Monday, 21 April 2025
สุริยะจึงรุ่งเรืองกิจ

‘สุริยะ’ เตรียมลงพื้นที่ดูเหตุเครนสร้างทางด่วนพระราม 2 ถล่ม พร้อมเล็งลงโทษบริษัทลดชั้นผู้รับเหมา - ห้ามรับงาน 2 ปี

(29 พ.ย.67) สุริยะสั่งอธิบดีกรมทางหลวงบินด่วนดูเหตุเครนสร้างทางด่วนพระราม 2 ถล่ม ก่อนตามลงพื้นที่เย็นนี้ เล็งตัดคะแนนลดชั้นผู้รับเหมา ห้ามรับงาน 2 ปี ส่วนสาเหตุขอรอตรวจสอบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเหตุการณ์คานเหล็กก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ถล่มเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาแล้ว พบว่ามีผู้เสียชีวิต 2 ราย สูญหาย 2 คน บาดเจ็บ 10 คน ได้สั่งการให้อธิบดีกรมทางหลวง ที่ขณะนี้มาปฏิบัติงานกับตนเองที่จังหวัดเชียงใหม่ให้กลับไปดูในพื้นที่เพื่อไปดูสาเหตุ

และช่วงเย็นวันนี้ตนก็จะกลับไปตรวจพื้นที่ ก่อนที่จะกลับมาปฏิบัติภารกิจต่อที่จังหวัดเชียงใหม่วันพรุ่งนี้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่เคยเน้นย้ำกับผู้รับเหมามาโดยตลอด คือการปฏิบัติภารกิจด้วยความปลอดภัย แต่หากมีอุบัติเหตุทางกรมทางหลวง ก็มีสมุดพกที่จะประเมินตัดคะแนนผู้รับเหมา และประสานกับกรมบัญชีกลาง เพื่อลดชั้นผู้รับเหมา

ปัจจุบันผู้รับเหมาชั้นพิเศษมีแต่ปรับขึ้น แต่ผลงานไม่ดีไม่มีการปรับลง ซึ่งขณะนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกรมบัญชีกลาง และอย่างกรณีที่เกิดขึ้นนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต บริษัทผู้รับเหมาที่ทำให้เกิดเหตุจะถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้ามารับงาน ซึ่งอาจจะถึง 2 ปี หลังจากนั้นหากปรับปรุงจนดีขึ้นอาจจะคืนสิทธิ ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมเห็นถึงความสำคัญและความปลอดภัยกับสาธารณะ

นายสุริยะกล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นคนละบริษัทกับที่เคยเกิดอุบัติเหตุก่อนหน้านี้ ที่ผ่านมาบริษัทนี้มีผลงานค่อนข้างดี ส่วนข้อผิดพลาดเกิดจากอะไรขอกลับไปตรวจสอบก่อน แต่เมื่อเกิดเหตุก็ได้สั่งการให้หยุดการก่อสร้างทันที ส่วนจะให้หยุดกี่วันขอกลับไปตรวจสอบ ก่อนกำหนดวันอีกครั้ง

นายสุริยะยังกล่าวว่า ตนเองเคยให้สัมภาษณ์ และยืนยันว่าถนนพระราม 2 อยากให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนปี 2568 แต่ระยะหลังมีสถานการณ์โควิดที่เกิด จึงทำให้ผู้รับเหมาสามารถขอขยายสัญญาออกไปได้จนถึงสิ้นปี 2568 ซึ่งตามสัญญาถือเป็นสิทธิของผู้รับเหมาที่สามารถทำได้ แต่ได้ขอความร่วมมือในเบื้องต้นให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนปี 2568

ส่วนกรณีที่ประชาชนหวาดกลัวว่าจะเกิดอุบัติเหตุอีก จะมีมาตรการอย่างไร นายสุริยะกล่าวว่า ปัญหาคือ เมื่อไม่มีมาตรการที่จะลดชั้นผู้รับเหมา ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วจะไม่เป็นไร ซึ่งผู้รับเหมาชั้นพิเศษ ถ้าเกิดลดชั้นจะทำให้กระทบต่อธุรกิจ ดังนั้น หากมีมาตรการเรื่องการลดชั้นออกมา ก็จะทำให้ผู้รับเหมาเกรงกลัว ทำให้อุบัติเหตุลดลง

