Monday, 21 April 2025
หุ้น

'กูรูหุ้น' แง้ม!! ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสแตะ 2,000 จุดใน 10 ปีข้างหน้า ชี้!! 'แร่หายาก' จุดแข็งไทยดึงดูดนักลงทุน โดยไม่ต้องพึ่งรัฐบาล

(1 ก.ค.67) Business Tomorrow สรุป 5 ประเด็นสำคัญเรื่องหุ้นไทยและจุดแข็งประเทศไทย จากคุณกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ Head of Research and Content สายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.พาย ดังนี้...

1. คุณกวีมองว่าปัจจุบันตลาดหุ้นไทยควรถึงจุดต่ำสุดได้แล้ว และมองภาพไปอนาคตว่าอย่างน้อยอีก 10 ปีข้างหน้า หากตลาดหุ้นเติบโตปีละ 5-6% บวกกับเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนอีก 2-3% ตลาดหุ้นไทยอาจไปถึง 2,000 จุด แต่หากเราคาดหวังไป 3,000 - 4,000 จุด ตอนนี้ยังมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย

2. คุณกวียังศรัทธาในหุ้นไทยและมองว่าประเทศไทยยังมีเสน่ห์ เพราะหากตอนนี้เราลองมองย้อนกลับมาดูตัวเราเอง (ประเทศไทย) จะพบว่าประเทศเรามีจุดภูมิศาสตร์ที่ดีหรืออยู่ท่ามกลางประเทศที่มีพัฒนาแล้วและมีการขยายของประชากรกว้างมากขึ้น อาทิ ฝั่งตะวันตกของไทยที่มีอินเดียและศรีลังกากำลังขยายตัวมีประชากร 2,000 ล้านคน ฝั่งข้างบนของเราก็เป็นพี่ใหญ่อย่างจีน 1,500 ล้านคน ฝั่งใต้ของเรารวมอินโดนีเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น ก็รวมเป็น 2,000 ล้านคน จะเห็นได้ว่าไทยอยู่ศูนย์กลางของประเทศที่มีประชากรราว 4-5 พันล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของโลก

3. แล้วประโยชน์ของไทยที่อยู่ท่ามกลางประเทศที่มีประชากรครึ่งค่อนโลกคืออะไร? คุณกวีกล่าวว่า ไทยจะเป็นศูนย์กลางทางการค้า ศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ ทุกประเทศจำเป็นต้องผ่านเรา อย่างน้อยที่สุดหากมีประเทศที่เกิดการค้ากัน เวลาจะส่งของยังต้องผ่านไทยของเรา หากเรามาดูแหล่งแร่ธาตุในโลก จริงอยู่ที่ว่าไทยไม่ได้มีจุดเด่นด้านแร่ธาตุ แต่ไทยถูกล้อมรอบไปด้วยแหล่งแร่หายากของโลก นี่คือข้อดีของประเทศไทย 

4. ซึ่งแร่ธาตุหายากอาทิ ลิเทียม โคบอลต์ ซิลิกอน โซเดียม ฯลฯ เหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ EV อุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีและเซมิคอนดัคเตอร์ ดังนั้นข้อดีหรือเรื่องแร่เหล่านี้ ทำให้คุณกวีมองว่า “ประเทศไทยได้ประโยชน์จากเรื่องเหล่านี้ โดยที่ไม่ต้องอาศัยรัฐบาล” คุณกวีจึงมองว่านี่แหละคือ 'Soft Power' ของประเทศไทย 

‘คุณทอม’ เผยชีวิต เพียงแค่ เดือนเดียว ‘ขาดทุนหุ้น 50 ล้าน’ รับ!! ‘ประมาท-ไว้ใจคนอื่น-มีอีโก้-ไม่รอบคอบ’ จนเกือบหมดตัว

เมื่อเร็วๆนี้ YouTube ช่อง ‘KoonTom คิดแบบคุณทอม’ ได้โพสต์คลิป ถึงบทเรียนในการใช้ชีวิต โดยมีใจความว่า ...

