Monday, 21 April 2025
สุริยะ

‘สุริยะ’ เร่งสปีดดัน ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ เตรียมชง ครม. ต.ค.นี้ พร้อมลุยโรดโชว์ดึงต่างชาติร่วมทุน ลุ้นเดินเรือยักษ์ใหญ่ร่วม

เมื่อวานนี้ (10 ต.ค.66) จากช่องยูทูบ MONAI CHANNEL ได้โพสต์คลิปวิดีโออธิบายเกี่ยวกับ ‘โครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร’ ที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่าพร้อมเดินหน้าโครงการนี้ต่อ โดยระบุว่า…

ณ ปัจจุบันนี้ หนึ่งในเส้นทางการเดินเรือสำคัญของโลกเป็นการเชื่อมกันระหว่างเอเชียตะวันออก ก็คือประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จากนั้นก็มีการอ้อมผ่านทางทะเลจีนใต้ ผ่านแหลมมลายู สิงคโปร์ ไปสู่ที่มหาสมุทรอินเดีย ไปผ่านอินเดียตอนใต้แล้วค่อยไปออกแถวแอฟริกา จากนั้นไปผ่านคลองสุเอซ เข้าไปต่อที่บริเวณแถบยุโรป และนี่คือเส้นทางการเดินเรือสำคัญ หรือจากยุโรปเองจะมีการส่งสินค้ามาก็ผ่านเส้นทางนี้เช่นกัน

แต่ ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีการศึกษามาเรียบร้อยแล้ว คือเป็นการทำ ‘ชอร์ตคัท’ ไม่ต้องไปอ้อมแหลมมลายูของทางสิงคโปร์ แต่ผ่านบริเวณแผ่นดินของประเทศไทย โดยจุดเชื่อมสำคัญบริเวณ ‘ทะเลอ่าวไทย’ คือ จังหวัดชุมพร และจุดเชื่อมสำคัญของบริเวณ ‘ทะเลอันดา’ คือ จังหวัดระนอง ซึ่งเราจะมีทั้งรถไฟทางคู่และถนนมอเตอร์เวย์ เพื่อที่จะให้เวลาเหลือ มีการเปลี่ยนโหมด ซึ่งพอมาถึงชุมพรจากนั้นก็ใช้เครื่องออโตเมติกหยิบตู้คอนเทนเนอร์ใส่รถไฟ รถไฟก็จะวิ่งข้ามแผ่นดินมาถึงที่จังหวัดระนอง จากนั้นก็มีระบบอัตโนมัติหยิบตู้คอนเทนเนอร์จากรถไฟไปลงเรือ จากเรือไปต่อมหาสมุทรอินเดียแล้วก็ไปส่งของต่อ ซึ่งจะเป็นเอเชียใต้ แอฟริกา หรือยุโรปก็ได้…

ซึ่งตอนแรกสุดเหมือน คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า…อาจจะไม่เดินหน้าโครงการนี้ต่อ แต่ล่าสุด ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2566 คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ ซึ่งขออนุญาตหยิบยกมาจากข่าวสด 

นายสุริยะกล่าวว่า “โครงการสภาเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย อันดามัน ชุมพรกับระนอง หรือแลนด์บริดจ์ คาดว่าจะเสนอให้ครม. พิจารณาเห็นชอบในหลักการภายใน 2 สัปดาห์นี้” ซึ่งก็คือภายในเดือนตุลาคมนี้ 

“ก่อนจะเดินหน้าไปโรดโชว์ต่างประเทศอย่างยุโรป สหรัฐฯ รวมไปถึงตะวันออกกลาง เพื่อชี้แนะรายละเอียดของโครงการประกอบการจูงใจดึงดูดนักลงทุนให้มาร่วมลงทุนในโครงการนี้ด้วย เพราะโครงการนี้ใช้เม็ดเงินลงทุนตัวเลขกลม ๆ ประมาณ 1 ล้านล้านบาท” นายสุริยะกล่าว

แต่เราจะไม่ใช้งบประมาณจะเป็นการลงทุนของภาคเอกชนทั้งหมด และจากนั้นให้สัมปทานไปยาว ๆ 50 ปีด้วยกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนต่างถกเถียงกันเป็นอย่างมาก โดยบางส่วนห่วงเรื่องของการจัดทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และบางส่วนบอกว่าจำเป็นต้องเดินหน้าจะเป็นโครงการที่เรียกได้ว่าพลิกโฉมหน้าประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้า การคมนาคมขนส่ง และแลนด์บริดจ์ที่ว่านี้ จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการเดินหน้าเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ หรือ SEC โดยปัจจุบันนี้ เรามีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จากนี้ไปเราจะมีแต่ละภาคหมด อย่างภาคเหนือจะมี NEC ส่วนภาคใต้ก็จะมี SEC 

ซึ่ง คุณสุริยะ ได้บอกต่อว่า คาดว่าจะเสนอสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม EIA แล้วเสร็จ ภายในช่วงต้นปี 67 ก่อนจะขับเคลื่อนเรื่องการลงทุนต่อไป เช่นเดียวกับแผนพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง ก็จะให้สนข.ผลักดันเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ‘แลนด์บริดจ์’ ยังไม่จบ…และจะมีการเดินหน้าต่อไปอย่างแน่นอน แต่ที่นี่ต้องรอดูว่าครม.จะเห็นชอบหลักการหรือไม่ และถ้าเกิดครม.เห็นชอบหลักการเวลาไปโรดโชว์ต่างประเทศ มีนักลงทุนต่างชาติสนใจหรือเปล่า…เพราะเป้าหมายสำคัญนักลงทุนต่างชาติที่ต้องให้ความสนใจ คือ บริษัทเดินเรือขนาดใหญ่…

‘รมว.สุริยะ’ กร้าว!! เร่งขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมรอบทิศ ‘ระบบขนส่งราง -โลจิสติกส์ - รถไฟทางคู่ -รถไฟฟ้ากทม.’

