Tuesday, 22 April 2025
รัดเกล้า_อินทวงศ์_สุวรรณคีรี

‘รัดเกล้า’ เผย ‘โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคาร D1’ แล้วเสร็จ ‘การเคหะฯ’ เตรียมส่งมอบให้ผู้อยู่อาศัย เดือนพ.ค.นี้ ย้ายของเข้าอยู่ได้

(3 เม.ย. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เตรียมส่งมอบโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคาร D1 ให้กับผู้อยู่อาศัยโครงการเคหะชุมชนดินแดง 1 อาคารแฟลตที่ 23-32 ซึ่งได้มีการจับสลากเลือกห้องพักอาศัยไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567 

ทั้งนี้การเคหะแห่งชาติได้จัดปฐมนิเทศและเปิดให้ชาวชุมชนดินแดงจับสลากโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคาร D1 เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยเดิมอาคารแฟลตที่ 23-32 โดยมีผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาจับสลากเลือกห้องพักอาศัย จำนวน 363 ราย ได้สิทธิครอบครัวขยาย จำนวน 32 หน่วย และผู้ไม่ประสงค์เข้าอยู่อาศัยในอาคาร D1 จำนวน 139 ราย จะได้รับเงินชดเชยรายละ 400,000 บาท ซึ่งการจับสลากเลือกห้องพักอาศัยฯ ถือเป็นกระบวนการที่โปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เนื่องจากมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ และผู้อยู่อาศัยในชุมชนดินแดงเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

สำหรับโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคาร D1 จัดสร้างเป็นอาคารพักอาศัยสูง 35 ชั้น ขนาด 33 ตารางเมตร จำนวนรวม 612 หน่วย แบ่งออกเป็น ชั้นที่ 3-16 เป็นห้องพักอาศัยสำหรับกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และคนพิการ จำนวน 274 หน่วย ชั้นที่ 16-35 จำนวน 338 หน่วย เป็นห้องพักอาศัยสำหรับกลุ่มผู้อยู่อาศัยทั่วไป มีที่จอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จำนวน 498 คัน (คิดเป็น 81.37%) และมีพื้นที่สวนและพื้นที่สีเขียวบริเวณชั้นล่างของอาคาร ชั้นที่ 7 ชั้นที่ 24 และชั้นดาดฟ้า นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่บริการชุมชน และพื้นที่สำนักงานอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การเคหะแห่งชาติได้นำเรื่องการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลหรืออารยสถาปัตย์ (Universal Design) มาเป็นแนวคิดในการออกแบบเพื่อให้คนทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกายสามารถอยู่อาศัยร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และให้ทุกคนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ (Housing for All)

นางรัดเกล้า ยังกล่าวว่า โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคาร D1 มีความคืบหน้าการก่อสร้าง 100% แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจรับงานงวดสุดท้ายโดยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ พร้อมทั้งทีมสถาปนิก และวิศวกรของการเคหะแห่งชาติที่ได้ร่วมกันตรวจสอบความเรียบร้อยของห้องพักอาศัยก่อนส่งมอบให้กับผู้อยู่อาศัย จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการขนย้ายจากอาคารเก่ามาอาคารใหม่ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม 2567 โดยการเคหะแห่งชาติได้สนับสนุนค่าขนย้ายให้รายละ 10,000 บาท ส่วนผู้ไม่ประสงค์เข้าอยู่อาศัยในอาคาร D1 จำนวน 139 ราย จะได้รับเงินชดเชยรายละ 400,000 บาท

'รัดเกล้า' เผย!! รัฐบาลมุ่งยกระดับอาชีวไทย-พัฒนาทั้งครูและเด็ก เชื่อ!! เป็นทักษะสำคัญในโลกยุคใหม่ที่ตลาดแรงงานโลกต้องการ

(4 พ.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง อาชีวศึกษา: คุณภาพ มาตรฐาน และแรงจูงใจ โดยมีข้อเสนอแนะทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐาน และด้านแรงจูงใจผู้เรียนอาชีวศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของอาชีวศึกษาให้มีความทันสมัยและทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และสร้างแรงจูงใจให้มีผู้สนใจเข้าเรียนสายอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรรมาธิการฯ มีข้อเสนอแนะให้พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของครูผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษา อาทิ พัฒนาสมรรถนะที่ขาดหายไป ด้วยการ Up-Skill, Re-Skill หรือ New-Skill เพื่อให้ครูมีสมรรถนะในการสอน พัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับกลุ่มอาชีพใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และให้ความสำคัญกับการฝึกปฏิบัติวิชาชีพจริงในสถานประกอบการที่ตรงกับสาขาอาชีพของผู้เรียน

ส่วนข้อเสนอแนะด้านแรงจูงใจผู้เรียนอาชีวศึกษา เช่น การสร้างค่านิยมต่อการเรียนอาชีวศึกษาว่าการเรียนทางด้านอาชีวศึกษาจะทำให้ผู้เรียนมีงานทำทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษาในแต่ละระดับ การพัฒนากระบวนการแนะแนว นำเสนอความสำเร็จของผู้เรียนอาชีวศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพให้แพร่หลายผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ และสร้างระบบการเรียนร่วมกับการทำงานและมีรายได้ระหว่างเรียน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ซึ่งผู้เรียนจะได้มีประสบการณ์จริงและทักษะในการประกอบอาชีพระหว่างที่เรียนด้วย

