Wednesday, 23 April 2025
ยงภู่วรวรรณ

'หมอยง' ชี้!! นักท่องเที่ยวชาวจีน ไม่ได้น่ากลัวกว่า 'ยุโรป-อเมริกา'

(6 ม.ค. 66) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ 'โควิด-19 การรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ชาวจีน ไม่ได้น่ากลัวกว่าชาติอื่น' ระบุว่า...

การรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชาวจีน ไม่ได้น่ากลัวไปกว่า ยุโรปและอเมริกา ด้วยเหตุผลดังนี้...

1. สายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยขณะนี้เป็น โอมิครอน BA.2.75 ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมาในช่วงโอมิครอน ประชากรไทยติดเชื้อไปแล้วประมาณ 70% หรือประมาณ 50 ล้านคน และการระบาดสายพันธุ์ในประเทศไทยเริ่มต้นตั้งแต่ BA.1 BA.2 แล้วเป็น BA.4- BA.5 ซึ่งสายพันธุ์ BA.5 ได้ระบาดผ่านพ้นไปแล้วและขณะนี้เป็น BA.2.75 ขณะเดียวกันในยุโรปและอเมริกา สายพันธุ์ต่างๆ เกิดก่อนประเทศไทย และระบาดเข้าสู่ประเทศไทย สายพันธุ์ BA.2.75 ระบาดในยุโรปและอเมริกาเมื่อหลายเดือนก่อน ผ่านพ้นไปแล้ว ขณะนี้ในยุโรปและอเมริกา ได้เปลี่ยนเป็น เป็น BQ1 และ BQ1.1 แต่ขณะเดียวกันในจีนขณะนี้ยังเป็นสายพันธุ์ในกลุ่ม BA.5 ตามหลังประเทศไทย ถ้านักท่องเที่ยวจีนเข้ามาสู่ประเทศไทยนำเชื้อโควิด-19 เข้ามา จะเป็นสายพันธุ์ที่เคยระบาดผ่านไปแล้วในประเทศไทย ตรงกันข้ามกับยุโรปและอเมริกา จะเป็นสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยระบาดในประเทศไทย เรื่องของสายพันธุ์ในปัจจุบันนี้ ถ้ามาจากประเทศจีน จึงไม่น่าวิตกแต่อย่างใด เพราะของเราผ่านพ้นไปแล้ว ถ้าจะกลัวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ สายพันธุ์ที่ยังไม่มีในประเทศไทยโดยเฉพาะ BQ ที่จะมาจาก ประเทศทางตะวันตกยังน่ากลัวกว่า เราก็ไม่ได้ตรวจ และไม่สามารถบังคับให้ใส่หน้ากากอนามัยได้ด้วย 

2. การเกิดสายพันธุ์ใหม่ สามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ทุกแห่งในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน หรือทางตะวันตก แม้กระทั่งในอินเดีย แอฟริกา ก็เกิดได้ทั้งนั้น แต่ทั่วโลกขณะนี้ มีระบบการเฝ้าระวังด้วยการถอดรหัสพันธุกรรม เข้าธนาคารกลาง และทุกประเทศได้เรียนรู้ร่วมกัน ทำไมเราจึงต้องถอดรหัสพันธุกรรมอยู่ทุกวัน ห้องปฏิบัติการผมก็ทำอยู่ทุกวันเป็นการเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่ เมื่อยังไม่รู้ว่าสายพันธุ์ใหม่ จะเกิดที่ประเทศใด ก็ไม่รู้จะไปป้องกันปิดกั้นชาติใด เพราะการป้องกันประเทศจีน ประเทศเดียวไม่ใช่เป็นวิธีการแก้ปัญหา อาจจะมาจากประเทศใดก็ได้

‘หมอยง’ ชี้ RSV เด็กเล็กติดซ้ำได้ แถมบางคนเป็นทุกปี เหตุเพราะ ‘วัคซีน’ ที่ไม่ได้รับการพัฒนาในตัวเด็ก

(25 ก.ย. 66) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า RSV เป็นแล้วเป็นซ้ำได้อีก เด็กบางคนเป็นทุกปี

