Monday, 21 April 2025
สุริยะจึงรุ่งเรืองกิจ

‘สุริยะ’ เดินหน้าแผน ‘ลดค่าทางด่วน’ ไม่เกิน 50 บาท นำร่อง ‘งามวงศ์วาน-พระราม 9’ มั่นใจ!! ได้ใช้ภายในปีนี้

(20 มิ.ย.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ได้สั่งการให้หาแนวทาง ลดค่าทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 ให้เหลือไม่เกิน 50 บาท ตลอดเส้นทาง (จากเดิมที่มีค่าทางด่วนสูงสุด 85 - 90 บาท) เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง โดยความคืบหน้าในขณะนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจน และเริ่มให้ประชาชนจ่ายค่าทางด่วนถูกลงภายในปี 2567 แต่อย่างไรก็ตามการลดค่าทางด่วนในอัตราไม่เกิน 50 บาทตลอดสายของทางด่วนช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ทาง กทพ. จะมีการประเมินทุก ๆ 10 ปี เพื่อปรับให้สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) ตามสถานการณ์ในขณะนั้น 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การจราจรที่ติดขัดช่วงสายงามวงศ์วาน-พระราม 9 และภาพรวมในบริเวณดังกล่าว จึงจำเป็นต้องก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) โดยควรเร่งผลักดัน เพื่อแก้ไขปัญหาการสัญจรที่ติดขัดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้การก่อสร้างโครงการดังกล่าว รัฐบาลไม่ต้องมีการลงทุนแต่อย่างใด โดยจะให้ทางผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด จึงต้องขยายสัญญาทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ไปอีก 22 ปี 5 เดือน โดยระยะเวลาสัญญาที่เพิ่มมานั้นมาจากการคำนวณทางการเงิน และผลตอบแทนจากการลงทุน (Equity IRR) ตามหลักวิชาการ และความเป็นธรรม ซึ่งยืนยันได้ว่าจะไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ และสามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ทั้งหมด ทั้งนี้หากมีการก่อสร้าง คาดใช้ระยะเวลา ประมาณ 4 ปี และจะเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการต่อไป

"ผมยืนยันว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนอย่างแน่นอน แต่ต้องการทำเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ช่วยลดภาระค่าครองชีพ และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ตนได้ให้นโยบายและเน้นย้ำว่า ทุกกระบวนการในการดำเนินงานนั้นตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีความละเอียดรอบครอบ โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้" สุริยะ กล่าว

‘สุริยะ’ เผย ‘โทลล์เวย์’ ยอมลดค่าผ่านทาง เร่ง!! ปรับเงื่อนไขสัญญา หาราคาที่เหมาะสม

(22 มิ.ย.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่บริษัททาง ยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือทางด่วนโทลล์เวย์ประกาศเตรียมปรับค่าผ่านทางตามสัญญาสัมปทานในวันที่ 22 ธ.ค.67 ตนเล็งเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับค่าครองชีพของประชาชน จึงได้ให้กรมทางหลวง (ทล.) เจรจากับเอกชนคู่สัญญา อีกทั้งตนยังได้โทรศัพท์ไปยังนายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) เพื่อเจรจาให้ชะลอการปรับขึ้นค่าผ่านทาง และได้ข้อสรุปเบื้องต้นของการเจรจาโดยทางเอกชนยินดีร่วมมือ แต่ขอให้รัฐชดเชยในลักษณะคล้ายกับการเจรจากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือบีอีเอ็ม ที่ขยายสัญญาสัมปทานแลกกับปรับโครงสร้างค่าผ่านทางลงเหลือ 50 บาทตลอดสาย

นอกจากนั้นตนยังได้มอบหมายให้ ทล.ศึกษารายละเอียดเปรียบเทียบกรณีปรับลดค่าผ่านทาง ต้องคงอัตราเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมไม่เป็นภาระประชาชนมากเกินไป และหากลดค่าผ่านทางลง จะต้องขยายสัญญาสัมปทานเพิ่มอย่างไร อีกทั้งการดำเนินงานเหล่านี้จะจูงใจให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการทางด่วนโทลล์เวย์เพิ่มขึ้นอย่างไร โดยหากปรับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากปัจจุบันปริมาณ 4-5 หมื่นคันต่อวัน เป็น 8 หมื่นคันต่อวัน ทางด่วนจะรองรับได้หรือไม่

