‘หมอยง’ เปิดเรื่องจริงไม่อิงนิยาย ในวงวิจัย วารสารวิชาการเรียกเก็บค่าตีพิมพ์แพงเว่อร์

(29 ต.ค. 67) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง ‘กับดัก ผลงานทางวิชาการของมหาวิทยาลัย กับสำนักพิมพ์’ ว่า

ค่าใช้จ่ายในการเผยแพร่ผลงานวิชาการ ของอาจารย์มหาวิทยาลัย เพิ่มขึ้นแบบ exponentialกว่า 60% ของผลงานวิจัยที่เผยแพร่ในระดับนานาชาติ จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า Article Processing Charge (APC) ชื่อเรียกนี้เพราะมาก ไม่ยอมเรียกว่าค่าตีพิมพ์ 

สำนักพิมพ์เกือบทุกแห่ง คิดว่า APC และจะออกมาในรูปของ open access หรือเปิดเผยเป็นสาธารณะมากขึ้น ให้เข้าไปอ่านได้ โดยไม่ต้องเสียสตางค์

สำนักพิมพ์ได้วัสดุ หรือผลงาน มาฟรีๆ ให้ผู้อ่านทบทวน หรือที่เราเรียกว่า reviewer ก็ฟรี มีค่าใช้จ่ายในเรื่องของการจัดการ และระบบการเผยแพร่บนอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทสำนักพิมพ์ในปัจจุบันนี้จึงมีกำไร อย่างมาก เป็นบริษัทที่มีอัตรากำไรมหาศาล บางบริษัทกำไร 30 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า

ค่าตีพิมพ์ที่ใช้อยู่ขณะนี้ มีค่าเฉลี่ยที่สูงมาก บางวารสารค่าตีพิมพ์เป็นแสน โดยเฉพาะวารสารที่อยู่ใน q1 หรือ T1 ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องการ 

การจัดอันดับ Ranking ของมหาวิทยาลัย จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะเป็นภาคเอกชนเป็นคนจัดการ ซึ่งจะเกี่ยวโยงกันกับการตีพิมพ์ หรืออาจจะเรียกว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน

ผมลองคิดคร่าวๆ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ผลงานระดับงานนานาชาติ ประมาณ 3,000 เรื่องต่อปี 60% ต้องเสียค่าตีพิมพ์ ถ้าคิดค่าเฉลี่ยเรื่องละ 50,000 บาท ก็ประมาณเกือบร้อยล้านบาท แต่ความจริงน่าจะมากกว่านี้มาก น่าทำการศึกษาวิจัยแล้ว รวมทั้งประเทศจะเป็นเท่าไหร่

ที่ศูนย์ผม เผยแพร่ผลงานวิจัยในปีที่แล้ว 2003 จำนวน 42 เรื่อง บางเรื่องมีผู้ร่วมวิจัยอื่นจ่าย ที่ศูนย์ต้องจ่าย เพียงแค่ 18 เรื่อง เฉลี่ยเรื่องละ 80,000 บาท รวมจ่ายไปทั้งสิ้นประมาณ 1.5 ล้านบาท แต่สามารถเบิกมหาวิทยาลัยได้ 150,000 บาท ที่เหลืออีก ล้าน 3 กว่า ผมต้องหาเงินมาจ่าย การขอแหล่งทุนเมื่อเป็นผู้อาวุโสแล้ว ก็จะขอยากขึ้น และเงินจำนวนนี้เป็นเงินจำนวนที่ค่อนข้างมาก ถ้าเอาไปทำวิจัยก็จะได้ผลงานเพิ่มขึ้น 

จะเล่าในตอนต่อไปว่ามหาวิทยาลัยติดกับดักอย่างไร