(24 ม.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน ปี 2567-2568 ว่า การสัมมนาในครั้งนี้ได้จัดทำ Action Plan ทุกหน่วยงานจะได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นตลอดช่วงเวลาของการ Workshop โดยผลักดันนโยบาย Quick Win 2567-2568 พบว่ามีโครงการสำคัญ 72 โครงการ

นอกจากนี้กระทรวงได้เร่งรัดทุกหน่วยงานพิจารณานโยบายของนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมโดยเฉพาะเรื่องต่าง ๆ ดังนี้…

1. นโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค 
2. บูรณาการแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกับเส้นทางในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกับจีนตอนใต้ (รถไฟไทย - สปป.ลาว - จีน) โครงการ EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ ให้ความสำคัญกับโครงการแลนด์บริดจ์ เปิดประตูการค้าสองฝั่งสมุทรทางภาคใต้

ตลอดช่วงเวลากว่า 3 เดือน ที่ผมและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมทั้ง 2 ท่านเข้ามาปฏิบัติงานที่กระทรวงคมนาคม พวกเราได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากทุกท่าน ผมจึงมีความมั่นใจอย่างยิ่งว่าผลที่ได้จากการ Workshop ในครั้งนี้ จะนำไปสู่ Action Plan ที่มีประสิทธิภาพ และ ผลักดันให้นโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันหลายประเทศที่พัฒนาแล้วพบว่ามีต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์คิดเป็น 9.5 -9.8 % ของจีดีพี ขณะที่ไทยมีต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์คิดเป็น 11-12 % ของจีดีพี  ซึ่งถือว่าไทยมีปริมาณต้นทุนที่สูง เนื่องจากไทยใช้ระบบถนนเป็นหลัก หากสามารถหันไปใช้ระบบขนส่งทางรางได้ จะช่วยลดต้นทุนขนส่งโลจิสติกส์ได้มากขึ้น เบื้องต้นได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันการใช้ระบบขนส่ง ทางราง เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง โลจิสติกส์ ภายใน 5-6 ปี โดยเฉพาะการเร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 และระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล ระยะทาง 554 กม.

สำหรับการสัมมนาฯ ในวันนี้ มีความคาดหวังอยากให้ทุกหน่วยงานได้เร่งรัดและบูรณาการโครงการที่จะดำเนินงานในปี 2567 รวมทั้งร่วมกันพิจารณากำหนดโครงการใหม่ที่จะดำเนินการในปี 2568 ตามภารกิจและโหมดการขนส่งในทุกมิติ และเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานได้นำเสนอกรอบวงเงินงบประมาณที่จะใช้ในการลงทุน แยกตามแหล่งเงิน ประโยชน์ที่จะประชาชนจะได้รับ และแผนการดำเนินการตั้งแต่เริ่มจนก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งเมื่อนำภาพผลงานที่ได้ดำเนินงานไปแล้วในช่วง 99 วันที่ผ่านมา มารวมกับผลลัพธ์จากการทำ Workshop ในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนได้เห็นภาพที่ชัดเจนถึงทิศทางการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในอนาคต ซึ่งสามารถจับต้องได้และสามารถทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม 

‘ขนส่งทางบก’ ปูพรมตรวจสอบสภาพรถติดตั้งก๊าซทั่วไทย ขีดเส้น 30 พ.ย. 67 ทุกคันต้องผ่านการตรวจสภาพ

(8 ต.ค. 67)รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เดินหน้ามาตรการด้านความปลอดภัยสูงสุดสำหรับรถโดยสารที่ติดตั้งก๊าซ CNG และ LPG โดยออกประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการตรวจสภาพรถตามเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการขนส่งสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัด หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง พ.ศ.2567 เพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบการรถโดยสารที่ใช้ก๊าซ CNG และ LPG ทั่วประเทศ ต้องนำรถเข้ามาตรวจสภาพรถ ณ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-5 สำนักงานขนส่งจังหวัด หรือสำนักงานขนส่งจังหวัดสาขา

โดยมาตรฐานการตรวจสภาพรถต้องตรวจผ่านตาม Check list อาทิ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบต้องมีความมั่นคงแข็งแรง ไม่ชำรุด เช่น ถังก๊าซต้องไม่บุบ บวม ผุกร่อน เหล็กรัดถัง และสกรูยึดขาถังต้องยึดอย่างมั่นคงแข็งแรง ตัวถังก๊าซต้องไม่หมดอายุตามวันที่ผู้ผลิตกำหนด หมายเลขถังก๊าซและจำนวนถังก๊าซต้องตรงกับที่ปรากฏอยู่ในระบบงานตรวจสภาพรถของกรมฯ

รวมถึงตรวจสอบอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ประตูฉุกเฉิน ทางออกฉุกเฉิน ประตูทางขึ้น - ลง เข็มขัดนิรภัย ค้อนทุบกระจก เครื่องดับเพลิง ต้องมีขนาด จำนวน และการติดตั้งถูกต้องระเบียบ พร้อมใช้งาน หากรถโดยสารที่เข้ามาตรวจสภาพรถแล้วไม่ผ่านการตรวจสภาพ เช่น ถังก๊าซหมดอายุ จำนวนถังไม่ตรงกับที่ปรากฏอยู่ในระบบงานตรวจสภาพของกรมฯ เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบชำรุด ตรวจพบการรั่วไหลของก๊าซ และตรวจพบน้ำหนักเกิน กรมฯ จะพ่นข้อความห้ามใช้จนกว่าจะนำรถไปแก้ไขก่อน และนำมาตรวจสภาพให้ถูกต้องอีกครั้ง จึงจะสามารถนำรถกลับมาใช้ใหม่ได้