แน่นอนว่าจะไม่ใช้วิธีชดเชยเงิน เพราะจะเป็นภาระงบประมาณ แต่ใช้วิธีเจรจากับเอกชนขยายสัญญาแลกเปลี่ยน แต่จะขยายนานแค่ไหน ทางหลวงจะศึกษา อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการเจรจาขยายสัญญาสัมปทานครั้งนี้ ไม่ได้เอื้อเอกชน แต่เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะหากไม่เจรจาและปล่อยให้สัมปทานหมด ประชาชนต้องแบกภาระค่าผ่านทางที่จะปรับขึ้นตามสัญญาสัมปทานอีก 2 ครั้ง ในเดือน ธ.ค.67 และ ธ.ค.72

'สุริยะ' สั่งเปิดศูนย์ภัยพิบัติคมนาคม ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคเหนือ

(23 ส.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัย (น้ำท่วมฉับพลัน) น้ำป่าไหลหลาก และดินสไลด์ในภาคเหนือที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้นั้น กระทรวงคมนาคมมีความห่วงใยต่อความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ได้มอบหมายและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผล กระทบจากอุทกภัยในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสั่งเปิด ‘ศูนย์ Command Center ภัยพิบัติกระทรวงคมนาคม’ ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการ สั่งการ รับแจ้งเหตุ ประสานข้อมูลการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายใน และภายนอกกระทรวงฯ เพื่อบูรณาการการรายงานผลในการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที

ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานจัดเตรียมถุงยังชีพ และของใช้จำเป็น เพื่อแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในครั้งนี้ พร้อมทั้งให้จัดเจ้าหน้าที่คอยดูแล และอำนวยความสะดวกการสัญจรบนเส้นทางการจราจรต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตั้งป้ายเตือน และจัดเจ้าหน้าที่ดูแลสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง (ชม.) จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย นอกจากนี้ ยังได้ให้ทุกหน่วยงานรายงานความคืบหน้าและความเคลื่อนไหวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทันที เพื่อเตรียมแผนรับมือและช่วยเหลือพี่น้องประชาชน 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กรมทางหลวง (ทล.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วม และดินสไลด์ในโครงข่ายทางหลวง (ณ วันที่ 22 ส.ค.67) ได้รับผลกระทบใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย น่าน พะเยา เชียงราย และแพร่ รวม 13 แห่ง 8 สายทาง การจราจรสามารถผ่านได้ 3 แห่ง และผ่านไม่ได้อีก 10 แห่ง ทั้งนี้ ในทุกจุดที่เกิดเหตุนั้น มีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สถานการณ์การสัญจรกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และให้ประชาชนที่ใช้เส้นทางมีความปลอดภัยระดับสูงสุด ขณะเดียวกัน ทล. ได้เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ และเครื่องจักร เพื่อลงพื้นที่เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาตลอด 24 ชม. ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือให้แจ้งมาที่สายด่วน ทล. โทร. 1586 ฟรีตลอด 24 ชม.

ขณะที่ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้รายงานว่าขณะนี้ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าลงพื้นที่โดยทันที เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเตรียมเครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ ป้ายเตือน หลักนำทาง สะพานเบลีย์ และยานพาหนะให้มีความพร้อมรองรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สำหรับเส้นทางการสัญจรภายใต้การดูแลนั้น การจราจรสามารถสัญจรได้ตามปกติแล้ว หลังจากที่มีน้ำท่วมและเกิดเหตุดินสไลด์ 6 สายทาง และยังไม่สามารถใช้สัญจรได้ 13 เส้นทาง ซึ่งทุกจุดนั้นมีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดเส้นทางเช่นกัน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้รายงานว่า จากเหตุน้ำท่วมและดินถล่มนั้น ท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท. ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ได้จัดเตรียมแผนการรองรับไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือและบริหารจัดการน้ำภายใน ทชร. โดยการขุดลอกระบบระบายน้ำแบบเปิด ซึ่งเป็นคูระบายน้ำโดยรอบพื้นที่ท่าอากาศยาน และจัดเตรียม เครื่องสูบน้ำด้านทิศเหนือที่ใช้บริหารจัดการน้ำภายใน ทชร. ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา และมีการตรวจสอบประตูน้ำว่าสามารถใช้งานได้ปกติ 

นอกจากนี้ ได้จัดเจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบกายภาพ และติดตามสถานการณ์น้ำท่วมโดยรอบพร้อมประเมินสถานการณ์และรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อีกทั้งได้จัดเตรียมเครื่องอุปโภค บริโภค รวมถึงยารักษาโรคใน ‘ถุงยังชีพ’ ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยเหลือ บรรเทาภัยผู้ประสบภัยน้ำท่วมภายในพื้นที่ ขณะเดียวกันท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นำอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งของจำเป็นในการยังชีพ แจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือในการยังชีพในเบื้องต้น และหลังจากนั้นจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อจะอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป

ในส่วนของกรมเจ้าท่า (จท.) นั้น ได้ส่งบุคลากรเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งจัดเตรียมเรือตรวจการณ์ รถยนต์ และสิ่งของต่าง ๆ ไปมอบให้ผู้ประสบภัย และเข้าร่วมศูนย์ช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยของ ปภ. อำเภอเมือง และอำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนที่ประสบภัยในครั้งนี้ผ่านวิกฤตไปได้ด้วยดี 

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลการเดินทางเพิ่มเติมหรือแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายระหว่างเดินทาง หรือต้องการความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน ทล. โทร. 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชม.) สายด่วนมอเตอร์เวย์ โทร. 1586 กด 7 และตำรวจทางหลวง โทร. 1193 ขณะที่สายด่วน ทช. โทร. 1146

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดนั้น มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหลายแห่ง ซึ่งต้องเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่เสี่ยง ดังนี้ ภาคเหนือ 12 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ประกอบด้วย เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ภาคตะวันตก 4 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ประกอบด้วย นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด และภาคใต้ 8 จังหวัด ประกอบด้วย ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล

สมุทรปราการ- 'สุริยะ' สั่งเปิดศูนย์คมนาคมร่วมใจ ช่วยเหลือผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และ ทช. ทล.ร่วมจัดรถ รับ-ส่ง ผู้โดยสารจนถึง 4 ทุ่ม 'กีรติ' เผย วันนี้มีเที่ยวบินให้บริการ 8 ไฟลต์

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) เป็นฐานบัญชาการในการให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารและผู้ประสบอุทกภัย โดย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ได้ดำเนินการจัดตั้ง 'ศูนย์คมนาคมร่วมใจ ช่วยเหลือผู้โดยสาร' ณ ทชร.เรียบร้อยแล้ว โดยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมประจำศูนย์ฯ เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ฯลฯ เพื่อประสานความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารและผู้ประสบอุทกภัย ตลอดจนติดตามด้านการข่าว การประเมินสถานการณ์ เป็นต้น 

ด้าน ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวานนี้วันนี้ (13 ก.ย.67) มีสายการบิน 4 แห่ง ทำการบิน 8 เที่ยวบิน ได้แก่ (1) สายการบินไทย จำนวน 2 เที่ยวบิน คือ เที่ยวบิน TG130 และ TG132 (2) สายการบินนกแอร์ จำนวน 2 เที่ยวบิน คือ เที่ยวบิน DD102 และ DD104 (3) สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ จำนวน 2 เที่ยวบิน คือ เที่ยวบิน SL538 และ SL544 และ (4) สายการบินไทยแอร์เอเชีย จำนวน 2 เที่ยวบิน 

คือ เที่ยวบิน FD3199 และ FD3209 นอกจากนี้ ทชร.ร่วมกับกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ได้จัดรถบรรทุกเพื่ออำนวยความสะดวกในการรับ-ส่งผู้โดยสารจาก ทชร.ไปยังบิ๊กซี (สาขาบ้านดู่) ระหว่างเวลา 08.30 – 22.00 น. โดยมีจุดจอดรถบริเวณหน้าชานชาลาอาคารผู้โดยสาร ประตู 2 ทชร.และบริเวณประตูทางออกฝั่ง KFC บิ๊กซี (สาขาบ้านดู่) ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลการให้บริการของ ทชร.และติดต่อ 'ศูนย์คมนาคมร่วมใจ ช่วยเหลือผู้โดยสาร' ได้ที่ประชาสัมพันธ์ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย หมายเลขโทรศัพท์ 053 798 000

'สุริยะ' เล็งเพิ่มมาตรการป้องกันไฟไหม้รถโดยสาร พร้อมสั่งระงับใบอนุญาตฯทันที – ลั่นเอาผิดขั้นสูงสุดหากผิดจริง

