Tuesday, 22 April 2025
หมอยง

‘หมอยง’ เผย WHO กำหนดชื่อฝีดาษลิงเป็น Mpox แล้ว ช็อก!! ‘ไทย’ พบผู้ป่วยมากสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(2 ส.ค. 66) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘ฝีดาษวานร Mpox’ ระบุว่า

วานร องค์การอนามัยโลกกำหนดชื่อเป็น Mpox เพื่อไม่ต้องการให้ใช้ชื่อสัตว์ สถานที่ บุคคลมาตั้งชื่อ ให้เป็นตราบาป ดังเช่นถ้าเรียกฝีดาษลิง ทุกคนจะไปโทษลิง ซึ่งที่จริงแล้ว ไม่ใช่ต้นเหตุของการระบาดครั้งนี้

การระบาดทั่วโลกของฝีดาษ Mpox รวมทั้งสิ้น รวม 90,000 ราย พบมากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศไทยมีรายงานแล้วมากกว่า 120 ราย สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะยอดในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากเดือนมิถุนายน ที่มีเทศกาล

โรคไม่รุนแรงจึงเห็นได้ว่าอัตราเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือมีการติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย

การเปลี่ยนแปลงทางด้านระบาดวิทยา สำหรับโรคที่ไม่รุนแรง จะยากในการควบคุม ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีการตรวจกรองเฝ้าระวัง การดูแลรักษา และวัคซีนป้องกัน ได้ดีกว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศยากจนกว่า

ในอนาคต โรคนี้คงไม่หมดไป เพราะเกี่ยวข้องกับสัมผัส เพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในกลุ่มพิเศษ และจะยังคงมีการระบาดในประเทศที่ระบบสาธารณสุข ที่ การควบคุม ป้องกัน และการศึกษา รวมทั้งวัคซีนในการป้องกันที่มีทรัพยากรน้อยกว่า

ประเทศไทยที่พบกว่า 100 ราย ก็ไม่ได้น้อย และยังมีการพบประปรายอยู่ตลอด แต่ความตื่นตัว ของโรคนี้ในปัจจุบัน น้อยกว่าในระยะแรกๆ เราจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้ความเข้าใจ การระบาดของโรคโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดการระบาดในประเทศไทย

‘หมอยง’ ชี้ RSV เด็กเล็กติดซ้ำได้ แถมบางคนเป็นทุกปี เหตุเพราะ ‘วัคซีน’ ที่ไม่ได้รับการพัฒนาในตัวเด็ก

(25 ก.ย. 66) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า RSV เป็นแล้วเป็นซ้ำได้อีก เด็กบางคนเป็นทุกปี

RSV เป็นโรคที่เป็นแล้วเป็นได้อีก เด็กบางคนเป็นได้ทุกปี โดยพบว่าในการเป็นครั้งแรกจะมีอาการมากที่สุด โดยปกติมากกว่า 80% จะได้รับภูมิต้านทานส่งต่อจากมารดาและภูมินี้จะหมดไปที่ประมาณ 6 เดือนหลังคลอด

เด็กจึงมีโอกาสติด RSV ครั้งแรกหลัง 6 เดือนขึ้นไปได้สูง และเป็นเด็กเล็กอาการที่เกิดหลอดลมอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ จึงค่อนข้างเด่นชัด และเป็นเหตุให้ต้องนอนโรงพยาบาล ถ้ามีอาการมากถึงกับต้องให้ออกซิเจน

แต่โดยทั่วไปแล้ว การรักษาจะเป็นการแบบประคับประคองรอเวลาแล้วทุกอย่างก็ดีขึ้น ผู้ที่เสียชีวิตจาก RSV ในประเทศไทยพบน้อยมากๆ ยกเว้นในประเทศยากจนที่เด็กขาดอาหาร ร่างกายไม่แข็งแรง

เมื่อเป็นแล้วภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นไม่สามารถที่จะปกป้องการติดเชื้อในปีต่อไปได้ ก็จะมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก

จากการศึกษาของเราที่ศูนย์ ในผู้ที่ติดเชื้อซ้ำจำนวน 81 ราย 72 ราย ติดเชื้อซ้ำอีก 1 ครั้ง 9 รายติดเชื่อซ้ำอีก 2 ครั้ง รวมเป็นติดเชื้อ 3 ครั้ง และส่วนใหญ่เกิดภายในอายุ 5 ปี แต่จากการศึกษาทางด้านภูมิคุ้มกันมีเด็กบางคนเมื่ออายุถึง 5 ปี ติดเชื้อทุกปี แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยเท่านั้น

เด็กที่ติดเชื้อและได้รับการวินิจฉัยที่เราทำการศึกษา 81 ราย เราศึกษาลงลึกถึงสายพันธุ์ของ RSV เรารู้ว่าสายพันธุ์ของ RSV มี 2 สายพันธุ์หลักคือ A และ B และมีสายพันธุ์ย่อย ของ A และ B อีกเป็นจำนวนมาก การศึกษาลงลึกของพันธุกรรมเราพบว่าปีนี้ติดเชื้อ RSV A ปีต่อไปก็สามารถติดสายพันธุ์ A ได้อีก หรือเป็นสายพัน B ก็ได้ ดังแสดงในรูป ในทำนองกลับกันสายพันธุ์หลักไม่ได้ช่วยป้องกันข้ามสายพันธุ์เลย และก็ไม่ช่วยป้องกันสายพันธุ์เดียวกัน รวมทั้งสายพันธุ์ย่อยที่เราพบเช่นสายพันธุ์ ON1 เมื่อติดเชื้อแล้วก็ยังติดเชื้อซ้ำในปีต่อไปได้

เหตุผลดังกล่าว RSV จึงมีปัญหาในการพัฒนาวัคซีนอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็ก ถึงแม้ว่าจะมีการนำวัคซีนมาใช้ในผู้สูงอายุหรือสตรีตั้งครรภ์ แต่เชื่อว่าการป้องกันจะอยู่ระยะสั้น

‘หมอยง’ เผย สาเหตุเด็กป่วย ‘ปอดบวม-ปอดอักเสบ’ ในจีน คาด เพราะภูมิต้านทานลดลง ชี้!! เป็นการระบาดตามฤดูกาล

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 66 นศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Yong Poovorawan’ จากบทเรียนของการระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีน ทำให้ขณะนี้มีการตระหนักถึงการระบาดของโรคทางเดินหายใจในเด็ก ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ที่กรุงปักกิ่ง และเมืองเหลียวหนิง โดยระบุว่า…

จากบทเรียนของการระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีน ทำให้ขณะนี้มีการตระหนักถึงการระบาดของโรคทางเดินหายใจ ในเด็ก ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ที่กรุงปักกิ่ง และเมืองเหลียวหนิง

กลุ่มอาการดังกล่าว ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเด็ก มีไข้สูงและมีการอักเสบลงปอด ทางการจีนได้แถลงตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน และจากบทเรียนโควิด 19 องค์การอนามัยโลกจึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ และได้ออก Statement ให้ทางการจีนสอบสวนและให้ข้อมูล จนกระทั่ง 22 พฤศจิกายน โดยเฉพาะเรื่องรายละเอียดต่างๆ และมาตรการในการป้องกัน

เมื่อดูตามเหตุการณ์ ฤดูนี้เป็นฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ โรคทางเดินหายใจจะมีการระบาดมากตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็น โควิด 19 ไข้หวัดใหญ่ ‘RSV Rhinovirus Parainfluenza’ และมักจะระบาดในเด็กโดยเฉพาะเด็กนักเรียนเป็นกลุ่มก้อนได้

เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ผ่านมามีการระบาดอย่างมากของไข้หวัดใหญ่ RSV และไวรัสทางเดินหายใจ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการเข้มงวด เพราะการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้โรคที่เกิดจากไวรัสอื่นๆ ก็ไม่ระบาดไปด้วย

หลังจากมีการผ่อนคลายโควิด 19 ภูมิต้านทานต่อโรคทางเดินหายใจโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กก็จะลดลง หรือไม่มีภูมิต้านทาน จึงทำให้ปีนี้มีการระบาดอย่างมาก ของ ไข้หวัดใหญ่ RSV และโรคทางเดินหายใจอื่นๆ

ถ้าเป็นโรคอุบัติใหม่อย่างเช่นโควิด 19 ในการระบาดเริ่มต้น เราจะพบในผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก เพราะไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็กทั้งหมดจะไม่มีภูมิต้านทานต่อโรคอุบัติใหม่ จึงทำให้เกิดมีความรุนแรงขึ้น ต่อมาไวรัสก็วิวัฒนาการลดความรุนแรงของโรค ประชากรส่วนใหญ่ก็มีภูมิต้านทานมากขึ้น ความรุนแรงโรคจึงลดลง และประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นโรคต่อไปก็จะพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ทันสมัยและรวดเร็ว การเกิดโรคอุบัติใหม่ หรือ ‘ไวรัสตัวใหม่’ น่าจะวินิจฉัยได้แล้ว การตรวจ รหัสพันธุกรรมหาไวรัสตัวใหม่ ในปัจจุบันทำได้เร็วมาก เหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นมานานพอสมควรแล้ว (มีการพูดถึงว่ามีการระบาดเริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม)

จากข้อมูลทั้งหมดขณะนี้ จึงอยากจะคิดว่าการระบาดในจีนครั้งนี้ น่าจะเป็นโรคไวรัสที่รู้จักกันอยู่แล้ว มาพบมากเป็นกลุ่มก้อนหลังจากที่มีการผ่อนคลายของโควิด 19 แต่อย่างไรก็ตามคงต้องรอข้อมูลอย่างเป็นทางการจากประเทศจีน

'หมอยง' เลคเชอร์ 10 ข้อ 'วัคซีนโควิด' บทสรุป 4 ปี กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

(25 ธ.ค.66) นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เรื่อง ‘โควิด-19 วัคซีนกาลเวลาเป็นที่พิสูจน์’ ดังนี้…

โควิด-19 วัคซีน กาลเวลาเป็นที่พิสูจน์

ในระยะแรกที่เริ่มมีการใช้วัคซีนในประเทศไทย ที่มีวัคซีนอย่างจำกัดมาก มีความต้องการสูง ประเทศไทยได้วัคซีนเชื้อตายเข้ามาเริ่มแรก ผมและคณะได้ทำการศึกษาวิจัยอย่างละเอียด มีการฉีดสูงไขว้ และเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แต่มีการว่ากล่าวให้ร้าย (bully) อย่างมาก ถูกดึงเข้าสู่การเมือง ขณะนี้กาลเวลาที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ข้อมูลที่กล่าวไว้ ถูกต้องทุกประการ ปีนี้เป็นปีที่ 4 ของการระบาด ขอให้เป็นสังคมอุดมปัญญา จะขอสรุปข้อมูลเกี่ยวกับโควิดวัคซีน เพื่อให้สังคมได้เข้าใจ

1.วัคซีนโควิด-19 มี 4 ชนิด คือ ก. เชื้อตาย (inactivated vaccine; sinovac, sinopharm) ข. ไวรัสเวกเตอร์ (AstraZeneca; AZ) ค. mRNA วัคซีน ได้แก่ (Pfizer, Moderna) ง. โปรตีนสับยูนิต ได้แก่ Novavax

2.วัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน จะมีประสิทธิภาพดีในเดือนแรกๆ หลังฉีด และระยะเวลาที่นานขึ้น จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการลดความรุนแรงของโรค ประสิทธิภาพจึงไม่แตกต่างกัน ไม่มีวัคซีนเทพ

3.วัคซีนเชื้อตาย กระตุ้นภูมิต้านทานได้เท่ากับการติดเชื้อในธรรมชาติ แต่ต่ำกว่า วัคซีนไวรัสเวกเตอร์และ mRNA

4.วัคซีนที่ใช้มากที่สุดในโลก คือ เชื้อตาย ใช้มากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณวัคซีนที่ฉีดในโลก  โดยเฉพาะใช้มากในเอเชียและแอฟริการวมทั้งอเมริกาใต้ ประเทศที่ใช้วัคซีนดังกล่าวอัตราการเสียชีวิต ไม่ได้สูงมากเท่าประเทศที่ใช้ mRNA วัคซีน อเมริกามีผู้ป่วยเสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน ซึ่งห่างกับประเทศจีนมาก หรือแม้กระทั่งอินโดนีเซีย และไทย อัตราการเสียชีวิตก็ต่ำกว่าอเมริกา และยุโรปมาก

5.วัคซีนทุกตัว มีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ ตามหลักการของวัคซีน ถ้าเป็นวัคซีนเชื้อตายจะใช้เทคโนโลยีเดิม เช่นเดียวกับวัคซีน ไวรัสตับอักเสบ A, Polio ที่เป็นเชื้อตาย อาการข้างเคียง เช่น มีไข้ ปวดเมื่อย น้อยกว่าวัคซีนไวรัสเวกเตอร์และ mRNA มาก รวมทั้งอาการของหลอดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิต้านทาน ก็พบได้น้อยกว่า

