Sunday, 20 April 2025
ยุบพรรค

‘นิพิฏฐ์’ โพสต์ให้ความรู้ ม.112 ย้ำชัด!! กฎหมายนี้ แก้ไขได้ ในอดีตก็เคยทำมาแล้ว ตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

(11 ส.ค. 67) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ทนายความ และอดีต ส.ส.พัทลุง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ...

มาตรา 112 กับระบบปกครอง และ สถาบันพระมหากษัตริย์ (ตอนที่ 1)

ผมพยายามเขียนให้อ่านง่าย โดยยึดหลักกฎหมายและหลักระบอบการปกครอง สถาบันพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับระบบการปกครองด้วยแต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยพูดถึงระบบการปกครองกัน

ใครจะเห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่ไม่ควรแสดงความเห็นในที่นี้ (เพราะความเห็นที่ปราศจากความรู้) อาจมีความผิดตามกฎหมายได้ ทางที่ดีอ่านอย่างเดียวจะดีกว่า

คำถามแรก: คือ มาตรา 112 แก้ไขได้หรือไม่

ตอบ: แก้ไขได้ เพราะตั้งแต่มีประมวลกฎหมายอาญา ตั้งแต่ปี 2500 มาตรา 112 ก็เคยแก้ไขมาแล้ว คือ แก้ไขตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519

คำถามที่สอง: การแก้ไขมาตรา 112 แก้ให้โทษหนักขึ้นได้หรือไม่ ตอบว่า ‘ได้’ / หรือ แก้ให้โทษน้อยลงได้หรือไม่ ตอบว่า ‘ได้’

มาตรา 112 แก้ได้ ทั้งแก้ให้โทษสูงขึ้นหรือน้อยลง แล้วแต่ดุลพินิจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่เราเลือกเข้าไป

คำถามต่อไป คือ เมื่อแก้ไขได้ ทำไมพรรคการเมืองที่ทำการแก้ไข จึงถูกยุบพรรคคำถามนี้ ไว้ตอบตอนต่อไปครับ/

‘หมอวรงค์’ เดินหน้าเสนอให้ยุบ ‘พรรคประชาชน’ หลังพบหลักฐานสำคัญ ชี้!! ‘ถิ่นกาขาว’ มีสาขาไม่ครบ เป็นพรรคที่สิ้นสภาพ เอามาดำเนินการไม่ได้

(11 ส.ค. 67) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า ... 

#ทำไมต้องเสนอยุบพรรคประชาชน

ตามที่สื่อเสนอข่าวว่า พรรคประชาชนเกิดจาก การที่นำพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล มาเปลี่ยนชื่อพรรค เนื่องจากพรรคการเมืองเป็นสถาบันสำคัญ ของระบอบประชาธิปไตย ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้

จากการตรวจสอบผ่านเว็บกกต. พบว่าพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ซึ่งเป็นพรรคต้นกำเนิด ของพรรคประชาชน มีสาขาพรรค3สาขา ภาคเหนือ 2สาขา และภาคกลาง 1 สาขา ไม่มีสาขาภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กฎหมายพรรคการเมือง กำหนดไว้ว่าพรรคการเมืองย่อมสิ้นสภาพ ถ้ามีสาขาพรรคการเมือง เหลือไม่ถึงภาคละ1สาขา เป็นระยะเวลาติดต่อกัน1ปี นั่นหมายความว่า พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ต้องมีสาขาครบทั้ง4ภาค ห้ามขาดหายไปติดต่อกัน1ปี ถ้าไม่ครบพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลต้องสิ้นสภาพ

ข้อมูลหน้าเว็บกกต. พบว่าพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล มีสาขาพรรคเพียงแค่ 2ภาค ซึ่งไม่ครบ4ภาค และจัดตั้งตั้งแต่ปี 2555 เพื่อความโปร่งใส กกต.ต้องตรวจสอบและชี้แจง ให้ประชาชนได้รับทราบ รายละเอียดการมีสาขาในแต่ละปี

ถ้าพรรคถิ่นกาขาวมีสาขาไม่ครบ4ภาค ติดต่อกัน1ปี จะเข้าข่ายการสิ้นสภาพของพรรคตามกฎหมาย นั่นหมายความว่าพรรคประชาชน จะไม่สามารถนำพรรคที่สิ้นสภาพ มาดำเนินการเปลี่ยนชื่อพรรคได้

พรรคไทยภักดีจะไปยื่นเรื่องดังกล่าว ให้กกต.ตรวจสอบ และดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามกฎหมาย

‘เทพไท’ ชี้!! พรรคการเมืองต้องมีอุดมการณ์ จุดยืนชัดเจน ไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อเสียง มอง!! พรรคประชาชน ไม่ลดเพดาน ม.112 ต้องรับความเสี่ยง เคลื่อนไหวอย่างมีบทเรียน

(11 ส.ค. 67) นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส. นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊ก เทพไท เสนพงศ์-คุยการเมือง ระบุว่าพรรคการเมืองต้องแข่งกันที่อุดมการณ์