(1 ต.ค.67) 'สุริยะ' มอบหมาย 'สุรพงษ์' จัดประชุม ขบ. ด่วน เล็งเพิ่มมาตรการป้องกัน ลั่นต้องไม่เกิดเหตุซ้ำ พร้อมสั่งระงับใบอนุญาตผู้ประกอบการทันที หากพบผิดจริงจะดำเนินการขั้นสูงสุด เตือน! รถโดยสารทุกคัน ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยผู้โดยสาร 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์รถบัสชั้นเดียวไฟไหม้ บริเวณหน้าเซียร์รังสิต โดยบนรถบัสคันที่เกิดอุบัติเหตุมีนักเรียน จำนวน 39 คน และครู จำนวน 6 คน สำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้ ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนของการหาข้อเท็จจริง เบื้องต้นคาดว่าภายในวันนี้จะได้ข้อสรุปข้อมูลเบื้องต้น 

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เรียกกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประชุมโดยด่วนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ รวมถึงเตรียมเพิ่มแนวทางมาตรการการป้องกันที่เข้มข้นขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำอีก และจะทำการถอดบทเรียนอย่างละเอียด เพื่อนำมาแก้ไขกระบวนการดำเนินงานอย่างถูกต้อง ซึ่งจะคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารในระดับสูงสุด

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อว่า สำหรับการหาข้อเท็จจริง ในขณะนี้ หากพบว่าเป็นความผิดของผู้ประกอบการขนส่ง นางสาวปาณิสรา ชินบุตร รถโดยสารคันหมายเลขทะเบียน 30-0423 สิงห์บุรี จะดำเนินการระงับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทันที และจะดำเนินตามข้อกฎหมายระดับสูงสุด ซึ่งขณะนี้ได้สั่งระงับใบอนุญาตผู้ประกอบการชั่วคราว อยู่ในช่วงของการสอบสวนถึงอุบัติเหตุเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังได้กล่าวเตือนถึงผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ต้องคำนึงถึงด้านความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นหลัก สำหรับการตรวจสอบรถโดยสารคันดังกล่าว ขณะนี้ได้สั่งการให้วิศวกรเข้าตรวจสอบ พร้อมทั้งเช็กอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับด้านความปลอดภัยอย่างละเอียด 

นายจิรุตม์ กล่าวต่อถึงแนวทางการเยียวยานั้น รถโดยสารชั้นเดียวคันดังกล่าวมีประกันภัยตามข้อกฎหมาย โดยภายหลังจากนี้จะดำเนินการเยียวยาผู้ประสบเหตุทันที และจะมีการติดตามสถานการณ์เพื่อดูแลสภาพจิตใจและสภาพร่างกายอย่างใกล้ชิด

‘สุริยะ’ นั่งหัวโต๊ะขีดเส้น 2 สัปดาห์หาสาเหตุอุบัติเหตุสลด หาแนวทางป้องกันอุบัติเหตุซ้ำในอนาคต เผยเบื้องต้นเยียวยากรณีเสียชีวิตขั้นต่ำ 1 ล้านบาท

(2 ต.ค. 67) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ห้องประชุม 109 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ก่อนเป็นประธานประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย เพื่อช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรถบัสทัศนศึกษาของคณะครูและเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี เกิดเพลิงไหม้ บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ว่า 

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจอย่างมาก โดยน.ส.แพทองธารชินวัตร นายกรัฐมนตรี ห่วงใยและเศร้าสลดต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปกำชับการทำงาน ส่วนเดียวกับกระทรวงคมนาคมจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างไร ใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการตรวจสอบ 

โดยมีตัวแทนจาก กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และจะเชิญสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นกรรมการร่วม ตรวจสอบสาเหตุและโครงสร้างรถ การปรับปรุงสำหรับรองรับผู้โดยสารและตัวถังประกอบ 

นายสุริยะ กล่าวว่า นอกจากนั้นจะให้มีการสาธิตแนะนำการใช้อุปกรณ์และประตูทางออกในกรณีฉุกเฉิน คล้ายกับการขึ้นเครื่องบิน และจะมีมาตราบังคับให้ผู้ประกอบการรถโดยสารอธิบายให้ผู้โดยสารรับทราบ และจะมีอุปกรณ์ช่วยเหลืออย่างไร เพื่อลดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุในอนาคต รวมถึงเรื่องของการติดตั้งก๊าซ กลับรถโดยสารสาธารณะให้เข้มข้นด้วยหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า ตรวจสอบทั้งหมดทุกเรื่อง 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีมาตรการควบคุมการใช้รถบัส 2 ชั้น และรถขนาดสูงซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหลายครั้งอย่างไร นายสุริยะ กล่าวว่า เหตุไฟไหม้ครั้งนี้เป็นรถบัสชั้นเดียว ที่จะต้องไปหามาตรการให้เกิดความปลอดภัยกับผู้โดยสาร ส่วนรถ 2 ชั้น มีมาตรการกำกับดูแลอยู่แล้ว เช่นกำหนดให้วิ่งในเขตเมือง โดยจำกัด ไม่ให้วิ่งระหว่างเมือง โดยมาตรการที่จะออกมาบังคับใช้จะทั้งในระยะเร่งด่วนและในระยะยาว 

