Monday, 21 April 2025
ยุบพรรค

เผยข้อความไลน์หลุด!! ถ้ายุบ 'ก้าวไกล' สมรภูมิต่อสู้จะแรงกว่าเดิม เจอตอกกลับ 'ก็ดี จะได้จบๆ' รอดูจะอยู่สู้หรือหลบไปต่างประเทศ

(16 ก.พ. 67) กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองขึ้นมาทันที หลัง ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ออกมาเปิดเผยเผยภาพแคปชั่นจากกลุ่มไลน์ โดยระบุข้อความว่า “อ่านไลน์หลุดเก่าจะเข้าใจนะครับว่าใครบงการ”

ทั้งนี้ ภาพข้อความดังกล่าว ระบุว่า “วัตถุประสงค์ของแคมเปญนี้ คือ ทำให้คนที่ ignorant ทางการเมือง หรือคนที่เกิดเติบโตไม่ทัน ได้รู้จักการสังหารหมู่ทางการเมือง แล้วไม่ต้องรับผิด ตั้งแต่ 16 19 35 53 ซึ่งผลตอบรับดีมาก คนยิ่งติดตาม

ผม คุณช่อ ที่รับผิดชอบโครงการนี้ พร้อมเสี่ยงกับการถูกดำเนินคดีทั้งหมด เพื่อยกระดับการต่อสู้ ขยับเพดานของเสรีภาพขึ้นเรื่อย ๆ หากเราไม่ทำ ทุกอย่างก็จะเงียบหมด ขอบคุณเพื่อน สส. ที่ทวิตให้กำลังใจครับ”

ขณะที่ผู้ใช้ชื่อ ‘อ.ปิยบุตร’ ได้แท็กข้อความของผู้ใช้ชื่อ ‘ณัฐวุฒิ ส.ส.กก.’ ซึ่งระบุว่า “@กาย สส.กก. @อ๋อง สส.กก. เอาไงเอากัน ไปถามพี่แมวหน่อย แกมีพรรคในมือ…” 

โดยผู้ใช้ ‘อ.ปิยบุตร’ เขียนตอบว่า “ไม่ต้องกังวลครับ มีอีกหลายพรรค แต่ถ้ามันบ้ายุบก้าวไกลอีกรอบ มันจะไม่ใช่แค่เรื่องยุบพรรคแล้วครับ สมรภูมิการต่อสู้จะเปลี่ยนไปแรง ไกล ก้าวหน้ากว่าเดิมแบบที่พวกเราไม่เคยเห็นมาก่อน”

จากนั้นเป็นข้อความของผู้ใช้ ‘เติร์ด ส.ส.ก.ก.’ ซึ่งระบุว่า “ยินดีครับอาจารย์ เราแค่สอบถามหาความจริงเรื่องที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้นครับ ส่วนตัวผมยังเห็น… ” และปรากฏข้อความต่ออีกว่า “องค์การสส.กก. หลวงพ่อท่านบอกว่า…สติมาปัญญาเกิด…”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อความไลน์หลุดดังกล่าว ได้ถูกนำไปเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยหนึ่งในนั้นคือ ผู้ใช้ชื่อว่า Thepmontri Limpaphayorm ระบุว่า “ไลน์หลุดที่อาจารย์มาโพสต์ผมชอบนะครับ โดยเฉพาะคนที่ใช้ชื่อว่าปิยบุตร ซึ่งมันคงไม่เคยเห็น สงครามกลางเมือง บางทีถ้าเกิดขึ้นจริงก็ดี จะได้ทำให้มันจบ ๆ ปล่อยแบบนี้มานานมากแล้ว”

ขณะที่มีคนเข้าไปคอมเมนต์ตอบว่า “แต่เวลาเกิดจริง ๆ คนพวกนี้ก็ไม่อยู่สู้ แต่หลบไปต่างประเทศครับ แล้วก็กลับมาโกยตอนจบ”

‘จตุพร’ เชื่อ!! ‘ก้าวไกล’ ซักฟอกทิ้งทวน ก่อนโดน ‘ยุบพรรค’ ไม่เกินเดือนเมษา

(3 เม.ย.67) นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อวันที่ 2 เม.ย.67 ระบุถึงสงครามตัวแทนโจมตี กล่าวหาคดีส่วยพนันออนไลน์ได้กระชากฉุดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เละเทะ เสื่อมทรุด และยิ่งสะท้อนภาวะผู้นำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ไร้ศักยภาพโดยสิ้นเชิง จึงถูกบีบให้พ้นนายกฯ ไปตามดีลที่สัญญากันไว้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ถูกศาลอาญาออกหมายจับเมื่อเย็นวันที่ 2 เม.ย. เพราะไม่รายงานตัวตามหมายเรียกถึง 2 ครั้ง กรณีข้อหาฟอกเงินการพนันออนไลน์ แต่เข้าแสดงตัวกับ สน.เตาปูน เรียบร้อยแล้วและได้ประกันตัวในเวลาถัดมาในวันเดียวกัน ดังนั้นแสดงว่าดีลอำนาจส่งสัญญาณเล่นกันหนักและรุนแรงขึ้น

“สงครามตัวแทนของบิ๊กตำรวจใหญ่ระหว่าง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.กับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยิ่งทำให้ ตร. พังพาบไม่มีชิ้นดี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา สั่งให้ทั้งคู่มาช่วยงานสำนักนายกฯ แล้วก็ตาม แต่การโจมตี กล่าวหากันและกันยังไม่ยุติลง ไม่เพียงเท่านั้น แม้บิ๊กตำรวจทั้ง 2 คน ได้แถลงข่าวกอดเอวคืนดีต่อกันชื่นมื่น แต่ฝ่ายสนับสนุนทั้ง 2 บิ๊กต่างเปิดศึกลามปามหนักไปกันใหญ่ และยากจะจบลงง่าย ๆ ดังนั้นเมื่อนายกฯ เป็นประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) จึงสมควรทำอะไรมากกว่านี้ เพราะระบบของ ตร.เละถึงขั้นต้องยกเครื่องขนานใหญ่ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจกับตำรวจชั้นผู้น้อย” นายจตุพร กล่าว

