Tuesday, 22 April 2025
ฮาวาย

‘ฮาวาย’ เผชิญภัย ‘ไฟป่า’ สังเวย 80 ศพ-สูญหายหลายร้อยราย ครึ่งเมืองเหลือแต่เถ้าถ่าน จี้สอบทางการ ปมแผนรับมือหละหลวม

(12 ส.ค. 66) สำนักข่าวบีบีซี รายงานถึงความคืบหน้าสถานการณ์ ‘ไฟป่า’ ใน รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา หลังปะทุลุกลามเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา และไม่กี่วันไฟก็โหมลุกไหม้เผาวอดพื้นที่กว่าร้อยละ 80 ของเมืองลาไฮนา บนเกาะเมาวี ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นอย่างน้อย 80 ราย อีกหลายร้อยคนยังคงสูญหาย ท่ามกลางความหวาดวิตก ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ทางการท้องถิ่นเมืองลาไฮนา อนุญาตให้ชาวเมืองที่มีเอกสารยืนยันที่อยู่อาศัยสามารถกลับเข้ามาในเมือง เมื่อวันศุกร์ที่ 1 ส.ค.ตามเวลาท้องถิ่น

เกือบทั้งเมืองเหลือเพียงเศษซากกองเถ้าที่ถูกไฟเผาวอด และซากรถยนต์ที่โดนเพลิงเผาทำลายกลายเป็นเศษเหล็กจอดเรียงรายตามถนนหนทาง นอกจากนี้ยังประกาศมาตรการเคอร์ฟิวระหว่างเวลา 22.00-06.00 น. ในบางพื้นที่ซึ่งเสี่ยงภัยจากไฟป่าที่ยังเผาไหม้

ขณะเดียวกันสำนักงานอัยการสูงสุดรัฐฮาวายจะเปิดการสอบสวนการตอบสนองของทางการต่อเหตุไฟป่ารุนแรงในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ของรัฐฮาวาย และเลวร้ายที่สุดในรอบ 63 ปีนับตั้งแต่เหตุคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มฮาวายจนมีผู้เสียชีวิต 61 ราย เมื่อปี 2503

น.ส.แอนน์ โลเปซ จากสำนักงานอัยการสูงสุดระบุจากแถลงการณ์ว่า “สำนักงานอัยการสูงสุดจะดำเนินการทบทวนอย่างครอบคลุม เกี่ยวกับการตัดสินใจที่สำคัญและนโยบายทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดไฟป่าบนเกาะเมาวีและเกาะฮาวายในสัปดาห์นี้”

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการรับมือของทางการ โดยชาวเมืองตำหนิว่าไม่มีคำเตือนเกี่ยวกับไฟป่าที่ลุกลามตีวงล้อม และส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากติดอยู่ในเมือง

น.ส.โลเปซยังระบุอีกว่า “สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเศร้าใจเช่นเดียวกับที่ทุกคนในฮาวายรู้สึก และขอส่งกำลังใจให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ สำนักงานมุ่งมั่นที่จะทำความเข้าใจกับการตัดสินใจที่เกิดขึ้นก่อน รวมถึงระหว่างไฟป่า และจะแบ่งปันผลการตรวจสอบนี้ต่อสาธารณชน”

‘ไบเดน’ ลงพื้นที่ ‘ฮาวาย’ ติดตามความเสียหายจากไฟป่า พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัย หลังถูกวิจารณ์รับมือล่าช้า

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 66 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ ของสหรัฐฯ เดินทางเยือนฮาวาย เพื่อตรวจตราความเสียหายจากภัยพิบัติไฟป่าเมื่อไม่นานมานี้ ที่เผาวอดเมืองทั้งเมือง และพบปะบรรดาผู้ประสบเหตุที่รอดชีวิต

ไบเดนและภริยา พร้อม ‘จอช กรีน’ ผู้ว่าการรัฐฮาวาย เดินสำรวจความเสียหายของเมือง หลังผ่านไปเกือบสองสัปดาห์ที่ไฟป่าได้เผาทำลายเมืองประวัติศาสตร์ลาไฮนา และคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 114 ราย

เปลวไฟลุกลามอย่างรวดเร็วจนชาวบ้านไม่ทันระวังตัว และต้องกระโดดลงทะเล เพื่อหลบหนีภัยพิบัติไฟป่าที่เลวร้ายที่สุดของสหรัฐอเมริกา ในรอบกว่า 100 ปี