6.วัคซีนเชื้อตายราคาถูกกว่า mRNA มาก และการใช้ก็เก็บได้ง่าย เชื้อตายขวดละ 1 คน ขณะที่ mRNA ขวดละ  7-10 คน ทำให้เหลือทิ้งมาก และต้องเก็บที่อุณหภูมิลบ 70 องศา แต่วัคซีนเชื้อตายเก็บที่ตู้เย็นธรรมดาคือ 4 องศา การบริหารจัดการง่ายกว่า ความสูญเสียทิ้งน้อยกว่า

7.การให้วัคซีนสูตรไขว้ เป็นทางออกที่ทำให้ผลลัพธ์สุดท้าย ของวัคซีนเชื้อตายมีระดับภูมิต้านทานสูง เช่น ฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม และกระตุ้นด้วย mRNA ผลลัพธ์ที่ได้ จะเท่ากับการให้ mRNA 3 เข็ม ข้อมูลเผยแพร่ในวารสาร PGH (doi: 10.1080/20477724.2022.2108646) และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก องค์การอนามัยโลกก็ยอมรับสูตรไขว้

8.การให้สูตรไขว้ที่ใช้ในประเทศไทย เข็มแรกให้เชื้อตาย sinovac แล้วตามด้วย ไวรัสเวกเตอร์ AZ ภูมิต้านทานที่ได้ดีกว่าการให้ เชื้อตาย 2 เข็ม หรือไวรัสเวกเตอร์ 2 เข็ม และเป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก

9.วัคซีนเชื้อตายอาการข้างเคียงเช่นไข้และอื่นๆ น้อยกว่าไวรัสเวกเตอร์และ mRNA  มาก วัคซีนไวรัสเวกเตอร์ AZ จะมีอาการข้างเคียงมากในเข็มแรก และจะน้อยลงในเข็มที่ 2 และ 3 ขณะเดียวกันภูมิต้านทานก็เกิดขึ้นได้น้อย เพราะ vector ถูกทำลายด้วยระบบภูมิคุ้มกันของเราที่เกิดขึ้นจากเข็มแรก ส่วน mRNA อาการข้างเคียงในเข็มที่ 2 จะมากกว่าเข็มแรก และจะมากขึ้นอีกถ้ามีการให้หลายๆ ครั้ง เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ การให้สูตรไขว้ทำให้ได้ mRNA จำนวนครั้งลดน้อยลง และระดับภูมิต้านทานไม่ได้แตกต่างกัน ประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเข็มของวัคซีนและในทางปฏิบัติการให้ครบ หมายถึงให้อย่างน้อย 3 เข็ม

10.การได้รับวัคซีนไม่ว่าจะกี่เข็ม ก็สามารถเกิดการติดเชื้อได้ เพราะวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อเพียงแต่ว่าลดความรุนแรง เพราะระยะฟักตัวของโควิด 19 สั้นมากเพียง 2 วัน ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น จึงไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ จึงไม่มีวัคซีนเทพ ประสิทธิภาพที่แจงกันมาแต่แรก ส่วนใหญ่จากการศึกษาระยะสั้น ถ้าติดตามยาวออกไปก็จะรู้ว่าไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้

เมื่อผ่านมาครบ 4 ปีแล้ว ประชากรส่วนใหญ่หรือมากกว่าร้อยละ 90  ติดเชื้อไปแล้วร่วมกับได้รับวัคซีน ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นของประชากรส่วนใหญ่ จึงเป็นภูมิคุ้มกันแบบลูกผสม เป็นภูมิคุ้มกันที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ไวรัสก็วิวัฒนาการลดความรุนแรงลง ความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นก็ลดลง โรคได้เปลี่ยนเป็นโรคประจำฤดูกาลคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ และมียารักษาที่ดีขึ้นและเพียงพอ ไวรัสไม่ได้หายไปไหน การปฏิบัติตัวเพื่อลดการแพร่กระจายของโรคทางเดินหายใจ เป็นการทำที่มีประโยชน์ ไม่ใช่เฉพาะโรคโควิด 19 เท่านั้นยังรวมถึงโรคหายใจอื่นๆ อีกด้วย

‘หมอยง’ ชี้!! 'JN.1' เข้าสู่สายพันธุ์หลักโควิด19 ในไทย เหมือนหวัดทั่วไป ‘ติดง่าย-แต่ไม่รุนแรง’ คลายตัวช่วงเดือน 2-3

(11 ม.ค. 67) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘โควิด 19 สายพันธุ์ JN.1 เป็นสายพันธุ์ที่พบมากแล้วในขณะนี้’ ระบุว่า...

ในที่สุด การคาดการณ์ว่าสายพันธุ์ JN.1 ที่ระบาดและติดต่อได้ง่าย ก็เข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย

จากการศึกษาของศูนย์ไวรัส ถอดรหัสพันธุกรรม ในเดือนธันวาคม 14 ตัวอย่าง (ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่รอวิเคราะห์) ด้วยงบประมาณที่จำกัด พบว่าสายพันธุ์เด่นที่พบมากที่สุด เป็นสายพันธุ์ JN.1 แล้ว หลังปีใหม่นี้สายพันธุ์ JN.1 จะเป็นสายพันธุ์หลัก หรือเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นสายพันธุ์ติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมที่ผ่านมา

สายพันธุ์ JN.1 พบครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เป็นลูกของสายพันธุ์ BA.2.86 (Pilora ชื่อของดาวเคราะห์น้อย) เป็นสายพันธุ์ที่ติดต่อได้ง่ายและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าสายพันธุ์นี้จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อื่นทั้งหมด

เป็นตามคาดหมาย สายพันธุ์นี้เข้ามาสู่ประเทศไทย เริ่มเด่นชัดในเดือนธันวาคมและแน่นอนหลังปีใหม่นี้ ก็น่าจะเป็นสายพันธุ์ JN.1 สายพันธุ์ใหม่ขณะนี้ยังไม่มีชื่อเล่น

ผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ JN.1 อาการไม่รุนแรง บางคนเพียงเป็นหวัด เจ็บคอเหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วไป ติดต่อได้ง่าย เป็นแล้วก็สามารถเป็นอีก จึงทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังปีใหม่นี้ และคาดว่าผู้ป่วยจะเริ่มลดลงหลังเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ โดยจะลดลงอย่างมากในเดือนมีนาคม แล้วจะสงบลง จนไปถึงฤดูกาลใหม่ในเดือนมิถุนายนปีนี้