ทั้งนี้ กรมฯ กำชับให้ผู้ประกอบการต้องนำรถโดยสารเข้ามาตรวจสภาพรถให้แล้วเสร็จ ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 พ.ย.67 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรายใดมีความพร้อมสามารถนัดหมายการตรวจสภาพล่วงหน้าได้ที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-5 สำนักงานขนส่งจังหวัด หรือสำนักงานขนส่งจังหวัดสาขา เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด และเพื่อความสะดวก รวดเร็ว กรณีนัดหมายมาตรวจสภาพรถ ณ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 รถโดยสารสามารถจอดรอคิวเพื่อเรียกเข้าตรวจสภาพ ณ สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากการรถไฟแห่งประเทศไทยในการอำนวยความสะดวกเพื่อจัดหาพื้นที่จอดรถดังกล่าว

สำหรับการตรวจสภาพรถโดยสารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องด้วยมีปริมาณรถมากกรมการขนส่งทางบกได้จัดทำแผนบริหารจัดการรถที่เข้าตรวจสภาพเพื่อบรรเทาการจราจรไม่ให้ติดขัด ดังนี้

1.รถโดยสารไม่ประจำทางขนาดใหญ่ (CNG) + รถตู้/รถมินิบัส ไม่ประจำทาง และประจำทาง (CNG) เฉพาะใน กทม. ให้ตรวจสภาพรถให้แล้วเสร็จภายใน 31 ต.ค.2567

2.รถโดยสารประจำทางขนาดใหญ่ (รถบัส CNG) ให้ตรวจสภาพรถให้แล้วเสร็จภายใน 30 พ.ย. 2567

3.รถที่ติดตั้ง (LPG)  ให้ตรวจสภาพรถให้แล้วเสร็จภายใน 30 พ.ย.2567

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกประสานไปยังกระทรวงศึกษาธิการในกรณีที่โรงเรียนจะมีการจัดทัศนศึกษา และเดินทางด้วยรถโดยสาร ขอความร่วมมืองดเว้นการใช้รถโดยสารในกลุ่มดังกล่าวในการเดินทางจนกว่ามาตรการตรวจรถโดยสารนี้จะแล้วเสร็จ เพื่อความปลอดภัยรวมถึงจะบูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สถานศึกษาทั่วประเทศ ในกรณีมีความจำเป็นต้องใช้รถเช่าเหมาหรือรถโดยสารไม่ประจำทาง (30) นำนักเรียนไปทัศนศึกษาหรือเดินทางนอกพื้นที่ ขอให้สถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานสำนักงานขนส่งจังหวัดตรวจสอบความพร้อมของรถ และซักซ้อมมาตรการความปลอดภัยก่อนออกเดินทางทุกครั้ง

‘มนพร เจริญศรี’ เผย พิจารณาใช้ประโยชน์ที่ดินท่าเรือคลองเตย ขณะนี้ไม่มีแผนผุด ‘Entertainment Complex’ กลางนคร

(9 ต.ค. 67) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าหลังจากที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานแล้วนั้น ขณะนี้ นายสุริยะอยู่ระหว่าง จัดสรรกำหนดการประชุมครั้งแรกให้ได้ภายในเดือน ต.ค. 2567 นี้

ทั้งนี้ เบื้องต้น คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่ท่าเรือคลองเตยฯ ได้เตรียมจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านบริหารพื้นที่, ด้านการใช้ประโยชน์พื้นที่, ด้านการดูแลชุมชน  เพื่อทำหน้าที่ดูรายละเอียดในแต่ละเรื่อง นำมาประกอบการพิจารณา

นางมนพรกล่าวว่า ประเด็นสำคัญในตอนนี้คือ ในพื้นที่ของท่าเรือคลองเตย ทางกรมศุลกากรได้นำไม้พะยูงที่ตรวจยึดจากคดีความต่างๆ มาขอใช้พื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ประมาณ 20 ไร่ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมเห็นว่า ทางกรมศุลกากรควรขนย้ายออกไปใช้พื้นที่อื่น เนื่องจาก กทท.และกระทรวงเห็นว่า ควรนำพื้นที่ดังกล่าวมาทำประโยชน์ด้านอื่น

ผู้สื่อข่าวถามว่าในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือคลองเตย มีเอกชนรายใดสนใจที่จะเข้ามาลงทุนการทำสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) หรือไม่ นางมนพรกล่าวว่า ยืนยันว่ารัฐบาลยังไม่มีแผนที่จะทำสถานบันเทิงครบวงจรในขณะนี้ ท่าเรือคลองเตยมีแผนพัฒนาให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) เท่านั้น ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมดรวม 2,300 ไร่ แต่ยอมรับว่า ในพื้นที่นี้มีแผนจะจัดสรรบางส่วนพัฒนาเชิงพาณิชย์ เป็นโครงการแบบ Mixed Use  ซึ่งก็มีกลุ่มเอกชนที่สนใจ เช่น  กลุ่มธุรกิจเครือเซ็นทรัล ซึ่งทางเซ็นทรัลเคยทำผลการศึกษาพื้นที่นี้มาก่อน