หลังการสำรวจความเสียหายโดยรวม ไบเดนมีกำหนดจะประกาศมอบเงินทุนบรรเทาทุกข์เพิ่มเติม และแต่งตั้งผู้ประสานงานจากรัฐบาลกลางเพื่อประจำการช่วยเหลือในพื้นที่

บรรดานักวิจารณ์ รวมถึงผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติดังกล่าวในฮาวาย และฝั่งตรงข้ามอย่างพรรครีพับลิกัน ต่างระบุว่า ความช่วยเหลือในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ และยังไม่มีการกำหนดมาตรการและวิธีการช่วยเหลือฟื้นฟูที่ดีพอ

แม้กระทั่งอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังกล่าวโจมตีว่า เป็นเรื่องน่าอับอายที่ประธานาธิบดีเพิ่งปรากฏตัวในพื้นที่ ทั้งๆ ที่เหตุจบไปแล้วเป็นสัปดาห์ ขณะที่ทำเนียบขาวชี้แจงว่า ไบเดนชะลอการเดินทางของเขา เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่และหน่วยกู้ภัยที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ต้องเสียสมาธิ

การเดินทางไปฮาวายครั้งนี้ ไบเดนกล่าวว่า “ผมรู้ว่าไม่มีอะไรสามารถทดแทนการสูญเสียชีวิตได้ ผมจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อช่วยให้เมาวีฟื้นตัว และถูกสร้างขึ้นใหม่จากโศกนาฏกรรมครั้งนี้” พร้อมหวังว่าการเยือนของเขาจะสร้างความมั่นใจในการฟื้นตัวให้กับฮาวาย

ชาวเมืองเมาวีกล่าวว่า กระบวนการตามหาผู้ที่ยังสูญหาย รวมทั้งการระบุตัวตนผู้เสียชีวิตนั้นดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เพราะรัฐบาลตอบสนองช้า

“แม้ว่าการค้นหาผู้สูญหายจะดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ไปกว่า 85%แล้ว แต่อีก 15% ที่เหลืออาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ เพราะความร้อนจัดของไฟที่เผาไหม้ อาจทำให้ซากใดๆ สูญสลายไปเกินกว่าจะค้นเจอได้” จอช กรีน ผู้ว่าการรัฐฮาวาย ชี้แจงประเด็นดังกล่าว พร้อมเสริมว่ารัฐบาลกลางได้ส่งผู้เชี่ยวชาญจากเอฟบีไอ, กระทรวงกลาโหม และกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ มาเพื่อช่วยในกระบวนการระบุตัวตนที่ต้องใช้ความละเอียดอดทนสูง

ย้อนประวัติศาสตร์การล่มสลายของ ‘ราชอาณาจักรฮาวาย’ ถูกโค่นโดยนายทุน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของ ‘สหรัฐอเมริกา’


มลรัฐฮาวาย (Hawaii) เป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ที่หมู่เกาะฮาวายในมหาสมุทรแปซิฟิก ฮาวายได้รวมเข้ากับสหรัฐอเมริกาเป็นมลรัฐลำดับสุดท้ายคือลำดับที่ 50 ในวันที่ 21 สิงหาคม 1953 โดยฮาวายอยู่ห่างจากชายฝั่งแผ่นดินใหญ่สหรัฐอเมริกาประมาณ 3,700 กม. (2,300 ไมล์) แต่เดิมฮาวายถูกเรียกว่า ‘หมู่เกาะแซนด์วิช’ (Sandwich Islands) ชื่อนี้ถูกตั้งโดย ‘เจมส์ คุก’ เมื่อเขาแล่นเรือมาพบเกาะในปี 1778) มีจำนวนประชากรราว 1,455,271 คน (ข้อมูลปี 2015) โดยมีนครโฮโนลูลูเป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐ ภาษาทางการของรัฐคือ ภาษาอังกฤษ และ ภาษาฮาวาย ฮาวายได้มีชื่อเล่นของรัฐว่า ‘รัฐอโลฮา’ (Aloha State) ซึ่งคำว่า ‘อโลฮา’ เป็นคำทักทายในภาษาฮาวาย มีความหมายถึง ‘สวัสดี’ หรือ ‘ลาก่อน’ (ใช้ตามแต่โอกาส)


อย่างไรก็ตาม มลรัฐฮาวายประกอบไปด้วยเกาะสำคัญๆ 8 เกาะ ซึ่งก็คือ (1) Ni’ihau, (2) Kauai, (3) Oahu เป็นที่ตั้งเมืองหลวงคือ นครฮอนโนลูลู เป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของสหรัฐฯ, (4) Maui, (5) Molokai เนื้อที่ 260 ตารางไมล์ ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองฮาวาย, (6) Lanai, (7) Kaho’olawe และ (8) Hawaii หรือ Big Island เป็นเกาะที่มีเนื้อที่มากที่สุดคือ 4,000 ตารางไมล์