นายสุริยะยังกล่าวถึงการขยายระยะเวลาก่อสร้างให้ผู้รับเหมา อาจจะทำให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด ผู้รับเหมาก็มีสิทธิได้รับการขยายสัญญา ไม่ใช่แค่ผู้รับเหมาที่พระราม 2 แต่ผู้รับเหมาทุกโครงการก็ได้รับการขยายระยะเวลาออกไปด้วยเช่นกัน พร้อมย้ำว่า ส่วนตัวอยากให้มีการก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ก็ต้องเน้นถึงความปลอดภัยเป็นหลักด้วย

'สุริยะ' ประกาศดันนโยบาย 'คมนาคมสีเขียว' เร่งเดินหน้าลงทุนเปลี่ยนอีวีบัส 5,000 คัน

'สุริยะ' ประกาศนโยบายหนุนคมนาคมสีเขียว ดันลงทุนโครงการและระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เร่งเปลี่ยนอีวีบัสกว่า 5,000 คัน พร้อมเปลี่ยนผ่านการเดินทางด้วยระบบรางครอบคลุมกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมือง

(4 ธ.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงาน งาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business ซึ่งจัดโดย 'กรุงเทพธุรกิจ' พร้อมกล่าวปาฐกถาในประเด็น 'Mobility Infrastructure for Sustainability 's Journey' โดยระบุว่า รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการลงทุนทุกระบบให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเชื่อมการเดินทางแบบไร้รอยต่อ และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี ตนได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เดินหน้าพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคม บริการประชาชน เพื่อสร้างโอกาสประเทศไทย สนองนโยบายรัฐบาล สร้างโอกาสการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้า เชื่อมประสิทธิภาพด้านการคมนาคมให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งทางบก น้ำ ราง และอากาศ ตลอดจนเชื่อมต่อการคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน

สำหรับการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงฯ กำหนดกรอบนโยบาย 9 แนวทาง ดังนี้ 1.สานต่อโครงการต่างๆ ตามแผนแม่บทของกระทรวงคมนาคม 2.ส่งเสริมโครงข่ายคมนาคมให้เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ 3.สร้างโอกาสในการลงทุน 4.ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งได้อย่างเท่าเทียม 5.เปิดโอกาสให้โลจิสติกส์ไทย 6.สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กรีนโลจิสติกส์เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 

7. เพิ่มความปลอดภัยภาคคมนาคมขนส่งทั้งในช่วงก่อสร้างและการให้บริการ โดยมุ่งเน้นการกำกับดูแลให้ได้มาตรฐาน 8. ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และหลักธรรมาภิบาลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และ 9.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกมิติ

“เป้าหมายกระทรวงคมนาคม เรามุ่งเน้นปรับเปลี่ยนการขนส่งจากทางถนน เป็นการขนส่งทางรางและทางน้ำ ส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนการเดินทางมาเป็นขนส่งสาธารณะ มุ่งหวังประเทศไทยจะต้องมีคมนาคมขนส่งคนและสินค้าที่มีประสิทธิภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด มลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของประชาชน” นายสุริยะ กล่าว

ทั้งนี้ การผลักดันภาคขนส่งให้มีประสิทธิภาพ กระทรวงฯ ได้มุ่งเน้นพัฒนาระบบขนส่งที่ตอบโจทย์การเดินทางของประชาชน เชื่อมต่อทุกการเดินทางจากบ้าน ที่ทำงาน สู่พื้นที่สำคัญต่างๆ โดยเชื่อว่าการเดินทางด้วยระบบราง รถไฟฟ้าที่ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด มลพิษทางอากาศ