ส่วนการบริหารจัดการพื้นที่ชุมชนคลองเตย นางมนพรกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดสรรที่อยู่อาศัยให้คนกลุ่มนี้   ในเบื้องต้นจะไม่เข้าไปยุ่งโดยตรง แต่ในแผนพัฒนาพื้นที่ท่าเรือคลองเตย ก็มีแผนที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัยให้อยู่แล้ว  โดยสั่งการนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ดูต้นแบบการพัฒนาแฟลตดินแดงใหม่ของการเคหะแห่งชาติ ว่าแนวคิดมีกระบวนการอย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นที่จะหารือในการประชุมครั้งแรกนี้ด้วย

สำหรับพื้นที่คลังเก็บน้ำมันของ บจ.เชลล์แห่งประเทศไทย, บมจ.ปตท. และบมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น นั้น นางมนพรกล่าวว่า การย้ายคลังน้ำมันออกจากพื้นที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องดูก่อนว่าระยะเวลาเช่าพื้นที่เหลืออีกเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ได้ให้กทท.เร่งงานถมทะเล เพื่อก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ด้วย เพราะกรณีที่จำเป็นต้องย้ายคลังน้ำมันออกจากท่าเรือคลองเตย ก็น่าจะไปที่แหลมฉบัง ซึ่งต้องมีการพิจารณาแผน ว่าจะจัดเตรียมพื้นที่รองรับอย่างไร และรัฐบาลต้องสนับสนุนอะไรหรือไม่

เปิด 6 เส้นทาง เตรียมเก็บค่ารถติด กลางเมืองกรุงฯ สานนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท-แก้ปัญหา PM2.5

(22 ต.ค. 67) จากที่กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง เตรียมร่วมกันศึกษาแนวทางการดำเนินการนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมา เพื่อซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าจากเอกชน คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งการซื้อคืนนี้ เพื่อทำให้ภาครัฐ สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกลง และเป็นธรรม เข้าถึงได้ง่ายนั้นโดย เบื้องต้นกองทุนฯ จะกำหนดระยะเวลา 30 ปี แหล่งเงินของกองทุนฯ ส่วนหนึ่งเป็นการระดมทุน ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือเงินปันผล เป็นต้น อีกส่วนจะเป็นรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด(Congestion charge) เป็นรูปแบบที่ได้ดำเนินการในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประสบผลสำเร็จ เช่น ประเทศอังกฤษซึ่งกระทรวงการคลังจะไปศึกษารูปแบบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า การจัดตั้งกองทุน เพื่อเดินหน้านโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกสาย และการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคม นั้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้มีการศึกษาเบื้องต้น กรณีการเก็บจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจราจรคับคั่ง หรือพื้นที่รถติด (Congestion charge) โดยสนข.ความร่วมมือกับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)  ซึ่งมีสำรวจ ถนนอยู่ที่มีปริมาณจราจรหนาแน่น คาดว่าจะมีการจัดเก็บ Congestion charge พบว่า มีปริมาณจราจรรวมกันประมาณ 700,000 คัน/วัน ดังนั้นยกตัวอย่าง หากจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯคันละ 50  บาท ประเมินเบื้องต้น จะมีรายได้ประมาณ 35 ล้านบาทต่อวัน หรือ 12,000 ล้านบาทต่อปี ที่สามารถสนับสนุนกองทุนฯซื้อคืนสัมปทานได้

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า จากที่สนข.ได้มีความร่วมมือกับสำนักงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) มีเป้าหมายเรื่องภาคขนส่งเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งมีการศึกษาสำรวจปริมาณจราจรของโครงข่ายถนนที่คาดว่าจะมีการดำเนินการมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion charge) จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่

1.ทางแยก เพชรบุรี-ทองหล่อ (ช่วงถนนเพชรบุรี และ ทองหล่อ) มีปริมาณจราจร 60,112 คัน/วัน 

2.ทางแยก สีลม-นคราธิวาส (ช่วงถนน นราธิวาสราชนครินทร์ และ ถนนสีสม) มีปริมาณจราจร 62,453 คัน/วัน

3.ทางแยก สาทร-นราธิวาส (ช่วงถนน นราธิวาสราชนครินทร์ และ ถนนสาธร) มีปริมาณจราจร 83,368 คัน/วัน 

4.ทางแยก ปทุมวัน (ช่วงถนนพญาไทและ ถนนพระรามที่ 1 ) มีปริมาณจราจร 62,453 คัน/วัน

5.ทางแยก ราชประสงค์ (ช่วงถนนราชดำริ ถนนพระราม 1 และถนนเพลินจิต) มีปริมาณจราจร 56,235 คัน/วัน

6.ทางแยกประตูน้ำ  (ช่วงถนนราชดำริ ถนนราชปรารถ และถนนเพชรบุรี) มีปริมาณจราจร 68,473 คัน/วัน) 

ทั้งนี้ ตัวเลขปริมาณจราจรดังกล่าว เป็นการเก็บสถิติการจราจร ในปี 2566 ซึ่งเก็บสถิติ ช่วงเวลา 07.00-19.00 น. โดยหากมีการจัดเก็บ Congestion charge คาดว่าปริมาณจราจรที่เข้าสู่ถนนดังกล่าว จะลดลงไปจากตัวเลขที่มีการสำรวจ 

นายปัญญากล่าวว่า ขณะนี้ สนข.เตรียมศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม โดยได้มีความร่วมมือกับ UKPact  กองทุนจากประเทศอังกฤษ โดยจะเริ่มการศึกษา ในเดือนธ.ค.2567  โดยสนข.จะหารือเพื่อให้เร่งสรุปในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Congestion charge ภายในกลางปี 2568 เพื่อให้ทันกับนโยบายขยายมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาท ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรือง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

‘สุริยะ’ เผย 23 ต.ค. นี้ ฟรี!! ค่าทางด่วน 61 ด่าน ลดค่าครองชีพ-อำนวยความสะดวกให้ประชาชน