(ธงชาติของราชอาณาจักรฮาวาย)

โดย มลรัฐฮาวาย แต่เดิมคือราชอาณาจักรฮาวาย (Kingdom of Hawaii) เป็นราชอาณาจักรที่ตั้งอยู่บนหมู่เกาะฮาวาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี 1795 และล่มสลายไปประมาณปี 1893 - 1894 ราชอาณาจักรฮาวายก่อตั้งขึ้นโดย พระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราช หลังจากที่พระองค์ทรงชนะสงครามที่ยาวนานถึง 15 ปี พระองค์ได้ปราบดาภิเษกตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรก ราชอาณาจักรฮาวายมีระบอบการปกครองแบบมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตั้งแต่ปี 1795 จนกระทั่งปี 1840 และ ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี 1840 จนกระทั่งปี 1893 ราชวงศ์คาเมฮาเมฮาปกครองฮาวายในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1810 ถึงปี 1893 ราชอาณาจักรฮาวายปกครองโดยอีกสองราชวงศ์คือ ราชวงศ์คาเมฮาเมฮา และ ราชวงศ์คาลาคาอัว หลังจากพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 1 สวรรคต พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 2 พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 ซึ่งเป็นพระราชโอรสก็ทรงปกครองฮาวายต่อมาตามลำดับ ช่วงเวลานี้สมเด็จพระราชินีลิโฮลิโฮ พระอัครมเหสีในพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 1 ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการ และมีคูฮินา นูอิทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล (คล้ายกับนายกรัฐมนตรี)


(พระเจ้าคาลาคาอัวที่ 1 แห่งราชอาณาจักรฮาวาย)

ทั้งนี้ พระเจ้าลูนาลิโลแห่งฮาวาย (ราชวงศ์คาลาคาอัว) ทรงไม่มีรัชทายาท รัฐสภาแห่งราชอาณาจักรฮาวายจึงต้องเลือกระหว่างสมเด็จพระราชินีเอ็มมา นาเอ รูก พระราชินีในพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 4 กับเดวิด คาลาคาอัว ในระหว่างการตัดสินนั้นเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นมากมาย จนในที่สุด ‘เดวิด คาลาคาอัว’ ก็ได้ครองราชย์บัลลังก์ฮาวาย ทรงพระนามว่า ‘พระเจ้าคาลาคาอัวที่ 1 แห่งฮาวายง เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคง พระองค์จึงต้องประกาศแต่งตั้งรัชทายาท พระองค์จึงทรงแต่งตั้งให้เจ้าหญิงลีลีโอกาลานี พระขนิษฐาของพระองค์ให้เป็นรัชทายาทสืบบัลลังก์


(สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งราชอาณาจักรฮาวาย)

การล่มสลายของราชอาณาจักรฮาวาย เกิดขึ้นภายหลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งราชอาณาจักรฮาวายครองราชย์ ด้วยเพราะ นักธุรกิจชาวยุโรปและชาวอเมริกันส่วนใหญ่ต่างไม่พอใจการปกครองของพระองค์ เนื่องจากพวกเขาต้องการผนวกฮาวายให้เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาเพื่อที่จะสามารถกอบโกยผลประโยชน์จากการค้าน้ำตาลในฮาวายให้ได้มาก ๆ  (สหรัฐฯ นำเข้าน้ำตาลจากฮาวายมากที่สุด โดยนายทุนใหญ่ ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นชาวอเมริกัน) จึงเริ่มกระบวนการการผนวกฮาวาย โดยเริ่มจากการจัดตั้ง ‘คณะกรรมาธิการความปลอดภัย’ ขึ้นเพื่อต่อต้านและต่อสู้กับสมเด็จพระราชินีฯ จนในที่สุดรัฐบาลสหรัฐได้ส่งเรือรบพร้อมนาวิกโยธินเข้ามายึดฮาวาย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเรือปืนหรือ Gunboat policy* ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีและพระราชวงศ์ฮาวายไม่อาจต้านทานได้ การปฏิวัติฮาวาย เกิดขึ้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 1893 โดย ‘แซนฟอร์ด บี ดอล’ และพรรคพวกได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลฮาวายขึ้น เพื่อปกครองฮาวายจนกว่าจะถูกผนวกเข้ากับสหรัฐอเมริกา พวกเขาจับกุมพระราชินีและพระราชวงศ์และสั่งจำคุก จากนั้นก็ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐฮาวาย ราชอาณาจักรฮาวายถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 7 กรกฎาคม 1898 โดยฮาวายได้รับการอนุมัติให้เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในสมัยประธานาธิบดีวิลเลียม แมกคินลีย์ จึงถือเป็นการสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการของราชอาณาจักรฮาวาย
*อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘นโยบายเรือปืนหรือ Gunboat policy’ https://thestatestimes.com/post/2024042211