ผู้สื่อข่าวถามว่าต้องตรวจสอบอายุของรถทั่วประเทศเนื่องจากมีรายงานว่ารถคันเกิดเหตุใช้งานมากกว่า 50 ปี และมีการดัดแปลงตัวถังและเครื่องยนต์ นายสุริยะ กล่าวว่า นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ต้องตั้งกรรมการตรวจสอบ ทุกประเด็นทั้งสภาพรถ การบรรทุกผู้โดยสาร นอกจากนี้จะครอบคลุมถึงรถประเภทอื่นทั้งหมดรวมถึงรถตู้โดยสารด้วย

เมื่อถามว่า มีข้อสังเกตว่ารถคันดังกล่าวได้ดัดแปลงติดตั้งก๊าซ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทประกันภัย ใช้เป็นข้ออ้างไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทน นายสุริยะ กล่าวว่า กรมขนส่งทางบกรายงานว่าบริษัทประกันภัย ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องจ่ายเงินในเบื้องต้นจะจ่ายให้ผู้เสียชีวิตทั้ง 23 ราย ขั้นต่ำรายละหนึ่งล้านบาท และเชื่อว่าบริษัทประกันภัยจะไม่อ้างสาเหตุมาเพื่อไม่จ่ายเงินเพราะเหตุการณ์นี้สะเทือนขวัญประชาชน

‘สุริยะ’ ยังไม่ชงแก้สัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบินเข้า ครม. ยัน ไม่ติดพรรคร่วม แต่ต้องให้นักกฎหมายดูให้รอบคอบ

‘สุริยะ’ ชี้ แก้ 'สัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน' ยังไม่เข้าครม. เพราะต้องดูให้รอบคอบชัดเจนและรัฐไม่เสียเปรียบก่อน ยัน ไม่ติดพรรคร่วม

(7 พ.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่อง การแก้สัญญารถไฟเชื่อมสามสนามบิน ว่า สัปดาห์หน้าน่าจะยังไม่นำเข้าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะยังมีเรื่องรายละเอียดที่ต้องดูกันให้รอบคอบอีกครั้ง

เมื่อถามว่า มีปัญหาติดขัดที่ทำให้ล่าช้าหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ตนมองว่าหลักๆคือการแก้ไขครั้งนี้มันเป็นการไปเปลี่ยนหลักการ ก็ต้องไปเช็กให้ชัดเจนก่อน

เมื่อถามต่อว่า ไม่ได้ติดอยู่ในพรรครวมใช่หรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ไม่เกี่ยว

เมื่อถามว่า แล้วจะนำเข้าครม. ได้ในปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนธ.ค.หรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ก็ต้องดูรายละเอียดให้เรียบร้อยก่อน เรียบร้อยเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

เมื่อถามว่า การแก้ไขสัญญาครั้งนี้อาจจะทำให้การก่อสร้างยื่นออกไปอีกใช่หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า การแก้ไขสัญญาณนี้มันเป็นเรื่องหลักการเพียงอย่างเดียว ที่เปลี่ยนจากสร้างจนเสร็จแล้วทางรัฐค่อยจ่าย เป็นการสร้างไปจ่ายไป และมีการวางเงินค้ำประกัน ก็ต้องไปเช็กดูว่าตรงนี้จะขัดหลักการหรือไม่ แต่ตนจะต้องขอย้ำอีกทีว่าที่เปลี่ยนสัญญาเป็นจ่ายรายปีต่อปีนั้น เพราะทางภาคเอกชนก็ไม่สามารถทำตามสัญญาที่ว่าจะต้องจ่ายเงินโครงการได้ตามเวลาที่กำหนด และทางฝ่ายรัฐบาลเองก็ไม่สามารถส่งพื้นที่ให้กับทางเอกชนได้ เมื่อต่างคนต่างผิดสัญญา ก็ต้องหาทางออกว่าจะทำอย่างไรให้โครงการนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เดินต่อไปได้ จึงต้องแก้ไขสัญญา แต่การแก้ไขสัญญานี้ก็จำเป็นจะต้องมีนักกฎหมายมาดูเพื่อที่ทางรัฐจะไม่เสียเปรียบ