RSV เป็นโรคที่เป็นแล้วเป็นได้อีก เด็กบางคนเป็นได้ทุกปี โดยพบว่าในการเป็นครั้งแรกจะมีอาการมากที่สุด โดยปกติมากกว่า 80% จะได้รับภูมิต้านทานส่งต่อจากมารดาและภูมินี้จะหมดไปที่ประมาณ 6 เดือนหลังคลอด

เด็กจึงมีโอกาสติด RSV ครั้งแรกหลัง 6 เดือนขึ้นไปได้สูง และเป็นเด็กเล็กอาการที่เกิดหลอดลมอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ จึงค่อนข้างเด่นชัด และเป็นเหตุให้ต้องนอนโรงพยาบาล ถ้ามีอาการมากถึงกับต้องให้ออกซิเจน

แต่โดยทั่วไปแล้ว การรักษาจะเป็นการแบบประคับประคองรอเวลาแล้วทุกอย่างก็ดีขึ้น ผู้ที่เสียชีวิตจาก RSV ในประเทศไทยพบน้อยมากๆ ยกเว้นในประเทศยากจนที่เด็กขาดอาหาร ร่างกายไม่แข็งแรง

เมื่อเป็นแล้วภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นไม่สามารถที่จะปกป้องการติดเชื้อในปีต่อไปได้ ก็จะมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก

จากการศึกษาของเราที่ศูนย์ ในผู้ที่ติดเชื้อซ้ำจำนวน 81 ราย 72 ราย ติดเชื้อซ้ำอีก 1 ครั้ง 9 รายติดเชื่อซ้ำอีก 2 ครั้ง รวมเป็นติดเชื้อ 3 ครั้ง และส่วนใหญ่เกิดภายในอายุ 5 ปี แต่จากการศึกษาทางด้านภูมิคุ้มกันมีเด็กบางคนเมื่ออายุถึง 5 ปี ติดเชื้อทุกปี แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยเท่านั้น

เด็กที่ติดเชื้อและได้รับการวินิจฉัยที่เราทำการศึกษา 81 ราย เราศึกษาลงลึกถึงสายพันธุ์ของ RSV เรารู้ว่าสายพันธุ์ของ RSV มี 2 สายพันธุ์หลักคือ A และ B และมีสายพันธุ์ย่อย ของ A และ B อีกเป็นจำนวนมาก การศึกษาลงลึกของพันธุกรรมเราพบว่าปีนี้ติดเชื้อ RSV A ปีต่อไปก็สามารถติดสายพันธุ์ A ได้อีก หรือเป็นสายพัน B ก็ได้ ดังแสดงในรูป ในทำนองกลับกันสายพันธุ์หลักไม่ได้ช่วยป้องกันข้ามสายพันธุ์เลย และก็ไม่ช่วยป้องกันสายพันธุ์เดียวกัน รวมทั้งสายพันธุ์ย่อยที่เราพบเช่นสายพันธุ์ ON1 เมื่อติดเชื้อแล้วก็ยังติดเชื้อซ้ำในปีต่อไปได้

เหตุผลดังกล่าว RSV จึงมีปัญหาในการพัฒนาวัคซีนอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็ก ถึงแม้ว่าจะมีการนำวัคซีนมาใช้ในผู้สูงอายุหรือสตรีตั้งครรภ์ แต่เชื่อว่าการป้องกันจะอยู่ระยะสั้น

'หมอยง' เลคเชอร์ 10 ข้อ 'วัคซีนโควิด' บทสรุป 4 ปี กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

(25 ธ.ค.66) นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เรื่อง ‘โควิด-19 วัคซีนกาลเวลาเป็นที่พิสูจน์’ ดังนี้…

โควิด-19 วัคซีน กาลเวลาเป็นที่พิสูจน์

ในระยะแรกที่เริ่มมีการใช้วัคซีนในประเทศไทย ที่มีวัคซีนอย่างจำกัดมาก มีความต้องการสูง ประเทศไทยได้วัคซีนเชื้อตายเข้ามาเริ่มแรก ผมและคณะได้ทำการศึกษาวิจัยอย่างละเอียด มีการฉีดสูงไขว้ และเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แต่มีการว่ากล่าวให้ร้าย (bully) อย่างมาก ถูกดึงเข้าสู่การเมือง ขณะนี้กาลเวลาที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ข้อมูลที่กล่าวไว้ ถูกต้องทุกประการ ปีนี้เป็นปีที่ 4 ของการระบาด ขอให้เป็นสังคมอุดมปัญญา จะขอสรุปข้อมูลเกี่ยวกับโควิดวัคซีน เพื่อให้สังคมได้เข้าใจ