(22 ต.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกความปลอดภัยในการเดินทางและเพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้พี่น้องประชาชน 

ตนได้มอบให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษในวันพุธที่ 23 ตุลาคม 2567 เนื่องในโอกาสวันปิยมหาราช จำนวน 1 วัน 3 สายทาง รวม 61 ด่าน ดังนี้ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) 20 ด่าน ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) 31 ด่าน และทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน - ปากเกร็ด) 10 ด่าน

สำหรับยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมที่ปรากฏในสัญญาสัมปทานฉบับแก้ไขใหม่ระหว่าง กทพ. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) และบริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในวันหยุดและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน รวมทั้งช่วยลดปัญหาจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษอีกด้วย

ทั้งนี้ กทพ. ขอเชิญชวนผู้ใช้บริการบัตร Easy Pass ลงทะเบียนเข้าระบบสะสมแต้ม EXAT Reward ผ่านทาง EXAT Portal Application หรือ www.thaieasypass.com เพื่อรับสิทธิพิเศษมากมาย รวมถึงแลกเงินคืนเข้าบัตร Easy Pass และลงทะเบียนปรับปรุงข้อมูลด้วยตนเองผ่านทางแอปฯ และเว็บไซต์ดังกล่าวเพื่อยกระดับบัตร Easy Pass เป็น Easy Pass Plus สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ทางพิเศษ (EXAT Call Center) โทร. 1543 ตลอด 24 ชั่วโมง

‘สามารถ ราชพลสิทธิ์’ หนุนไอเดีย ‘ซื้อรถไฟฟ้า-ค่ารถติด’ แนะ ทำให้รอบคอบ-รอบด้าน ชี้ รบ.ทุกยุคเล็งเก็บค่ารถติด

(24 ต.ค. 67) ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงแนวทางของรัฐบาลในการซื้อสัมปทานรถไฟฟ้า ว่า

ซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืน แต่
ขยายสัมปทานทางด่วน

รัฐจะซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน เพื่อลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายทุกสีเหลือ 20 บาทตลอดสาย ถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน ในขณะเดียวกันรัฐบอกว่าต้องการทำให้ค่าผ่านทางด่วนถูกลงด้วย ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีเช่นเดียวกัน แต่กลับจะขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ให้เอกชน ซึ่งจะไม่สามารถทำให้ค่าผ่านทางด่วนทั้งโครงข่ายถูกลงได้ ในทางกลับกัน การทำให้สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงโดยเร็ว จะทำให้ค่าผ่านทางถูกลง 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีข่าวว่าในเดือนธันวาคม 2567 กระทรวงคมนาคมเตรียมจะลงนามสัญญาขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชครั้งที่ 2 ให้เอกชนผู้รับสัมปทานออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2578 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2601 เพื่อแลกกับการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ระยะทาง 17 กิโลเมตร มูลค่า 34,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐให้สัมปทานทางด่วนศรีรัชแก่เอกชนเป็นระยะเวลาดังนี้
(1) เริ่มต้นให้สัมปทาน 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2533 จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563
(2) ขยายสัมปทานครั้งที่ 1 ออกไป 15 ปี 8 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2578 
(3) กำลังจะขยายสัมปทานครั้งที่ 2 ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2578จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2601 
(4) รวมระยะเวลาสัมปทานทั้งหมดถึง 68 ปี 1 เดือน !

หลังจากขยายสัมปทานครั้งที่ 2 ในเดือนมกราคม 2568 รัฐจะเริ่มลดค่าผ่านทางเฉพาะช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ที่ปัจจุบันสำหรับรถ 4 ล้อ มีอัตราสูงสุด 90 บาท จะปรับลดลงเหลือสูงสุด 50 บาท เป็นที่น่าสังเกตว่าการลดค่าผ่านทางดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการขยายสัมปทานให้เอกชน แต่เป็นผลจากการที่รัฐยอมเฉือนรายได้ของตนเองลงมา ดังนั้น ถึงแม้จะไม่ขยายสัมปทานให้เอกชนก็ตาม หากรัฐยอมลดส่วนแบ่งรายได้จากค่าผ่านทางลงก็จะสามารถทำให้ค่าผ่านทางถูกลงได้ 

ผมมีความเห็นว่า หากกระทรวงคมนาคมเชื่อว่า Double Deck จะช่วยแก้ปัญหารถติดบนทางด่วนได้จริง กระทรวงคมนาคมก็ควรเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง Double Deck เอง ไม่ควรมอบให้เอกชนก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้รัฐไม่ต้องขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชให้เอกชนอีก รออีกเพียง 11 ปีเท่านั้น ทางด่วนศรีรัชก็จะกลับมาเป็นของรัฐ ถึงเวลานั้น รัฐก็จะสามารถลดค่าผ่านทางด่วนทั้งโครงข่ายให้ต่ำลงได้

หากยังจำกันได้ การเตรียมขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชให้เอกชน เป็นเหตุให้สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หวั่นว่ารัฐจะเสียผลประโยชน์ จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ถึงผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีข้อความตอนหนึ่งว่า “สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต พิจารณาแล้วเห็นว่า เงื่อนไขในสัญญาบางประการตามที่สื่อมวลชนได้รายงานมีความเสี่ยงที่อาจทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนคู่สัญญา” จึงขอให้ กทพ.ชี้แจงข้อเท็จจริงภายในวันที่ 7 สิงหาคม 2567

แต่จนถึงวันนี้ ไม่มีข่าวว่า กทพ.ได้ชี้แจงข้อห่วงใยของ ป.ป.ช.จนสิ้นสงสัยแล้วหรือยัง ? หรือขอเลื่อนการชี้แจงออกไปเรื่อยๆ ? ตามที่เคยมีข่าวว่า กทพ.มีหนังสือถึง ป.ป.ช. ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ขอเลื่อนการชี้แจงออกไป 30 วัน ถึงวันนี้ก็เลย 30 วันแล้ว อาจเป็นไปได้ว่า กทพ.ได้มีหนังสือถึง ป.ป.ช. ขอเลื่อนการชี้แจงออกไปอีก ?