‘สุริยะ’ ลุยแก้ปัญหาตั๋วเครื่องบินแพงช่วงปีใหม่ ถก 6 สายการบินเพิ่มไฟล์ทอีก 247 เที่ยวบิน

(19 พ.ย. 67) ‘สุริยะ’ ลุยแก้ปัญหาตั๋วเครื่องบินแพงช่วงเทศกาลปีใหม่ หารือ 6 สายการบินเพิ่ม 247 เที่ยวบิน เพิ่มที่นั่งอีก 73,388 ที่นั่ง เตรียมเปิดให้จองได้ตั้งแต่ 18 พ.ย. 67 มอบ ทอท.-ทย. ขยายเวลาสนามบินช่วงเช้าและดึก กำชับ กพท.ติดตามราคาตั๋วอย่างใกล้ชิด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ตั๋วเครื่องบินมีราคาสูงในช่วงปลายปี และเทศกาลปีใหม่ 2568 ระหว่างวันที่ 27-28 ธันวาคม 2567 และวันที่ 1-2 มกราคม 2568 เนื่องจากมีความต้องการเดินทางมากกว่าปกติประกอบกับสายการบินยังมีจำนวนอากาศยานน้อยกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ประมาณ 76 ลำ หรือคิดเป็น 25% ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการโดยสารด้วยเครื่องบินโดยตรง

ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ติดตามสถานการณ์ค่าโดยสารอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้หารือร่วมกับสายการบินและหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มเที่ยวบินให้เพียงพอต่อปริมาณความต้องการในการเดินทาง และแก้ปัญหาราคาตั๋วแพงในช่วงวันหยุดยาว พร้อมกำชับให้ทุกฝ่ายเตรียมการเพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกประชาชนที่จะเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ด้วย

ล่าสุดได้รับความร่วมมือจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สมาคมสายการบินประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย สายการบินบางกอกแอร์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ท จัดทำแผนเพื่อเพิ่มเที่ยวบิน รวมถึงปรับชนิดอากาศยานให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อทำการบินทั้งเมืองหลักและเมืองรอง ได้แก่ อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด นครพนม เชียงใหม่ เชียงราย น่าน กระบี่ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี และสมุย

ในการนี้ สมาคมสายการบินประเทศไทยจะมีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น 247 เที่ยวบิน และมีจำนวนที่นั่งเพิ่มถึง 48,244 ที่นั่ง ซึ่งจำนวนที่นั่งที่เพิ่มมานี้จะมีตั๋วราคาไม่สูงรวมอยู่ด้วย และจะเดินทางได้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2567 ถึง 5 มกราคม 2568 โดยตั๋วเที่ยวบินพิเศษที่เพิ่มมานี้จะเข้าสู่ระบบการขายตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2567

ส่วนบริษัทการบินไทย จะมีการปรับขนาดอากาศยานเพื่อให้มีจำนวนที่นั่งมากขึ้นในบางวัน ในเส้นทาง ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ และเชียงราย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2567 ไปจนถึงต้นเดือนมกราคม 2568 และทำให้มีจำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวถึง 25,144 ที่นั่ง ดังนั้นจึงมีที่นั่งเพิ่ม 73,388 ที่นั่ง

นอกจากนี้ ได้ให้ กพท.ประสานหน่วยงานด้านการบินทั้งสายการบิน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กรมท่าอากาศยาน (ทย.) บริษัท การบินกรุงเทพ และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เพื่อวางแผนจัดสรรตารางเวลาการบินของสนามบิน และขอขยายเวลาการให้บริการเพื่อให้สายการบินสามารถทำการบินได้มากขึ้นทั้งช่วงเช้าและช่วงดึก และขอให้สนามบินที่มีการจราจรคับคั่งผ่อนผันเวลาการเปิดให้บริการเพื่อไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง โดยเฉพาะวันที่ 27-28 ธันวาคม 2567 และวันที่ 1-2 มกราคม 2568 ซึ่งจะเป็นช่วงมีการเดินทางสูงกว่าช่วงเวลาปกติ

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนวางแผนการเดินทางในช่วงเทศกาล เนื่องจากจะมีความต้องการในการเดินทางสูงกว่าช่วงเวลาปกติ จึงทำให้ตั๋วโดยสารมีราคาสูงขึ้นตามความต้องการ รวมทั้งขอให้ตรวจสอบราคาค่าโดยสารผ่านช่องทางต่างๆ ก่อนทำการซื้อ โดยเฉพาะการซื้อผ่านตัวแทนออนไลน์หรือ OTA ในเวลากระชั้นชิด ที่อาจพบราคาตั๋วที่สูงกว่าปกติ