รวมทั้งกระทรวงฯ จะเร่งเสริมให้เอกชน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางบก พัฒนาฟีดเดอร์ที่สนับสนุนระบบราง ด้วยการเปลี่ยนผ่านอีวีบัส รถเมล์ รถโดยสารประจำทาง และรถโดยสาร บขส. ให้ปรับเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเป็นยานยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งตามแผนกระทรวงฯ จะส่งเสริมการเปลี่ยนอีวีบัสรวมกว่า 5,000 คัน ประกอบด้วย รถโดยสารประจำทางไฟฟ้าเขต กทม.และปริมณฑล ภายใต้สัมปทานของเอกชน ปัจจุบันให้บริการ 2,350 คัน จะเพิ่มเป็น 3,100 คันภายในปีหน้า รวมไปถึงการเปลี่ยนรถโดยสารไฟฟ้าของ ขสมก. ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเปลี่ยนรถไฟฟ้า 1,520 คัน ทดแทนรถโดยสารครีมแดง (รถร้อน) และการเปลี่ยนรถโดยสารไฟฟ้าระหว่างเมืองของ บขส. ที่มีแผนเปลี่ยน 381 คัน

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า เพื่อผลักดันให้ระบบรางเป็นการคมนาคมหลักของประเทศ กระทรวงฯ มีแผนพัฒนารถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รวม 14 เส้นทาง ระยะทาง 554 กิโลเมตร ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 13 โครงการ ระยะทาง 276.84 กิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 โครงการ ระยะทาง 84.30 กิโลเมตร อยู่ระหว่างขออนุมัติ 3 โครงการ ระยะทาง 29.34 กิโลเมตร เตรียมความพร้อม 12 โครงการ ระยะทาง 162.93 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ โดยเปิดให้บริการแล้ว 4,044 กิโลเมตร ก่อสร้างเสร็จ 5 เส้นทาง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 เส้นทาง ขออนุมัติโครงการและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) 6 โครงการ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแล้วพร้อมประกวดราคา 1 โครงการ

ขณะที่การพัฒนารถไฟความเร็วสูง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 2 เส้นทาง ระยะทาง 473 กิโลเมตร ประกอบด้วย รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ระยะ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง และรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง ส่วน 1 เส้นทาง อยู่ระหว่างการขออนุมัติโครงการ คือ ไฮสปีดไทยจีนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย

ด้านการพัฒนาขนส่งทางน้ำ กระทรวงมีการพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะ จำนวน 18 ท่า ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 11 ท่า  คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2568 จำนวน 5 ท่า และภายในปี 2570 จะเปิดให้บริการได้ 13 ท่า รวมเป็น 29 ท่า นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาท่าเรือสำราญ (Cruise Terminal) ได้แก่ ชลบุรี เกาะสมุย และภูเก็ต เพื่อเป็นท่าเรือท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เพื่อเพิ่มท่าเทียบเรือและแก้ไขปัญหาการจราจรภายในท่าเรือให้เกิดความสะดวก

ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศ ได้ผลักดันให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ใน 20 อันดับโลกภายในปี 2572 โดยในระยะเร่งด่วน จะนำเทคโนโลยีใหม่มาให้บริการและเร่งปรับปรุงอาคารสถานที่ที่ดำเนินการได้ทันที รวมถึงการตรวจ FAA เพื่อปรับระดับมาตรฐานการบินและการเตรียมพร้อมในการตรวจของ ICAO ตลอดจนการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานในภูมิภาค เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ ซึ่งจะเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลในภูมิภาคอาเซียน โดยการศึกษาพบว่าจะช่วยลดต้นการขนส่งสินค้า  15-20% เพิ่มการจ้างงานได้ 2 แสนอัตรา และโครงการนี้คาดว่าจะทำให้ GDP ของไทยโตขึ้น 5.5%

‘สุริยะ’ มั่นใจ!! โครงการแลนด์บริดจ์ ยังไปต่อ เผย!! มีนักลงทุนจากทุกมุมโลก สนใจมาลงทุน

(15 ธ.ค. 67) การพัฒนาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (แลนด์บริดจ์) มูลค่าลงทุนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2568 หลังจากตลอดทั้งปี 2567 ที่ผ่านมา รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมเดินสายโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลก ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่าง โดยเฉพาะกลุ่มสายการเดินเรือขนาดใหญ่ Dubai Port World (DP World) ประสานลงพื้นที่จริงเพื่อประเมินศักยภาพของโครงการแลนด์บริดจ์

‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการแลนด์บริดจ์ โดยระบุว่า ตลอดทั้งปี 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงฯ เดินทางไปโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลก และตอนนี้ก็มีต่างชาติแสดงความสนใจที่จะมาลงทุนในโครงการ ขั้นตอนระหว่างนี้จึงอยู่ในช่วงของการผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ พ.ร.บ. SEC ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดข้อกฎหมายต่างๆ ที่จะมาใช้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEC คล้ายกับ EEC