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง การที่กระทรวงคมนาคมเตรียมที่จะลงนามสัญญาขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชครั้งที่ 2 ให้เอกชนอีก 22 ปี 5 เดือน ในเดือนธันวาคม 2567 กระทรวงคมนาคมมั่นใจได้อย่างไรว่า ก่อนถึงวันลงนามสัญญา กทพ.จะสามารถชี้แจงข้อกังขาให้ ป.ป.ช.ได้จนเป็นที่พอใจของ ป.ป.ช. ?

นอกจากนี้ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ยังเคยแสดงความคิดเห็นถึงการจัดเก็บค่ารถติดในบริเวณกลางเมือง ว่า

เก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจ
หาเงินซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืน

รัฐเผยแนวคิดที่จะหาเงินจากการเก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นรายได้ส่วนหนึ่งที่จะนำไปซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน ทำให้สามารถลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายทุกสีเหลือ 20 บาทตลอดสาย ได้ตลอดไป แนวคิดนี้มีมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว แต่ก็ต้องพับเก็บไว้ เพราะเป็นแนวคิดที่ส่งผลกระทบต่อผู้เดินทางจำนวนมาก ครั้งนี้จะทำได้สำเร็จได้หรือไม่ ?

1. ค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge หรือ Congestion Pricing)
การเก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจหรือที่เรียกกันว่า ค่าธรรมเนียมรถติดนั้นมีบางเมืองในต่างประเทศที่ทำสำเร็จ แต่ก็มีบางเมืองที่ล้มเหลว ค่าธรรมเนียมรถติดยึดถือหลักการว่าคนขับรถทุกคนมีส่วนทำให้รถติดก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบ แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่าถ้ารัฐให้บริการระบบขนส่งมวลชนและรถโดยสารสาธารณะได้ดีพอ ก็ไม่อยากใช้รถส่วนตัว จึงเกิดเป็นคำถามว่าเวลานี้ในพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายในการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เช่น ถนนสุขุมวิท และถนนสีลม เป็นต้น มีรถไฟฟ้า และ/หรือ รถเมล์ รถโดยสารสาธารณะอื่น ที่ดีและเพียงพอแล้วหรือยัง ?

2. กรุงเทพฯ พร้อมที่จะเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ?
มีการศึกษาการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในกรุงเทพฯ มาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ เนื่องจากแนวคิดนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก ทำให้นักการเมืองไม่กล้านำมาใช้ เพราะจะทำให้คะแนนนิยมทางการเมืองลดน้อยลง มาถึงรัฐบาลนี้กลับมีความกล้าขึ้นมา อาจเป็นเพราะว่าต้องการทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทุกสายทุกสีเป็นจริงและยั่งยืนตามที่ได้หาเสียงไว้ หากไม่ซื้อสัมปทานคืนจากเอกชน นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ซึ่งต้องชดเชยเงินให้เอกชนผู้รับสัมปทานคงทำได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง แต่ถ้าซื้อสัมปทานคืนได้ก็ไม่ต้องชดเชยเงินให้เอกชน เป็นผลให้รัฐต้องการซื้อสัมปทานคืนด้วยการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดเป็นรายได้แหล่งหนึ่งที่จะนำไปซื้อสัมปทานคืน แต่การเก็บค่าธรรมเนียมรถติดจะส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากแม้ในพื้นที่ที่มีรถไฟฟ้าแล้วก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่จะเก็บค่าธรรมเนียมรถติด รัฐจะต้องเตรียมความพร้อมทุกด้านอย่างรอบคอบเพื่อลดผลกระทบต่อผู้คนที่จำเป็นต้องเดินทางเข้า-ออกย่านธุรกิจที่เป็นเป้าหมาย รวมทั้งผู้ที่อยู่อาศัยในย่านธุรกิจ

3. การเตรียมความพร้อมในการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด
เนื่องจากการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในกรุงเทพฯ จะส่งผลกระทบหลายด้าน ดังนั้น รัฐจะต้องเตรียมความพร้อมตอบสนองต่อหลากหลายคำถาม เช่น
(1) นักเรียนที่มีผู้ปกครองขับรถไปรับ-ส่งที่โรงเรียน หากผู้ปกครองมีฐานะดีก็คงยินดีจ่ายค่าผ่านทาง คงไม่ยอมให้ลูกนั่งรถไฟฟ้า และ/หรือ รถโดยสารสาธารณะไปโรงเรียน แต่หากผู้ปกครองที่พยายามขวนขวายหารถส่วนตัวมาใช้ก็คงคิดหนักว่าจะจอดรถก่อนเข้าพื้นที่เป้าหมายดีหรือไม่ ? มีที่จอดรถมั้ย ? อัตราค่าจอดรถเท่าไหร่ ? จอดรถแล้วลูกจะเดินทางไปโรงเรียนอย่างไร ? มีรถไฟฟ้าหรือไม่ ? รถไฟฟ้าไปถึงโรงเรียนหรือไม่ ? ถ้าไม่ถึง มีรถโดยสารสาธารณะอื่นหรือไม่ ?
(2) ที่จอดรถนอกพื้นที่เป้าหมายมีเพียงพอหรือไม่ ? อัตราค่าจอดรถเท่าใด ?
(3) ในพื้นที่เป้าหมายนอกจากมีรถไฟฟ้าแล้ว มีรถโดยสารสาธารณะอื่นเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างสถานีรถไฟฟ้าไปโรงเรียน หรือที่ทำงานหรือไม่ ?
(4) ผู้ที่อยู่อาศัยในย่านธุรกิจที่เป็นเป้าหมายในการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด จะต้องจ่ายค่าผ่านทางเข้า-ออกพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่ด้วยหรือไม่ ?
(5) รถที่มีคนนั่งหลายคน เช่นตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป (รวมทั้งคนขับ) จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรถติดหรือไม่ ?
(6) รถที่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรถติดมีรถประเภทใดบ้าง ?
(7) ช่วงเวลาการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ? หรือตลอดทั้งวัน ?
(อัตราค่าธรรมเนียมรถติดเท่าใด ? เท่ากันตลอดทั้งวัน ? หรือเปลี่ยนตามช่วงเวลา ?
(9) กรุงเทพฯ มีตรอกซอกซอยมาก จะป้องกันไม่ให้ผู้ใช้รถใช้เป็นเส้นทางหลบเลี่ยงการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดได้อย่างไร ?
(10) จะนำเทคโนโลยีใดมาใช้เก็บค่าธรรมเนียมรถติด ?