นายจตุพร กล่าวว่า ขณะนี้ ตร. ไม่ใช่เรื่องของคน 2 คนทะเลาะกันอีกแล้ว แต่ต้องยกระดับให้เป็นเรื่องการปฏิรูปหรือปฏิวัติการทำงานใน ตร. ล้างกันขนานใหญ่ จัดระบบโครงสร้างขึ้นมาใหม่ให้เป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนให้ได้ ดังนั้น ตร. ควรมีการเปลี่ยนการทำงานภายในครั้งใหญ่ เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่เรื่องบุคคล แต่เป็นเพราะระบบทำให้เกิดเรื่องขึ้นมา ขณะที่ ตร.ทรุดพัง เละเทะ รัฐบาลกลับคิดโครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ คาสิโนขึ้นมา แล้วจะคาดหวังความคุ้มครองจากตำรวจได้อย่างไร หรือแค่ต้องการให้มีการเปลี่ยนสลับมือเอาคนมาหาผลประโยชน์จากคาสิโนที่จะตั้งขึ้นมาใหม่อีก

นายจตุพร กล่าวว่า รัฐบาลที่ผ่านมาเคยคิดจะตั้งคาสิโนขึ้นมาแล้ว แต่ผู้มีอำนาจในซีกรัฐบาลบางคนขอเรียกหุ้นลม 20% เป็นเรื่องถูกนินทาของทุกแวดวง ดังนั้นในคราวนี้เมื่อตำรวจมีปัญหาการหาประโยชน์จากช่องว่างผิดกฎหมาย แล้วเกิดระบบส่วย ทำให้มีการวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่งอย่างไม่มีวันสิ้นสุด เพราะต้องเอาเงินคืนจากธุรกิจผิดกฎหมายเก็บสะสมเพื่อวิ่งเต้นหาตำแหน่งสูงขึ้นไปอีกเป็นทอด ๆ นายกฯ ควรมอบหมายให้ ก.ตร. ประชุมเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตศรัทธาของ ตร.ก่อน เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งต้องการวุฒิภาวะของผู้นำมาแก้ปัญหานำไปสู่การเปลี่ยนเพื่อเกิดศักยภาพการทำงาน ส่วนนายกฯ เอาแต่เรียกมาคุย แต่ปัญหายังไม่จบสิ้น ไม่ได้เกิดประโยชน์ใด ๆ ขึ้นมาเลย

นายจตุพร กล่าวถึงข่าวพรรคเพื่อไทยจะดึงพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เข้าร่วมรัฐบาล ว่า ตั้งแต่มีการโหวตนายเศรษฐา เป็นนายกฯ เมื่อ 22 ส.ค.66 เพื่อไทยไม่เคยมีการพูดเรื่องดึง ปชป. เป็นรัฐบาลเลย แต่เมื่อจะถูกอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ ม.152 กลับมาเป็นข่าวขึ้นมาก่อนวันอภิปราย

อย่างไรก็ตาม ในการอภิปรายทั่วไปวันที่ 3 เม.ย.นี้ พรรคก้าวไกลต้องสร้างให้เป็นนัดแห่งความทรงจำของประชาชน ก่อนถูกยุบพรรค คาดไม่เกิน เม.ย.นี้ ถึงที่สุดแล้ว ร่องรอยสถานการณ์ขณะนี้หากมีการเบี้ยวดีลกันขึ้น จะเป็นปัจจัยบ่งชี้ไปถึงปฏิบัติการในวันที่ 10 เม.ย. ซึ่งเป็นวันนายทักษิณ ชินวัตร ไปฟังคำสั่งอัยการสูงสุดจะฟ้องศาลในคดี ม.112 หรือไม่ หากถูกฟ้องศาลแล้วไม่ได้ประกันตัวต้องติดคุก ซึ่งจะเป็นอีกสถานการณ์หนึ่งทันที จึงต้องจับตาดู

นอกจากนี้ปัญหาของนายเศรษฐา กรณีพูดแต่งตั้ง ผกก. ในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย ซึ่งเรื่องยังคาอยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากถูกชี้มีมูลแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ในชั้น ป.ป.ช.ทันที ด้วยปัจจัยรุมเร้าเหล่านี้ในวันครบดีลกลับบ้านยังลุกลามเป็นอุปสรรคสกัดกั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับไทยได้ลำบากยิ่งขึ้น

“เรื่องราวและปัจจัยเหล่านี้จึงสะท้อนว่าไม่มีช่องว่างให้เกิดการปรับ ครม.นำ ปชป.เข้าร่วมรัฐบาลกันอย่างจริงจังเลย ซึ่งเป็นเพียงข่าวปล่อย ดังนั้น ปชป.ต้องทุบรัฐบาลให้เด็ดขาด ถ้าเดินเยอะแยะยิ่งจะซ้ำเติมภาพเสื่อมให้ทรุดหนักไปอีก เพื่อไทยรู้ว่า ปชป.จะเอาจริงจังในการอภิปรายครั้งนี้อยู่แล้ว จึงมีการปล่อยข่าวดึงเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรคที่เต็มไปด้วยความเก๋าอย่าง ปชป.นั้น ต้องรู้อยู่แล้วว่าจะตัดสินใจอย่างไร” นายจตุพร กล่าว 

'อ.อุ๋ย-ปชป.' ยก รธน.มาตรา 211 ชี้!! คําวินิจฉัยศาล รธน.เด็ดขาด-ผูกพันรัฐสภา พรรคที่ล้มล้างการปกครองไม่มีสิทธิเข้าสภาประชุมใดๆ แม้แต่วินาทีเดียว

เมื่อไม่นานมานี้ นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กทม. เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงมุมมองทางกฎหมาย ว่า...

รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 211 ว่าคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเด็ดขาดและผูกพันรัฐสภาด้วย 

ดังนั้นไม่ต้องรอให้ยุบพรรคหรอก เพราะพรรคที่ล้มล้างการปกครองไม่มีสิทธิเดินเข้าสภาอันทรงเกียรติเพื่อประชุมใด ๆ ทั้งสิ้นแม้แต่วินาทีเดียว 

เพราะตามคําปรารภของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 เขียนไว้ชัดเจนว่า สมาชิกรัฐสภาต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และธํารงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ดังนั้น หากท่านวันนอร์ ในฐานะประธานรัฐสภา ซึ่งต้องผูกพันตามคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยังปล่อยให้ สส.จากพรรคที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่ากระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เข้าสภามาใช้อํานาจนิติบัญญัติต่อไป 

จะเท่ากับว่าท่านสนับสนุนให้กลุ่มคนที่กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เข้ามาใช้อํานาจนิติบัญญัตินะครับ และจะกลายเป็นว่า ประธานรัฐสภาเป็นผู้ทําผิดข้อบังคับเสียเอง ฝากไว้ให้คิด

‘ชัยธวัช’ เรียก สส. พรรคก้าวไกล มาประชุมเฉพาะกิจ เพื่อหาแนวทางสู้คดี ล้มล้างการปกครอง หวั่นโดนยุบพรรค

เมื่อวานนี้ (30 พ.ค. 67) ที่พรรคก้าวไกล มีการประชุม สส. ประจำสัปดาห์ครั้งแรก หลังจากปิดสมัยประชุมสภาฯ โดยนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เรียก สส.ทั้งหมดมาประชุมเฉพาะกิจ เพื่อหาแนวทางในการสู้คดีล้มล้างการปกครองที่กำลังอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งท่าทีในพรรคค่อนข้างเป็นกังวล เพราะหากมีความผิดจะได้รับโทษถึงขั้นยุบพรรค 

แหล่งข่าวภายในพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า คดีนี้ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง พร้อมส่งสำเนาคำร้องให้พรรคก้าวไกลยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง ซึ่งเท่ากับครบกำหนดในวันที่ 17 เมษายน โดยช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการคาบเกี่ยวกับช่วงวันหยุดสงกรานต์ถึง 5 วัน (ตั้งแต่ 12-16 เม.ย.) 

แหล่งข่าวระบุว่า กระบวนการติดต่อขอสำนวนเอกสารจากหน่วยงานราชการของพรรคก้าวไกล เพื่อนำมาประกอบคำชี้แจงเป็นไปอย่างติดขัดล่าช้า พรรคจึงได้ขอศาลฯ ขยายเวลาส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาครั้งที่ 1 จำนวน 30 วัน แต่ศาลฯ อนุมัติให้ 15 วัน ครบกำหนดวันที่ 3 พ.ค.นี้

ทั้งนี้ ในวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำขอขยายเวลาครั้งที่ 2 ของพรรคก้าวไกลอีก 30 วัน ซึ่งสมาชิกและแกนนำพรรคกำลังติดตามว่าจะได้รับอนุมัติหรือไม่

‘พิธา’ เชื่อมั่นศาลตัดสิน ‘เป็นธรรม’ ปมก้าวไกลกบฏ-ยุบพรรค ชี้!! คดีนี้ทำพรรคอ่อนแรงระยะสั้น แต่เป็นแต้มต่อระยะยาว

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2567 หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย โดยเฉพาะคดียุบพรรคก้าวไกล ที่กำลังดำเนินอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ด้วยข้อกล่าวหาล้มล้างการปกครอง จากการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

นายพิธา กล่าวว่า ตนยังคงเชื่อมั่นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาและวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลอย่างเป็นธรรม พร้อมย้ำว่า การกล่าวหาตนและพรรคก้าวไกล ว่าเป็นกบฏหรือผู้ทรยศที่มุ่งล้มล้างการปกครองนั้น ถือเป็นข้อกล่าวหาที่เกินจริง เพราะสิ่งที่ตนและพรรคก้าวไกลเสนอ คือความสมดุลทางกฎหมาย ระหว่างการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

นายพิธา กล่าวต่อไปว่า คดียุบพรรค จะทำให้พรรคก้าวไกลอ่อนแรงลงในระยะสั้นเท่านั้น แต่จะเป็นการติดเทอร์โบ (turbocharge) ให้พรรคได้แต้มต่อในแนวคิดและนโยบายแบบก้าวหน้าในระยะยาว โดยยกตัวอย่างสถานการณ์การยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2563 ซึ่งทำให้พลังของพรรคอ่อนแอลงชั่วคราว แต่ก็สามารถกลับมาฟื้นคืนแบบติดเทอร์โบได้ในการเลือกตั้งปี 2566 แสดงให้เห็นว่า แนวคิดแบบก้าวหน้า กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น โดยพรรคก้าวไกลได้เก้าอี้ในสภา มาครองเพิ่มขึ้นเป็น 151 ที่นั่ง จากเดิมที่พรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 ได้ 81 ที่นั่ง

“ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พวกเราได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แนวคิดแบบก้าวหน้าคือหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เป็นเพียงแค่ชื่อพรรคการเมือง หรือหัวหน้าพรรคการเมืองใดๆ” นายพิธา กล่าว

นอกจากนี้ นายพิธายังกล่าวถึงสถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองในประเทศไทย โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 ซึ่งสัปดาห์ที่แล้ว น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี โดยไม่รออาญา ขณะเดียวกันในช่วงกลางเดือนก่อน น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 28 ปี ก็เสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วง ระหว่างการถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ก่อนการพิจารณาคดีมาตรา 112 โดยระบุว่า หากพวกเราในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้รับอนุญาตให้อภิปรายเรื่องหลักความได้สัดส่วนของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างมีวุฒิภาวะ โปร่งใส และด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองก็จะคลี่คลายลงไปได้ในระดับหนึ่ง โดยไม่ผลักเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ให้จนมุม

“หากเรามีพื้นที่ในการพูดคุยถกเถียงเรื่องนี้กันได้ในรัฐสภา ก็จะไม่เกิดการกดดันให้ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ เลือกวิธีการประท้วงที่ทำร้ายตัวเอง รวมถึงคนที่พวกเขารักด้วย” นายพิธา กล่าว

'พิธา' ดิ้นสู้คดียุบพรรค ยัน!! ไม่มีเจตนาล้มล้าง-เป็นปฏิปักษ์ อ้าง!! ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีเขตอำนาจพิจารณา-วินิจฉัยคดีนี้

(9 มิ.ย.67) ที่พรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล แถลงข้อต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล ว่า จุดประสงค์ของการแถลงเพื่อเน้นข้อเท็จจริงของข้อกฎหมายและคดี เพื่อสอดคล้องกับสิ่งที่เป็นข้อกังวลของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะแบ่งเป็น 9 ข้อต่อสู้ 3 หมวดหมู่

หมวดหมู่ที่ (1.) เขตอำนาจและกระบวนการ 1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ 2.กระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หมวดหมู่ที่ (2.) ข้อเท็จจริง 3.คำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 67 ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้ 4.การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ 5.การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 67 ไม่ได้เป็นมติพรรค

หมวดหมู่ที่ (3) สัดส่วนโทษ 6.โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น 7.ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 8.จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมือง ต้องได้สัดส่วนกับความผิด 9.การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับชุดกรรมการบริหารพรรคในช่วงที่ถูกกล่าวหา

เมื่อถามว่าในข้อต่อสู้มีข้อไหนที่ไม่มั่นใจ นายพิธา กล่าวว่า มั่นใจทุกข้อทั้ง 9 ข้อ แต่ละข้อก็เหมือนด่าน บันไดที่ใช้ต่อสู่ตั้งแต่ของเขตอำนาจของศาล จนถึงบทลงโทษกรรมการบริหาร แต่เรายังเชื่อว่าทั้งเจตนา และการกระทำของ สส.ในการเข้าชื่อแก้กฎหมาย ไม่ได้เป็นการล้มล้าง และไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ รวมถึงการกระทำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเป็นนายประกัน สันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน การที่มีผู้ต้องหามาตรา 112 เป็นสมาชิกพรรค เป็น สส.ก็ยังไม่สิ้นสุดคดี รวมถึงการแสดงออกเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ก็กระทำทั่วไปโดยนักการเมืองในตอนนั้น โดยสภาพบังคับที่มีเรื่องเกี่ยวข้องอยู่แล้ว

“สุดท้ายการกระทำทุกอย่างเป็นเรื่องของรายบุคคลที่ขยุมรวมกันเป็นข้อกล่าวหา ไม่ได้มาจากมติพรรค ไม่ได้เป็นเรื่องของนิติบุคคล แต่เป็นเรื่องของปัจเจก ไม่ได้มีความเห็นที่ออกมาจากกรรมการบริหารว่าทั้งหมดเป็นการกระทำของพรรค ต้องแยกระหว่างบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล นั้นต่างกัน ซึ่งที่มีเป็นมติของพรรคออกมาคือการบรรจุเป็นนโยบายหาเสียง แต่ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ได้ เพราะกกต.เองก็อนุญาต ซึ่งหลักเดียวกับตอนที่ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ก็ไม่ได้มีจดหมายเตือน ไม่มีคำถามมาว่านโยบายนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรอย่างที่พรรคอื่นโดน” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวว่า ยืนยันตรงนี้ว่าไม่ได้มีเจตนา และไม่มีข้อกฎหมายที่เอาผิดทั้ง 44 คนที่เข้าชื่อในการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง และไม่ได้เข้าสภา และถึงแม้จะได้เข้าสภา ระบบนิติบัญญัติก็มีการเช็คแอนด์บาลานซ์เบรคในตัวเองอยู่ จะเบรคโดยกกต.ก็ได้ จะเบรคโดยสภาในการโหวตวาระ 1 , 2 , 3  หรือขั้น สว. และยังมีเวลาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในตอนสุดท้าย เพราะฉะนั้นไม่มีความเร่งด่วนสำคัญอะไรที่ต้องใช้มาตรการรุนแรงอย่างนี้ 

'ปิยบุตร' ปลุกนักการเมือง เลิกทำตัวเป็น 'ไก่ในเล้า'  ร่วมกันจับมือต้าน 'ยุบพรรค' หยุดเอาใจชนชั้นนำดั้งเดิม

(20 มิ.ย.67) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า “เมื่อครั้งพรรคไทยรักษาชาติถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคด้วยข้อหากระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากกรณีเสนอชื่อทูลกระหม่อมอุบลรัตน์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ครั้งนั้น ผมเป็นเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้เสนอต่อคณะกรรมการบริหารพรรคว่าจะขอแถลงต่อสาธารณะ แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญ”