‘ลบ เจ๊งอย่างมหึมา แย่มาก’ นี่คือชีวิตของผม เมื่อเดือนที่แล้ว ผมมีชีวิตมา 58 ปีแล้ว ทำงานมา 40 กว่าปี ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง ก็ทำเงินได้หลายร้อยล้าน หลายพันล้าน ก็เจอพายุมาบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับหนักเหมือนเมื่อเดือนที่แล้ว

ก็เลยจะขอเล่าประสบการณ์ ‘การล้ม’ เพื่อหลายๆคนจะได้ไม่ประมาท

ผมเป็นคนที่ทำธุรกิจ จับแพะชนแกะ ผมลงเล่นในตลาดหุ้น แล้วผมก็ไม่ค่อยจะได้ดูแล ผมประมาท

บทเรียนแรกก็คือเราไม่ดูแลเงินเราด้วยความใกล้ชิด สุดท้ายแล้วเงินเรา ก็หายไปได้ในพริบตา เดือนที่แล้วเดือนเดียวผมขาดทุนหุ้นไป 50 ล้าน เงินที่มีเก็บเอาไว้เดือนเดียวเกือบหมด หุ้นที่ผมไปลงทุนมันโดนทุบทุกวัน ทำอะไรไม่ได้เลย แก้ไขไม่ทันกับการที่คิดว่าตัวผมเองแน่ คิดว่าตัวเองแก้ปัญหาได้ไม่ต้องห่วง ก็เป็นบทเรียนว่า ความประมาทเป็นสิ่งที่ทำร้ายเราได้รวดเร็วที่สุด

บทเรียนที่ 2 ก็คือความไว้วางใจ เราไว้วางใจคนอื่น เราไว้วางใจว่าคนอื่นเขาดีกับเรา สุดท้ายแล้วเขาก็เห็นแต่ประโยชน์ของเขา เขาเอาตัวรอดก่อน อย่าไปคิดว่าเวลาเราจะจมน้ำตายแล้วจะมีคนมาช่วย การวางใจการประมาทจะทำให้คุณเจ๊งได้

บทเรียนที่ 3 ก็คือ ผมไว้วางใจคนอื่น จนหุ้นตกแล้วผมถอนออกไม่ทัน

บทเรียนที่ 4 ที่ทำให้ผมเจ๊ง เมื่อเดือนที่แล้ว ก็คือความมั่นใจ อีโก้ของตัวเอง พี่คิดว่าตัวเองแน่ ไม่คิดให้รอบคอบ

ขอฝากไว้ให้ทุกคนคิด ‘อย่าโดนเหมือนที่ผมโดน’

หลังจากที่ผมเจ๊งผมก็โทษสิ่งแวดล้อมโทษรัฐบาลโทษนั่นโทษนี่ จนผมตัดสินใจว่าผมจะไปตีกอล์ฟคนเดียว เพื่อจะไปคุยกับตัวเอง นี่คือวิธีแก้ไขปัญหาของผมนั่นก็คือการไปคุยกับตัวเอง มานั่งคิดให้ดีว่าสิ่งที่เราเจ๊งนั้น เป็นเพราะคนอื่น จริงหรือไม่ สรุปแล้วสิ่งที่ผมเจ๊งมันเป็นเพราะตัวผมเอง มันเป็นเพราะการตัดสินใจของเรา

สุดท้ายแล้วผมก็รู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดมันเป็นเพราะตัวผมเอง ฉะนั้นมีเพียงคนเดียวที่จะช่วยผมแก้ปัญหานี้ได้นั่นก็คือตัวผมเอง

ผมขอฝากไว้ในการแก้ไขปัญหา ต้องไม่ให้ปัญหาของเราไปกระทบกับคนอื่น เราเป็นคนสร้างปัญหา ฉะนั้นเราไม่ควรจะนำปัญหาของเรา ไปทำให้คนอื่นเขาลำบาก

สุดท้ายแล้วผมก็ลุกขึ้นสู้ต่อ ไม่ได้สู้เพื่อชนะแต่ผมสู้ เพื่อสิ่งที่ผมรัก นั่นก็คือลูกและภรรยา เมื่อคุณมีปัญหาคุณเครียดคุณต้องหา เวลาที่คุณนิ่งจริงๆ คุณจะแก้ปัญหาได้คุณต้องเลิกโทษคนอื่น แล้วพยายามมองสิ่งที่บวก ในอดีตมีเงินแค่ 50,000 บาท เราก็สร้างมันมาได้จนมีบ้านหลังใหญ่ วันนี้เราก็จะต้องสร้างมันได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง

‘เมื่อครั้งหนึ่งทำได้ครั้งนี้ก็ต้องทำได้’

THE STATES TIMES ขอเป็นกำลังใจ ให้ทุกคนที่กำลังสู้ชีวิต

เหตุผลที่ 'ปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์' ขายหุ้น Apple ออกกว่าครึ่งหนึ่งของพอร์ต 'การเติบโตเริ่มจำกัด-ยอดขายในจีนตก-กระแสเงินสดไปจมอยู่กับ AI'