ขณะนี้ทางศูนย์ ได้ติดตามสายพันธุ์อยู่ตลอด เนื่องจากมีงบประมาณที่จำกัด จึงทำจำนวนได้ไม่มาก เพื่อเฝ้าระวังแนวโน้มสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังแสดงในรูป จะเห็นว่าสายพันธุ์เด่นในเดือนพฤศจิกายน เป็น HK3 แล้วเปลี่ยนเป็น JN.1 ในเดือนธันวาคม และในเดือนนี้สายพันธุ์ส่วนใหญ่จะเป็น JN.1 เพราะแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น

ความรุนแรงของโรคไม่ได้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่สำคัญที่ต้องศึกษาขณะนี้คือ ระบบภูมิต้านทานเดิมที่มีอยู่มีผลอย่างไร กับการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ใหม่ โดยจะนำสายพันธุ์ใหม่ มาเพราะเชื้อขยายจำนวน แล้วทดสอบกับปฏิกิริยาภูมิต้านทาน ในคนไทย ที่ได้รับวัคซีนชนิดต่างๆ และการติดเชื้อที่ผ่านมา

‘หมอยง’ เผย ‘โควิด-19’ มีแนวโน้มระบาดเพิ่มขึ้น พร้อมเตือนให้ระวังสายพันธุ์ HK.2 ติดง่ายกว่าเดิม

(13 พ.ค. 67) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬา โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เรื่อง ‘โควิด19 สายพันธุ์ที่ระบาดอย่างมากและการเฝ้าระวังต่อไป’ โดยระบุว่า…

การระบาดของโควิด 19 มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น และระวังสายพันธุ์ที่เกิดใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงไปจากสายพันธุ์เดิม

การติดตามสายพันธุ์ทั่วโลก ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์ JN โดยเฉพาะสายพันธุ์ JN.1 หรืออยู่ในเครือญาติของ JN.1

สายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังและติดง่ายกว่า สายพันธุ์ JN.1 คือสายพันธุ์ HK.2 กำลังจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สายพันธุ์นี้ก็เป็นลูกของ JN.1 ที่กลายพันธุ์ออกมา

สำหรับประเทศไทยการติดตามสายพันธุ์ถึงเดือนเมษายน ขณะนี้ในประเทศไทย มีการศึกษากันน้อยมาก ทางศูนย์ติดตามสายพันธุ์ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ว่าจะเป็นสายพันธุ์อะไรที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น คาดว่าอีก 1-2 สัปดาห์ก็จะรู้หมด เพราะขณะนี้มีตัวอย่างเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพราะแนวโน้มของการระบาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ส่วนใหญ่มีอาการน้อย ยกเว้นในกลุ่มเปราะบางเท่านั้น

‘หมอยง’ เปิดเรื่องจริงไม่อิงนิยาย ในวงวิจัย วารสารวิชาการเรียกเก็บค่าตีพิมพ์แพงเว่อร์

(29 ต.ค. 67) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง ‘กับดัก ผลงานทางวิชาการของมหาวิทยาลัย กับสำนักพิมพ์’ ว่า

ค่าใช้จ่ายในการเผยแพร่ผลงานวิชาการ ของอาจารย์มหาวิทยาลัย เพิ่มขึ้นแบบ exponentialกว่า 60% ของผลงานวิจัยที่เผยแพร่ในระดับนานาชาติ จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า Article Processing Charge (APC) ชื่อเรียกนี้เพราะมาก ไม่ยอมเรียกว่าค่าตีพิมพ์ 

สำนักพิมพ์เกือบทุกแห่ง คิดว่า APC และจะออกมาในรูปของ open access หรือเปิดเผยเป็นสาธารณะมากขึ้น ให้เข้าไปอ่านได้ โดยไม่ต้องเสียสตางค์

สำนักพิมพ์ได้วัสดุ หรือผลงาน มาฟรีๆ ให้ผู้อ่านทบทวน หรือที่เราเรียกว่า reviewer ก็ฟรี มีค่าใช้จ่ายในเรื่องของการจัดการ และระบบการเผยแพร่บนอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทสำนักพิมพ์ในปัจจุบันนี้จึงมีกำไร อย่างมาก เป็นบริษัทที่มีอัตรากำไรมหาศาล บางบริษัทกำไร 30 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า

ค่าตีพิมพ์ที่ใช้อยู่ขณะนี้ มีค่าเฉลี่ยที่สูงมาก บางวารสารค่าตีพิมพ์เป็นแสน โดยเฉพาะวารสารที่อยู่ใน q1 หรือ T1 ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องการ 

การจัดอันดับ Ranking ของมหาวิทยาลัย จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะเป็นภาคเอกชนเป็นคนจัดการ ซึ่งจะเกี่ยวโยงกันกับการตีพิมพ์ หรืออาจจะเรียกว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน

ผมลองคิดคร่าวๆ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ผลงานระดับงานนานาชาติ ประมาณ 3,000 เรื่องต่อปี 60% ต้องเสียค่าตีพิมพ์ ถ้าคิดค่าเฉลี่ยเรื่องละ 50,000 บาท ก็ประมาณเกือบร้อยล้านบาท แต่ความจริงน่าจะมากกว่านี้มาก น่าทำการศึกษาวิจัยแล้ว รวมทั้งประเทศจะเป็นเท่าไหร่

ที่ศูนย์ผม เผยแพร่ผลงานวิจัยในปีที่แล้ว 2003 จำนวน 42 เรื่อง บางเรื่องมีผู้ร่วมวิจัยอื่นจ่าย ที่ศูนย์ต้องจ่าย เพียงแค่ 18 เรื่อง เฉลี่ยเรื่องละ 80,000 บาท รวมจ่ายไปทั้งสิ้นประมาณ 1.5 ล้านบาท แต่สามารถเบิกมหาวิทยาลัยได้ 150,000 บาท ที่เหลืออีก ล้าน 3 กว่า ผมต้องหาเงินมาจ่าย การขอแหล่งทุนเมื่อเป็นผู้อาวุโสแล้ว ก็จะขอยากขึ้น และเงินจำนวนนี้เป็นเงินจำนวนที่ค่อนข้างมาก ถ้าเอาไปทำวิจัยก็จะได้ผลงานเพิ่มขึ้น 