(พิธีเชิญธงชาติสหรัฐฯ ขึ้นสู่ยอดเสาหน้าพระราชวังโอลานิ หลังจากสหรัฐฯ ยึดครองฮาวายได้สำเร็จ)

สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานี ทรงถูกจับกุมเมื่อ 16 มกราคม 1895 พระองค์ถูกตัดสินให้จำคุก 5 ปี ทำงานหนัก และปรับ 5,000 ดอลลาร์ โดยพระองค์ถูกขังในพระราชวังโอลานิ ผู้สนับสนุนพระองค์ถูกตัดสินจำคุกทั้งหมด รวมทั้งรัฐมนตรีโจเซฟ นาวาฮี เจ้าชายคาวานานาโคอา โรเบิร์ต วิลค็อก และเจ้าชายโจนาห์ คูฮิโอ พระองค์ทรงถูกกักบริเวณในที่พักเป็นเวลาหนึ่งปี และในปี 1896 สาธารณรัฐฮาวายก็คืนสิทธิการเป็นพลเมืองแก่พระองค์ หลังจากพ้นโทษ พระองค์ก็ทรงอาศัยอยู่ที่พระราชวังวอชิงตันจนกระทั่งเสด็จสวรรคตในเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 1917 เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดสมอง พระบรมศพของพระองค์ได้รับการจัดพิธีฝังอย่างสมพระเกียรติในฐานะอดีตประมุขแห่งรัฐ โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ถูกบริจาคให้ "กองทุนสมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีเพื่อเด็กกำพร้าและยากจน" ซึ่งกองทุนสมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานียังคงมีอยู่ในปัจจุบัน สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งราชอาณาจักรฮาวายจึงเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายที่ปกครองราชอาณาจักรฮาวาย โดยครองราชย์เพียง 2 ปี


(Owana Kaʻōhelelani Mahealani-Rose Salazar หนึ่งในสองของผู้อ้างสิทธิสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮาวายในปัจจุบัน)


(Dennis ‘Bumpy’ Pu'uhonua Kanahele หนึ่งในสองของผู้อ้างสิทธิสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮาวายในปัจจุบัน)

อย่างไรก็ตาม ต่อมา (1) Owana Kaʻōhelelani Mahealani-Rose Salazar บุตรีของเจ้าหญิง Helena Kalokuokamaile Wilcox แห่งราชวงศ์ Kalokuokamaile และ (2) Dennis ‘Bumpy’ Pu'uhonua Kanahele ผู้นำชาตินิยมฮาวาย และมีตำแหน่งเป็นประมุขแห่งรัฐของกลุ่ม Nation of Hawai'i เป็นหัวหอกในการก่อตั้ง Pu'uhonua o Waimānalo หมู่บ้านวัฒนธรรมฮาวาย และโครงการฟื้นฟูการเกษตรแบบดั้งเดิมของ Lo'i kalo (taro paddy) ใน Waimānalo, Hawai'i Pu'uhonua ซึ่งภาษาฮาวายมีความหมายว่า ‘สถานที่ศักดิ์สิทธิ์’ หรือ ‘สถานที่หลบภัย’ โดยกลุ่ม Nation of Hawai'i ซึ่งทำหน้าที่บริหารหมู่บ้านถือว่าตัวเองเป็นรัฐบาลที่มีอธิปไตยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศโดยทำหน้าที่เป็นรัฐสืบต่อจากราชอาณาจักรฮาวายที่เป็นเอกราช ดังนั้นจึงไม่อยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา โดย Kanahele ได้อ้างตัวเป็นผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราช ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 และต้นทศวรรษที่ 1990 Kanahele กลายเป็นที่รู้จักกันในเรื่องของการเคลื่อนไหวเพื่ออำนาจอธิปไตยของฮาวาย ซึ่งต่อต้านกฎหมายของรัฐบาลกลางและความเป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกาอย่างเปิดเผย ทั้งสองต่างก็เป็นผู้อ้างสิทธิในการสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮาวายจนปัจจุบัน 

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล 
 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top