“การยกระดับระบบอาชีวศึกษาไทย โดยเฉพาะการเสริมทักษะขั้นสูงและเฉพาะทาง ถือเป็นหนึ่งนโยบายที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และสร้างแรงงานทักษะให้ตรงกับความต้องการในตลาดแรงงานโลก ซึ่งหากข้อเสนอแนะดังกล่าวจะเป็นแนวทางให้นักศึกษาและแรงงานอาชีวะไทยได้รับการสนับสนุนเพิ่มทักษะความรู้ ก็จะทำให้กลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอีกทางหนึ่งด้วย” รองโฆษกฯ กล่าว

‘รัดเกล้า’ เผย ไทยเสนอกรอบประชุม WIPO IGC ด้านทรัพยากรพันธุกรรม ผลักดันด้านทรัพย์สินทางปัญญาฯ - คุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรมไทย

(10 พ.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอกรอบเจรจาการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิม ด้านทรัพยากรพันธุกรรม ภายใต้กรอบองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) 

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เอกสารที่ใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการเจรจา WIPO IGC ด้านทรัพยากรพันธุกรรม เพื่อจัดทำความตกลงหรือตราสารระหว่างประเทศมีการปรับปรุงสาระสำคัญไม่สอดคล้องกับกรอบเจรจา WIPO IGC ด้านทรัพยากรพันธุกรรม ที่ ครม. เห็นชอบไว้ 

โดยมีประเด็นที่แตกต่างจากกรอบเจรจาฯ เดิม หลายประเด็น รวมถึงมีการเพิ่มเติมประเด็นที่อยู่นอกเหนือการเจรจา พณ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดประชุมคณะทำงานเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมเพื่อสรุปผลความตกลง

ซึ่งการประชุม WIPO IGC ด้านทรัพยากรพันธุกรรม มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-24 พฤษภาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่ WIPO นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ที่ประชุมคณะทำงานฯ มีมติให้ปรับปรุงกรอบการเจรจา WIPO IGC ด้านทรัพยากรพันธุกรรม และใช้กรอบการเจรจาเดิมที่ ครม. เห็นชอบไว้เป็นพื้นฐาน โดยคงหลักการและสาระสำคัญของกรอบเจรจาเดิม เนื่องจากหลักการดังกล่าวเป็นประโยชน์กับไทย และเพิ่มประเด็นใหม่ รวมถึงอาจพิจารณาลดประเด็น เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจา และได้รับประโยชน์จากการดำเนินการตามความตกลงหรือตราสารโดยเร็ว 

“ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และอยู่ในฐานะประเทศที่เป็นแหล่งทรัพยากรพันธุกรรมที่สำคัญ การประชุม WIPO IGC ในด้านทรัพยากรพันธุกรรม จึงถือเป็นโอกาสอันดีในการผลักดันให้เกิดความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา หรือการให้ความคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรมของไทย รวมถึงการได้รับประโยชน์ในอนาคต” รองโฆษกฯ กล่าว

‘รัดเกล้า’ เผย!! ครม.ไฟเขียวขยายเวลา 2 โครงการใหญ่ชลประทาน เหตุเพราะปัญหาและอุปสรรคจากสถานการณ์โควิด19

(11 พ.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการชลประทานขนาดใหญ่ จำนวน 2 โครงการ สาเหตุเนื่องจากปัญหาและอุปสรรคจากสถานการณ์ Covid - 19 ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางให้อยู่ในวงจำกัด ส่งผลให้ผู้รับจ้างประสบปัญหาขาดแคลนวัสดุก่อสร้างเครื่องจักร เครื่องมือไม่เพียงพอ และไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสถานที่ก่อสร้างได้ นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงฯ ยังมีสาเหตุมาจากสภาพภูมิประเทศ และการใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขแบบก่อสร้างเพื่อให้มีความสอดคล้องกับสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน และลดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ ประกอบกับในขั้นตอนการจัดหาที่ดินมีเจ้าของทรัพย์สินบางส่วนไม่ยอมรับราคาค่าทดแทนทรัพย์สินที่ภาครัฐกำหนดและไม่ยินยอมให้เข้าใช้พื้นที่ รวมถึงที่ดินบางแปลงติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งจากปัญหาอุปสรรคดังกล่าว กษ. โดยกรมชลประทานจึงได้อนุมัติให้มีการขยายอายุสัญญาและอนุมัติงดค่าปรับจากการแก้ไขแบบแก้ไขสัญญา และให้ได้รับสิทธิ์กำหนดอัตราค่าปรับร้อยละ 0 ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงแพร่ระบาดโรค Covid - 19 ของทั้ง 2 โครงการด้วยแล้ว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาดังกล่าว กษ. (กรมชลประทาน) จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการชลประทานขนาดใหญ่ภายใต้กรอบวงเงินโครงการเดิมจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง จังหวัดชลบุรี เสนอขออนุมัติขยายระยะเวลาจากเดิม 14 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553–2566) เป็น 17 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553–2569) และโครงการกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง จากเดิม 19 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2548–2566) เป็น 22 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2548–2569) 