จะเล่าในตอนต่อไปว่ามหาวิทยาลัยติดกับดักอย่างไร

‘หมอยง’ เปิดข้อเท็จจริงต่อเนื่อง ‘มหาวิทยาลัย’ ทุ่มงบดันการจัดลำดับ

(30 ต.ค. 67) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง ‘ธุรกิจสำนักพิมพ์ทางวิชาการ กับดัก ผลงานทางวิชาการของมหาวิทยาลัย’

การจัดอันดับมหาวิทยาลัย จะรวมผลงานทางวิชาการที่เผยแพร่ในระดับนานาชาติ และการอ้างอิง (citation) เป็นเหตุให้มหาวิทยาลัย จึงต้องกำหนด ให้ตีพิมพ์ในวารสารที่คาดว่าจะมีการอ้างอิงสูง 

วารสารที่มีการอ้างอิงสูงไม่ว่าเป็นวารสารเกิดใหม่ จะเป็นวารสารที่เป็น open access (OA) มากกว่าวารสารเก่าแก่ ที่ ไม่เสียสตางค์ และเราจะดู Impact Factor หรือ IF กันมาก วารสารที่อ้างอิงสูง ก็จะมีค่า IF สูง หลายคนพยายามพูดว่าสำนักพิมพ์ MDPI, Hindawi, Frontier เป็นธุรกิจ ผมไม่เคยคิดเช่นนั้น เพราะทุกสำนักพิมพ์เป็นธุรกิจเหมือนกันหมด ไม่ต่างกัน และที่ผ่านมาถ้าไม่ดีจริงก็อยู่ไม่ได้ เช่น Hindawi 

วารสารบางวารสาร จะเพิ่มตัวเลข IF ด้วยการเพิ่มจำนวนผลงานที่เป็นรีวิว และแน่นอนวารสาร open access ก็มีการอ้างอิงสูงกว่า การตั้งราคาค่าตีพิมพ์สูงตาม ขึ้นอยู่กับ IF ด้วย หรือ ranking ของวารสาร ก็จัดโดยภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับสำนักพิมพ์

สำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียง รู้ดี และเมื่อมีผลงานที่ส่งมาให้เป็นจำนวนมาก (raw materials) สำนักพิมพ์ก็ได้โอกาส ก็ออกวารสาร ลูก ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เช่นเมื่อส่งมามากก็ปัดลงเสนอให้ลงพิมพ์ในวารสารลูก และทุกวารสารเสียสตางค์ทั้งนั้น วารสารบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ก็ทำเช่นนั้น เป็นที่รู้ดีกัน เมื่อวัสดุเข้ามาถึงโรงพิมพ์แล้ว กระบวนการส่งให้ทบทวน การทบทวนทางวิชาการ ก็ไม่ได้มีค่าตอบแทนอะไร มีน้อยบริษัท ที่จะให้ค่าตอบแทนเป็นคูปองส่วนลดในการตีพิมพ์ ก็ยังดีกว่าไม่ให้อะไรเลย ในเมื่อเป็นธุรกิจ ก็น่าจะคิดกันแบบธุรกิจ เป็นการลงทุนเพียงบริหารจัดการ 

และอีกประการหนึ่ง นอกจากวารสารเฉพาะทางแล้ว ทุกสำนักพิมพ์ธุรกิจ จะออกวารสาร 'จับฉ่าย' หรือจะเรียกให้เพราะหน่อย ก็เป็น miscellaneous เช่น PLOS ONE, Peer J, Scientific Reports, Heloyon, Cureus, F1000research, etc วารสารในกลุ่มนี้เมื่อจัดอันดับแล้ว จะอยู่ใน Q ที่สูงโดยเฉพาะ Q1 ตามที่มหาวิทยาลัยต้องการแน่นอน เพราะตัวหารในกลุ่ม miscellaneous มีมากทุกสาขาวิชามารวมกัน ทั้งที่ค่าเพจชาร์จ ก็ไม่เบาเลย ยกตัวอย่างเช่น Scientific reports ก็ไม่ต่ำกว่า 80,000 บาท หรือทั่วไปก็มักจะเกิน 2,000 เหรียญ US 

ผมอยู่ในสาขาไวรัส วารสารดังของไวรัส ถ้าจัดลำดับแล้วน่าสงสารที่สุด เพราะมีวารสารที่เกี่ยวกับ HIV มีการอ้างอิงสูงจึงทำให้การจัดลำดับลงมา ค่อนข้างต่ำ ผมยกตัวอย่างเช่น Archive Virology อยู่ใน Q3, เป็นไปได้อย่างไร ซึ่งเป็นวารสารที่ดำเนินการมาร่วมร้อยปี และลงพิมพ์ได้ฟรี ผู้อ่านจะต้องเป็นคนเสียสตางค์ J Gen Virology วารสารที่ดีมาก แต่ก็อยู่ใน Q2 ของ Scimaco หรือเครือข่ายของสำนักพิมพ์ เราจะยังยึดถือลำดับ หรือ IF กันอีกต่อไปหรือ 

สมมุติประเทศไทยตีพิมพ์วารสารต่างประเทศ ปีละ 10,000 เรื่อง และ 60% ต้องเสียสตางค์ค่าตีพิมพ์ และเฉลี่ยเรื่องละ 50,000 บาท ช่วยลองเอา 6,000 เรื่องคูณกับ 50,000 บาท จะเป็นเงินเท่าไหร่ ที่ประเทศไทยจะต้องเสียออกไป ความจริงน่าจะมากกว่าหมื่นเรื่อง และห้องสมุดยังต้องจ่ายให้กับสำนักพิมพ์อยู่ รวมทั้งยังต้องซื้อ ฐานข้อมูล น่าจะมีใครทำวิจัยเรื่องนี้ และเงินทั้งหมดนี้ใครเป็นคนจ่าย ผมเองคงตอบไม่ได้ว่าเราจ่ายเงินเรื่องนี้ไปเท่าไหร่ ถ้าให้ผมประเมินก็มากกว่า 500 ล้านบาทของทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย จริงเท็จอย่างไรคงต้องประเมินกันจริงๆ และผู้บริหารเท่านั้นที่รู้ว่าจ่ายไปเท่าไหร่ 

รายได้ของประเทศไทย อยู่ในระดับปานกลางสูง แต่ก็ยังต่ำกว่ากลุ่มรายได้ประเทศที่จัดว่าเป็นรายได้สูง แต่การเก็บค่าตีพิมพ์ ของเราเท่ากับประเทศที่มีรายได้สูง เราจะสู้ไหวไหม 