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ต้องรอให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จัดการประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำร่าง พ.ร.บ.SEC และรายละเอียดของข้อกำหนดกฎหมายต่างๆ พร้อมทั้งเตรียมจัดตั้งหน่วยงานเพื่อกำกับดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEC ต่อไป

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ปี 2568 จะเป็นปีแห่งการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะจะมีการจัดทำ พ.ร.บ.SEC ข้อกำหนดกฎหมายที่ชัดเจน และกระทรวงฯ จะทำควบคู่ไปกับการร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) เพื่อให้มีความพร้อมในการเปิดประมูลทันทีหลังจากที่กฎหมายต่างๆ ผ่านการพิจารณาแล้ว

ทั้งนี้ มั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุนทั่วโลก และเข้าร่วมการประมูลโครงการนี้ เพราะสัญญาณบวกในช่วงโรดโชว์ที่ผ่านมา มีนักลงทุนสนใจติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม และประสานลงพื้นที่จริงเพื่อประเมินศักยภาพของโครงการ อาทิ กลุ่มดูไบ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งนักลงทุนก็เห็นพร้อมกันว่าโครงการนี้มีศักยภาพ เห็นด้วยกับแผนพัฒนาและรายละเอียดโครงการที่ศึกษาไว้

สำหรับแผนดำเนินงานของโครงการแลนด์บริดจ์ เดิมประเมินว่า พ.ร.บ. SEC และการจัดตั้งสำนักงาน SEC จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/2568 ส่วนออกแบบทางรถไฟ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รวมถึงการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และคาดว่าสำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา EIA แล้วเสร็จปี 2568

โดยการดำเนินงานส่วนนี้จะสอดคล้องกับการออกแบบท่าเรือ และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่จะแล้วเสร็จภายในปี 2567 และส่งให้ สผ. พิจารณาแล้วเสร็จในปี 2568 หลังจากนั้นจะเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชน โดยตั้งเป้าจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 ก่อนที่จะคัดเลือกผู้ลงทุนในไตรมาส 3/2568 จากนั้นจะเสนอ ครม. อนุมัติโครงการในปี 2568

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะการประกวดราคาได้ในต้นปี 2569 ขณะที่การก่อสร้าง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เริ่มก่อสร้างปี 2569 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2573 ระยะที่ 2 เริ่มก่อสร้างปี 2574 แล้วเสร็จปลายปี 2577 และระยะที่ 3 เริ่มก่อสร้างปี 2578 แล้วเสร็จปลายปี 2579

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์มีมูลค่าลงทุนประมาณ 1.001 ล้านล้านบาท จะแบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งระนอง 330,810 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร 305,666 ล้านบาท อีกทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ 358,517 ล้านบาท ส่วนอัตราผลตอบแทนภายในทางการเงิน (FIRR) ที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากโครงการเบื้องต้น เท่ากับ 8.62% โดยมีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24

อีกถึงรายงานของ สนข. ยังพบว่าโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ 4.0% ต่อปี เป็น 5.5% ต่อปี พร้อมทั้ง จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ จำนวน 280,000 ตำแหน่ง แบ่งเป็น จ.ระนอง จำนวน 130,000 ตำแหน่ง และ จ.ชุมพร 150,000 ตำแหน่ง

‘สุริยะ’ ลุยแผนลงทุน!! ‘ทางคู่ - ไฮสปีด – มอเตอร์เวย์’ สร้างโครงข่าย!! การเดินทาง ขนส่งสินค้า ‘ไทย - ลาว - จีน’

(22 ธ.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันจีนเป็นฐานการผลิตและการบริโภคที่สำคัญ และเป็นผู้ค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน GPD กว่า 623 ล้านล้านบาท การเชื่อมต่อการเดินทางที่มีประสิทธิภาพจากไทยไปสู่จีน จึงเป็นการสร้างโอกาสทั้งในด้านการเดินทาง การขนส่งสินค้า การค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวออกไปยังจีนและภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาการเดินทางเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและจีนได้ทั้งทางถนนและทางรถไฟ