1.วัคซีนโควิด-19 มี 4 ชนิด คือ ก. เชื้อตาย (inactivated vaccine; sinovac, sinopharm) ข. ไวรัสเวกเตอร์ (AstraZeneca; AZ) ค. mRNA วัคซีน ได้แก่ (Pfizer, Moderna) ง. โปรตีนสับยูนิต ได้แก่ Novavax

2.วัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน จะมีประสิทธิภาพดีในเดือนแรกๆ หลังฉีด และระยะเวลาที่นานขึ้น จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการลดความรุนแรงของโรค ประสิทธิภาพจึงไม่แตกต่างกัน ไม่มีวัคซีนเทพ

3.วัคซีนเชื้อตาย กระตุ้นภูมิต้านทานได้เท่ากับการติดเชื้อในธรรมชาติ แต่ต่ำกว่า วัคซีนไวรัสเวกเตอร์และ mRNA

4.วัคซีนที่ใช้มากที่สุดในโลก คือ เชื้อตาย ใช้มากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณวัคซีนที่ฉีดในโลก  โดยเฉพาะใช้มากในเอเชียและแอฟริการวมทั้งอเมริกาใต้ ประเทศที่ใช้วัคซีนดังกล่าวอัตราการเสียชีวิต ไม่ได้สูงมากเท่าประเทศที่ใช้ mRNA วัคซีน อเมริกามีผู้ป่วยเสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน ซึ่งห่างกับประเทศจีนมาก หรือแม้กระทั่งอินโดนีเซีย และไทย อัตราการเสียชีวิตก็ต่ำกว่าอเมริกา และยุโรปมาก

5.วัคซีนทุกตัว มีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ ตามหลักการของวัคซีน ถ้าเป็นวัคซีนเชื้อตายจะใช้เทคโนโลยีเดิม เช่นเดียวกับวัคซีน ไวรัสตับอักเสบ A, Polio ที่เป็นเชื้อตาย อาการข้างเคียง เช่น มีไข้ ปวดเมื่อย น้อยกว่าวัคซีนไวรัสเวกเตอร์และ mRNA มาก รวมทั้งอาการของหลอดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิต้านทาน ก็พบได้น้อยกว่า

6.วัคซีนเชื้อตายราคาถูกกว่า mRNA มาก และการใช้ก็เก็บได้ง่าย เชื้อตายขวดละ 1 คน ขณะที่ mRNA ขวดละ  7-10 คน ทำให้เหลือทิ้งมาก และต้องเก็บที่อุณหภูมิลบ 70 องศา แต่วัคซีนเชื้อตายเก็บที่ตู้เย็นธรรมดาคือ 4 องศา การบริหารจัดการง่ายกว่า ความสูญเสียทิ้งน้อยกว่า

7.การให้วัคซีนสูตรไขว้ เป็นทางออกที่ทำให้ผลลัพธ์สุดท้าย ของวัคซีนเชื้อตายมีระดับภูมิต้านทานสูง เช่น ฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม และกระตุ้นด้วย mRNA ผลลัพธ์ที่ได้ จะเท่ากับการให้ mRNA 3 เข็ม ข้อมูลเผยแพร่ในวารสาร PGH (doi: 10.1080/20477724.2022.2108646) และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก องค์การอนามัยโลกก็ยอมรับสูตรไขว้

8.การให้สูตรไขว้ที่ใช้ในประเทศไทย เข็มแรกให้เชื้อตาย sinovac แล้วตามด้วย ไวรัสเวกเตอร์ AZ ภูมิต้านทานที่ได้ดีกว่าการให้ เชื้อตาย 2 เข็ม หรือไวรัสเวกเตอร์ 2 เข็ม และเป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก

9.วัคซีนเชื้อตายอาการข้างเคียงเช่นไข้และอื่นๆ น้อยกว่าไวรัสเวกเตอร์และ mRNA  มาก วัคซีนไวรัสเวกเตอร์ AZ จะมีอาการข้างเคียงมากในเข็มแรก และจะน้อยลงในเข็มที่ 2 และ 3 ขณะเดียวกันภูมิต้านทานก็เกิดขึ้นได้น้อย เพราะ vector ถูกทำลายด้วยระบบภูมิคุ้มกันของเราที่เกิดขึ้นจากเข็มแรก ส่วน mRNA อาการข้างเคียงในเข็มที่ 2 จะมากกว่าเข็มแรก และจะมากขึ้นอีกถ้ามีการให้หลายๆ ครั้ง เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ การให้สูตรไขว้ทำให้ได้ mRNA จำนวนครั้งลดน้อยลง และระดับภูมิต้านทานไม่ได้แตกต่างกัน ประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเข็มของวัคซีนและในทางปฏิบัติการให้ครบ หมายถึงให้อย่างน้อย 3 เข็ม

10.การได้รับวัคซีนไม่ว่าจะกี่เข็ม ก็สามารถเกิดการติดเชื้อได้ เพราะวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อเพียงแต่ว่าลดความรุนแรง เพราะระยะฟักตัวของโควิด 19 สั้นมากเพียง 2 วัน ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น จึงไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ จึงไม่มีวัคซีนเทพ ประสิทธิภาพที่แจงกันมาแต่แรก ส่วนใหญ่จากการศึกษาระยะสั้น ถ้าติดตามยาวออกไปก็จะรู้ว่าไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้

เมื่อผ่านมาครบ 4 ปีแล้ว ประชากรส่วนใหญ่หรือมากกว่าร้อยละ 90  ติดเชื้อไปแล้วร่วมกับได้รับวัคซีน ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นของประชากรส่วนใหญ่ จึงเป็นภูมิคุ้มกันแบบลูกผสม เป็นภูมิคุ้มกันที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ไวรัสก็วิวัฒนาการลดความรุนแรงลง ความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นก็ลดลง โรคได้เปลี่ยนเป็นโรคประจำฤดูกาลคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ และมียารักษาที่ดีขึ้นและเพียงพอ ไวรัสไม่ได้หายไปไหน การปฏิบัติตัวเพื่อลดการแพร่กระจายของโรคทางเดินหายใจ เป็นการทำที่มีประโยชน์ ไม่ใช่เฉพาะโรคโควิด 19 เท่านั้นยังรวมถึงโรคหายใจอื่นๆ อีกด้วย

‘หมอยง’ โพสต์เฟซ!! ย้อนดู 5 ปี โควิด 19 ความยุ่งเหยิง ดรามา ของวัคซีน และเซียนคีย์บอร์ด

(1 ธ.ค. 67) ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ แพทย์อาวุโส นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ เรื่องวัคซีน และโรคโควิด-19 โดยมีใจความว่า ...

ย้อนดู 5 ปี โควิด 19, ปีที่ 2 ปีที่ยุ่งเหยิง และดราม่า เกี่ยวกับวัคซีน และเซียนคีย์บอร์ด 

หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในปีแรก ทุกคนมุ่งหวัง ที่จะยุติการระบาดด้วยวัคซีน จึงมีการผลิตคิดค้นวัคซีนกันมากมาย มากกว่า 10 platform รวมทั้งของประเทศไทยเองด้วย ประเทศไทยมีการออกข่าวว่าจะผลิตวัคซีนได้สำเร็จภายใน 2 ปี

เมื่อสิ้นปีแรก การผลิตและออกมาใช้จริง ก็เริ่มปรากฏออกมา ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนเชื้อตาย ไวรัสเวกเตอร์ และ mRNA ประสิทธิภาพของวัคซีนได้ลงพิมพ์ ในวารสารต่างๆ จะเห็นว่า mRNA มีประสิทธิภาพสูงสุด มากกว่าไวรัสเวกเตอร์ และเชื่อตาย แต่ผลทั้งหลายเป็นผลระยะสั้นทั้งนั้น ความจริงผลระยะยาวค่อยออกมาทีหลัง 