และแนะนำให้ซื้อตั๋วโดยสารตรงกับเว็บไซต์ของสายการบินเนื่องจากมีการควบคุมราคาเพดานค่าโดยสารจาก กพท. รวมทั้งเมื่อเกิดเหตุเปลี่ยนแปลงการเดินทางหรือต้องการการชดเชยกรณีต่างๆ ผู้โดยสารจะสามารถประสานโดยตรงกับสายการบินได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดย กพท.จะทำการตรวจสอบราคาค่าโดยสารในช่วงเทศกาลอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ค่าโดยสารเกินกว่าราคาเพดานที่กำหนด หากประชาชนพบเห็นการขายตั๋วเครื่องบินเกินเพดาน สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ https://portal.caat.or.th/complaint/

อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้ผู้โดยสารเผื่อเวลาในการเดินทางไปสนามบิน เนื่องจากช่วงเทศกาลจะมีปริมาณการเดินทางหนาแน่น และขอให้ผู้โดยสารติดตามข่าวสารจากทางสายการบิน ศึกษาเรื่องเอกสารที่ต้องใช้ในการเดินทาง รวมถึงสิทธิของผู้โดยสารหากเที่ยวบินล่าช้า หรือถูกยกเลิก ได้จากจุดประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อให้เข้าใจและสามารถผ่านจุดตรวจต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและราบรื่น

'สุริยะ' ย้ำ ที่เขากระโดงเป็นของ รฟท. ลั่น ไม่กังวลถูกโยงเป็นเรื่องการเมือง

เมื่อวันที่ (19 พ.ย.67)  ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าภายหลังการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน อุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิที่ดินเขากระโดง ว่า ขอย้ำอีกครั้ง รฟท. ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลฎีกา และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งที่ดินตรงนี้เป็นที่ดินของ รฟท. เมื่ออธิบดีกรมที่ดินวินิจฉัยต่างออกมา รฟท. ก็ทำหนังสือไปโต้แย้ง และดำเนินการเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวจากกรมที่ดิน กรณีดังกล่าวให้ไปฟ้องกับศาลแพ่ง เพื่อดำเนินการกับผู้ครองหรือบุกรุก 900 แปลง นายสุริยะ กล่าวว่า รฟท. ได้ประชุมบอร์ดเพื่อให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณา ใช้เวลาไม่เกิน1เดือน น่าจะฟ้องร้อง ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีกกรณีหนึ่ง

ถามว่า มีหลักฐานชัดเจนใช่หรือไม่ว่าที่ดินบริเวณเขากระโดง เป็นที่ของรฟท. รมว.คมนาคมตอบว่า ที่ดินเป็นของการรถไฟฯ แน่นอน สื่อฯ ไปตรวจสอบดูได้ในหนังสือโต้แย้ง 20 กว่าหน้า มีการระบุรายละเอียดชัดเจน

ส่วนสนามแข่งรถ และสนามฟุตบอล อยู่ในพื้นที่ของการรถไฟฯ ใช่หรือไม่นั้น นายสุริยะ กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าตรงนั้นครอบคลุมไปอย่างไร ซึ่งตนไม่ได้ดูในรายละเอียด

เมื่อถามว่า หากอธิบดีกรมที่ดิน ไม่เพิกถอนที่ดินเขากระโดง จะดำเนินการอย่างไร นายสุริยะ กล่าวว่า ขอรอดูคำตอบก่อน

ส่วนคำถามที่ว่า หากอธิบดีกรมที่ดินยังไม่ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลฯให้เพิกถอน กระทรวงคมนาคม จะดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีตาม ม.157 หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า เพิ่งได้คุยกับผู้ว่ารฟท. แต่ตนไม่อยากขยายความ

ถามว่า มีทางออกรองรับหรือไม่ ว่าให้ผู้บุกรุกมาเช่าที่ดินกับ รฟท. แทน รมว.คมนาคมตอบว่า ถือเป็นแนวทางที่กฤษฎีกานำเสนอ

ซักว่า ก่อนหน้านี้เลขาฯกฤษฎีกา และให้กรมที่ดินและการรถไฟฯ จับเข่าคุยกันเพื่อลดความขัดแย้ง นายสุริยะ กล่าวว่า ตอนนี้ต้องทำตามกฎหมายก่อน หากในเรื่องของกฎหมายชัดเจนแล้วว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯ จะไปให้เช่าหรือไม่อย่างไรก็ว่ากันต่อไป

