(27 ม.ค. 68) นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า ปักกิ่งโมเดล
ช่วงนี้เมื่อสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 รุนแรงมากโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองใหญ่ หลายท่านอาจจะเคยได้ยินการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แบบ “ปักกิ่งโมเดล” แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร ผมจะเล่าคร่าวๆ ให้ฟังครับว่าก่อนหน้านี้กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนเคยประสบปัญหา PM 2.5 อย่างรุนแรงพอๆ กับกรุงเทพฯ ช่วงนี้ แต่ทางเมือง + รัฐบาล ได้มีแผนและเริ่มบังคับใช้อย่างจริงจังประมาณช่วงปี ค.ศ 2013 เชื่อไหมครับว่าใช้เวลา 4-5 ปี พอหลังปี ค.ศ . 2017 ค่าฝุ่น PM 2.5 เริ่มลดลงได้ถึงประมาณ 35 % และยังเข้มงวดกวดขันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้เค้าไม่ได้ทำแค่ 1-2 ปีครับ ช่วงแรกที่เริ่มจะเห็นผลใช้เวลา 4-5 ปี และมีแผนระยะยาวพร้อมกวดขันและเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นเค้าก็รู้เหมือนเราแหละครับว่าสาเหตุของฝุ่น PM 2.5 มาจากอะไรเป็นหลัก คือ การเผา มลพิษอุตสาหกรรม การสันดาปของเครื่องยนต์เมื่อการจราจรติดขัด แต่ที่ต่างคือมีการวางแผนและบังคับใช้อย่างเข้มงวดสไตล์พี่จีนครับ
หลายท่านที่เคยไปปักกิ่งจะทราบครับว่าปักกิ่งก็คล้ายๆ กรุงเทพฯ คือมีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในเขตกรุงปักกิ่งเองและวงรอบนอก แต่ที่ยิ่งกว่าเราคือเค้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งหนักกว่าเราอีกครับ เค้าทำยังไงครับ ??? ก็ปิดเลยสิครับ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 แห่งทยอยปิดใน 4 ปี ปิดโรงงานก่อมลพิษหลายร้อยโรง โรงงานที่ยังเหลืออีกหลายพันโรงต้องปรับปรุงให้ผ่านมาตรฐานไม่ปล่อยมลพิษถึงจะอยู่ได้
ยังไม่พอครับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งเพิ่มสวนสาธารณะกว่า 30 แห่ง ทำให้ปัจจุบันประชาชนปักกิ่งมีค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียว 1 คน ประมาณ 17 ตร.ม. (ในขณะที่คนกรุงเทพฯ ประมาณ 7 ตร.ม.) และยังคงมีแผนเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลและกรุงปักกิ่งยังได้ทยอยเปลี่ยนรถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ และรถที่เป็นของหน่วยงานราชการเป็นพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด (EV) และเพิ่มโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมทั่วถึงสร้างความสะดวกสบายและเข้าถึงง่ายให้ประชาชน
ส่วนเรื่องเผา สไตล์จีนเรื่องเข้มงวดไม่เป็นสองรอใครอยู่แล้วครับ มีการดำเนินการกวดขันและจับกุมอย่างเข้มงวดจริงจัง มีการตั้งตำรวจสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเพื่อดูแลในเรื่องนี้
ในเรื่องของการจราจร มีการใช้ทั้งการควบคุมมลพิษจากรถยนต์โดยการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า EV และผลักดันสถานีชาร์จใช้ครอบคลุมเมืองอย่างทั่วถึง รวมถึงการเน้นขนส่งทางรางและทางน้ำมากขึ้น (ซึ่งอันนี้ของเราผมงงมากเพราะผู้บริหาร กทม. ชุดปัจจุบันพยายามเลิกและผลักภาระในส่วนนี้ไปให้รัฐบาลทำแทน )
หรือเข้มขนาดที่ว่ากำหนดวันใช้รถเลขคู่เลขคี่ ซึ่งอันนี้บ้านเราคัดค้านกันมากแต่ถ้าถึงเวลาจำเป็นก็ต้องทำครับ นี่ยังไม่นับการเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรเป็นระบบอัจฉริยะใช้ AI ทำให้การปล่อยสัญญาณจราจรลื่นไหลไม่ตามอำเภอใจของมนุษย์
จะเห็นได้ว่าเมืองปักกิ่งและรัฐบาลจีนได้ใช้ทุกกระบวนท่า ในการที่จะทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 ลดลงอย่างจริงจัง ที่สำคัญที่สุดคือเค้ามีแผนและเริ่มลงมือทำอย่างจริงจัง โดยใช้เวลาหลายปีถึงจะดีขึ้น แต่ของเราแค่มาแอคชั่นกันตามฤดูกาลพอฝุ่นหมดก็จบกัน
เห็นด้วยครับว่าเรื่องฝุ่นต้องเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกหน่วยงานทั้งท้องถิ่นและส่วนกลางต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่น เช่น กทม. กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง…แต่ต้อง “ทำเลย” ครับ อย่ารอให้ถึงปีหน้า แล้วมาบ้ากันอีกที