Tuesday, 22 April 2025
อวกาศ

เสินโจว-18 เสร็จสิ้นภารกิจ 6 เดือน 3 นักบินอวกาศจีนกลับถึงโลก

หนังสือพิมพ์ไซแอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี เดลี (Science and Technology Daily) รายงานวันนี้ (4 พ.ย.) ว่ายานอวกาศเสินโจว-18 (Shenzhou-18) ได้เดินทางกลับถึงโลกโดยสวัสดิภาพ พร้อมด้วยตัวอย่างทดลองจากสถานีอวกาศซึ่งมีน้ำหนักรวม 34.6 กิโลกรัม ประกอบด้วยจุลินทรีย์ วัสดุโลหะผสม และวัสดุนาโน ซึ่งเป็นวัสดุที่ยากต่อการจัดเตรียมบนโลก

แคปซูลเสินโจว-18 ได้พานักบินอวกาศ 3 คนเดินทางกลับถึงโลกในช่วงเช้าวันนี้ หลังเสร็จสิ้นภารกิจที่ยาวนานถึง 6 เดือนบนสถานีอวกาศ

ตัวอย่างทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ยานอวกาศนำกลับมามีทั้งหมด 55 ชนิด ครอบคลุมถึง 28 โครงการวิทยาศาสตร์ในหลายสาขา เช่น ชีววิทยาศาสตร์ในอวกาศ วิทยาศาสตร์วัสดุในอวกาศ และวิทยาศาสตร์การเผาไหม้ภายใต้แรงโน้มถ่วงต่ำ

ตัวอย่างทางชีววิทยาศาสตร์ประกอบด้วย อาร์เคีย (Archaea) ที่สามารถสร้างก๊าซมีเทน จุลินทรีย์ที่ต้านทานรังสีได้ และจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในหิน ซึ่งคาดว่าจะเป็นรากฐานทางวิทยาศาสตร์สำหรับการศึกษาความเป็นไปได้ในการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมนอกโลก และการประเมินความสามารถในการปรับตัวของจุลินทรีย์กับความท้าทายในอวกาศ

ด้านสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นอกจากนี้ ตัวอย่างบางส่วนที่นำกลับมายังรวมถึงโลหะผสมที่ทนทานต่ออุณหภูมิสูง ไฟเบอร์ออปติก และสารเคลือบออปติก วัสดุใหม่เหล่านี้มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงการผลิตใบพัดกังหันในอนาคตสำหรับการบินและอวกาศ เลเซอร์ไฟเบอร์ที่ปรับให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมในอวกาศ และการรักษาทางการแพทย์ที่แม่นยำ

นอกจากนี้ ยานอวกาศยังได้นำอนุภาคนาโนจากการเผาไหม้มีเทนกลับมาด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการสังเคราะห์วัสดุระดับอนุภาคสำหรับสภาพแวดล้อมนอกโลกในอนาคต

รัสเซียเสนอสร้างฐานปล่อยจรวดให้พันธมิตรใกล้ชิด ชาติแถบเส้นศูนย์สูตร 'อินโดนีเซีย-มาเลเซีย' รับอานิสงส์

(25 พ.ย.67) ยูริ บอริซอฟ หัวหน้าองค์การอวกาศรัสเซีย (Roscosmos) เปิดเผยต่อสำนักข่าวสปุตนิกว่า รัสเซียมีแผนเสนอที่จะสร้างฐานปล่อยจรวดสู่อวกาศให้กับมิตรประเทศพันธมิตรใกล้ชิด โดยเฉพาะประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตรซึ่งถือเป็นทำเลที่ได้เปรียบในการปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศ

บอริซอฟ กล่าวว่า ในตอนนี้รัสเซียและชาติพันธมิตรอย่าง อินเดีย จีน และอิหร่านมีโครงการด้านอวกาศอยู่แล้ว แต่เราก็มีแผนที่จะร่วมมือกับแอฟริกาใต้ รวมถึงประเทศที่อยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตรอย่าง อัลจีเรีย ซิมบับเว อินโดนีเซีย และมาเลเซียด้วย

ตามแผนความร่วมมือของ Roscosmos กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างองค์การอวกาศรัสเซียกับชาติพันธมิตร นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และอวกาศแล้ว ยังรวมถึงแผนการที่รัสเซียจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาคพื้นดินสำหรับการยิงจรวดขนส่งสู่อวกาศจากดินแดนของตนด้วย "ข้อเสนอเหล่านี้เราพิจารณาเป็นพิเศษสำหรับมิตรประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งเป็นทำเลเหมาะสมต่อการปล่อยจรวดสู่อวกาศ" 