4. สรุป
โดยสรุป หากรัฐเตรียมความพร้อมทุกด้านไว้อย่างดี การเก็บค่าธรรมเนียมรถติดคงทำให้รัฐได้เงินไม่น้อยที่จะเป็นรายได้แหล่งหนึ่งในการนำไปซื้อสัมปทานคืนจากเอกชน แต่ถ้ารัฐไม่สามารถเตรียมความพร้อมทุกด้านได้ดีพอ การเก็บค่าธรรมเนียมรถติดก็จะล้มเหลวอีกเช่นเคย

ครบรอบ 1 ปีรถไฟฟ้า 20 บาท รฟม. เผยผลสำเร็จโครงการ ผู้โดยสารสีม่วงพุ่ง 17.70% รับ อานิสงส์ครบทั้งลานจอดรถ-สายสีน้ำเงิน

(25 ต.ค. 67) เมื่อ 23 ต.ค. 67 ที่ผ่านมาครบรอบการดำเนินการตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย 1 ปีในการนี้ทางการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจึงออกมาแถลงถึงผลการดำเนินการที่ผ่านมา

โดยนายวิทยา พันธุ์มงคล รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า 

หลังจากที่ รฟม. ได้ดำเนินการตามนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ซึ่งเป็นหนึ่งนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ที่สำคัญของกระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน 

โดยเริ่มดำเนินการในระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ก่อนเป็นลำดับแรก ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 จากนั้นในระยะที่ 2 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 จึงเริ่มใช้อัตราค่าโดยสารร่วมสูงสุด 20 บาท สำหรับผู้เดินทางเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และระบบรถไฟฟ้าชานเมือง สายนครวิถี (สายสีแดง) โดยใช้บัตร EMV Contactless ใบเดียวกัน และเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที 

ทั้งนี้ ตลอดช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ได้เริ่มดำเนินการมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาท พบว่า จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 17.70 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเริ่มมาตรการ โดยปัจจุบันผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 66,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงผลของการดำเนินงานตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ได้อย่างชัดเจน  

นายวิทยา พันธุ์มงคล กล่าวต่อว่า จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงที่เพิ่มสูงขึ้น ยังช่วยเพิ่มปริมาณผู้โดยสารให้กับรถไฟฟ้าสายอื่นได้เป็นอย่างดี โดยจากผลการเปรียบเทียบจำนวนผู้โดยสารในช่วงก่อนดำเนินการนโยบายเทียบกับปัจจุบัน พบว่า รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึงร้อยละ 11.92 หรือคิดเป็นจำนวนเฉลี่ยกว่า 420,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน 

สถานีรถไฟฟ้าที่มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สถานีสุขุมวิท สถานีเพชรบุรี สถานีพระราม 9 สถานีพหลโยธิน และสถานีสีลม โดยสถานีสุขุมวิทและสถานีสีลมซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.11 และ 9.80 ตามลำดับ 

ในส่วนของรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยสถานีที่มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สถานีเตาปูน สถานีตลาดบางใหญ่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีบางซ่อน และสถานีคลองบางไผ่ โดยในส่วนของสถานีศูนย์ราชการนนทบุรีซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีชมพู มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 63.36 และสถานีตลาดบางใหญ่ซึ่งเป็นสถานีที่อยู่ใกล้ห้างสรรพสินค้า แหล่งชุมชน มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.22 ตามลำดับ

นอกจากนี้ จำนวนผู้ใช้บริการอาคารจอดแล้วจร MRT สายสีม่วง ก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เมื่อเทียบกับช่วงก่อนดำเนินการนโยบาย เช่น อาคารจอดแล้วจรสถานีสามแยกบางใหญ่ มีจำนวนผู้ใช้บริการในช่วงวันธรรมดาเพิ่มสูงถึงร้อยละ 29 อาคารจอดแล้วจรสถานีบางรักน้อยท่าอิฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 และอาคารจอดแล้วจรสถานีคลองบางไผ่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เป็นต้น 