โปรดติดตามตอนต่อไปอีก และพยายามคิดหาทางออก

‘หมอยง’ ไขข้อข้องใจ ‘ไอกรน’ ระบาด ชี้ ทางออกที่ดีที่สุดให้รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

เมื่อวันที่ (13 พ.ย. 67) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กให้ความรู้ถึงโรคไอกรนที่มีการระบาด ว่า 
ไอกรน ไขข้อข้องใจ ที่มีการระบาดอยู่ขณะนี้

ข่าวที่มีการพบโรคไอกรน ในวัยรุ่น นักเรียนและมีการปิดโรงเรียน จำเป็นหรือไม่ วันนี้จะขอให้ความรู้เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง

1. โรคไอกรนเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis เป็นโรคตั้งแต่โบราณ เรามีวัคซีนในการป้องกันและใช้ในประเทศไทยมาร่วม 50 ปี ทำให้เกิดโรค ทางเดินหายใจมีอาการ ไอเรื้อรัง โรคนี้จะเป็นอันตรายในเด็กเล็กต่ำกว่า 1 ปี โดยเฉพาะถ้าต่ำกว่า 3 เดือน อาจทำให้เสียชีวิตได้ และอาจจะมีปัญหาอีกกลุ่มหนึ่งคือผู้สูงอายุที่มีร่างกายอ่อนแอ ในเด็กโตและวัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่จะไม่เป็นปัญหามาก เหมือนโรคทางเดินหายใจโรคหนึ่ง ที่มียาปฏิชีวนะรักษา 

2. เราใช้วัคซีนในการป้องกันโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ที่ให้ตั้งแต่ 2 เดือนมาเกือบ 50 ปี และให้ตามกำหนดที่ 2 เดือน 4 เดือนแล้ว 6 เดือน กระตุ้นที่ขวบครึ่ง,  4 ขวบ รวมแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง และแนะนำให้มีการกระตุ้นอีกครั้งหนึ่งโดยเฉพาะผู้มีสตางค์ ที่อายุ 10-12 ปี ด้วยใช้วัคซีนรวม  โรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยักสำหรับผู้ใหญ่ จะมีราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะไอกรน สำหรับผู้ใหญ่จะเป็นชนิดที่เรียกว่า ไร้เซลล์ มีอาการข้างเคียงน้อย เราให้ความสำคัญกับคอตีบกับบาดทะยักมากกว่า ส่วนไอกรน ในผู้ใหญ่จะมีราคาแพง จึงฉีดด้วยความสมัครใจ เพราะโรคในผู้ใหญ่ไม่ร้ายแรง ยกเว้นผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีและมีร่างกายอ่อนแอเพราะโรคประจำตัว

3. วัคซีนที่ฉีดในระยะหลังนี้มี 2 ชนิด ชนิดที่ทำมาจากเซลล์ทั้งตัว และชนิดไร้เซลล์ ชนิดไร้เซลล์มีราคาแพงกว่า และอาการข้างเคียงโดยเฉพาะการเป็นไข้หลังฉีดน้อยกว่า ยาชนิดนี้จึงไม่ได้อยู่ในข้อบังคับของกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ที่จะให้ฟรี จึงฉีดกันเฉพาะในหมู่ผู้ที่สามารถจ่ายได้

4. ประสิทธิภาพของวัคซีนโดยรวมไม่แตกต่างกันทั้ง 2 ชนิด แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียด วัคซีนที่ได้ฟรีที่ทำให้มีไข้ได้ นอกจากป้องกันโรคได้แล้ว ยังสามารถป้องกันการเกาะติดของเชื้อไอกรนมาที่หลอดลมทางเดินหายใจได้เป็นอย่างดี ส่วนวัคซีนชนิดไร้เซลล์ที่มีไข้ต่ำ จะไม่สามารถป้องกันการเกาะติดของเชื้อแบคทีเรีย colonization ได้ แบคทีเรียยังสามารถมาอยู่ที่คอและเพิ่มจำนวน แพร่กระจายได้ แต่ไม่ก่อโรคหรือมีการติดโรคก็มีอาการน้อยมาก ในเด็กถ้าเป็นลูกชาวบ้าน ส่วนใหญ่จะได้แบบของฟรี ส่วนเด็กที่พ่อแม่ให้ความสนใจและกลัวความเสี่ยงที่มีไข้ ก็จะฉีดชนิดไร้เซลล์ โดยเฉพาะเด็กในโรงเรียนที่มีชื่อทั้งหลาย โอกาสที่จะพบเชื้อที่คอจึงมีมากกว่า 

5. เมื่อศึกษาภูมิต้านทานต่อไอกรนที่ศูนย์ของเราทำ จะพบว่าภูมิต้านทานต่อไอกรนสูงมากใน 10 ปีแรกเมื่อหลังอายุ 10 ปีไปแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่ได้ฉีดกระตุ้น ภูมิต้านทานจะลดลงโดยเฉพาะในวัยรุ่นตรวจพบภูมิต้านทานได้ประมาณร้อยละ 50 เท่านั้น แต่ในอดีตก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะโรคไม่รุนแรง

6. การตรวจหาเชื้อไอกรน ในอดีตทำได้ยากมากเพราะต้องใช้วิธีการเพาะเชื้อ และเชื้อนี้ขึ้นได้ยาก และใช้เวลาในการตรวจมาก แต่ปัจจุบันนี้การตรวจโรคทางเดินหายใจทำได้ง่ายมากใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง และสามารถทำได้ถึง  23 pathogens รวมไอกรนด้วย  แต่ราคาก็แพงมากทำเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลใหญ่ๆซึ่งมีราคาค่าตรวจประมาณ 5,000 - 6,000 บาท ในนี้จะรวมเชื้อไอกรนอยู่ด้วย ดังนั้น เด็กที่พ่อแม่มีฐานะเท่านั้น เมื่อไม่สบายเล็กน้อยก็อยากจะรู้ว่าเป็นเชื้ออะไร ก็ยอมที่จะทำการตรวจ และจากการตรวจจำนวนมาก จะได้เชื้อหลายชนิดพร้อมกัน ในการแปลผลบางครั้งยากมากว่าเป็นตัวไหนก่อโรค และการตรวจพบไอกรน ด้วยวิธีนี้ จึงง่ายมาก และเมื่อพบเชื้อแล้วก็จะตื่นเต้น ทั้ง ๆ ที่อาการน้อยมาก หรือการพบเชื้อนี้อาจจะพบ เชื้อที่เกาะอยู่ colonization โดยไม่ได้ก่อโรค หรือเป็นการพบโดยบังเอิญเชื้อก่อโรคอาจจะเป็นตัวอื่นก็ได้ และอาการของเด็กก็ไม่ได้มากมายโดยเฉพาะในเด็กโต ก็จะเกิดการตื่นตระหนก ดังนั้น ถ้ามีการตรวจกันมากก็มีค่าใช้จ่ายมาก ก็จะเจอมาก โรงเรียนที่ลูกไม่มีสตางค์ โรงเรียนวัด โรงเรียนชนบท ก็จะไม่มีโรคไอกรนระบาดแน่นอน เพราะไม่ได้ตรวจ