กระทรวงคมนาคมจึงมีแผนที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เชื่อมโยงระหว่างไทย - ลาว - จีน และภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการลงทุนและการท่องเที่ยว โดยได้เร่งรัดพัฒนารถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง เชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งจากกรุงเทพฯ และพื้นที่ EEC ให้เชื่อมต่อไปยังลาว เวียดนาม และจีนได้อย่างสะดวกและต่อเนื่อง

ซึ่งปัจจุบันได้ก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ช่วงชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น เสร็จแล้ว ส่วนช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ และทางคู่สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่ - มุกดาหาร - นครพนม อยู่ระหว่างการก่อสร้าง สำหรับระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น - หนองคาย และชุมทางถนนจิระ - อุบลราชธานี คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2568 พร้อมนี้ได้เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ให้แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ในปี 2571

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้พัฒนามอเตอร์เวย์ M6 สายบางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา ปัจจุบันใกล้เสร็จแล้วและจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2569 ซึ่งจะช่วยลดเวลาการเดินทางจากกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ให้เหลือเพียง 2 ชั่วโมง อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบมอเตอร์เวย์สายใหม่ร่วมกับระบบรางจากแหลมฉบัง - นครราชสีมา เร่งรัดเปิดให้บริการสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ - บอลิคำไซ) ภายในปี 2568 และอยู่ระหว่างพัฒนาศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม โดยจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568 และพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อเชื่อมรางกับถนนเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ โดยได้มอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยศึกษาความเหมาะสมของตำแหน่งที่ตั้งว่าจะอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นหรือนครราชสีมา เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งไปยังท่าเรือแหลมฉบังในอนาคต

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนนโยบายการเป็นศูนย์กลางการเดินทางทางอากาศ (Aviation Hub) ของประเทศ กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาท่าอากาศยานที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรองรับการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต อาทิ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเป็น 2.8 ล้านคนต่อปี ก่อสร้างลานกลับลำอากาศยานของท่าอากาศยานนครราชสีมา และสนับสนุนให้มีสายการบินพาณิชย์มาทำการบินให้มากขึ้น ขยายลานจอดเครื่องบินท่าอากาศยานขอนแก่นและนครพนมให้สามารถรองรับจำนวนอากาศยานได้มากขึ้น และศึกษาออกแบบต่อเติมขยายความยาวทางวิ่งของท่าอากาศยานร้อยเอ็ดและเลย ให้สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ได้

นายสุริยะ กล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็น Corridor สำคัญของไทย และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ กระทรวงคมนาคมพร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเปลี่ยน ‘ความท้าทาย’ ให้กลายเป็น ‘ความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม’ ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม โดยได้มอบนโยบาย ‘คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย’ ให้หน่วยงานในสังกัดใช้เป็นกรอบการดำเนินงาน เดินหน้าลงทุนพัฒนา Mega Projects ทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศให้มีประสิทธิภาพ เชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ พร้อมทั้งเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาคอย่างยั่งยืน

'สุริยะ' ยันมีหลักฐาน เขากระโดง 5 พันไร่เป็นที่รถไฟ ลั่น ปัญหาทุกอย่างจบได้ถ้าทุกฝ่ายยึดกฎหมาย

‘สุริยะ’ ลั่น เขากระโดงจบได้ถ้าทุกฝ่ายยึดกฎหมาย เข้าใจ ‘ทรงศักดิ์’ ห่วงคนในพื้นที่ บอกห่วงประชาชนเหมือนกัน ชี้ หากรฟท. ได้ที่กลับจะแก้ปัญหาถาวรให้เช่าถูก ยันมีหลักฐาน 5 พันไร่เป็นที่รถไฟ

(24 ธ.ค. 67) เมื่อเวลา 09.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ หลังจากนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นำคณะลงพื้นที่ และมีการพูดถึงว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก้าวล่วงสิทธิ์ประชาชนในพื้นที่ ว่า เรื่องนี้อยากจะทำความชัดเจน ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 6 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลฎีกา ตัดสินว่าที่บริเวณเขากระโดงนั้นเป็นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ส่วนตัวเข้าใจนายทรงศักดิ์ที่ห่วงใยประชาชนซึ่งเป็นเรื่องปกติเพราะเป็นเจ้าของพื้นที่ แต่อย่างไรก็แล้วแต่เมื่อมีคำพิพากษาทางการรถไฟฯจะต้องทำตาม ถ้าไม่ทำตามเจ้าหน้าที่รถไฟอาจจะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ 