บอริซอฟ ยอมรับว่า นับตั้งแต่ความขัดแย้งในยูเครนปะทุขึ้น Roscosmos เป็นหนึ่งในองค์ที่ถูกนานาชาติคว่ำบาตร ได้ส่งผลให้องค์การอวกาศรัสเซียหันไปแสวงหาความร่วมมือกับชาติพันธมิตรอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกา

เปิดภาพกระจุกดาวต้นคริสต์มาส เนบิวลาเรืองแสงจากกลุ่มดาวยูนิคอร์น

(25 ธ.ค. 67) เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยภาพกระจุกดาวต้นคริสต์มาส (Christmas Tree Cluster) หรือ NGC 2264 ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,500 ปีแสงในกลุ่มดาวยูนิคอร์น (Monoceros) ภาพนี้แสดงให้เห็นเนบิวลาที่เรืองแสง (Emission Nebula) ขนาดใหญ่และกระจุกดาวเปิด (Open Cluster) ที่ประกอบด้วยดาวฤกษ์อายุน้อยหลากหลายมวล ตั้งแต่ดาวมวลน้อยไปจนถึงดาวที่มีมวลมากกว่า 7 เท่าของดวงอาทิตย์

ลักษณะการเรียงตัวของกระจุกดาวในภาพดูคล้ายกับ "ต้นคริสต์มาส" จึงเป็นที่มาของชื่อ โดยมีดาวแปรแสง S Monocerotis (15 Monocerotis) อยู่บริเวณลำต้นของต้นคริสต์มาส และอีกดวงคือ V429 Monocerotis ที่อยู่บริเวณยอดต้นไม้เหนือขึ้นไปจะเห็นเนบิวลามืดสีคล้ำรูปแท่งกรวยที่เรียกว่า เนบิวลารูปโคน (Cone Nebula)

ภาพกระจุกดาวต้นคริสต์มาสสีเขียวนี้ถูกประกอบและตกแต่งขึ้นใหม่จากข้อมูลหลายแหล่ง โดยข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ WIYN ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.9 เมตร ณ หอสังเกตการณ์แห่งชาติคิตต์พีค ประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นรูปทรงของต้นคริสต์มาสที่มาจากแก๊สในเนบิวลา ข้อมูลอินฟราเรดจากโครงการ Two Micron All Sky Survey (2MASS) เผยให้เห็นดาวสีขาวทั้งที่อยู่ในฉากหน้าและฉากหลัง ขณะที่ข้อมูลรังสีเอกซ์จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราของ NASA ทำให้เห็นไฟประดับสีขาวฟ้าจากดาวฤกษ์อายุน้อย

Merry Christmas 2024!

ยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ระยะห่างเพียง 6.1 ล้านกิโลเมตร

(26 ธ.ค. 67) ยานอวกาศปาร์คเกอร์ โซลาร์ โพรบ (Parker Solar Probe) ของนาซา (NASA) ได้สร้างสถิติใหม่ในการเคลื่อนตัวเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะประชิดมากที่สุดเมื่อวันอังคาร (24 ธ.ค.) ที่ผ่านมา

นาซาระบุว่าปาร์คเกอร์ โซลาร์ โพรบ เคลื่อนตัวผ่านพื้นผิวดวงอาทิตย์ด้วยระยะห่าง 3.8 ล้านไมล์ (ราว 6.1 ล้านกิโลเมตร) เมื่อวันอังคาร (24 ธ.ค.) ซึ่งเป็นระยะใกล้กว่าทุกภารกิจก่อนหน้าที่เคยทำมาถึง 7 เท่า

อนึ่ง ปาร์คเกอร์ โซลาร์ โพรบ ที่ส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศตั้งแต่ปี 2018 ได้เคลื่อนตัวเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างภารกิจบินผ่านดวงอาทิตย์ 21 ครั้ง ซึ่งกำกับดูแลร่วมกันโดยนาซากับห้องปฏิบัติการฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยจอหน์ส ฮอปกินส์

ภารกิจบินเข้าใกล้ดวงอาทิตย์นี้มุ่งเก็บภาพและข้อมูลชี้วัด เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ของมนุษย์เกี่ยวกับต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของลมสุริยะ รวมถึงการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในอวกาศที่ส่งผลต่อชีวิตและเทคโนโลยีบนโลก

นักวิทย์จีนพัฒนาธงชาติ โบกสะบัดได้ใน 'อวกาศ' ผืนแรกบนดวงจันทร์

(10 ม.ค.68) ทีมนักวิจัยของจีนจากกรุงปักกิ่งและมณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีนกำลังร่วมกันสำรวจความเป็นไปได้ของแนวคิดในการประดิษฐ์ธงชาติที่สามารถโบกสะบัดในสภาพแวดล้อมไร้อากาศบนดวงจันทร์ และพัฒนาอุปกรณ์บรรทุก (payload) สำหรับภารกิจฉางเอ๋อ-7 (Chang’e-7) ณ ห้องปฏิบัติการสำรวจห้วงอวกาศลึก ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนระดับชั้นประถมในนครฉางซา มณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน

จางเทียนจู้ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคตของห้องปฏิบัติการฯ เผยว่าอุปกรณ์บรรทุกนี้ ซึ่งเป็นโครงการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ จะถูกส่งไปพร้อมกับยานสำรวจฉางเอ๋อ-7 สู่ซีกใต้ของดวงจันทร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ปฏิกิริยาของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในการทำให้ธงสามารถโบกสะบัดบนดวงจันทร์ได้

จางอธิบายว่าสภาพแวดล้อมที่ไร้ชั้นบรรยากาศบนดวงจันทร์เป็นตัวทำให้เกิดภาวะสุญญากาศ ซึ่งทำให้ธงสะบัดได้ยากไม่เหมือนบนพื้นโลก ทว่าเหล่านักเรียนเสนอให้เราออกแบบสายควบคุมระบบปิดบนผืนธง ซึ่งจะทำให้กระแสไฟฟ้าสามารถไหลผ่านได้สองทาง และปฏิกิริยาระหว่างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจะทำให้ธงสะบัดได้

มีการคาดการณ์ว่าโครงการนี้จะเสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจางระบุว่าหากทำสำเร็จ ธงนี้จะเป็นธงผืนแรกที่ได้ไปโบกสะบัดอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ และแผนริเริ่มดังกล่าวจะช่วยให้คนรุ่นใหม่เข้าใจความพยายามด้านอวกาศของจีนมากขึ้น พร้อมจุดประกายความสนใจและความกระตือรือร้นสำหรับอาชีพในภาคการบินและอวกาศในอนาคต

อนึ่ง ภารกิจฉางเอ๋อ-6 (Chang’e-6) ของจีนได้นำตัวอย่างจากด้านไกลของดวงจันทร์กลับมาเป็นครั้งแรกสำเร็จลุล่วงในปี 2024

สำหรับปี 2025 การพัฒนาภารกิจต่อไปอย่างฉางเอ๋อ-7 และฉางเอ๋อ-8 (Chang’e-8) ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน ระยะที่ 4 กำลังคืบหน้าไปอย่างต่อเนื่อง โดยภารกิจฉางเอ๋อ-7 มีกำหนดการปล่อยสู่ห้วงอวกาศในราวปี 2026 เพื่อค้นหาหลักฐานน้ำหรือน้ำแข็งบริเวณซีกใต้ของดวงจันทร์

นอกจากนั้น ทีมนักวิจัยกำลังพัฒนากระบวนการตรวจสอบสำหรับภารกิจฉางเอ๋อ-8 และโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ โดยมีกำหนดการปล่อยยานฉางเอ๋อ-8 ในราวปี 2028 เพื่อดำเนินการทดลองโดยใช้ทรัพยากรบนดวงจันทร์

จางกล่าวอีกว่าภายในปี 2035 คาดว่าภารกิจฉางเอ๋อ-7 และฉางเอ๋อ-8 จะประกอบด้วยแบบจำลองพื้นฐานของโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำหรับวิศวกร ห้องปฏิบัติการสำหรับนักวิทยาศาสตร์ ตลอดจนแหล่งบ่มเพาะผู้มีความสามารถด้านห้วงอวกาศลึกในระดับนานาชาติ

28 มกราคม 2529 รำลึก โศกนาฏกรรม 'ยานชาเลนเจอร์' ระเบิดกลางฟ้า นักบินอวกาศ 7 ชีวิตสูญเสีย

วันนี้เมื่อ 39 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์ที่ช็อคโลก เมื่อกระสวยอวกาศ ‘ชาเลนเจอร์’ เกิดระเบิดขึ้นบนท้องฟ้า หลังจากถูกปล่อยขึ้นไปเพียงไม่กี่นาที

ย้อนไปถึงที่มาของ ‘ยานชาเลนเจอร์’ เป็นกระสวยอวกาศขององค์การนาซ่าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการสำรวจอวกาศ ก่อนเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ ยานชาเลนเจอร์เคยบินไปในอวกาศมาแล้ว 9 ครั้ง แต่ในการบินครั้งที่ 10 หลังจากถูกปล่อยออกไป ท่ามกลางผู้ชมหลายล้านคนที่ติดตามชมผ่านหน้าจอโทรทัศน์ เพียง 73 วินาทีเท่านั้น ยานก็เกิดระเบิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด

อุบัติเหตุในครั้งนั้นทำให้มีนักบินอวกาศเสียชีวิต 7 คน หนึ่งในนั้นคือ คริสตินา แมคคอลิฟ อดีตครูประถมที่มีความฝันอยากเป็นนักบินอวกาศ แม้เธอจะได้มาเป็นนักบินอวกาศในที่สุด แต่เธอก็ต้องเสียชีวิตอย่างกะทันหันในเหตุการณ์นี้

การสอบสวนภายหลังพบว่า สาเหตุของอุบัติเหตุเกิดจากชิ้นยางวงแหวนที่ใช้ปิดกั้นแก๊สระหว่างรอยต่อในจรวดไม่สามารถยืดหยุ่นได้ดี เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็น ทำให้เกิดการรั่วไหลของแก๊สที่ไปกระทบกับถังเชื้อเพลิงระหว่างจรวดขับดัน ซึ่งส่งผลให้เกิดการระเบิดฉีกตัวยานและจรวดออกเป็นชิ้นๆ

โศกนาฏกรรมยานชาเลนเจอร์ถือเป็นอุบัติเหตุที่ร้ายแรงที่สุดในโครงการขนส่งอวกาศของสหรัฐฯ และส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องหยุดโครงการขนส่งอวกาศไปนานเกือบ 3 ปี แม้เวลาจะผ่านไปแล้วกว่า 35 ปี แต่ความสูญเสียในครั้งนั้นยังคงฝังอยู่ในความทรงจำของผู้คนเสมอมา

จีนเปิดเผยข้อมูลสำคัญจากยาน ‘ฉางเอ๋อ-6’ ด้านไกลของดวงจันทร์น้ำน้อยกว่าฝั่งใกล้ บ่งชี้ถึงความแห้งแล้ง

(10 เม.ย. 68) การค้นพบล่าสุดจากตัวอย่างหินดวงจันทร์ที่ยานสำรวจฉางเอ๋อ-6 (Chang'e-6) ของจีนนำกลับมายังโลก เผยให้เห็นว่าชั้นแมนเทิลหรือชั้นเนื้อดาวของดวงจันทร์ในบริเวณด้านไกล มีน้ำน้อยกว่าเมื่อเทียบกับด้านใกล้ ซึ่งบ่งชี้ว่าซีกด้านไกลของดวงจันทร์ที่มักหันออกจากโลกนั้นมีแนวโน้มแห้งแล้งกว่ามาก

การศึกษานี้เผยแพร่ในวารสาร เนเจอร์ (Nature) เมื่อวันที่ 9 เมษายน พบว่าตัวอย่างจากชั้นหินในบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์มีน้ำเพียง 2 ไมโครกรัมต่อกรัม ซึ่งต่ำที่สุดเท่าที่เคยบันทึกได้ ขณะที่ตัวอย่างจากด้านใกล้พบว่ามีปริมาณน้ำสูงถึง 200 ไมโครกรัมต่อกรัม

หูเซิน ศาสตราจารย์จากสถาบันธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ กล่าวว่าความเข้มข้นของน้ำในตัวอย่างล่าสุดนี้อยู่ที่ 1-1.5 ส่วนต่อล้านส่วน ซึ่งแม้แต่ทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดบนโลกยังมีน้ำอยู่ถึง 2,000 ส่วนต่อล้านส่วน

โดยในส่วนของการศึกษานี้ ยานฉางเอ๋อ-6 ซึ่งถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 ได้ลงจอดที่แอ่งขั้วใต้-เอตเคนของดวงจันทร์ และนำตัวอย่างหินมาจากด้านไกลของดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยมีการศึกษามาก่อน

ผลการศึกษานี้มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการก่อตัวและวิวัฒนาการของดวงจันทร์ รวมถึงความแตกต่างของด้านใกล้และด้านไกลของดวงจันทร์ ซึ่งถูกพิจารณาว่ามีองค์ประกอบทางธรณีวิทยาและเคมีที่แตกต่างกันมาอย่างยาวนาน

แผนการสำรวจในอนาคตของจีน จีนได้ตั้งเป้าหมายสำคัญในการสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต ซึ่งรวมถึงการสร้างฐานถาวรบนดวงจันทร์และการส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ภายในปี 2030 โดยการศึกษาเหล่านี้ยังมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดวงจันทร์ในระยะยาว

ผลการศึกษานี้ไม่เพียงแค่ให้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการศึกษาดวงจันทร์ แต่ยังมีนัยสำคัญในการช่วยผลักดันภารกิจการสำรวจในอนาคต และการเตรียมความพร้อมสำหรับการสร้างฐานที่อยู่อาศัยมนุษย์บนดวงจันทร์ในระยะยาว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top