7. อย่างที่กล่าวมาแล้ว ครอบครัวที่สามารถจะใช้จ่ายได้ ก็จะฉีดวัคซีนชนิดไร้เซลล์ที่มีราคาแพงกว่า เพราะกลัวอาการแทรกซ้อนเรื่องไข้ ดังนั้นโอกาสที่เชื้อไอกรน จะตรวจพบได้ก็จะมีมากกว่า แต่การก่อโรคจะไม่รุนแรงเลย โดยเฉพาะในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ และในอดีตที่ผ่านมาก็เชื่อว่ามีเชื้ออยู่ตลอด เพราะวัคซีนฉีดครั้งสุดท้ายที่อายุ 6 ขวบ เราเพิ่งเอาวัคซีนไอกรนมาฉีดในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ ในระยะ 10 กว่าปีที่แล้ว และฉีดอยู่ในหมู่ที่จะเสียเงินเองได้เท่านั้น

8. การพบเชื้อไอกรนในปัจจุบัน ในเด็กโตและผู้ใหญ่จึงเป็นการพบโดยมีเทคโนโลยี PCR ที่ทำได้ง่ายและรู้ผลเร็ว แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูง และมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องตรวจในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากๆ

9. เมื่อมีการตรวจพบและตรวจมากขึ้น ก็จะพบว่ามีการระบาด เพราะเป็นมากกว่า 2 คน และมักจะอยู่ในโรงเรียนที่พ่อแม่สามารถตรวจเชื้อนี้ได้เท่านั้น ด้วยราคาที่แพง โรงเรียนทั่วไปจะไม่ระบาดแน่นอนเพราะไม่ได้ตรวจ ก็เลยไม่มีปัญหา

10. เมื่อพบการระบาดเกิดขึ้น มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องปิดโรงเรียน ด้วยประการที่ 1 โรคนี้มีความรุนแรงต่ำในเด็กโต อาจจะน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่เสียอีก หรือน้อยกว่าโควิด 19 ส่วนใหญ่จะเหมือนกับไข้หวัดทั่วไป  และโรคนี้สามารถป้องกันด้วยวัคซีน การปิดโรงเรียนไปแล้ว เมื่อเปิดมาก็จะพบเหตุการณ์แบบนี้อีก เราจะปิดต่อไปไหวหรือ

11. ทางออกที่ดีที่สุดคือเมื่อพบ หรือตรวจ ก็ทำการรักษาไปด้วยยาปฏิชีวนะ และถ้าจะป้องกันไม่ให้เกิดในโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่พ่อแม่สามารถจะใช้จ่ายค่าวัคซีนได้ ก็ควรจะให้วัคซีน จะให้วัคซีนชนิดไอกรนตัวเดียว หรือให้พร้อมกันทั้ง  คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก สำหรับผู้ใหญ่หรือเด็กโตก็ได้ โดยทำการตรวจเช็คว่าเด็กที่ฉีดวัคซีนเมื่อ 10-12 ปีที่มีไอกรนอยู่แล้ว อาจจะไปฉีดอีกครั้งหนึ่งทุก 10 ปี เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้น คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ชนิดผู้ใหญ่ตอนอายุ 10-12 ปี และไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ก็ควรจะมีการกระตุ้น วัคซีนนี้ทุกคน 

12. เมื่อเด็กได้รับวัคซีนครบแล้ว ถือเป็นเข็มกระตุ้น ภูมิต้านทานจะขึ้นได้ดีหลัง 7 วัน โรคก็จะสงบ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปิดโรงเรียน เพราะการเรียนของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ การศึกษาก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กไทย การเรียนในโรงเรียนดีกว่าเรียนออนไลน์แน่นอน และการให้วัคซีนเป็นการป้องกันระยะยาวอย่างน้อยก็ 10 ปีขึ้นไป และโดยทั่วไปแล้วผู้ใหญ่ เราก็ไม่ค่อยได้ตรวจกันทั้งที่เชื่อว่าถ้าตรวจมากก็เจออีก

13. การปิดโรงเรียน 2 สัปดาห์ ไม่เกิดประโยชน์เลย เพราะเปิดมาก็ต้องเจอกันอีก เชื้อไอกรนมีระยะฟักตัว 7-10 วัน ถ้าเป็นโรครุนแรง ถึงกับชีวิต การกักตัว ไม่ให้มีการระบาด เราจะใช้เวลา 2 เท่าของระยะฟักตัว ดังนั้นก็จะเป็น 20 วัน ซึ่งไม่มีความจำเป็นเลยสำหรับโรคไอกรน ในเด็กโตและผู้ใหญ่

14. การตื่นตระหนก และเป็นอะไรนิดหน่อย ก็ตรวจหาเชื้อ 23 โรคเลย ไม่เป็นประโยชน์เลย และเมื่อตรวจมาแล้วบางครั้งพบเชื้อ 3 4 5 ชนิด ไม่รู้เลยว่าชนิดไหนก่อโรค และก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการรักษามากมาย นอกจากในผู้ที่เป็นรุนแรง และการตรวจนั้นมาประกอบการรักษา โดยเฉพาะโรคที่มียาต้านไวรัสจะเป็นประโยชน์กว่า เช่น ตรวจเฉพาะไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด 19  เพราะ 2 โรคนี้มียาต้านไวรัส

15. ข้อคิดที่ให้มาทั้งหมดเป็นความรู้ เพื่อประกอบการตัดสินใจ สำหรับผู้ปกครองเพื่อลดการตื่นตระหนก โดยเฉพาะทุกคนเชื่อว่าห่วงลูกหลานของตน แต่เรื่องนี้ไม่ได้เรื่องใหญ่โตเลย อย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่ และเมื่อกระจายออกไปมากๆ ตรวจมากๆ เด็กก็จะขาดเรียนมากๆโดยใช่เหตุ ควรพิจารณาตามสถานการณ์ และข้ออ้างอิงทางวิชาการ

‘หมอยง’ โพสต์เฟซ!! ย้อนดู 5 ปี โควิด 19 ความยุ่งเหยิง ดรามา ของวัคซีน และเซียนคีย์บอร์ด

(1 ธ.ค. 67) ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ แพทย์อาวุโส นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ เรื่องวัคซีน และโรคโควิด-19 โดยมีใจความว่า ...