ส่วนหลังจากนำที่กลับมาให้การรถไฟฯแล้ว จะดำเนินการต่อไปอย่างไรนั้น นายสุริยะ กล่าวว่า เราสามารถเยียวยาประชาชนในพื้นที่ได้ โดยอาจจะคิดค่าเช่าในราคาที่ค่อนข้างถูก ซึ่งก็จะมีการแก้ปัญหาที่ถาวรต่อไป ส่วนข้อห่วงใยที่เป็นที่ตั้งของหน่วยราชการต่างๆ 12 แห่ง เช่น ศาลากลางจังหวัด อบจ.จังหวัดนั้น เรื่องเหล่านี้ เราสามารถตรวจสอบก่อน ถ้าเป็นที่ของการรถไฟฯก็สามารถตกลงให้เช่าได้ เช่น กรณีที่ดินรัชดาที่มีศาลอาญาและกรมอัยการก็มาขอเช่า ทางการรถไฟฯก็ให้เช่า ซึ่งเป็นเรื่องที่เราก็ห่วงใยประชาชนเหมือนนายทรงศักดิ์

เมื่อถามว่า 2 กระทรวงต้องมาคุยกันหรือไม่เพราะพูดกันคนละภาษา นายสุริยะกล่าวว่า ตนได้ชี้แจงไปแล้วว่าที่ทั้งหมดเป็นของการรถไฟฯ ส่วนที่นายทรงศักดิ์ห่วงใยประชาชนตนบอกว่าต้องทำตามกระบวนการ

เมื่อถามว่า ในพื้นที่บอกว่าการรถไฟฯไม่มีหลักฐานยืนยัน 5,000 ไร่ถ้ามีให้ไปฟ้องรายแปลง นายสุริยะ กล่าวว่า ทางศาลฎีกาสูงสุดตัดสินเรียบร้อยแล้ว ว่าที่ 5,000 กว่าไร่เป็นที่ของการรถไฟฯ โดยทางกรมที่ดินก็พยายามที่จะพูดถึงเรื่องของกฤษฎีกา การรถไฟฯชี้แจงชัดเจนว่าตั้งแต่กรมรถไฟ 2462 มีการชี้แจงในพื้นที่ตั้งแต่อุบลราชธานีจนถึงนครราชสีมาซึ่งมีส่วนของ เขากระโดงว่าเป็นที่ของการรถไฟฯ

เมื่อถามว่า สามารถ ยืนยันได้ว่าศาลฎีกาวินิจฉัย 5,000 ไร่ใช่หรือไม่เพราะ เพราะชาวบ้านยืนยันว่า ผูกพันเฉพาะกรณี 35 ราย นายสุริยะ กล่าวว่า ตนไม่ได้เชี่ยวชาญกฎหมายจึงได้ปรึกษากับที่ปรึกษากฎหมายและยืนยันชัดเจนว่า สามารถบังคับได้ ยืนยันว่ามีเอกสารสิทธิ์ตรงนี้ 

ส่วนเรื่องนี้จะจบหรือไม่เพราะเป็นมหากาพย์ยาวนาน นายสุริยะ กล่าวว่า ถ้าทุกฝ่ายทำตามกฎหมายมันจบได้

‘สุริยะ’ เป็นประธานเปิดใช้ ‘สะพานทศมราชัน’ เชื่อมทางด่วนพระราม 3 – ดาวคะนอง ช่วยลดแออัด

เปิดใช้แล้ว ‘สะพานทศมราชัน’ ช่วงสะพานทศมราชัน (บางโคล่) - ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษสุขสวัสดิ์ เชื่อมทางด่วนพระราม 3 – ดาวคะนอง ช่วยแก้ปัญหาจราจรเชื่อมเส้นทางสะดวกมากขึ้น

(29 ม.ค. 68) เวลา 09.09 น. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการเปิดใช้งาน สะพานทศมราชัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โดยมี นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. และคณะผู้บริหารเข้าร่วมงาน