“มีผู้หวังดีกับพรรคบอกมาว่า อย่าไปยุ่งเลย แต่สุดท้าย เรายืนยันว่าต้องแถลง ผมอธิบายผู้หวังดีไปว่า ผมมีจุดยืนคัดค้านการยุบพรรคมาโดยตลอด สมัยเป็นอาจารย์ นิติ มธ.ก็ออกแถลงการณ์กับเพื่อนๆ คัดค้านการยุบพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน ชาติไทย มัชฌิมาธิปไตย”

นายปิยบุตร ระบุต่ออีกว่า “แม้วันนี้ มาเป็นนักการเมือง ผมก็ยังอยากเห็นพรรคการเมืองทั้งหมด แม้จะเห็นไม่ตรงกัน อยู่กันคนละฝ่าย ควรจับมือร่วมกันต่อสู้กับการยุบพรรคแบบไทยๆ ที่ใช้กันมาตั้งแต่ 49/50”

“ผมแถลงข่าวไป พร้อมเผยแพร่เอกสาร”

“จากนั้น บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ก็ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ดำเนินคดีผมในข้อหา ดูหมิ่นศาล ผมตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาครั้งแรกในชีวิต มีข้อหาพะรุงพะรัง เสียเวลากับคดีความไปพอสมควร ผ่านไปปีเศษอัยการสั่งไม่ฟ้อง…”

“นักการเมืองต้องเป็นผู้นำทางความคิด ชี้นำความคิดที่ถูกต้องให้สังคม”

“นักการเมืองไม่ควรทำตนเป็น “ไก่ในเล้า” ตีกันในกรงขังทางกฎหมายที่พวก ‘ชนชั้นนำดั้งเดิม’ สร้างเพื่อล้อมคอกนักการเมือง แทนที่จะสะใจ เยาะเย้ย ถากถาง กับพรรคที่อาจโดนยุบหรือพรรคที่โดนยุบ ควรร่วมกันต่อสู้เรื่องการยุบพรรคดีกว่า หยุดเอาใจ แสดงตนเป็นเด็กดี ของชนชั้นนำดั้งเดิม ทำในสิ่งที่ถูกต้อง”

'พิธา' ดิ้น!! ยุบพรรค อัดบางกลุ่มเอาความภักดีไปหากินทางการเมือง แค่เอื้อผลประโยชน์ส่วนตน และไว้อ้างสนับสนุนการรัฐประหาร

เมื่อวานนี้ (2 ส.ค.67) ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมแถลงชี้แจงเนื้อหา และสรุปข้อต่อสู้ในเอกสารคำแถลงปิดคดียุบพรรคก้าวไกล ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 7 สิงหาคมนี้

โดยนายพิธา กล่าวในภายย่อยถึงเส้นแบ่งระหว่างคดีของพรรคก้าวไกลกับคดีของพรรคอื่น ๆ ที่ถูกยุบมาในอดีต ซึ่งคือระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เอง ที่ผ่านเป็นระเบียบกฎหมายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่, พรรคไทยรักษาชาติ, พรรคไทยรักไทย หรือย้อนไปนานกว่านั้น ซึ่งไม่มีระเบียบข้อบังคับกฎหมายของ กกต.ในการรวบรวมพยานหลักฐานของการยุบพรรค แต่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคแรกที่มีกระบวนการนี้เกิดขึ้น

นายพิธา กล่าวในภาพใหญ่ว่า เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองถูกยุบไปทั้งหมด 33 พรรค มีนักการเมืองถูกตัดสิทธิ์ไปทั้งหมด 249 คนเป็นอย่างน้อย แต่มีอยู่หนึ่งพรรคที่รอดและถูกยกคำร้องเมื่อปี 2553 หรือ 14 ที่แล้ว เนื่องจากกระบวนการคำร้องมิชอบด้วยกฎหมาย นายทะเบียนพรรคการเมืองในตอนนั้นไม่ได้ทำตามสิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้ และไม่ได้ให้ความเห็นกับคณะกรรมการ

นายพิธา กล่าวต่อว่า กระบวนการในการพิจารณายุบพรรคที่ กกต. ไม่ได้ทำตาม ทำให้ตนไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อกล่าวหา ไม่มีโอกาสต่อสู้ ไม่มีโอกาสอธิบายให้ กกต.ฟัง และเป็นโอกาสที่ตนเสียไป ตนเชื่อเหลือเกินว่า ถ้า กกต. ทำตามระเบียบที่ตัวเองออกมาเอง ตนจะมีโอกาสได้อธิบายให้ กกต.เข้าใจ รวมถึงพยานหลักฐานหลาย ๆ ชิ้นที่เราได้มีโอกาสตรวจสอบร่วมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งก็เห็นภาพ และบุคคลที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบคดี ว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกลอยู่เป็นจำนวนมาก

นายพิธา กล่าวถึงการอ้างอิงในข้อต่อสู้ของ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน ซึ่งถึงแม้ไม่ได้มีรูปแบบวาจาก็จริง แต่เป็นในแบบลายลักษณ์อักษร ซึ่ง ศ.ดร.สุรพล ได้เขียนในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างอิงถึงกระบวนการคณะกรรมาธิการเวนิส (la Commission de Venise) หรือชื่อเต็มว่า ‘คณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรปเพื่อประชาธิปไตยโดยกฎหมาย’ (la Commission Européen pour la Démocratie par le Droit) ซึ่งเป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของสภายุโรป (Conseil de l’Europe) ในเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ กรณีการรับรองแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการห้ามและการยุบพรรคการเมือง ทั้ง 7 ข้อ