วัคซีนจึงขาดแคลนในระยะแรก เพราะทุกประเทศแย่งกัน ทางตะวันตก จะไม่รับวัคซีนของจีน และจีนเองก็ไม่รับวัคซีนของทางตะวันตก ประเทศกำลังพัฒนา ส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนจากจีน และ mRNA จะใช้ในทางตะวันตก ไม่เพียงพอ ตลาดเป็นของผู้ขาย จะกำหนดกฎเกณฑ์อย่างไรก็ได้ในการซื้อ เช่นต้องวางเงินก่อน และจะเอาหรือไม่เอาก็ต้องจ่าย ซึ่งขัดกับหลักการจัดซื้อของประเทศไทย และบางบริษัทให้วางเงินก่อนจะผลิตสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ไม่รับรู้ ถ้าไม่สำเร็จก็ต้องเสียเงินฟรี 

วัคซีนเชื้อตายจึงเข้ามาในประเทศไทยก่อน แล้วตามมาด้วยไวรัสเวกเตอร์ กว่าประเทศไทยจะเริ่มฉีด mRNA ก็เข้าสู่ กันยายน ตุลาคมแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มีการเรียกร้องเอา mRNA มาเป็นวัคซีนหลัก จะเห็นบนหน้าเพจมากมาย มีดราม่าเกิดขึ้น ด้อยค่าวัคซีนเชื้อตายอย่างหนัก และกาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ประเทศจีน มีอัตราการเสียชีวิตโดยรวม น้อยกว่าประเทศทางตะวันตกอย่างมาก

ปีที่ 2 ความรุนแรงของโรคมาก อยู่มีอัตราตายเกือบ 1% ดังนั้นการรณรงค์ให้วัคซีน จึงเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และอัตราการครอบคลุม 2 เข็มแรก ได้เร็วมาก โดยทุกแห่งและโรงพยาบาลร่วมมือกันดีมาก

ผมเองทำการศึกษา การกระตุ้นเข็มสามด้วยวัคซีนเชื้อตาย Sinovac เปรียบเทียบกับ ไวรัสเวกเตอร์และ mRNA คณะกรรมการจริยธรรมยังไม่ยอมให้ทำ ตอนหลังเลยต้องเปลี่ยนจากเชื้อตาย Sinovac มาเป็น Sinopharm ถึงได้ทำ แต่ก็เสียดายข้อมูลทางวิชาการ ที่เราไม่มี การฉีดวัคซีนเชื้อตายชนิดเดียวกัน 3 เข็ม เสียดายโอกาสทางวิชาการอย่างมาก

งานวิจัยทางด้าน วัคซีนโควิด ในช่วงนี้หาอาสาสมัครและมีผู้สมัครใจเป็นจำนวนมาก และทำได้อย่างรวดเร็วมาก ต้องขอขอบคุณอาสาสมัครอย่างยิ่ง รวมทั้งแหล่งทุนด้วย ทั้งภาครัฐและเอกชน จึงมีผลงานให้เห็น โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนต่างชนิดกัน และสูตรต่างๆ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสูตรการฉีดวัคซีนสลับไปมา 3 เข็ม รวมทั้งสิ้น 24 แบบ อย่างไรก็ตามผลลัพธ์สุดท้ายไม่ต่างกันเลย เพราะทั้งหมดเป็นแอนติเจนชนิดเดียวกัน คือ spike protein ของ Wuhan strain 

ในปีนี้เป็นปีที่ ผมเองถูกกล่าวหาให้ร้าย อย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ หรือการเมืองทั้งที่จริงแล้วตัวเองไม่เคยไปยุ่งเลยแม้แต่นิดเดียว มุ่งค้นหาทางวิชาการและให้ข้อมูลผู้บริหารและประชาชน เพื่อช่วยปกป้องโรคร้าย การกล่าวให้ร้ายผมเอง ไม่ได้สนใจ แต่คนรอบข้าง ทนไม่ได้ จึงมีการแจ้งความฟ้องร้อง ผู้ที่กล่าวหารุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่มีการศึกษา และมีหน้าตาในสังคม