“โครงการชลประทานขนาดใหญ่เป็นไปเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำ ทั้งสำหรับพื้นที่เพาะปลูก การอุปโภค บริโภค การอุตสาหกรรม ปศุสัตว์ รักษาสมดุลของระบบนิเวศ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ได้ในอนาคตอีกด้วย” รองโฆษกฯ กล่าว

‘รัดเกล้า’ เผย ครม.ไฟเขียว เพิ่มเงินประจำตำแหน่งตำรวจ ปรับมาตรฐานให้ทัดเทียมข้าราชการทหาร-พลเรือน

(28 พ.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกา การได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอ โดยการตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามที่พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้ข้าราชการตำรวจให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งท้ายพ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ 2565 ในอัตราใดให้เป็นไปตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนด รวมทั้งเพื่อเป็นการปรับปรุงการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร และสอดคล้องกับการกำหนดลักษณะงานบริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นางรัดเกล้า กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างฯ 3 ข้อ ดังนี้

1. ให้ข้าราชการตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับปริญญา ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการอีกประเภทหนึ่งอยู่ด้วยแล้ว ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหาร โดยไม่ตัดสิทธิการได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาการของตนเองที่ครองอยู่

2. ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ ‘พันตำรวจโท’ ขึ้นไป และดำรงตำแหน่งที่ปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพเฉพาะได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะ โดยเพิ่มสายงานที่ปฏิบัติวิชาชีพเฉพาะ ซึ่งเป็นงานที่ไม่อาจมอบหมายให้ผู้ทรงคุณวุฒิอย่างอื่นปฏิบัติงานแทนได้ เป็นงานมีผลกระทบกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างเห็นได้ชัด ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะ ซึ่งเพิ่มมา 5 สายงานจากเดิม 28 สายงาน ประกอบด้วยวิชาชีพเฉพาะกายบุคคล, วิชาชีพเฉพาะกิจกรรมบำบัด ,เทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก, แพทย์แผนไทย และเวชศาสตร์การสื่อความหมาย เพื่อรองรับและปรับปรุงภารกิจที่จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง และ

3. ข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับการ หรือเทียบเท่าขึ้นไป ที่ต้องปฏิบัติงานที่เป็นงานหลักของหน่วยงานและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ โดยมีการเพิ่มลักษณะงานความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 2 ด้าน คือ ด้านการสืบสวนสอบสวน และด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ โดยได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะด้วย

ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่า ได้ดำเนินการได้ตามมาตรา 27 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ 2561 โดยรายงานว่าการตราพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จะไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ต่อรัฐหรือหน่วยงานของรัฐไม่ส่งผลกระทบต่องบประมาณหมวดเงินด่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

'รัดเกล้า' เผย!! 'นายกฯ-สุริยะ' มั่นใจความคืบหน้าท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3  ทุกแผนงานเสร็จทันกำหนด มิ.ย.69 พร้อมรับนักลงทุน-ลดต้นทุนขนส่งไทย

เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ติดตามและเร่งรัดการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ณ ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะร่วมลงพื้นที่ และมีนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้แทนกิจการการค้าร่วม CNNC ร่วมให้การต้อนรับ

นางรัดเกล้า เปิดเผยอีกว่า การมาติดตามโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เป็นการติดตามความคืบหน้าของนายกฯ หลังจากการตรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาได้เดินทางมาตรวจ พบว่ามีความล่าช้า แต่ภายใต้การนำของนายสุริยะ ก็สามารถที่จะแก้ไขได้เหลือร้อยละ 4 และจะดำเนินการก่อสร้างได้ภายในสิ้นปีหน้า ทำให้การก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้คือเดือนมิถุนายน 2569 ซึ่งทางทีมงานมีความกระตือรือร้น และตนเองให้กำลังใจ ทุกคน พูดคุยปัญหาอย่างตรงไปตรงมา และทราบว่าการนำหินเข้ามามีปัญหา ซึ่งนายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ก็ได้ดำเนินการเรื่องนี้แล้ว โดยเชื่อว่าทุกอย่างจะดำเนินการต่อไปได้เพราะทุกคนต้องทำงานแข่งกับเวลา

ด้านผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนงานที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล มีกิจการร่วมค้า CNNC เป็นผู้รับจ้าง มูลค่างานรวม 21,320 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยงานถมทะเลทั้งหมดประมาณ 2,846 ไร่ หรือ 4.5 ล้านตารางเมตร งานขุดลอกร่องน้ำและแอ่งจอดเรือให้มีระดับความลึก 18.5 เมตร และงานเขื่อนกันคลื่น ทั้งนี้  เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมามีความคืบหน้าเพียง 13.26%  ซึ่งหลังจากที่นายกฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามและได้มีข้อสั่งการให้ กทท. เร่งรัดการก่อสร้างให้ทันตามแผน  ทาง กทท. ได้กวดขัน ติดตามการบริหารสัญญาและควบคุมการทำงานของผู้รับจ้างตามข้อสั่งการ สามารถเร่งรัดได้เนื้องานเพิ่มขึ้นกว่า 17%