นายพิธา ย้ำว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เป็นการนำองค์ประกอบที่ดูจะย้อนแย้งกัน ๒ ประการ กล่าวคือ ระบอบประชาธิปไตย กับ พระมหากษัตริย์ มาดำรงอยู่คู่กัน กลายเป็นระบอบการเมืองที่โดยหลักการแล้ว อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ขณะเดียวกันก็มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ซึ่งมีรูปแบบของรัฐเป็นราชอาณาจักร โดยพระองค์ไม่ทรงใช้อำนาจทางการเมืองและการปกครองด้วยพระองค์เอง ด้วยเหตุนี้ องค์พระประมุขของรัฐจึงดำรงความเป็นกลางทางการเมือง มีพระราชฐานะเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ผู้ใดจะละเมิดฟ้องร้องพระองค์มิได้

นายพิธา ชี้ว่า การประสานสถาบันพระมหากษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยสามารถรักษาคุณค่าพื้นฐานของทั้งสององค์ประกอบได้อย่างสมดุล จึงเป็นโจทย์สำคัญของการธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นายพิธา ย้ำว่า แน่นอนว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในแต่ละประเทศย่อมมีลักษณะไม่เหมือนกัน และมิได้มีลักษณะหยุดนิ่งตายตัว การจัดระเบียบสังคม การออกแบบสถาบันทางการเมือง ระบบกฎหมาย วัฒนธรรม คุณค่าพื้นฐาน ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของแต่ละประเทศนั้น ย่อมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของสังคม

นายพิธา ย้อนไปว่า ในประวัติศาสตร์ของเรา พระมหากษัตริย์ทรงพระปรีชาในการปรับตัวจนสามารถแผ่พระบารมีปกเกล้ามาจนถึงทุกวันนี้ แต่ความพยายามที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีลักษณะหยุดนิ่งตายตัว แตะต้องเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ย่อมเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของเรา เพราะจะทำให้สูญเสียความยืดหยุ่น ความสามารถในการปรับสมดุลใหม่ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เสียโอกาสที่จะรักษาสิ่งเก่า และเชื่อมประสานกับสิ่งใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์แปลกแยกต่อกัน

ดังนั้น การปกปักรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงไม่สามารถบรรลุได้ด้วยการใช้อำนาจกดปราบ ไม่ว่าจะเป็นการกดปราบโดยใช้กำลัง หรือการกดปราบในนามของกฎหมาย แต่ต้องสร้างสมดุลให้ได้สัดส่วนเหมาะสมตามยุคสมัยระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ระบอบนี้มั่นคงยั่งยืนด้วยความเชื่อมั่น ศรัทธา และความยินยอมพร้อมใจของประชาชน

ทว่าหลายปีที่ผ่านมา การนำประเด็นเกี่ยวกับความจงรักภักดีมากล่าวหาโจมตีกันในทางการเมือง นำไปสนับสนุนหรือเกี่ยวพันกับการรัฐประหาร ทั้งการรัฐประหารโดยกำลังทหารและโดยกฎหมาย รวมถึงการแสดงความจงรักภักดีอย่างล้นเกิน เพื่ออำพรางการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนอย่างฉ้อฉลของคนบางกลุ่ม ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางการเมืองตามยุคสมัย ได้กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางการเมือง และความรู้สึกนึกคิดแบบใหม่ ซึ่งสังคมไทยในอดีตไม่คุ้นเคย

แต่แทนที่ผู้มีอำนาจจะตระหนักถึงความผิดพลาดในอดีต และพยายามแสวงหากุศโลบายด้วยสติและปัญญา เพื่อคลี่คลายแรงตึงเครียดในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย ในการสร้างฉันทามติใหม่ที่สอดคล้องกับยุคสมัย กลับเลือกที่จะใช้อำนาจกดบังคับประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในลักษณะเข้มงวดรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นสมาชิกพรรคผู้ถูกร้อง หรือพรรคก้าวไกล จึงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยมีเจตนาที่จะฟื้นฟูสายสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างสมดุลใหม่ที่ได้สัดส่วนระหว่างการคุ้มครองพระเกียรติยศแห่งองค์พระประมุข กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาดุลยภาพ และความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทย

‘ในฐานะผู้ถูกร้องขอเรียนต่อศาลว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะดำรงอยู่อย่างมั่นคงได้ มิใช่ด้วยการบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และหลักการคุณค่าพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ในทางตรงข้ามการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะต้องโอบรับความคิดเห็นที่ดำรงอยู่หลากหลายในสังคมอย่างมีภราดรภาพ มีการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และมีความอดทนอดกลั้นในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมทั้งใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยแก้ปัญหาความแตกต่างขัดแย้งในสังคมอย่างมีวุฒิภาวะ ด้วยวิถีทางการเสริมสร้างประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางภายใต้ร่มพระบารมีที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนโดยไม่แบ่งแยก และจักเป็นการธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยืนยงสถาพรเยี่ยงนานาอารยประเทศ’

'กิตติ สิงหาปัด' โพสต์!! รอแถลงการณ์จากพรรคการเมือง หลังก้าวไกลถูกยุบ แต่พรรคอื่นนิ่ง ฟาก 'ชาว X' เมนต์สวนจุกๆ

ไม่นานมานี้ นายกิตติ สิงหาปัด ผู้สื่อข่าว โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X (ทวิตเตอร์) ระบุว่า...

"การยุบพรรคเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ดูเหมือนผมยังไม่เห็นแถลงการณ์อย่างเป็นทางการใดๆออกจากพรรค พท./ภจท./พปชร./รทสช./ปชป. ต่อกรณียุบพรรคก้าวไกล หรือสังคมนักการเมืองของไทยเรา ไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติพวกนี้"

หลังโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ ก็มีชาว X เข้ามาคอมเมนต์ในดังกล่าว เช่น...