ย้อนดู 5 ปี โควิด 19, ปีที่ 2 ปีที่ยุ่งเหยิง และดราม่า เกี่ยวกับวัคซีน และเซียนคีย์บอร์ด 

หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในปีแรก ทุกคนมุ่งหวัง ที่จะยุติการระบาดด้วยวัคซีน จึงมีการผลิตคิดค้นวัคซีนกันมากมาย มากกว่า 10 platform รวมทั้งของประเทศไทยเองด้วย ประเทศไทยมีการออกข่าวว่าจะผลิตวัคซีนได้สำเร็จภายใน 2 ปี

เมื่อสิ้นปีแรก การผลิตและออกมาใช้จริง ก็เริ่มปรากฏออกมา ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนเชื้อตาย ไวรัสเวกเตอร์ และ mRNA ประสิทธิภาพของวัคซีนได้ลงพิมพ์ ในวารสารต่างๆ จะเห็นว่า mRNA มีประสิทธิภาพสูงสุด มากกว่าไวรัสเวกเตอร์ และเชื่อตาย แต่ผลทั้งหลายเป็นผลระยะสั้นทั้งนั้น ความจริงผลระยะยาวค่อยออกมาทีหลัง 

วัคซีนจึงขาดแคลนในระยะแรก เพราะทุกประเทศแย่งกัน ทางตะวันตก จะไม่รับวัคซีนของจีน และจีนเองก็ไม่รับวัคซีนของทางตะวันตก ประเทศกำลังพัฒนา ส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนจากจีน และ mRNA จะใช้ในทางตะวันตก ไม่เพียงพอ ตลาดเป็นของผู้ขาย จะกำหนดกฎเกณฑ์อย่างไรก็ได้ในการซื้อ เช่นต้องวางเงินก่อน และจะเอาหรือไม่เอาก็ต้องจ่าย ซึ่งขัดกับหลักการจัดซื้อของประเทศไทย และบางบริษัทให้วางเงินก่อนจะผลิตสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ไม่รับรู้ ถ้าไม่สำเร็จก็ต้องเสียเงินฟรี 

วัคซีนเชื้อตายจึงเข้ามาในประเทศไทยก่อน แล้วตามมาด้วยไวรัสเวกเตอร์ กว่าประเทศไทยจะเริ่มฉีด mRNA ก็เข้าสู่ กันยายน ตุลาคมแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มีการเรียกร้องเอา mRNA มาเป็นวัคซีนหลัก จะเห็นบนหน้าเพจมากมาย มีดราม่าเกิดขึ้น ด้อยค่าวัคซีนเชื้อตายอย่างหนัก และกาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ประเทศจีน มีอัตราการเสียชีวิตโดยรวม น้อยกว่าประเทศทางตะวันตกอย่างมาก

ปีที่ 2 ความรุนแรงของโรคมาก อยู่มีอัตราตายเกือบ 1% ดังนั้นการรณรงค์ให้วัคซีน จึงเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และอัตราการครอบคลุม 2 เข็มแรก ได้เร็วมาก โดยทุกแห่งและโรงพยาบาลร่วมมือกันดีมาก

ผมเองทำการศึกษา การกระตุ้นเข็มสามด้วยวัคซีนเชื้อตาย Sinovac เปรียบเทียบกับ ไวรัสเวกเตอร์และ mRNA คณะกรรมการจริยธรรมยังไม่ยอมให้ทำ ตอนหลังเลยต้องเปลี่ยนจากเชื้อตาย Sinovac มาเป็น Sinopharm ถึงได้ทำ แต่ก็เสียดายข้อมูลทางวิชาการ ที่เราไม่มี การฉีดวัคซีนเชื้อตายชนิดเดียวกัน 3 เข็ม เสียดายโอกาสทางวิชาการอย่างมาก

งานวิจัยทางด้าน วัคซีนโควิด ในช่วงนี้หาอาสาสมัครและมีผู้สมัครใจเป็นจำนวนมาก และทำได้อย่างรวดเร็วมาก ต้องขอขอบคุณอาสาสมัครอย่างยิ่ง รวมทั้งแหล่งทุนด้วย ทั้งภาครัฐและเอกชน จึงมีผลงานให้เห็น โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนต่างชนิดกัน และสูตรต่างๆ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสูตรการฉีดวัคซีนสลับไปมา 3 เข็ม รวมทั้งสิ้น 24 แบบ อย่างไรก็ตามผลลัพธ์สุดท้ายไม่ต่างกันเลย เพราะทั้งหมดเป็นแอนติเจนชนิดเดียวกัน คือ spike protein ของ Wuhan strain 

ในปีนี้เป็นปีที่ ผมเองถูกกล่าวหาให้ร้าย อย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ หรือการเมืองทั้งที่จริงแล้วตัวเองไม่เคยไปยุ่งเลยแม้แต่นิดเดียว มุ่งค้นหาทางวิชาการและให้ข้อมูลผู้บริหารและประชาชน เพื่อช่วยปกป้องโรคร้าย การกล่าวให้ร้ายผมเอง ไม่ได้สนใจ แต่คนรอบข้าง ทนไม่ได้ จึงมีการแจ้งความฟ้องร้อง ผู้ที่กล่าวหารุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่มีการศึกษา และมีหน้าตาในสังคม

คดีในการฟ้องร้อง บางคดีได้สิ้นสุดแล้ว และบางคดีจนถึงวันนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ที่สิ้นสุดแล้วส่วนใหญ่ศาลจะตัดสิน เป็นเรื่องของการนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ถือเป็นคดีอาญา ศาลให้จำคุก 2 ปี และปรับ 3 แสน บาท เข้าแผ่นดิน ถ้าสารภาพก็ลดลงกึ่งหนึ่ง และเกือบทั้งหมดโทษจำให้รอลงอาญา หลายราย ยอมความ มาขอโทษ ก็จะยอมเกือบทุกกรณี แต่จะให้บริจาคเงิน เข้ามูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ แทน โดยตัวเองไม่ไปแตะต้องเงินจำนวนนี้เลย

ยง ภู่วรวรรณ
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์
ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬา
30 พฤศจิกายน 2567


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top