ผู้ควบคุมงานก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเลอีกด้วยว่า ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ดำเนินงานได้ 31.12% จากแผนปฏิบัติงาน 35.11% แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะดำเนินงานอย่างเต็มที่ แต่ยังคงล่าช้ากว่าแผน 3.99% ซึ่งผู้ควบคุมงานได้จัดทำแผนเร่งรัดการปฏิบัติงาน โดยเพิ่มเครื่องจักรทางบก ทางน้ำ และแรงงานให้สัมพันธ์กัน เพื่อให้สามารถขุดลอก ได้มากกว่า 2,000,000 ลบ.ม. ต่อเดือน ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ได้กำกับดูแลและควบคุมเร่งรัดการทำงานให้ผู้รับจ้างมีผลงานโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 3% ต่อเดือน

ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวเพิ่มเติมว่าจากปัจจุบันผลงานก่อสร้างของผู้รับจ้างยังมีความล่าช้ากว่าแผนฯ   แต่ก็มีความคืบหน้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมั่นใจว่าการก่อสร้างงานทางทะเลจะดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนภายในมิถุนายน 2569 รวมถึงจะไม่กระทบกับสัญญาของบริษัทเอกชนคู่สัญญาบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ที่ กทท. จะต้องมีการส่งมอบเฉพาะพื้นที่งานถมทะเลท่าเทียบเรือ F1 ปัจจุบันมีความคืบหน้าการถมไปกว่า 97% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกรกฎาคม 2567 นี้ หลังจากนั้นจะมีเวลาอีกประมาณ 1 ปีเศษ ที่จะต้องการตรวจสอบการปรับปรุงคุณภาพพื้นที่ เพื่อเตรียมส่งมอบให้กับบริษัท จีพีซี ได้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2568 

ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวต่อไปว่า งานส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จเมื่อเร็วๆ นี้โดยบริษัทไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา ที่วงเงิน 7,298 ล้านบาท ซึ่งเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางประมาณ 160 ล้านบาท กทท. สามารถลงนามในสัญญาได้ภายในต้นกรกฎาคม 2567 สำหรับงานส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ มูลค่า 799 ล้านบาท และส่วนที่ 4 งานจัดหาประกอบและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับขนย้ายสินค้า พร้อมออกแบบประกอบและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสำหรับบริหารท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2,257 ล้านบาท ทั้งสองส่วนอยู่ระหว่างการสรรหาผู้รับจ้างจัดทำเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงปลายปี 2567 นี้ 

“โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการรองรับปริมาณตู้สินค้าที่จะเพิ่มขึ้น  หากโครงการแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการจะสามารถรองรับปริมาณการขนส่งตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นอีก 7 ล้านทีอียูต่อปี ประกอบด้วยท่าเรือ F1 จำนวน 2 ล้านทีอียูต่อปี ท่าเรือ F2 จำนวน 2 ล้านทีอียูต่อปีท่าเรือ E จำนวน 3 ล้านทีอียูต่อปี ซึ่งเมื่อรวมกับขีดความสามารถเดิมของท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 1 และ 2 ที่ 11 ล้านทีอียูต่อปี  จะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ถึง 18 ล้านทีอียูต่อปี  ในส่วนนี้จะทำให้เพิ่มปริมาณการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟและท่าเรือชายฝั่ง รวมถึงการเชื่อมโยงการขนส่งทางรางกับท่าเรือบกให้เพิ่มมากขึ้นด้วย เป็นการเพิ่มศักยภาพและรองรับการขยายตัวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจการลงทุนของประเทศอย่างมหาศาล จะช่วยสนับสนุนให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค อีกทั้งช่วยสนับสนุนการลดต้นทุนการขนส่งโดยรวมของประเทศจากร้อยละ 14 ของ GDP เหลือร้อยละ 12 ของ GDP สอดรับนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์มุ่งให้ไทย เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคต่อไป” นางรัดเกล้า ย้ำ

'ครม.' ไฟเขียว!! ยกเลิก 'ดิวตี้ฟรี’ ขาเข้า 8 สนามบิน 1 ปี หนุนเพิ่มการใช้จ่ายในประเทศไทยกว่า 3,000 ล้านบาท

(2 ก.ค. 67) ที่ มรภ.นครราชสีมา นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม.สัญจร ว่าครม.รับทราบแนวทางการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้...