"เสรีภาพไม่ใช่รึ เค้าจะพูดไม่พูด ก็เรื่องของเขา"

"พรรคหนึ่งทำผิดกม.แล้วถูกยุบก็เรื่องปกติมั้ยคะ? ทำไมพรรคอื่นต้องมีแถลงการณ์ถึงพรรคนั้นด้วยล่ะ อีกอย่างพรรคที่ถูกยุบๆเพราะกรณีล้มล้างการปกครอง พรรคอื่นจะแถลงการณ์ถึงเพื่อ?!"

"เวลาคุณขับรถบนถนน แล้วทำผิดกฎจราจร เพื่อจะได้แซงคนอื่นๆ เพื่อให้ไปเร็วขึ้น ผู้โดยสารนั่งในรถ ดีใจกันใหญ่ ฉันถึงที่หมายคนแรก ชนะแล้ว แต่มันมีด่านตำรวจดักจับอยู่ แล้วคนอื่นที่ขับตามมาเห็น คุณกำลังโดนใบสั่ง คุณคิดยังไง สมน้ำหน้าไงคะ แล้วเยาะเย้ยกลับด้วย พี่เคยโดนมาแล้ว พี่รู้ดี"

"แล้วตอนที่ พรรคไทยรักไทย / พรรคพลังประชาชน / พรรคไทยรักษาชาติ ถูกยุบ มีพรรคฝ่ายตรงข้ามออกมาแถลงการณ์อะไรมั้ยครับ? แม้แต่สื่อมวลชน อย่างพวกคุณยังแสดงออกชัดเจนว่าสมน้ำหน้าที่ถูกยุบด้วยซ้ำ"

"ถามว่าก่อนจะโดน...ทุกพรรคเตือนแล้วเคยฟังมั้ยล่ะ นอกจากมั่นหน้ากันแล้ว ยังดูถูกคนอื่นว่าเค้าไม่แน่จริงเท่าตัวเอง ถ้าคิดว่าอยากให้มีแถลงการณ์ก็ออกเองเลยค่ะ จะเห็นอกเห็นใจก็ตามสบาย ว่างๆ ก็ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่ที่เพิ่งตั้งเลย ทำตัวเองทั้งนั้นเวลาเดือดร้อนจะให้คนอื่นซวยไปด้วย ตลก"

"ไม่รู้กฎหมายเหรอคะ ศาลตัดสินแล้วก็จบ จะไปวิจารณ์อะไร แล้วนี่ก็ไปตั้งพรรคใหม่ชื่นมื่น ยักไหล่แล้วไปต่อ จะไปอะไรเขาคะ"

"คุณกิตติมีแถลงการณ์หรือความเห็นยังไงกรณีที่สื่อมวลชนผู้ประกาศข่าวร่วมอาชีพเดียวกันโดนคดีทุจริตจนต้องติดคุกแล้วก็ยังออกมาทำหน้าที่สื่อเหมือนเดิมในองค์กรสื่อเดียวกันกับคุณกิตติครับ ขอความเห็นในฐานะสื่อที่ทำข่าวเรื่องการทุจริตอย่างสม่ำเสมอครับ???"

"จะให้พรรคที่กล่าวอ้างแถลงการณ์อย่างไร เมื่อผู้นำพรรค / สส. ก็แสดงความเสียใจและไม่เห็นด้วย แต่กลับถูกบรรดาด้อมส้มไปไล่ด่าพวกเขาเสียๆ หายๆ คุณกิตติทราบไหม"

"มันจะคล้าย ๆ กับที่ก้าวไกลเองก็ไม่ได้แสดงความออกใดๆ ในวันสำคัญของชาติเหมือนพรรคอื่นๆ นั้นละครับ"

"อยากถามกลับว่า จะแถลงการณ์เพื่ออะไร ถ้าคุณคิดตามหลักกฎหมายจริงๆ และสิ่งที่เกิดขึ้น คิดแบบไม่เข้าข้างใครเลยนะ แบบเป็นกลางสุดๆ พรรคก้าวไกล สมควรถูกยุบ และยุบถูกต้องแล้ว ถามหาแถลงการณ์? จริยธรรมที่ควรมีในพรรคก้าวไกล หมิ่นเบื้องสูง ลากสถาบันลงมาเล่นสนุก ดูหมิ่น ควรแล้วหรือ #อย่าบิด!!"

'อ.หริรักษ์' ชี้!! หากกฎหมายยุบพรรคการเมืองเป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย การแก้ไข 112 ตามมุม 44 สส. ก็เป็นการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อวานนี้ (9 ส.ค.67) รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr โดยระบุว่า ในคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญตอบข้อโต้แย้งทั้งหมดของพรรคก้าวไกล และดูเหมือนศาลรัฐธรรมนูญจะให้ความสำคัญต่อกรณีที่ สส.พรรคก้าวไกล 44 คนเข้าชื่อกันขอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ว่าเป็นเจตนาที่จะเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสำคัญ

ใครที่คิดว่าเป็นการดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติธรรมดา ต้องไปอ่านรายละเอียดเสียก่อนว่า เนื้อหาเป็นอย่างไร

ถ้าบอกว่ากฎหมายที่ให้มีการยุบพรรคการเมืองได้เป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย การแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของสส.44 คน ก็เป็นการยิ่งกว่าบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์เสียอีก เพราะไปยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งผู้ที่หมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ มีโทษจำคุก 3 ถึง 15 ปี ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล มาเป็นดังนี้

มาตรา 135/5 ผู้ใดดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 135/6 ผู้ใดดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี องค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 135/7 ผู้ใดติชม หรือแสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา 135/5 และมาตรา 135/6

มาตรา 135/8 ความผิดฐานในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ หากข้อที่กล่าวหาที่ว่าเป็นความผิดนั้น เป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว แล้วแต่กรณี และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

มาตรา 135/9 ความผิดในลักษณะนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์...........