คดีในการฟ้องร้อง บางคดีได้สิ้นสุดแล้ว และบางคดีจนถึงวันนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ที่สิ้นสุดแล้วส่วนใหญ่ศาลจะตัดสิน เป็นเรื่องของการนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ถือเป็นคดีอาญา ศาลให้จำคุก 2 ปี และปรับ 3 แสน บาท เข้าแผ่นดิน ถ้าสารภาพก็ลดลงกึ่งหนึ่ง และเกือบทั้งหมดโทษจำให้รอลงอาญา หลายราย ยอมความ มาขอโทษ ก็จะยอมเกือบทุกกรณี แต่จะให้บริจาคเงิน เข้ามูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ แทน โดยตัวเองไม่ไปแตะต้องเงินจำนวนนี้เลย

ยง ภู่วรวรรณ
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์
ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬา
30 พฤศจิกายน 2567

‘หมอยง’ โพสต์เฟซ!! ย้อนดู 5 ปี โควิด 19 ความสับสนของข้อมูล ในสื่อสังคมออนไลน์

(7 ธ.ค. 67) ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ แพทย์อาวุโส นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับโควิด 19 โดยมีใจความว่า ...

ย้อนดู 5 ปี โควิด 19 ความสับสนของข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์

ความสับสนของสื่อข้อมูลออนไลน์ ที่เกี่ยวกับโรคระบาด โควิด 19 เป็นบทเรียนที่สำคัญ ถึงแม้ทุกวันนี้ ก็ยังมีปัญหาอยู่ตลอด

การปล่อยข่าวร้าย ของโควิด 19 เช่นพบสายพันธุ์ใหม่ที่น่ากลัว หรือความรุนแรงของโรคต่าง ๆ นานา ทั้งที่เป็นข่าวที่ไม่จริง และแหล่งที่ออกมา จากผู้ที่หวังดีและหวังร้าย บางคนออกข่าวทุกวัน บางคนไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้เลย ทำให้เกิดความตระหนก ทั้งที่ไม่เป็นความจริงเช่นนั้น

ในทุกวันนี้ ยังมีคนโทรมาปรึกษา และส่งมาให้ดู เช่น ใน Line หรือสื่อออนไลน์ ว่าโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ สายพันธุ์ B.1.1.7 ซึ่งมีอาการรุนแรง และให้ระวังช่วงปีใหม่ ผมอ่านดูแล้วก็อดขำไม่ได้ เพราะสายพันธุ์ของไวรัส จะเรียงจากอักษร A B C D และต่อมาก็ใช้อักษร 2 ตัว ซึ่งสายพันธุ์ปัจจุบันนี้เป็นสายพันธุ์ L และ K แล้ว เมื่อเห็นสายพันธุ์ B ก็แสดงว่าเป็นสายพันธุ์เมื่อ 2564 หรือสายพันธุ์อังกฤษ หรือเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เอาข่าวเมื่อ 3 ปีที่แล้ว มาวน มาปล่อย ใหม่ ซึ่งเป็นคนละกาลเวลากัน และมีการส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว 

ดังนั้นจะเห็นได้เลยว่า การให้ข่าวหรืออะไรก็ตามแต่ จะต้องมีวันที่กำกับด้วย ผมเองยึดมั่นในเหตุการณ์และวันที่กำกับเสมอ เพราะความถูกต้องของวันนี้ อาจจะไม่ถูกต้องในปีต่อไป เช่นบอกว่าอัตราตายสูง 1% เป็นตัวเลขของเมื่อ 3-4 ปีก่อน ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตน่าจะเป็น หนึ่งในหมื่นของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ และเป็น กลุ่ม 708 หรือมากกว่า จึงเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย

เช่นเดียวกัน บุคคลที่ไม่ได้อยู่ในศาสตร์หรือสาขาเชี่ยวชาญในโรคดังกล่าว หรือเป็นเพียงอ่านหนังสือได้ ก็ให้ข้อมูลทางสื่อออนไลน์แทนที่จะใช้ความจริง แต่ใช้ความเห็น ทำให้มีความปั่นป่วน โดยเฉพาะข่าวเกี่ยวกับวัคซีนในยุคแรก เมื่อเวลาผ่านไปก็เห็นได้ชัด การรับสื่อต่างๆในขณะนี้ ก็ต้องตระหนักด้วย และการส่งต่อก็มีความสำคัญ

ยง ภู่วรวรรณ
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์
ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬา
6 ธันวาคม 2567


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top