1.แนวทางการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ขาเข้าของผู้ประกอบการ 

2.ผลประโยชน์และผลกระทบของการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขา

ทั้งนี้ปัจจุบันผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ผ่านทางท่าอากาศยานนานาชาติ สามารถซื้อสินค้าโดยได้รับสิทธิยกเว้นอากร ตามหลักเกณฑ์ อาทิ ซื้อเพื่อใช้เองเป็นการส่วนตัวหรือใช้ในวิชาชีพ ราคารวมกันไม่เกิน 2 หมื่นบาท, บุหรี่ปริมาณไม่เกิน 200 มวน ซิก้าร์ หรือยาเส้น ปริมาณไม่เกินอย่างละ 250 กรัม หรือหลายชนิดรวมกันปริมาณไม่เกิน 250 กรัม ส่วนสุราปริมาณไม่เกินหนึ่งลิตร ทำให้การจับจ่ายในการบริโภคและการซื้อสินค้าภายในประเทศมีน้อยลง 

กระทรวงการคลัง จึงมีแนวคิดที่จะศึกษาความเหมาะสมในการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าดิวตี้ฟรี ขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้านดิวตี้ฟรี สำหรับผู้โดยสารขาเข้า เพื่อส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศให้กระจายหมุนเวียนในประเทศ เกิดประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 

โดยปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านดิวตี้ฟรี ขาเข้า 3 ราย ในท่าอากาศยานนานาชาติ 8 แห่งทั่วประเทศ ยอดจำหน่ายสินค้า รวมเป็นจำนวน 3,021.75 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการร้านค้า ทั้ง 3 ราย ยินดีที่จะหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านดิวตี้ฟรีขาเข้า ตามนโยบายของรัฐบาล จนกว่ารัฐบาลจะมีการยกเลิกนโยบายดังกล่าว

สำหรับผลประโยชน์และผลกระทบของการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านดิวตี้ฟรี 1 ปี จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปเพิ่มขึ้นประมาณ 570 บาท ขณะที่ผู้เดินทางชาวไทย อาจจะเลือกใช้จ่ายซื้อสินค้าปลอดอากรจากประเทศต้นทางเพื่อทดแทนหรือใช้จ่ายซื้อสินค้าประเภทเดียวกันในประเทศเพิ่มมากขึ้น 

ส่วนผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านดิวตี้ฟรี สูญเสียรายได้อากรขาเข้าส่วนของการจำหน่ายสินค้าในร้าน แต่คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้าและผู้เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยว ร้านค้าทั่วไป เสมือนได้รับเม็ดเงินหมุนเวียนใหม่เพิ่มเติมสูงสุด 3,460 ล้านบาทต่อปี สร้างโอกาสและส่งผลเชิงบวกต่อการผลิต การลงทุน และจ้างงานได้ต่อ ขณะที่รายได้ของภาครัฐ จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนกระจายสู่ผู้ประกอบการร้านค้าในวงกว้างขยายฐานการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ และภาษีมูลค่าเพิ่ม และคาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.012 ต่อปี

‘รัดเกล้า’ เผย รัฐบาลเตรียมแผนรับมือหน้าฝน ปี 67 จ่อป้องกัน-แก้ปัญหา ‘อุทกภัย’ ไม่ให้กระทบประชาชน

(5 ก.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ติดตามและรายงานความคืบหน้าการเกิดสถานการณ์สาธารณภัยที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้มีข้อสั่งการ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 โดยเพื่อให้การเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยตลอดช่วงฤดูฝน ปี 2567 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและแผนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้สอดคล้องกับมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

โดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดดำเนินการ ดังนี้ 1.การเตรียมความพร้อม ทั้งการติดตามสภาพอากาศ การจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัย การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บ/กั้นน้ำ การระบายน้ำและการเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ และการแจ้งเตือนภัย 2.การเผชิญเหตุ เมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ให้ดำเนินการตามแนวทาง คือจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ให้มอบหมายฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร และประชาชนจิตอาสา เฝ้าระวังพื้นที่ชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สำคัญต่าง ๆ

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า การจัดชุดปฏิบัติการเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย โดยเฉพาะด้านการดำรงชีพตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง ให้รายงานสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางตามช่องทางที่กำหนด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินสถานการณ์ และเสนอความเห็นต่อผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติในการตัดสินใจ สั่งการในเชิงนโยบายต่อไป

ส่วนกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานครดำเนินการ ดังนี้ 1.การเตรียมความพร้อม โดยเฝ้าระวังติดตามข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำท่วมที่อาจส่งผลให้เกิดอุทกภัยในช่วงฤดูฝน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนเผชิญเหตุ ตลอดจนการประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น การตรวจสอบพื้นที่เขตชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และเส้นทางคมนาคมที่มักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังเมื่อฝนตกหนัก พร้อมทั้งเร่งเปิดทางน้ำโดยการดูดเลน ขุดลอกท่อระบายน้ำ ทำความสะอาดร่องน้ำเพื่อเตรียมรองรับน้ำฝน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ

ขณะที่พื้นที่คู คลอง แหล่งน้ำต่าง ๆ ที่เป็นพื้นที่รองรับน้ำและเส้นทางระบายน้ำลงสู่แม่น้ำสายต่างๆ ให้เร่งกำจัดวัชพืช ขยะ สิ่งกีดขวางทางน้ำอื่น ๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำให้สามารถรองรับน้ำฝน และน้ำจากท่อระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เตรียมความพร้อมบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อใช้ในการเผชิญเหตุให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เสี่ยงในแต่ละเขตพื้นที่ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องจักรกลสาธารณภัยไว้ในพื้นที่เสี่ยงเป็นการล่วงหน้า โดยให้ประสานการปฏิบัติการร่วมกับจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ และเตรียมแผนสำรองในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหากรณีฉุกเฉินอื่นๆ