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า การเปิดใช้ทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงสะพานทศมราชัน (บางโคล่) - ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษสุขสวัสดิ์ เป็นการช่วยบรรเทาปริมาณการจราจรของสะพานพระราม 9 เชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและชั้นในของกรุงเทพฯ และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ สะพานทศมราชันจะเชื่อมต่อการเดินทางในทิศทางขาเข้าและขาออกกรุงเทพฯ โดยเปิดใช้งานสะพานฯ ครบทั้ง 8 ช่องจราจร เพื่อรองรับปริมาณรถที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรายละเอียดเส้นทางการใช้งานมี ดังนี้

- ทิศทางขาเข้ากรุงเทพฯ ประชาชนสามารถใช้ทางขึ้นที่ด่านฯ สุขสวัสดิ์ (ช่องที่ 1-3) วิ่งข้ามสะพานทศมราชัน แล้วเชื่อมต่อเข้าสู่ทางพิเศษเฉลิมมหานครมุ่งหน้าบางนา - ดินแดง หรือทางพิเศษศรีรัชมุ่งหน้าแจ้งวัฒนะและถนนพระราม 9

- ทิศทางขาออกกรุงเทพฯ ใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานครหรือทางพิเศษศรีรัชผ่านจุดเชื่อมต่อสะพานทศมราชัน บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ และลงที่ทางลงด่านฯ สุขสวัสดิ์ เชื่อมต่อถนนประชาอุทิศและถนนสุขสวัสดิ์เพื่อไปยังถนนพระราม 2

อัตราค่าผ่านทางรถ 4 ล้อ: 50 บาท   รถ 6-10 ล้อ: 75 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ: 110 บาท

“ทั้งนี้ สะพานทศมราชัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง -วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ปัจจุบันมีความก้าวหน้าการก่อสร้างทั้งโครงการฯ อยู่ที่ 86.28% คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ พร้อมเปิดให้บริการประมาณปลายปี 2568 นับเป็นก้าวสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร โดยเฉพาะ “สะพานทศมราชัน” ที่จะช่วยลดความแออัดบริเวณสะพานพระราม 9 และเพิ่มความสะดวกในการเดินทางระหว่างฝั่งกรุงเทพฯ กับฝั่งธนบุรีและจังหวัดรอบนอก ซึ่งคาดว่าจะช่วยประหยัดเวลาและลดปัญหารถติดในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะคาดว่าสะพานฯ นี้ จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัดบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่บนสะพานพระราม 9 จนถึงบริเวณด่านฯ สุขสวัสดิ์ และบริเวณถนนพระรามที่ 2 จากปริมาณความแออัดทางจราจร 100,470 คันต่อวัน  ลดลงเหลือ 75.325 คันต่อวัน โดยประชาชนสามารถเริ่มใช้บริการสะพานทศมราชันได้ตั้งแต่วันนี้” นายสุรเชษฐ์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด

‘สุริยะ’ ยัน รถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสาย มาแน่ คาดสามารถประกาศใช้เดือนกันยายน นี้

‘สุริยะ’ ยืนยัน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสาย ประกาศใช้ในเดือน ก.ย. นี้ ชี้ รถไฟฟ้า 20 บาท ดันผู้ใช้บริการ สายสีม่วง-สายสีแดง โต 10.86%

(13 ก.พ. 68) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ในปัจจุบันได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปี 2 เดือนในโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ได้ผลตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี สะท้อนได้จากข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาที่มีสถิติการมีผู้ใช้บริการสูงที่สุด (นิวไฮ) ตั้งแต่เปิดให้บริการ โดยทั้ง 2 สายดังกล่าว มีปริมาณผู้โดยสารรวม 3,054,439 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.86 และรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ นายสุริยะ ยืนยันจะประกาศใช้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในโครงการรถไฟฟ้าทุกสี ทุกสาย และทุกเส้นทางภายในเดือนกันยายน 2568 ตามที่เคยกำหนดไว้ ภายใต้การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ผ่านการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการ คาดว่า จะประกาศราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปี 2568 และเสนอประกาศกฎหมายลำดับรองภายในเดือนกันยายน 2568

