‘สกลธี’ ยก ‘ปักกิ่งโมเดล’ เป็นแนวทางแก้ปัญหาฝุ่นพิษ ชี้ ต้องทำทันที พร้อมมีแผนงานชัดเจน – เข้มงวด – ต่อเนื่อง

(27 ม.ค. 68) นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า ปักกิ่งโมเดล 

ช่วงนี้เมื่อสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 รุนแรงมากโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองใหญ่ หลายท่านอาจจะเคยได้ยินการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แบบ “ปักกิ่งโมเดล” แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร ผมจะเล่าคร่าวๆ ให้ฟังครับว่าก่อนหน้านี้กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนเคยประสบปัญหา PM 2.5 อย่างรุนแรงพอๆ กับกรุงเทพฯ ช่วงนี้ แต่ทางเมือง + รัฐบาล ได้มีแผนและเริ่มบังคับใช้อย่างจริงจังประมาณช่วงปี ค.ศ 2013 เชื่อไหมครับว่าใช้เวลา 4-5 ปี พอหลังปี ค.ศ . 2017 ค่าฝุ่น PM 2.5 เริ่มลดลงได้ถึงประมาณ 35 % และยังเข้มงวดกวดขันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้เค้าไม่ได้ทำแค่ 1-2 ปีครับ ช่วงแรกที่เริ่มจะเห็นผลใช้เวลา 4-5 ปี และมีแผนระยะยาวพร้อมกวดขันและเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นเค้าก็รู้เหมือนเราแหละครับว่าสาเหตุของฝุ่น PM 2.5 มาจากอะไรเป็นหลัก คือ การเผา มลพิษอุตสาหกรรม การสันดาปของเครื่องยนต์เมื่อการจราจรติดขัด แต่ที่ต่างคือมีการวางแผนและบังคับใช้อย่างเข้มงวดสไตล์พี่จีนครับ 

หลายท่านที่เคยไปปักกิ่งจะทราบครับว่าปักกิ่งก็คล้ายๆ กรุงเทพฯ คือมีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในเขตกรุงปักกิ่งเองและวงรอบนอก แต่ที่ยิ่งกว่าเราคือเค้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งหนักกว่าเราอีกครับ เค้าทำยังไงครับ ??? ก็ปิดเลยสิครับ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 แห่งทยอยปิดใน 4 ปี ปิดโรงงานก่อมลพิษหลายร้อยโรง โรงงานที่ยังเหลืออีกหลายพันโรงต้องปรับปรุงให้ผ่านมาตรฐานไม่ปล่อยมลพิษถึงจะอยู่ได้

ยังไม่พอครับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งเพิ่มสวนสาธารณะกว่า 30 แห่ง ทำให้ปัจจุบันประชาชนปักกิ่งมีค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียว 1 คน ประมาณ 17 ตร.ม. (ในขณะที่คนกรุงเทพฯ ประมาณ 7 ตร.ม.) และยังคงมีแผนเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลและกรุงปักกิ่งยังได้ทยอยเปลี่ยนรถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ และรถที่เป็นของหน่วยงานราชการเป็นพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด (EV) และเพิ่มโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมทั่วถึงสร้างความสะดวกสบายและเข้าถึงง่ายให้ประชาชน

ส่วนเรื่องเผา สไตล์จีนเรื่องเข้มงวดไม่เป็นสองรอใครอยู่แล้วครับ มีการดำเนินการกวดขันและจับกุมอย่างเข้มงวดจริงจัง มีการตั้งตำรวจสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเพื่อดูแลในเรื่องนี้

ในเรื่องของการจราจร มีการใช้ทั้งการควบคุมมลพิษจากรถยนต์โดยการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า EV และผลักดันสถานีชาร์จใช้ครอบคลุมเมืองอย่างทั่วถึง รวมถึงการเน้นขนส่งทางรางและทางน้ำมากขึ้น (ซึ่งอันนี้ของเราผมงงมากเพราะผู้บริหาร กทม. ชุดปัจจุบันพยายามเลิกและผลักภาระในส่วนนี้ไปให้รัฐบาลทำแทน ) 

หรือเข้มขนาดที่ว่ากำหนดวันใช้รถเลขคู่เลขคี่ ซึ่งอันนี้บ้านเราคัดค้านกันมากแต่ถ้าถึงเวลาจำเป็นก็ต้องทำครับ นี่ยังไม่นับการเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรเป็นระบบอัจฉริยะใช้ AI ทำให้การปล่อยสัญญาณจราจรลื่นไหลไม่ตามอำเภอใจของมนุษย์ 

จะเห็นได้ว่าเมืองปักกิ่งและรัฐบาลจีนได้ใช้ทุกกระบวนท่า ในการที่จะทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 ลดลงอย่างจริงจัง ที่สำคัญที่สุดคือเค้ามีแผนและเริ่มลงมือทำอย่างจริงจัง โดยใช้เวลาหลายปีถึงจะดีขึ้น แต่ของเราแค่มาแอคชั่นกันตามฤดูกาลพอฝุ่นหมดก็จบกัน 

เห็นด้วยครับว่าเรื่องฝุ่นต้องเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกหน่วยงานทั้งท้องถิ่นและส่วนกลางต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่น เช่น กทม. กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง…แต่ต้อง “ทำเลย” ครับ อย่ารอให้ถึงปีหน้า แล้วมาบ้ากันอีกที