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุคพรรคก้าวไกลไปแล้ว ได้ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคไป 10 คน ทำให้ส.ส.พรรคก้าวไกล เหลืออยู่ 143 คน และได้ย้ายไปสังกัดพรรคประชาชนทั้งหมด ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานา ทั้งชื่อของพรรค โลโก้ตราสัญลักษณ์ของพรรค รวมถึงนโยบาย จุดยืน อุดมการณ์ ประกาศเดินหน้านโยบายแบบไม่ลดเพดานลง แต่ได้เรียกเสียงสนับสนุนจากผู้ศรัทธาต่ออุดมการณ์พรรคได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเห็นได้จากยอดผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคหลายหมื่นคน และมียอดเงินบริจาคภายในเวลา 9 ชั่วโมง ยอดบริจาคหลัก10ล้านบาท ซึ่งเป็นกระแสความศรัทธาอย่างแท้จริง

ผมในฐานะนักการเมืองอิสระ ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด แต่ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรค ได้หันมาต่อสู้แข่งขันกันในเรื่องจุดยืน อุดมการณ์และนโยบาย มากกว่าเรื่องการหาประโยชน์ สะสมทุนเพื่อซื้อเสียงในการเลือกตั้ง เพราะถ้าหากพรรคการเมืองมีจุดยืน อุดมการณ์ถูกใจประชาชนแล้ว สามารถเรียกคะแนนนิยมและศรัทธาจากประชาชนได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อเสียงเลย

ในอดีตที่ผ่านมาผมได้ตัดสินใจเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ก็เพราะพรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนที่ชัดเจน ในเรื่องหลักการประชาธิปไตย เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา มีความซื่อสัตย์และเป็นมืออาชีพในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับประชาชน ไม่ใช้เงินซื้อเสียง และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นอุดมการณ์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนและอุดมการณ์ไปทั้งหมด จนทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำมากที่สุดในยุคนี้

ส่วนพรรคประชาชนที่ประกาศไม่ลดเพดานการแก้ไขมาตรา112 ก็เป็นจุดขายหนึ่งของพรรค ที่ทำให้ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนมากถึง 14 ล้านคน เป็นนโยบายที่พรรคประชาชนต้องรับความเสี่ยงทางการเมือง ต้องสรุปบทเรียนการเคลื่อนไหว เพื่อไม่ให้สุ่มเสี่ยงต่อการยุบพรรคเป็นครั้งที่3 และเป็นสิทธิ์ของพรรคประชาชน ที่จะเสนอนโยบาย จุดยืน อุดมการณ์ของพรรคต่อสาธารณชน เพราะผู้ที่ตัดสินใจแท้จริง คือคนไทยทั้งประเทศ ว่าเห็นด้วยหรือยอมรับต่อนโยบายของพรรคประชาชนหรือไม่

ถ้าเสียงส่วนใหญ่ของประเทศยอมรับ เลือกพรรคประชาชนเป็นเสียงข้างมาก ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน ตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย อย่าใช้อำนาจนอกระบบมาแทรกแซงกันอีก

‘นิด้าโพล’ เผย!! ผลสำรวจ ปชช. ชี้!! คดีล้มล้างฯ ไม่ควรยุบพรรค

(1 ธ.ค. 67) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็น เรื่อง ‘ยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมือง’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับผลกระทบของการยุบพรรคและการตัดสิทธิทางการเมืองต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ ‘นิด้าโพล’ สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการมีสิทธิของประชาชนในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง หากพบบุคคลใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 81.37 ระบุว่า ประชาชนควรจะมีสิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง รองลงมา ร้อยละ 16.42 ระบุว่า ประชาชนไม่ควรจะมีสิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง และร้อยละ 2.21 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับการยุบพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 61.30 ระบุว่า ควรมีการลงโทษด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การยุบพรรค รองลงมา ร้อยละ 36.10 ระบุว่า ควรมีการลงโทษยุบพรรค และร้อยละ 2.60 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 39.54 ระบุว่า ควรลงโทษตัดสิทธิทางการเมือง เฉพาะกับผู้กระทำการเท่านั้น รองลงมา ร้อยละ 31.68 ระบุว่า ควรลงโทษด้วยวิธีอื่นเฉพาะกับผู้กระทำการเท่านั้น ร้อยละ 19.31 ระบุว่า ควรลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด ร้อยละ 6.26 ระบุว่า ควรลงโทษด้วยวิธีอื่นกับกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด และร้อยละ 3.21 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.63 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.86 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.35 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.82 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.79 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 12.37 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.94 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.24 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.64 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 24.81 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.56 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.29 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 1.15 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ

ตัวอย่าง ร้อยละ 35.42 สถานภาพโสด ร้อยละ 62.37 สมรส และร้อยละ 2.21 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 0.69 ไม่ได้รับการศึกษา ร้อยละ 19.16 จบการศึกษาประถมศึกษา ร้อยละ 35.50 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 10.07 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 29.69 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.89 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 9.77 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 17.40 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.53 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 11.68 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.11 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.01 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 4.50 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

ตัวอย่าง ร้อยละ 19.47 ไม่มีรายได้  ร้อยละ 3.36 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 14.97 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 33.28 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 9.69 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.66 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 2.21 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001-50,000 บาท ร้อยละ 1.45 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 50,001-60,000 บาท ร้อยละ 0.69 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 60,001-70,000 บาท ร้อยละ 0.38 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 70,001-80,000 บาท ร้อยละ 0.76 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 80,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 9.08 ไม่ระบุรายได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top