สถานีคลองบางไผ่นอกจากจะมีอาคารจอดแล้วจรให้บริการแล้วนั้น ยังถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์คมนาคมขนส่งด้านตะวันตก (คลองบางไผ่) ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยเปิดให้บริการจุดจอดรถรับ-ส่ง รถโดยสารประจำทางของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท สมาร์ทบัส จำกัด เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างระบบขนส่งสาธารณะทางบกและทางรางแบบไร้รอยต่อ (Seamless Transport) 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้สะท้อนให้เห็นว่านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น นอกจากจะช่วยเพิ่มปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงแล้วนั้น ยังสนับสนุนให้เกิดการใช้รถไฟฟ้าในภาพรวมของทั้งโครงข่าย ลดการใช้รถส่วนบุคคลเพื่อลดปัญหาการจราจรและมลพิษทางอากาศ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบของสถานีรถไฟฟ้า 

ทางหลวงชนบท พัฒนาถนนเชื่อม ‘พัทลุง-ทะเลสาบสงขลา’ หนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง-ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

(28 ต.ค. 67) นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาสู่ต้นแบบการท่องเที่ยวยั่งยืน โดยลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีลักษณะพิเศษ ระบบนิเวศสามน้ำ ทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด หนึ่งเดียวของประเทศไทย และเป็นหนึ่งใน 117 แห่งทั่วโลก เป็นพื้นที่มี ศักยภาพ มีคุณค่า ซึ่งถูกประกาศให้ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 

ทช. จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย พท.4007 แยก ทล.4047 – บ้านทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงชุมชนท้องถิ่นริมชายฝั่งทะเลสาบสงขลา ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน

นายมนตรี กล่าวต่อไปว่า สำหรับรูปแบบการดำเนินโครงการก่อสร้างเป็นถนนผิวจราจรแอสฟัลต์คอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร ไป – กลับ ผิวจราจรกว้างข้างละ 3.5 เมตร ไหล่ทางข้างละ 1 – 2.5 เมตร พร้อมก่อสร้างระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ติดตั้งเครื่องหมายจราจร สิ่งอำนวยความปลอดภัย มีการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 2 แห่ง และขยายสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กเดิม จำนวน 3 แห่ง โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม.ที่ 0+000 (หาดแสนสุขลำปำ) ถึง กม.ที่ 21+033 (ทะเลน้อย) ระยะทาง 21.033 กิโลเมตร ใช้งบประมาณรวม 249.100 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทช. พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวที่มาพร้อมกับการเติบโตของเศรษฐกิจจากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ อีกทั้ง จะช่วยผลักดันยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเชิงทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการนี้จะสามารถรองรับปริมาณการจราจรการขนส่ง และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดพัทลุง เพื่อมุ่งยกระดับเมืองชั้นรอง เส้นทางท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ปัจจุบันโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จสมบูรณ์ ประชาชนสามารถสัญจรผ่านได้เรียบร้อยแล้ว

‘สุริยะ’ ยันโครงการ ‘รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน’ เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เตรียมชงแก้สัญญาเข้า ครม.

(29 ต.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ว่า ยังไม่มีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะเป็นสัปดาห์หน้าหรือสัปดาห์ถัดไป 

แต่ยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้เจรจากับภาคเอกชน โดยเอกชนได้รับผลกระทบจากโควิด อยากให้รัฐบาลแก้ไขเยียวยา ซึ่งมีข้อเสนอมา 6 ข้อ แต่คณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาเห็นว่ามีเพียงข้อเดียวที่จะรับได้คือ เรื่องต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้น เนื่องจากมีผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน   

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเรียกร้องประเด็นค่าก่อสร้างเพิ่มเติมที่เอกชนขอมานั้น รฟท.ไม่ได้ให้ ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบโควิด เรามองว่าเป็นเหตุสุดวิสัย จึงต้องแก้สัญญา โดยได้ดูครบถ้วนทุกประเด็นที่รัฐไม่เสียประโยชน์ ประกอบกับเราอยากให้โครงการนี้เดินต่อ 

หากมีการยกเลิกสัญญาปัญหาจะตามมา รัฐเองต้องยอมรับว่าไม่สามารถส่งพื้นที่ก่อสร้างให้กับเอกชนได้ เอกชนเองที่ต้องจ่ายในส่วนของแอร์พอร์ตลิงก์ให้ก็ไม่ได้จ่าย ทำให้ต้องเจรจากัน อย่างไรก็ตาม เรื่องการเจรจา ตนไม่ใช่ผู้ริเริ่มเจรจา แต่เป็นโครงการที่ต่อเนื่องมาจาก รฟท. และเข้ามาที่สำนักงานนโยบายและแผนงานและขนส่งจราจร  กระทรวงคมนาคม เป็นผู้กรองเรื่อง ซึ่งเห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์ ไม่เสียเปรียบ ตนจึงได้เซ็นเรื่องไป

”โครงการนี้เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ ลดระยะเวลาเดินทางจาก กทม.ไปอู่ตะเภาได้มาก การเดินหน้าโครงการนี้จึงเป็นประโยชน์ ยืนยันการเดินหน้าโครงการนี้รัฐบาลไม่เสียเปรียบเอกชน 100%  เพราะการแก้ไขสัญญาต่าง ๆ มีอัยการเข้ามาช่วยดูแล” นายสุริยะ กล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการแก้ไขสัญญาเสร็จสิ้นแล้ว โครงการจะแล้วเสร็จเมื่อใด นายสุริยะ กล่าวว่า หากเราไม่รีบเจรจาแก้ไขสัญญา โครงการจะแล้วเสร็จล่าช้ากว่าปี 71 จะมีผลกระทบไปถึงโครงการเมืองการบินที่การยื่นเงื่อนไขการยื่นประมูลมีเรื่องของรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหากล่าช้ากว่าปี 71 อาจจะถูกฟ้องร้องจากเอกชน เราพยายามจะทำให้เสร็จตามกรอบเวลาดังกล่าว 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top