(9 ส.ค.67) สิทธิชัย ดวงรัตนฉายา นักกลยุทธ์อาวุโสตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทาง Live สด กับ Business Tomorrow เมื่อ 8 ส.ค. 2567 เวลา 20.00 น. โดยให้มุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และท่าทีของคุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ขายหุ้น Apple ครั้งใหญ่

ทำไมปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ถึงขายหุ้น Apple ออกกว่าครึ่งหนึ่งของพอร์ต? ปู่เห็นสัญญาณอะไรที่เราไม่รู้? 

สำหรับการขายหุ้น Apple ของปู่ ถือเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงการลงทุนของสัปดาห์นี้เลยทีเดียว เพราะทิ้งคำถามตัวใหญ่ ๆ ให้นักลงทุนทั่วโลกสงสัยและต้องการคำตอบของการตัดสินใจของปู่ครั้งนี้ เนื่องจาก Apple ถือว่าเป็นหุ้นคู่บุญของ Berkshire Hathaway มานับหลายปี 

คุณสิทธิชัย มองว่า การขายครั้งนี้อาจมาด้วยเหตุผลการลงทุนระยะยาว ที่มองถึงอัตราการเติบโตของ Apple ที่เริ่มจำกัดและอาจไม่ได้ดีเท่าที่ผ่านมา รวมถึงยอดการขายในประเทศจีนที่ลดลง 

เพราะในอดีตเราจะสังเกตว่าคุณปู่ชอบหุ้น Apple เพราะถือเงินสดเยอะมาก แต่ตอนนี้เทรนด์โลกเปลี่ยน ทำให้ Apple ต้องปรับตัว บริษัทจึงใช้เงินไปลงทุนด้าน AI ค่อนข้างเยอะ รวมถึงธุรกิจใหม่ ๆ หลายอย่างที่ Apple ตั้งแผนไว้ ซึ่งคำถามว่า ‘เงินมหาศาลที่ Apple ลงทุนไป’ จะได้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคตไหม นั่นก็เป็นสิ่งที่เราไม่รู้

ส่วนคำถามว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ ขายเพราะกังวลเศรษฐกิจแย่ไหม? คุณสิทธิชัยมองว่า การขาย Apple ‘อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจแย่แต่อย่างใด’ เพราะภาพระยะสั้น ครึ่งปีหลัง 2024 - ต้นปี 2025 หุ้น Apple อาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้น Coca-Cola หรือ หุ้น OXY ที่ปู่ถืออยู่ด้วยซ้ำ 

เมื่อถามกลุ่มหุ้น 7 นางฟ้าที่น่าสนใจสำหรับปู่ในตอนนี้ (Apple, Amazon, Alphabet, Meta, Microsoft, Nvidia และ Tesla) คุณปู่จะซื้อตัวไหน? ในมุมของคุณสิทธิชัยมองว่าตัวนั้นคือ Microsoft ด้วยเหตุผลว่ามี Total Addressable Market, มีอัตราเติบโตที่ดี และราคาไม่แพงมาก

GULF ปลื้ม!! หุ้นกู้ 2.5 หมื่นล้าน ยอดจองเพียบ สะท้อนความเชื่อมั่นในบริษัทฯ จากของนักลงทุน

เมื่อวานนี้ (26 ก.ย. 67) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้ออกหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีประกัน มูลค่ารวมทั้งสิ้น 25,000 ล้านบาท โดยเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional Investors) และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นจำนวนมาก โดยแสดงความจำนงในการจองหุ้นกู้ของบริษัทฯ มากถึง 1.96 เท่าของจำนวนที่ประสงค์จะเสนอขาย (Oversubscription) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในศักยภาพและความแข็งแกร่งของบริษัทฯ

สำหรับหุ้นกู้ที่บริษัทฯ เสนอขายในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 5 ชุด ได้แก่ 

1) หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.89% ต่อปี มูลค่า 2,500 ล้านบาท 
2) หุ้นกู้อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.15% ต่อปี มูลค่า 2,687 ล้านบาท 
3) หุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.28% ต่อปี มูลค่า 10,013 ล้านบาท 
4) หุ้นกู้อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.53% ต่อปี มูลค่า 4,800 ล้านบาท 
5) หุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.76% ต่อปี มูลค่า 5,000 ล้านบาท 

โดยเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยคงที่เท่ากับ 3.37% และอายุเฉลี่ยหุ้นกู้เท่ากับ 6.08 ปี 

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ในระดับ ‘A+’ แนวโน้ม ‘คงที่’ และหุ้นกู้ได้รับการจัดอันดับในระดับ ‘A’ แนวโน้ม ‘คงที่’ จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด โดยบริษัทฯ ได้แต่งตั้งให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ในครั้งนี้ ซึ่งได้เปิดจองซื้อหุ้นกู้ระหว่างวันที่ 23-25 กันยายน 2567 และได้ออกหุ้นกู้ในวันที่ 26 กันยายน 2567

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก แม้ว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นกู้จะยังคงมีความผันผวน ท่ามกลางความกังวลและความระมัดระวังในการลงทุนในหุ้นกู้ของนักลงทุน แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาดจากนักลงทุน โดยยอดจองซื้อเกินกว่าจำนวนที่เสนอขายเกือบ 2 เท่า ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ และการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจของบริษัทฯ โดยการระดมทุนดังกล่าว ส่วนหนึ่งจะนำไปคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในเดือนกันยายน อีกส่วนหนึ่งนำไปคืนหนี้สินระยะสั้นของบริษัทฯ และส่วนที่เหลือเพื่อรองรับการขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ ต่อไป  บริษัทฯ ขอขอบคุณนักลงทุนทุกท่านที่ให้ความไว้วางใจในหุ้นกู้ของบริษัทฯ และขอขอบคุณผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ร่วมทั้ง 7 สถาบันที่มีบทบาทสำคัญในการจัดจำหน่ายหุ้นกู้จนประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมในครั้งนี้"

ขายออกจากพอร์ต 11 ล้านล้านบาท สะท้อนแบรนด์มือถือวิกฤต-ไร้เทคโนโลยีใหม่

(5 พ.ย. 67) สัญญาณเตือนวิกฤตแบรนด์ Apple หรือแค่ปรับกลยุทธ์การลงทุน เมื่อบริษัท  Berkshire Hathaway ของเจ้าพ่อการลงทุนวอร์เรน บัฟเฟตต์ ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 พบว่าหนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญคือการเทขายหุ้นล็อตใหญ่รวมแล้วเป็นจำนวนกว่า 60% ของพอร์ตตลอดปี 2024 

โดยวอร์เรน บัฟเฟตต์ ทยอยขายหุ้น Apple อย่างต่อเนื่อง โดยลดหุ้นแอปเปิ้ลในพอร์ตลงอีก 25% ในไตรมาส 3 หลังจากที่เคยหั่นลดลง 50% ในไตรมาส 2 ซึ่งวอร์เรนเคยกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคมระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้นว่า การขายหุ้นแอปเปิ้ลไตรมาสแรกเพราะเหตุผลด้านภาษี และเบิร์กเชียร์จะยังคงลงทุนหุ้นแอปเปิลในสัดส่วนใหญ่อยู่ต่อไป โดยหุ้นแอปเปิลมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 10.6% ระหว่างไตรมาส 3

ในไตรมาสที่สาม Berkshire Hathaway ยังคงดำเนินกลยุทธ์ลดการถือครองหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการขายหุ้นแอปเปิ้ลจำนวนมาก ส่งผลให้บริษัท Berkshire Hathaway มีกระแสเงินสดจากการขายหุ้นเพิ่มขึ้นอีก 325,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบราว 11 ล้านล้านบาท

การถือครองหุ้นแอปเปิ้ลของบัฟเฟตต์ สิ้นไตรมาส 3 มีมูลค่า  มีมูลค่า 69,900 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.3 ล้านล้านบาท) ลดลงราว 60% เทียบกับมูลค่า 174,300 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.8 ล้านล้านบาท) เมื่อสิ้นปี 2023 ซึ่งนับตั้งแต่เดือนพฤศภาคมที่ผ่านมา บัฟเฟตต์ไม่ได้ระบุเหตุผลเพิ่มเติมของการเทขายหุ้นแอปเปิ้ลในไตรมาสสองและไตรมาสสาม แม้ว่า Berkshire จะเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของแอปเปิ้ลก็ตาม 

จำนวนหุ้นแอปเปิลที่ Berkshire ถืออยู่ล่าสุดมีประมาณ 300 ล้านหุ้น ลดลงจากตัวเลขไตรมาสก่อนหน้านี้ที่ 400 ล้านหุ้น และลดลงจากเมื่อต้นปีที่ 915 ล้านหุ้น โดยมูลค่าหุ้นแอปเปิลที่บริษัทมีตอนนี้ประมาณ 7 หมื่นล้านดอลลาร์

การตัดสินใจของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ขายหุ้น Apple และสะสมเงินสดมหาศาล สร้างความประหลาดใจ และเป็นที่จับตามองของนักลงทุนทั่วโลก แม้ผลประกอบการโดยรวมของ Berkshire Hathaway จะยังแข็งแกร่ง แต่การลดลงของกำไรจากการดำเนินงาน บวกกับการเทขายหุ้น Apple ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการลงทุน เน้นคุณค่า ในระยะยาว ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ของบัฟเฟตต์ในครั้งนี้

การวิเคราะห์สถานการณ์ อาจตีความได้ว่า บัฟเฟตต์กำลังมองเห็น ความเสี่ยง บางอย่าง ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดทุนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อ หรือความผันผวนจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ การกลับมาถือครองเงินสดอาจะเป็นการรับมือวิกฤตอะไรบางอย่างที่เขาเตรียมฉวยจังหวะลงทุนในเวลาที่เหมาะสม

ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การเทขายหุ้นแอปเปิ้ลอาจสะท้อนว่าผลกระกอบการของแบรนด์มือถือที่ไม่สดใสเท่าที่ควร แม้จะมีการเปิดตัวมือถือไอโฟนรุ่นใหม่ เนื่องจากไม่ได้มีเทคโนโลยีอะไรที่จูงใจผู้ใช้งานมากเท่าที่ควร ขณะที่นักวิเคราะห์บางรายก็มองว่า Berkshire Hathaway อาจเตรียมการสำหรับเปลี่ยนผ่านผู้บริหารไปสู่ผู้นำคนใหม่ อย่างเกร็ก เอเบล ก็เป็นไปได้

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมใช้ปัญญาประดิษฐ์ ปราบโกง ตรวจจับความผิดปกติหุ้น เตือนนักลงทุนได้ทันท่วงที

(28 พ.ย.67) สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวางแผนใช้เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียน ท่ามกลางกรณีการฉ้อโกงที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา  

นาย อัสสเดช คงสิริ ประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า การใช้ AI จะช่วยตรวจจับความผิดปกติของราคาหุ้นและพฤติกรรมการซื้อขายได้อย่างรวดเร็ว พร้อมแจ้งเตือนนักลงทุนทันท่วงที ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเตือนล่าช้าและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ทันเวลา อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทยลดลง  

"ทุกวันเราต้องติดตามข่าวสารและรายงานมากถึง 300 รายการเกี่ยวกับความผิดปกติของบริษัทจดทะเบียน การนำ AI มาใช้จะช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่และส่งมอบการแจ้งเตือนที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น" นายอัศเดชกล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา  

ความคืบหน้าดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ ทางการกำลังเพิ่มมาตรฐานเพื่อปรับปรุงการกำกับดูแลตลาดทุนไทย หลังจากมีกรณีฉ้อโกงของบริษัทในตลาดหลายกรณีตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

‘อรพินทร์ เพชรทัต’ เลขาฯ รมว.พลังงาน แจงด่วน!! หลังถูกแอบอ้าง!! ขอยืมเงิน ชวนลงทุน ‘หุ้น-ทองคำ’

(12 ก.พ. 68) นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความ ระบุว่า

เรียนประชาชนทุกท่าน

ขณะนี้มีบุคคล-กลุ่มบุคคลได้แอบอ้าง ปลอมแปลง Facebook-TikTok และ Line ของข้าพเจ้า นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต ทำให้ข้าพเจ้าฯ เสื่อมเสียชื่อเสียง และสร้างความเสียหาย เดือดร้อนให้กับประชาชนที่หลงเชื่อในเรื่อง ดังนี้ 

ใช้ชื่อข้าพเจ้าฯ แอบอ้างเพื่อเชิญชวนลงทุนเรื่องทองคำ หุ้น และเรื่องต่างๆ

ใช้ชื่อข้าพเจ้าฯ แอบอ้างเพื่อการขอยืมเงิน

ข้าพเจ้าฯ ขอปฏิเสธในทุกเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น 

และขอแจ้งยืนยันสื่อโซเชียลมีเดียที่เป็นของข้าพเจ้าฯ จริงในปัจจุบัน โดยมีรายละเอียดปรากฎตามรูปภาพด้านล่างนี้ 