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าเรื่องนี้จะถูกโยงเป็นเรื่องการเมือง แม้จะอ้างเป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายปฏิบัติ นายสุริยะ กล่าวว่า ไม่ได้กังวลเลย เพราะเป็นการทำแบบตรงไปตรงมา ถ้าไม่ทำตน และรฟท. จะถูกดำเนินคดีตาม ม.157

ถามว่า นายสมชาย แสวงการ อดีตสว. ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้เพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ เป็นการเอาคืนหรือไม่ รมว.คมนาคมตอบว่า ตนคิดว่าเรื่องที่ดินอัลไพน์ถ้าผิดกฎหมายก็ว่ากันไป แต่เบื้องต้นตนคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะใช่เรื่องผิดกฎหมาย

'สุริยะ' ดันต่ออายุรถไฟฟ้า 20 บาท อีก 1 ปี เตรียมเสนอเข้า ครม.สัญจร 29 พ.ย.นี้

(27 พ.ย. 67) ‘สุริยะ’ เตรียมเสนอ ครม.สัญจร 29 พ.ย.นี้ ต่อมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ครอบคลุมสายสีแดง และสายสีม่วงอีก 1 ปี มีผลทันทีถึง 30 พ.ย.2568 ขณะที่ พรบ. ตั๋วร่วม คาดเสนอสัปดาห์ถัดไป มั่นใจดึงรถไฟฟ้าทุกสีทุกสายในราคาเดียวกันตามเป้า ก.ย.ปีหน้า

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่จังหวัดเชียงใหม่ (ครม.สัญจร) วันที่ 29 พ.ย.นี้ กระทรวงฯ จะเสนอวาระขออนุมัติขยายมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ซึ่งมาตรการเดิมจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 พ.ย.2567

โดยการเสนอขออนุมัติขยายมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าดังกล่าว จะครอบคลุมเป็นเวลา 1 ปี โดยมีผลทันทีถึงวันที่ 30 พ.ย.2568 นับเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ทำให้เกิดการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระทรวงฯ ยังอยู่ระหว่างเดินหน้าขยายมาตรการค่าโดยสาร 20 บาทในเกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าทุกสีทุกสายภายในเดือน ก.ย.2568

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า การผลักดันมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสาย เนื่องด้วยต้องมีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... เพื่อจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม จัดหาแหล่งเงินมาชดเชยค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ปรับลดลงให้แก่เอกชนคู่สัญญา จึงจำเป็นต้องรอให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องด้วย โดยกระทรวงฯ คาดว่าจะสามารถเสนอร่าง พรบ.ตั๋วร่วม เพื่อให้ ครม.พิจารณาได้ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ ก่อนผลักดันตามขั้นตอนและมีผลบังคับใช้ตามเป้าหมายในเดือน ก.ย.2568

ทั้งนี้ ภายในร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... จะมีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ไว้ในมาตรา 29 และมาตรา 30 โดยแบ่งเป็น

มาตรา 29 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงาน เรียกว่า “กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม” มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนในการดำเนินงาน การพัฒนา และการส่งเสริมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม รวมทั้งมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

1. เพื่อส่งเสริมและอุดหนุนประชาชนผู้ใช้บริการระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะด้วยความสะดวก โดยมีต้นทุนการเดินทางที่สมเหตุสมผล

2. เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมของผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการเข้าร่วมระบบตั๋วร่วม

3. เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตกู้ยืมสำหรับดำเนินการลงทุน ปรับปรุง และพัฒนาการให้บริการระบบตั๋วร่วม

แหล่งที่มาของเงินกองทุนฯ มีการกำหนดไว้ใน มาตรา 30 กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
1. เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้

2. เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้

3. เงินค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต

4. เงินที่ได้รับตามมาตรา 31 ว่าด้วยให้ผู้รับใบอนุญาตนำส่งเงินเข้ากองทุน

5. เงินที่ได้รับจากผู้ให้บริการขนส่ง เมื่อมีสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงาน หรือสัญญาร่วมลงทุนแล้วแต่กรณี มีข้อสัญญาให้ผู้ให้บริการขนส่งจะต้องส่งเงินเข้ากองทุน

6. เงินค่าปรับทางปกครองตามมาตรา 40

7. เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่กองทุน

8. ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

ทั้งนี้ เงินอุดหนุนตาม 2 นั้น ให้รัฐมนตรีดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสมทบเข้ากองทุนในแต่ละปีงบประมาณตามความจำเป็น เงินและทรัพย์สินของกองทุนตามวรรคหนึ่ง ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top