นางรัดเกล้า กล่าวว่า 2.การเผชิญเหตุ เมื่อเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้จุดชุดปฏิบัติการเร่งเข้าตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงที่มักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณผิวการจราจร หรือตามเขตชุมชน พร้อมทั้งทำการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลต่อการกีดขวางการระบายน้ำทันที หากเกิดกรณีน้ำท่วมขังบนผิวการจราจร ให้บูรณาการการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกการจราจรโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ตลอดจนให้ความช่วยเหลือผู้ขับขี่ที่อาจประสบปัญหาเครื่องยนต์ดับบนผิวจราจรที่มีน้ำท่วมขัง ส่วนในช่วงของการเกิดฝนฟ้าคะนอง และฝนตกหนักให้กำกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดสูบน้ำดำเนินการตามแผนอย่างต่อเนื่อง หากเกิดปัญหาระหว่างการปฏิบัติงานให้เร่งทำการแก้ไขตามแผนสำรอง และประสานการปฏิบัติร่วมกับชุดปฏิบัติการของการไฟฟ้านครหลวงอย่างใกล้ชิดและให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้กับประชาชน

“โดย มท. ได้เสนอเรื่องดังกล่าวเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบ ซึ่งเรื่องนี้เข้าข่ายที่ต้องนำเสนอ ครม. ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4(1) เรื่องที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี หรือให้ต้องเสนอ ครม. และ เรื่องที่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินนอกเหนือจากที่ได้รับอนุมัติไว้แล้ว ตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม” นางรัดเกล้า ระบุ

‘รัดเกล้า’ เผย!! ‘กสศ.’ เพิ่มเงินอุดหนุน ‘เด็กประถม-ม.ต้น’ รายหัว 1,200 บาทต่อปี ช่วยนักเรียนทุนเสมอภาค บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายแก่ ‘ครัวเรือนยากจน’

(9 ก.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ และได้สั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ปีการศึกษา 2566 มีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3-18 ปีกว่า 1,025,514 คน ที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษา

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 23-26 กรกฎาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จะได้ทยอยจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มต่อเนื่องใน 6 สังกัดทั่วประเทศ จำนวนกว่า 8 แสนคน ซึ่งนับเป็นหนึ่งมาตรการสำคัญของรัฐบาลในการป้องกันการหลุดจากระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนยากจนระดับรุนแรง โดยในปีนี้ เป็นปีแรกของการจัดสรรอัตราใหม่ตามที่ กสศ. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาระดับประถมศึกษา - มัธยมศึกษาตอนต้นจากอัตรา 3,000 บาท เป็น 4,200 บาท/คน/ปี และระดับชั้นอนุบาลคงเดิม อัตราจำนวน 4,000 บาท/คน/ปี  ซึ่งเงินอุดหนุนที่เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนค่าอาหารเช้าให้แก่กลุ่มนักเรียนทุนเสมอภาคเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนยากจน

สำหรับเด็กและเยาวชนกลุ่มที่มีความยากจนเสี่ยงหลุดจากระบบและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ระหว่างวันที่  8 ก.ค.- 1 ส.ค. 2567 นี้ กสศ. ได้เปิดระบบทุนเสมอภาคให้สถานศึกษาบันทึกข้อมูลนักเรียนกลุ่มนี้เข้ามา (นร./กสศ.01) ผ่านระบบ cct.eef.or.th เพื่อคัดกรองความยากจนและให้ได้รับการช่วยเหลือ ในปีการศึกษา 2567 ภาคเรียนที่ 1 นี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษกลุ่มใหม่ได้รับความช่วยเหลืออีกราว 5 แสนคน ทำให้ในปีการศึกษา 2567 กสศ.จะสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงของนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษารวมกลุ่มต่อเนื่อง ราว 1.3 ล้านคน

ทั้งนี้ หากประชาชนท่านใดพบนักเรียนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบ และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ สามารถแจ้งกับโรงเรียนที่นักเรียนกำลังศึกษาอยู่ หรือ โรงเรียนใกล้เคียงจุดที่พบ ใน 6 สังกัดดังนี้  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และกรุงเทพมหานคร เพื่อบันทึกข้อมูลเข้าในระบบเพื่อให้ได้รับช่วยเหลือจากทุนเสมอภาค ของ กสศ. ทั้งนี้ สามารถติดตามและสอบสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยที่ผ่านมา กสศ. ให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งสิ้น 1,200,161 คน และพบว่าทุนเสมอภาค ส่งผลให้นักเรียนทุนร้อยละ 95.95 ยังคงอยู่ในระบบการศึกษา

“นายกฯ ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา สั่งการให้ทุกหน่วยงานเดินหน้ามาตรการ Thailand Zero Dropout ต้องไม่มีเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา พร้อมย้ำว่าเด็กและเยาวชนคือผู้กำหนดอนาคตของประเทศชาติ ทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และประเทศชาติ” นางรัดเกล้า กล่าว