รบกวนทุกท่านช่วยกันแชร์ข้อความนี้ เพื่อช่วยปกป้องประชาชนบริสุทธิ์ และช่วยกำจัดมิจฉาชีพ

นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

‘ไทยออยล์’ ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 2,767 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น!! จากไตรมาสก่อน

(15 ก.พ. 68) นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า “ในไตรมาส 4/2567 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรสุทธิ 2,767 ล้านบาทปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะส่วนต่างราคาน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซลกับราคาน้ำมันดิบดูไบจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่สูงขึ้นในช่วงสิ้นปี ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันสำหรับผลิตความร้อนในช่วงฤดูหนาว แม้ว่า Crude Premium จะปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้จากความกังวลต่อความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางก็ตาม สำหรับกำไรขั้นต้นจากธุรกิจอะโรเมติกส์ปรับลดลงจากส่วนต่างราคาสารพาราไซลีนกับราคาน้ำมันเบนซิน 95 ที่ลดลง เนื่องจากอุปสงค์เสื้อผ้าและสิ่งทอไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ประกอบกับกำไรของธุรกิจปลายน้ำ เช่น สารพีทีเอ ที่ยังถูกกดดันรวมถึงส่วนต่างราคาสารเบนซีนกับราคาน้ำมันเบนซิน 95 ที่ปรับลดลงจากปริมาณสารเบนซีนคงคลังของจีนที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ตลอดจนการกลับมาดำเนินการผลิตของโรงผลิตสารเบนซีนหลังปิดซ่อมบำรุงในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ กำไรขั้นต้นจากธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนอุปสงค์ที่ฟื้นตัวหลังสิ้นสุดฤดูมรสุม เช่นเดียวกับ กำไรขั้นต้นจากธุรกิจผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานที่ปรับเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ที่ฟื้นตัวหลังผ่านฤดูฝนและอุปทานที่ตึงตัวอย่างต่อเนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกลุ่มที่ 1 ในเกาหลีใต้ ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 4/2567 ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 3/2567 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์ขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน 2,010 ล้านบาท     

สำหรับภาพรวมปี 2567 กลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขายที่ 455,857 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9,959 ล้านบาท กำไรลดลงจากปีก่อนหน้า สาเหตุหลักจากกำไรขั้นต้นจากการกลั่นปรับลดเนื่องจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซิน น้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซลกับราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลง จากอุปทานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจาก โรงกลั่นใหม่เริ่มดำเนินการ ขณะที่ด้านราคาน้ำมันดิบในปี 2567 เทียบกับปี 2566 ปรับลดลง จากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์รับรู้ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 5,913 ล้านบาท

ทั้งนี้ กลุ่มไทยออยล์ยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามหลักการ ESG (Environment, Social, and Governance) อย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากการได้รับรางวัลด้านความยั่งยืน จำนวน 9 รางวัล และได้รับการรับรองเป็นสมาชิก DJSI ต่อเนื่องเป็นปีที่ 12  

นายบัณฑิตฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับภาพรวมธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 คาดว่าตลาดน้ำมันจะอ่อนตัวลงเนื่องจากอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากการทยอยเปิดดำเนินการของโรงกลั่นขนาดใหญ่ในจีน เม็กซิโก ไนจีเรีย และโอมาน ถึงแม้ว่าตลาดจะได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ลดลงจากสภาพอากาศหนาวเย็นในสหรัฐฯ ส่งผลให้โรงกลั่นหลายแห่งต้องหยุดดำเนินการ ขณะที่ธุรกิจอะโรเมติกส์ มีแนวโน้มฟื้นตัวโดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ของพาราไซลีนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากคำสั่งซื้อโพลิเอสเตอร์ในจีนหลังเทศกาลตรุษจีนมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงความต้องการขวดบรรจุภัณฑ์ (PET) ที่จะปรับสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานมีแนวโน้มอ่อนตัวลง จากแรงกดดันของอุปทานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดจากโรงผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 ในอินเดีย”

ไทยออยล์ยังคงติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแสวงหาโอกาสสร้างรายได้เพื่อให้มีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันโครงการพลังงานสะอาดให้เดินหน้าต่อไปให้ดีที่สุด ตลอดจนแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ เมกะเทรนด์เพื่อมุ่งเติบโตเป็นองค์กร 100 ปี อย่างมั่นคง ภายใต้วิสัยทัศน์ สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top