นักวิทย์จีนพัฒนาธงชาติ โบกสะบัดได้ใน 'อวกาศ' ผืนแรกบนดวงจันทร์
(10 ม.ค.68) ทีมนักวิจัยของจีนจากกรุงปักกิ่งและมณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีนกำลังร่วมกันสำรวจความเป็นไปได้ของแนวคิดในการประดิษฐ์ธงชาติที่สามารถโบกสะบัดในสภาพแวดล้อมไร้อากาศบนดวงจันทร์ และพัฒนาอุปกรณ์บรรทุก (payload) สำหรับภารกิจฉางเอ๋อ-7 (Chang’e-7) ณ ห้องปฏิบัติการสำรวจห้วงอวกาศลึก ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนระดับชั้นประถมในนครฉางซา มณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน
จางเทียนจู้ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคตของห้องปฏิบัติการฯ เผยว่าอุปกรณ์บรรทุกนี้ ซึ่งเป็นโครงการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ จะถูกส่งไปพร้อมกับยานสำรวจฉางเอ๋อ-7 สู่ซีกใต้ของดวงจันทร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ปฏิกิริยาของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในการทำให้ธงสามารถโบกสะบัดบนดวงจันทร์ได้
จางอธิบายว่าสภาพแวดล้อมที่ไร้ชั้นบรรยากาศบนดวงจันทร์เป็นตัวทำให้เกิดภาวะสุญญากาศ ซึ่งทำให้ธงสะบัดได้ยากไม่เหมือนบนพื้นโลก ทว่าเหล่านักเรียนเสนอให้เราออกแบบสายควบคุมระบบปิดบนผืนธง ซึ่งจะทำให้กระแสไฟฟ้าสามารถไหลผ่านได้สองทาง และปฏิกิริยาระหว่างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจะทำให้ธงสะบัดได้
มีการคาดการณ์ว่าโครงการนี้จะเสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจางระบุว่าหากทำสำเร็จ ธงนี้จะเป็นธงผืนแรกที่ได้ไปโบกสะบัดอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ และแผนริเริ่มดังกล่าวจะช่วยให้คนรุ่นใหม่เข้าใจความพยายามด้านอวกาศของจีนมากขึ้น พร้อมจุดประกายความสนใจและความกระตือรือร้นสำหรับอาชีพในภาคการบินและอวกาศในอนาคต
อนึ่ง ภารกิจฉางเอ๋อ-6 (Chang’e-6) ของจีนได้นำตัวอย่างจากด้านไกลของดวงจันทร์กลับมาเป็นครั้งแรกสำเร็จลุล่วงในปี 2024
สำหรับปี 2025 การพัฒนาภารกิจต่อไปอย่างฉางเอ๋อ-7 และฉางเอ๋อ-8 (Chang’e-8) ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน ระยะที่ 4 กำลังคืบหน้าไปอย่างต่อเนื่อง โดยภารกิจฉางเอ๋อ-7 มีกำหนดการปล่อยสู่ห้วงอวกาศในราวปี 2026 เพื่อค้นหาหลักฐานน้ำหรือน้ำแข็งบริเวณซีกใต้ของดวงจันทร์
นอกจากนั้น ทีมนักวิจัยกำลังพัฒนากระบวนการตรวจสอบสำหรับภารกิจฉางเอ๋อ-8 และโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ โดยมีกำหนดการปล่อยยานฉางเอ๋อ-8 ในราวปี 2028 เพื่อดำเนินการทดลองโดยใช้ทรัพยากรบนดวงจันทร์
จางกล่าวอีกว่าภายในปี 2035 คาดว่าภารกิจฉางเอ๋อ-7 และฉางเอ๋อ-8 จะประกอบด้วยแบบจำลองพื้นฐานของโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำหรับวิศวกร ห้องปฏิบัติการสำหรับนักวิทยาศาสตร์ ตลอดจนแหล่งบ่มเพาะผู้มีความสามารถด้านห้วงอวกาศลึกในระดับนานาชาติ