'รัดเกล้า' ไม่เห็นด้วย 'สส.ก้าวไกล' เสนอกฎหมายห้ามตีบุตรหลาน ชี้!! บริบทสังคม 'ไทย-ตะวันตก' มีความต่าง แนะ!! ให้ความรู้ผู้ปกครองดีกว่า

(12 ก.ค.67) เนเน่ รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ และรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า…

#รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี สุภาษิตไทยที่บ่งบอกให้เห็นว่าคนไทยนั้นมีความเข้าใจว่า #ตีลูก นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อถึงความรักที่มีต่อลูก ซึ่งความเชื่อนี้อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน แต่ถ้าถามว่า ‘ตีลูกดีจริงไหม’ จริง ๆ แล้วปัจจุบันนี้มีงานวิจัยมากมาย ทั้งด้านจิตวิทยา ด้านครุศาสตร์ ฯลฯ ที่บ่งชี้ว่า ในกระบวนการสั่งสอนหรือโน้มน้าวสมองมนุษย์ (ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่) ให้เรียนรู้ จดจำ และทำตามได้ #แย่ที่สุด #ไร้ประสิทธิภาพที่สุด ก็คือการลงโทษ (Punishment) หรือ การตี นั่นแหละ…

การลงโทษนั้น นอกเหนือจากไม่มีประสิทธิภาพแล้วอาจจะนำไปสู่ผลที่ได้ที่ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เช่น การทำให้เด็กมีพฤติกรรมชอบโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงความผิด หรือ ความผูกพันและความสัมพันธ์อันดีที่พ่อแม่มีต่อลูกทุกบั่นทอนลง เป็นต้น

ฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ว่าทำไมถึงมีกระแสต้องการที่จะยกเลิก #การตีลูก โดยล่าสุด นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.พรรคก้าวไกล เสนอการแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยจะเพิ่มสาระสำคัญคือ ห้าม #ทําร้ายร่างกาย และห้าม #กลั่นแกล้งผ่านคําพูด #Bully กับบุตรหลานในการเลี้ยงดูและสั่งสอน ซึ่งฟังแล้วดูดี และต้องขอขอบคุณคุณณัฐวุฒิที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้... 

แต่คงต้องถามด้วยว่า ทุกปัญหาสามารถแก้ได้ด้วยการแก้กฎหมายไหม คงต้องขออนุญาตไม่เห็นด้วย

หลักความคิดว่าการ ‘ลงโทษ’ คือการทำทารุณกรรม คือการ #บูลลี่ เป็นแนวคิดของทางตะวันตก ซึ่งแนวคิดนี้ใช่ว่าจะไม่ดี แต่หากจะแก้ปัญหาให้ประเทศไทย เราก็ต้องเข้าใจบริบทสังคมไทยด้วยว่ามันมีวิวัฒนาการมายังไง แล้วออกแบบแนวทางที่เหมาะสมให้ตัวเราเอง การคล้อยตามแนวคิดคนอื่น หยิบยกนำวิถีของเขา ยกเอากฎหมายของเขาที่เราคิดว่าดี เอามาบังคับใช้ในประเทศไทยนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการบังคับให้คนไทยสวมใส่รองเท้าของฝรั่ง ที่ทั้งใหญ่เกินไป เดินไม่สะดวก ไม่ได้เหมาะสมกับเราเลยในหลายๆ ด้าน…

เนเน่ ขอเสนอใน 3 ประเด็นดังนี้

#หนึ่ง ขอย้ำว่าการ #แก้กฎหมายไม่ใช่ทางออก อย่างแน่นอน ร่างพระราชบัญญัติที่พรรคก้าวไกลเสนอมีความ ซ้ำซ้อนกับกฎหมายหลายฉบับ แถมอีกว่าเมื่อวันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2567 ผ่านมานี้เอง ครม. เพิ่งเห็นชอบให้ประเทศไทยถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กไป ซึ่งตรงนี้มีนัยยะสำคัญค่ะ ตอนที่ประเทศไทยตัดสินใจเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 เราได้สงวนไว้ถึง 3 ข้อ เพราะ ณ ตอนนั้นบริบทของสังคมไทยและกฎหมายของเรายังไม่มีความพร้อมเพียงพอ แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ในวันนี้กฎหมายของไทยมีความเข้มแข็งเรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่เกี่ยวข้องกับเด็กในด้านต่างๆ เพียงพอแล้ว เราจึงสามารถถอนข้อสงวนข้อสุดท้ายออกได้ กล่าวคือกฎหมายของไทยตอนนี้มีมาตรฐานในระดับสากลเพียงพอแล้วค่ะ ไม่จำเป็นต้องมาแก้กฎหมายอะไรให้มันยุ่งยากซับซ้อนเข้าไปอีก