ข้อสรุปที่สำคัญคือ
1. โทษจำคุกสูงสุดของผู้ที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์คือ 1 ปี หรือจะเสียค่าปรับ 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล เป็นการลดโทษลงมาให้เหลือเท่ากับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา และจำคุก 6 เดือน หรือปรับสองแสนบาทสำหรับ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งต่ำกว่าโทษจำคุกบุคคลธรรมดา
2. หากติชมหรือแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่มีความผิด
3. หากพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่หมิ่นประมาท เป็นความจริง ไม่ต้องรับโทษ
4. ยอมความได้ เพราะเอาออกจากหมวดความมั่นคง
5. ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และเป็นผู้เสียหายแทน

อย่างนี้จะไม่เรียกว่า ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ สถาบันพระมหากษัตริย์แล้วจะเรียกว่าอะไร โทษจำคุกเพียง 1 ปี หรือน้อยกว่า เสียค่าปรับเอาก็ได้ ยอมความก็ได้ หรือไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ ก็เป็นไปได้

ถ้าให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ สำนักพระราชวังต้องใช้เจ้าหน้าที่กี่คนจึงจะปฏิบัติงานนี้ให้ได้ผลได้ เพราะเหตุนี้ประธานรัฐสภาจึงไม่กล้าบรรจุเข้าวาระการประชุม และอย่าได้อ้างว่าเป็นการกระทำของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่เป็นการกระทำของพรรค เพราะการอ้างแบบนี้เป็นการอ้างแบบศรีธนญชัย ซึ่งใครๆก็มองออก และแท้ที่จริงแล้วต้องการยกเลิกมาตรา 112 แต่เห็นว่าเป็นไปได้ยาก จึงจะแก้ไขให้มีผลใกล้เคียงกับการยกเลิกมากที่สุด

การดิ้นรนต่อสู้ด้วยการอ้าง 14 ล้านเสียงที่เลือกมา ต้องบอกด้วยว่าใน 14 ล้านเสียงที่เลือกมา มีกี่ล้านเสียงที่เลือกไม่ใช่เพราะต้องการให้ไปแก้หรือยกเลิกมาตรา 112 มีจำนวนมากที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพรรคก้าวไกลจะทำแบบนี้ แต่เลือกเพราะอยากให้โอกาสคนหนุ่มสาวบ้างโดยที่ไม่ได้รู้เลยว่าหนุ่มสาวพวกนี้จะไปทำอะไรต่อประเทศ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์บ้าง และมีกี่ล้านเสียงที่เลือกเพราะไม่ต้องการให้มีการเกณฑ์ทหาร เลือกเพราะต้องการค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาท เลือกเพราะต้องการเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท สารพัดเหตุผล การที่ประชาชนเลือกพรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเลือกให้แล้ว จะไปทำอะไรก็ได้ ทำผิดกฎหมายก็ได้

การดิ้นรน การประกาศโจมตีศาลรัฐธรรมนูญ การประกาศยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อในรูปแบบเดิม หมายถึงการที่จะต้องเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ในแบบที่พรรคก้าวไกลต้องการให้ได้ และการที่สถานทูตฝั่งตะวันตก 18 ประเทศ การแถลงการณ์ของสหรัฐอเมริกา องค์การสหประชาชาติ องค์กรเอกชนที่เป็นแนวร่วม ตลอดจนสำนักข่าวฝั่งตะวันตก ต่างออกมาประสานเสียงว่า การยุบพรรคก้าวไกลเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย ยิ่งทำให้น่าเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลกับประเทศเหล่านี้ มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน และน่าจะมีวาระหรือ agenda บางอย่างต่อประเทศไทย การยุบพรรคก้าวไกลอาจเป็นการขัดขวางวาระหรือ agenda นั้น ไม่ให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการก็ได้

ขอให้ข้อมูลว่า นาย Ben Cardin วุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกา ที่ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทย แสดงความกังวลเรื่องการวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นวุฒิสมาชิกที่พยายามยื่นให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ใครก็ตามกล่าวหา หรือโจมตีประเทศอิสราเอล ซึ่งมีการบังคับใช้อยู่ใน 38 รัฐในสหรัฐอเมริกา ให้กำหนดโทษเป็นคดีอาญาโดยให้ผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก แต่ยังไม่สำเร็จ

ต้องขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยด้วยความไม่หวั่นไหวต่อการกดดันของพรรคก้าวไกลและแนวร่วมที่มีชื่อเสียงหลายคน จากเหตุผลและข้อมูลข้างต้น การตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญนับเป็นผลดีต่อประเทศชาติ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องห่วงว่าการยุบพรรคก้าวไกลจะทำให้คนที่สนับสนุนโกรธแค้นจนไประเบิดในคูหาเลือกตั้งครั้งต่อๆไปอย่างที่อดีตหัวหน้าพรรคประกาศ เพราะความจริงได้รับการเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่ายังมีคนที่ยังมองไม่เห็นอีกไม่น้อย แต่รับรองว่าไม่ใช่ตายสิบเกิดแสนอย่างที่คุยโม้กัน

สำหรับสส. 44 คนของพรรคก้าวไกลที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ขอให้โชคดี เพราะพวกคุณต้องการคำนี้มากกว่าใครๆในขณะนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top