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า เมื่อนโยบายนี้ ครอบคลุมในทุกเส้นทาง จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างแน่นอน นอกจากนี้ เมื่อมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นแล้ว คาดว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟฟ้าสายสีแดง จะมีรายได้เท่ากับหรือมากกว่าช่วงก่อนเริ่มนโยบายภายในปี 2568 หรือเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ จากเดิมที่คาดว่าภายในระยะ 2 ปี 7 เดือนหลังจากเริ่มนโยบาย ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐอาจจะไม่ต้องชดเชยส่วนต่างรายได้ให้กับทั้ง 2 โครงการดังกล่าวแล้ว

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า จากแนวโน้มปริมาณผู้โดยสารที่ตอบรับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ถือว่า เป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐบาล และกระทรวงคมนาคมได้ช่วยลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังจูงใจให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นอีก 1 ปัจจัยในการช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และสร้างโอกาสในการเดินทางอย่างเท่าเทียมของคนทุกกลุ่มด้วย

‘สุริยะ’ เผยเตรียมเปิดสายสีชมพูเข้า 'เมืองทองธานี' ปักหมุดนั่งฟรี 1 เดือน เริ่มให้บริการมิถุนายนนี้

‘สุริยะ’ เผยรถไฟสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี เตรียมเปิดให้ประชาชนนั่งฟรี 1 เดือน เริ่มปลายเดือน มิ.ย. 68 ก่อนเปิดเต็มรูปแบบ 19 ก.ค.นี้ ยันเข้าร่วมมาตรการ 20 บาทตลอดสาย เดินทางสะดวกไปอิมแพ็คฯ – ทะเลสาบเมืองทอง

(20 ก.พ. 68) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี จำนวน 2 สถานี รวมระยะทาง 3 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 4,072 ล้านบาทว่า จากข้อมูล ณ สิ้นเดือนมกราคม 2568 ภาพรวมโครงการมีความก้าวหน้า 85.97% แบ่งเป็น งานโยธา 87.88% และงานระบบฯ 82.22% เร็วกว่าแผน 2.17%

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า จะเข้าสู่กระบวนการทดสอบเดินรถเสมือนจริงในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2568 จากนั้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายนจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี 1 เดือน ก่อนที่จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 19 กรกฎาคม 2568 ในอัตราค่าโดยสาร 15-22 บาท และจะเข้าร่วมมาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายภายในเดือนกันยายน 2568 ต่อไป

นอกจากนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รายงานยอดใช้บริการของผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนหลัก ช่วงแคราย – มีนบุรี ระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคม 2568 มีผู้ใช้บริการรวม 2,108,209 คน – เที่ยว เฉลี่ยวันละ 68,007 คน- เที่ยว (วันที่ 25 – 31 มกราคม 2568 ให้บริการโดยไม่คิดค่าโดยสาร) ขณะที่ในช่วงวันที่ 1-17 กุมภาพันธ์ 2568 มียอดใช้บริการรวม 1,022,667 คน – เที่ยว เฉลี่ยวันละ 36,524 คน – เที่ยว (วันที่ 14 – 17 กุมภาพันธ์ 2568 ยังไม่รวม EMV) อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ปริมาณผู้โดยสารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี เป็นระบบรถไฟฟ้า Monorail เหมือนกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (ส่วนหลัก) ที่เปิดให้บริการไปแล้ว นับเป็นอีกหนึ่งโครงข่ายของระบบขนส่งด้วยรถไฟฟ้าที่ครอบคลุมการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะสนับสนุนให้ประชาชนใช้บริการรถขนส่งสาธารณะมากขึ้น รวมถึงช่วยลดปริมาณจราจรบนถนนแจ้งวัฒนะ และลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเขตเมือง

นอกจากนี้ มีการก่อสร้างทางเดิน Skywalk เชื่อมต่อระหว่างสถานีและอาคารชาเลนเจอร์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าที่จะเดินทางไปร่วมงาน Expo คอนเสิร์ต หรือ Event ต่าง ๆ ที่อิมแพคเมืองทองธานี โดยผู้ใช้บริการจะต้องลงที่สถานีอิมแพ็คเมืองทองธานี (MT01) และใช้ทางออกที่ 3 เพื่อเดินทางต่อไปยังอาคารชาเลนเจอร์ อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top