#สอง สิ่งที่ขาดหายไปคือ #ความเข้าใจและการอัปเดตข้อมูล ว่าศาสตร์การสอนในโลกปัจจุบันนี้มีการศึกษาวิจัยก้าวหน้าไปถึงจุดไหน เราเจือจางความคุ้นชินกับธรรมเนียมเดิม ๆ ของคนไทยที่เชื่อว่าการเลี้ยงดูบุตรต้องมีการสั่งสอนโดยใช้ลงโทษ การตีเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่จะทำให้เด็กออกมาเป็นคนดี ถ้าทางรัฐจะต้องทำอะไร ควรจะเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองมากกว่าค่ะ ซึ่งในโรงพยาบาลต่างๆ มีนักจิตวิทยาเก่ง ๆ อยู่มากมาย ในขณะที่ปัจจุบันนี้ เด็กๆ ทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีนขั้นพื้นฐานเพื่อป้องกันเขาจากโรคต่าง ๆ เขาก็ควรที่จะได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันภัยร้ายทางจิตใจด้วย ซึ่ง #วัคซีนที่ดีคือพ่อแม่ที่มีความรู้ ควรมีหลักสูตรฟรี (และบังคับเรียน) สำหรับพ่อแม่ทุกคน ให้ได้รับการอบรมเป็นระยะๆ เพื่อให้มีความรู้และศาสตร์ของการเป็นพ่อแม่ที่มีคุณภาพไปประกอบการเลี้ยงลูกอย่างมีคุณภาพ โดยเนื้อหาหลักสูตรควรออกแบบให้เหมาะสมแบ่งเป็นตามช่วงวัยของเด็กค่ะ

#สาม เราต้องทำให้ #คนทำผิดโดนกฎหมายลงโทษ เราคงไม่สามารถพูดได้ว่าการลงโทษหรือการตีเด็กทุกกรณีนั้นเกิดจากความรักที่พ่อแม่มีให้เด็ก สำหรับคนที่มีจิตใจโหดร้ายทำทารุณกรรมต่อเด็ก ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่เป็นการกระทำโดยไม่ได้มีเป้าหมายที่จะหล่อหลอมให้เด็กออกมาเป็นคนดีนั้น แม้ว่ากฎหมายของประเทศไทยตอนนี้ครอบคลุมแล้ว แต่คำถามคือกระบวนการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษผู้กระทำผิดเข้มแข็งเพียงพอหรือยัง ทางรัฐควรเพิ่มบทบาทและอำนาจให้กับผู้นำระดับท้องถิ่น ระดับชุมชน มีบทบาทมากขึ้น จะได้ช่วยดูแลสอดส่องความปลอดภัยให้กับเยาวชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง

ขอบคุณอีกครั้งที่ทำให้ประเด็นนี้มาเป็นความสนใจในสังคม แต่ขอชวนให้แก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธีกันดีกว่านะคะ

#ข้อมูลวิจัยที่น่าสนใจ บี.เอฟ.สกินเนอร์ (B.F. Skinner ชื่อเต็ม Burrhus Frederic Skinner) นักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยม ชาวอเมริกันที่โด่งดังจากเป็นผู้คิดค้นทฤษฎีการวางเงื่อนไขด้วยการกระทำ (Operant Conditioning Theory) ที่เป็นข้อสรุปมาจากการทดลองที่มีชื่อเสียงของ Skinner ชื่อ Skinner's Box ซึ่งคือกล่องจะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม มีคันโยก และหลอดไฟอยู่เหนือคันโยก โดยมีหนูขาวตัวเล็กๆ อยู่ในนั้น เมื่อหนูขาวหิว เขาจะวิ่งวนไปวนมา เขี่ยสิ่งต่าง ๆ ภายในกล่องเพื่อหาทางออกไป ซึ่งหากเขาเอามือไปแตะกับคันโยกในขณะหลอดไฟสีฟ้าสว่าง อาหารจะตกลงมาจากท่อจ่าย เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ เจ้าหนูขาวเรียนรู้ว่าการแตะที่คันโยกนี้อาหารจะตกลงมา เขาก็ใช้เวลาวิ่งวนอย่างไร้เป้าหมายน้อยลงเรื่อย ๆ สิ่งนี้เรียกว่าการเสริมแรง (Reinforcement) ค่ะ

กับมนุษย์ก็เป็นเช่นนั้น การเสริมแรงเชิงบวก (Positive Reinforcement) เช่น การชื่นชม การให้กำลังใจ การให้รางวัล ได้พิสูจน์ให้เห็นหลายต่อหลายครั้งว่ามีประสิทธิภาพกว่า การเสริมแรงเชิงลบ (Negative Reinforcement) เช่น การตี การตำหนิ การหักคะแนน ค่ะ ในศาสตร์การสอนนั้น เมื่อนักศึกษาได้รับคำชม หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทุกคนชื่นชมกัน (Antecedent) ย่อมทำให้เขาตั้งใจเรียน (Behavior) และเมื่อนักศึกษาได้ผลจากการกระทำ(Consequences) คือเกรด A นั้น หากอาจารย์อยากทำให้นักศึกษาอยากได้ A อย่างต่อเนื่อง อาจารย์สามารถชมเชยให้นักศึกษาตั้งใจเรียนอย่างต่อเนื่อง จนพฤติกรรมตั้งใจเรียนกลายเป็นนิสัยของนักเรียนค่ะ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top