่การประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ มีการล้มการประชุมถึงสองครั้ง ซึ่งเป็นเจตนาของใครบางคนที่ต้องการให้ล่ม สร้างความเสียหายให้กับพรรค สมาชิกพรรคที่ต้องเดินทางมาประชุม พรรคก็เสียหาย ต้องจ่ายค่าจัดการประชุมครั้งละ 3 ล้านบาท จนถึงขณะนี้เราก็ยังกำหนดวันประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ไม่ได้

นายเดชอิศม์ กล่าวอีกว่า มาถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีการประชุม สส.ของพรรคเพื่อกำหนดแนวทางในการโหวต ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นออกเป็นสองแนวทาง คือไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง

“ฝ่ายไม่เห็นชอบก็ยกเหตุผลจากความโกรธแค้นในอดีตที่รัฐบาลในยุคก่อนจัดสรรงบประมาณอย่างไม่เป็นธรรม จัดงบพัฒนาภาคใต้ แต่ สส.น้อง ๆ รุ่นใหม่ เสนอให้แยกเรื่องความแค้นกับการเดินหน้าทางการเมืองออกจากกัน ฝ่ายที่เสนอให้เห็นชอบก็มองว่า เมื่อประเทศมาถึงทางตัน จึงควรจะมีทางออก บ้านเมืองจะเกิดศูนย์ยากาศทางการเมืองนานไม่ได้ แต่เสียงจำนวนมาก เห็นว่าควรงดออกเสียง”

นายเดชอิศม์ กล่าวอีกว่า เมื่อมาถึงจุดนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคจึงตัดบทว่า เรื่องนี้ไม่อยากให้มีการโหวต การลงมติเป็นเอกสิทธิ์ของ สส. วันนั้นจึงไม่มีการโหวต จึงไม่รู้ว่ามติเป็นอย่างไร

“วันโหวตพวกเราส่วนใหญ่มานั่งคุยกันถึงคุณสมบัติของนายเศรษฐา พร้อม ๆ กับนั่งดูการโหวตไปด้วย นายจุรินทร์โหวตงดออกเสียง นายชวน นายบัญญัติ โหวตไม่เห็นชอบ ซึ่งจะเห็นได้ว่า การโหวตไปคนละทิศคนละทางกัน”

นายเดชอิศม์ กล่าวอีกว่า พวกเรามานั่งพูดคุยกัน ก็เห็นตรงกันว่า การจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลสมานฉันท์ จะทำให้ชาติเดินหน้าไปได้ จึงควรสนับสนุนนายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี

“วันนี้เราเป็นฝ่ายค้านเต็มตัว เราไม่กระเหี้ยนกระหือรือเป็นรัฐบาล การร่วมรัฐบาลต้องเป็นไปตามระเบียบพรรค มติเป็นอย่างไรทุกคนต้องปฏิบัติตามนั้น หลักของเรายังเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง”

เมื่อถูกถามว่า เมื่อการโหวตเป็นการโหวตสวนมติพรรค ไม่กลัวจะถูกขับออกจากพรรคหรือ นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ตามระเบียบพรรค การขับสมาชิกพรรคต้องใช้เสียง สส. 3 ใน 4

“ตอนนี้เสียงส่วนใหญ่อยู่ฝั่งนี้หมดแล้ว แล้วใครจะขับใครเราไม่อยากให้เอาความแค้นในอดีตมาส่งมอบให้กับพวกเราคนรุ่นใหม่ แต่ถ้าเป็นนโยบายดี ๆ เรายินดีรับต่อ” นายเดชอิศม์ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top